พฤษภาคม 20, 2024

    พื้นที่สาธารณะกับการใช้ชีวิตของคนไร้บ้านลำปาง

    Share

    เรื่อง: รัชชา สถิตทรงธรรม /Activist Journalist

    “คนไร้บ้าน” หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวและความเจริญมั่งคั่งของเมืองใหญ่ ซึ่งในทุก ๆ ปีเราจะพบว่า จำนวนคนไร้บ้านยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุสำคัญมักจะมาจากปัญหาครอบครัว ปัญหาการว่างงาน ปัญหายาเสพติด ปัญหาการไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม รวมไปถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ผลักดันให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน

    ถ้าพูดถึงปัญหาคนไร้บ้านในภาคเหนือ ภาพคนไร้บ้านตามแนวคูเมืองเชียงใหม่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นลำดับแรก แต่สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มคนไร้บ้านในภาคเหนือไม่ได้มีแค่ในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เพราะแม้แต่เมืองเล็กที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจรองลงมาอย่างลำปางได้เริ่มมีปัญหาคนไร้บ้านเกิดขึ้นในเขตเมือง แม้จำนวนคนไร้บ้านที่ทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปางได้ไปสำรวจมาล่าสุดเมื่อปี 2566 รวมจำนวนทั้งสิ้น 21 คน แม้ตัวเลขนี้อาจยังไม่ได้เป็นตัวเลขที่มากมาย แต่ถ้ายังไม่มีใครมองเห็นว่า ปัญหานี้มีผลกระทบต่อภาพใหญ่เมืองลำปางอย่างไร สุดท้ายคนไร้บ้านอาจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมาอาจควบคุมและแก้ไขได้ยากขึ้น

    ภาพ: สวนสาธารณะแยกโรงเรียนอนุบาลลำปาง

    ทำไมมีคนไร้บ้านในลำปาง

    สถานการณ์ของคนไร้บ้านในจังหวัดลำปางจากการสำรวจและข้อมูลที่ได้จากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง รวมไปถึงการเข้าไปพูดคุยกับคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในจังหวัดลำปาง พบว่ามีหลากหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดคนไร้บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเป็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในความเป็นจริงแทบจะไม่ใช่สาเหตุหลักของการเป็นคนไร้บ้าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสิบกว่าปี จากข้อมูลของศูนย์คุ้มครองฯ สาเหตุสำคัญมาจากความสัมพันธ์ที่เปราะบางภายในครอบครัว เศรษฐกิจ ชุมชน สถานที่ทำงาน หรือบริบทของสังคม ที่ผ่านมากลุ่มคนไร้บ้านเหล่านี้ไม่ได้สร้างปัญหาหรือสร้างความเดือดร้อน เพียงแต่มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ กลุ่มคนไร้บ้านในจังหวัดลำปางส่วนใหญ่เป็น “คนไร้บ้านแฝง” มีที่อยู่อาศัย มีครอบครัว จากการสังเกตพฤติกรรมและสอบถามพบว่าจะออกจากบ้านตอนเช้ามาจับกลุ่มกันในพื้นที่สาธารณะและตอนเย็นก็จะกลับบ้าน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันชุมชนยังมีความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถควบคุมและจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ที่พบอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ออกมาแสวงหาความสุข ชอบท่องเที่ยวตามเทศกาลหรืองานประจำจังหวัด คนไร้บ้านเหล่านี้จะทราบดีและเดินทางมาขอรับบริจาคของแจกฟรี เพราะในงานมีโรงทาน และในปัจจุบันพบว่ามีบางคนออกมาจับกลุ่มตั้งวงดื่มสุราและใช้สารเสพติด สร้างความเดือดร้อน ก่อกวน สร้างความวุ่นวาย ทำให้ชุมชนเกิดความหวาดกลัว เกิดผลกระทบด้านอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาทางสังคม จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น แบ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดกลุ่มคนไร้บ้าน 2 ปัจจัย ดังนี้

    1. ปัจจัยเชิงโครงสร้าง สถานการณ์ทางสังคมของประเทศไทยก้าวเข้าสู่โครงสร้างประชากรผู้สูงอายุและแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เนื่องด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างสัมพันธ์ภาพระหว่างคนในครอบครัวห่างเหิน ลักษณะการอยู่อาศัยจากเดิมที่เป็น วิถีชีวิตชนบทมีการดูแลเกื้อกูลกันในชุมชนถูกกลืนสู่วิถีคนเมืองอย่างรวดเร็ว โครงสร้างครอบครัวที่เคยอยู่รวมกันแบบครอบครัวขยาย ก็ค่อยๆ กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องของการอพยพย้ายถิ่นฐาน การเคลื่อนย้ายของประชากรวัยแรงงานไปประกอบอาชีพในเมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ บางคนหากพบเจอสถานการณ์หรือเหตุการณ์วิกฤตในชีวิต กระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจปัญหาครอบครัว เกิดภาวะไร้ที่พึ่งทางใจ ไม่มีกำลังใจและไม่มีใครสนับสนุนช่วยเหลือความเหลื่อมล้ำทางสังคม
    การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ และการถูกผลักออกจากระดับชุมชน ปัจจัยเหล่านี้เสี่ยงต่อการกลายเป็นกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมซึ่งนำไปสู่การกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด

    2. ปัจจัยเชิงปัจเจก เป็นปัญหาระดับบุคคล ภาวการณ์เจ็บป่วย ความเปราะบางของครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว พื้นฐานฐานะทางครอบครัว บางคนครอบครัวยากจน (รับภาระดูแลกลุ่มคนเปราะบาง  เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง) สภาวะทางเศรษฐกิจ ปัญหาการเลือกงาน ปัญหาการตกงานเรื้อรัง อาชีพไม่มั่นคง ส่งผลต่อรายได้ นำไปสู่ภาวะความเครียดสะสมเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มสุราในเวลางาน หรือแม้กระทั่งครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย แต่พบปัญหาภายในครอบครัว เช่น ครอบครัวล้มละลาย ถูกกระทำความรุนแรง การถูกคุกคาม ความคาดหวัง ความกดดัน ฯลฯ จนเกิดความรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย หรือ บ้านคือภาระก้อนใหญ่ที่ต้องแบกรับดูแลไม่ไหว กลายเป็น“กลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่ มีงานทำ มีที่อยู่อาศัย แต่เลือกที่
    จะไม่อยู่บ้าน”
    หรือบางรายเป็นบุคคลที่มีสภาวะทางจิต เจ็บป่วยเรื้อรังไม่ได้รับการบำบัด หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจกลุ่มคนไร้บ้านในจังหวัดลำปาง รวมไปถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่มาจากต่างจังหวัดที่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดลำปาง พบว่าส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภทและใช้สารเสพติด บางรายมีความสามารถและมีศักยภาพในการประกอบอาชีพแต่บางรายไม่สามารถประกอบอาชีพได้เลย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับและถูกปฏิเสธจากครอบครัว ชุมชน พวกเขาจึงต้องออกมาเร่ร่อนใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เรียกได้ว่าเป็น “กลุ่มจิตเวชที่กลายเป็นคนไร้บ้าน” นำไปสู่ “กลุ่มคนไร้บ้านพเนจร” ซึ่งในความรู้สึกของพวกเขาเมื่อไม่เป็นที่ต้องการของครอบครัวหรือชุมชนก็มักจะออกไปใช้ชีวิตตามเส้นทางของตนเอง ไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดหมายปลายทางอาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง มักจะเป็นกลุ่มคนไร้บ้านที่มาจากต่างจังหวัด วันนี้อาศัยอยู่พื้นที่ตรงนี้ วันรุ่งขึ้นก็ไปอาศัยอีกพื้นที่หนึ่ง บางคนเดินเท้าหรือนั่งรถสาธารณะไปตามจังหวัดต่างๆ พฤติกรรมที่ทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้โดยการขออาหารและน้ำดื่มตามร้านค้า บางคนอาจร้องขอโดยไม่มีสิ่งแลกเปลี่ยนใดๆ ในขณะที่บางคนอาจเสนอว่า ผมขอทำงานรับจ้างอะไรก็ได้แลกกับข้าวหนึ่งมื้อ แต่หลังจากทำงานเสร็จก็จะเร่ร่อนอย่างนี้ต่อไป กลุ่มคนไร้บ้านพเนจร มักจะคิดว่าไม่มีความหวัง หมดสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ ติดตัว และอีกสาเหตุที่น่าสนใจ คือ ชีวิตน่าเบื่อเกินไปจนต้องออกบ้านมามองหาความท้าทาย เพื่อตั้งคำถามกับสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมสังคมต้องมีคนไร้บ้าน

    จากปัจจัยที่ก่อให้เกิดกลุ่มคนไร้บ้านที่กล่าวไปข้างต้น พบว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดคนไร้บ้าน มาจากสภาวะกดดันจากสภาพแวดล้อมรอบข้างที่ไม่ยอมรับในตัวตน ครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานหลักไม่เข้าใจ ไม่ให้โอกาสและถูกปฏิเสธจากชุมชน จนบุคคลเหล่านี้เกิดความรู้สึกว่าตนไม่มีความสำคัญ ขาดแรงจูงใจ ผลักใสให้เขากลายเป็นคนไร้บ้าน และอีกสาเหตุมาจากตัวตนของคนไร้บ้านที่ชอบใช้ชีวิตอิสระ ขอเลือกใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านด้วยตนเอง ไม่ชอบอยู่ในกฎ ระเบียบแบบแผนของครอบครัว ชุมชน และต้องการมองหาความท้าทายให้กับชีวิต พร้อมตั้งคำถามกับสังคมว่า ความเหลื่อมล้ำคืออะไร     

    จริง ๆ แล้ว “คนไร้บ้าน” เป็นเพียงสภาวะหนึ่งของมนุษย์ที่ใคร ๆ ก็มีโอกาสเป็นได้

    จากที่ได้มีโอกาสฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนไร้บ้านลำปาง เบื้องต้นสามารถสรุปได้ว่า คนไร้บ้านใช่ว่าจะเป็นคนไร้ความสามารถในการดำรงชีวิตไปเสียทีเดียว เพราะคนไร้บ้านลำปางอีกจำนวนไม่น้อยใน 21 คน ยังสามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้สม่ำเสมอ เช่น ลูกจ้างรายวัน รับจ้างทั่วไป เพียงแต่เขารู้สึกว่า การอาศัยอยู่ในเคหสถานไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ ของพวกเขา แต่การเลือกอยู่อาศัยตามพื้นที่สาธารณะอาจตอบโจทย์ความต้องการเรื่องพื้นที่ปลอดภัยได้ดีกว่า

    บุญหลาย (นามสมมุติ) หนึ่งในคนไร้บ้านที่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง ได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดสภาวะคนไร้บ้านว่า เกิดจากภาวะความเครียดสะสมเรื่องครอบครัวบ้าง เรื่องการงานหรือการเงินบ้าง หรือแม้กระทั่งสังคม สภาพแวดล้อมรอบด้านที่ทำให้ตนรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะใช้ชีวิตต่อบนพื้นที่นั้น เลยออกมาเป็นคนไร้บ้านจนกระทั่งมีเจ้าหน้าศูนย์ฯ ไปสำรวจพบ ทางศูนย์ฯ ก็นำมาเข้าสู่กระบวนการบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและใจ

    “ทุกคนมีโอกาสเป็นคนไร้บ้านได้ ไม่ว่าคุณจะมีฐานะหรือความรักความเอาใจใส่จากคนรอบข้างมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เพราะคนไร้บ้านไม่ใช่สถานะ แต่เป็นสภาวะทางจิตที่เกิดจากความไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตและความต้องการแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับใช้ชีวิต” 

    ภาพ: สวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกาลำปาง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างปรับปรุงพื้นที่

    คนไร้บ้านลำปางกับพื้นที่สาธารณะ

    โดยทั่วไปคนไร้บ้านในลำปางส่วนหนึ่งจะพักอาศัยตามพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้าแยกหอนาฬิกา สวนสาธารณะเขลางค์นคร สถานีขนส่งผู้โดยสารลำปาง ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้อยู่ในเขตความรับผิดชอบของเทศบาลนครลำปาง

    สถานการณ์คนไร้บ้านลำปางเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา จากกรณีเทศบาลนครลำปางได้ปิดปรับปรุงพื้นที่สาธารณะบริเวณโดยรอบห้าแยกหอนาฬิกาซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่อาศัยของกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้เกิดข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นหายไปไหนหมด

    จากความพยายามที่จะเข้าไปสอบถามประเด็นนี้เพิ่มเติมกับทางเทศบาลนครลำปาง กิตติ จิวะสันติการ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครลำปาง รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีเทศบาลนครลำปาง ได้ตอบกลับเพียงสั้น ๆ ว่า การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะบริเวณห้าแยกหอนาฬิกาเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อทุกคน ส่วนกรณีที่มีข้อสังเกตว่าคนไร้บ้านหายไปไหน ปกติจะเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปางที่จะมาดูแลส่วนนี้

    ภาพ: สวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกาลำปาง (ถ่ายภาพเมื่อเดือนมกราคม 2567) หลังปรับปรุงแล้ว /ตะลอนตะหลอด : ชาติพันธุ์ลำปาง – แพร่

    ปิยะนาถ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง ได้กล่าวถึงการช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดปรับปรุงพื้นที่สาธารณะบริเวณห้าแยกหอนาฬิกาในขณะนั้นว่า ปกติทางศูนย์ฯ จะเข้าไปช่วยเหลือและสอบถามความต้องการเบื้องต้นของกลุ่มคนดังกล่าวก็ต่อเมื่อมีประชาชนแจ้งหรือมีหน่วยงานอื่น ๆ ประสานเข้ามา แต่ทางศูนย์ฯ ก็มิได้นิ่งนอนใจต่อกรณีดังกล่าวและส่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ เข้าไปสำรวจตั้งแต่ช่วงแรกของการปิดปรับปรุงพื้นที่ แต่ปรากฏว่าไม่พบกลุ่มคนไร้บ้านที่เคยอาศัยอยู่บริเวณนั้นแล้ว จึงอาจทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับศูนย์ฯ ในการติดตามตัวเพื่อช่วยเหลือพวกเขาตามกระบวนการ

    “จริง ๆ กลุ่มคนไร้บ้านที่ห้าแยกหอนาฬิกามีหลายเคสที่ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในบริเวณพื้นที่ตรงนั้น เรากังวลว่าพวกเขาจะไปอยู่ที่ไหนต่อ จะใช้ชีวิตอย่างไร แล้วผู้คนรอบด้านจะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร เพราะสังคมเมืองในลำปางก็ใช่ว่าจะเข้าใจคนไร้บ้านเหมือนกันทุกคน”

    แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสังคมได้เป็นปกติ แต่การช่วยเหลือส่วนมากยังคงถูกมองว่าเป็นแค่ “การสงเคราะห์” ที่อาจทำให้ปัญหาคนไร้บ้านไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด

    เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปางผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่งได้อธิบายกระบวนการช่วยเหลือคนไร้บ้านว่า โจทย์สำคัญคือจะช่วยเหลืออย่างไรที่ไม่ต้องส่งคนไร้บ้านไปสถานสงเคราะห์ ซึ่งทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ไปสำรวจพบเคสคนไร้บ้านก็จะถามความต้องการของเขาก่อน ถ้าเขาอยากกลับบ้าน เรามีกระบวนการส่งเรื่องไปยังผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายค่าเดินทางส่งกลับบ้าน บางคนต้องการเงิน เราก็หางานให้ทำตามความสามารถและทักษะวิชาชีพที่เขาถนัด คนไร้บ้านที่จำเป็นต้องถูกส่งเข้าสถานสงเคราะห์ส่วนมากจะเป็นคนไร้บ้านจิตเวชคือ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในสถานสงเคราะห์จะมีกระบวนการรักษาโรค จัดหาปัจจัยสี่ และบำบัดเพื่อให้คนไร้บ้านประเภทนี้ดูแลตัวเองในขั้นต้นได้ ต่อจากนั้นจะมีกระบวนการคัดเกรด A, B, C อย่างคนไร้บ้านเกรด A คือคนที่สามารถทดลองออกมาใช้ชีวิตร่วมกับสังคมปกติ มีงานให้ทำ มีรายได้เป็นรายวันหรือเงินเดือนไปสักระยะหนึ่ง ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าเขาสามารถดูแลตัวเองและมีงานมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงชีพตนเองได้แล้วก็จะส่งกลับบ้าน แต่ปัจจุบันก็ยังมีน้อยเคสที่กลับไปอยู่บ้านแล้วสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและคนในชุมชนได้จริง ๆ

    ภาพ: เมืองลำปาง /ภูริวัฒน์ ใจบุญ

    แล้วความต้องการที่แท้จริงของคนไร้บ้านในลำปางคืออะไร

    คนไร้บ้านส่วนมากมองว่า ความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาไม่ใช่การมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง แต่ต้องการให้สังคมเปลี่ยนความคิดและยอมรับว่าคนไร้บ้านคือคนที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพแลกค่าตอบแทนได้

    ปิยะนาถ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง ได้แสดงความคิดเห็นต่อทางออกของปัญหาที่คนไร้บ้านหลายคนอยากให้เป็นไปได้ คือการสร้างแหล่งงาน ส่งเสริมอาชีพที่รองรับคนไร้บ้าน และมีรายได้ที่เหมาะสมกับความต้องการขั้นพื้นฐานของคนไร้บ้าน เพื่อให้คนไร้บ้านได้ภาคภูมิใจในศักยภาพและคุณค่าของตนเอง ซึ่งเรามองว่า การแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านจะทำได้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ส่วนหนึ่งต้องมาจาก “การออกแบบการสื่อสารให้เห็นความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน ประชาชน ภาคการศึกษา หรือกลุ่มผู้ประกอบการ” โดยสื่อท้องถิ่นที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แหล่งเครือข่ายได้ดีกว่า เราก็จะได้แนวทางการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในมิติที่หลากหลายขึ้น และสามารถสรุปเป็นข้อมูลเบื้องต้นได้ว่า ความต้องการจริง ๆ ของคนไร้บ้านมีประเด็นไหนบ้าง

    “สิ่งที่คนไร้บ้านต้องการคือ 1. ที่อยู่อาศัยไม่ใช่แค่ที่อาบน้ำและนอน แต่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนไร้บ้านได้ด้วย 2. การรักษาพยาบาล คือสวัสดิการพื้นฐานอันดับหนึ่งที่คนไร้บ้านอยากได้ 3. มีอาชีพรองรับโดยไม่ถูกจำกัดศักยภาพ เพียงเพราะเป็นคนไร้บ้าน และ 4. ต้องการให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อหนุนต่อคนไร้บ้าน ในรูปแบบการสร้างเครือข่าย” ปิยินาถกล่าวทิ้งท้าย

    ความต้องการทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไร้บ้านและทุกกลุ่มเปราะบางต้องมีและปกป้องไม่ให้ใครมาแย่งสิทธิเหล่านี้ไปได้ เพียงเพราะได้รับการช่วยเหลือที่ไม่ตรงกับความต้องการของเขา 

    รับชมวิดีโอประกอบโดย ภูริวัฒน์ ใจบุญ และศักฎาณุวัฒจ์ ยุวารี https://youtu.be/rUsfpPOjvZU


    อ้างอิง


    บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าว LANNER News Media โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)

    Related

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...