เมื่อไฟ (ดี) เป็นจำเลยสังคม คุยกับพ่อหลวงสุริยา ตั้งตัว ถึงรัฐกับการชิงเผาในวันไม่พร้อม และวันพร้อมที่ห้ามใช้ไฟ

“ทำไมชาวบ้านที่นี่ถึงเผาป่า เผาบ้าน เผานา สร้างความเดือดร้อน จนทำให้ไฟไหม้ลุกลามไปทั่ว” หนึ่งในคอมเมนต์บนโลกสื่อออนไลน์ที่ตั้งคำถามต่อบ้านที่อาศัยบนที่สูง

“บรรยากาศของโลกเรา คงได้แค่หายใจนำมลพิษเข้าปอด คนพวกนี้ทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะเห็นแก่ได้อย่างเดียวโดยไม่คิดถึงคนอื่น” อีกหนึ่งคอมเมนท์ของผู้คนที่ไม่ได้พยายามหาคำตอบ

“ได้แต่ครุ่นคิดในใจว่าเมื่อเกิดไฟป่าแต่ละครั้ง การไฟฟ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมแบบนี้มากเท่าไหร่”

ผู้เขียนตั้งคำถามขณะเดินทางเข้าหมู่บ้านตำบลแม่หอพระเพื่อไปหาคำตอบของสังคม เมื่อเหลือบเห็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่กำลังทำงานหนักเพื่อซ่อมและเปลี่ยนสายไฟฟ้าเนื่องจากเกิดเหตุไฟไหม้รุกลาม

ภูเขาน้อยใหญ่ประกอบกันเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประกอบกันเป็นพื้นที่อาศัยอยู่ของชาวบ้านตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ บรรยากาศของที่นี่กำลังเริ่มมีลมหนาวผลัดผ่านเข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่ได้หนาวเหน็บเหมือนหลายปีที่ผ่านผ่านมา ระหว่างการเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านจะเห็นร่องรอยของการเผาไหม้ สลับกันไประหว่างต้นไม้ที่เขียวชะอุ่ม

ในหมู่บ้านนี้มี “พ่อหลวงสุริยา ตั้งตัว” ผู้ใหญ่บ้านประจำ ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังไปพบปะชาวบ้านเพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่

หมู่บ้านแห่งนี้มีพื้นที่ป่า ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่จะมีการผลัดใบพร้อมกันทั้งป่า วิถีชีวิตของคนที่นี่ส่วนใหญ่ทำมาหากินอาศัยอยู่กับป่า โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน จะมีการเก็บเห็ดถอบไว้กิน ไว้ขาย สามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้คนที่นี่

“เห็ดถอบขึ้นในบริเวณใต้ดิน ใต้ต้นไม้ ซึ่งจะมีใบไม้ปกคลุมหน้าดินเป็นจำนวนมากทำให้ยากต่อการหา วิธีการจัดการแบบฉบับชาวบ้านคือการเผาเชื้อเพลิงที่ปกคลุมหน้าดินให้สะดวกต่อการเก็บเห็ด” พ่อหลวงสุริยาพยายามอธิบายวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่

พ่อหลวงสุริยาบอกเล่าต่อไปอีกว่า ปัญหาฝุ่นควันไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะได้ผลกระทบกันทุกคน แต่การชิงเผาป่าก็เป็นตัวช่วยสำคัญในการกำจัดเชื้อเพลิง ลดความรุนแรงของไฟป่าที่จะเกิดขึ้น และเพิ่มการหมุนเวียนธาตุอาหารในดินเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ

“เราควรตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐที่อนุญาตให้ชิงเผาป่าได้ในช่วงธันวาคม-มกราคม แต่เป็นช่วงที่ใบไม้ยังไม่แห้ง ช่วงเวลาที่สามารถเผาได้คือกุมภาพันธ์-มีนาคม แต่กลับประกาศห้ามใช้ไฟ เมื่อไม่สามารถเผาในเวลาดังกล่าวได้ ก็นำไปสู่การลักลอบเผาที่ไม่สามารถควบคุมได้” พ่อหลวงพยายามอธิบายต่อคำถามของการรุกลามของไฟป่า

“รัฐควรกลับไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้วิถีชีวิตกับกฎหมายไปด้วยกันได้ ไม่มีฝ่ายใดควรถูกเอารัดเอาเปรียบจากความยุติธรรมที่รัฐสร้างขึ้นมา”พ่อหลวงสุริยาหวังให้รัฐทบทวนต่อการออกกฎหมายโดยไร้การมีส่วนร่วมกับประชาชน

“ที่มาของเงินทองก็มีอยู่แค่นี้ ถ้าให้หยุดหาของป่า แล้วจะเอาอะไรกิน เกิดมาก็อยู่กับป่า หากินกับป่า เราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แค่ทำมาหากินตามวิถีชีวิต เพื่อให้มีชีวิตรอด” พ่อหลวงบอกเล่าด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นต่อการดำรงชีวิตแม้จะถูกตั้งคำถามมากมายจากสังคม

“มองในมุมกลับหากรัฐบาลออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยการห้ามขับรถยนต์ ห้ามขับรถจักรยานยนต์ ให้ประชาชนทุกคนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะกันถ้วนหน้านั้นเป็นไปได้ยากที่ทุกคนจะไม่ใช้รถส่วนตัว การห้ามเผาป่าจะให้ทำได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้ยากเช่นกัน”  พ่อหลวงสุริยาชวนคิดในมุมกลับหากคนเมืองถูกออกกฎห้ามเช่นเดียวกับชาวเขา

ปรากฎการณ์นี้ งานวิจัยการจัดการไฟป่าและหมอกควัน บทเรียนจากการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของพหุภาคีในจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ปัญหาไฟป่าและหมอกควันสามารถลดลงได้ หากมีการจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในระดับท้องถิ่น การจัดการไฟป่าในพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ คือชาวบ้าน เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่า อำเภอจอมทอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนักวิจัย 

ในงานวิจัยระบุต่อว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ปรับการควบคุมไฟป่าจากวิธีการแบบเดิมมาเป็นการชิงเผาเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิง วิธีการนี้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเพราะมีความ เหมาะสมกับบริบทของสภาพภูมิประเทศ ชนิดป่าไม้ ภูมิอากาศ และลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ การชิงเผาเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงสามารถลดจำนวนไฟป่าและหมอกควันได้เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต”

“ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังได้ร่วมกันสร้างวิธีการจัดการไฟป่าอย่างเป็นระบบที่เหมาะกับบริบทของพื้นที่ ปัจจัยของความสำเร็จ คือ หมู่บ้านสามารถเลือกวิธีจัดการไฟป่าที่เหมาะสม ที่ช่วยลดเวลาทำงาน แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการควบคุมไฟป่า ในขณะเดียวกันการชิงเผา ในบริเวณนี้ยังมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศน้อย ในขณะที่ความรุนแรงของไฟในระหว่างการชิงเผายังอยู่ในระดับต่ำ จึงมีผลกระทบต่อไม้หนุ่มและลูกไม้ไม่มาก วิธีการชิงเผาจึงได้รับการยอมรับมากขึ้นมาโดยตลอด จนมีการนำไปขยายผลในพื้นที่ป่าเต็งรังอื่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” งานวิจัยระบุ

ในวันที่ค่าฝุ่นยังคงพุ่งสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่ากังวล ในวันที่รัฐบาลไทยยังคงหายลอยกลายเป็นฝุ่นที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อคติว่าด้วยการเผาก็ยังคงเป็นภาระที่เกษตรกรและคนหาอยู่หากินกับป่ายังต้องเผชิญ เสมือนว่าเราไม่เคยเข้าใจกันเลย แม้แต่น้อย..

อ้างอิง

  • ศุทธินี ดนตรี, “การจัดการไฟป่าและหมอกควัน: บทเรียนจากการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของพหุภาคีในจังหวัดเชียงใหม่,” วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 27, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558): 138-143.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง