พฤษภาคม 13, 2024

    แด่สวรรค์ชั้นดึงดาว I Can See Paradise, But I Can’t Enter นิทรรศการศิลปะของเหล่าลูกความศูนย์ทนายฯ ผู้ตั้งคำถามต่อสรวงสวรรค์

    Share

    แม้ตอนนี้เราอาจจะกำลังจับจ้องกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรืออะไรที่ลงท้ายว่า “ใหม่” กันอยู่อย่างจดจ่อ แต่หันไปในอดีตไม่ไกลมากการดันเพดานของประชาชนก็เป็นเรื่องใหม่มากพอที่จะยังคงความสดเอาไว้ไม่มีเก่า

    “เมื่อสรวงสวรรค์กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกตั้งคำถาม อิสระที่จะเรียกร้องและแสดงออกกลายเป็นสิ่งผิด”

    I Can See Paradise, But I Can’t Enter นิทรรศการศิลปะของคนผู้ตั้งคำถามต่อสรวงสวรรค์ ที่เป็นเหมือนแผลเก่าแต่ยังสด เพราะทุกครั้งที่มีการตั้งคำถามต่อเบื้องบน รอยประทับฟ้าประทานก็โต้ตอบการท้าทายทุกครั้งไป

    ‘หยอด’ ทวีพัฒน์ Curator ของ ONION Art Space พื้นที่ทางศิลปะเกิดใหม่สดๆ ร้อนๆ ที่จะเข็นความแสบที่เดือดพล่านออกมาดิ้นให้วงการศิลปะในเชียงใหม่ให้มันส์ยิ่งขึ้นไปอีก แน่นอนว่า I Can See Paradise, But I Can’t Enter เป็นงานชุดแรกของที่นี่อีกด้วย

    ที่สำคัญคือหยอด จะอาสาพาไปเสพเสาะสำรวจนิทรรศการชุดนี้ ผลงานทั้งหมดมาจาก 6 ศิลปินที่ขลุกตัวซ่องสุมอยู่ในเชียงใหม่ และเขาเหล่านี้ต่างริอาจท้าทาย ‘สวรรค์’ จนกลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง เป็นลูกความศูนย์ทนายความกันไปคนละหลายคดี

    หยอดพูดคุยกับเราถึงงานนิทรรศการประเดิมพื้นที่ศิลปะกำเนิดใหม่นี้ ว่าเป็นนิทรรศการจากเพื่อนๆ ศิลปิน 6 คน ได้แก่ทัศนัย เศรษฐเสรี, นลธวัช มะชัย, ธีราภรณ์ พุดทะสี, ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์, ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ และคุณภัทร คะชะนา ที่มีจุดร่วมเดียวกันคือทุกคนต่างก็มีประสบการณ์การมีคดีความทางการเมืองที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

    “I Can See Paradise, But I Can’t Enter นิทรรศการจากเพื่อนๆ 6 ท่าน ซึ่งทั้ง 6 คนเป็นทั้งศิลปะมืออาชีพ ศิลปินสมัครเล่น หรือเป็นอะไรก็ไม่รู้แต่มีความสามารถในการทำงานศิลปะ โดยจุดร่วมกันของศิลปินทั้ง 6 คนคือทุกคนมีประสบการณ์การมีคดีความทางการเมืองที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเราจะสามารถเห็นได้อย่าง กรณี อาจารย์ทัศนัยหนึ่งในศิลปินที่จัดในงานแสดงนี้ แก้ก็โดนคดีบุกรุกมหาวิทยาลัยตัวเองที่ไปตัดโซ่ หรือว่าอย่างคดีที่ไป Performance แล้วโดน 112 หรืออะไรหลายๆ อย่าง” 

    ในส่วนของ ONION Art Space หยอดพูดถึงแนวคิดตั้งต้นของพื้นที่ศิลปะนี้ ว่าเปรียบเสมือนการเป็น ‘หัวหอม’ พืชที่มีคุณค่าทางอาหาร มีวิตามินสูง แต่กลับไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของทุกคน และแน่นอนว่าไม่มีใครกินหัวหอมแบบดิบๆ แต่ต้องเป็นส่วนประกอบให้กับวัตถุดิบอื่นๆ เป็นเมนูที่ข้ามวัฒนธรรม สามารถเชื่อมต่อกับผสมผสานกับสิ่งอื่นๆ รวมไปถึงสร้างรสชาติใหม่ๆ

    แนวคิดตั้งต้นนี้ประจวบเหมาะกับแนวคิดของงานนิทรรศการ I Can See Paradise, But I Can’t Enter เพราะเป็นการตั้งคำถามถึงสรวงสวรรค์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝังอยู่ในความคิดและความเชื่อของคนไทยส่วนมาก เป็นสถานที่ของผู้คนที่ถูกคัดสรรแล้วว่ามีคุณงามความดี มีชาติตระกูล หรือมีศีลธรรมอันดี  

    I Can See Paradise, But I Can’t Enter จึงเป็นการรวบรวมงานศิลปะที่แสดงมิติอื่นๆ ของสรวงสวรรค์ที่ไม่ได้มีตัวตนอยู่แค่ในความเชื่อ แต่ยังแนบเนียนอยู่กับบริบทของสังคมไทย

    “ประเด็นก็คือสวรรค์ในสังคมไทยมันเป็นสวรรค์ที่กดทับสวรรค์ของคนอื่นๆ อยู่ จนเราอาจจะตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วสวรรค์ที่เราเห็นอยู่ในสังคมเนี่ยมันเป็นสวรรค์จริงๆ หรือเปล่า ซึ่งมันก็นำมาสู่ชื่อของนิทรรศการว่า เราเห็นสวรรค์อยู่ตรงหน้า แต่เราเข้าไปไม่ได้ ไม่ว่าจะอยากเข้าหรือไม่นะ หรือว่าจะเข้าได้หรือเปล่า หรือว่าสวรรค์ในมุมมองของเรามันจะเป็นสวรรค์อีกแบบหนึ่งหรือแบบอื่นๆ การนิยามหรือการตีความไปกดสวรรค์อื่นๆ เนี่ยมันก็จะเป็นลักษณะพิเศษของสวรรค์ในสังคมไทย เราจะเห็นตาม สื่อออกมาตามอำนาจในระดับย่อยหรือในระดับสถาบันใหญ่ๆ ก็สามารถมองเห็นได้”

    ผลงานของ คุณภัทร คะชะนา ผู้ประสบเคราะห์ภัยทางการโดนฟ้องคดีการเมืองจากกรณีการชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 วันนั้นเขาเอาหนังสือมือสองและเสื้อยืดไปขายหน้าศาลอาญา เพราะมีม็อบหน้าศาลพอดีน่าจะขายได้ สรุปขายไม่ได้ แต่ตอนไปนั่งกินเบียร์กับเพื่อนอยู่แถสๆ ศาลนั่นแหละ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนวิ่งเข้ามาจับพาตัวไปดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ ที่มีการค้นตัวเกิดขึ้นและไม่พบอะไร เกิดเป็นผลกระทบต่างๆ ต่อ คุณภัทร ไม่ว่าจะภาวะความเครียด ค่าใช้จ่ายการเดินทางในการขึ้นศาล การต้องเตรียมคดี ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ตามรังควาน ตัวศิลปินแค่ในยามตื่นเท่านั้น แต่ในยามหลับก็ยังตามมาหลอกหลอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัว คุณภัทร ต้องคิดทบทวนว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา หรือนี้ก็เป็นผลพวงของเจ้าหน้าที่สวรรค์หรือไม่? ที่ทำให้เขาต้องรู้สึกว่าตกนรกทั้งเป็นในเมืองแห่งสวรรค์อย่างกรุงเทพฯ เมืองที่ว่ากันว่าเทพสร้าง

    ผลงานของ นนธวัช มะชัย หนึ่งในศิลปินที่นำความหมายของสีขาวและสีแดงมาตีความนำเสนอออกมาในรูปแบบ Video Performance และพัฒนาเป็น Performance จริงในพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงผลงานของ ‘ถั่วเขียว’ ธีราภรณ์ พุดทะสี ผู้เคยถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นศาล ที่หยิบยกการทำมาหากิน การเป็นหนี้ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ต่ำต้อยในเชิงเศรษฐกิจของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งถูกแสดงออกผ่านสัญลักษณ์การใช้นามบัตรกู้เงิน และผลงานของ ทัศนัย เศรษฐเสรี ที่เปิดเผยมิติของอำนาจ ผ่านงานในสมัยที่ตนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาตรี โดยผลงานที่ถูกแสดงภายในนิทรรศการก็เป็นภาพถ่ายซึ่งงานจริงได้สูญหายไปแล้ว ซึ่งผลงานของ ทัศนัย เป็นสัญญะว่าในสถาบันการศึกษาของสังคมไทยยังคงก็มีการใช้ศีลธรรมบริสุทธิ์ที่แสดงออกผ่านศิลปะ เข้ามาเป็นโครงการทางการเมืองได้ในการกำกับและจัดวางผู้คน

    “แต่ละงานมันก็จะเสนอมิติในมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อการเมือง สภาวะสังคมที่เราเป็นอยู่”

    I Can See Paradise, But I Can’t Enter เป็นงานนิทรรศการที่จะเชื้อเชิญผู้เข้าชมให้ร่วมทำความเข้าใจ และตั้งคำถามต่อสรวงสวรรค์ ย้อนทบทวนการแสวงหาเสรีภาพต่ออำนาจ ตีความสรวงสวรรค์ใหม่ในบริบทของคนเป็นที่ยังต้องดิ้นรนใช้ชีวิตใต้การกดขี่ได้ไม่มากก็น้อย

    “อยากให้มาใช้บริการกัน พื้นที่นี้ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ เป็นพื้นที่ที่เปิดรับให้กับทุกคนที่อยากแสดงออก โอเคมันอาจจะดูยากนิดหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นส่วนเสริมจากพื้นที่อื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว ก็เป็นทางเลือกให้กับวัยรุ่นผู้ไม่ย่อท้อต่อความเลวทรามและทุกข์เข็นแห่งยุคสมัย”

    สามารถรับชม นิทรรศการ I Can See Paradise, But I Can’t Enter จัดตั้งแต่วันที่ 3-23 กรกฎาคม เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ที่ ONION Art Space, ชั้นสาม mama cafe&studio ถนนห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่

    ช่องทางการติดตาม https://www.facebook.com/profile.php?id=100093635180831

    Related

    หมดยุค สว. แต่งตั้ง ถึงเวลาความหวัง สว. ประชาชน

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ในวันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2567) ถือเป็นวันสุดท้ายที่ สว....

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....