Rocket Media Lab เผยข้อมูลจำนวนส.ส. ผ่านการคำนวนจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตตามมติศาลรัฐธรรมนูญ (3 มี.ค.2566) โดยใช้ตัวเลขประชากรจากประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร เมื่อ 31 ธันวาคม 2565 โดยนับเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยทั้งประเทศ จำนวน 65,106,481 คน จะได้จำนวน ส.ส. รายเขต ทั้ง 400 เขตแยกตามภาคได้ดังนี้

ภาคเหนือ 9 จังหวัด มีจำนวน ส.ส. 37 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด มีจำนวน ส.ส. 133 คน
ภาคกลาง 22 จังหวัด มีจำนวน ส.ส. 122 คน
ภาคตะวันออก 7 จังหวัด มีจำนวน ส.ส. 29 คน
ภาคตะวันตก 5 จังหวัด มีจำนวน ส.ส. 19 คน
ภาคใต้ 14 จังหวัด มีจำนวน ส.ส. 60 คน
ซึ่งจากจำนวนนี้ พบว่า มี 42 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน
โดยกรุงเทพฯ มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 คน จาก 30 คนเป็น 33 คน รองลงมา เพิ่มขึ้นจังหวัดละ 2 คน รวม 5 จังหวัด คือ นนทบุรี จาก 6 เป็น 8 คน, ชลบุรี จาก 8 เป็น 10 คน, นครราชสีมา จาก 14 เป็น 16 คน, บุรีรัมย์ จาก 8 เป็น 10 คน และอุดรธานีจาก 8 คนเป็น 10 คน
จังหวัดที่มี ส.ส. เพิ่มขึ้น 1 คน มี 36 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส บึงกาฬ ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พังงา เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ระยอง เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สมุทรปราการ สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
ในส่วนของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง Rocket Media Lab พบว่าจำนวนประชากรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย ที่นำมาใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส. รายเขตทั้ง 400 เขต ตามมติศาลรัฐธรรมนูญ มีทั้งสิ้น 65,106,481 คน แต่เมื่อดูข้อมูลประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแยกรายอายุรายเดือน ธันวาคม 2565 กรมการปกครอง พบว่าเป็นผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,322,824 คน โดยสามารถแยกได้ดังนี้

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 18-22 ปี จำนวน 4,012,803 คน คิดเป็นร้อยละ 7.67 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมากที่สุด ที่ร้อยละ 12.25 และลำพูนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนน้อยที่สุด ที่ร้อยละ 5.48

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 58 ปีขึ้นไป จำนวน 14,378,037 คน คิดเป็นร้อยละ 27.48 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยมีจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนมากที่สุด ที่ร้อยละ 35.58 และจังหวัดภูเก็ตมีสัดส่วนน้อยที่สุดที่ 20.21
นอกจากนี้ Rocket Media Lab ยังได้รวบรวมข้อมูลโดยจำแนกตามศูนย์วิจัย Pew Research Center สหรัฐอเมริกา พบว่า

เจเนอเรชั่น Z ซึ่งหมายถึง ผู้มีอายุ 18-25 ปี มี 6,689,453 คน คิดเป็นร้อยละ 12.78 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

เจเนอเรชั่น Y ซึ่งหมายถึง ผู้มีอายุ 26-41 ปี มี 15,103,892 คน คิดเป็นร้อยละ 28.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

เจเนอเรชั่น X ซึ่งหมายถึง ผู้มีอายุ 42-57 ปี มี 16,151,442 คน คิดเป็นร้อยละ 30.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

เจเนอเรชั่น Baby Boomers ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 58-76 ปี มี 11,844,939 คน คิดเป็นร้อยละ 22.64 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

เจเนอเรชั่น Silent ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 77 ปีขึ้นไป มี 2,533,098 คน คิดเป็นร้อยละ 4.84 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...