เรื่อง: ปิยชัย นาคอ่อน
ข้อมูลจากผลดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัฉริยะปี 2566 โดยดีป้า (DEPA) พบว่าเชียงใหม่อยู่อันดับรั้งท้ายในเรื่องความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะ โดยพบว่าด้านความยั่งยืนมีคะแนนต่ำเพียง 2.5% หนึ่งในนั้นคือเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดจากการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งร้านอาหารในเมืองเชียงใหม่ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารตามสั่ง ร้านปิ้งย่าง ร้านหมูกระทะ คาเฟ่ ร้านกาแฟ และในห้างสรรพสินค้า หันมาใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยราคาที่ถูกและจัดการได้ง่ายกว่าแก้วที่แบบเอามาใช้ซ้ำ ถึงแม้จะมีข้อดีที่ราคาถูก แต่ก็มีข้อเสียตามมาคือต้องแลกมาด้วยการจัดการขยะที่มีความยากและก่อให้เกิดมลภาวะตกค้างซึ่งนำไปสู่การเป็น Micro Plastic และกลายเป็น ฝุ่น PM. 2.5 ได้ ผู้เขียนจึงอยากพาทุกท่านตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่จะเลิกใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว VS แบบใช้ซ้ำ
ก่อนอื่นขอพามาทำความรู้จักกับแก้วน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือแก้วพลาสติกแบบ PET (Poly (ethylene terephthalate), PET) (และขอแทนแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งว่าแก้ว PET) มีความใส ทนทาน ทำให้บางได้ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle) นอกจากนี้ยังมีแก้วพลาสติกชนิดอื่น เช่น PP5 (Polypropylene) PS6 (Polystyrene) เรียกรวม ๆ คือแก้วพลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียม โดยส่วนใหญ่แล้วแก้วลักษณะนี้จะใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะมีราคาถูกจึงไม่คุ้มที่จะนำมาล้างใช้ซ้ำ ในขณะที่แก้วจากวัสดุอื่น เช่น แก้ว โลหะ กระเบื้องที่มีความเหมาะสมในการใช้ซ้ำมากกว่าแต่ต้องแลกมากับราคาที่สูงกว่าและปัญหาอื่น ๆ ตามมา คือ ต้นทุนกับค่าแรงในการล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ หายบ่อย แตก บิ่น เสียหายง่าย และปัญหาเรื่องความสะอาดหากล้างทำความสะอาดไม่ดีพอ
แล้วหากมีแก้วกระดาษในสมการนี้
แก้วกระดาษอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการใช้งานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย แต่แลกมาด้วยราคาที่สูงกว่าแก้ว PET จากการสำรวจราคาจากห้างค้าส่งขนาดใหญ่แห่งหนึ่งพบว่า ราคาแก้ว PET ขนาด 16 OZ อยู่ที่ราคา 49 บาท ต่อ 50 ชิ้น ในขณะที่แก้วกระดาษมีขนาดและจำนวนเท่ากันมีราคาอยู่ที่ 65 บาท (ราคา ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ) ต่างกันอยู่ที่ 16 บาท ซึ่งถือว่าสูงพอควร ทำให้ร้านค้าเลือกที่จะใช้แก้ว PET มากกว่าแก้วกระดาษ นอกจากนี้ด้วยระยะเวลาการใช้งานหากลูกค้านั่งในร้านแก้วกระดาษก็อาจจะทะลุไปก่อนที่รับประทานอาหารหมดได้ ยังมีแก้วกระดาษที่มีลักษณะเป็นกรวยที่มีราคาถูกกว่า แต่ใช้งานได้น้อยครั้งอีกทั้งมีขนาดเล็กกว่า ซึ่งอาจเป็นตัวเลือกที่ไม่ดีนัก ซึ่งแก้วกระดาษอาจอยู่ฝั่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่าการลดต้นทุนซึ่งเหมาะกับร้านที่สามารถรองรับต้นทุนตรงนี้ได้
ยังมีแก้วชนิดอื่นอีกไหมและทางออกจะเป็นยังไง
แก้ว BIO CUP หรือแก้วที่ทำจากพอลิแลคติกแอซิด (Polylactic Acid หรือ PLA) เป็นพลาสติกที่สังเคราะห์จากวัตถุดิบธรรมชาติ ทำให้สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติและมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็จะพบกับปัญหาเดิมคือราคาแพง ไม่คุมที่จะลงทุน ทำให้ทางเลือกระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับการลดต้นทุนไปด้วยกันได้ยาก ผู้เขียนเลยเสนอแนวทาง ดังนี้
เลือกใช้แก้วที่สามารถใช้ซ้ำได้
แม้การใช้แก้วที่สามารถใช้ซ้ำได้จะมีปัญหาตามที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้วการใช้แก้วแบบนี้จะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าการใช้แก้วแบบ PET แต่ในส่วนของร้านค้าต้องดูแลเรื่องความสะอาดให้มากขึ้น
การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ
อย่างไรก็ตามทางภาครัฐได้มีการออกนโยบายเกี่ยวกับการลดใช้พลาสติก เช่นเทศบาลนครเชียงใหม่ที่เปลี่ยนจากขวดน้ำพลาสติกเป็นขวดแก้ว รวมไปถึงการรณรงค์ให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติเช่นเดียวกัน หากไม่ใช่เชิงนโยบายแล้วการสนับสนุนอาจจะไม่ใช่การลดราคาแก้วกระดาษหรือให้เงินอุดหนุนในการซื้อแก้วกระดาษหรือแก้วประเภทอื่นที่ไม่ใช่แก้ว PET แต่เป็นการสนับสนุนการวิจัยให้เกิดแก้วที่มีราคาถูกรวมถึงกระบวนการผลิตแก้วที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อให้ร้านค้าสามารถเข้าถึงวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้และเป็นการสนับสนุนแก้วแบบใช้ซ้ำได้ให้กับร้านค้าเช่นกัน
รณรงค์ให้นำแก้วมาเอง
การณรงค์นี้เป็นอีกหนึ่งวิธีในการแก้ปัญหาหากมีการสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วส่วนตัวมาใช้เอง ซึ่งปัจจุบันก็มีการรณรงค์กันอยู่บ้างแต่ยังไม่ทั่วถึง หากสามารถสนับสนุนเป็นการนำแก้วมาแล้วได้รับส่วนลดหรือได้ของสมนาคุณอื่นก็จะเป็นแรงจูงใจที่ดีในการนำแก้วมาเอง
ส่งเสริมวัสดุจากธรรมชาติ
เช่น แก้วที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ แก้วที่ทำจากใบตาล แก้วจากกะลามะพร้าว หรือแก้วดินเผาซึ่งสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้กับร้านค้าได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ตามยังคงพบกับปัญหาเรื่องต้นทุนสูงจึงควรให้ภาครัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนเช่นกัน
ท้ายที่สุดนี้ด้วยสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจทำให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายของร้านค้าไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนให้ทั้งสองสิ่งนี้ไปด้วยกันได้ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ
อ้างอิง
- https://www.depa.or.th/th/article-view/TSCCI_2023?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR2IzBHC2bO9yDlMU5T0iEnJ_Q8R98EKwKDse0i4ggvYLhJNzs2ab22ofEo_aem_ZmFrZWR1bW15MTZieXRlcw
- https://www.punthaicoffee.com/blog/article/punthai-bio-cups
- https://childimpact.co/learning/Plastic-Glass-Recycling
- https://www.mtec.or.th/bio-plastic/what-is-plastic/plastic-usage.html
- http://www.tambondoisaket.go.th/img_update/download/1167_766_CCF18102561.pdf
Lanner เปิดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com