พฤษภาคม 19, 2024

    ชีวิตบนเส้นด้ายของเกษตรกรหลังบ้านอีอีซี

    Share

    เรื่อง: กัมปนาท เบ็ญจนาวี[1]

    เกษตรกรหลังบ้านอีอีซีส่วนใหญ่ถูกจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจหลังการปิดล้อมใหม่ โดยเฉพาะการขาดการเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงอำนาจในการมีส่วนร่วมกำหนดภูมิทัศน์การพัฒนาในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีเงื่อนไขที่จำกัดในการคาดเดาและกำหนดอนาคตของตนเอง จนนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของสถานการณ์ความขัดแย้งและความแตกต่างทางสังคม มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม โดยที่กระบวนการแยกความแตกต่างทางสังคม  เป็นผลลัพธ์หนึ่งจากพัฒนาการของกระบวนปิดล้อมที่ใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในสองด้าน ได้แก่ ด้านหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่หลากหลายของผู้กระทำการท้องถิ่นในการตอบสองต่อกระบวนการปิดล้อมใหม่ และอีกด้านหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่แตกต่างในความสามารถของผู้กระทำการท้องถิ่นแต่ละกลุ่มจากทุน ประเภทต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มมีอยู่ ​เพื่อเชื่อมร้อยความสัมพันธ์แบบทุนนิยมภายใต้กระบวนการปิดล้อมใหม่ โดยที่ผู้กระทำการท้องถิ่นบางส่วนที่สามารถเชื่อมร้อยความสัมพันธ์เข้ากับเครือข่ายทุนใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้ ในขณะที่ก็ยังมีเกษตรกรบางส่วนต้องผลัดออกจากพรมแดนทางสังคม-เศรษฐกิจเดิม หรือหลุดออกจากแหล่งการผลิตเดิมของตนเอง

    การแยกความแตกต่างทางสังคมในสังคมเกษตรกรรม

    ภายใต้บริบทของผลลัพธ์ของการปิดล้อมที่ดินใหม่ในสังคมเกษตรกรรมหลังบ้านอีอีซี นอกเหนือจากจะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างเกษตรกรกับที่ดินแล้ว ก็ยังมีผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจระหว่างผู้คนภายในสังคมเกษตรกรรมในสองด้าน ได้แก่ ด้านหนึ่ง กลุ่มคนจำนวนหนึ่งสามารถปรับสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจได้สูงขึ้น ผ่านการเข้าไปผูกโยงสัมพันธ์กับการขยายตัวของระบบทุนและตลาด และอีกด้านหนึ่ง กลุ่มคนอีกจำนวนมากต้องเข้าสู่กระบวนการแยกความแตกต่างทางสังคม เนื่องจากสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงและการควบคุมทรัพยากร จนถูกบีบให้ต้องกลายเป็นแรงงานกรรมาชีพทั้งแบบกึ่งหนึ่งและแบบเต็มตัว

    ความแตกต่างทางสังคมในหมู่เกษตรกรที่เกิดขึ้นจากการปิดล้อมใหม่ ทำให้เกษตรกรรมหลังบ้านอีอีซี แยกออกเป็น สามกลุ่ม ด้วบกัน ประกอบด้วย กลุ่มผู้แสวงหาค่าเช่า กลุ่มเสี่ยงในชนบท และกลุ่มกรรมาชีพหรือแรงงานรับจ้าง ซึ่งความแตกต่างทางสังคมของทั้งสามกลุ่มสัมพันธ์อยู่กับมิติของอำนาจ ความสัมพันธ์ในการผลิตและการบริโภค และการครอบครองที่ดินในฐานะเงื่อนไขที่มีผลโดยตรงต่อยุทธศาสตร์การดำรงชีพของเกษตรกรที่แต่ละครัวเรือนมีอยู่แตกต่าง

    ผู้แสวงหาค่าเช่า

    กลุ่มผู้แสวงหาค่าเช่าเป็นกลุ่มที่มีทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนวัฒนธรรมเป็นทรัพยากรสำคัญในการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์แบบทุนนิยมในระนาบต่าง ๆ และการแสวงหาหนทางการสะสมทุนผ่านการปล่อยเช่าหรือเก็งกำไรในสินทรัพย์ รวมถึงการใช้ทุนแต่ละประเภทเพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงอำนาจและทรัพยากรท้องถิ่น สำหรับนำมาใช้ในการปรับปรุงวิถีชีวิต และผลิตซ้ำการผลิตและการบริโภคของตนเองได้ นอกเหนือจากที่ดินฐานะทรัพยากรหลักที่กลุ่มคนเหล่านี้มีครอบครองอยู่แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้มักมีเทคโนโลยีและเครื่องมือในการผลิตที่ดี รวมถึงมีพลังในการต่อรองภายในท้องถิ่นหรือในระดับที่มากกว่า สำหรับนำมาใช้ในการเพิ่มความสามารถในการยกระดับวิถีชีวิต หรือผลิตซ้ำการผลิตและการบริโภคของตนเองได้

    กลุ่มผู้แสวงหาค่าเช่าอาจเป็นกลุ่มที่มีทุนทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนการปิดล้อมใหม่ หรืออาจเป็นกลุ่มที่ใช้ทุนประเภทอื่นจนสามารถประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจในช่วงระหว่างการปิดล้อมใหม่ ท่าทีของกลุ่มนี้ต่อกระบวนการปิดล้อมใหม่มักมีทั้งลักษณะที่สนับสนุนและนิ่งเฉย ซึ่งความไม่แน่นอนที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือความไม่แน่นอนในกระบวนการแลกเปลี่ยน อันสัมพันธ์กับความผันผวนของตลาดจึงส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบการสะสมทุนของกลุ่มผู้แสวงหาค่าเช่า

    ซึ่งในกรณีของ ‘เฮียโชค’ [นามสมมติ] กับการก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรกรรม และธุรกิจภาคบริการ มีเงื่อนไขมาจากการที่ครอบครัวมีรายได้จากทั้งการเพาะปลูกและการเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิต (เช่น มันสำปะหลัง และข้าวโพด) เพื่อนำไปขายต่อ ก่อนที่ในช่วงทศวรรษที่ 2530 ครอบครัวได้ลงทุนในธุรกิจที่สืบเนื่องกับภาคเกษตรกรรมเพิ่มเติม ได้แก่ ธุรกิจขายอุปกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำให้ตนเองและครอบครัวกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2535-36 เกิดสถานการณ์ราคามันสำปะหลังตกต่ำ จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคมกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นได้ทำให้ตนเองมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดและทบทวนนโยบายด้านเกษตรกรรม จนสามารถสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจทั้งในและนอกสังคมเกษตรกรรม โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายกลุ่มทุนที่กว้างขึ้น

    ‘เฮียโชค’ ให้ความหมายกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง-สังคมของตนเองไว้ว่า ‘นักธุรกิจที่มีมิติทางสังคม’ เพราะมองว่า หากเกษตรกรมีปัญหา ธุรกิจเชื่อมโยงภาคเกษตรกรรมย่อมมีปัญหาตามด้วย การเข้าร่วมเคลื่อนไหวทั้งในระดับกลุ่มเกษตรกร และในเชิงนโยบายจึงไม่ได้เป็นผลดีเพียงแค่ธุรกิจของตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อเกษตรกรในภาพรวมด้วย ซึ่งการเลือกใช้การรวมตัวและการเคลื่อนไหวของบทบาทของผู้แสวงหาค่าเช่าหรือผู้ประกอบการรายใหม่นี้ เชื่อมโยงอยู่กับเหตุผลทางการเมืองและการรับมือกับความเสี่ยง

    แนวทางในการผลิตซ้ำและรักษาระดับการดำรงชีพของ ‘เฮียโชค’ สะท้อนให้เห็นว่าการใช้ทรัพยากรภายในสังคมเกษตรกรรมและในระบบตลาด เช่น ที่ดิน ทุน แรงงาน และเครือข่ายทางสังคมของเกษตรกร เป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอต่อการรับมือกับความไม่แน่นอนในสังคมเกษตรกรรม การดึงทรัพยากรนอกภาคเกษตรกรรมและเครือข่ายเชิงอำนาจถือเป็นสิ่งที่จำเป็น

    “หากสิ่งใดเป็นที่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรค ก็เข้าไปหาสิ่งที่อยู่เหนือกว่าสิ่งนั้น เช่น เจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตรไม่เข้าใจปัญหา ก็เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่อยู่เหนือกว่า” (เฮียโชค [นามสมมติ], ผู้แสวงหาค่าเช่า, สัมภาษณ์, 2564)

    สำหรับมุมมองของ ‘เฮียโชค’ ต่อสังคมเกษตรกรรมหลังบ้านอีอีซีในอนาคต มีแนวโน้มที่เรียกว่า ‘ทรงกับทรุด’ เนื่องจากที่ดินถูกจับจองเกือบทั้งหมด ทำให้การเช่าซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมเป็นต้นทุนสูง นโยบายการพัฒนาในระดับพื้นที่ของรัฐก็ยังเป็นแนวโน้มสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม รวมถึงการลดและละเลยการบังคับใช้กฎระเบียบของรัฐก็ยังมีส่วนเอื้อประโยชน์ให้กับเครือข่ายกลุ่มทุนธุรกิจเกษตรกรรมต่างชาติขนาดใหญ่เข้ามามีอำนาจในระบบตลาดเกษตรกรรมในประเทศ 

    ชนชั้นเสี่ยงในชนบท

    กลุ่มชนชั้นเสี่ยงในชนบท คือกลุ่มที่อาศัยทุนประเภทต่าง ๆ ที่ตนเองมีอยู่จำนวนหนึ่ง หรืออาศัยการเป็นแรงงานรับจ้างแบบกึ่งกรรมาชีพเพื่อนำมาเป็นทรัพยากรสนับสนุนการผลิตซ้ำกิจกรรมเศรษฐกิจบางอย่างอยู่บนฐานการผลิตเดิมหรืออยู่บริเวณที่ดินใกล้เคียงกับที่ดินเดิม ซึ่งลักษณะของกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนที่ดินทั้งกระบวนการผลิตและการแลกเปลี่ยนของกลุ่มนี้ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ รวมถึงการพังทลายลงของกลไกทางสังคมเดิมยังส่งผลต่อความไม่แน่นอนในการบริโภคและการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่น

    ชนชั้นเสี่ยงในชนบทยังถือเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางสังคมและการดำรงชีพอยู่ในวิถีการผลิตเกษตรกรรม ซึ่งกลุ่มนี้บางส่วนเคยใช้ชีวิตนอกภาคเกษตรกรรม ก่อนที่จะหันหน้าเข้าสู่สังคมเกษตรกรรม และบางส่วนเป็นเกษตรกรที่ถูกบีบให้ต้องหารายได้และมียุทธศาสตร์การดำรงชีพที่หลากหลาย ทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม หนึ่งในเงื่อนไขที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ในสังคมเกษตรกรรมไว้ คือการรักษาการเข้าถึงที่ดิน ทั้งการปกป้องที่ดินของครอบครัวและการใช้ความสัมพันธ์ทางสังคมในการหยิบยืมที่ดินจากญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิด ทำให้คนกลุ่มนี้ยังมีความสามารถในการต่อรองกับตลาดแรงงาน ซึ่งการรักษาความสัมพันธ์และการดำรงอยู่ในชีวิตแบบเกษตรกรนี้ ถือเป็นเหตุผลที่มีมากกว่าแค่ตรรกะทางเศรษฐกิจหรือการผลิตในภาคเกษตรกรรมตามแบบที่รัฐและเครือข่ายกลุ่มทุนกำหนดไว้เท่านั้น

    กรณีของ ‘หนึ่ง’ [นามสมมติ] เกษตรกรวัยหนุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงที่ดิน ทุน ทรัพยากรที่จำเป็น ทักษะที่ต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติม และอำนาจต่อรองกับตลาดสินค้าเกษตรกรรม เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้แสวงหาค่าเช่า เนื่องจากครอบครัวเป็นเพียงเกษตรกรรายย่อยที่มีทุนจำกัดและครอบครองที่ดินเพียงไม่กี่แปลงที่เหลืออยู่ แต่ตนเองมีความปรารถนาที่จะกลับมาสืบต่อการทำเกษตรกรรมของครอบครัวของ โดยที่ก่อนหน้านี้ ตนเองเคยทำงานนอกภาคเกษตรกรรม เป็นข้าราชการในหน่วยงานของรัฐไม่ห่างจากบ้านของตนเอง แต่ด้วยเหตุผลเรื่องของช่วงวัยของพ่อแม่ที่มีอายุเข้าสู่ช่วงสูงวัย จึงตัดสินใจหันหน้าสู่การเป็นเกษตรกร โดยการวางแผนอนาคตก่อนออกจากงานข้าราชการสามปี ด้วยการต้นมะม่วงและปรับที่ดินบางส่วนเป็นพื้นที่สำหรับฟาร์มเห็ด เพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถใช้เวลานอกเหนือเวลาของงานประจำหลักได้ ซึ่งการวางแผนของตนเองดังกล่าว ถือเป็นความพยายามในการเลือกหนทางที่เหมาะสมที่สุด จากเงื่อนไขของทุน ที่ดินและทรัพยากรที่ครอบครัวของตนเองมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบเชิงลบให้ได้มากที่สุด

    “ตอนที่ยังทำงานประจำ วางแผนว่าสามปีก่อนออกมา จะปลูกต้นมะม่วงและทำฟาร์มเห็ดไว้ เมื่อออกมาก็จะได้มีผลผลิตส่วนหนึ่งไว้ขาย” (หนึ่ง [นามสมมติ], เกษตรกรรุ่นใหม่, สัมภาษณ์, 2564)

    นอกจากเหนือจากการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม ‘หนึ่ง’ ยังต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการความรู้และเครื่องมือใหม่ ๆ สำหรับใช้พัฒนาการทำเกษตรกรรมของตนเอง โดยนอกเหนือจากการค้นหาบนโลกออนไลน์แล้ว ความรู้ส่วนหนึ่งที่ได้รับมาจากสมาชิกคนอื่นในโครงการ Young Smart Farmer ที่ได้เข้าไปร่วมด้วย รวมถึงยังใช้เวลาในช่วงกลางคืนของทุกวันในการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมเพื่อเป็นข้อมูลใช้การประกอบการตัดสินใจลงทุนสกุลเงินดิจิตอล ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้อีกช่องทางหนึ่งที่ตนเองได้นำมาใช้จ่ายภายในครอบครัวและลงทุนในกิจกรรมการผลิตเกษตรกรรมเพิ่มเติม

    สำหรับมุมมองต่อสังคมเกษตรกรรมหลังบ้านอีอีซีในอนาคตของ ‘หนึ่ง’ เป็นมุมมองที่แตกต่างไปจากมุมมองผู้แสวงหาค่าเช่า เนื่องจากเชื่อว่าบนหนทางเกษตรกรของตนเองยังสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่ต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ เครือข่าย และความยืดหยุ่นของการใช้ชีวิตทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาหนทางดังกล่าวไว้ ทั้งนี้ ท่าที่ของเกษตรกรรุ่นหนุ่มสาวส่วนใหญ่ต่อกระบวนการปิดล้อมใหม่มีลักษณะนิ่งเฉย ยกเว้นในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการพัฒนาหรือรับรู้ถึงประสบการณ์ของเกษตรกรรุ่นเก่าจะมีท่าทีที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวตอบโต้

    กรรมาชีพ

    กลุ่มกรรมาชีพหรือแรงงานรับจ้าง คือกลุ่มกรรมาชีพในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่มีการศึกษาหรือทักษะเฉพาะเป็นทุนสำหรับแสวงหาทุนทางเศรษฐกิจ โดยมีทั้งกลุ่มที่เป็นกรรมาชีพมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าการปิดล้อมใหม่ และกลุ่มที่เป็นกรรมาชีพช่วงหลังการปิดล้อมใหม่อันเนื่องมาจากสาเหตุของการพัฒนาที่ก่อให้เกิดการผลัดจากถิ่นเดิม ซึ่งลักษณะความไม่แน่นอนของกลุ่มนี้ยึดโยงกับการวางแผนและการจัดการกระบวนการผลิตกับการแลกเปลี่ยนโดยเจ้าของกิจการ โดยผลกระทบที่ตามมา คือความไม่แน่นอนในกิจกรรมการบริโภคและการจัดสรรทรัพยากร

    ผลลัพธ์ของการปิดล้อมที่ดินและการรุกคืบเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้มีเพียงเป้าหมายในการแยกเกษตรกรและแรงงานท้องถิ่นออกจากที่ดินเกษตรกรรมหรือพรมแดนทางสังคม-เศรษฐกิจเดิมของเกษตรกรเท่านั้น เพราะโรงงานเหล่านี้ยังมีความต้องการทั้งที่ดินและแรงงานสำรองป้อนเข้าสู่โรงงาน ซึ่งกลุ่มกรรมาชีพในพื้นที่หลังบ้านอีอีซีบางส่วนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลจากการปิดล้อมที่ดินใหม่ เนื่องจากขาดเงื่อนไขด้านทุน แรงงาน และทรัพยากรนอกภาคเกษตรกรรมที่เพียงพอต่อการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการที่ไม่สามารถรักษาที่ดินของครัวเรือนไว้ได้ การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่ใช่เพียงแค่การสูญเสียปัจจัยการผลิตไปเท่านั้น แต่เป็นภาวะที่ต้องผลัดออกจากปริมณฑลทางสังคม-เศรษฐกิจเดิมของตนเองไปด้วย

    มุมมองต่อเกษตรกรที่ผันตัวไปเป็นแรงงานในโรงงาน ป้ารี [นามสมมติ] ในฐานะเกษตรกรที่เกิด เติบโต และผ่านประสบการณ์ก่อนและหลังกระแสการตื่นที่ดินในสังคมเกษตรกรรมหลังบ้านอีอีซีแล้ว การได้เห็นภาพของเกษตรกรบางส่วนที่ตัดสินใจขายหรือปล่อยที่ดินไปเพื่อหันไปทำงานนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะการผันตัวไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเต็มตัว แม้ว่าจะทำให้รายได้ของตนเองและครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น แต่เต็มไปด้วยความเปราะบางและขาดความมั่นคงในชีวิต เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ต้องการแรงงานจ้างแบบสัญญารายวันและระยะสั้น และงานบางประเภทยังเป็นงานที่มีผลเสียต่อสุขภาพหรือความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง รวมถึงเมื่อบางคนมีอายุมากมีโอกาสถูกขับออกจากตำแหน่งและด้วยอายุที่มากยังทำให้การเข้าถึงงานอื่นเป็นไปได้ยาก

    “แรงงานที่เข้ามาในจังหวัดปราจีนส่วนใหญ่มาทางานเพื่อหวังจะมีอนาคตที่ดี แต่ด้วยสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง บางคนไม่ได้รับสวัสดิการที่ดี ป่วยทีก็อาจโดนบริษัทยกเลิกสัญญาได้ พอออกจากโรงงานจะกลับมาทำนาทำสวนที่บ้านก็ทำไม่เป็นแล้ว เพราะไปอยู่โรงงานตั้งแต่วัยรุ่น … แรงงานที่เข้ามามีอาชีพเป็นหลักแหล่ง แต่ไม่มีความมั่นคง เพราะเงินที่ใช้ก็หมดไปกับการใช้จ่าย … ยิ่งบางคนใช้เงินในอนาคตก็จะกลายเป็นปัญหาระยะยาว” (ป้ารี [นามสมมติ], เครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์, สัมภาษณ์, 2560)

    อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองของ ‘น้าติ๋ม’ [นามสมมติ] ในฐานะสมาชิกในครอบครัวเกษตรกรที่เกิดและเติบโตในปราจีนบุรี ที่ผันตัวเป็นแรงงานรับจ้างโรงงาน กลับมองว่าการเคลื่อนย้ายถอยห่างจากสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่การเป็นแรงงานในโรงงาน เป็นส่วนหนึ่งของการหยุดวิถีชีวิตในภาคเกษตรกรรมที่ไม่สามารถควบคุมและกำหนดอนาคตได้ เนื่องจากขาดเงื่อนไขที่สำคัญที่เพียงพอต่อการผลิตและการดำรงชีพในภาคเกษตรกรรม การเคลื่อนย้ายจึงถือเป็นทางเลือกเพื่อเปิดโอกาสในการรักษาสถานะทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพของครัวเรือนของตนเอง

    สรุป

    ผลของการปิดล้อมใหม่ในสังคมเกษตรกรรมหลังบ้านอีอีซีที่ผ่านมา มีส่วนทำให้เกษตรกรต้องดำรงอยู่ของท่ามกลางความไม่แน่นอนหลายมิติที่ทับซ้อนกัน และเกิดการแยกความแตกต่างทางสังคม ถือเป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมที่ถูกยึดโยงกับการควบคุมของรัฐและตลาดที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งนี้ ลักษณะของความไม่แน่นอนรูปแบบใหม่ในสังคมแห่งนี้ ด้านหนึ่ง ความไม่แน่นอนของเกษตรกรที่เคยมีเพียงแค่ภายในกระบวนการผลิต ได้ขยายวงกว้างสู่กิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วยทั้งกระบวนการแลกเปลี่ยน การบริโภค และการกระจายทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการวิเคราะห์ของเกษตรกรต่อความไม่แน่นอนที่มีลักษณะซับซ้อนมากขึ้น และอีกด้าน ความไม่แน่นอนรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นยังมีลักษณะที่แตกต่างกันตามเงื่อนไขของเกษตรกรแต่ละคน เนื่องจากเงื่อนไขของความแตกต่างทั้งทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม ในการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์เข้ากับเครือข่ายทุนใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้ในกระบวนการปิดล้อมใหม่ และในการจัดการกับความไม่แน่นอนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเอง


    [1] นักวิจัยในโครงการฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) โดยมี ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นหัวหน้าโครงการ

    บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...