เมื่อฉัน (นักเรียน ม.4) ได้พูดคุยกับ ‘นักศึกษา(ครู)ฝึกสอน’ คนหนึ่ง

9 มกราคม 2566

เรื่อง : Patha

ภาพประกอบ : วรปรัชญ์ เมืองยศ

1.

ในโลกที่เรามีโซเชียลมีเดีย ทำให้ทุกวันนี้ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันถูกนำเสนอต่อสาธารณะมากขึ้น

ด้วยความที่ผู้เขียนเป็น “นักเรียน” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปัญหาที่ใกล้ตัวของผู้เขียนมากที่สุดนั้นย่อมหนีไม่พ้นเรื่อง “การศึกษา”

จากมุมมองของนักเรียน พวกเราเจอปัญหาอะไรบ้าง? ถ้าจะให้ไล่เรียงให้หมดครบถ้วนก็คงไม่หวาดไม่ไหว แต่จะขอหยิบยกข้อมูลของกลุ่ม “นักเรียนเลว” กลุ่มนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาตั้งแต่ปี 2563 พอสังเขปดังนี้

โรงเรียนไม่ได้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน นักเรียนถูกคุกคาม ทั้งการตีและทำร้ายนักเรียนอย่างไม่สมเหตุสมผล การคุกคามทางเพศในโรงเรียน ตลอดจนการคุกคามเหยียดเพศสภาพของนักเรียน และการคุกคามจากการแสดงออกทางการเมือง

ประกาศ กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ใช้กับนักเรียนมีเนื้อหาล้าหลังที่ไม่สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลในปัจจุบัน มีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ทั้งยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวนักเรียนมาโดยตลอด อาทิ เรื่องทรงผมของนักเรียนและเครื่องแบบนักเรียน เป็นต้น

มีการมองกันว่าการศึกษาไทยทั้งระบบยังมีปัญหาที่ส่งผลต่อนักเรียน เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษา ปัญหาหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาภาระงานครู ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของครู เป็นต้น

2.

นอกจากนักเรียนแล้ว ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการศึกษาที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ “ครู” ที่ถือเป็นอาชีพที่คนไทยตั้งความหวังไว้สูงอาชีพหนึ่ง โดยผลสำรวจชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2565 ประชาชนมองว่าอาชีพครูยังเป็นอาชีพที่คนอยากเป็น 57.97% อยากเห็นครูกล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ยึดติดอยู่กับวิธีการแบบเดิม ๆ 67.42% และตั้งความหวังให้ครูไทยที่ดีควรรักในอาชีพ มีจิตวิญญาณความเป็นครูถึง 74.98% เลยทีเดียว

นอกจากนี้ผู้เขียนจึงอยากจะกล่าวถึงอีกหนึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบการศึกษาที่ไม่ถูกพูดถึงมากนักคือ  “นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู” หรือที่เราเรียกกันว่า “นักศึกษาฝึกสอน” หรือ “ครูฝึกสอน” ที่เป็นนักศึกษาในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือในระดับบัณฑิตศึกษาที่สอนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของครูประจำการ เพื่อให้ผ่านคุณสมบัติในการสำเร็จการศึกษาในด้านศึกษาศาสตร์ สำหรับในประเทศไทยนักศึกษาฝึกสอนจะอยู่ภายใต้การดูแลของอาจารย์นิเทศก์จากมหาวิทยาลัย และครูพี่เลี้ยงที่คล้ายคลึงกับครูประจำการทั่วไป เช่น การจัดการเรียนการสอน การดูแลชั้นเรียน รวมถึงการวัดและประเมินผล

โดยในอนาคต “นักศึกษาฝึกสอน” เหล่านี้ก็จะก้าวสู่อาชีพครูเพื่อสอนนักเรียนในรุ่นต่อ ๆ ไป

แต่ทว่าเมื่อมองเข้าไปในความนึกคิดและความรู้สึกของนักศึกษาฝึกสอนเมื่อได้ทดลองทำหน้าที่แล้วนั้น นักศึกษาฝึกสอนได้เห็นปัญหาของตัวระบบการศึกษาและระบบข้าราชการที่ยังคงดำรงอยู่

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยนักศึกษาฝึกสอน จากคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่ได้เล่าถึงปัญหาของระบบการศึกษา และระบบข้าราชการครู ที่พบเจอและพบเห็นมาว่าในระดับโรงเรียนด้วยความที่เป็นนักศึกษาฝึกสอนน้องใหม่ ปัญหาที่โดนเป็นประจำเลยคือมีการใช้งานนักศึกษาฝึกสอนมากเกินความจำเป็น ครูบางท่านให้นักศึกษาสอนไปเลยแล้วครูไม่เข้า ซึ่งเป็นสิ่งที่หนัก เกินตัว เกินหน้าที่ที่ได้รับมา ดังนั้นพอเป็นเช่นนี้ประสิทธิภาพในการฝึกสอนลดต่ำลง ครูที่โรงเรียนไม่ได้สนใจนักศึกษาฝึกสอนมากมายขนาดนั้น และครูไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็ก ทำให้ศักยภาพพัฒนาได้ไม่เพียงพอในการที่ลงฝึกสอนทั้งโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้ออกเงินให้นักศึกษาในการฝึกสอน มีแต่นักศึกษาที่ต้องออกเองทุกบาททุกสตางค์ นักศึกษาบางคนไม่ได้มีเงินมากมายขนาดนั้น จึงเห็นว่ากระทรวงควรมีนโยบายที่เอื้อต่อนักศึกษาฝึกสอน เช่นการให้เงินสนับสนุน ซึ่งจะทำให้นักศึกษาไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องนี้มาก

ในระดับมหาวิทยาลัยเองนั้น ก็พบว่าตัวระบบการศึกษาของคณะ อาจารย์ผู้สอนมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง นโยบายและหลักสูตรค่อนข้างพัฒนาเป็นปัจเจกบุคคล ไม่ได้เอื้อต่อทุกคน หลักสูตรเองควรได้รับความร่วมมือจาก รัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ดีและเข้ากับพื้นที่ได้

“จริง ๆ แล้วนักศึกษาฝึกสอนมีหน้าที่ฝึกสอนเพื่อเก็บประสบการณ์และต่อยอดเพื่อจะไปต่อกับอาชีพครูแค่นั้น แต่ทว่าในความเป็นจริงมีการใช้งานนักศึกษาเกินหน้าที่ เกินความสามารถ ซึ่งเกินมาตรฐานที่นักศึกษาจะทำได้”

“นอกจากนี้ตัวอย่างเช่นการไปสังเกตการณ์สอน จริง ๆ เราควรแค่นั่งดูคุณครูเขาสอนไป แต่ว่าบางครั้งครูก็ให้เข้าสอนเลยและเราไม่ได้มีประสบการณ์มากขนาดนั้น หรืองานเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการถอดพัดลมลงมา นักศึกษาฝึกสอนยังต้องทำ ทั้งที่จริง ๆ มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา” นักศึกษาฝึกสอนท่านนี้กล่าวกับผู้เขียน

และเมื่อผู้เขียนถามว่าเจอปัญหาแบบนี้ เรายังอย่างเข้าสู่ระบบครูไหม?

“อยากเป็นครูและอยากจะไปให้สุดทาง” เป็นคำตอบจากนักศึกษาฝึกสอนท่านนี้ รวมทั้งยังตั้งความหวังว่าอยากให้เด็กมองสังคมในเชิงวิพากษ์ สร้างจินตนาการให้เด็กมองไปไกลมากกว่าที่ระบบจัดสร้างมาให้ เช่น การตั้งคำถาม การเรียนรู้ แต่มองว่าเป็นไปได้ยากเพราะปัจเจกบุคคลยังคงมีกำแพงกั้นหนาขวางกั้นอยู่


ข้อมูลประกอบการเขียน
1.สัมภาษณ์นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูจากคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 25652.“โพลเผยปัญหาการศึกษาไทยเกิดจากความเหลื่อมล้ำ-การบริหารงานของศธ.” สยามรัฐ 21 สิงหาคม 2565 https://siamrath.co.th/n/375517
3.“นักเรียนเลว (น.ร.ล.)” เรียบเรียงโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น, สถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=นักเรียนเลว_(น.ร.ล.)


เกี่ยวกับผู้เขียน

Patha นามปากกาของนักเรียนมัธยมที่ชอบการอ่าน การเขียน การกินและการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ และยังอยากจะก้าวเข้าสู่วงการนักเขียนและอัพเดทสถานการณ์ภาคเหนือให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง