เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าว ThaiPBS รายงานข่าวความคืบหน้าโผ ครม. แพทองธาร ระบุโผลงตัวแล้ว มีการจัดสรรรายชื่อพรรคร่วมครบทั้ง 36 ตำแหน่ง คาดว่าสามารถทูลเกล้าฯ ได้ภายใน 15 ก.ย. หรือบวกลบไม่เกิน 3 วัน เป็นที่น่าสนใจว่าโผดังกล่าวปรากฏรายชื่อ 2 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 และเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เขต 5 โดยทั้งคู่จะมีตำแหน่งเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรมช.สาธารณสุข ตามลำดับ
การจัดตั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รวมเอาพรรคประชาธิปัตย์เข้าไว้ด้วย นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญของการเมืองไทยร่วมสมัย เพราะอาจถือได้ว่าเป็นการปิดฉากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งพรรคเพื่อไทย (เมื่อครั้งเป็นพรรคไทยรักไทย) และพรรคประชาธิปัตย์ อันยาวนาน 2 ทศวรรษ
การจับมือกันครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่า “คนเสื้อแดง” คิดเห็นหรือรู้สึกกับเหตุการณ์นี้อย่างไร เพราะกลุ่มผู้บทบาทสำคัญยิ่งในสมการความขัดแย้งของทั้ง 2 พรรค นับตั้งแต่เริ่มมีการเคลื่อนไหวและชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐประหาร พ.ศ. 2549 กระทั่งเผชิญกับโศกนาฏกรรมที่กลางกรุงในเดือนเมษา – พฤษภา ปี พ.ศ. 2553
ที่จริงแล้ว มีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้ออกมาแสดงความเห็นและความรู้สึกเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนี้ไว้บ้างแล้ว เป็นต้นว่า ก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ได้ออกมาแสดงความเห็นโดยชี้ว่าผู้บริหารปัจจุบันของประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ช่วงปี 53 นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่าจากที่ได้สัมผัสหัวหน้าและเลขาธิการพรรค พบว่ามีมุมมองต่อการเมืองที่ดี เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเชิงบวก ไม่ฝักใฝ่ทหาร ไม่ฝักใฝ่อำนาจนอกระบบ “ส่วนตัวผมไม่ติดใจเลย แต่ถ้าเป็นบุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2553 และเข้ามาเป็นรัฐมนตรี อย่างนี้คงไม่เห็นด้วย” ก่อแก้วกล่าว
ขณะที่ วรชัย เหมะ ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี อดีตแกนนำ นปช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวนี้ไว้โดยตนมองว่าเป็นความจำเป็น ด้วยเงื่อนไขสถานการณ์และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนในประเด็นเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำการสลายม็อบคนเสื้อแดง ตนมองว่าปัจจุบันอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ไม่ได้อยู่ในพรรคแล้ว ในวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นคนรุ่นใหม่ผลัดใบ อีกทั้งเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันก็ไม่มีส่วนร่วมในการสลายม็อบคนเสื้อแดง แม้จะมีความรู้สึกถึงการสลายม็อบ 99 ศพ รวมถึงความเจ็บปวดของคนเสื้อแดง แต่เราต้องแยกคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ และต้องเห็นใจรัฐบาล ที่ต้องเพิ่มเสียงเพื่อความมั่นคง
อีกด้านหนึ่ง สมโภชน์ ประสาทไทย แกนนำเสื้อแดงโคราชได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า ส่วนตัวแล้วตนเองก็ไม่ได้อยากให้ดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล เพราะคนเสื้อแดงเคยต่อสู้กับพรรคนี้มาจนเกิดการสูญเสียชีวิตมากมาย คนเสื้อแดงทุกคนยังคงจำได้ดี แต่ในเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปนานแล้ว และคนในพรรคประชาธิปัตย์ก็เปลี่ยนถ่ายเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว ถ้าเรามัวแต่ไปยึดติดอยู่กับความขัดแย้งในอดีต ก็จะทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับพื้นที่เชียงใหม่ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยประเด็นดังกล่าวนี้กับ 2 ตัวแทนคนเสื้อแดง คือดาบชิต กลุ่มแดงเชียงใหม่ และป้าวันดี โดยทั้งสองได้แบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกของการเป็นคนเสื้อแดง รวมถึงได้แสดงความเห็นถึงกรณีการจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์
ดาบชิต กลุ่มแดงเชียงใหม่, อายุ 51 ปี คนเสื้อแดงเชียงใหม่ที่เข้าร่วมขบวนการตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2549 คือตั้งแต่มีการรัฐประหารโดยการนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน และเข้ามาร่วมอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2551 ดาบชิตกล่าวว่าตนเข้าร่วมขบวนการด้วยความสนใจประเด็นการเมือง และเมื่อเข้ามาแล้วก็รู้สึกประทับใจในน้ำจิตน้ำใจของคนเสื้อแดง
สำหรับดาบชิตแล้ว คนเสื้อแดงคือประชาชน ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของทุกพรรคการเมือง และยืนยันว่าการเป็นคนเสื้อแดงในความคิดของตนเองไม่ได้หมายความว่าจะต้องอวยพรรคเพื่อไทยเมอไป “ช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้มีการส่งเสียงเตือนนายกฯ เศรษฐา ในเรื่องเศรษฐกิจไปบ้าง” ดาบชิตกล่าว
เกี่ยวกับการที่พรรคเพื่อไทยส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ดาบชิตเปิดเผยว่าตนก็รู้สึกแย่แต่ก็ว่าทำใจได้ เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นองค์ประกอบการเมือง การหาพรรคมาเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นเรื่องของการสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจเนื่องจากบ้านเรายังจำเป็นต้องพึ่งพานักลงทุน และเสถียรภาพของรัฐบาลก็จะเป็นหลักประกันให้นักลงทุนเหล่านั้น
ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์เอง ดาบชิตกล่าวว่าตนมองพรรคเป็นสถาบันการเมือง เมื่อพรรคการเมืองทั้งสองจับมือกัน ตนก็ถือว่าเรื่องของสถาบันทางการเมือง และปัจจุบันองคาพยพของพรรคประชาธิปัตย์เองก็เปลี่ยนไปแล้ว บุคคลในพรรคตอนนี้ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนที่ออกคำสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี พ.ศ. 2553
แต่ถึงอย่างนั้น ดาบชิตยอมรับว่าในฐานะของคนเสื้อแดงแล้ว ตนก็มีความรู้สึกเจ็บ รู้สึกเสียใจ แต่ถ้าจะยึดติดกับความรู้สึกของคนเสื้อแดงเพียงกลุ่มเดียวเป็นที่ตั้ง ตนก็มองว่านี่อาจจะไม่ยุติธรรมกับคนทั้งแผ่นดิน
วันดี รัตน์ดวง อายุ 54 ปี คนเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ในสมุทรปราการ กรุงเทพฯ และพิษณุโลก ก่อนจะย้ายมาอยู่เชียงใหม่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเคยถูกทหารเรียกตัวไปปรับทัศนคติในช่วงการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557
วันดีเล่าว่ามาเข้าร่วมชบวนการเสื้อแดงตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2549 ด้วยเหตุที่ว่าตนเองสัมผัสกับความเหลื่อมล้ำและการเมืองมาตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน และมีพ่อเป็นหัวคะแนนของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์คือ เสธ.หนั่น หรือ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ และความสนใจในการเมืองของป้าวันดีดำเนินมาเรื่อยๆ แม้จะเอาเวลาไปทำมาหากินบ้างแต่ก็ยังติดตามและให้ความสนใจประเด็นการเมืองมาตลอด เกี่ยวกับการเข้าร่วมกับคนเสื้อแดง วันดีเล่าว่าตนเองและสามีชอบไปนั่งเล่นที่สนามหลวง เมื่อได้ไปแล้วก็ได้เจอกับคนที่หลากหลาย ทั้ง ดา ตอร์ปิโด และสุรชัย แซ่ด่าน รวมทั้งได้ซื้อหนังสือประเภทที่เรียกว่าได้อ่านแล้วก็ “ตาสว่าง” กลับมาอ่านที่บ้าน
ในปี พ.ศ. 2548 ก่อนการรัฐประหารนั้น วันดีเผยว่าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยคือประเทศในฝัน เพราะเศรษฐกิจดี เจ็บป่วยก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการดุด่าหรือดูถูกเหมือนแต่ก่อน และที่สำคัญคือมีการปราบปรามยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ “ตอนนั้นป้าชื่นชมทักษิณ เหมือนเป็นเทวดาของป้าเลย” วันดีกล่าว
แต่เมื่อมาถึงปี พ.ศ. 2549 สถานการณ์เปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม มีการรัฐประหาร ประกอบกับเริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง วันดีจึงมาเข้าร่วมด้วยความคิดและความหวังที่ว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2553 วันดีก็เข้าร่วมขบวนการคนเสื้อแดงอย่างจริงจัง เรียกได้ว่าเป็นคนเสื้อแดงเต็มตัว ในตอนนั้นวันดีจะไปเข้าร่วมการชุมนุมกับพี่น้องเสื้อแดงอย่างสม่ำเสมอ และได้ไปปักหลักร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงอยู่ 1 เดือนเต็มช่วงก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม ส่วนในวันที่มีการสลายการชุมนุมนั้น ป้าวันดีเปิดเผยว่าได้สูญเสียเพื่อนเสื้อแดงคนหนึ่งไปต่อหน้าต่อตาในวันที่มีการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ (19 พ.ค. 2553) เพื่อนคนดังกล่าวชื่อ “วสันต์ ภู่ทอง” เสียชีวิตจากการถูกระสุนปืนในพื้นที่สลายการชุมนุม
ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงกรณีการจับมือกันของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ วันดีจึงสะอื้นเล็กน้อยก่อนจะกล่าวว่า “ป้าไม่ได้ทำใจไว้ว่าพวกเค้าจะกล้าจับมือกัน ก็เสียใจนะแต่ช่างมันเถอะ เราจะไปทำอะไรได้ แค่ประชาชนคนหนึ่ง เจ็บใจไปแล้วเราก็ต้องไปต่อ มีดิ่งบ้างแต่ดิ่งแล้วก็ต้องไปต่อ เดินต่อ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เหมือนจะเหลือแค่เราที่เป็นประชาชนเท่านั้นที่ยังมีกระดูกสันหลัง”
อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนัก (ลอง) เขียน อนาคตไม่แน่นอน