บ้านไดลึก : ภัยแล้งหลอกหลอน ที่รัฐมองข้าม

Lanner เปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่อยากสื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com

เรื่อง: สดายุ คำสิงห์

ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปี ปัญหา ภัยแล้ง ยังตามหลอกหลอน เกษตรกรชาวไทยเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะบริเวณ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และ ภาคตะวันออก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในหลายๆด้าน ได้แก่ ภาวะความแห้งแล้ง การขาดแคลนน้ำ มิหนำซ้ำยังสามารถสร้างความเสียหายโดยตรงต่อพืชผลทางการเกษตรอีกด้วย อย่างเช่นชุมชนบ้านไดลึก อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกิดปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำ ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรตามฤดูกาลได้ นอกจากนั้นผลผลิตทางการเกษตรก็ลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและการเลี้ยงปศุสัตว์

ชุมชนบ้านไดลึก ตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุก อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร โดยลักษณะภูมิประเทศภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุก มักจะเป็นพื้นที่ราบลุ่มประกอบด้วยลำคลองธรรมชาติ หนอง บึง อยู่จำนวนมาก ซึ่งจะอยู่กระจายทั่วพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุก ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น การทำนา และ ปลูกพืชผักสวนครัว ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนน้ำยังคงเพิ่มมากขึ้น ทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคครัวเรือน เนื่องจากว่าองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุกไม่มีกิจการประปาเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบลเอง เพื่อการประกอบอาชีพและการอุปโภค-บริโภคภายในครัวเรือน จึงมีความจำเป็นที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องใช้ทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง นั่นก็คือ สระน้ำ หนองน้ำ บึง ลำคลอง เป็นต้น

ปัญหาการขาดแคลนน้ำยังคงเป็นปัจจัยหลักของชุมชนบ้านไดลึก ถึงแม้ว่าทางองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุกได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการขุดบ่อบาดาลให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านไดลึกในการประกอบอาชีพและการอุปโภค-บริโภคภายในครัวเรือน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปีได้ เนื่องจาก แหล่งน้ำที่ชุมชนบ้านไดลึกใช้เพื่อการประกอบอาชีพและการอุปโภค-บริโภคภายในครัวเรือนนั้น เป็นแหล่งน้ำที่ได้จากบนภูเขาในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ไหลลงมาสู่จังหวัดพิจิตร ในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไปจนถึง พฤศจิกายน หลังจากนั้นชาวบ้านก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง อีกทั้ง การแย่งชิงน้ำในพื้นที่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เช่นเดียวกัน

กลุ่มเครือข่ายเยาวชนดงเจริญ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านไดลึก จึงจัดกิจกรรม เวที อบรมพัฒนาศักยภาพ ครั้งที่ 2 เรื่อง กิจกรรมเสริมทักษะพึ่งพาตนเองเพื่อการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสร้างชุมชนต้นแบบสำหรับเยาวชนกับการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ร่วมกับองค์การวีวอช (We watch) ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติและมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer Stiftung) ในวันที่ 26-27 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ.ศูนย์ประชุมบ้านไดลึก อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร

วัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนตื่นตัวและมองเห็นความสำคัญของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมรวมไปถึงการลงหลักปักฐานความคิดเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นในกลุ่มเยาวชน เพื่อให้บทบาทของเยาวชนได้รับการส่งเสริม มีกิจกรรมที่ต่อเนื่องและยั่งยืนร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อีกทั้งยังก่อให้เกิดพื้นที่ต้นแบบของเยาวชนกับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้นักการเมืองท้องถิ่นเล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมเยาวชน และการให้การสนับสนุนกิจกรรมร่วมกับงานการเมืองในพื้นที่ รวมไปถึงรับฟังความต้องการและการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่เพื่อประชาชน

ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายเยาวชนดงเจริญได้แลกเปลี่ยนความคิด รับฟังปัญหา เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และ การลงพื้นที่ในชุมชนบ้านไดลึก จากปัญหาเรื่องการกักเก็บน้ำที่กล่าวมาในข้างต้น พบว่าปัญหาเรื่องการกักเก็บน้ำในพื้นที่ชุมชุนบ้านไดลึกนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกปี ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจนไม่สามารถทำนาปีได้ จะทำได้ก็แต่นาปรัง และ พืชผักสวนครัว เท่านั้น นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการกักเก็บน้ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนอีกด้วย เนื่องจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุกไม่มีกิจการประปาและคลองชลประทานเป็นของตนเอง จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในครัวเรือน ด้วยการนำน้ำจาก สระน้ำ หนองน้ำ บึง ลำคลอง มาใช้แล้วแกว่งกับสารส้มเพื่อให้น้ำที่ได้จาก สระน้ำ หนองน้ำ บึง ลำคลอง มีความสะอาดสามารถใช้ภายในครัวเรือนได้ทรัพยากรในแหล่งน้ำก็มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากแหล่งน้ำที่ได้มาจากบนภูเขาในจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นก็ไม่เพียงพอต่อชุมชุนบ้านไดลึก ซึ่งกักเก็บน้ำได้แค่ในระยะเวลา 6 เดือนเท่านั้น และการบริหารการจัดเก็บน้ำในพื้นที่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ มิหนำซ้ำบ่อบาดาลที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุกเข้ามาแก้ไขก็ไม่เพียงพอต่อความต่อการของชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านไดลึก พื้นที่สาธารณะที่องค์การส่วนบริหารตำบลห้วยพุกจัดแจงให้ในการกักเก็บน้ำก็ไม่เพียงพออีกเช่นเดียวกัน อีกทั้งฝ้ายน้ำล้นก็เกิดการรื้อถอน เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกิดการน้ำท่วมในชุมชนบ้านไดลึก น้ำระบายออกไม่ทัน ทางองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุกจึงทำการรื้อถอนฝ้ายน้ำล้นออกเพื่อระบายน้ำอย่างทันท่วงที

ในขณะเดียวกันชาวบ้านบางกลุ่มได้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยการใช้แผงโซล่าเซลล์(Solar cell)เพื่อสูบน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้ในเกษตรกรรมและครัวเรือน นอกจากนั้นชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำการสร้างฝ้ายชะลอน้ำ เพื่อที่จะกักเก็บน้ำ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ เพราะการขุด เจาะ บ่อบาดาลในพื้นที่ชุมชนบ้านไดลึกนั้น จำเป็นต้องใช้ความเสี่ยงอย่างมากในการ ขุด เจาะ หาบ่อบาดาล อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนก็ไม่สามารถขุด เจาะ บ่อบาดาลได้ เนื่องจากชาวบ้านบางกลุ่มได้เช่าที่ดินในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และฝ้ายชะลอน้ำที่ชาวบ้านในพื้นที่สร้างไว้เป็นเพียงแค่ทำให้น้ำที่ไหลลงมาจากบนภูเขาในจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นชะลอตัวไม่ให้น้ำไหลออกชุมชนไปจนหมด ปัญหาเรื่องน้ำเป็นสิ่งพื้นฐานที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาแก้ไขให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านไดลึก เพราะ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของชาวบ้านในชุมชนทั้งในภาคเกษตรและภาคครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเครือข่ายเยาวชนดงเจริญ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการกักเก็บน้ำต่อองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุก อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร โดยเขียนแผนเสนอตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อจัดการบริหารน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี และ การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด รวมไปถึงการทำปฏิทิน 12 เดือน ในเรื่องของน้ำโดยวางแผนการดักกักเก็บน้ำในช่วงที่น้ำไหลหลากและฟื้นฟูฝ้ายชะลอน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านไดลึกได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมต่อองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยพุก ได้แก่ การสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อให้มีพื้นที่ในการกักเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น และ การฟื้นฟูฝ้ายน้ำล้นให้นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เครือข่ายเยาวชนดงเจริญและชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านไดลึกได้ร่วมมือจัดทำแผนที่เส้นทางน้ำ เพื่อศึกษาเส้นทางของน้ำในจุดต่างๆที่สามารถจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ทั้งในด้านเกษตรกรรมและด้านครัวเรือนอย่างต่อเนื่องในอนาคต

Lanner เปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขยายพื้นที่การสื่อสารสังคมอย่างมีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันส่งเสียงของพวกเราให้ดังขึ้น! เปิดรับต้นฉบับงานสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น บทความ ความคิดเห็น บทความวิชาการ สารคดีเชิงข่าว ความเรียง บทบันทึก เรื่องสั้น บทกวี Video Photo-essay และงานสื่อสารอื่นๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวและประเด็นทางสังคมในพื้นที่ภาคเหนือและประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง