เมษายน 20, 2024

    “คืนปอดให้ประชาชน” ปชช.เหนือยื่นฟ้อง ‘ประยุทธ์’ เหตุเมินวิกฤติฝุ่น

    Share

    10 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ประกอบด้วยตัวแทนจากศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สภาลมหายใจภาคเหนือ พร้อมเครือข่ายประชาชน เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ในกรณีที่รัฐบาลประยุทธ์เมินเฉยต่อการแก้ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ โดยการยื่นฟ้องครั้งนี้เป็นการขอยื่นฟ้องในกรณีเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายจังหวัดไม่ใช่แค่จังหวัดเชียงใหม่เพียงเท่านั้น

    โดยมีการนัดรวมตัวเพื่อเคลื่อนขบวนบริเวณหน้าป้ายศาลปกครองเพื่อไปยื่นฟ้อง และมีการแสดง Performance Art จากลานยิ้มการละคร ที่มุ่งสื่อสารทางศิลปะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการหายใจ และเคลื่อนขบวนไปยังหน้าศาลปกครองเชียงใหม่พร้อมถือป้ายที่มีข้อความ ‘สุขภาพของประชาชนคือกำไรของนายทุน’  ‘ขอทวงสิทธิการหายใจ’ ‘ฝุ่นอันตรายนโยบายไม่โอเค’ และ Right to clean air เป็นต้น

    รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้การอ่านแถลงการณ์ในการฟ้องร้องในครั้งนี้โดยมีรายละเอียดว่า

    ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ มีความเข้มข้นสูงปกคลุมเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นวิกฤตระดับสูงสุด และมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสมแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย โดยมีฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปต่อเนื่องกันนับสัปดาห์ เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน 

    วันที่ 10 เมษายน 2566 เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ  และประชาชน  จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์-โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนการฟ้องตั้งแต่วันที่ 7-9 เมษายน 2566 ซึ่งมีประชาชนมาร่วมลงชื่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กว่า 727 คน และลงชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนประเด็นการแก้ไขวิกฤตฝุ่นจากเกษตรพันธสัญญาจำนวนกว่า 980 คน และยังได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมอื่น ๆ เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และกรีนพีซ ประเทศไทย ฯลฯ

    การฟ้องร้องครั้งนี้ มีข้อเรียกร้องสำคัญทางคดี 3 ประการ ได้แก่

    ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์

    ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ

    ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่น ๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย

    ผู้เข้าร่วมฟ้องคดีส่วนหนึ่งกล่าวถึงเหตุผลของการฟ้องร้องครั้งนี้ ดังนี้

    รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า “แผนฝุ่นแห่งชาติที่มีมาตั้งแต่ปี 2562 ไม่ได้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเลย  ส่วนมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ แต่นายกฯ กลับไม่ได้ใช้อำนาจนี้  ปัญหาสำคัญคือกฎหมายและแผนที่มีอยู่ไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างเต็มที่ เราอยากเห็นการนำกฎหมายและแผนมาใช้ปฏิบัติการจริง ถ้ามันใช้ไม่ได้เราจะได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้จริงๆ”

    นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ กล่าวว่า “ประชาชนในเมืองต้องเจอฝุ่นพิษ PM2.5 ระดับเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมะเร็งปอดชนิด EGFR mutation [1] ที่มักพบในคนไม่สูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น  7 เท่า รวมถึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอายุเฉลี่ยสั้นลง 4-5 ปี เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจากภาครัฐด้วยเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แน่วแน่ ไม่เกรงใจกลุ่มทุน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและรักษาชีวิตคนได้นับล้าน”

    ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ กล่าวว่า “ทุกคนต้องทนอยู่กับวิกฤตฝุ่นพิษที่เลวร้ายขึ้นทุกปีไม่ไหวแล้ว รัฐต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดมลพิษฝุ่นควันในป่าและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณต่อพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องให้ความสำคัญและมีนโยบายเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษไม่ควรจะทำเป็นอิเวนท์แล้วจบเป็นปีๆ ไป สภาลมหายใจในฐานะตัวแทนประชาชนต้องการเป็นอีกพลังส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคของเรา เพื่อลูกหลานจะไม่ทุกข์ทรมาน มีลมหายใจที่สะอาดในอนาคต”

    การใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และสิทธินี้ได้รับการรับรองแล้วผ่านกฎหมายที่มีอยู่แล้วแต่รัฐละเลยที่จะทำตามกฎหมายนั้น การฟ้องร้องในครั้งนี้จึงเรียกร้องสิ่งที่เรียบง่ายและเป็นพื้นฐานอย่างยิ่ง ร่วมทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐาน ทวงคืนปอดให้ประชาชนร่วมกัน

    #คืนปอดให้ประชาชน  #นายกทำงานซะบ้าง  #นายกยะก๋านกำเต๊อะ

    สำหรับการยื่นฟ้องในครั้งนี้มีพรรคการเมืองได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์การยื่นฟ้องในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคสามัญชน

    Related

    สงกรานต์เมียนมาในวันที่ดอกประดู่ไม่บาน

    เรื่อง: Lanner Burmaภาพ: วิศรุต แสนคำ /  ฮวาน (ไม่ใช่ชื่อจริง) /...

    ฝุ่นพิษข้ามแดนในห้วงยามที่ “ทุน” สยายปีก

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมในนามของเสรีนิยมใหม่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เอกชนเกิดแรงจูงใจเพื่อจะสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างเสรีโดยปราศจากการผูกขาดโดยรัฐ จนเมื่อมีการเปิดให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี จึงนำไปสู่ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล หนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ปัญหาหมอกควัน”...