แม้ลมหนาวจะผ่านมาแล้วผ่านไป แต่สิทธิมนุษยชนจะยังอยู่

เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ Lanner

วงเสวนา ‘การต่อสู้ ความท้าทาย และความหวัง การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในภาคเหนือ สู่บทเรียนเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม’ พร้อมกับวิทยากรผู้ขับเคลื่อนในหลากหลายประเด็น ดำเนินวงคุยโดย รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Performance art traditional dance non-form with sound experimental ในชื่อ Bullet Have No Eyes จากลานยิ้มการละคร ที่บอกเล่าถึงผู้มีอำนาจพยายามปิดตา ละเมิดสิทธิความเป็น ‘มนุษย์’

3 ธันวาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) จัดกิจกรรม Amnesty Regional MeetUP ที่จะกลับมาชวนคุย ชวนตั้งคำถาม และถอดบทเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรอบปี ณ mama cafe&studio จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 16.30 – 19.30 น. 

ก่อนเริ่มวงพูดคุยเสวนา เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  (Amnesty International Thailand) ได้กล่าวถึงภาพรวม สถานการณ์ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมทั่วประเทศที่ผ่านมาว่า รัฐไทยได้ริดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน อ้างภัยความมั่นคง รวมถึงมีเรียกร้องสิทธิการประกันตัวกับนักโทษการเมือง

ในช่วงปี 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) และไอลอว์ (iLaw) ได้ก่อตั้ง Mob Data Thailand จากการเก็บข้อมูลปรากฎว่าประเทศไทยมีการชุมนุม ไม่ต่ำกว่า 3,000 ครั้ง เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ในการสลายการชุมนุม ได้แก่ กระสุนยาง 29 ครั้ง รถฉีดน้ำ 18 ครั้ง ผสมแก๊สน้ำตา 5 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม 64 ครั้ง รวมถึงผู้บาดเจ็บที่เสียดวงตาอย่างน้อย 3 ราย ซึ่งจำนวนครั้งในการชุมนุมที่สูงเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า รัฐไทยนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหา แต่กลับตอบสนองด้วยการใช้กำลังกับประชาชน 

เสรีภาพชาติพันธุ์ที่ถูกจำกัดสิทธิ์

“เราไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิต โดยที่เราเป็นคนกำหนดเองได้”

ลิขิต พิมานพนา จาก Free Indigenous People (FIP) ชาติพันธุ์ปลดแอก กล่าวถึง ปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ อุปสรรคในการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐตอบสนองการแก้ไขปัญหาภายใต้นโยบายรัฐ โดยมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ กฎหมาย นับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ช่วงปราบคอมมิวนิสต์ รัฐไทยประกาศใช้กฎหมาย เพื่อขยายอำนาจจัดการ รวมถึงพี่น้องชาติพันธุ์ เช่น กฎหมายป่าไม้ ทำให้ชาวบ้าน ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่ดินทำกิน เรื่องขออนุญาตกรมป่าไม้ ในการใช้ไฟฟ้า เราไม่สามารถที่จะกําหนดทิศทางของตัวเองได้ ซึ่งมันนําไปสู่เรื่องความไม่มั่นคงในชีวิต จึงต้องออกมาเคลื่อนไหว

ประเด็นที่สอง  การคุกคามของระบบทุนนิยม ผ่านเครือข่ายของชนชั้นนำ โดยนายหน้าเป็นรัฐ อย่างนโยบายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) พื้นที่ที่พี่น้องอยู่นั้น เป็นพื้นที่เปราะบาง รัฐจึงมีการยึดเวนคืนที่ดิน ไล่ชาวบ้านไปยังพื้นที่ป่า อีกรูปแบบหนึ่งคือ การเข้าร่วมโครงการของนโยบายต่าง ๆ “คุณเข้าร่วมกันกับเราไหม เรามีเงื่อนไขว่าคุณต้องปลูกป่ากี่เปอร์เซ็นต์ ๆ” ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ไม่ใช่ชาวบ้าน แต่เป็นทุนกับรัฐ และสิ่งเหล่านี้อนุญาตให้ทุน สามารถที่จะปล่อยคาร์บอนต่าง ๆ ได้เยอะขึ้นอีก

สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการการแสดงออกสิทธิเสรีภาพของเรา เหตุเพราะเราเป็นชาติพันธุ์ ซึ่งก็มีองค์กรที่จับตาดูพิเศษ อย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน) ที่ได้เข้ามาคุกคาม สอดส่อง ควบคุม คนที่ออกมาแสดงออก กลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองว่าเป็นภัยของรัฐ และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจ นั่นคือ ประเด็นสัญชาติ ซึ่งประเด็นอ่อนไหวต่อพี่น้องชาติพันธุ์ 

การถูกคุกคามที่เป็นรูปธรรมในการออกมาเคลื่อนไหว ที่เห็นได้ชัดเจนมีอยู่ด้วยกัน 2 อย่าง อย่างแรกคือ พวกเราได้พูดคุยปัญหาเชิงโครงสร้าง ทางตำรวจได้ขึ้นไปยังหมู่บ้าน และพูดคุยกับพ่อแม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์  พ่อแม่ตัวสั่นไม่กล้าขยับสักนิด อีกทางคือ การสู้รบกันที่ชายแดน แถวแม่น้ำสาละวิน มีการสู้รบเกิดขึ้น พวกเขาต้องการที่จะสื่อสารไปยังรัฐไทยให้ปกป้องอาณาเขต แต่ทหารบางกลุ่มกลับไม่ส่งข่าว ไม่นำเสนอเรื่องที่เกิดขึ้น อย่างที่สองคือ เรื่องโครงสร้างทางอํานาจและโครงสร้างทางการเมือง อยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ได้กระจัดกระจายไปสู่พื้นที่ ดังนั้นผู้มีอิทธิพลทางพรรคการเมือง หรือว่าผู้อุปถัมภ์ จะใช้ช่องทางนี้ในการไปต่อรองกับชาวบ้านเพื่อที่จะตัดขบวนการเคลื่อนไหว

เสรีภาพระหว่างคนกับป่า

ด้าน สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพูดคุยประเด็นปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ภาคเหนือ และข้อเรียกร้องหรือความหวังที่อยากเห็นจากนโยบายรัฐในประเด็นทรัพยากร โดยกล่าวว่า ปัญหาหลักของพื้นที่ภาคเหนือ คือปัญหาความมั่นคงในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีวิถีชีวิตดำรงอยู่คู่กับป่า กล่าวถึงพี่น้องชาวกะเหรี่ยง หลายชุมชนยังอยู่ในพื้นที่ป่า และใช้ทรัพยากรโดยตรง และยังคงอยู่บนฐานของกฎหมายและนโยบายที่ไม่เคยรับรองสิทธิของพวกเขา หากย้อนกลับไปมองนโยบายของรัฐที่ดึงเอาอำนาจส่วนกลางในการตัดสินใจทุกเรื่อง

“กีดกันคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างอํานาจรัฐ”

สงกรานต์กล่าวย้ำ รวมถึงการตรากฎหมายขึ้นเพื่อที่จะจํากัดอํานาจของชุมชน ในการใช้ทรัพยากรของพวกเขานี้ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในแต่ละช่วง หรือความเปลี่ยนแปลงจะอยู่ที่ความเปิดกว้างของการเมืองในขณะนั้น แต่ตัวกฎหมายนโยบายเรื่องการจัดการป่าไม้นั้นยังอยู่ที่เดิม

ถ้ากรณีการเมืองเปิด กฎหมายก็ยังปิดกั้นเหมือนเดิม แต่ยังมีช่องทาง พื้นที่ หรือเครื่องมือต่อรองกับภาครัฐ หลังรัฐบาลปี พ.ศ.2557 กฎหมายป่าไม้ยังเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปคือนโยบายของรัฐ ที่จะอธิบายสังคมว่าต้องการให้พื้นที่สีเขียว โดยออกนโยบายทวงคืนพื้นป่า ซึ่งช่วงนั้นการเมืองเป็นระบอบปิด เครื่องมือในการต่อรองไม่มี เจ้าหน้าที่มีบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีนโยบายที่คุ้มครองให้สิทธิการเข้าถึงที่ดิน และความมั่นคงได้ ภาคประชาสังคมเจออุปสรรคสำคัญคือ กฎหมาย รับรองสิทธิและทำให้สิทธิเป็นจริงในเชิงกฎหมาย 

Sapphic Pride ความต้องการเสรีภาพเรื่องเพศ

ณัฐมน สะเภาคำ นักวิจัยอิสระสายสตรีนิยมและผู้ก่อตั้งกลุ่ม Sapphic Pride (Feminist LBQ+ advocacy) พูดถึงปัญหาของประเด็นความหลากหลายทางเพศในพื้นที่ และความหวังที่อยากเห็น การปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิง ความเท่าเทียม โดยการก่อตั้งกลุ่ม Sapphic Pride (Feminist LBQ+ advocacy) นั้น เกิดมาจากสิ่งที่เราไม่เชื่อคนรุ่นก่อน ในช่วงที่ระบบโซตัส (SOTUS) เริ่มตาย เรามีการตั้งคำถามของกฎมหาวิทยาลัยในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไป การใช้กฎของสถานศึกษา ที่ยึดโยงเกี่ยวกับเรื่องเพศค่อนข้างมาก อย่างงานรับปริญญา พวกเขาพยายามที่จะแบ่งว่าชายหญิงต้องปฏิบัติตัวยังไง ส่วนเพศหลากหลายต้องยื่นคำร้องเป็นกรณี ๆ ไป 

ดังนั้นจึงมีการรวมคนที่ประเด็นที่สนใจเรื่องเพศ หรือผู้ที่เคยเจอเรื่องที่เหมือนกัน ๆ มา รวมถึงประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual harassment) ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลในการเกิดเป็นกลุ่มการเมืองอัตลักษณ์ขึ้นมา แต่ก็ยังขาดการจัดการให้กลุ่มเคลื่อนไหว หรือการสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามจุดแข็งของกลุ่มคือ การรวมตัวคนที่สนใจประเด็นที่หลากหลายที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิชาการ คงจะดีหากส่องแสงไปยังกลุ่มคนเหล่านี้ ให้มาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมมากขึ้น” 

 “เสรีภาพ” อันหมายถึงความหวังหรือหมดหวัง

“สิ่งที่ผมหวังคือ สิทธิชาติพันธุ์มีความเท่าเทียมกับคนทั่วไปในรัฐธรรมนูญ คืนศักดิ์ศรีความเป็นชาติพันธุ์ รื้อประวัติ ให้รัฐออกมาขอโทษ”

ความหวังหรือปัญหาที่ต้องถูกแก้ไขภายใต้นโยบายรัฐ หรือกลไกอื่น ๆ ของกลุ่มพี่น้องชาติพันธ์ุ ลิขิต พิมานพนา กล่าวว่า แท้จริงแล้วการตอบคำถามเรื่องรัฐบาลชุดนี้ “เป็นรัฐบาลเปิดไหม?” ถ้าในเรื่องการเคลื่อนไหว ส่วนตัวคิดว่ายังไม่เปิด เหตุเพราะเรายังไม่ได้คุยกับรัฐบาลจริง ๆ ในเรื่องของสายทรัพยากร แต่คิดว่ายังน่าห่วง ในรัฐบาลที่ยังเป็นทุน ส่วนความหวังของชาติพันธุ์ ลิขิต จะยังคงผลักดัน พระราชบัญญัติ (พรบ.) ชาติพันธุ์ รวมถึงเรื่องการกระจายอำนาจ เพื่อนำไปสู่การถกเถียงและเห็นขบวนการต่อสู้ของชาติพันธุ์ และหาแนวทางแก้ไขเพื่อนำไปสู่การเป็นพลเมืองร่วมกัน

ด้าน สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ พูดถึงข้อเรียกร้องหรือความหวังที่อยากเห็นจากนโยบายรัฐ ในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ งานวิจัย และการออกกฎหมายหลังรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 เป็นปัจจัยที่ทําให้กระบวนการภาคประชาชนสามารถใช้กลไกทางกฎหมายผลักดันประเด็นของตัวเองคืบหน้า และนําไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงปัญหาในหลายเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้มีการรับรองสิทธิเรื่องทรัพยากร หรือมีกลไกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยกตัวอย่างกรณี ชาวบ้านที่จังหวัดกาญจนบุรี ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองตะกั่ว จึงมีการต่อสู้ ทั้งการเคลื่อนไหวชุมนุม ประท้วง และร้องเรียน รวมถึงฟ้องคดีปกครอง คำพิพากษาจ่าย 60 ล้าน แต่ชาวบ้านได้เงินจริงเพียง 30 ล้าน เป็นต้น ถ้าเรามองความเคลื่อนไหวระหว่างการรับรองสิทธิและการเคลื่อนไหวทรัพยากร มันหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ถึงแม้จะมีกฎหมายการรับรองสิทธิ และบังคับใช้ให้กว้างขึ้น หรือถ้าเรามุ่งไปที่การผลักดันกฎหมาย แต่สังคมยังไม่รับรู้ การเปลี่ยนแปลง หรือการยอมรับจากรัฐอาจจะยังไม่เกิดขึ้น

ณัฐมน สะเภาคำ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Sapphic Pride กล่าวถึงความหวังที่อยากเห็น การปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิง โดยส่วนตัวณัฐมนเชื่อในทรัพยากรคน และศรัทธามากกว่าว่าเพื่อนมนุษย์คนที่ร่วมขบวนการ หรือว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่เชียงใหม่ จึงอยากการเชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่ทำงานในประเด็นของตัวเองอยู่แล้ว แม้เราจะสื่อสารหรือทำกิจกรรมในประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ

ความหวังเรื่องความหลากหลายทางเพศ ณัฐมนอยากเห็นคนทั่วไปหันมาสนใจเลือกสิทธิทางเพศหรือว่าประเด็นทางเพศมากขึ้น รวมถึงการสร้างมาตราฐาน ค่านิยมใหม่ ในเวลาที่พวกเราพูดเรื่องเพศ โปรดอย่ามองว่า “เรื่องแค่นี้เอง เรียกร้องเรื่องไร้สาระ” เราอยากทลายกำแพงของเพศ ที่มันแบบกักขังเราไว้ว่าทําไม ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองไม่ได้ แต่ปัจจุบันแม้จะไม่ใช่การเมือง เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังมาติดตามคุกคามเรา เพียงเพราะเคลื่อนไหวเรื่องเพศ ทำให้รู้สึกถึงความปลอดภัย พร้อมความสงสัยว่า ประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด ในการที่ทางรัฐจะอนุญาตให้เรามีเสรีภาพอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สมรสเท่าเทียม คำหน้าหน้า 

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ปิดท้ายว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาได้เห็นนักเคลื่อนไหวสัมภาษณ์ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ถ้ารัฐยอมเรื่องนึง ก็จะทําให้เรามั่นใจในการจะเคลื่อนไหวเรื่องต่อไป พูดง่าย ๆ คือ รัฐบาลเผด็จการ ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจเลยที่เราจะเรียกร้องสิทธิของเรา แม้กระทั่งเรื่องที่เราคิดว่ามันน่าจะง่ายที่สุด กระทบกับเขาน้อยที่สุด อย่างเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ แต่อํานาจ วิธีของรัฐคือ “ทําไงก็ได้พวกมึงจะไม่ได้อะไรเลยสักอย่างเดียวจากการเรียกร้อง”

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง