จากยกทรงสร้างชาติถึงอกหักเรื่องเล็ก อกเล็กเรื่องใหญ่ : มาตรฐานความงามของผู้หญิงที่ผันแปรในสังคมไทย

เรื่อง: ญาณี กลิ่นเมือง

เนื่องในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญสำหรับผู้หญิงวันหนึ่งอย่างวันสตรีสากล เราพามาทำความรู้จักความงามผู้หญิงแบบไทยๆ ผ่านเครื่องแต่งกายที่ผู้หญิง “ต้องมี” คือยกทรงหรือที่เรียกว่าชุดชั้นในในปัจจุบันว่าเริ่มเข้ามาในไทยเมื่อใหร่ และจากอดีตถึงปัจจุบันความงามเกี่ยวกับหน้าอกของผู้หญิงนั้นแปรเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

ยกทรงชิ้นแรกที่ผลิตในประเทศไทยและผู้หญิงไทยเริ่มรู้จักการใช้ยกทรงเกิดขึ้นมาช่วงปี 2483 โดย ‘วีรี ภัทรนาวิก’ เป็นผู้ผลิตยกทรงคนแรกของไทยและแนะนำให้สตรีไทยรู้จักใช้ยกทรงจนแพร่หลาย พร้อมกับเปิดการเรียนการสอนตัดเสื้อที่ถนนสีลม นครหลวง ชื่อว่า “โรงเรียนสอนตัดเสื้อวีรี” ซึ่งเป็นสถาบันที่มีตำราการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการในเมืองไทย โดยเธอเองเป็นผู้อำนวยการสอนวิชาแผนกยกทรงด้วย  ทั้งนี้โรงเรียนสอนตัดเสื้อและยกทรงดังกล่าวยังเปิดทำการจนถึง พ.ศ. 2517 

ภาพแบบเสื้อยกทรงในโรงเรียนสอนตัดเสื้อวีรี พ.ศ. 2517 (ภาพจาก: กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 83 (458) ประจำปักษ์แรกเดือนกรกฎาคม 2517, น.114)
ภาพตำราตัดเย็บเสื้อยกทรงโรงเรียนวีรี พ.ศ. 2517 (ภาพจาก: กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 83 (458) ประจำปักษ์แรกเดือนกรกฎาคม 2517, น.114)

ในปีเดียวกันนั้น มีการจัดการประกวดเครื่องแต่งกายสตรีที่สโมสรสีลม โดยหนึ่งในการประกวดเครื่องแต่งกายของงานนี้มีการประกวดเครื่องแต่งกายชั้นในด้วย หรือที่เรียกว่า “แลงเชอรี่” และมีการประกวดเครื่องแต่งกายชายหาดที่เรียกว่า “บีช ไพยามา” โดยผู้ที่เข้าร่วมการประกวดจะได้รับเครื่องแต่งกายจากห้างร้านตัดเสื้อช่อดังในสมัยนั้น เช่น ร้านจงจิตต์ สุขเกษม  ร้านเฟมินา แสงทอง ร้านรรทราภรณ์ เมโล ร้านเกยูรี สุปาณี เป็นต้น โดยมีคณะประธานกรรมการคือ “คุณหญิงรามราฆพ” (ประจวบ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เป็นกรรมการตัดสิน (ประชาชาติ ฉบับพิเศษ ปีที่ 3 ฉบับที่ 618 วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2477, น.2-3)

การผลิตยกทรงในช่วงเวลาก่อนปี 2483 ที่วีรีจะสามารถเรียนและผลิตยกทรงให้กับสตรีไทยได้นั้น พบว่า สังคมไทยก่อนการผลิตยกทรงในเมืองไทยนั้น นิยมใส่ยกทรงจากต่างประเทศ เห็นได้จากโฆษณาชุดชั้นในหรือเสื้อยกทรงในปี 2477 

การประกวดครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการใส่ยกทรงน่าจะเริ่มแพร่หลายอย่างมากถึงขนาดที่ว่ามีการจัดการประกวดชุดชั้นใน โดยที่มีร้านชื่อดังส่งเครื่องแต่งกายให้กับผู้ประกวด 

อย่างไรก็ตาม การใส่ยกทรงของผู้หญิงไทยนั้นคงเป็นที่นิยมในกลุ่มหญิงสาวที่มีฐานะ อันเห็นได้จากการจัดงานประกวดชุดชั้นใน รวมถึงปรากฏว่ามีโฆษณาสินค้ายกทรงต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีภาพโฆษณาเป็นหญิงสาวต่างประเทศ ตามภาพดังต่อไปนี้

ภาพโฆษณายกทรง พ.ศ.2478 (ภาพจาก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 4 ฉบับที่ 928 วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2478, น.19)
ภาพโฆษณาประกาศลดราคาสินค้าช่วงสิ้นปีของบริษัทบูระพาพาณิชย โดยเฉพาะเสื้อยืดชั้นในแบบผ่าครึ่งอกธรรมดา ราคา 75 สตางค์ (ภาพจาก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 4 ฉบับที่ 920 วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2478, น.16)
ภาพโฆษณาเสื้อยกทรงตัวละ 95 สตางค์ วางจำหน่ายที่ห้างไนติงเกล ถนนหลังวังบูรพา (ภาพจาก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 3 ฉบับที่ 907 วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2478, น.12)
ภาพโฆษณาขายเสื้อยกทรง Cup-form มาใหม่สำหรับสตรีราคา 95 สตางค์ วางจำหน่ายที่ห้างไนติงเกลสโตร์ (ภาพจาก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 3 ฉบับที่ 861 วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2478, น.16)
ภาพโฆษณาของร้านสายรุ้งที่มีการขายยกทรงและที่รัดสะโพก พ.ศ.2493 (ภาพจาก: สยามสมัย ปีที่ 4 ฉบับที่ 189 ประจำวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2493, น.19)
ภาพ โฆษณาเสื้อยกทรง เสริมทรง กางเกงรัดหน้าท้องและกางเกงชั้นในของ Bone ประเทศสหรัฐอเมริกา จำหน่ายโดยบริษัทจริยาจำกัด พ.ศ.2496 (ภาพจาก: สยามสมัย ปีที่ 7 ฉบับที่ 346 วันจันทร์ 28 ธันวาคม 2496, 2496, น.45)

ในทศวรรษที่ 2500 ยังพบว่าสังคมไทยมีการผลิตยกทรงด้วยการตั้งเป็นสถาบันเพื่อเย็บตัดเสื้อผ้าและยกทรง ดังพบหลักฐานในปี พ.ศ.2501 ที่พบว่ามีสถาบันเรียนตัดเสื้อดัดผมจากอาจารย์ อมรา ศุภกาญจน์ โดยมีแผนกตัดเสื้อที่ตัดยกทรง เสริมทรง และรัดสะโพก ซึ่งการเรียนตัดยกทรงจะเป็นการเรียนพิเศษอันมีค่าเล่าเรียนอย่างต่ำ 400 บาท (สตรีสาร, 2501, ไม่ปรากฏเลขหน้า)

การเกิดขึ้นของสถาบันการตัดเย็บเสื้อผ้าอาจเป็นผลมาจากทศวรรษ 2500 รัฐบาลไทยได้มีการขยายโอกาสทางด้านการศึกษาของผู้หญิงโดยเฉพาะวิชาการเย็บสมัยใหม่ที่ปรากฏว่าได้มีการบรรจุลงในหลักสูตรขั้นพื้นฐานและวิชาชีพนับตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา 

กอปรกับการที่ภาครัฐส่งเสริมให้มีการนำเข้าธุรกิจเครื่องจักร อันเป็นเครื่องมือในการเย็บผ้าอย่างหนึ่ง จึงทำให้เกิดสถาบันตัดเย็บเสื้อผ้าเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2500 เช่น โรงเรียนสอนตัดเย็บเสื้อผ้านุชนารถ โรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้าระพี เป็นต้น (จิตตมาศ และวัชระ, 2561, น.75) จึงทำให้ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นเป็นช่วงเวลาของการเติบโตสถาบันตัดเย็บเสื้อผ้า รวมถึงชุดชั้นในและยกทรงต่างๆ 

ภาพคุณอมรา ศุภกาญจน์และบรรดาผู้ฝึกวิชาช่างเสื้อชั้นสูง พ.ศ.2501 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 239 ต้นมิถุนายน 2501, ไม่ปรากฏเลขหน้า)

ถึงแม้ว่าจะเกิดสถาบันตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวนมากในสังคมไทย หากแต่การตัดเย็บและการผลิตยกทรงก็ยังคงปรากฏว่ามีการโฆษณาสินค้ายกทรงจากต่างประเทศนำเข้ามาในสังคมไทยด้วยเช่นกัน

ภาพโฆษณาชุดยกทรงเมดเด่นฟอร์ม ทำด้วยผ้าขาวถักลูกไม้ พ.ศ.2501 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 239 ต้นมิถุนายน 2501, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ภาพโฆษณาชุดยกทรงของเมเด็นฟอร์มจากประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2504 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 308 ต้นพฤษภาคม 2504, น.90)
โฆษณายกทรงของลัพวาเบิล ห้างเซ็นทรัล วังบูรพา พ.ศ.2506 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 15 ฉบับที่ 348 ต้นมกราคม 2506, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ภาพโฆษณายกทรงขนาดเต็มตัวของเมเด็นฟอร์มจากประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2506 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 216 ฉบับที่ 366 ต้นกรกฎาคม 2506, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ภาพโฆษณาเสื้อเสริมทรงบาลี-โลที่มีพรีเซนเตอร์เป็นผู้หญิงต่างประเทศ พ.ศ.2511 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 20 ฉบับพิเศษ 18 กุมภาพันธ์ 2511)
ภาพโฆษณายกทรงดาร์ลิ่งก์ พ.ศ.2513 (ภาพจาก: สตรีสสาร ปีที่ 22 ฉบับพิเศษ 1 กุมภาพันธ์ 2513)
ภาพชุดชั้นในวาโก้ 7 แบบ พ.ศ.2517 (ภาพจาก: กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 8 (458) ประจำปักษ์แรกกรกฎาคม 2517)
ภาพชุดชั้นในวาโก้ พ.ศ.2517 (ภาพจาก: กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 71 (332) ประจำปักษ์แรกมกราคม 2517)
ภาพชุดชั้นในวาโก้รุ่นซิดี้ โรแมนซ์ ลายลูกไม้ พ.ศ. 2526 (ภาพจาก: แพรวรายปักษ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 81 10 มกราคม 2526)
ภาพโฆษณาบิกินีผ้าซาติน พ.ศ.2529 (ภาพจาก: แพรวรายปักษ์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 174 25 พฤศจิกายน 2529)
ภาพโฆษณาชุดชั้นในเกิลแอนเกิล พ.ศ. 2530 (ภาพจาก: แพรวรายปักษ์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 185 10 พฤษภาคม 2530)
ภาพโฆษณาชุดชั้นในเมมโมรี บรา พ.ศ.2536 (ภาพจาก: พลอยแกมเพชร ปีที่ 1 ฉบับที่ 24 31 มกราคม 2536)
ภาพโฆษณาซิลิโคนเสริมหน้าอกแบรนด์อินทรีก พ.ศ.2537 (ภาพจาก: พลอยแกมเพชร ปีที่ 3 ฉบับที่ 60 31 กรกฎาคม 2537)
ภาพโฆษณาชุดชั้นใน พ.ศ.2538 (ภาพจาก: พลอยแกมเพชร ปีที่ 4 ฉบับที่ 85 15 สิงหาคม 2538)
ภาพโฆษณาชุดชั้นในเอลเฟ่ นิวฟิต บราลูกไม้เต็มตัว ซ่อนโครง สวยเนียนเรียบ เสริมการเก็บรูปทรงและสัดส่วน (ภาพจาก: ดิฉัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 567 15 กันยายน 2543, ไม่ปรากฏเลขหน้า)

จากภาพโฆษณาชุดชั้นในหรือยกทรงแบรนด์ต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วพบว่ามีการโฆษณาด้วยการใช้ข้อความว่า “เพื่อสร้างทรวดทรง” “ช่วยให้การเสริมทรงได้ผล” อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องของหน้าอกหรือทรงหน้าอกเป็นเรื่องที่ผู้หญิงควรดูแลและจัดการด้วยการใส่เสื้อยกทรงเพื่อให้ร่างกายมีสรีระที่สวยงาม และหน้าอกไม่หย่อนคล้อย 

กล่าวคือ ลักษณะของทรวดทรงหน้าอกก็มีค่านิยมความงามเช่นกัน โดยสะท้อนให้เห็นในโฆษณาที่มีการออกแบบลักษณะของเสื้อยกทรงหรือแม้แต่การรูปแบบการผลิตเสื้อยกทรงหรือชุดชั้นในที่หลากหลายมากขึ้น  เช่น ยกทรงผ้าซาติน และลายลูกไม้ เป็นต้น รวมถึงมีแบรนด์ชุดชั้นในที่หลากหลายบริษัทเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าสังคมไทยได้ปรากฏโฆษณาชุดชั้นในหรือยกทรงจำนวนมากเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2543 นั้นอาจเป็นผลพวงมาจากบริบททางสังคมในช่วงทศวรรษ 2480 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. ที่มีอุดมคติในเรื่องของเครื่องแต่งกายและรูปร่างของผู้คนในสังคมอันเป็นจุดมุ่งหมายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรือง 

ยกทรงเครื่องแสดงความซิวิไลซ์ฉบับผู้หญิง

นโยบายสร้างชาติของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการกำหนดให้หญิงไทยเป็นผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ รู้จักรักษาร่างกายให้มีสุขภาพที่ดีจากการกินอาหารที่เหมาะสม ซึ่งเหมาะสมกับการเป็นแม่พันธุ์ที่ดี รวมถึงเป็นกำลังในการสร้างพลเมืองให้แก่ชาติ รวมถึงจะต้องแต่งกายแบบชาติตะวันตก (นันทิรา ขำภิบาล, 2530, น.68)  

นอกจากนี้มาตรฐานความงามของร่างกายและทรวดทรงของผู้หญิงที่ถูกกำกับผ่านรัฐนั้นสะท้อนให้เห็นว่าจะต้องเป็นผู้หญิงที่สูงใหญ่ ไม่ใช่คนเอวบางร่างน้อย อันสะท้อนให้เห็นผ่านการประกวดแม่ค้างามที่มีการกำหนดมาตรฐานทรวดทรงผู้หญิงไทยในปี พ.ศ.2486 คือ

“จินตนาไม่ใช่คนเอวบางร่างน้อย เป็นผู้มีสัดส่วนค่อนข้างสูงไหย่กว่าหยิงธัมดาเล็กน้อย แต่นั่นก็มิได้เป็นเหตุให้ความสวยงามแห่งร่างกายและใบหน้าลดลงแต่หย่างไร ที่แท้ความค่อนข้างสูงไหย่กอบด้วยสุขภาพอนามัยสมบูรณ์นั่นเอง กลับทำให้ร่างของจินตนา สมที่จะเป็นแบบมาตรฐานแห่งหยิงไทยสมัยสร้างชาติ” (ก้องสกล กวินรวีกุล, 2545, น.112)

มาตรฐานการมีทรวดทรงของผู้หญิงที่ดี อุมดมสมบูรณ์ในสายตาของรัฐ คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สมส่วน ถึงแม้ว่าร่างกายคนไทยจะมีสัดส่วนที่เล็กกว่ามาตรฐานสากล หากแต่ทางการก็ได้กระตุ้นและเข้ามากำกับร่างกาย ทรวดทรงของผู้คนในสังคมให้เทียบเท่ามาตรฐานผ่านการประกวดนางงาม การประกวดชายงามด้วยการใส่ใจเรื่องสุขภาพและการบริโภคด้วยการบริโภคกับให้มากๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (ก้องสกล กวินรวีกุล, 2545, น.116)

การกำหนดมาตรฐานการแต่งกายของผู้หญิง รัฐบาลจอมพล ป. ได้มีการออกนโยบายให้ผู้หญิงเลิกนุ่งผ้าผืนเดียวปกปิดร่างกายท่อนบน รวมถึงห้ามใส่เสื้อชั้นในตัวเดียวและให้หันมาใส่เสื้อปกปิดร่างกายแทน (นันทิรา ขำภิบาล, 2530, น.156) 

จึงกล่าวได้ว่าการใส่เสื้อในที่ทำให้หน้าอกมีทรวดทรงมากขึ้นนั้นอาจเป็นผลมาจากการส่งเสริมทรวดทรงในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ก็เป็นได้ ซึ่งภาพโฆษณาสนับสนุนให้คนไทยใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกายดังภาพช้างล่าง ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีการเสื้อในกันมาแล้ว

ภาพการโฆษณาสนับสนุนให้คนไทยใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย โดยในภาพซ้ายมือมีการระบุว่า “อย่าสวมเสื้อชั้นในตัวเดียว” (ภาพจาก: นันทิรา ขำภิบาล, 2530, น.157)

การใส่เสื้อยกทรงหรือชุดชั้นยังเป็นการสร้างค่านิยมให้ผู้หญิงรู้สึกว่าเป็นสาวสมัยและมีบุคลิกภาพที่ดี ดังปรากฏข้อความในโฆษณาชุดชั้นในวาโก้รุ่นซิดี้ โรแมนซ์ ลายลูกไม้ พ.ศ.2526 ดังความว่า “เสริมบุคลิกและเป็นสาวสมัย”  

อีกทั้งจากการไล่เรียงระยะเวลาในการปรากฏโฆษณาชุดชั้นในหรือเสื้อยกทรงจะเห็นว่ามีพัฒนาการจากเสื้อยกทรงในลักษณะของการติดตะขอข้างหลังและมีสายคล้องไหล่ นำมาสู่การเกิดสิ่งที่เรียกว่าซิลิโคนเสริมหน้าอกหรือบราเสริมหน้า อันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไร้สาย เหมาะสำหรับใช้งานหรือการแต่งหน้าที่เปิดเผยเนื้อหนังมากขึ้น ดังพบโฆษณาซิลิโคนเสริมหน้าอกแบรนด์อินทรีก พ.ศ.2537

อกหักเรื่องเล็ก อกเล็กเรื่องใหญ่ : มาตรฐานความงามของหน้าอกในสังคมไทย

สังคมไทยมีการโฆษณาชุดชั้นในต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมความงามเกี่ยวกับหน้าอกและสัมพันธ์กันกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่จะเข้าสู่วัยสาวอันมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระดังที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้า ยังพบอีกว่าสังคมไทยมีมาตรฐานค่านิยมความงามของหน้าอกด้วยเช่นกัน โดยค่านิยมความงามของหน้าอกผู้หญิงในสยามยังสะท้อนให้เห็นผ่านหลักฐานในพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ในยุคจารีตดังความว่า

“นมเคร่งเต่งเต้าสอง เคียงคู่ คือบงกชสดน้อย เต่งตั้งดวงขาวฯ” (วัชรญาณ, 2556, กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก)  จากข้อความทำให้เห็นว่าลักษณะหน้าอกที่สวยของผู้หญิงนั้นถูกเปรียบเทียบว่างามราวกับดอกบัว หรือสวยเหมือนกับดอกบัว อย่างไรก็ตาม การชมหน้าอกผู้หญิงงามราวกับดอกบัวยังพบได้ในเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนนางลาวทองดังความว่า “เต้าตั้งดังดอกประทุมา เมื่อกลีบแย้มผกาเสาวคนธ์” (ภาษิต จิตรภาษา, 2567, ศิลปวัฒนธรรม) และเสภาเรื่อง ขุนช้างชุนแผน ตอน ขุนแผนพลายงามจับเจ้าเชียงใหม่ ดังความว่า “พึ่งเป็นสาวรุ่นร่างกระจ่างดวง ดูสองถันนั้นเป็นผวงผกาทิพย์ เหมือนโกมุทเพิ่งผุดหลังชลา พอต้องตาเตือนใจจะให้หญิบ” (กรมศิลปากร, 2545, น.729) และ “ใส่ตุ้มหูซ้ายขวาระย้าย้อย เอวบางร่างน้อยนมถนัด ดังปทุมตูมเต่งเคร่งครัด จำปาทัดถันได้ไม่ลอดทรวง” (กรมศิลปากร, 2545, น.727)

จากข้อความสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมความงามของหน้าอกผู้หญิงในมุมมองเพศชาย คือ มีลักษณะหน้าอกที่งามราวกับดอกบัวและตูมเต่ง ถึงขนาดที่ว่านำดอกจำปามาถัดระหว่างอกแล้วดอกจำปาไม่ร่วง กล่าวคือ มีหน้าอกที่ใหญ่จนทำให้ร่องอกชิด

อย่างไรก็ตาม ค่านิยมความงามของหน้าอกผู้หญิงในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังพบว่าเป็นการมองในแง่ของชะตาชีวิต ลักษณะนิสัยใจคอ หรือการผูกไว้กับการเป็นแม่ละภรรยา ดังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1) ได้ทรงให้จีนแสแปลตำราทายลักขณะจีนออกเป็นคำไทย ซึ่งเรียกว่าตำรานรลักษณ์ ฉบับพระมหามนเทียร โดยเป็นการอธิบายเกี่ยวกับลักษณะนมของสตรี ดังความว่า 

“นม ถ้านม ถานนมกว้าง นมโต วงนมแดง หัวนมดำ นมตรง ผู้นั้นจะมีทรัพย์ มีวาสนา มีปัญญาฉลาดฯ ถ้านมเล็ก นมปักธรณี วงนมขาว นมไม่ตรง ผู้นั้นพึ่งผู้ใดหมีได้จะเข็ญใจ อายุศม์สั้นฯ ถ้าวงนมกว้าง ผู้นั้นใจกล้าหาญ ใจเย็น ใจช้าฯ ถ้าวงนมแคบ อกแคบ ผู้นั้นโฉดเขลา ความคิดน้อยฯ ถ้าหัวนมโตแลดำ ผู้นั้นมีปัญญาน้อย มีลูกมากฯ ถ้าหัวนมเล็ก ผู้นั้นกำลังน้อย มักหิวหอบ เลี้ยงลูกยากฯ ถ้าหัวนมคดงอ ผู้นั้นเลี้ยงหลานยากฯ ถ้าหัวนมยาว เลี้ยงลูกยากฯ ถ้าหัวนมชัน เลี้ยงลูกง่าย ถ้าหัวนมโตเป็นเหลี่ยม มีลูกมีปัญญา มีวาสนา จะได้พึ่งลูก ดั่งได้แก้วฯ ถ้าหัวนมขาวแลเหลือง จะเลี้ยงลูกยากฯ ถ้าหัวนมแดงดั่งศรีอิด มีลูกมีหลานจะมีวาสนา มีปัญญาดีฯ ถ้าหัวนมแห้งเหี่ยว จะหาเลี้ยงปากไม่พอฯ ถ้าหัวนมโต มีเนื้อ จะมีทรัพย์มากฯ ถ้าหัวนมมีขน ผู้นั้นใจซื่อใจเบา ความคิดน้อยฯ ถ้าหัวนมเป็นไฝดำ ลูกจะมีวาสนา จะได้พึ่งลูกฯ” (อภิลักษณ์ เกษมผลกูล, 2550, น.26-27)

จากหลักฐานข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าตำรานรลักษณ์ดูลักษณะหน้าอกของผู้หญิงในมุมมองของชนชั้นนำสยามอันมีการแปลมาจากตำราของจีนแสนั้นทำให้เข้าใจว่าการมีหน้าอกที่แตกต่างกันย่อมมีความหมายที่ผูกอยู่กับการเป็นแม่และภรรยาที่ทำหน้าที่เลี้ยงลูก รวมไปถึงการบ่งบอกถึงลักษณะของปัญญาและนิสัยในการเหมาะสมเป็นคู่ครอง ในลักษณะทำนองเดียวกันกับตำราพรหมชาติที่มีการพยากรณ์ดวงชะตาของผู้หญิงด้วยการดูขนาดของเต้านม หัวนมและฐานของเต้านม โดยตำราดังกล่าวสันนิษฐานว่าเป็นประราชนิพนธ์ในรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 4) ดังความว่า

“ผู้ที่นมกว้าง นมโต วงนมแดง หรือนมดำ นมตรงเป็นคนมีวาสนาดี ปัญญาเฉลียวฉลาด ชีวิตความเป็นอยู่ดี มากมีมิตรสหายฯ ผู้ที่นมเล็ก นมปักธรณี วงนมขาว นมไม่ตรงไม่สวยได้รูปทรง เป็นคนอาภัพ ทุกข์ยาก ชีวิตมีแต่ความลำบากไร้ญาติขาดที่พึ่งฯ ผู้ที่มีหัวนมโตเหลี่ยม จะได้ลูกมีสติปัญญาดีมีอำนาจวาสนาและจะได้พึ่งลูกของตนฯ ผู้ที่หัวนมโตและดำ เป็นคนเจ้าปัญญา มักมีลูกมาก เอาตัวรอดเก่งฯ ผู้ที่ฐานนมใหญ่ปลายอวบ หัวนมแหลม มักชอบกามารมณ์ คู่ครองจะหลงเสน่ห์ ผู้ที่ฐานนมใหญ่ ปลายหัวนมบอด มักเจ้าชู้ มากชู้หลายคู่ครอง ชอบมายาสาไถยฯ” (อภิลักษณ์ เกษมผลกูล, 2550, น.30-31)

จากหลักฐานในตำราพรหมชาติทำให้เห็นว่าลักษณะของเต้านม หัวนมและฐานนมนั้นผูกขาดอยู่กับเรื่องของชะตาชีวิตที่เหมาะสมกับการเป็นคู่ครองให้กับเพศชาย ซึ่งไม่ได้เป็นการผูกขาดที่ทำให้เห็นถึงความงามของหน้าอกผู้หญิงว่าควรเป็นอย่างไร หรือหน้าอกที่สวยในมุมมองของชนชั้นนำสยามเป็นอย่างไรผ่านตำราที่ทำนายชะตาชีวิต อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมในการมองหน้าอกของผู้หญิงที่ผูกขาดกับกิจกรรมทางสังคมที่แตกต่างกัน

เช่นเดียวกับค่านิยมความงามของหน้าหญิงสาวในสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2500 ที่ปรากฏว่ามีการโฆษณาครีมบำรุงหน้าอก นวดหน้าอกต่างๆ  รวมถึงอุปกรณ์เสริมทรวงอกอันสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานความงามของหน้าอกที่จะต้องเต่งตึงผ่านโฆษณาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหน้าอก ดังต่อไปนี้

ภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมทรวงอกชนิดเม็ด ราคา 50 บาทของเบรตฮอร์โมนจากประเทศเยอรมัน พ.ศ.2501 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 241 ต้นกรกฎาคม 2501, น.75)
ภาพโฆษณาเครื่องเพิ่มทรวงอก Roto Star จากประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2501 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 248 ต้นพฤศจิกายน 2501, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมทรวงอกเบรตออร์โมนชนิดเม็ดและครีมจากประเทศเยอรมันนี พ.ศ.2505 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 15 ฉบับที่ 331 ปลายเมษายน 2505, น.83)
ภาพโฆษณาซีรัมอะควาบัสท์ช่วยนวดเต้านมจากปารีส พ.ศ.2511 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 20 3 มีนาคม 2511, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ภาพครีมบำรุงทรวงอกเอส.เอช 8 จากประเทศเยอรมัน พ.ศ.2514 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 23 ฉบับที่ 42  31 มกราคม 2514, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ภาพครีมน้ำนมนวดทรวงอก พ.ศ.2514 (ภาพจาก: สตรีสาร ปีที่ 23 ฉบับที่ 42  31 มกราคม 2514, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ภาพโฆษณาครีมเสริมสร้างทรวงอกเอส.เอช.8 จากประเทศเยอรมัน พ.ศ.2518 (ภาพจาก: กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 108 (514) ประจำปักหลังกรกฎาคม 2518, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ภาพโฆษณาเครื่องนวดทรวงอกด้วยพลังน้ำเมเดซัง บัสท์ พ.ศ.2518 (ภาพจาก: กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 104 (503) ประจำปักหลังพฤษภาคม 2518, ไม่ปรากฏเลขหน้า)

จากการปรากฏโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลทรวงอกดังข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าการมีหน้าอกที่มีทรวดทรงสวยงาม ซึ่งเป็นสรีระทางร่างกายอันอยู่ภายในร่มผ้าหรือเป็นสิ่งที่ผู้หญิงปกปิดไว้นั้น ก็ควรจะมีการดูแลหน้าอกให้สวยงามด้วยเช่นกันด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ช่วยให้หน้าอก “เต่งตึง” “เพิ่มขนาดทรวงอก” “ทรวงอกเกิดความสมบูรณ์อย่างธรรมชาติ” (ความสมบูรณ์ในที่นี่อาจหมายถึงการมีหน้าอกขนาดใหญ่อย่างธรรมชาติ) และ “แก้ปัญหาทรวงอกของคุณ”  

กล่าวได้ว่าการมีหน้าอกที่ “เหี่ยวแห้ง” หรือหย่อนยานตามสภาพร่างกายนั้นเป็นปัญหาที่ผู้หญิงควรจะต้องกำจัดหรือแก้ไขหน้าอกให้กลับมาเต่งตึง  

อย่างไรก็ตาม โฆษณาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลหน้าอกก็ได้สร้างมาตรฐานความงามหน้าอก เช่น เต่งตึงและมีขนาดใหญ่ อันเป็นมาตรฐานค่านิยมความงามของหน้าอกที่สะท้อนให้เห็นผ่านการโฆษณา และสร้างค่านิยมความงามจนทำให้การมีหน้าอกงามเป็นเรื่องปกติ ดังปรากฏค่านิยมความงามเกี่ยวกับหน้าอกของผู้หญิงปี พ.ศ.2516

“งาม…อย่างกับดอกบัว! คำกล่าวข้างต้น ต่อให้ผู้หญิงๆ ด้วยกันได้ยินก็ยังเดาได้ว่า คนที่กล่าวนั้นเขาตั้งใจชมส่วนไหนของกายเรา ก็ส่วนไหนเล่าคะที่ดึงดูดสายตาชายมากที่สุด ถัดจากใบหน้าก็เห็นจะที่ทรวงอกนี่แหละ และก็ไม่จำเป็นต้องอกโตอกเล็กอะไรด้วย ที่มีเสน่ห์ ขอให้เป็นอกสวยเท่านั้นพอแล้ว” (สุนทรีย์, 2516, น.94)

นอกจากการมีโฆษณาเสื้อยกทรงและผลิตภัณฑ์ดูแลหน้าอกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหน้าอกหรือสรีระร่างกายของผู้หญิงแล้ว สิ่งสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้มีหน้าอกที่สวย คือ การรักษารูปทรงของชุดชั้นใน โดยปรากฏการโฆษณาเกี่ยวกับการน้ำยารักษารูปทรงชุดชั้นในให้คงรูปของวาโก้วอช พ.ศ.2517

ภาพผลิตภัณฑ์รักษาทรงชุดชั้นในของวาโก้วอช พ.ศ.2517 (ภาพจาก: ขวัญเรือนปีที่ 5 ฉบับที่ (410) 72 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2517)

มาตรฐานความงามของหน้าอกในสังคมไทยยังคงมีการสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องของหน้าอกยังกลายเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องจัดการและดูแล ถึงแม้ว่าจะอยู่ภายในร่มผ้าก็ตาม ดังปรากฏโฆษณาครีมนวดหน้าอก กระชับหน้าอกต่างๆ อุปกรณ์ทำให้หน้าอกมีทรวดทรง ดังข้อมูลที่พบข้างต้น

รายการอ้างอิง

  • กรมศิลปากร. (2545). เสภาเรื่องขุนช้างชุนแผน. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร
  • ก้องสกล กวินรวีกุล (2545). การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481- 2487. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 104 (503) ประจำปักหลังพฤษภาคม 2518
  • กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 108 (514) ประจำปักหลังกรกฎาคม 2518
  • กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 71 (332) ประจำปักษ์แรกมกราคม 2517
  • กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 8 (458) ประจำปักษ์แรกกรกฎาคม 2517
  • กุลสตรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 83 (458) ประจำปักษ์แรกเดือนกรกฎาคม 2517
  • ขวัญเรือน ปีที่ 5 ฉบับที่ (410) 72 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2517
  • จิตตมาศ จิระสถิตพรและวัชระ สินธุประมา. (2561). จักรเย็บผ้า: การตัดเย็บสมัยใหม่ในการศึกษาของผู้ หญิงไทย. ราชพฤกษ์, 6(2), 69-78.
  • นันทิรา ขำภิบาล (2530). นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยในสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • พลอยแกมเพชร ปีที่ 1 ฉบับที่ 24 31 มกราคม 2536
  • พลอยแกมเพชร ปีที่ 3 ฉบับที่ 60 31 กรกฎาคม 2537
  • พลอยแกมเพชร ปีที่ 4 ฉบับที่ 85 15 สิงหาคม 2538
  • แพรว ปีที่ 1 ฉบับที่ 18 2523
  • แพรวรายปักษ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 81 10 มกราคม 2526
  • แพรวรายปักษ์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 174 25 พฤศจิกายน 2529
  • แพรวรายปักษ์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 185 10 พฤษภาคม 2530
  • ภาษิต จิตรภาษา. (2564). เต้านมผู้หญิง อย่างไรจึงสวย? วิเคราะห์ถอดแก่นจากบทชมความงามในวรรณคดี.ศิลปะวัฒนธรรม. สืบค้น 19 มกราคม 2568, จากhttps://www.silpa-mag.com/culture/article_8173. 
  • วัชรญาณ. (2556). ประชุมวรรณคดีเรื่องพระพุทธบาท. กรมศิลปากร.
  • สตรีสาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 239 ต้นมิถุนายน 2501
  • สตรีสาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 241 ต้นกรกฎาคม 2501
  • สตรีสาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 248 ต้นพฤศจิกายน 2501
  • สตรีสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 308 ต้นพฤษภาคม 2504
  • สตรีสาร ปีที่ 15 ฉบับที่ 331 ปลายเมษายน 2505
  • สตรีสาร ปีที่ 15 ฉบับที่ 348 ต้นมกราคม 2506
  • สตรีสาร ปีที่ 20 3 มีนาคม 2511
  • สตรีสาร ปีที่ 20 ฉบับพิเศษ 18 กุมภาพันธ์ 2511
  • สตรีสาร ปีที่ 216 ฉบับที่ 366 ต้นกรกฎาคม 2506
  • สตรีสาร ปีที่ 22 ฉบับพิเศษ 1 กุมภาพันธ์ 2513
  • สตรีสาร ปีที่ 23 ฉบับที่ 42  31 มกราคม 2514
  • สยามสมัย ปีที่ 4 ฉบับที่ 189 ประจำวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2493
  • สยามสมัย ปีที่ 7 ฉบับที่ 346 วันจันทร์ 28 ธันวาคม 2496, 2496, น.45
  • สุนทรีย์. (2516). พิษทรวงดับ โกสุมปทุมมาลย์. ขวัญเรือน. ปีที่ 5 ฉบับที่ (396) 58 ประจำเดือนตุลาคม 2516
  • หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับพิเศษ ปีที่ 3 ฉบับที่ 618 วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2477
  • หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 3 ฉบับที่ 861 วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2478
  • หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 3 ฉบับที่ 907 วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2478
  • หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 4 ฉบับที่ 920 วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2478
  • หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 4 ฉบับที่ 928 วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2478
  • อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. (2550). ผูกนิพพานโลกีย์. กรุงเทพฯ: มติชน.
ญาณี กลิ่นเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง