บ่ายวันนี้ (7 เมษายน 2567) เฟสบุ๊คเพจ ‘ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง’ ได้เผยแพร่จดหมายเขียนโดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในประเด็นวิกฤตการณ์ฝุ่น PM2.5 และผลกระทบที่คนเชียงใหม่ต้องพบเจอ แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นติดต่อกันมากกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม
โดยภายในเนื้อหาส่วนหนึ่งของจดหมายนั้น รศ.สมชาย ได้กล่าวความพยายามในการฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งแต่ในสมัยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ จนกระทั่งมีคำตัดสินออกมาในสมัยที่นายเศรษฐาได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อแล้ว
แม้ว่าจะถือเป็นหน้าที่ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้รับคำสั่งศาลต่อจากนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าอย่างพลเอกประยุทธ์ แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลกระทบจากฝุ่นละอองยังถูกวิจัยทางการแพทย์แล้วว่าส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนเป็นอย่างมาก
ถึงอย่างนั้น เศรษฐา ก็เคยได้ประกาศความสำเร็จในการจัดการฝุ่นในเมืองเชียงใหม่จนยกย่องว่าเป็น ‘เชียงใหม่โมเดล และยังปฏิเสธข้อเรียกร้องให้มีการประกาศให้เมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่มลพิษด้วยความกังวลต่อผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รศ.สมชายจึงคาดหวังให้รัฐบาลชุดปัจจุบันออกมาตรการในการดูแลประชาชนและแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว
“จดหมายจากเชียงใหม่ ถึงนายกฯ เศรษฐา
ผมเขียนจดหมายถึงคุณเศรษฐา ในฐานะของประชาชนคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในเชียงใหม่และต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนในปีนี้ก็มีสภาพไม่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมาในรอบมากกว่าทศวรรษ
ที่ผ่านมา ผมและเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันฟ้องคดี นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อเดือนเมษายน 2566 ในข้อหาละเลยและปฏิบัติหน้าที่อย่างล่าช้า และศาลปกครองเชียงใหม่ในเดือนมกราคม 2567 ได้มีคำตัดสินว่านายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ละเลยและไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ในห้วงเวลาการฟ้องคดีนั้น ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่ในช่วงเวลาที่มีคำตัดสินนั้น คุณเศรษฐา ได้มาดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว จึงย่อมเป็นหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการต่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง
หากยังพอจะจำได้ ภายหลังจากการเลือกตั้งรวมถึงในช่วงต้นปีที่ผ่าน คุณเศรษฐาได้เดินทางมาที่เชียงใหม่หลายครั้ง และในครั้งหนึ่งถึงกับประกาศว่าประสบความสำเร็จในการจัดการฝุ่นจนยกย่องเป็น “เชียงใหม่โมเดล” หรือล่าสุดในเดือนมีนาคมก็ยังมาขี่จักรยานโชว์ในตอนเช้าทั้งที่ปริมาณฝุ่นอยู่ในระดับสีม่วง อันหมายความว่า “เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก”
ภายหลังจากนั้นมา ปริมาณฝุ่นได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นมีการวิจัยทางการแพทย์เกิดขึ้น รวมทั้งเป็นที่ประจักษ์ว่าส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนอย่างมาก เฉพาะบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นหลายรายที่สามารถระบุได้ว่าเป็นมะเร็งปอดซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นอย่างใกล้ชิด
นี่ขนาดคนทำงานในมหาวิทยาลัยซึ่งสามารถป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ทั้งหน้ากาก เครื่องฟอก ติดแอร์ ฯลฯ แล้วประชาชนที่ต้องอยู่ในพื้นที่โล่ง ในตลาด ในไซต์งานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้า มีกี่คนที่เจ็บป่วยหรือล้มตายไปอย่างเงียบงับโดยไม่เป็นข่าวในสื่อมวลชน
น่าเสียดายที่คุณเศรษฐา ปฏิเสธต่อการเรียกร้องให้มีการประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่มลพิษ พื้นที่สาธารณภัย หรืออะไรก็ได้ ด้วยความกังวลต่อผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังนั้น แทนที่จะมีมาตรการที่กระตุ้นเตือนถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน ก็ไม่มีแนวทางใด ๆ เกิดขึ้น
ในวันที่เชียงใหม่กำลังเผชิญฝุ่นอย่างรุนแรง คุณเศรษฐา ก็เดินทางไปเกาะสมุย ที่โน่นคงอากาศดี ฟ้าใส น้ำทะเลสวย ไม่มีปัญหาฝุ่นให้ต้องแก้ไข คาดเดาได้ว่าคงมีนโยบายสร้างโน่นนี่นั่นโน่นเกิดขึ้นอีก การก่อสร้างด้วยงบประมาณเป็นการดำเนินที่เกิดขึ้นได้ง่ายและไม่กระทบต่อคนกลุ่มใดอยู่แล้ว
ถ้าคุณเศรษฐา คิดว่าตนเองมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจริง ๆ แล้ว ต้องเดินทางมาเชียงใหม่หรือพื้นที่ภาคเหนือที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ และช่วยมาแสดงวิสัยทัศน์อันปราดเปรื่องให้เป็นที่รับทราบหน่อยเถิดว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
เป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่าสาเหตุสำคัญมาจากพื้นที่รอบประเทศซึ่งปลูกข้าวโพดและมีการนำเข้าโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรของไทย คุณเศรษฐา จะกล้าเสนอนโยบายอะไรที่ขัดผลประโยชน์กับกลุ่มนายทุนไทยด้วยกันไหม
อันที่จริง เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่เพิ่งเกิดในยุคของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งผมก็ไม่ได้คาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะสามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ชั่วข้ามคืน แต่อย่างน้อยก็ควรมีแนวทางหรือมาตรการอะไรเกิดขึ้นบ้างเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเรามีรัฐบาลกำลังทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังในการแก้ไขความยุ่งยากนี้ แต่สิ่งที่เห็นคือ มีปัญหารุนแรงทางเหนือ ผู้บริหารก็ไปทางใต้ และไม่แม้แต่จะอธิบายแนวทางแก้ไขเกิดขึ้นได้อย่างใด
เชื่อผมเถอะ ไม่ว่าในห้วงเวลานี้จะประกาศเป็นพื้นที่อันตรายโดยรัฐหรือไม่ ผู้คนก็รู้กันทั่วโลกแล้วว่าเชียงใหม่คือพื้นที่เสี่ยงมะเร็งปอด ในเทศกาลการท่องเที่ยวอาจพอมีผู้คนเดินทางมาอยู่บ้างเพราะเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่ที่นี่ แต่ยิ่งเขามาเห็นสภาพเชียงใหม่ที่จมฝุ่นมันก็จะยิ่งประจานความสามารถในการบริหารบ้านเมืองให้เห็นชัดเจน
พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาในเชียงใหม่ แล้วหวังว่าจะชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่นคือตัวชี้วัดที่สำคัญอันหนึ่ง ในมุมมองของผมอย่าว่าแต่จะชนะเลยครับ ถ้าครั้งหน้าไม่ย่อยยับก็บุญโขแล้ว
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
7 เมษายน 2567″
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...