มีนาคม 19, 2024

    ชาติพันธุ์ ที่ดิน ป่าไม้และกองทัพ: ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมายขนานใหญ่บนชีวิตจริงของผู้คน

    Share

    เรื่อง: ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ – แรงงานวิชาการผู้พัวพันนโยบายที่ดิน-ป่าไม้

    จากการเข้าร่วมเวทีพูดคุยเจรจาหาทางออก กรณีข้อร้องเรียนของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยตาด ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่มีเครือข่ายสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทีมงานว่าที่ ส.ส.เขต 3 ลำปางของพรรคก้าวไกลเข้าร่วมสังเกตการณ์ จากการถูกทหาร (ค่ายประตูผา) และหน่วยงานป่าไม้ (ท่าสี) เข้าตรวจยึดที่ดินทำกินราว 359 ไร่ (59 แปลง) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อ 40 ครอบครัว

    ภาพ: ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

    เนื้อหาจากเวทีสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจจัดการที่ดิน-ป่าไม้อันล้าหลังที่ถูกสืบทอดแต่งเสริมโดยรัฐยุคเผด็จการและอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์เข้มข้นขึ้น ปัญหาเดิมไม่ถูกแก้ เงื่อนไขใหม่ผูกเพิ่มรวมศูนย์ซ้ำ ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย นโยบายขนานใหญ่บนชีวิตผู้คนบนฐานทรัพยากรธรรมชาติจึงเดินทางสู่อีกยุคของความหวังท่ามกลางอำนาจที่กำลังเปลี่ยนผ่าน

    ที่ดินแถบนี้ กองทัพบกขออนุญาตใช้ประโยชน์จากป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2516 จำนวนเนื้อที่ 45,156 ไร่ เพื่อกิจการของกองทัพในอดีต อาทิ การตั้งค่าย การฝึกปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ “จนกว่าจะหมดความจำเป็น” ซึ่งมีส่วนทับซ้อนกับที่ดินใช้ประโยชน์เดิมของประชาชนที่อาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ

    หน่วยงานชี้แจงว่าพบพื้นที่บุกรุก 5 แปลง โดยชาวบ้านอ้างแย้งว่าบริเวณดังกล่าวคือที่ดินทำกินที่อยู่ในขอบเขตเดิมของชุมชนที่ได้ทำข้อมูลไว้ และมีการกดดันให้ลงลายมือชื่อในเอกสารพร้อมแนบข้อมูลสำเนาบัตรประชาชน ยอมรับว่าบุกรุกพื้นที่ “ฝึกทางยุทธวิธี” ซึ่งเป็นอีกข้อเรียกร้องให้คืนเอกสารดังกล่าวเนื่องจากเกรงผลกระทบที่อาจตามมา เช่น ถูกยึดที่ดินถาวรหรือถูกดำเนินคดี

    ภาพ: ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

    หน่วยงานรัฐยึดข้อมูลหลักจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศในปี 2545 และหลักเกณฑ์ตาม มติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นแนวนโยบายหลักที่ใช้มาโดยตลอด ทั้งที่ไม่สามารถยุติปัญหาได้จากความซับซ้อนและไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่  โดยเฉพาะการทำประโยชน์ของระบบเกษตรกรนิเวศวัฒนธรรมแบบไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยงที่มีการหมุนพักฟื้นแปลงไว้จะถูกระบุตีความให้กลายเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่ทันทีหากมีร่องรอยใช้ประโยชน์ภายหลังปี 2545 และเสี่ยงต่อเนื่องขึ้นภายหลังนโยบายยุค คสช. ที่ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2557 กลายมาเป็นเกณฑ์พิสูจน์ชี้เป็นชี้ตายสิทธิในที่ดินของผู้คน

    ชาวบ้านอธิบายว่าปัญหาเกิดจากแนวเขตปี 2545 ที่ไม่ครอบคลุมสภาพข้อเท็จจริง ภายหลังชุมชนจึงได้ร่วมกันทำข้อมูลที่ดินรายแปลงและขอบเขตใหญ่ระดับชุมชนที่ชัดเจนเป็นที่ยอมรับกันภายในมากที่สุดแต่ไม่ถูกให้ความสำคัญ ไม่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของรัฐ ขณะนี้ข้อเสนอของชาวบ้านที่ต้องการให้สามารถเพาะปลูกทำกินในรอบฤดูนี้ไปก่อนในระหว่างกระบวนการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลร่วมกัน ซึ่งต้องรอการอนุมติให้จากผู้บัญชาการทหารบกเพื่อให้กระบวนการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ขยับต่อเบื้องต้น

    หลายชุมชนแถบนี้ ไม่ต่างจากที่อื่นที่ถูกแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติในอดีตประกาศทับพื้นที่ชุมชนเดิมซึ่งส่งผลให้ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินไม่ถูกกันออกจากแนวเขตป่าของรัฐและไม่เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจัง มีบางชุมชนแถบนี้กำลังตกเป็นเป้าหมายการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติผนวกเพิ่มเติมทับอีกชั้น กลายเป็นปมปัญหาสะสมและพอกพูนปัญหาใหม่ถมซ้อนตามการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย กฎหมายรัฐแต่ละยุคสมัย ซึ่งแสนสาหัสในยุคของการแย่งยึดที่ดินประชาชนในนามโวหาร “ทวงคืนผืนป่า” ของ คสช. ต่อเนื่องมายังปัจจุบัน

    ภาพ: ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

    ซึ่งนับเป็นทศวรรษที่ “สิทธิชุมชนท้องถิ่น” ที่ขบวนการประชาชนขับเคลื่อนมายาวนานถูกบั่นทอนหนักใกล้ถูกปิดสวิตช์ลง ที่แม้จะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่เคยถูกยึดโยงให้เอื้อต่ออำนาจประชาชนบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นอย่างที่ควรจะเป็น

    ปัญหาพื้นที่ใช้ประโยชน์ของกองทัพคืออีกกลุ่มใหญ่ที่ต้องใช้นโยบายและกฎหมายสร้างทิศทางใหม่ทั้งระบบ ดังตัวอย่างข้อมูลของกองทัพภายใต้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานที่ถือครองใช้ประโยชน์ที่ดินรัฐหลายประเภทและมีกรณีพิพาทเรื่องแนวเขตทับซ้อนและสิทธิการใช้ประโยชน์กับประชาชนในหลายพื้นที่ กองทัพคือหน่วยงานที่ถือครองที่ราชพัสดุมากที่สุด รวมกัน 6.25 ล้านไร่ หรือ 50% ของที่ราชพัสดุทั้งประเทศ รวมขนาดพื้นที่ราว 5 เท่าของกรุงเทพฯ

    และยังมีการถือครองที่ดินตาม พ.ร.บ.การหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตั้งแต่ก่อนยุค ทศวรรษ 2500 อีก 12 แห่ง ในหลายจังหวัดและยังมีกรณีที่ดินในเขตนโยบายความมั่นคงจากยุคการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์และปัญหาที่ดินในเขตนโยบายความมั่นคงตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นที่ดินขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้อีกราว 2.7 ล้านไร่

    คณะกรรมาธิการด้านปัญหาที่ดินในสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา จึงได้มีข้อเสนอต่อกองทัพและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว ให้ส่งมอบคืนและพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่พิพาททับซ้อนสิทธิกับชุมชนอยู่อาศัยใช้ประโยชน์มาก่อน

    ในห้วงยามนี้ ขบวนการผลักดันทั้งในและสภาจึงสำคัญต่อความเป็นไปในการแก้ไขกฎหมายและเปลี่ยนนโยบายภายใต้อนาคตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน สู่การเปลี่ยนทิศทางใหม่ในอำนาจจัดการทรัพยากรธรรมชาติของสังคมไทย

    Related

    7 ปี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ยุติธรรมไม่คืบหน้า

    ภาพ: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมจัดงานเสวนา...

    ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ แจงงบแก้ฝุ่นยังไม่ออก ชี้ “ประกาศภัยพิบัติ” ไม่ใช่ทางออกตอนนี้

    เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานการชี้แจงของ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่...

    ครบ 7 ปี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม ความยุติธรรมยังไม่คืบ

    เช้าวันที่ 17 มี.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ทำการตรวจค้นรถยนต์ของ...