พฤษภาคม 19, 2024

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    Share

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

    “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป. ลาวและเมียนมา ขณะเดียวกันชื่อของ “เชียงแสน” ยังอยูในความรับรู้ของผู้คนที่ให้ความสนใจต่อประเด็นด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะและวัฒนธรรม เชียงแสนจึงเป็นชื่อของถิ่นฐานบ้านเมืองยุคโบราณที่เป็นจุดก่อกำเนิดหรือต้นธารการเกิดทั้ง “ความเป็นไทย”หรือ“ความเป็นล้านนา” ที่แม้ไม่ว่าทั้ง“ความเป็นไทย”หรือ“ความเป็นล้านนา” นั้น มันจะเกิดขึ้นมาจากการประกอบสร้างผ่านวาทกรรมชาตินิยมหรือท้องถิ่นนิยมในภายหลังก็สุดแล้วแต่ เราคงยากจะปฏิเสธได้ว่า “เชียงแสน” นั้น คืออาณาบริเวณอันเป็นอู่อารยธรรมที่มีความสำคัญในพื้นที่ราบลุ่มน้ำแม่โขงตอนกลาง[1] ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนเหนือสุดของประเทศไทย กล่าวคือ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทิวเขาผีปันน้ำและด้านทิศตะวันตกของทิวเขาแดนลาวที่เรียกว่า “แอ่งเชียงราย-พะเยา” ซึ่งมีการไหลผ่านของแม่น้ำตามระบบสันปันน้ำให้มีทิศทางการไหลของทุก ๆ สายน้ำในพื้นที่ดังกล่าวนี้ให้มีทิศทางย้อนขึ้นกลับไปทางทิศเหนือ (หรือตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อไหลลงสู่แม่น้ำโขงแทบทั้งสิ้นทั้งแม่น้ำอิง แม่น้ำลาว แม่น้ำกก แม่น้ำคำ แม่น้ำจันและแม่น้ำสาย ด้วยเงื่อนไขในทางภูมิศาสตร์ดังที่กล่าวมาจึงส่งผลให้ที่ราบลุ่มใน “แอ่งเชียงราย-พะเยา” นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารจึงนับเป็นชัยภูมิที่ดีที่เหมาะแต่การตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาผ่านสายสัมพันธ์ทางเครือญาติมาตั้งแต่ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 อย่างเช่น เมืองเชียงแสน เมืองเชียงรายหรือเมืองพะเยา เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าเมืองเชียงแสนเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่โดยมีสถานะเป็นศูนย์กลางทางอำนาจของดินแดนในพื้นที่แถบนี้สืบมาช้านาน

    ท้องทุ่งนาอันอุดมสมบูรณ์ของของโหล่งเชียงแสนหลวง

    บทความนี้เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะบอกเล่าเรื่องราวของ “เชียงแสน” ที่มีฐานะเป็นทั้งเมืองโหล่งและที่ราบลุ่มอันชุ่มชะอุ่มไปด้วยอารยธรรมที่มีความเป็นมาช้านาน เชียงแสนในฐานะสมรภูมิสงครามและสนามรบจึงเป็นพื้นที่ช่วงชิงอำนาจของสองฝ่ายฟ้าระหว่างราชอาณาจักรอังวะและราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ สงครามครั้งสุดท้ายซึ่งได้เปลี่ยนโฉมหน้าค่าตาของเมืองเชียงแสนไปอย่างไม่สามารถย้อนกลับคืนสู่อดีตอันรุ่งเรืองได้คือสงครามเชียงแสนแตกในปีพ.ศ 2347  ได้นำพาเชียงแสนมาถึงจุดสิ้นสุดหรือไม่นั้นผู้เขียนได้นำเสนอข้อท้าทายและมุมมองใหม่ต่อประเด็นดังกล่าวผ่านเรื่องราวของคนเชียงแสนย้ายแผ่นดินและถูกทำให้พลัดพรากไปจากถิ่นฐาน  ทว่าในยุคสมัยต่อมากลับมีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าหาฟื้นฟูดินแดนแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินอีกครั้ง ทำให้เชียงแสนมีฐานะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำมันอุดมสมบูรณ์เป็นจุดหมายปลายทางของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและชาติพันธุ์ที่ต่างก็ได้หมายความเข้ามาจับจองพื้นที่ในดินแดนดังกล่าวเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ผู้เขียนยังผูกโยงเรื่องราวความล่มสลายของเมืองเชียงแสนที่มีปรากฏใน “คร่าวเชียงแสนแตก” ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมยุคร่วมสมัยอันถูกตีความใหม่โดยกลุ่มศิลปินคนรุ่นใหม่ซึ่งล้วนเป็นนักปฏิบัติการด้านศิลปะซึ่งเป็นลูกหลานของผู้คนในพื้นที่โหล่งเชียงแสน หรือ เป็นชาวเชียงแสนหลวง พวกเขาเหล่านี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจต่อประเด็นทางประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม และการเมืองไทยร่วมสมัยที่ได้เล่าถึงการคุกคามแผ่นดินเมืองเชียงแสนอีกครั้งคราวในบริบทใหม่ที่เรียกกันว่ายุคโลกาภิวัฒน์ผ่านนิทรรศการ “คราวเชียงแสนแตก”

    บทความนี้ผู้เขียนมีเจตนารมณ์นำเสนอและเผยแพร่เนื้อหาของงานเขียนที่มีลักษณะกึ่งวิชาการกึ่งสารคดีจึงไม่ได้ใช้การอ้างอิงตามขนบวิชาการอย่างที่ควรจะเป็น ขอให้ผู้อ่านโปรดอ่านอย่างมีวิจารณญาณและกรุณาอย่าอ้างอิงในข้อเขียนนี้ในฐานะงานวิชาการ

    พลวัตของ “การพลัดถิ่น” กับการออกเดินทางของผู้คน “เข้า-ออก”พื้นที่เวียงเชียงแสน

    ชาวบ้านย้ายถิ่นฐาน จากลำปาง ไปพะเยา-เชียงราย รหัสเอกสาร ร.6 คค 5.3/8 ปี 2462

    “คนเชียงแสน คือใคร” หรือ “ใครคือ คนเชียงแสน” (ที่แท้จริง) นี่อาจเป็นการตั้งคำถามที่ยากยิ่งแก่การไขคำตอบหรือข้อสงสัย เอกสารโบราณต่าง ๆ กล่าวถึงเมืองเชียงแสนที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยพญาแสนภู (ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของพญามังราย) ส่งผลให้มีผู้คนหลากหลายเชื้อสายเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกันนับแต่นั้น ประกอบการกับที่เชียงแสนเคยเป็นสมรภูมิสงครามที่สำคัญในหลายๆครั้งของล้านนาสืบมาตั้งครั้งอดีตกาลทั้งกับ “พญาฮ่อลุ่มฟ้า” (ที่ว่ากันว่าคือราชสำนักจีนสมัยราชวงค์หมิง) ถึงสองครั้งสองคราในยุคพญาสามฝั่งแกน หรือศึกพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างที่ยึดเชียงแสนเป็นฐานที่มั่นเพื่อรบกับพระเมกุเรื่องสิทธิธรรมในบัลลังก์ตั่งทองของราชสำนักเชียงใหม่ที่เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม เป็นต้น จนกระทั่ง ในปี พ.ศ.2101 ล้านนาตกอยู่ใต้การปกครองของพม่าและเมืองเชียงแสนถูกเปลี่ยนฐานะให้กลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพม่าในล้านนาตอนบน ขณะเดียวกันราชสำนักพม่าได้สถาปนาตำแหน่ง “เจ้าฟ้าเชียงแสน” เป็นผู้ปกครองเมืองเชียงแสนสืบเนื่องต่อกันมา โดยเอกสารสำคัญอย่างพื้นเมืองเชียงแสนได้ระบุเชื้อสายเจ้านายเมืองเชียงแสนว่าเป็นสกุลวงศ์เชื้อสายไทลื้อทั้งที่อาศัยอยู่ในเชียงแสนที่ปกครองสืบเนื่องกันมากว่า 10 องค์และเป็นเชื้อสายไทลื้อเมืองพง 2 องค์ซึ่งปกครองเมืองเชียงแสนรวมระยะเวลา 176 ปี (พ.ศ.2171-2347) แม้กระทั่งช่วงสุดท้ายก่อนที่เมืองเชียงแสนแตก เชื้อสายเจ้าฟ้างามยังคงมีบทบาทได้รับตำแหน่งเจ้านายชั้นสูงของเมืองเชียงแสน

    แผ่นดินล้านนาเขตที่ราบลุ่มเมืองเชียงแสนและเมืองบริวารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 นั้นยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลพม่า จนกระทั่งเจ้าฟ้าเมืองแพร่อย่างพญามังไชย ลูกหลานของพญาสุลวะลือไชยสงคราม (เจ้าหนานทิพจักร) แห่งนครลำปางหรือกลุ่มราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน (เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน) ตลอดจนเจ้าฟ้าเมืองน่านสวามิภักดิ์ต่อสยามราวปี พ.ศ.2317 ดุลอำนาจที่พลิกขั้วเลือกข้างใหม่ได้ก่อตัวขึ้นในดินแดนล้านนาจนกระทั่งนำมาซึ่งกองกำลังจากสยามที่ร่วมหนุนเสริมให้ผู้นำท้องถิ่นล้านนา ณ ห้วงเวลานั้นได้ร่วมกันขับไล่กองทัพพม่าออกจากเมืองนครเชียงใหม่กับเมืองนครน่านก็ไปรวมตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเชียงแสน ซึ่งในปี พ.ศ. 2339 ล้านนายังได้มีการขอกองกำลังจากสยามและหัวเมืองประเทศราชทั้งประเทศราชล้านช้าง (เมืองนครเวียงจันทน์) เพื่อมาร่วมกันขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาและไม่ให้เมืองเชียงแสนเป็นฐานที่มั่นแหล่งเสบียงอาหารให้กับพม่าเอง

    การยกกองกำลังครั้งใหญ่ไปตีเมืองเชียงแสนเกิดขึ้นภายหลังจากตีพม่าออกจากเมืองเชียงใหม่และเมืองป่าซางซึ่งผู้นำของเมืองนครเชียงใหม่อย่างพญาจ่าบ้าน (บุญมา) ร่วมกับกลุ่มเจ้านายในเชียงใหม่ ลำปาง แพร่และน่าน ยกทัพขึ้นไปตีขับไล่พม่าที่เมืองเชียงแสนเป็นระยะๆ แต่ไม่สำเร็จ ได้เพียงกวาดต้อนชาวเมืองเชียงแสนมาบ้าง เพื่อตัดกำลังซึ่งต่อมาพญากาวิละได้เริ่มเปิดยุทธการโจมตีเมืองฝางอันถือได้ว่าเป็นเมืองบริวารของเชียงแสน ซึ่งมีผลทำให้เจ้าฟ้าเมืองเชียงรายอย่างเจ้าน้อยจิตตะ (ต้นสกุล “ขัติเชียงราย” “รายะนคร” “รายะนาคร”) ได้พาครอบครัวชาวเมืองหนีเข้าไปพึ่งพญากาวิละที่เมืองนครลำปางในปี พ.ศ. 2323 ทว่ายุทธการที่กล่าวนี้       กลับไม่ได้มีผลต่อการสั่นคลอนความมั่นคงของเมืองเชียงแสนได้เลย เมื่อแม่ทัพพม่าสำคัญอย่างโป่พะคานมินคียกทัพตีเมืองนครลำปางลงไปถึงเมืองพิษณุโลกพอกองทัพสยามยกขึ้นมาช่วย กองทัพพม่าก็ได้ถอยร่นกลับไปยังเมืองเชียงแสน ทว่าเส้นทางกลับนั้น กองทัพพม่าก็ได้แวะระหว่างทางเพื่อจับตัวพญามังไชย เจ้าหลวงเมืองแพร่และครอบครัวส่งกลับไปยังเมืองอังวะ พร้อมทั้งให้ทหารพม่ารักษาเมืองเชียงแสนอยู่อย่างหนาแน่น เสถียรภาพของกองทัพพม่าในเมืองเชียงแสนยังมีต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่า 2 ปีต่อมา ถึงเอกสารอย่างพื้นเมืองเชียงแสนระบุพม่ายังคงสร้างวัดวาศาสนาสถานเป็นปกติขนาดที่ว่ายังมีมีการสมโภชน์เฉลิมฉลองพระวิหารวัดบุญยืน เมืองเชียงแสนด้วยซ้ำไป

    ผลกระทบจากสงครามและความผันผวนของเสถียรภาพทางการเมืองในเวียงเชียงแสนซึ่งมีฐานะเป็นสมรภูมิแห่งการชิงไหวชิงพริบระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพล้านนาที่ได้รับการหนุนหลังจากพี่ใหญ่อย่างกองทัพสยามจึงเกิดขึ้นอย่างสลับสับเปลี่ยนกันเรื่อยมานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2327 พญากาวิละแห่งเมืองนครลำปางและพญาจ่าบ้าน (บุญมา) แห่งเมืองนครเชียงใหม่นำทัพไปกวาดต้อนชาวเมืองเชียงแสนจำนวน 7,167 คนลงมาไว้ในเมืองนครลำปางและเมืองป่าซาง (อ.ป่าซาง จ.ลำพูน) ห้วงเวลาต่อมาพญามังไชย เจ้าหลวงเมืองแพร่และครอบครัวได้ทูลขอกษัตริย์พม่ามาอยู่ที่เมืองเชียงแสนใน พ.ศ.2330 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่กองทัพเมืองนครลำปางและเมืองนครเชียงใหม่ที่ขณะนั้นยังตั้งอยู่เมืองป่าซางยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนเข้ากับกองทัพล้านนาอีกครั้งด้วยการเป็นไส้ศึกและเป็นผู้เปิดประตูเมืองเชียงแสน (ที่ชื่อว่าประตูท่าม่านหรือประตูทัพม่าน) เพื่อกวาดต้อนชาวเมืองเชียงแสนออกไปให้กองทัพกองทัพเมืองนครลำปางและเมืองนครเชียงใหม่ได้อย่างแสบสัน ขณะที่เหล่าบรรเจ้านายเมืองเชียงแสนที่สืบเชื้อเครือวงค์จากเจ้าฟ้าไทลื้อนั้นแตกกระสานซ่านเซ็นไปหลายทิศทาง บางรายก็ไปอยู่ไกลถึงเมืองนุนและเมืองเฮียมในดินแดนสิบสองพันนา บางส่วนก็หนีลี้ภัยข้ามแม่นํ้าโขงไปอยู่รอจนกระทั่งกองทัพ “อะแซหวุ่นกี้” มาช่วยกลับไปกู้เมืองเชียงแสนใหม่อีกคำรบ ขณะที่กองทัพพม่าก็เปิดยุทธการบุกลงมาทางทิศใต้เช่นเดียวกันโดยยกลงมาตีเมืองป่าซางแต่ไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับคืนไปเมืองเชียงแสนดังเดิม สลับกับกองทัพเชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนปีครั้งในปี พ.ศ.2334 แต่กลับไม่สำเร็จ

    แน่นอนว่าสงครามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลาย ๆ ครั้งนั้นเป็นเงื่อนไขและปัจจัยที่ก่อให้เกิดพลัดถิ่นฐานของผู้คนให้กระจัดกระจายอาศัยไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ และมีผลทำให้เมืองเชียงแสนต้องรกร้างและฟื้นตัวคืนกลับมาใหม่ซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งจะว่าไปถึงคำถามก่อนหน้าที่ว่า “คนเชียงแสน คือใคร” หรือ “ใครคือ คนเชียงแสน” (ที่แท้จริง) ก็คงยากที่จะฟันธงคำตอบไม่ได้อย่างตายตัวแน่นอน เพราะ ผู้คนและพลเมืองเชียงแสนในห้วงเวลาที่กล่าวมานั้นได้ถูกสลับสับเปลี่ยนเคลื่อนเข้า ๆ ออก ๆ มาก่อนหน้านั้นแล้ว

    การหักหาญเอาชัยที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ของกองทัพล้านนาที่มีต่อกองทัพพม่าหรือกองทัพพม่าที่มีต่อกองทัพล้านนานั้น ได้ถูกลากยาวเรื่อยมาจนกระทั่งในปี พ.ศ.2347 ได้มีการขอกำลังสนับสนุนจากสยามและล้านช้าง (เมืองนครเวียงจันทน์) ยกขึ้นตีพม่าออกจากเมืองเชียงแสน โดยในเอกสารบันทึกกล่าวถึง 5 กองทัพที่เข้าตีเมืองเชียงแสน และได้แบ่งชาวเชียงแสนไปให้ทั้ง 5 กองทัพ คือ กองทัพเชียงใหม่ กองทัพลำปาง กองทัพน่านกองทัพสยาม และกองทัพเวียงจันทน์และในแต่ละกองทัพใหญ่นั้น ยังมีกองทัพเมืองอื่นๆ เข้าร่วมด้วยโดยเฉพาะหัวเมืองบริวารที่ขึ้นต่อเมืองนครต่างๆส่วนในประเทศราชล้านนาหัวเมืองบริวารของเมืองนครต่าง ๆ ที่ร่วมรบก็ได้ส่วน แบ่งชาวเมืองเชียงแสนมาไว้บ้านเมืองนั้นๆ ด้วย

    ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ระบุถึงเหตุการณ์ที่กองทัพสยามเข้าตีเมืองเชียงแสนอันนำมาสู่การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนกว่า 23,000 คนไปตั้งถิ่นฐานในท้องที่ต่างๆ ว่ารัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ (ต้นราชสกุล “เทพหัสดิน”)  พระยายมราช นายทัพ นายกอง ของทั้งสยามและล้านช้าง (เมืองนครเวียงจันทน์) ยกทัพขึ้นตีเมืองเชียงแสน โดยกองทัพพม่าใช้ยุทธวิธีตั้งมั่นอยู่ในเมือง กองทัพสยามและล้านช้าง (เมืองนครเวียงจันทน์) ล้อมเมืองเชียงแสนอยู่เป็นเวลาเดือนกว่าก็ไม่สามารถที่จะตีหักเอาได้โดยง่าย จึงได้มีการรอจนกระทั่งกองทัพพม่าก็ขัดสนและอดเสบียงอาหารจนได้ฆ่าโค กระบือ ช้าง ม้า กินทำให้ผู้คนในกองทัพเจ็บป่วยเป็นอันมากท้ายที่สุดจึงกองทัพพม่าก็ได้พ่ายแพ้แก่ทัพล้านนาภายใต้การสนับสนุนของกองทัพสยามซึ่งเป็น การขับไล่ทหารพม่าออกจากเชียงแสนได้โดยเบ็ดเสร็จสมบูรณ์เช่นที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรม “คร่าวเชียงแสนแตก[2]” (พ.ศ.2347) กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นไว้ว่า เข้าเมืองเชียงแสนได้ที่ประตูดินขอ ทหารที่เข้าเมืองเชียงแสนได้ ก็ไล่ฆ่าทหารพม่า พร้อมทั้งไล่จับเชลยชาวเมืองเชียงแสน รวมทั้ง พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ทั้งหมด เมื่อรวบรวมชาวเมืองได้แล้ว ต่อมาจึงยกทัพออกจากเมืองเชียง แสนพร้อมชาวเมืองทั้งหมด เชียงแสนจึงถูกทิ้งร้างจากนั้นมา ดังเอกสารที่ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ ณ เวลานั้นว่า

    “….ลำเวียงไม้ หอเรือนทั้งหลาย สนามผามเพียง แทกเฝ้าฉางข้าว

    ตูบหอผี โรงช้างเตาเหล้า ทั้งม้าหอ   เทพา

    ทั้งต้อมวิด เล้าเปิดตูบปลา ทั้งผาคา เล้าไก่ครกข้าว เผาจูดเลี้ยงทุกข์เววน

    ทั้งหนุ่มทั้งเถ้า ปีดหนึ่งเหลียวหลัง หันพระธาตุเจ้า จอมคีรี

    ภิวาทนิ้ว ต่างเหนือศีรษา ขอขราบลา หันพระธาตุเจ้า จอมคีรี… ภิวาทนิ้ว พระธาตุเจ้า………”

    “คร่าวเชียงแสนแตก” ต้นฉบับคัมภีร์ใบลานวัดม่วงตื้ด ด. ม่วงตื้ด อ. เมือง จ.น่าน

    ขณะเดียวกันรัชกาลที่ 1 ได้มีพระบรมราชโองการให้รื้อกำแพงเมืองและเผาเมืองเชียงแสนเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารพม่ากลับมายึดเมืองคืนได้อีกครั้ง พร้อมทั้งได้มีการกวาดต้อนผู้คนและครัวเรือนให้มีการโยกย้ายถิ่นฐานจากแผ่นดินเกิดไปอยู่อาศัยในดินแดนอื่นเป็นจำนวนมาก การได้อพยพชาวเชียงแสนทั้งหมดให้ไปอาศัยอยู่ตามหัวเมืองต่างๆนั้น ได้มีการจัดแบ่งผู้คนออกเป็น 5 ส่วนส่งไปที่เมืองเชียงใหม่ 1 ส่วน เมืองนครลำปาง 1 ส่วน เมืองน่าน 1 ส่วน เมืองเวียงจันทร์ 1 ส่วน และถวายลงไป ณ กรุงเทพอีก 1 ส่วนโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีหรือเมืองราชบุรี

    ภาพชายแดนบริเวณแม่น้ำโขง และ วิถีชีวิตผู้คนที่กำลังจับปลา ริมแม่น้ำคำ ที่อำเภอเชียงแสน เมื่อปี คศ.1967 หรือ พศ. 2510 . โดย Dr. Philip A. Bradbeer อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหราชอาณาจักร ที่มาช่วยงานที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2507-2513

    ผลจากการล่มสลายของเมืองเชียงแสนได้เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเติมเต็มประชากรให้กับหัวเมืองอื่นๆ ในภาคเหนือของไทยที่กำลังขาดสมดุลเชิงประชากรและแรงงานประชากรให้แก่เมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปางและเมืองนครน่าน ขณะที่ประชากรอีกส่วนหนึ่งซึ่งถูกส่งลงไปยังกรุงเทพฯนั้น ได้ไปตั้งถิ่นฐานในเมืองสระบุรีและเมืองราชบุรีอันเป็นหัวเมืองชั้นในของราชธานีกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยเหตุผลที่ว่าเมืองเหล่านี้อยู่ไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมจึงเป็นการป้องกันการหลบหนีและเป็นกำลังให้กับเมืองชั้นในในการป้องกันราชธานียามศึกสงคราม รวมถึงเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม เป็นกำลังคนในการฟื้นฟูบ้านเมืองและการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เข้าแผ่นดิน

    ขณะที่เชลยชาวเชียงแสนกลุ่มที่ถูกส่งไปเมืองเวียงจันทน์ถูกกวาดต้อนโดยกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ราชอนุชาของเจ้าอินทวงศ์ กษัตริย์เมืองนครเวียงจันทน์นั้นส่วนหนึ่งเจ้าอนุวงศ์ให้ชาวเชียงแสนไปอยู่ร่วมกับชาวเมืองเชียงใหม่ที่อยู่แต่เดิมในเมืองศรีเชียงใหม่ (เดิมเมืองศรีเชียงใหม่ขึ้นเมืองนครเวียงจันทน์ ปัจจุบันคือ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย) ต่อมาคราศึกเจ้าอนุวงศ์ในปี พ.ศ.2370 กองทัพสยามตีกวาดต้อนชาวเมืองนครเวียงจันทร์และไพร่ชาวเชียงแสนที่เคยถูกกวาดต้นลงมาก่อนหน้าเดินทางลงไปยังกรุงเทพเมื่อเดินทางผ่านเมืองนครจันทึก (อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา) พบว่ามีกลุ่มชาวเชียงแสนด้วยกันตั้งถิ่นฐานอยู่ จึงขออนุญาตตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกับชาวไทยวนเชียงแสนที่สีคิ้วแต่สันนิษฐานว่ายังคงเหลือชาวไทยวนไทลื้อเมืองเชียงแสนบางส่วนตกค้างอยู่เมืองนครเวียงจันทน์ ที่สามารถหลบหนีการกวาดต้อนครั้งนี้ แต่ยังไม่มีหลักฐาน

    นอกจากนี้ ยังมีชาวไทยวน ชาวไทลื้อ และชาวอื่นๆ จากเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาสู่พื้นที่ของเมืองสระบุรีโดยได้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในหลายอำเภอและมีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในอำเภอเมืองและอำเภอเสาไห้ ซึ่งชาวเชียงแสนที่มาตั้งหมู่บ้านต่างๆ ก็จะมีผู้นำพามาตั้งและดูแล เช่น ปู่เจ้าฟ้า นำมาตั้งหมู่บ้านเจ้าฟ้า เมื่อสิ้นชีวิตชาวบ้านได้นับถือปู่เจ้าฟ้าเหล่านี้ในฐานะผีบรรพชนซึ่งมักจะมีการประทับทรงเจ้าปู่ในช่วงปีใหม่สงกรานต์อีกด้วยเช่นเดียวกันกับช่วงภายหลังศึกเจ้าอนุวงศ์ที่ได้มีการกวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์เข้ามาสู่เขตแดนสยามก็อาจสันนิษฐานได้ด้วยการขอลงหลักปักฐานของเชลยอพยพที่เมืองสระบุรีในปี พ.ศ.2370 นี้ คงไม่ได้เพียงชาวเชียงแสนที่ขอตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกับชาวเชียงแสนด้วยกันเพียงเท่านั้น หากยังอาจจะมีชาวลาวเวียงจันทน์ในครั้งนี้ก็ตั้งถิ่นฐานในเมืองสระบุรีด้วยเช่นกัน 

    อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ชาวเชียงแสนที่เมืองสระบุรีที่เรียกตนเองติดปากว่า “คนยวน” หรือ “ชาวยวน” คำนี้สันนิษฐานว่าไม่ได้บ่งบอกถึงชาติพันธุ์ว่าเป็น “ไทยวน”เพียงอย่างเดียว แต่มีนัยยะบ่งบอกว่ามาจากเมืองยวน โดยที่มีชาติพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาอยู่ร่วมกันหลากหลายกลุ่มทั้งไทยวน ไทลื้อ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในเมืองเชียงแสนหรือเมืองยวน เมื่อมาอยู่เสาไห้ เมืองสระบุรี จึงบ่งบอกว่าเป็น “คนเชียงแสน” “ชาวเชียงแสน” หรือ “คนยวน” “ชาวยวน” ตามที่รับรู้มาจากบรรพบุรุษ เพราะในตำนานพื้นเมืองเชียงแสนก็ปรากฏเรียกเมืองเชียงแสนว่าเป็น “เมืองยวน” หรือ “เมืองไทยวน” กรณีนี้ก็เหมือนกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่โยกย้ายถิ่นฐาน เช่น ไทลื้อเมืองยอง (ปัจจุบันเมืองยองมีสถานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง ประเทศเมียนมา) กองทัพจากล้านนาไปตีกวาดต้อนมาปีเดียวกันกับตีเมืองเชียงแสนใน พ.ศ.2347 เมื่อถูกนำมาอยู่เมืองนครลำพูน ก็เรียกตนเองว่าเป็น “คนยอง” หรือ “ชาวยอง” ตามชื่อเมืองที่จากมา ส่วนทางด้านชาติพันธุ์กลุ่มหลักในเมืองยองนั้นเป็นคนไทลื้อ

    นอกจากนี้ ยังพบว่ามีกลุ่มชาวเชียงแสนที่เคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองราชบุรีซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้นได้มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านไร่ (ต.บ้านไร่อ.เมือง จ.ราชบุรี) ริมฝั่งขวาของแม่นํ้าแม่กลอง เมืองราชบุรี แล้วจึงขยายออกไปที่ตำบลดอนตะโก ตำบลคูบัว ตำบลห้วยไผ่ ตำบลดอนแร่ ตำบลหินกอง (อ.เมือง จ.ราชบุรี) ตำบลหนองโพ ตำบลบ้านสิงห์ (อ.โพธาราม จ.ราชบุรี) ตำบลหนองปลาหมอ (อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี) ตำบลรางบัว (อ.จอมบึง จ.ราชบุรี) ตำบลสวนผึ้ง (อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี) และตำบลทุ่งหลวง (อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี) เป็นต้น ปัจจุบันเชื้อสายชาวเชียงแสนในจังหวัดสระบุรีมีประมาณ 80,000 กว่าคน ชาวเชียงแสนเมืองราชบุรียังคงมีการสืบทอดผ้าทอตีนจก หัวหน้าชุมชนชาวเชียงแสนในเมืองราชบุรีที่ปรากฏ เช่น พระณรงค์ภักดี เป็นต้น ตลอดจนได้มีการขยายชุมชนออกไปตั้งบ้านเรือนหาแหล่งทำกินอีกหลายพื้นที่ในบริเวณลุ่มน้าแม่กลองในเขตจังหวัดราชบุรีต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรีและนครปฐม

    หลังยุคเชียงแสนแตกสู่การเข้ามาของผู้คนและพลเมืองหน้าใหม่ในพื้นที่ “โหล่งเชียงแสนหลวง” 

    “…ด้านทิศตะวันตกติดต่อกับบ้านแม่จันและทิวเขาสูง ทิศใต้เป็นเนินเขาเตี้ยๆ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแม่น้ำโขงและต่อเนื่องกับน้ำรวกจนถึงเวียงพานที่มีแม่น้ำสายซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของบ้านแม่จัน…”

    ข้อความดังกล่าวได้ระบุถึงรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ของที่ราบเชียงแสนซึ่งถูกบันทึกไว้โดยนักสำรวจเส้นทางรถไฟเพื่อขยายอิทธิพลทางการค้าสินค้าอังกฤษสายมะละแหม่งๆ ผ่านตาก พะเยา และเชียงแสน ไปสู่จีนใน ปี พ.ศ. 2419 นามว่าHolt S. Hallett เป็นสิ่งสะท้อนถึงความรับรู้ที่มีต่อ “เมืองเชียงแสน” ว่ามิได้จำกัดอยู่เฉพาะเขตพื้นที่อำเภอเชียงแสนในยุคปัจจุบันเพียงเท่านั้น หากยังมีความหมายรวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงทั้งในเขตอำเภอแม่จันและอำเภอแม่สายในปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นการไล่เรียงเรื่องราวของชาวเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนให้พลัดที่นาคาที่อยู่ก็ยังคงมีเรื่องระหว่างบรรทัดให้ผู้ศึกษาเอกสารหรือค้นคว้าหาข้อมูลเฉพาะถิ่นพอที่จะทราบได้ว่า พื้นที่ของเมืองเชียงแสนนั้นครอบคลุมอาณาบริเวณที่มีขนาดใหญ่โตทั้งกองทัพล้านนาและกองทัพสยามจะต้องใช้ปริมาณกองกำลังขนาดเท่าใดกันที่จะ “กวาดต้อนผู้คนให้หมดไปจากเมืองเชียงแสน” อันเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ ซึ่งปรากฏว่ามีเรื่องเล่าของผู้คนในพื้นที่อำเภอแม่จันบางส่วนที่อยู่ตามหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง (เวียงเชียงแสน) ได้กล่าวถึงการ “หนีเศิก” (หนีข้าศึก) ขนเอาพระพุทธรูปและของมีค่าไปซ้อนไว้ตามป่าเขาเป็นจำนวนมากซึ่งภายหลักหมดสิ้นกลิ่นไอของสงครามและมีการฟื้นฟูเมืองเชียงแสน (อ.เชียงแสน อ.แม่จัน จ.เชียงราย) อีกครั้งใน พ.ศ.2423 นำโดยมีพระยาราชเดชดำรง (เจ้าน้อยอินทวิไชย ต้นสกุล “เชื้อเจ็ดตน”) ราชบุตรพระเจ้าบุญมาเมือง (เจ้าศรีบุญมา) พระเจ้านครลำพูน องค์ที่ 2 ซึ่งได้เข้ามาเป็นเจ้าเมืองเชียงแสนองค์แรกขึ้นกับเมืองนครเชียงใหม่ซึ่งในการฟื้นฟูบ้านเมืองครั้งดังกล่าวก็ได้มีผู้คนเชื้อสายชาวไทลื้อจากเมืองยอง ชาวไทยวนและไทลื้อเชียงแสนดั้งเดิมบางส่วนที่อยู่ในเมืองนครลำพูน ได้กลับขึ้นไปฟื้นฟูเมืองเชียงแสนอีกครั้ง ตลอดจนพบว่ามีเชื้อสายของเจ้าฟ้าเชียงแสนที่ยังคงเหลือตกค้างได้เสกสมรสกับเจ้านายเชื้อสาย “เชื้อเจ็ดตน” เช่น เจ้าคำตั๋น ซึ่งสืบเชื้อสายเจ้าฟ้าเชียงแสน สมรสกับเจ้าหญิงสุคำ ธิดาพระยา ราชวงศ์ (เจ้าน้อยสุขะ) เมืองเชียงแสน พระนัดดาพระยาราชเดชดำรง (เจ้าน้อยอินทวิไชย ต้นสกุล “เชื้อเจ็ดตน”) ราชปนัดดาพระเจ้าบุญมาเมือง (เจ้าศรีบุญมา)พระเจ้านครลำพูนองค์ที่ 2 เจ้าคำตั๋นกับเจ้าหญิงสุคำ ได้มีบุตรธิดามีสืบมาอยู่เมืองเชียงแสน  ๔ คน คือ เจ้าดวงดี เจ้าบัวหลวง เจ้าคำจี๋น และเจ้าคำจันทร์ นอกจากนี้ยังมีเจ้านายเชียงแสนที่บ้านปงสนุก เมืองนครลำปางบางส่วนก็กลับคืนขึ้นไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงแสน เช่น เจ้าเขื่อนแก้ว บุตรชายองค์โตของพญาปราบทวีปเยาวธานี (เจ้าปราบทวีป) เชื้อสายเจ้าฟ้าเชียงแสน บ้านปงสนุก ก็ได้กลับคืนไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงแสนอีกครั้ง

    ภาพชายแดนบริเวณแม่น้ำโขง และ วิถีชีวิตผู้คนที่กำลังจับปลา ริมแม่น้ำคำ ที่อำเภอเชียงแสน เมื่อปี คศ.1967 หรือ พศ. 2510 โดย Dr. Philip A. Bradbeer อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหราชอาณาจักร ที่มาช่วยงานที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2507-2513

    ร่องรอยของข้อมูลทางประวัติศาสตร์การอพยพโยกย้าย “เข้า-ออก” เมืองเชียงแสนของผู้คนที่มีมานับตั้งแต่อดีตนั้นยังทำให้เราสามารถนั่งมโนนึกภาพถึง “ความเป็นเชียงแสน” ในฐานะอาณาบริเวณที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่ไพศาลซึ่ง เป็นพื้นที่ลาดเอียงจากทิวเขานางนอนหรือดอยตุงเทลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกจรดลำน้ำแม่โขง อาณาบริเวณขนาดใหญ่ที่ว่านี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ทำการเพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าว  ซึ่งปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำและระบบเหมืองฝ่ายในพื้นที่ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตลุ่มน้ำแม่คำก็มี ฝายผาม้า ฝายบ้านกล้วยคำ ฝายอุดม (กอไม้เรียว) ฝายใบไผ่ (น้ำลัด) ฝายร่องธาตุและฝ่ายป่าถ่อน เป็นต้น ขณะเดียวกันบริเวณที่ราบลุ่มเชียงแสนนั้นยังคงมีวัดเก่าและชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินกระจายตัวตามลุ่มแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่อันเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมชนเก่าแก่และมีผู้คนอยู่อาศัยมาช้านาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รอบต่อระหว่างสามอำเภอ ได้แก่พื้นที่แม่สาย (ตำบลบ้านด้าย) พื้นที่แม่จัน (ตำบลจันจว้า) พื้นที่เชียงแสน (ตำบลศรีดอนมูล) ตัวเมืองเชียงแสนหรือพื้นที่ที่ “จาวเจียงแสน” เรียกบริเวณแถบนั้นว่า “เวียงเก่า” อันมีเรื่องเล่าว่า เมืองชาวลำพูนที่อพยพขึ้นมาลงหลักปักฐานตั้งหมู่บ้านและมีการสร้างวัดวาอารามขึ้น ผู้คนหลายๆหมู่บ้านชุมชน ต่างก็ได้ไปอาราธณานิมนต์พระพุทธรูปเก่าแก่ศิลปะเชียงแสนที่ถูกทิ้งร้างตามโบราณสถานในเขตเวียงเก่าที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างเบาบาง[3] เป็นไว้เพื่อการบูชากราบไหว้ในพระวิหารเพื่อเป็น ศาสนวัตถุประจำชุมชน ประกอบกับพื้นที่ของเวียงเก่าเชียงแสนที่ตั้งอยู่ติดลำน้ำโขงในทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมาตั้งแต่ยุคสมัยโบราณนั้น มีลักษณะเป็นเมืองท่าการค้าโดยอาศัยแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางการขนส่งและการเดินทางที่สำคัญ ทว่านับตั้งแต่มีการกำหนดเส้นเขตแดนโดยใช้ร่องน้ำลึกแม่น้ำโขงก็ได้ก่อความยุ่งยากในการเดินทางค้าขายเพราะต้องผ่านเขตแดนของหลายรัฐสมัยใหม่ ประกอบกับเงื่อนไขทางภูมิประเทศของเวียงเก่าเชียงแสนเป็นดินที่มีลักษณะ “ดินสีแดง” ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุเพื่อการเพาะปลูก พื้นที่ดังกล่าวนี้จึงค่อนข้างดูจะไม่เหมาะที่จะทำเกษตรกรรมมากเท่าใดนัก ขณะเดียวกันสภาพภูมิลักษณ์ริมฝั่งแม่น้ำโขงมีลักษณะยกตัวจึงทำให้ตะกอนที่พาดพามากับลำน้ำโขงที่สร้างพื้นที่เพราะปลูกทำเกษตรกรรมได้น้อย (ยกเว้นริมตลิ่งปากแม่น้ำที่ผู้คนตั้งชุมชนและเขตโบราณสถานตั้งอยู่หนาแน่นอย่างเห็นได้ชัดเช่นบริเวณ สบรวก สบคำ หรือสบกก)

    สันเขาดอยนางนอน

    นอกจากนี้ การสืบค้นข้อมูลประวัติหมู่บ้านของผู้เขียนยังทำให้ได้ข้อสรุปที่ให้รายละเอียดตรงกันว่าบรรพบุรุษของตนอพยพโยกย้ายมาจากเมืองลำพูนในยุคแรกๆ ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนแถบนี้ที่มีผู้พูดโจทก์ขานกันว่า“….เมล็ดข้าวเม็ดโตใหญ่ ต้นข้าวโตใหญ่เท่ากอตะไคร้….” อะไรทำนองนี้ผู้คนกลุ่มแรกที่เขามาจับจองถือครองสิทธิ์ในดินแดนที่ราบลุ่มเชียงแสนจึงเป็นกลุ่มคน “บ่กี่เช่นคน” หรือ “ไม่น่าจะเกิน2-3เจนเนอเรชั่น” ที่เป็นลูก หลานหรือเหลนของ “ชาวยอง” หรือคนไทลื้อซึ่งแต่เดิมได้ถูกกวาดต้อนเทครัวจากเมืองยองโดยพญากาวิละให้ลงไปตั้งถิ่นฐานพำนักอาศัยในฐานะพลเมืองของเมืองลำพูนใน “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่ต่างก็ได้ตัดสินใจหนีภัยแล้งและภาวะ “บ้านกั้นเมืองอยาก” เดินทางย้อนกลับขึ้นเหนือเพื่อหมายใจว่าจะเดินทางกลับคืนสู่เมืองยอง ทว่าพวกเขาก็เลือกที่จะลงหลักปักฐานเพื่อทำกิน ณ ถิ่นอาศัยอย่างแน่นหนาค่อนไปทางพื้นที่แม่จันและแม่สายมากกว่า ผู้คนเหล่านี้เรียนตัวเองในฐานะ “จาวเจียงแสน” หรือ เชียงแสนหลวง โดยว่ากันว่าหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่เชียงแสนหลวงในหลายๆทีมาการอพยพย้ายของผู้คนยุคก่อน 2400 ก็มีปรากฏรวมทั้งพอที่จะแยกแยะได้ในระดับพื้นที่ๆว่า “บ้านไหนเป็นบ้านคนยอง” “ป๊อกบ้านไหนเป็นหมู่คนยอง” (บ้านไหนบ้านยองจะมีเสาใจ๋บ้าน)การแยกย้ายกันอยู่รวมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์แม้จะอยู่ในพื้นที่ชุมชนเดียวกัน หัววัดเดียวแต่ก็อาจต่างกันในรายละเอียดของ “ป๊อกบ้าน” ที่อาจยิบย่อยลึกลงไปมากกว่า บ้านเหนือ บ้านใต้ แต่อาจเป็นป็อก “หล่ายเหมือง” “บ้านปง” กล่าวคือ หน่วยการรวมกลุ่มจากระดับครอบครัวก็ไม่ถูกจัดให้เป็นชุมชนได้เสียเลยทีเดียว

    จากคร่าวเชียงแสนแตกสู่คราวเชียงแสนแตก “แตกแล้ว-แตกอยู่-แตกต่อ” จังหวะการก้าวต่อไปของประวัติศาสตร์ ศิลปะและคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ “โหล่งเชียงแสน”

    ประเด็นทางประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม ตลอดจนความเปลี่ยนของผู้คนในพื้นที่ “โหล่งเชียงแสน” ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปอย่างยืดยาวทั้งหมดนั้นอาจดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่มีความสนใจเฉพาะกลุ่มฮาร์ดคอร์ด้านประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมเท่านั้นทว่าเข้าประเด็นที่นำเสนอมานี้กลับอยู่ในสายตาของศิลปินหรือนักปฏิบัติการทางศิลปะรุ่นใหม่ซึ่งมีชีวิตที่เติบโตตลอดจนมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในพื้นที่โหล่งเชียงแสน พวกเขาเฝ้ามองปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงการสร้างชุดข้อมูลสาธารณะอันจะนำไปสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างการรู้จักถิ่นที่ (Place Literacy) ให้เกิดขึ้นกับผู้คนรอบด้าน         

    ภาพวาด : พงศธร นาใจ

    ทั้งนี้ กลุ่มปฏิบัติการศิลปะฮอมจ๊อยซ์ (Home Joint Art Group) เป็นการรวมกลุ่มของเหล่าบรรดาศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งหวังใช้ปฏิบัติการด้านศิลปะมาเป็นเครื่องมือสำหรับการทำงานทางความคิดเพื่อบ่มเพาะสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ (Sense of Belonging) และสำนึกที่มีต่อถิ่นที่ (Sense of Place) ให้เกิดการผลิดอกออกผลต่อผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายท่ามกลางบริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นพลวัต ทั้งยังมุ่งหวังว่าพลังในการสร้างสรรค์และเพิ่มพูนจินตนาการที่ดีงามต่อสังคมที่มีความเท่าเทียมและความเป็นธรรมนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านพื้นที่ทางศิลปะ ซึ่งที่ผ่านมา “Home Joint Art Space” ได้ทำหน้าที่เป็นชุมทางและชานชลาของเหล่าบรรดาศิลปินและผู้ให้ความสนใจในงานศิลปะร่วมสร้างปฏิบัติการเก็บข้อมูลบนฐานชุมชน ตลอดจนนำพาผู้ปฏิบัติการด้านศิลปะร่วมสัมผัสและเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมในมิติต่างๆของจังหวัดเชียงรายผ่านประเด็นความเชื่อท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่แอ่งเชียงแสนและกิจกรรมฮอมจ๊อยซ์ไกด์เถื่อนพาทัวร์ไทยแลนด์เบียนนาเล่ผ่านการสำรวจเส้นทางประวัติศาสตร์ รวมถึง การจัดให้เมื่อกิจกรรมเชิงปฏิบัติการให้เกิดขึ้นในพื้นที่ Home Joint ณ งานเสวนาเปิดตัวพื้นที่ Home Joint Art Space และนิทรรศการศิลปะในชื่อที่เรียกว่า “คราวเชียงแสนแตก” อันเป็นนามที่ยั่วล้อจากวรรณกรรมบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นไว้ในรูปแบบของร้อยกรองของล้านนาซึ่งกล่าวการบุกรุกโจมตีเมืองเชียงแสนของกองทัพล้านนาและกองทัพสยามพร้อมทั้งได้มีการการขับไล่อำนาจของพม่าให้หมดไปจากดินแดนล้านนา ซึ่งนำไปสู่การอพยพผู้คนในเมืองเชียงแสนให้ไปอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกัน มิให้พม่ากลับมาใช้เมืองเชียงแสนเป็นฐานที่มั่นของกองทัพได้อีกอีกทั้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกทั้งฝ่ายทหารผู้เดินทัพไปโจมตี และเชลยศึกผู้จำต้องละทิ้งบ้านเรืองด้วยความจำยอมเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเชียงแสนจึงถูกทิ้งร้างจากนั้นมาซึ่งเป็นผลงานการปริวรรตและเรียบเรียงโดย อาจารย์ธวัชชัย ทำทอง แห่งคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นิทรรศการดังกล่าวถูกจัดให้มีขึ้น ณ พื้นที่ Home Joint Art Space ใกล้กับวัดป่าห้า หมู่ 6 ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายเมื่อช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาโดยในนิทรรศการ “คราวเชียงแสนแตก” นี้ ก็ได้มีการมีเวทีเสวนาที่ชวนผู้เฒ่าผู้แก่ พี่ป้าน้าอาในหมู่บ้านป่าห้ามาพูดคุยถึงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของตัวเองโดยมี ดร. วราภรณ์ เรืองศรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ มช. มาช่วยขยายความหลักฐานทางประวัติศาตร์ของชุมชนและเมืองเชียงแสนด้วยซึ่งปฏิบัติการศิลปะของกลุ่มฮอมจ๊อยซ์เกิดขึ้นมาจากแรงบัลดาลใจจากเอกสารท้องถิ่นล้านนาเพื่อเล่าเรื่องและนำเสนอประเด็นทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์บาดแผลที่สามารถเชื่อมโยงมาสู่การทำความเข้าใจสังคมการเมืองไทยและความเป็นไปของสังคมไทยในบริบทสังคมโลกาภิวัฒน์ได้

    พงศธร นาใจ

    ด้วยเหตุนี้ พงศธร นาใจ ในฐานะผู้จัดแสดงนิทรรศการด้านศิลปะดังกล่าวมีความมุ่งหวังอยากให้เอกสารชุดนี้เป็นที่รู้จักกับคนในพื้นที่ “โหล่งเชียงแสน” ในฐานะประวัติศาสตร์ที่สะท้อนเรื่องราวของชุมชนและผู้คนในท้องถิ่นซึ่งจริงๆกลับถูกผลักให้ห่างไกลจากตัวออกไป นับนานวันยิ่งมากขึ้นไปทุกที ผลพวงของการผลักเรื่องราวและรากเหง้าของผู้คนในชุมชน “โหล่งเชียงแสน” จึงทำให้เกิดการหลุดลอยของบางสิ่งที่เรามองเห็นและไม่เห็นจำนวนแค่ไหนเราไม่อาจทราบ ดั่งเมืองเชียงแสนที่แตกสลายไม่ใช่แค่ในปี 2347 แต่ยังแตกสลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยถูกบดขยี้ด้วยระบบทุนนิยมต่อพื้นที่แห่งนี้ในมิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง นิทรรศการด้านศิลปะนี้จึงมีความมุ่งหมายให้เกิดการบอกเล่าถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองการตีความของบุคคลที่ได้รับสารจากประวัติศาสตร์บาดแผลในพื้นที่ “เชียงแสน” และส่งต่อให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงความเป็นมาในพื้นที่อันถือได้ว่าเป็นการทำงานทางความคิดเพื่อบ่มเพาะสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ (Sense of Belonging) และสำนึกที่มีต่อถิ่นที่ (Sense of Place) โดยนิทรรศการศิลปะครั้งนี้เป็นการแสดงภาพวาดและการสนทนาเพื่อสร้างการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนสามรุ่น ได้แก่ “ผี” ในฐานะประวัติศาสตร์แห่งอดีตที่ถูกเล่าขานผ่านประวัติศาสตร์นิพนธ์ของพื้นที่ “โหล่งเชียงแสน” จากมุมมองของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หรือผู้ศึกษาประวัติศาสตร์รวมทั้ง “ผู้สูงอายุ” ในฐานะประวัติศาสตร์มีชีวิตที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ “โหล่งเชียงแสน”โดยรอบตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อส่งผลสิ่งดังกล่าวที่สั่งสมมาจากคนสองรุ่นไปยัง “ศิลปิน/เด็กรุ่นใหม่” ในฐานะคนทำงานด้านศิลปะที่เติบใหญ่มาในพื้นที่

    ด้วยเหตุนี้ การทบทวน เรื่องราวประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐาน การตั้งรกราก และการทำให้เมืองเชียงแสนแตกตามร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งจากรัฐส่วนกลางและท้องถิ่น ส่งผลกับความทรงจำของคนในชุมชน รวมทั้งส่งผลถึง “นิว พงศธร นาใจ” ศิลปินกลุ่มฮอมจ้อยซ์ และในนามลูกหลานชุมชนป่าห้า อ.แม่จัน ในเวลานี้เขามองความหมายของคำว่า ‘เมืองแตก’ ที่แตกต่างออกไปจากอดีต ที่ไม่ได้แปลว่าการแตกหรือการล่มสลายของเมืองเพียงเชิงกายภาพ แต่เวลานี้ในมุมมองของ “พงศธร”หมายรวมไปถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อม การรุกคืบของระบบเศรษฐกิจทุนใหญ่ สภาพการเมืองเศรษฐกิจที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน ผ่านการทำงานศิลปะการ drawing และการออกแบบ character เพื่อเล่าเรื่องราวเชียงแสนแตกครั้งนี้อีกด้วย

    [1] แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีขนานความยาวกว่า 4,909 กิโลเมตร ไหลผ่านประเทศจีน เมียนมาร์ ลาว ไทยและกัมพูชา โดยได้แยกเป็นแม่น้ำสาขาน้อยใหญ่แล้วไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ในเขตเวียดนามซึ่งในทางภูมิศาสตร์เรียกดินแดนแถบนี้ว่าเป็น “ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง” ตอนต้นของแม่น้ำโขงหรือลุ่มน้ำโขงตอนบนอยู่ในประเทศจีนมีชื่อเรียกว่าแม่น้ำหลานชางแล้วไหลผ่านลงมายังเขตมณฑลยูนนาน ตลอดจนเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างเมียนมาร์กับ สปป.ลาว ตอนกลางของแม่น้ำโขงคือ โดยแม่น้ำโขงช่วงที่ 1 เริ่มตั้งแต่แม่น้ำ ซึ่งต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงมาจากการละลายของหิมะบนที่ราบสูงทิเบตเป็นส่วนใหญ่ แล้วไหลผ่านมณฑลยูนนานซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางแผนสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวนมากและอาจส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำไปยังตอนล่างของแม่น้ำโขงเริ่มต้นจากสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสนไปจนถึงเวียงจันทน์และหนองคายเรื่อยลงไปยังปากเซ และตอนปลายของแม่น้ำโขงคือ จากปากเซไปถึงกระแจะ ทะเลสาบโตนเลสาบในประเทศกัมพูชา เรื่อยลงไปถึงกรุงพนมเปญไหลลงสู่ทะเลจีนใต้

    [2] คร่าวเชียงแสนแตก” ต้นฉบับคัมภีร์ใบลานวัดม่วงตื้ด ด. ม่วงตื้ด อ. เมือง จ.น่าน เป็นเอกสารที่แต่งโดยทหารจากกองทัพเมืองน่านที่ร่วมรบในสงครามดีเมืองเชียงแสนโดยเป็นผู้อยู่ ในเหตุการณ์เมืองเชียงแสนแตกในปีจุลศักราช 1166 (พ.ศ. 2347)

    [3] ภายหลังปี พ.ศ. 2436 ผลของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้มีการกำหนดว่าสยามจะต้องไม่ก่อสร้างด่านหรือค่ายต่าง ๆ ภายในระยะ25กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ทำให้ให้รัฐบาลสยามได้ย้ายที่ทำการปกครองจากในเมืองเชียงแสนบริเวณบ้านแม่คี แขวงเมืองเชียงแสน (ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่จัน) สภาพการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความยุ่งยากทั้งในด้านการเดินทางค้าขาย การพำนักอาศัยของผู้คนในพื้นที่จึงมีอยู่ค่อนข้างเบาบางอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนแน่นอนในอำนาจของรัฐบาลสยาม เวียงเก่าเชียงแสนซึ่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณชายแดนจึงมีความซบเซาและมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างเบาบางในยุคสมัยนั้น

    Related

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...