พฤษภาคม 19, 2024

    เมื่อฟ้าสีเทาหม่นหมดอำไพ คนจน (เมือง) จะอยู่กันอย่างไรในเวียงพิงค์

    Share

    เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

    ในวันที่ 12 มีนาคม 2567 มีรายงานข่าวว่าโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมายืนยันสถานการณ์ปัญฝุ่น PM2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่า “อากาศเชียงใหม่ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว” ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ แล้วประเด็นว่าอากาศเชียงใหม่ปีนี้จะดีขึ้นหรือแย่กว่าปีที่ผ่าน ๆ มา คงเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันไปอีกนาน

    สำหรับประชาชนกลุ่มหนึ่ง การยืนยันดังกล่าวคงจะไม่ทำให้พวกเขาหายใจหายคอได้โล่งขึ้นแต่อย่างใด เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบที่พวกเขาได้รับในยามที่มีวิกฤตการณ์ฝุ่น PM2.5 นั้น เหนือไปยิ่งกว่าคุณภาพอากาศ หากแต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต 

    ช่วงสายของวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2567 ผู้เขียนมีโอกาสไปนั่งคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 ทั้งผลกระทบ ข่าวสาร และมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันของภาครัฐ กับผู้ที่เรียกตัวเองว่า ‘คนจนเมือง’ คนหนึ่ง ซึ่งขอใช้นามสมมติว่า “พี่เอ” เหตุเพราะเพิ่งได้รับบทบาทใหม่และเป็นบทบาทที่ต้องทำงานร่วมกับภาครัฐ จึงเกรงว่าถ้าออกชื่อจริงไปแล้ว อาจจะโดนมองว่าเป็น “นักร้อง” ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มงาน

    “ฝุ่นไม่ได้กระทบแค่สุขภาพ แต่มันกระทบไปทั้งหมด”

    เกี่ยวกับผลกระทบจากฝุ่นควัน ฝุ่น PM 2.5 พี่เอเล่าให้ฟังว่า “ถ้าวันไหนออกนอกบ้านแล้วไม่ใส่แมส ก็จะแสบตา แสบคอ ถ้ากลับบ้านมาแล้วเช็ดจมูกก็จะมีเขม่าสีดำ ๆ ปนออกมา แล้วคนในบ้านพี่นี่ต้องออกนอกบ้านกันทุกวันนะ ต้องไปทำมาหากิน พอออกไปแล้วก็สูดก็ดมเอาฝุ่นเข้าไป นาน ๆ เข้าก็เริ่มเจ็บคอ เริ่มไอ พี่เองก็ไอมาเป็นเดือนแล้ว เพิ่งจะหาย พอมีอาการอะไรแบบนี้พี่ซื้อยากิน เพราะถ้าไปโรงพยาบาลมันจะเสียเวลามาก ไปครั้งหนึ่งก็กินเวลาหนึ่งวันเต็ม ๆ ซื้อยามากินเองตามอาการดีกว่า”

    ครอบครัวของพี่เอมีสมาชิก 8 คน เป็นผู้ใหญ่ 6 คน และเด็กวัยประถมอีก 2 คน ทั้งอยู่ด้วยกันในบ้านที่มีแค่พัดลม ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องกรองอากาศ  เมื่อถึงหน้าฝุ่นทุกคนในบ้านก็จะดูแลตัวเองด้วยการใส่แมส ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วใน 1 วัน บ้านพี่เอจะใช้แมสกันคนละ 2 ชิ้น รวมทุกคนแล้วก็คือใช้แมสวันละ 16 ชิ้น ซึ่งพี่เอบอกว่า “แมสที่ใช้นี่ซื้อกันเองนะ นาน ๆ ที จะมีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเอาแมสมาแจกให้ครั้งนึง แล้วเวลาแจกก็จะได้รับแมสบ้านละ 1 กล่อง เป็นแมสแบบที่หนา ๆ เหมือนแมสกรองฝุ่น แต่ไม่มีตัวกรองฝุ่น แล้วกล่องนึงมีแมส 6 ชิ้นแต่บ้านพี่มี 8 คน มันก็ไม่พอกันใช้ สุดท้ายแล้วก็ต้องซื้อเองอีกอยู่ดี”  

    พี่เอเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่าการแจกแมสนี้ นาน ๆ ทีจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจกแมสสักครั้งหนึ่ง ในปีนี้ก็เพิ่งมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจกแมสให้เมื่อเดือนที่แล้ว แต่หลังจากนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจกแมสอีกหรือไม่ 

    นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว พี่เอยังบอกด้วยว่าฝุ่นทำให้รายได้ลดลง โดยเฉพาะรายได้ของสามีและลูกเขย ทั้งสองมีอาชีพขับรถแดงรับส่งนักท่องเที่ยว แต่เมื่อถึงหน้าฝุ่นก็ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว “คือเราก็เข้าใจนะว่ามันเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู แต่เราก็อยากทำมาหากินด้วย ช่วงนี้ไม่ได้เงินเลย จริง ๆ ถ้าเอารถออกไปวิ่งวนก็พอจะได้ 200 – 300 บาท แต่เฉพาะค่าน้ำมันก็ไป 400 บาทแล้ว นานๆ ครั้งจึงจะได้ไปวิ่งรับส่งกรุ๊ปทัวร์” พี่เอกล่าว 

    ในส่วนของพี่เอและลูกสาว ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไป เมื่อเข้าฤดูฝุ่นควันแล้วก็ยังคงมีรายได้ตามเดิมหากแต่ความแข็งแรงของสุขภาพไม่เหมือนเดิม เพราะต้องออกไปทำงานนอกบ้านท่ามกลางฝุ่นควันในทุกๆ วัน 

    สำหรับมาตราการหรือคำแนะนำเพื่อการป้องกันสุขภาพในช่วงภาวะฝุ่นควันจากภาครัฐประการหนึ่งระบุไว้ว่า เมื่อฝุ่น PM 2.5 มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ซึ่งหมายความว่าในอากาศมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 มากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ดังนั้นประชาชนควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน พี่เอกล่าวว่าทั้งตนเอง ลูกสาว และคนอื่นๆ ในบ้านต่างก็รับรู้มาตรการข้อนี้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่สามารถที่จะเลือกเก็บตัวหลบฝุ่นควันอยู่แต่ในบ้านได้

    “ไอ้ที่บอกว่าให้เก็บตัวเองอยู่ในบ้าน งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง พี่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเราต้องทำงาน เราต้องออกไปทำมาหากิน เพราะเราเองก็มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าอยู่แต่บ้านแล้วเราจะเอาอะไรกิน อีกอย่างภาครัฐก็ไม่ได้การันตีกับเรานะว่าถ้าอยู่บ้านแล้วจะมีเงิน สำหรับพี่ฝุ่นไม่ได้กระทบแค่สุขภาพ แต่มันกระทบไปทั้งหมด” พี่เอกล่าว 

    “ถ้ามีแนวทางแก้ไขกันยังไง ก็อยากให้นึกถึงคนจนบ้าง”

    ในแง่การติดตามข้อมูลข่าวสาร พี่เอเล่าว่าตนเองได้พยายามติดตามข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้รับรู้อะไรมาก โดยเฉพาะข่าวสารจากทางจังหวัด ซึ่งพี่เอบอกกับผู้เขียนว่า “พี่ไม่รู้เลยว่าปีนี้เค้ามีเชียงใหม่โมเดล เและอนุญาตให้เผา ให้ใช้ไฟได้ แต่พอรู้แล้วก็ยังคิดไม่ออกว่ามันจะแก้เรื่องฝุ่นได้ยังไง เอาจริง ๆ พี่ก็ได้ยินเค้าพูดกันตลอดเลยนะ เวลาหาเสียงก่อนเลือกตั้งนี่พูดกันทุกพรรคเลยว่าจะทำให้เชียงใหม่ไม่มีฝุ่นอีก ก็ไม่เห็นว่าจะทำได้ มันติดอะไร หรือมันทำไม่ได้จริง ๆ”

    เกี่ยวกับการเผานี้ พี่เอเล่าเพิ่มเติมว่าเมื่อไม่นานมานี้มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเข้ามาที่ชุมชน เพราะได้รับแจ้งว่ามีการเผาเกิดขยะภายในชุมชน เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ก็เดินเข้าบ้านนั้น เดินออกบ้านนี้ เพื่อตามหาร่องรอยการเผาแต่สุดท้ายก็ไม่พบร่องรอยอะไร 

    “เค้ามาแล้วก็เดินเข้าเดินออก ถ่ายรูปตรงนั้นตรงนี้ หารอยเผา พอไม่เจออะไรเค้าก็มาขอโทษแล้วบอกว่าต้องมาตรวจสอบเนื่องจากมีคนแจ้งไปว่าชุมชนนี้เผาขยะ พี่ก็เลยบอกว่าปกติแล้วขยะนี่เหม็นมากเลยนะ แล้วจะเผาเพื่อนั่งดมควันของมันอีกทำไม มันเหม็น มันปวดหัว ถ้าจะเผาหรือจะใช้ไฟกันในชุมชนนี่ก็มีแต่การทำอาหารนั่นแหละ เราก็ใช้เตาอั้งโล่ธรรมดา ก็คนหาเช้ากินค่ำนี่เนอะ จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อเตาไร้ควันมาใช้” พี่เอกล่าว

    นอกเหนือจากเรื่องเชียงใหม่โมเดลแล้ว ยังอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของโครงการห้องปลอดฝุ่น ซึ่งพี่เอบอกว่าตนเองไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโครงการนี้เลยแม้แต่น้อย โดยพี่เอบอกว่า “จริง ๆ พี่ไปร่วมงานเครือข่ายชุมชน ได้เจอกับเจ้าหน้าที่ เจอกับเพื่อนชุมชนอื่น ๆ บ่อยอยู่นะ แต่พี่ไม่รู้ข่าวเรื่องโครงการห้องปลอดฝุ่นนี่เลยจริง ๆ แล้วพี่ก็อยากรู้ว่าคุณทำห้องปลอดฝุ่น คุณทำไปเพื่อใคร ชาวบ้านตาดำ ๆ แบบเรานี่จะมีทางให้ไดใช้ไหมห้องนี่ คือถ้าคุณอยากจะให้ประชาชน ชาวบ้านเค้ามีสุขภาพดีจริง ๆ คุณต้องแจ้งสิ ต้องบอกพวกเรานะ ประธานชุมชน ประธานหมู่บ้านก็มีคุณก็แจ้งมาสิ แจ้งมาว่ามีห้องปลอดฝุ่นอยู่ตรงนี้นะ สามารถมาใช้ได้ ห้องมันเปิด – ปิดกี่โมง เข้าใช้ได้กี่ครั้ง แจ้งมาให้หมดเลย”

    ทั้งนี้ พี่เอได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำห้องปลอดฝุ่นว่า “ที่บอกว่าจะขยายให้มีการทำห้องปลอดฝุ่นในบ้านเรือนด้วย พี่ยังไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่จากที่ไหนลงมากสำรวจพื้นที่ หรือให้ความรู้ หรือแจ้งข่าวอะไรให้ชาวบ้านรู้เรื่องเลย แล้วที่บอกว่าจะรณรงค์ให้มีห้องปลอดฝุ่นในห้างและร้านค้าต่าง ๆ นี่ทำเพื่ออะไร ทำไมไม่มาเน้นที่ชาวบ้าน ถ้าให้พี่เสนอนะ พี่ว่าในหนึ่งชุมชนนี่มาทำห้องปลอดฝุ่นให้สักห้องหนึ่งก็ยังดี สร้างให้มันเป็นออฟฟิศ เป็นสำนักงานของชุมชนไปเลย จะดัดแปลงลานกลางหมู่บ้าน ดัดแปลงอาคารอเนกประสงค์ชุมชนมาทำเป็นห้องปลอดฝุ่นไปเลย หรือจะเอาไปสร้างไว้ในพื้นที่วัดก็ได้ เพราะวัดก็เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนอยู่แล้ว”

    ในตอนท้าย พี่เอได้กล่าวกับผู้เขียน อันที่จริงพี่เอก็มั่นใจในศักยภาพและการทำงานเพื่อการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันของบรรดาเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม “ถ้า (เจ้าหน้าที่) มีแนวทางแก้ไขอย่างไร ก็อยากให้นึกคนจนบ้าง”  

    หมายเหตุ บทสัมภาษณ์นี้เป็นความพยายามที่สะท้อนเสียงของคนตัวเล็กน้อยที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสภาวะฝุ่น PM 2.5 อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มิได้มีเจตนาจะกล่าวโทษหรือตำหนิการกระทำของหน่วยงานใด ๆ หากส่วนใดส่วนหนึ่งของเนื้อหามีความไม่เหมาะสม ผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...