แอมเนสตี้และเครือข่ายนิรโทษกรรม เปิดแคมเปญ ‘Free Ratsadon on the Road’ เดินทางทั่วไทย ดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พาฝันเพื่อนถึงวันที่ไม่มีคดีการเมือง ประเดิมเชียงใหม่ที่แรก

4 กันยายน 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และ ThumbRights เปิดตัวแคมเปญ ‘Free Ratsadon on the Road x Amnesty People’ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมให้ประชาชนทั่วประเทศยืนหยัดในการปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ผ่านการผลักดันสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน และพาฝันของเพื่อนในเรือนจำไปพบกับผู้คนทั่วประเทศไทยเพื่อไปให้ถึงวันที่ไม่มีคดีการเมือง โดยเริ่มต้นจากจังหวัดเชียงใหม่ และเดินทางต่อไปยังขอนแก่น อุบลราชธานี และปิดท้ายที่สงขลา

โดยภายในงานมีการเปิดตัวเว็บไซต์ https://freeratsadon.amnesty.or.th/ เขียนจดหมายหาเพื่อนในเรือนจำ บูธกิจกรรมจากองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กิจกรรม ‘อ่านจดหมายจากเพื่อน’ Performance Art ‘เราจะพูด เราจะอ่าน เราจะเขียน’ โดย Blank Space Theatre วงเสวนา ‘พื้นที่เสรีภาพ ชะตาผู้ต้องขัง และนิรโทษกรรมคดีการเมือง’ วงคุย Stand with เพื่อนเหนือ และมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินเบื๊อก

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของแคมเปญ ‘Free Ratsadon on the Road x Amnesty People’ ว่า เพื่อสร้างการรับรู้และระดมการสนับสนุนจากผู้คนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ กิจกรรมนี้จะนำพาทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ที่ไม่เพียงแค่เป็นการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและยืนหยัดเคียงข้างเพื่อนในเรือนจำเท่านั้น แต่ยังเป็นการรวมพลังของภาคประชาชนทุกคนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ผ่านกิจกรรมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจว่าเราไม่ยอมให้มีการคุมขังผู้คนจากการใช้สิทธิมนุษยชนอีกต่อไป พร้อมทั้งเสริมว่า กิจกรรมนี้จะสามารถช่วยสร้างเครือข่ายและความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหา ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อยุติคดีทางการเมืองต่อประชาชนที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

“ปัจจุบันพบว่า มีคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอยู่ทั่วประเทศไทย ไม่ใช่แค่เพียงในกรุงเทพฯ ที่เดียว จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพราะหัวใจสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้บังคับใช้ได้จริงคือ การทำให้เรื่องราวของนักกิจกรรมและคนที่อยู่ในเรือนจำไม่ถูกลืมเลือนไปจากสังคม ประเด็นนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดไม่แพ้กัน แอมเนสตี้ยืนยันว่า การไม่หยุดเล่าเรื่องราวของนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญในการผลักดันให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้นได้จริง และหากเราช่วยกันเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ จะเป็นการส่งสารถึงพวกเขาไม่ได้อยู่ลำพัง มีคนอีกมากมายที่ยืนหยัดยืนเคียงข้างพวกเขาผ่านแคมเปญนี้”

สำหรับแคมเปญ Free Ratsadon on the Road ในแต่ละจังหวัดมีหลากหลายกิจกรรม เช่น นิทรรศการการเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำผ่านเว็บไซต์  https://freeratsadon.amnesty.or.th/ รวมทั้งเวทีเสวนาที่มีทั้งตัวแทนนักวิชาการ องค์สิทธิมนุษยชน ทนายความ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ตลอดจนการเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน

ด้าน พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงข้อมูลตัวเลขผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องทางการเมือง รวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 43 คน ในจำนวนนี้มี 29 คน ถูกดำเนินคดีภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยข้อมูลของผู้ที่ถูกคุมขังในปัจจุบันออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 21 คนที่ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว 2 คนเป็นเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งศาลให้เข้ามาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา และอีก 20 คนเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีที่ถึงที่สุดแล้วและจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาล ทั้งนี้ พูนสุขยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองสะสมไม่น้อยกว่า 1,956 คน ใน 1,302 คดี โดยในจำนวนนั้นมีผู้ถูกดำเนินคดีตาม ม.112 ถึง 273 คน ใน 306 คดี ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นช่วงที่มีการดำเนินคดีตาม ม.112 จำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย 

“จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าสังคมได้ส่งเสียงเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาของ ม.112 อย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจจนปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมืองกว่า 23 องค์กร จึงได้ร่วมมือกันเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนเพื่อยุติการดำเนินคดีที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายในการนิรโทษกรรมทุกคน ครอบคลุมการกระทำตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา”

“การนิรโทษกรรมเป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ ของการคลี่คลายความขัดแย้งให้สังคมของเราสามารถเดินต่อไปได้ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง หากไม่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย จะเท่ากับว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่ได้แก้ไขหรือคลี่คลายความขัดแย้งใด ๆ เลยเราหวังอย่างยิ่งว่าการออกเดินทางครั้งนี้จะสร้างเครือข่ายและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทย ในการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองโดยทันที ไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย”

จดหมายจาก ‘พรชัย – บัสบาส’ ผู้ต้องขังชาวเหนือคดี 112

ดรุเณศ เฌอหมื่อ ทนายความอาสาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงสถานการณ์ความยากลำบากทางการติดต่อสื่อสารของผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ห่างไกลนอกเหนือจากเรือนจำภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘พรชัย’ และ ‘บัสบาส’ สองผู้ต้องขังคดี ม.112 ในเรือนจำกลางเชียงใหม่และเรือนจำกลางเชียงราย

‘พรชัย’ และ ‘บัสบาส’ ต่างกำลังเผชิญกับอุปสรรคและข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เนื่องด้วยเรือนจำทั้งสองแห่งยังไม่มีระบบจดหมายออนไลน์ หรือ DomiMail ทำให้การติดต่อสื่อสารกับครอบครัว ญาติมิตร และทนายความเป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่การเยี่ยมเยียนก็มีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องระยะทางที่ห่างไกลและกฎระเบียบของเรือนจำที่แตกต่างกัน ทำให้พวกเขาทั้งสองต้องรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกกีดกัน และปิดกั้น

“ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่มีเพียงผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดที่เป็นนักโทษชั้นดีและดีเยี่ยมเท่านั้นที่ได้รับการเข้าเยี่ยมออนไลน์จากญาติ พรชัยจึงทำได้เพียงแค่รอ รอภรรยาและลูกเดินทางข้ามภูมิภาคมาเจอหน้าที่เรือนจำเท่านั้น บัสบาสเองก็มีโอกาสพบปะครอบครัว เพื่อน และคนใกล้ชิด เพียงเดือนละหนึ่งครั้งเท่านั้น ต่างจากเรือนจำในภาคกลางที่เปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ทุกวันทำการ”

“กฎระเบียบของเรือนจำ เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ และอุปสรรคอีกหลายประการ ปิดกั้น กีดกัน และผลักให้พวกเขายิ่งต้องรู้สึกโดดเดี่ยว เสมือนว่าการพรากอิสรภาพไปจากพวกเขายังเป็นบทลงทัณฑ์ที่ไม่สาแก่ใจ”

พื้นที่เสรีภาพ ชะตาผู้ต้องขัง และนิรโทษกรรมคดีการเมือง 

จากซ้ายไปขวา เฝาซี ล่าเต๊ะ ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ดรุเณศ เฌอหมื่อ พูนสุข พูขสุขเจริญ และสมชาย ศิลปปรีชากุล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างมาก นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างจำนวนมากถูกดำเนินคดีและคุมขัง ทำให้เกิดคำถามถึงอนาคตของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เพื่อหาทางออกและสร้างความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว ได้มีการจัดเสวนาหัวข้อ ‘พื้นที่เสรีภาพ ชะตาผู้ต้องขัง และนิรโทษกรรมคดีการเมือง’ โดย สมชาย ศิลปปรีชากุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดรุเณศ เฌอหมื่อ ทนายอาสา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่

ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ เล่าถึงสถานการณ์การจำกัดสิทธิเสรีภาพและอุปสรรคในการแสดงออกทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งมหาวิทยาลัยได้กลายเป็นพื้นที่หลักสำหรับการจัดกิจกรรม เนื่องจากการจัดงานนอกสถานที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ประสิทธิ์เล่าว่า แม้แต่การจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยเองก็ถูกจำกัดในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น ขณะเดียวกัน นักกิจกรรมยังต้องเผชิญกับการถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การติดตามและการคุกคามทางกายภาพ รวมถึงการคุกคามผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้ ในช่วงตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น ม.112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ได้ถูกนำมาใช้ควบคุมการชุมนุมและการแสดงออก โดยนักกิจกรรมส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีภายใต้ ม.112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นจำนวนมาก ซึ่งในหลายครั้งคดีเหล่านี้ก็เป็นเหมือนภาระอันหนักอึ้งที่คอยจำกัดอิสระในการดำเนินชีวิตเอาไว้

“หลาย ๆ ครั้งแค่เราจะเคลื่อนย้ายไปที่อื่น คดีก็รั้งไม่ให้ไปไหนได้”

ดรุเณศ เฌอหมื่อ กล่าวถึงอุปสรรคในฐานะทนายต่อการทำงานภายใต้ความไม่สม่ำเสมอของระเบียบราชทัณฑ์ในแต่ละแห่ง ที่ส่งผลให้การสื่อสารกับโลกภายนอกของผู้ต้องขังเป็นไปได้ยากและไม่แน่นอน โดยเฉพาะในกรณีของการสื่อสารและเข้าเยี่ยม ‘พรชัย’ ผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่า ระเบียบของเรือนจำแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้การสื่อสารและการเยี่ยมผู้ต้องขังเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เรือนจำหลายแห่งอนุญาตให้มีการเยี่ยมผ่านช่องทางออนไลน์ แต่สำหรับผู้ต้องขังคดีที่ยังไม่สิ้นสุด เช่น พรชัย จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ในการเยี่ยมออนไลน์ได้ ทำให้การติดต่อสื่อสารกับครอบครัวเป็นไปได้ยาก (คดีของพรชัยเพิ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา) นอกจากนี้ การเซ็นเซอร์การสื่อสาร รวมถึงความล่าช้าของจดหมาย ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ผู้ต้องขังต้องเผชิญ ทำให้การสื่อสารทั้งภายในและภายนอกเรือนจำเป็นไปอย่างยากลำบากเช่นกัน

“จดหมายจากในเรือนจำ ไม่ใช่แค่คดีพี่พรชัยที่ส่งจดหมายออกมาแล้วยังไม่ไปถึงปลายทางตั้งแต่เดือนเมษา การสื่อสารถูกเซ็นเซอร์ และตอนนี้ต้องสื่อสารผ่านทางทนายความ”

สมชาย ศิลปปรีชากุล แสดงความคิดเห็นต่อปรากฏการณ์ของ ‘นักโทษทางความคิด’ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่า บุคคลผู้ถูกดำเนินคดีและจำคุกเหล่านี้ไม่ได้กระทำการใดที่เป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรง แต่ถูกลงโทษเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดต่ออำนาจรัฐ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ไม่เพียงกระทบต่อบุคคลผู้ถูกดำเนินคดีเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้สังคมเกิดการปิดกั้นเสรีภาพและเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าของสังคม สมชายเน้นย้ำว่า สังคมจะเดินหน้าต่อได้ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’ ผ่านการถกเถียงด้วยข้อมูลและเหตุผล ซึ่งดูเหมือนว่าสังคมไทยในตอนนี้ไม่อนุญาตให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น ‘การนิรโทษกรรม’ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการฟื้นฟูเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในประเทศ และเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งบาดแผลให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดหรือแสดงออกแบบใด

“ตอนนี้คนจำนวนมากที่โดนคดีเป็นนักโทษทางความคิด เขาไม่ได้ฆ่าใคร ไม่ได้ทำร้ายใคร เป็นผลของการแสดงทัศนะซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกพิจารณาว่ามีปัญหา มีการแสดงความเห็นซึ่งไม่เป็นที่พอใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กระบวนการยุติธรรมพร้อมไปทางเดียวกัน โดยไม่มีใครเตือนใคร”

พูนสุข พูขสุขเจริญ อธิบายถึงความจำเป็นในการร่าง ‘พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน’ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาการนิรโทษกรรมส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มบุคคลซที่รัฐประหารแย่งอำนาจไปจากประชาชนเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมาร่างกฎหมายเอง เนื่องจากสถานการณ์ที่เร่งรัดในช่วง 3-4 ปี ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีประชาชนกว่า 1,900 คนถูกดำเนินคดีทางการเมือง และมีจำนวนคดีทางการเมืองที่สะสมกว่า 1,302 คดี โดย 60-70% ของคดีเหล่านี้ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม  การนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ได้กับทั้งกระบวนการยุติธรรม ในการช่วยบรรเทาและคลี่คลายความขัดแย้งลง โดยกฎหมายนี้เสนอให้นิรโทษกรรมครอบคลุมทุกคดีการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 โดยยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงและผู้ทำรัฐประหาร อีกทั้งยังกำหนดให้มีตัวแทนประชาชนในคณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรม พูนสุขเน้นย้ำว่า สิ่งนี้เปรียบเสมือนกลไกขยักเล็ก เป็นแค่เพียงการบรรเทาผลร้ายของสิ่งที่เกิดขึ้น ทว่าไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างใด ๆ อย่างไรก็ดี หากไม่มีการนิรโทษกรรม ความรุนแรงอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมารัฐไทยรับมือกับ ม.112 โดยการเพิกเฉยและจับกุมคุมขังมาโดยตลอด สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐไทยในการจัดการกับปัญหา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยขาดการคุ้มครองทางกฎหมายที่แท้จริง ดังนั้น การนิรโทษกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อบรรเทาผลร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

“ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วกว่า 1,900 คน เรามีความขัดแย้งทางการเมืองมานาน คนที่ต้องจ่ายต้นทุนนี้คือประชาชนมาตลอด”

Stand with เพื่อนเหนือ ยืนหยัดต่อสู้สู่วันที่ดีกว่า

จากซ้ายไปขวา ณัฐชนน ไพโรจน์ สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ นิวัตร สุวรรณพัฒนา และวัชรภัทร ธรรมจักร

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมักมาพร้อมกับอุปสรรคและความท้าทายมากมาย วงเสวนา ‘Stand with เพื่อนเหนือ’ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้เหล่านักกิจกรรมได้มาแบ่งปันเรื่องราวการต่อสู้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงความฝันและความหวัง นำโดย นิวัตร สุวรรณพัฒน สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ และวัชรภัทร ธรรมจักร

นิวัตร สุวรรณพัฒน กล่าวถึงเหตุผลและแรงบันดาลใจในการออกมาเคลื่อนไหวในกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ ว่า เป็นการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรม และต้องการเรียกร้องให้คืนเสรีภาพให้กับเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี โดยเห็นว่าการกระทำเหล่านี้ได้พรากทั้งเสรีภาพส่วนบุคคล ความคิด และจิตวิญญาณความเป็นอิสระของประชาชนไป นอกจากนี้ นิวัตรยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้กำลังใจแก่ผู้ที่ถูกคุมขัง และการสร้างความตระหนักให้กับสังคมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การยืนหยุดขังจึงเป็นการแสดงออกถึงความไม่ยอมรับต่อความอยุติธรรม และเป็นการส่งเสียงให้สังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีโดยปราศจากการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขปัญหา

“ผมได้คุยกับเพื่อนที่ไปยืนหยุดขังด้วยกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน มันสะท้อนว่าส่งผลต่อชีวิตของแต่ละคนยังไง ส่วนหนึ่งมันคือการแสดงออกในจุดยืนของตัวเอง แต่อีกจุดหนึ่งก็คือ การส่งข้อความไปถึงเพื่อนที่คิดเหมือนกันทั่วประเทศ ก็เป็นการเติมใจให้คนที่ออกมาเคลื่อนไหว ผมเห็นว่ามีคนที่ขับรถผ่านไปผ่านมาได้หันมามองป้ายสักนิดหนึ่งก็ทำให้ผมพอใจแล้ว ผมรู้แล้วว่าวันนั้นที่ออกไปยืนเห็นผลสำเร็จแล้ว”

สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ เล่าถึงประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองอันยาวนาน ตั้งแต่การได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต จนกระทั่งต้องเผชิญหน้ากับคดีความมากมาย โดยเฉพาะคดี ม.112 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและครอบครัวอย่างมาก สราวุทธิ์เล่าว่า ตนเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่สมัยที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และได้รับแรงบันดาลใจจากผู้เป็นพ่อที่เคยมีส่วนร่วมในการชุมนุม จากนั้นจึงได้ศึกษาข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจจากแกนนำนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ จนตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวก็มาพร้อมกับความเสี่ยง สราวุทธิ์ถูกกล่าวหาในหลายคดี ทั้งคดี 112 คดีอัยการศึก และคดีปิดสวิตช์ ส.ว. ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวอย่างมาก แม้จะเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่สราวุทธิ์ก็ยังคงมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเชื่อว่าการแสดงออกทางความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“ถ้าผมเสร็จจากคดีทุกอย่างแล้ว ผมก็ยังรู้สึกว่าเรายังต้องเคลื่อนไหวต่อ มีอีกหลายประเด็นในสังคมที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากเท่าที่ควร ต่อให้มีการพูดกันมากขึ้น แต่ก็ยังเสียงดังไม่พอ อย่างน้อยที่สุดที่ผ่านมาเราอาจยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนหรือเชิงโครงสร้างขนาดนั้น แต่ผมก็ได้ยินว่ามีคนพูดเรื่องที่เคยโดนปิดตายเอาไว้มากขึ้น”

วัชรภัทร ธรรมจักร นักกิจกรรมที่เริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียน จนกระทั่งต้องเผชิญกับคดีทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นทางอาชีพที่วัชรภัทรใฝ่ฝันไว้ วัชรภัทรเริ่มต้นการเคลื่อนไหวตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ในสมัยของสมัชชาเสรีประชาธิปไตย มช. และประชาคมมช. การได้เห็นปัญหาทางการเมืองและสังคมต่าง ๆ ทำให้วัชรภัทรตระหนักถึงความสำคัญของการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้วัชรภัทรต้องเผชิญกับคดีทางการเมืองหลายคดี คดีเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และอาชีพที่วัชรภัทรใฝ่ฝัน ถึงแม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่วัชรภัทรก็ยังคงยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“สำหรับผม นักศึกษากฎหมายก็มีความฝันอยากเป็นอัยการ ผู้พิพากษา พอโดนคดี เราก็ไม่สามารถทำตามความฝันได้ ผมก็เสียดาย แต่ไม่เสียใจ เพราะย้อนกลับไปก็ยังทำอยู่ดี”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง