พฤษภาคม 19, 2024

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    Share

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ

    ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย”

    นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ ทั่วโลก ได้ก่อให้เกิดไฟจากการเผาเพื่อเตรียมแปลงเกษตรยังชีพ การเปลี่ยนป่าเป็นแปลงปลูกข้าวโพด อ้อย และปาล์มน้ำมัน ที่ขยายตัวจากไทยไปสู่ชายแดนเมียนมาร์ เพื่อตอบสนองการเติบโตของธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรและต่อความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ในเมือง มลพิษทางอากาศทวีความเข้มข้นควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และนิคมอุตสาหกรรมเช่น ในประเทศอินเดีย และประเทศจีน รวมถึง กรณีสารเคมีตกค้างจากเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานสารเคมีในจังหวัดสมุทรปราการ และกรณีกากแร่แคดเมียมในจังหวัดสมุทรสาคร

    ไฟ ฝุ่น ควันและสารพิษตกค้าง เป็นผลพวงของการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างไม่พร้อมเพรียงและไม่เท่าเทียม แต่ทั้งหมดก็คือรูปธรรมของคำมั่นสัญญาที่จะนำไปสู่ความทันสมัย การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการหลุดพ้นความยากจน โดยใช้อำนาจรัฐ ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในควบคุมยับยั้งความเสี่ยง เพื่อแลกกับการขูดรีดทรัพยากร

    อย่างไรก็ดี แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เริ่มมาตั้งแต่นับร้อยปีก่อนนั้น กำลังเดินทางมาสู่ระยะสุดท้าย ในช่วงเวลาที่เรียกว่า อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย (Late Industrialism) ทั้งบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานและข้อกฎหมายที่ใช้ในการบริหารทรัพยากรนั้น เริ่มเข้าสู่สภาวะเหนื่อยล้า โรยรา ผุพัง ในขณะเดียวกัน ไฟ ฝุ่นและมลพิษนับวันยิ่งดื้อด้าน และทวีความซับซ้อนในสาเหตุของการเกิดและผลกระทบ (Ahmann & Kenner, 2020) อาจกล่าวได้ว่า ไฟ ฝุ่นและมลพิษ ก็คือ สิ่งที่ลอดเร้น หลุดรั่ว ไหลซึมออกจากความพยายามในการยับยั้งควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จที่ไม่มีอยู่จริง ดังนั้น ความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ก็คือสิ่งปฏิกูลของอุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย ที่ยากจะคาดเดา ยากจะอธิบาย ยากจะควบคุม และจำเป็นต้องทำความเข้าใจและบริหารจัดการด้วยวิธีใหม่

    สาเหตุการเกิดปัญหาไฟป่า-หมอกควัน กับตัวแปรที่ไม่แน่นอน

    ปัจจุบันนี้ ยังคงมีคำถามว่า ไฟป่าเกิดจากอะไร ฝุ่นมาจากไหน ใครเป็นคนก่อปัญหา ในงานศึกษาลักษณะการไหม้ของไฟป่าทั่วโลก พบว่า ไฟป่าในอดีตมีสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า และจากการตัดไม้ทำลายป่า แต่ไฟป่าของศตวรรษที่ 21 กลับมีสาเหตุที่เกี่ยวพันกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อำนาจและความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ คือไฟอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน อิทธิพลของภาครัฐในการเข้าควบคุมพื้นที่ป่า การสร้างนิยามคำว่าป่า จัดการป่าแบบตะวันตกและแบบวิทยาศาสตร์ พร้อมขับไล่คนพื้นเมืองออกจากป่า (Eloy, Hecht, Steward, & Mistry, 2019)

    ลักษณะการไหม้ดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลดาวเทียมที่รายงานว่า ราว 85-90% ของจุดความร้อน (hotspot) ที่พบในจังหวัดเชียงใหม่นั้นพบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ไฟที่พบในพื้นที่เกษตรคิดเป็นเพียงราว 5% เท่านั้น (สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, 2566) มากไปกว่านั้น ข้อความของนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการเชียงใหม่ เผยถึงไฟป่า 4 ประเภท ได้แก่ ไฟจากความเชื่อเดิม ไฟจำเป็น ไฟแค้น และไฟอิจฉาริษยาและไฟอารมณ์ (สถานีฝุ่น, 2567) นั่นหมายความว่า นอกเหนือจากข้อมูลตำแหน่งและจำนวนจุดความร้อน ไฟป่ายังมีรากปัญหาจากระบบโครงสร้างเชิงอำนาจ การใช้ไฟในวิถีเกษตรดั้งเดิมและภายใต้อิทธิพลของระบบเกษตรทุนนิยม รวมถึงความขัดแย้งส่วนตัวด้วย จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับบริบทและพฤติกรรมของไฟ โดยเฉพาะที่มีพบในพื้นที่ที่รัฐกำกับดูแล

    ในแง่ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 การศึกษาแหล่งที่มาและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น PM2.5 ในตัวเมืองเชียงใหม่พบว่า ในช่วงฤดูหมอกควันของปี 2562 นั้น ราวครึ่งหนึ่งของฝุ่นควันทั้งหมดที่ชาวเชียงใหม่สูดหายใจเข้าไป มาจากการเผาชีวมวล เช่นจากไฟป่าและการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีแหล่งกำเนิดจากทั้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนด้วยกันเองและจากชายแดนไทย-พม่า ฝุ่นชนิดอื่นอีกราว 20% ลอยข้ามแดนมาจากแถวประเทศอินเดีย ในขณะที่ฝุ่นจากการจราจรภายในจังหวัดคิดเป็นสัดส่วนเพียง 13% เท่านั้น  (สรณะ จรรย์สืบศรี และสมพร จันทระ (2567) จังหวัดเชียงใหม่จำเป็นต้องลดการเผาไหม้และมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมภายในจังหวัด พร้อมกับทำความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อรับมือกับหมอกควันข้ามแดน

    นอกเหนือจากปัจจัยทางมนุษย์แล้ว ความแปรปรวนของสภาพอากาศเองก็ส่งผลต่อความรุนแรงของปัญหาไฟป่า-หมอกควันเช่นกัน โดยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) สภาพอากาศตรงกับสภาวะลานีญา สภาพอากาศปกติ และสภาวะเอลนีโญ ตามลำดับ เมื่อนำมาเปรียบเทียบค่าจุดความร้อนและจำนวนวันที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิน 91 มคก./ลบ.ม. จะได้ค่าดังนี้ คือ ปี 2565 มีฝนตกชุก (2572 จุด, 4 วัน), ปี 2566 ปีปกติ (13,094 จุด, 167 วัน) (สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, 2566) สำหรับปี 2567 แม้จะยังไม่มีข้อมูลสรุปอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่ปรากฏในช่วงหลังสงกรานต์คือ ด้วยสภาพอากาศร้อนและแล้งยาวนาน ทำให้ไม่มีฝนมามาดับไฟและไม่มีระบายหมอกควันออกจากภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ประจวบกับความจำเป็นในการเผาเพื่อทำไร่หมุนเวียนในช่วงปลายเดือนเมษายน จึงทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ยังคงสูงอยู่ ขณะที่ป่าพร้อมจะกลายเป็นเพลิงด้วยเหตุผลทางการเมืองและความขัดแย้ง

    ปัญหาไฟป่า-หมอกควันมีสาเหตุจากปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งก็มีความซับซ้อนในตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ยากในการจัดการขึ้นไปอีก คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเฉพาะปีที่สภาวะอากาศแบบเอลนีโญ เช่นในปี พ.ศ. 2567 นี้ที่การมีฝนตกน้อยมีส่วนทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ในระดับเกินมาตรฐานเป็นระยะเวลานานเป็นพิเศษ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องวางมาตรการและเป้าหมายการควบคุมไฟป่าและระดับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กให้สอดคล้องกับเงื่อนไขสภาพอากาศและบริบทสังคมในแต่ละปีด้วย ไม่ใช่เพียงอิงจากค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

    ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ FireD กับการจัดระเบียบความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่

    ตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในแนวทางการจัดการปัญหาไฟป่า-หมอกควันที่น่าสนใจ คือจากปีพ.ศ. 2555 ที่มีคำสั่ง single command จากส่วนกลางให้ออกมาตรการ “ห้ามเผา” ในภาคเหนือ มาสู่การที่จังหวัดเชียงใหม่อนุมัติให้เผาได้ในปัจจุบัน ในปลายปี พ.ศ. 2563 ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งขับเคลื่อนโดยตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่างๆ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะสภาลมหายใจและมูลนิธิพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ ทำให้การใช้ไฟเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายได้ภายใต้การลงทะเบียนเข้าในระบบไฟดี (FireD) ระบบนี้ซึ่งเป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ชาวบ้านบริหารเชื้อเพลิง ภายใต้เงื่อนไขทางสภาพอากาศและคุณภาพอากาศ และภายใต้หลักการของสิทธิในการใช้ไฟ โดยเฉพาะของเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความจำเป็นในการทำไร่หมุนเวียน นี่คือการนำไฟที่แอบเผาลับหลังสายตาเจ้าหน้าที่และลับหลังวงโคจรของดาวเทียม ให้ปรากฏอย่างเป็นทางการและอย่างภาคภูมิใจ

    ในปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวทาง Open government, data-driven และการจัดการไฟแบบ co-management มีการแบ่งพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตามลักษณะภูมิสังคมเป็น 7 กลุ่มป่า บริหารโดยกลุ่มนอกภาครัฐ มีการตั้งเป้าหมายด้วยการลดจำนวนจุดความร้อน ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ต่อหน่วยพื้นที่ ให้ลดลง 50% จากปี 2566 นอกจากนั้น มีการคัดเลือก 12 ตำบลนำร่องเพื่อให้เกิดกระบวนการตัดสินใจบริหารเชื้อเพลิงในระดับตำบล และมีการใช้งบประมาณจ้างบุคคลที่เก็บของป่าล่าสัตว์ให้มาช่วยลาดตระเวนและป้องกันไฟป่า

    ในภาพกว้าง ระบบ FireD เชิญชวนให้เกิดการถกเถียงถึง 2 หลักการที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ สิทธิในการใช้ไฟ กับ สิทธิในการมีอากาศสะอาด ในแง่ของสิทธิในการใช้ไฟ ปัจจุบันยังคงปรากฏคู่ขัดแย้งระหว่างแนวคิด “ให้เผา” กับแนวคิด “ห้ามเผา” ตอกย้ำถึงคำถามว่าคนกับไฟอยู่ตรงไหนของป่า มากไปกว่านั้น สิทธิการใช้ไฟของหมู่บ้านหนึ่งๆ ยังต้องต่อรองกับเงื่อนไขทางสภาพอากาศและดัชนีคุณภาพอากาศผ่านอำนาจของเจ้าหน้าที่ ผู้ตัดสินใจ(ไม่)อนุมัติการเผาเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน เช่น เมื่อถึงเวลาสำหรับการชิงเผา หรือการทำไร่หมุนเวียน แต่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินมาตรฐานไปแล้ว หากมีการอนุมัติให้ใช้ไฟ จะรับผิดชอบต่อควันข้ามแดนและต่อผู้รับผลกระทบปลายทางอย่างไร ระบบ FireD จะพัฒนาต่อเพื่อช่วยหาคำตอบได้หรือไม่

    สิทธิในการเผาเป็นเรื่องที่ดี แต่ภายใต้เทคโนโลยีของระบบ FireD การอนุมัติหรือไม่อนุมัติสิทธิในการใช้ไฟก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันและความไม่แน่นอนรูปแบบใหม่แก่ชาวบ้านและเกษตรกรบนพื้นที่สูงด้วยเช่นกัน รัฐ ไฟอันไม่ทราบสาเหตุ อาจนำไปสู่การกล่าวโทษแบบเหมารวม และอาจนำไปสู่การเรียกร้องให้ใช้อำนาจทหารและตำรวจในการปิดล้อมป่าอย่างเข้มข้นขึ้น ทั้งๆ ที่จุดความร้อนส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดในพื้นที่เกษตร

    ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ยอมรับในไฟวัฒนธรรมแล้วผ่านระบบสนับสนุนการตัดสินใจ FireD สิ่งที่ต้องขยายต่อไปคือ ทำความเข้าใจกับสิทธิการใช้ไฟ ที่แยกออกจากไฟที่เป็นอาชญากรรมอันเกิดจากเหตุผลเชิงอารมณ์ จำแนกและจัดลำดับความสำคัญของการใช้ไฟอย่างยืดหยุ่นตามบริบท และอธิบายการเกิดจุดความร้อนที่พบในพื้นที่ของหน่วยงานด้านป่าไม้ การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนได้ดูและพื้นที่ป่าของตนเองจะเป็นรากฐานที่ดีเพื่อบรรลุเป้าหมาย

    อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า แม้ระบบ FireD จะสามารถบริหารไฟในจังหวัดได้อย่างเหมาะสม ก็ยังมีหมอกควันปริมาณหนึ่งที่ลอยข้ามมาจากนอกประเทศไทยอยู่ดี ส่วนหนึ่งเพราะการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศเมียนมาร์และลาว (Haywood, 2022) นี่จึงสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบราชการและการใช้กฎหมายในการจัดการและควบคุมอิทธิพลของบรรษัทเกษตรข้ามชาติ

    ถอดบทเรียนและเตรียมความพร้อมสู่ปีถัดไป

    การหายใจและใช้ชีวิตในอุตสาหกรรมนิยมยุคปลายนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ในบริบทของภาคเหนือของประเทศไทย ไฟป่า-หมอกควันคือสิ่งที่ลอดเร้น หลุดรั่ว ไหลซึมออกจากพื้นที่ป่า ไร่เกษตรและโรงงานอุตสาหกรรม ในระหว่างทางจากพื้นที่ต้นลมสู่ปลายลม ความรุนแรงของปัญหาขึ้นอยู่กับตัวแปรทางสภาพภูมิอากาศ และตัวแปรทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือและความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจท้องถิ่น ความลักลั่นของกฎหมาย บทบาทของเทคโนโลยี การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และประเด็นทางสุขภาพ ทั้งหมดจึงทำให้ปัญหาไฟป่า-หมอกควันมีความซับซ้อนและมีความเป็นการเมือง เกินกว่าที่แนวคิดอุตสาหกรรมนิยมจะควบคุมได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเชิงบูรณาการถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศ ระบบสังคม และไฟและฝุ่นอย่างเป็นระบบ (Bowman, O’Brien, & Goldammer, 2013)

    การจัดการปัญหาไฟป่า-หมอกควันแบบ “เชียงใหม่โมเดล” ยังคงรอการพิสูจน์ต่อไป ในปัจจุบันที่แนวทางการบริหารปัญหาเป็นลูกผสมระหว่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นผ่านระบบ FireD จึงทำให้เริ่มเห็นถึงความจำเป็นในการทำความเข้าใจประเภทและสัดส่วนการเกิดไฟและฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นไฟเพื่อความอยู่รอด ไฟอันเกิดจากความขัดแย้ง ฝุ่นควันอันเกิดจากระบบทุนนิยม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อใช้การจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา หากมองว่าไฟเกิดจากการกลั่นแกล้งหรือเคียดแค้น จะมีวิธีลดความขัดแย้ง พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้อย่างไร หากไฟเกิดจากการเกษตรเชิงพาณิชย์ จะติดตามและเอาผิดกับนายทุนอย่างไร

    แต่เนื่องจากสิทธิการใช้ไฟผูกพันกับสิทธิของการหายใจและการมีสุขภาพที่ดี นั่นทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการปกครองเชิงพื้นที่และเวลาด้วย คือต้องมองป่า-อากาศ ชนบท-เมืองเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกันผ่านระบบชีวกายภาพและสังคมเศรษฐกิจ มองปัญหาไฟป่า-หมอกควันผ่านมุมมองความมั่นคงทางอาหารระหว่างเมือง-ชนบท มองปัญหาดังกล่าวผ่านมุมมองสุขภาพของเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุและสัตว์เลี้ยง

    วิธีคิดและเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวัดและติดตามผลก็ต้องปรับปรุงด้วย คือ เปลี่ยนจากการถามหาตำแหน่งของจุดความร้อน ไปสู่การเข้าใจบริบทเชิงและติดตามพฤติกรรมของจุดความร้อนและการเดินทางของฝุ่นควันที่ลอยตามลม ทั้งนี้เพื่อรับผิดชอบต่อพื้นที่ปลายลมที่จะได้รับผลกระทบจากมลพิษ มากไปกว่านั้น เป้าหมายการบริหารจำนวนจุดความร้อนและค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศควรจะต้องล้อไปกับรอบวัฏจักรเอลนีโญ-ลานีญา เพื่อให้มีระดับตัวชี้วัดที่เป็นธรรมต่อเงื่อนไขทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อให้เห็นพลวัตเช่นนั้นหรือไม่ และจะมีลักษณะเป็นอย่างไร จะสามารถอดทนรอเครื่องมือดังกล่าวได้หรือไม่ ในขณะที่อำนาจในการสั่งห้ามเผาและปิดป่าพร้อมใช้งานทันทีในยามที่ค่าจุดความร้อนและมลพิษทางอาการเกินมาตรฐาน

    เหล่านี้ คือ มุมมองและคำถามที่แต่ละชุมชนต้องร่วมกันถกเถียงและอภิปราย โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ให้ความสนับสนุน ด้วยต้นตอของปัญหาไฟป่า-หมอกควันที่ทวีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านจริยธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบ FireD จะต้องขยายขอบเขตการทำงาน พร้อมกับบูรณการองค์ความรู้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากฝั่งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์

    ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อการกระจายอำนาจของระบบ FireD สู่ท้องถิ่นในปีถัดไป จำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ระดับ อบต. ให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือภูมิสารสนเทศเพื่อทำความเข้าใจกับชุดข้อมูลและผลิตแผนที่ ในขณะที่ชุมชนตั้งหน้าตั้งตารองบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐที่มีจำนวนเพียงพอ มาทันเวลาและสามารถใช้เบิกจ่ายได้อย่างเหมาะสม พวกเขาเองก็ต้องพัฒนาทักษะในการบริหารจัดการไฟอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับมีต้นทุนในการป้องกันตัวเองจากฝุ่นที่เป็นพิษด้วย นี่จึงเป็นเรื่องของการวางแผนและเขียนโครงการเชิงรุก บทบาทของภาครัฐในการสร้างแรงจูงใจควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงลดข้อจำกัดทางกฎหมาย จะช่วยให้การเกิดการกระจายอำนาจ และการจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์กับท้องถิ่นเอง

    สุดท้าย หากเราเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า คนเชียงใหม่อยากออกแบบชีวิตอย่างไรในช่วงฤดูหมอกควัน ค่าคุณภาพอากาศระดับไหนที่เรายอมรับได้ เรายอมให้เกิดไฟป่าได้มากน้อยเพียงใด เราสมควรเจ็บป่วยได้มากน้อยเพียงใด ในเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกัน และในความไม่แน่นอนอันหลากหลายที่ต่างฝ่ายกำลังเผชิญอยู่นั้น เวทีในการเปิดอกพูดคุยจากผู้คนหลากอาชีพ อายุ เพศ และชาติพันธุ์จึงสำคัญมาก เราต้องการไปไกลกว่าแค่การใช้ชุดข้อมูลสถิติจุดความร้อนและค่าคุณภาพอากาศที่คับแคบ เราต้องพูดคุยเรื่องธรรมาภิบาลทางสิ่งแวดล้อมและวางแผนออกแบบการใช้ชีวิตในช่วงฤดูหมอกควันโดยไม่จำกัดอยู่เพียงหลักวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราต้องการเปลี่ยนจุดสนใจจากข้อมูลตัวเลขไปสู่การใช้สิ่งของในชีวิตประจำวัน เช่น หน้ากากอนามัย บิลค่ารักษาพยาบาล หรือข้าวสาร ในการสนทนาเรื่องสิทธิทางใช้ไฟ สิทธิการหายใจ และการเยียวยากลุ่มเปราะบาง ในกระบวนการร่วมออกแบบและร่วมรับผิดชอบอนาคตนี้ ยังต้องการนักสื่อสารและนักนิเทศศาสตร์อีกจำนวนมาก เพื่อให้พวกเขาเปลี่ยนตัวเลขเป็นข้อความที่ย่อยง่ายสำหรับผู้ใช้ข้อมูลหลากกลุ่ม เพื่อเปลี่ยนความสับสนและความขัดแย้งไปสู่การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์และการรับผิดชอบร่วมกัน

    บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

    อ้างอิง

    • Ahmann, C., & Kenner, A. (2020). Breathing Late Industrialism. Engaging Science, Technology, and Society, 6, 416-438. doi:https://doi.org/10.17351/ests2020.673
    • Bowman, D. M. J. S., O’Brien, J. A., & Goldammer, J. G. (2013). Pyrogeography and the Global Quest for Sustainable Fire Management. Annual Review of Environment and Resources, 38(1), 57-80. doi:10.1146/annurev-environ-082212-134049
    • Hayward, D. (2022). Maize production in North Thailand: Corporate gains for smallholder pains. In A. Drogoul, E. Espagne, L. H. T. Phuong, & S. Lagrée (Eds.), Inequalities and environmental changes in the Mekong River Basin (pp. 169-197). France: AFD Editions.
    • Eloy, L., Hecht, S., Steward, A., & Mistry, J. (2019). Firing up: Policy, politics and polemics under new and old burning regimes. The Geographical Journal, 185(1), 2-9. doi:https://doi.org/10.1111/geoj.12293
    • สถานีฝุ่น (2567, 27 กุมภาพันธ์ 2567). ถอดบทเรียนไฟในป่าผืนใหญ่โซนใต้ จ. เชียงใหม่ บทความโดย : นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่. Retrieved 30 เมษายน 2567. https://www.facebook.com/100075757066512/posts/pfbid02s6Sq81MsprzNotz1tgbkZLvTWerjfYzkQD5qqU1bMh38MLDcNNi28NAcjpUzbt6kl/?
    • สรณะ จรรย์สืบศรี และสมพร จันทระ (2567, 18 เมษายน 2567). ทีมวิจัยคณะวิทย์ ม.เชียงใหม่ เผยที่มาและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น PM2.5 ในตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งในและนอกช่วงฤดูหมอกควัน. Retrieved 30 เมษายน 2567. https://www.cmu.ac.th/th/article/89cb6260-ba01-4ed1-8f4a-9a9694d5a8dc
    • สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่. (2566). สรุปผลดำเนินงานการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดเชียงใหม่ประจำปี พ.ศ. 2566.

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...