พฤษภาคม 18, 2024

    Lanner Joy : จากใจผู้สร้างสเปซศิลปะ SOME SPACE ที่อยากเห็นเด็กศิลป์รุ่นใหม่ทำงานที่รักได้โดยไม่ต้องย้ายไปเมืองอื่น

    Share

    เรื่องและภาพ: ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์

    เป็นเวลานานแล้วที่ไม่ได้มาเยือนชุมชนควรค่าม้า ฐานทัพของ Addict Art Studio สตูดิโอที่ทำให้เทศกาลศิลปะชุมชนในเชียงใหม่กลายเป็นหมุดหมายประจำปีของใครหลายคน วันนี้เราได้กลับมาอีกครั้งเพื่อพบกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ที่เพิ่งรู้จักกันได้ไม่นานผ่านงาน Artist Residency เธอคนนี้เพิ่งย้ายมาอยู่เชียงใหม่ได้เพียงสามปีเท่านั้น แต่ทว่ากลับสร้างปรากฎการณ์ไว้มากมายในซีนศิลปะทดลอง 

    วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับศิลปินและคิวเรเตอร์ “ไอซ์” วิรินสิรี ชมเชย ผู้ก่อตั้ง ผู้เป็นทุกอย่างของ SOME SPACE Gallery สเปซศิลปะเพื่อทำบางอย่าง “สำหรับทุกคน” ตามที่ไอซ์อยากจะนิยาม ชีวิตในหมวกหลายใบของไอซ์ จากเด็กเนิร์ดสายศิลปะที่ฝันใหญ่ การผันตัวมาเป็นผู้จัดการนิทรรศการ ชีวิตชาวสายงานสร้างสรรค์ที่ไม่ได้ง่ายเมื่อความฝันปะทะโลกความเป็นจริง น่าจะทำให้เพื่อน ๆ ฟังแล้วรู้สึกไม่โดดเดี่ยวในเส้นทางสายนี้ เหมือนที่ไอซ์เองก็รู้สึกดีขึ้น เมื่อได้มาพบความเชื่อมโยงกับคอมมูนิตี้ที่ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในเชียงใหม่ 

    งาน Exhibition อันล่าสุดเป็นยังไงบ้าง

    เราทักทายไอซ์ตามประสาเพื่อนในสายงานการจัดอีเว้นท์คล้าย ๆ กัน

    “ถือว่าผลตอบรับดี แต่หลังจากนี้ พอเราทำสเปซเนอะ มันไม่จบแค่วันนี้ มันต้องคิดระยะยาวว่าหลังจากนี้เราจะทำอะไรต่อ แล้วที่เราทำอยู่ มันทำให้ตัวสเปซมันอยู่ได้ไหม แล้วตัวเราอยู่ได้ไหม เป็นความยากอยู่เหมือนกัน”

    ไอซ์เล่าให้ฟังว่าในช่วงนี้มีความกังวลไม่น้อย หลังจากได้ทบทวนและถอดบทเรียนจากการสร้าง SOME SPACE ขึ้นในช่วงเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา

    ค้นพบที่ตรงนี้ได้ยังไง

    “เดิมทีเราเป็นหุ้นส่วนร้านก้อม [ร้านเหล้าขวัญใจชาว Retro] แล้วก้อมย้ายจากกลางเมืองมาพื้นที่ตรงนี้โดยที่เช่าทั้งตึก”

    “ด้วยความกว้างของมัน ความที่มันไม่มีกำแพงอะไรเลยมันเหมาะที่จะจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมมาก ๆ”

    “เราก็เลยอยากใช้พื้นที่ตรงนี้ สร้างพื้นที่ของเรา หรือพื้นที่สักที่หนึ่งที่ให้คนได้เข้ามาดูงานศิลปะในรูปแบบที่ไม่ค่อยได้เห็น หรือได้ทำงานศิลปะในรูปแบบที่ไม่ค่อยได้ทำ”

    “มันเลยถึงได้ชื่อ SOME SPACE คือพื้นที่บางพื้นที่ที่ได้ทำบางสิ่งบางอย่าง”

    จุดเริ่มต้นของ SOME SPACE

    “ความตั้งใจแรกของเราเนอะ เราอยากทำ Art Space ที่มีศิลปะในแบบที่เราชอบ”

    “ศิลปะในแบบที่เราชอบเราเห็นมันได้น้อยมากในเชียงใหม่ ที่จะถูกจัดเป็น Exhibition อย่างเช่นงาน Media Art งาน Conceptual จ๋า ๆ หรือว่างานเชิงทดลอง มันจะถูกจัดขึ้นค่อนข้างน้อย”

    “ส่วนใหญ่ศิลปินที่ทำงานต่อเนื่องในเชียงใหม่ เราจะเห็นงาน Visual Artist เป็น Painting, ภาพพิมพ์, ประติมากรรม อะไรที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้รวดเร็ว อย่างงาน Illustration, Art Toy อะไรแบบนี้”

    “แต่เราชอบงานศิลปะที่มันเกิดการทดลองมากกว่า เราก็เลยคิดว่าโอเค เราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ทำสิ่งนี้”

    “พอเริ่มทำไปแล้วสักพัก เราก็ค้นพบว่ามันไม่ได้ง่าย ที่จะทำ Art Space แล้วมีแต่งานทดลอง”

    “เราก็พยายามจะหาวิธีว่าในเมื่อเราทำอะไรแบบนี้ มันก็เป็นธุรกิจที่จะต้องมีค่าใช้จ่าย เราก็ต้องพยายามหมุนมัน เปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนวิธีการนำเสนอ”

    สเปซที่หมุนตามชีวิตและผู้คน

    “ตอนแรกเราอยากทำเป็นบาร์ตอนกลางคืนด้วย คนที่มาจะได้ดื่มไปด้วย ชมงานศิลปะไปด้วย แต่ว่า Lifestyle แบบนั้นมันอาจจะไม่ได้แมสมากนัก”

    ฟังถึงตรงนี้ก็จำได้ว่า SOME SPACE เคยโปรโมทพื้นที่เป็น Night Gallery อยู่ระยะหนึ่ง

    “ข้อจำกัดมันก็คือทุนและทรัพยากรบุคคล เราแทบจะไม่มีทั้งสองอย่างเลย เรามีแค่ตัวเรา ส่วนทีมก็มีมาช่วยบ้าง เพราะฉะนั้นการที่จะทำบาร์ควบคู่ไปด้วยมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

    “พอเราไม่มีทุนปึ๊ป เราก็ต้องหมุนไปทำงานอย่างอื่นในตอนกลางวัน มันเลยกลายเป็นว่าสเปซมันเลยต้องหมุนไปตามเรา เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ”

    “ทิศทางของมันตอนนี้ก็คือ วันที่มีอีเว้นท์ มีกิจกรรม เราจะเปิดเป็นบาร์ แต่ถ้าช่วงไหนเป็น Exhibition ระยะยาว แล้วไม่ได้มีกิจกรรมดนตรีหรือ Performance อะไร เราก็จะเปิดเฉพาะตอนกลางวัน ก็พยายามปรับเปลี่ยนให้มันเข้ากับคนที่เขาจะมาด้วย”

    ตอนนี้ SOME SPACE ได้เป็นอะไรไปบ้างแล้ว

    “เป็นที่จัดนิทรรศการ งานศิลปะทั่วไปเนอะ แล้วก็การแสดงงานธีสิสของนักศึกษา แล้วก็พื้นที่ให้เช่าจัดกิจกรรม”

    “เราเปิดรับกิจกรรมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องทางการเมือง เพศ หรือภาพถ่ายสวยงาม หรือว่าจะทดลองทำศิลปะรูปแบบใหม่ ศิลปินจาก Artist Residency”

    ภาพจาก SOME SPACE

    “แต่ว่างานศิลปะที่เราจะมีข้อแม้นิดหน่อยคืองานศิลปะที่ traditional มาก ๆ เช่นงานจิตรกรรมจ๋า ๆ ภาพพิมพ์​ จ๋า ๆ งาน Visual อะไรที่เป็นงานทำมือจ๋า ๆ”

    “ไม่ใช่ว่าเราไม่รับ แต่เราก็จะบอกเขาว่าการที่คุณมาแสดงมันมาได้ แต่เราไม่มีลูกค้าที่คนจะมาซื้องานคุณขนาดนั้น ส่วนใหญ่ศิลปินพวกนี้เขาจะมีกลุ่มเป้าหมายของเขา เพื่อขายงาน”

    “เราจะบอกคนที่จะมาใช้พื้นที่อย่างตรงไปตรงมาเสมอว่าข้อเสียข้อดีเรามีอะไรบ้าง และเราสามารถช่วยเหลือเขาในการจัดนิทรรศการยังไงได้บ้าง ถ้าคุยกันแล้วเขาโอเค เราก็โอเค”

    “ใจเรา เรารู้สึกว่าเราไม่อยากจัดนิทรรศการที่ไม่มีคนมาดู หรือศิลปินไม่ได้อะไรเลย เขาควรจะได้อะไรกลับไปด้วย”

    ภาพจาก SOME SPACE

    “ตอนนี้สเปซมันแบ่งเป็น 2 พาร์ท คือพาร์ทที่ให้เช่า กับพาร์ทที่เรา Curate เอง”

    “การให้เช่าเราก็จะดูตามเงื่อนไขก่อนว่าเราต้องการให้เขาทำอะไร ถ้าเราโอเคเราก็จะให้เช่า อย่างที่บอกไปเราก็จะมีข้อเสียมีแบบนี้นะ เราคิดว่างานคุณเหมาะหรือไม่เหมาะกับสเปซของเราประมาณนี้นะ”

    “ส่วนเคสที่เรา Curate เอง เรามักจะเลือกศิลปินที่เรามองเห็นว่างานเขาพัฒนาไปข้างหน้าได้อีก เราจะไม่ได้แค่จะหยิบงานเขามาเพื่อโชว์ แต่ในโปรเจคที่เขาจะมาที่นี่ เขาจะต้อง Develop งานเขาเพื่อที่จะมาทำที่นี่”

    “เราชอบที่จะมีกระบวนการสร้างงานร่วมกับศิลปิน อย่างเช่นถ้าเขาเคยทำ Painting อย่างเดียวแล้วเรามองว่างานเขามันสามารถเพิ่ม Medium อย่างอื่นเข้าไปได้ เราก็จะชวนก่อน”

    ภาพจาก SOME SPACE

    ทุกวันนี้ค้นพบศิลปินยังไง

    “เราออกไปดูงานตาม Exhibition เป็นหลัก ไปงานเปิด มีเปิดดูในเน็ตบ้าง แต่เราชอบที่จะ Interact เจอตัวศิลปินมากกว่า”

    “ที่ผ่านมา งานที่ได้ Curate มาที่ SOME SPACE ที่เราชอบที่สุดน่าจะเป็นของพี่เวฟ (วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ) กับพี่อ๊อด (สุธีระ ฝั้นแก้ว) ที่ทำด้วยกัน”

    ภาพจากงานนิทรรศการ “CEING เจิง”

    “เราไปเห็นพี่อ๊อดแสดง Performance เจิงที่ TWENTY MAR ตอนนั้นมันก็จะเป็นเฟรมไซส์ขนาดกลาง พื้นที่ ๆ นั่นเขาค่อนข้างแคบเนอะ แต่ว่าเขาจัดการพื้นที่ดีมาก”

    “เราได้เห็นกระบวนการ วิธีคิดของศิลปิน การเอากระบวนท่าศิลปินการรำเจิง มาทำร่วมกับ Action Painting มันออกมาได้ทั้งประสบการณ์การการดู การรำ แล้วก็ภาพ Visual ที่ได้”

    “เราก็เลยเอาเขามาจับกับพี่เวฟ tomorrow.Lab ที่ใช้เซนเซอร์การจับการเคลื่อนไหวร่างกาย มาฉายวิดิโอมีเดีย เราก็มองว่าถ้าสองคนนี้มาทำงานด้วยกันมาน่าจะสนุกว่ะ เป็นแบบ traditional จ๋า ๆ กับโคตรจะมีเดียใหม่ ๆ”

    “เราก็เลยตั้งชื่อโปรเจคว่า Artist X ขึ้นมา เป็นโปรเจคแรกที่ลอง Cross ศิลปินที่ทำงานคนละสาย ไม่เกี่ยวข้องกันเลย มาทำงานด้วยกัน”

    “ซึ่งเรารู้สึกว่าโปรเจคนั้นมันประสบความสำเร็จมาก สำหรับเรา ทั้งในแง่ของประสบการณ์ของคนดู และประสบการณ์ของศิลปินที่ไม่เคยทำงานด้วยกัน”

    “ในอนาคตเราก็อยากจะผสานคนเข้าด้วยกันมากขึ้น”

    เมื่อฟังไอซ์พูดแบบนี้ เราเองก็อดเห็นด้วยไม่ได้ จากประสบการณ์ส่วนตัวของเราเองที่ได้ไปสัมผัสงานที่ SOME SPACE เท่าที่ผ่านมา รู้สึกได้ถึงพลังงานความสดใหม่ในเวลาที่ศิลปินต่างสายได้มาแจมกันอย่างที่ว่าจริง ๆ

    ครั้งแรกที่เราได้ไป SOME SPACE จำได้ว่าไปเจองาน Visual Jam กับ DJ

    “อันนั้นก็มีดีเจคนนึงเขามาหาเรา แล้วเขาก็บอกว่าเขาอยากจัดเป็นงาน Live Visual Interact กับดีเจ”

    “เราก็เลยบอกว่าเอาดิ ลองทำดู”

    “เขาเสนอมาว่าเขาต้องการจะทำโปรเจคที่ชื่อว่า opensource คือเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้”

    “ตอนนั้นเราก็เลยมองว่างั้นถ้ามัน open เราก็ดึงใครก็ได้มาแจมกันได้มั้ย เพราะเราเคยเห็นโมเดลนี้จากที่ Bangkok CITY CITY Gallery เขาเปิดให้ศิลปินมีเดียมาฉายยิงโปรเจคเตอร์ นู่นนี่นั่น คนเยอะมาก”

    “มันเป็นการรวมตัวของคนที่ชอบสิ่งเดียวกัน แล้วมาแจมกันได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เราก็เลยมองว่าเราลองทำประมาณนี้ดูมั้ย เพราะเมนมันคือ opensource อยู่แล้ว เราก็เลย Text หาเพื่อนทุกคนที่ทำงานมีเดียว่าสนใจมั้ย ถ้าสนใจก็แวะมานะ”

    ภาพจากเพจ SOME SPACE Gallery

    รู้สึกว่างานนั้นมันส์มากเลย

    “งานนั้นสนุกมาก มันดีอ่ะ เออ”

    “แต่ที่เราไม่ทำต่อเพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นคนเดียวที่ได้ประโยชน์ นึกออกป้ะ คือสเปซได้ประโยชน์เต็ม ๆ แต่ศิลปินได้อะไร? เรามีความเกรงใจที่จะชวน เราก็เลย Hold ไว้”

    “คิดว่าถ้าในอนาคตมันมีงบประมาณ มีสปอนเซอร์มาเราค่อยทำอีกรอบหนึ่ง อย่างน้อยศิลปินที่เป็นเมนหลัก ที่เราชวนมาจริง ๆ เขาควรที่จะได้ค่าตอบแทนที่จะมาแสดงงานของเขา”

    แต่เราคิดว่าในแง่ Discovery ของคนที่ไป มันก็ได้บางอย่างในแง่การค้นพบศิลปินใหม่ ๆ นะ มันได้ความประมาณว่า เมื่อวันที่เรามีโอกาสจัดอีเว้นท์งานหน้า เราสนใจจะจ้างศิลปินคนนี้มาทำงานด้วยกัน ผลของสิ่งที่ไอซ์ทำตอนนั้นมันอาจจะยังไม่เกิดในทันที

    “เออ แต่มันได้เครือข่ายเนอะ”

    “ก็นั่นแหละ เป็นมุมเดียวที่เราติด มันเป็นความกลัวในใจ เราไม่อยากเอาเปรียบเพื่อน ไม่อยากเอาเปรียบศิลปินคนอื่น พอเอิงพูดแบบนี้ เราก็มีกำลังใจขึ้นมาหน่อย”

    “จริง! คือเรากลัวว่าเฮ้ยกูได้ประโยชน์คนเดียวเลย แต่ว่าไอ้เงินที่เราได้มาจ่ายการขายเบียร์มันก็ไม่ได้สูงพอที่จ่ายให้ได้ทุกคน”

    ไอซ์เอ่ยถึงความกังวลในฐานะผู้จัด ด้วยความเข้าใจในชีวิตศิลปินที่ยังต้องสร้างรายได้จากผลงานเช่นกัน 

    ชีวิตก่อนจะมาเชียงใหม่

    จากการสังเกตการณ์การทำงานของไอซ์ โดยเฉพาะในเวลาที่จำเป็นต้องเร่งให้โครงสร้างนิทรรศการเป็นไปตามกำหนดการ ก่อนงานจะเริ่ม ไอซ์มีความใจเย็นและจัดการทุกสถานการณ์ในห้วงเวลาคับขันได้ดีมาก เราเลยอยากรู้จักเธอมากขึ้นในมุมมองชีวิตที่ผ่านมาก่อนที่จะมาใช้ชีวิตที่เชียงใหม่

    หลังจากที่เรียนจบเอกเพ้นท์ ที่วิจิตรศิลป์ พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ไอซ์ได้เข้าไปทำงานสาย Commercial Event กับบริษัทแห่งหนึ่งที่ใช้ทีมเล็ก จัดงานทั้งสเกลเล็กใหญ่ ได้เรียนรู้ระบบการทำงานอีเว้นท์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ก็ตามสูตรคืองานหนักเลยภาระเงินเดือนขั้นต่ำเด็กจบใหม่ไปมากโข 

    “การทำอีเว้นท์ Commercial มันไม่ตอบโจทย์ พอทำไปสักพักเราจะเริ่มรู้สึกว่ากูทำอะไรอยู่ ทำไปเพื่อใคร ทำทำไม รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว เราก็เลยลาออก”

    จุดเปลี่ยนและความฝันที่เปลี่ยนไป

    “การทำงานประจำทำให้เราเริ่มป่วย เพราะว่ามันกดดันมาก เครียด กดดัน เวลาบีบ โดนด่า อะไรแบบนี้ ก็เป็น Panic ไปพักหนึ่ง พอออกจากงานก็ค่อย ๆ ดีขึ้น”

    “ช่วงที่เปลี่ยนแปลงหนัก ๆ เลยก็คือการไปญี่ปุ่นคนเดียว ไปแลกเปลี่ยน แล้วไปคนเดียวแบบไปคนเดียวจริง ๆ แล้วก็เลิกกับแฟนที่โน่น คือเราอยู่ญี่ปุ่นแล้วเขาอยู่ที่นี่”

    “คือมัน Lost สุด ๆ เป็นช่วงที่คุยกับตัวเองเยอะมาก เราคุยกับตัวเองเยอะจนเลยคำว่าสับสนไปไกล”

    “ใช้เวลาตบตัวเองอยู่ปีกว่า ก็รู้สึกว่าไม่เหมือนเดิมเลย เปลี่ยนไปเยอะ มองโลกคนละแบบกับเมื่อก่อนเลย อธิบายไม่ถูกว่ะ ว่าเปลี่ยนไปขนาดไหน แต่ว่าไม่เหมือนเดิมจริง ๆ”

    “เมื่อก่อนตอนเรียนเราเป็นเด็กที่เนิร์ดมาก อยากเป็นศิลปินมาก ฝันใหญ่ อยากไปเรียนต่อเยอรมันอะไรประมาณนี้ คือเด็กเรียนอาร์ทเนอะ ถ้าสาย Contemporary หน่อยเขาก็จะอยากไปเรียนต่อเยอรมันไปเวนิซกัน”

    “ตอนนั้นก็ฝันใหญ่มาก พอมาเจอโลกความเป็นจริง ได้ลองไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น ความไม่พร้อมทางการเงินมันทำให้รู้ว่า เชี่ย มันไม่ง่ายเลย”

    “เหตุผลที่ต่อโทก็เพราะเริ่มทำงานเนี่ยแหละ เพราะเรารู้สึกห่างไกลจากความฝันเรา คือเราเรียนจิตรกรรม เรียนอาร์ทมาตลอด อยู่ดี ๆ เราก็ต้องมาทำงานใต้คำสั่งอะไรก็ไม่รู้ที่เราต่อต้าน เราก็เลยเฮ้ย เราใช้ชีวิตทำอะไรอยู่วะ ก็เลยตัดสินใจเรียนโท เพื่อให้รู้สึกว่าความฝันเรามันยังอยู่นะ” 

    “เรากำลังเรียนโท ทฤษฎีศิลป์ คือเราอยากจะหันไปเป็น Curator กับการจัดการนิทรรศการ แต่ว่าการที่จะเรียนสายนี้ในประเทศไทยมันมีให้เลือกน้อยมาก ถ้ามีก็มีจุฬา ค่าเทอมก็อยู่ที่ประมาณเกือบแสน ที่ศิลปากร ทฎษฎีศิลป์ ก็ใกล้เคียงสุด ค่าเทอมก็ดร็อปลงด้วย”

    ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นศิลปินหรือคิวเรเตอร์

    “คิวเรเตอร์ เราอยากเป็นคิวเรเตอร์มากกว่า Artist ณ เวลานี้นะ”

    “การทำงานศิลปะตอนนี้สำหรับเรามันเหมือนการทำเพื่อสนองความรู้สึกตัวเองมากกว่า เราจะไม่ได้ทำงานศิลปะที่ตอบโจทย์ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม หรืออะไรมากเกินไป”

    “ตั้งแต่กลับจากญี่ปุ่น มุมมองการทำงานศิลปะของเราเปลี่ยนไปมาก ทำเพื่อให้สิ่งที่อยู่ในใจมันถูกดึงออกมาให้หมด คือมองเรื่อง Mental Health ของตัวเองสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรก”

    ทำไมถึงชอบงานคิวเรเตอร์

    “เวลาเราทำงานคนเดียว ถ้าเราเป็นศิลปิน เราก็จะมองแค่ในมุมของเรา ในกรอบ แต่ว่าเวลาที่เราได้คุยกับศิลปิน คุยกับคนโน้นคนนี้ เราได้เห็นไอเดีย บางอย่างที่ตัวเราคิดไม่ถึง หรือบางครั้งที่เราเสนออะไรไปในงานศิลปิน มันก็เป็นสิ่งที่ตัวเขาเองคิดไม่ถึง มันทำให้ตัวงานตรงนั้นมันโตขึ้น ในทิศทางใหม่ ๆ ได้ เราชอบที่จะได้เห็นอะไรแบบนั้น”

    “เขากำลังพูดเรื่องหนึ่ง แต่เรามองเห็นว่าสิ่งที่เขาพูดอ่ะมันแตะไปถึงซ้ายกับขวาได้ด้วยนะ เออ เราสนุกกับมัน ชอบต่อยอดมากกว่า ชอบการคิดวิธีพรีเซ้นท์งาน มันสนุกกว่า”

    คอมมูนิตี้ที่ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัว

    หลังจากพูดคุยกันได้สักพัก ไอซ์เริ่มแชร์ถึงความสนุกกับการได้พบเจอผู้คนใหม่ ๆ ในชีวิตที่เรียกว่า “หนีมาเชียงใหม่” ผู้คนที่นี่ดูจะสร้างแรงบันดาลใจให้ไอซ์ได้ไม่น้อยเลย ทุกอย่างเริ่มต้นจากการไปนั่งเล่นที่ร้านเหล้ากลางเวียง

    “ก็จับพลัดจับผลูอ่ะ มันเป็นความงง ๆ เหมือนเราเดินไปเรื่อย ๆ แล้วเจออะไรระหว่างทางเราก็เก็บหมด”

    “เราเป็นลูกค้ามาก่อน ก็คุยกันจนสนิท จนปรึกษาโน่นนี่นั่น แบบเป็นพี่เป็นน้องกัน” ไอซ์เล่าถึงการที่อยู่ดี ๆ ก็ได้มาเป็นหุ้นส่วนร้านก้อม

    “การทำร้านเหล้าสำหรับเราช่วงนั้นเราได้คุยกับคนเยอะมาก ได้รู้จักคนนู้นคนนี้ ได้คอนเนคชั่น ได้เพื่อนใหม่ ๆ ช่วงเวลานั้นมันสนุก”

    “เราได้มีโอกาสรู้จักนักดนตรี รู้จักคนที่เขามีแพชชั่นในการทำงาน มันดึงดูดซึ่งกันและกันแล้วมันก็มันรวมกัน”

    เธอพูดถึงความเชื่อมโยงในคอมมูนิตี้ที่เริ่มก่อร่างสร้างตัว การที่จะได้มารู้จักกับ “พี่เบิร์ด” คชภัค ศรีสังวาลย์ แห่ง Addict Art Studio ผ่านศิลปินรุ่นใหญ่อย่างพี่แก้ว อุบัติสัตย์ จนไปถึง “พี่เวฟ” tomorrow.Lab

    “เครือข่ายมันไปข้างหน้าเรื่อย ๆ”

    “มาอยู่เชียงใหม่ก็ไปเจอพี่เบิร์ด เขาชวนทำอะไรก็ทำ ไปเจอพี่เวฟ พี่เวฟชวนทำอะไรก็ทำ พอตัวเองจะทำอะไรบ้าง ก็ไปชวนพี่เวฟ พี่เวฟก็ลุยด้วย”

    “เหมือนเราเดินไปข้างหน้า แล้วก็เดินไปเรื่อย ๆ อ่ะ เก็บซ้ายเก็บขวา ดึงคนโน้นมา คนนี้มา ไปหาเขาบ้าง อะไรแบบนี้”

    “ตอนแรกมาเที่ยว มาหาเพื่อนที่เรียนที่นี่ แล้วเราก็อยู่ในช่วงเพิ่งเรียนจบ ทำงานไปสักพักก็เริ่มรู้สึกว่า กรุงเทพมันไม่เหมาะกับกู

    บ้านเกิดอยู่ไหน

    “ชลบุรี”

    “มันไม่ได้มีคอมมูนิตี้ที่จะให้เราไปหยิบ Source หยิบจับทำอะไรได้เหมือนที่นี่”

    “เราชอบเชียงใหม่เพราะว่าคนที่นี่มันบ้าดีอ่ะ เออ คือเราทุกคนก็บ่นว่าเราไม่มีเงิน แต่ว่าเราก็ยังยืนยันว่าใครชวนทำงานคือเราทำ”

    “เรารู้สึกว่าเราหาคนแบบนี้ที่บ้านเราไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้อยู่บ้านนานแล้วด้วย”

    ชอบที่จะได้เชื่อมโยง

    “การเชื่อมโยงคนเข้าหากันผ่านงาน ผ่านความชอบ มันเหมือน Sub Culture นึงสำหรับเรานะ เราไม่ได้ยกยอว่าศิลปะมันอยู่สูงกว่าอะไร มันก็เหมือนดนตรี เหมือน Activity อื่น ๆ แต่เราเป็นคนที่ชอบมัน เราชอบศิลปะมากกว่าดนตรี เราเลยอยากมีคอมมูนิตี้แบบนี้”

    หัวใจของการสร้างสเปซในมุมมองของไอซ์คืออะไร

    “เรามองว่าเราไม่ได้เก่งในสิ่งที่เราทำขนาดนั้น เราไม่ใช่ The Best แต่เรารู้สึกว่าเราชอบมันมาก แค่นั้นเลย เรารู้สึกว่าการจะทำสเปซมันต้องเกิดจากแพชชั่นเกิน 70% เพราะสเปซมันไม่ใช่สิ่งที่ทำเงินได้เยอะ แต่ว่าเราทำมันเพราะความชอบส่วนตัว หัวใจของมันน่าจะเป็นแพชชั่น แล้วก็คอนเนคชั่นของคนที่รักในสิ่งเดียวกัน คือคอมมูนิตี้ ถ้าเราทำมันอยู่คนเดียวโดยที่ไม่มีใครซัพพอร์ตเลยเราคงเลิกทำไปแล้ว”

    “SOME SPACE มันก็มีปัญหาในตัวของมันเองเนอะ”

    “เราสามารถทำให้ตัวแกลอรี่อยู่ เลี้ยงตัวเองได้ แค่มันเลี้ยงเราไม่ได้เฉย ๆ มันอยู่ของมันได้ แต่เราต้องหางานอย่างอื่นทำไปด้วย”

    “รายได้มาจากการขายเครื่องดื่ม กับค่าเช่าพื้นที่”

    “จริง ๆ เราไม่ได้อยากทำให้มันปาร์ตี้ขนาดนั้น แต่ก็มาค้นพบว่าคนเชียงใหม่ชอบปาร์ตี้มาก”

    วัดความสำเร็จจากอะไร

    “งานที่มันเวิร์ค คืองานที่มัน Touch ใจคน การสร้าง Experience ที่คนที่เข้ามาเขาเอนจอยกับมัน ไม่ว่าจะทางไหนก็ตาม มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจ ถ้าเขา Touch กับมันในเชิงประสบการณ์ร่วม มันก็เวิร์ค หรือถ้ามันสนุก มันก็​ Touch ในเชิงความบันเทิง”

    “เป็นไปตามเป้าหมายมากกว่านิทรรศการนั้น ๆ เราต้องการให้คนรู้สึกกับมันยังไง ถ้าใน 50 คนที่มามีแค่ 10 คน แล้วบอกเราว่าเขาเข้าใจมันในแบบของเขานะ อะไรแบบนี้ เราว่ามัน Success แล้ว ไม่ว่าจะเข้าใจในแบบเรา หรือเข้าใจใน Way ที่เขาคิดเองก็ตาม”

    ต่อจากนี้ อยากเห็น SOME SPACE เป็นยังไงต่อไป

    “เรากำลังจะทำสตูดิโอสอนศิลปะเด็ก พื้นที่เวิร์คช็อปสำหรับคนทั่วไป”

    “ถ้ามีงบสนับสนุนที่ตัวมันอยู่ได้จริง ๆ แล้ว เราจะเลิกเก็บค่าเช่า พยายามจะลด ถ้าเป็นไปได้นักศึกษาเราจะไม่เก็บเลย อยากทำให้มันเป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาอยากแสดงงาน” ไอซ์พูดถึงความหวังที่อยากจะเปิดพื้นที่ให้ Young Artist รุ่นหลัง ๆ ได้เข้ามาใช้พื้นที่ได้อย่างเสรีมากขึ้น

    “แต่ก็ ยังติดกับอยู่ในโลกทุนนิยมอยู่”

    “อยากให้ SOME SPACE เป็นพื้นที่ศิลปะสำหรับทุกคนให้ได้”

    ตอนนี้ SOME SPACE ยังไม่เป็นพื้นที่ของทุกคน?

    “ถ้าถามเราตอนนี้มันก็เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนอยู่แล้ว แต่ความพยายามในการจัดนิทรรศการของเรามันอาจจะยังเข้าไม่ถึงคนขนาดนั้น”

    “เพราะว่าคนยังไปดูงานศิลปะในคาเฟ่เยอะกว่า พื้นที่ที่ถ่ายรูปสวยมันเยอะกว่า”

    “ก็เป็นโจทย์เหมือนกันนะว่าเราควรจะทำให้มันเป็นไปตามกระแสนั้นมั้ย หรือเราควรจะเน้นไปที่ตัวงานมากกว่า”

    “มันแยกกันคนละบริบทเลย คาเฟ่สวยที่มีงานศิลปะแขวน กับพื้นที่ที่เป็นงานศิลปะแล้วคนอยากมาถ่ายรูป อะไรแบบนี้ มันไม่เหมือนกัน”

    “สำหรับเรา เราอยากให้สเปซเรามันเป็นพื้นที่แสดงงานสำหรับคนที่อยากทำศิลปะอะไรก็ได้ แล้วมีคนสนใจอยากมาดูมัน”

    “พอเราเริ่มเห็นทุนหลายโครงการที่เขาเปิดรับ เราก็ยังรู้สึกมีความหวังอยู่นะ”

    ภาพจาก SOME SPACE

    อยู่เชียงใหม่มากี่ปีแล้ว

    “เข้าปีที่สาม เพิ่งจะแปปเดียว”

    ดูผ่านอะไรมาเยอะนะ

    “ฮ่า ๆ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เชียงใหม่มันไวมากเลยอ่ะ”

    “อย่างที่บอกแหละ คือเราเดินไปเรื่อย ๆ ก็พยายามเก็บทุกอย่างที่เก็บได้”

    คิดยังไงกับซีนศิลปะเชียงใหม่

    “มีศิลปิน ไม่มีผู้ซื้อ”

    “สิ่งที่ยังไม่มีคือวัฒนธรรมในการสะสม กับวัฒนธรรมในการชื่นชม การซัพพอร์ต”

    “คือเราเป็นคนซื้องานเพราะว่าเราเข้าใจว่าศิลปินต้องการสิ่งนี้ แล้วก็ซื้อด้วยความชอบด้วย แต่เราคิดว่าปัญหามันวนกลับมาที่ค่าแรง รายได้ของคนที่นี่มันไม่ได้เพียงพอที่เขาจะเหลือพื้นที่ในการซื้อของที่ไม่จำเป็น”

    “เชียงใหม่มีศิลปะหลากหลายมาก เพราะเรามีคณะศิลปะที่สอนหลายแขนงมาก ทั้งสหศาสตร์ มีเดีย งานมันก็เลยมีทั้ง Conceptual มีทั้งการใช้เทคโนโลยี มีทั้งจิตรกรรม ไม่ได้มีแค่มช. มีตั้งหลายมหาลัยที่สอนศิลปะ”

    “สิ่งที่เชียงใหม่ไม่มีคือเส้นทางสำหรับศิลปินว่าจะไปทางไหน เรียกว่าไม่มีเส้นทางของคนทำงานสร้างสรรค์ดีกว่า มันไปทางไหน? มันไม่มี มันไม่มีเศรษฐกิจที่จะไปทางนั้น สร้างรายได้จากมันเพื่อให้ตัวเองทำต่อได้ยาก”

    “เรามีรุ่นน้องที่เรียนศิลปะมาแล้วหางานทำไม่ได้เยอะมาก สุดท้ายก็มาจบลูปเดิม คือทำงานร้านกาแฟหรือร้านต่าง ๆ เท่าที่ธุรกิจในเชียงใหม่มี ซึ่งก็ไม่มาก เราไม่ติดอะไรนะถ้าเขาชอบ แต่บางคนต้องทำไปเพราะไม่รู้จะทำอะไร มันไม่มีทางเลือกอื่น”

    “เราพูดเรื่องนี้บ่อยมาก คือเราปวดใจ มันไม่มีอะไรรองรับให้เขาเดินไปข้างหน้าได้ สุดท้ายถ้ายังอยากทำงานครีเอทีฟอยู่ก็ต้องเข้าเมือง เข้ากรุงเทพฯ”

    แต่เธอยังอยู่อ่ะ

    “ฉันเกลียดกรุงเทพ เออ มันวุ่นวายเกิน”

    “มันก็ต้องหาทางไปอ่ะ พออยู่แล้วมันติดนะ เชียงใหม่อ่ะ มันสนุกมากนะ ถ้ามีพื้นที่ให้เขาได้ใช้ความสามารถทั้งหมดอ่ะ มีหนทางให้เขาดึงศักยภาพออกมาได้ มันจะเป็นเมืองที่เหมือนการ์ตูนอ่ะ จริง ๆ”

    “ดูดิ เรามี tomorrow.Lab มี Addict Art Studio มีแกลอรี่เยอะมาก มีศิลปินเต็มไปหมด แต่ว่าคนพวกนี้ Suffer สัตว์อ่ะ”

    “ใจเราไม่ได้มีปัญหากับการอยู่นี่เลย ยกเว้นเรื่องเงินนะ เรื่องเงินก็เรื่องหนึ่ง แต่การใช้ชีวิตเราแฮปปี้”

    “เรายังสนุก ยังมีอะไรใหม่ ๆ ให้ทำทุกวัน หรือคิดอยากจะทำอะไรขึ้นมา มันดูเป็นไปได้”

    “พอเรามีโครงการอะไรในหัวเราก็แค่มาคุยกับกลุ่มคอมมูนิตี้เรา เราเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เลยมันจะมีคนซัพพอร์ตแล้วพร้อมที่จะเดินไปด้วยกัน”

    “เชียงใหม่เป็นเมืองที่กำลังจะตาย เป็น dying city มีความคิดเห็นอย่างไร”

    พูดคุยกันมาถึงตรงนี้ ไอซ์ถามความเห็นเรากลับบ้าง

    คิดว่าถ้ามันมีคอขวดที่ยังกระตุกอยู่แบบนี้มันจะเงียบไป

    “เราก็รู้สึกนะ ว่าเมืองมันเงียบลงมากเลยสำหรับเรา เคยรู้สึกว่าเชียงใหม่มันครึกครื้นกว่านี้อีกนิดนึง”

    ความอยู่ไม่ได้ของนักสร้างสรรค์​ ความหมดแรง ไปต่อไม่ได้นี่แหละ วันหนึ่งเราอาจจะต้องตั้งคำถามว่าเราอยู่ได้จริงไหม

    เพราะเหตุนี้ เราจึงมีความเห็นว่าการผันตัวไปเป็นตัวกลาง ผู้จัดการในวงการศิลปะ แบบที่ไอซ์ทำมีความสำคัญมาก เพื่อสร้างเศรษฐกิจและ “เส้นทาง” ที่ทำให้ไปต่อได้

    “สู้ต่อไปนะทุกคน” ไอซ์กล่าวยิ้ม ๆ 

    “คนพวกนี้มันทำให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยว เราสู้ไปพร้อม ๆ กันนั่นแหละ เราก็ยังยืนยันว่าเราจะยังทำสิ่งนี้ เพียงแต่เราก็ต้องหาวิธีทำยังไงในแบบที่ไม่ทำให้เราเจ็บตัว”

    คำถามต่อความอยู่รอดของเส้นทางสายสร้างสรรค์

    “บางวันก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำงานประจำดีมั้ย ไม่ไหวแล้วว่ะ แต่ทำใจทิ้ง SOME SPACE ไม่ได้”

    “ช่วงนี้เลยเป็นช่วงที่ต้องหาทุนเข้ามา ถ้าไม่ได้จริง ๆ เราก็คงต้องหยุดก่อน”

    “ไม่งั้นเราก็อยู่ไม่ได้ ค่าใช้จ่ายมันมีเท่าเดิม มีแต่จะเพิ่มขึ้น เลี้ยงแม่งทุกเดือน ๆ อย่างกับผ่อนบ้าน”

    “แต่ไม่ดิ ๆ ยังดื้ออยู่”

    “เราก็มองว่าความอยู่ไม่ได้นี่แหละจะทำให้เราหยุดทำ ทำใจไว้ครึ่งหนึ่งเลยว่าถ้าไม่ไหวก็ต้องปล่อย”

    อยากเห็นอะไรในเชียงใหม่

    “การมาร่วมกันสร้างสรรค์อะไรสักอย่างให้มันเกิดขึ้น ที่มัน Happen โดยท่ีเรารวมคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ทำงานด้วยกันในงานสร้างสรรค์ มาจอยกัน รู้จักกัน อย่างงาน Video jam ที่เอิงไป เราอยากเห็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแรง”

    “สิ่งที่เราวางแผนไว้กับพี่ปอ พี่เบิร์ด ก็คืออยากทำเทศกาลเมืองที่ทุก ๆ พาร์ทใน Creativity ของเชียงใหม่ เขาได้มาทำงานด้วยกัน สมมุติ Addictฯ สามารถเชิญ Human ร้ายฯ มา เชิญ Tomorrow.Lab มาได้ เชิญ​ Dream Graaf มาทำงานในโปรเจคเดียวกันได้ อันนี้แหละคือสิ่งที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นมากเลย”

    “สร้างเมืองที่มันเป็น Creative สำหรับทุกคน เข้าใจมัน รู้ Value ของมัน ให้คุณค่ากับมัน แล้วก็สนุกกับมัน”

    ไอซ์เปลี่ยนไปมาก อยากบอกอะไรไอซ์ในวัยเด็ก

    “เราอยากบอกตัวเองว่าถ้าคิดอะไรได้ให้รีบทำ”

    “มันมีความกลัวค่อนข้างเยอะ พอเราเรียนเฉพาะด้านมามาก ๆ เราก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันเพอร์เฟคหรือยัง มันเหมือนเวลาทำธีสิสตลอดเวลา จะคิดโปรเจคอะไรรู้สึกเหมือนทำธีสิสตลอดเวลา ทำงานศิลปะมาแล้วต้องตอบคำถามทุกคนบนโลกได้ขนาดนั้นเลยเหรอวะ”

    “มันก็จะเกิดความกลัว ไม่กล้าหยิบจับทำโปรเจคอะไรเลย”

    “แต่พอความคิดเราเปลี่ยน ตอนนี้เรารู้สึกว่า ทำไปก่อน ทำไปเลย แล้วความผิดพลาดมันจะสอนเราเอง ดีกว่าไม่ได้ทำ”

    อะไรทำให้มีแรงไปต่อกับศิลปะ

    “ของเรามันก็เบสิคมากเลย เราได้กำลังใจจากคนที่ทำงานสายเดียวกัน อย่างที่เราบอกไป เราไม่ได้เดินในทางสายนี้คนเดียว ทุกคนก็ยังทำในสิ่งที่ตัวเองรักอยู่ เราก็เลยมองว่าถ้าเขายังไม่เลิก กูจะเลิกทำไม มันมีคนที่ก็ลำบากเหมือนเรา แต่ก็ยังทำอยู่”

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...