พฤษภาคม 19, 2024

    วงถกรื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากชาวเขาสู่ชนเผ่าพื้นเมือง แนะสู้เชิงโครงสร้างมากกว่าแค่อัตลักษณ์

    Share

    9 สิงหาคม 2566 กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอกและคณะก่อการล้านนาใหม่ ได้จัดเสวนา “รื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากชาวเขาสู่ชนเผ่าพื้นเมือง” เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล ณ ห้องประชุม ธนี พหลโยธิน อาคาร 1 ชั้น 1 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 12.30-17.30 น. 

    โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อาจารย์นเรศ สงเคราะห์สุข ผู้ทรงคุณวุฒิทีมภาคเหนือตะวัน และ วงเดือน ประกอบกิจ (อดีตสหาย) ดำเนินรายการโดย ลิขิต พิมานพนา กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก

    ก่อนเริ่มวงเสวนามีการกล่าวเปิดและกล่าวความสำคัญ ของวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล โดย สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR)

    เนื้อหาในเสวนาได้พูดถึงประเด็น อคติทางชาติพันธุ์ในด้านต่างๆ รวมไปถึงการได้รับผลกระทบจากสงครามเย็นของกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการเล่าถึงเหตุการณ์และประสบการณ์ในอดีตในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์ประเทศไทยยังมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่สูงของไทยที่ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเข้าร่วมกับพรรคด้วย นอกจากนี้ยังมีการยกหลักฐานว่ากลุ่มใดหรือปัจจัยภายนอกชนิดไหนส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มถึงเลือกปลูกฝิ่น และการเข้ามาของรัฐสมัยใหม่ที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อกลุ่มชาติพันธุ์ 

    โดยในเสวนามีการให้ข้อเสนอ อาทิ การทำงานเป็นภาคีเพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นชาติพันธุ์ต่อสังคมไทยให้มากขึ้น การมีตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปในสภาเพื่อเป็นปากเสียงแก่กลุ่มชาติพันธุ์ การต่อสู้เชิงโครงสร้างที่มากกว่าการต่อสู้ในเชิงการเมืองอัตลักษณ์ สร้างความเป็นกลุ่มก้อนที่สามารถต่อรองกับอำนาจเชิงโครงสร้างได้

    ในช่วงท้ายหลังจบเสวนามีการอ่านแถลงการชาติพันธุ์ปลดแอก (Free Indigenous People: FIP) ปักหมุดหมายชำระประวัติศาสตร์ จาก ‘ชาวเขา’ สู่ชนเผ่าพื้นเมือง เป็นการ มีเนื้อหาดังนี้

    “ไม่อาจปฏิเสธได้อีกแล้ว ว่าประเด็นปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไทยนั้นเกี่ยวพันกับการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ เมื่อยุคหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองถูกมองเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นมวลชนของคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันก็ดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ถูกมองว่าตัดไม้ทำลายป่า กลายเป็นกลุ่มคนนอกกฎหมายที่น่าหวาดระแวงของรัฐไทย

    แต่จนวันหนึ่งเมื่ออำนาจตามกฎหมายได้ครอบคลุมไปถึง กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกลับถูกกล่อมเกลาให้กลายเป็นฐานอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ ตั้งแต่อำนาจรัฐ จนถึงอำนาจเหนือรัฐ ศักยภาพในการจัดการตนเองของเผ่าพันธุ์ถูกทำให้หดแคบภายใต้วาทกรรม โง่ จน เจ็บ ถูกจัดการให้กลายเป็นมวลชนใต้แนวคิดการอุปถัมภ์ ต้องร้องขอ ต้องรอรับการสงเคราะห์ และต้องนอบน้อมระลึกถึงบุญคุณของระบบอำนาจที่ถูกประกอบสร้างภายใต้รัฐไทย หลายทศวรรษที่ผ่านมานานาปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจึงไม่เคยถูกแก้ไขอย่างถอนรากถอนโคน และถูกกดทับอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์การเมืองเผด็จการ

    อย่างไรก็ตาม พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่มได้พยายามลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปลดพันธนาการการกดขี่เผ่าพันธุ์ดังกล่าว ทั้งพยายามส่งเสียงหวังสร้างภราดรภาพในสังคมว่าเราไม่ใช่ ‘ชาวเขา’ ในความหมายที่รัฐไทยสร้างให้ แต่เราคือชนเผ่าพื้นเมือง คือเพื่อนร่วมสร้างสรรค์สังคม การลุกขึ้นสู้ในหลายครั้งจบลงด้วยความรุนแรงโดยรัฐ ถูกกระทำอย่างป่าเถื่อนจนสูญเสียชีวิต วิถีที่เคยดำเนินอย่างปรกติถูกรุกรานปรับเปลี่ยน การดำรงชีพอยู่ภายใต้สถานการณ์การกดขี่เช่นนี้ไม่เคยสร้างความมั่นคงต่อชีวิตและจิตใจ ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นคน

    ในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลกปีนี้ พวกเราในนาม ‘ชาติพันธุ์ปลดแอก’ ขอยืนยันว่าเราไม่อาจยอมต่อสภาวะการกดขี่เช่นนี้ได้อีกต่อไป จึงขอส่งเสียงของพวกเราต่อทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อปลดแอกและชำระประวัติศาสตร์ ‘ชาวเขา’ สู่ชนเผ่าพื้นเมือง ดังนี้

    1. รัฐไทยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องรับผิดชอบต่อทุกการกระทำ การผลิตซ้ำมายาคติเชิงลบ ทุกการกดขี่ ทุกโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมชำระประวัติศาสตร์ ‘ชาวเขา’ ด้วยการขอโทษกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองด้วยความจริงใจ

    2. ต้องปลดแอกมรดกสงครามเย็นออกจากนโยบายและกฎหมายทั้งหมด อาทิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า นโยบายคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ รวมถึงพระราชบัญญัติสัญชาติ

    3. กฎหมายเพื่อส่งเสริมศักยภาพ และคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นแนวนโยบายขั้นแรกที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันให้มีผลบังคับใช้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยโดยเร่งด่วน

    เพื่อชำระประวัติศาสตร์ ปลดแอกการกดขี่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และยืนยันว่าเราไม่ใช่มวลชนเครื่องมือหรือฐานอำนาจของกลุ่มชนใด เช่นนี้จึงเป็นการทวงสิทธิและศักดิ์ศรีคืนสู่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองอย่างแท้จริง

    ประกาศเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก 9 สิงหาคม 2566 ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...