พฤษภาคม 20, 2024

    เมด อิน พะเยา: คมนาคมขนส่งพะเยา … เราขอเลือกเอง

    Share

    เรื่องและภาพ: กมลชนก เรือนคำ

    รูปภาพประกอบด้วย ขนส่ง, ข้อความ, พาหนะ, ล้อ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
    มีมรถโดยสารสาร “พะเยา-เมกา” ที่เคยโด่งดังในโลกโซเชียลเมื่อปี 2563 (ภาพจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

    คมนาคมขนส่งในจังหวัดพะเยา ดังชั่วข้ามคืนจาก “มีม” รถโดยสารสาร “พะเยา-เมกา”

    แท้จริงแล้วเป็นการดัดแปลงภาพจากรถโดยสารเส้นทาง “พะเยา-แม่กานาไร่เดียว” (ภาพจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

    จังหวัดพะเยาเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีประเด็นเรื่องการคมนาคมขนส่งให้พูดถึงจนโด่งดังในระดับประเทศมากนักเหมือนเมืองใหญ่และเมือท่างเที่ยวต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต แต่เมื่อช่วงปี 2563 มีบุคคลนำภาพรถโดยสารประจำทางลงเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลว่า จังหวัดพะเยามีการจัดการเดินรถเส้นทางสาย “พะเยา-เมกา” ซึ่งเป็นคำพ้องเสียง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจทำนองว่า มีรถโดยสารประจำทางเส้นทางสาย “พะเยา-อเมริกา” ได้สร้างความคื้นเครงให้โลกโซเชียล และได้ทำให้ประเด็นการคมนาคมขนส่งในจังหวัดพะเยาดังขึ้นชั่วข้ามคืน

    ต่อมา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ได้นำเสนอข่าว ว่าสำนักงานขนส่งจังหวัดพะเยา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ภาพรถโดยสารที่ลงเผยแพร่ ผู้ทำได้ใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์ดัดแปลงภาพ โดยรถคันดังกล่าวเป็นรถโดยสารประจำทางเส้นทางหมวด 4 สายที่ 2398 เส้นทาง “พะเยา-แม่กานาไร่เดียว” เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นเพราะผู้โพสต์ภาพกระทำลงไปด้วยเหตุคะนอง หยอกล้อเล่น

    ส่องข้อมูลพื้นฐานคมนาคมขนส่งจังหวัดพะเยา

    ข้อมูล จากแผนพัฒนาจังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2561 – 2565) ฉบับทบทวนประจำปี พ.ศ. 2563 ระบุว่าจังหวัดพะเยามีจำนวนประชากรทั้งหมด 477,783 คน มีจำนวนครัวเรือน 183,240 ครัวเรือน ความหนาแน่นโดยเฉลี่ยประมาณ 77 คน/ตร.กม. โดยพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุด คือ อำเภอเมืองพะเยา ส่วนพื้นที่ที่มีประชากรน้อยที่สุด คือ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ 68 ตำบล 780 หมู่บ้าน 72 การปกครองส่วนท้องถิ่น

    ในด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งในจังหวัดพะเยา ไว้ว่าโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันมีรูปแบบการขนส่งหลัก 4 รูปแบบ ได้แก่ ทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ โดยจังหวัดพะเยามีที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนกลางของกลุ่มภาคเหนือตอนบนทางทิศเหนือติดกับจังหวัดเชียงราย ทางทิศใต้ติดกับจังหวัดลำปาง และจังหวัดแพร่ ทางทิศตะวันออกติดกับจังหวัดน่าน ทางตะวันตกติดกับจังหวัดลำปางซึ่งใช้เส้นทางคมนาคมทางบกเป็นหลัก โดยมีเส้นทางคมนาคม ติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงหลายจังหวัด และยังมีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศลาว จังหวัดพะเยามีพื้นที่ปกครอง 6,335 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 3,959,412 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของพื้นที่ พื้นที่จังหวัดพะเยาส่วนที่มีสภาพเป็นพื้นที่ป่า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.07 ของพื้นที่ ทั้งหมด หากเป็นไปตามเกณฑ์สัดส่วนของถนน 1 กิโลเมตร/1 ตารางกิโลเมตร จังหวัดพะเยามีความหนาแน่นของพื้นที่ถนน (Road Density) เพียง 0.69 กิโลเมตร/ ตารางกิโลเมตร

    ด้านขนส่งมวลชนสาธารณะนั้น จังหวัดพะเยามีรถโดยสารสาธารณะ/รถจักรยานยนต์สาธารณะ (1) เส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะจังหวัดพะเยา รวมจำนวน 15 เส้นทาง ผู้ประกอบการ ขนส่ง 6 ผู้ประกอบการ และมีจำนวนรถโดยสารประจำทางทั้งหมด 225 คัน (2) รถจักรยานยนต์สาธารณะจำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ เมืองพะเยา เชียงม่วน แม่ใจ ดอกคำใต้ จุน และเชียงคำ รวมจำนวน 15 แห่ง และมีจำนวนรถจักรยานยนต์สาธารณะทั้งหมด 140 คัน ปัจจุบัน จังหวัดพะเยาได้รับผลกระทบจากปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นของรถที่ต้องผ่านจังหวัดพะเยาโดยมีแนวโน้มของปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่ บนเส้นทางสายหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และเนื่องจากรถโดยสารสาธารณะยังไม่มีบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ การคมนาคมโดยรถส่วนบุคคลจึงมีความจำเป็นในการเดินทาง ซึ่งปริมาณจราจรของจำนวนรถยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบนเส้นทางสายรอง และสายย่อย

    ลองสำรวจตรวจตราเบื้องต้น

    รูปภาพประกอบด้วย พาหนะ, ยานพาหนะทางบก, รถบัส, กลางแจ้ง

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
    รถโดยสารประจำทางเส้นทางเชียงคำ-พะเยา (ภาพโดยกมลชนก เรือนคำ)

    จากการสำรวจและสังเกตโดยผู้เขียน พบว่าการเดินทางในจังหวัดพะเยาเอง ก็ดูเหมือนจะไม่ยุ่งยาก ถ้าหากมีรถส่วนบุคคล ทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ แต่สำหรับคนที่ไม่มีรถส่วนบุคคล ในปัจจุบันการเดินทางในตัวเมืองพะเยาก็ดูเหมือนจะไม่ยุ่งยากนัก เพราะยังมีแอปพลิเคชันที่คอยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เช่น Grab bike Grab Driver แต่กระนั้นคนที่มีรายได้น้อยก็อาจมีข้อจำกัดด้านค่าบริการ

    ส่วนขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ในตัวเมืองพะเยาที่มีราคาถูกกว่านั้นก็ได้แก่ รถเมล์ รถบัส และรถโดยสารไม่ประจำทาง เช่น รถตุ๊กๆ วินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น นอกจากนี้แม้ว่าขนส่งสาธารณะจังหวัดพะเยาสามารถเข้าถึงแต่ละอำเภอได้ก็จริง แต่ระยะเวลาในการเดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะมีความล่าช้ามาก ไม่สะดวกเท่าการใช้รถส่วนบุคคล

    ผู้เขียนได้ลองพูดคุยกับประชาชนในจังหวัดพะเยา โดยบางส่วนได้ให้ความเห็นว่า การที่ขนส่งสาธารณะในจังหวัดจะดีขึ้นก็อาจมีปัญหาด้านผู้ใช้ เพราะว่าคนในจังหวัดส่วนใหญ่มักใช้รถส่วนบุคคลมากกว่าใช้ขนส่งสาธารณะเพราะความคุ้นชินอยู่แล้ว ซึ่งหากจะทำเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ก็ควรส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดควบคู่ไปด้วย

    คมนาคมขนส่งสาธารณะพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

    ผู้เขียนยังได้พูดคุยกับ คุณวิสา บุญนัดดา ผู้ประสานงานพรรคก้าวไกลจังหวัดพะเยา ได้ให้ความเห็นว่าถ้าขนส่งสาธารณะพะเยามีความปลอดภัยและมีเส้นทางเข้าถึงทุกอำเภอมีจำนวนพอเพียงต่อความต้องการเดินทางของคนพะเยา ก็จะมีแนวโน้มที่คนจะใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะปัจจุบัน คนพะเยา แม้จะมีการปรับตัวต่อสภาพขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุม ด้วยการซื้อพาหนะส่วนตัวใช้เอง ซี่งเป็นมานานแล้ว แต่ยังมีคนกลุ่มที่มีความจำเป็น ในการใช้บริการขนส่งสาธารณะอยู่ครับ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่จะต้องเดินทางไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาล กลุ่มเยาวชนที่ยังไม่มีใบขับขี่ กลุ่มผู้ที่ไม่สามารถขับขี่พาหนะส่วนตัว กลุ่มนักเรียนที่ต้องเดินทางมาเรียนในสถานศึกษาไกลบ้าน กลุ่มนิสิต ม.พะเยา ที่ไม่มีรถส่วนตัว หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็สามารถมีตัวเลือกที่จะไม่ต้องแบกภาระการซื้อหรือผ่อนพาหนะส่วนตัวจะเป็นผู้เลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะ เป็นอันดับแรกๆ เพราะโดยรวมมีต้นทุนที่ถูกกว่าสะดวกกว่า

    “เรื่องบริการขนส่งสาธารณะมีความสำคัญต่อชีวิตคนทั่วประเทศ ทั้งเมืองใหญ่ และจังหวัดพะเยาเองด้วยก็ตาม เพราะเชื่อมโยงต่อการลดต้นทุนการใช้ชีวิต มีแนวโน้มความปลอดภัยจากข้อกำหนดต่างๆ ของผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ” คุณวิสา กล่าว

    คุณวิสา ยังมองว่าหากในอนาคต มีการส่งเสริมและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ดี มีความปลอดภัยตรงเวลา และมีราคาที่คนรากหญ้าเข้าถึงได้  มีเส้นทางครอบคลุมทั่วถึงทั้งด้านเส้นทาง และจำนวนรถวิ่งที่ครอบคลุมความต้องการใช้บริการ  เมื่อมีบริการดังกล่าวที่ดีพอ ประชาชนจะค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้นครับ แล้วอีกด้านที่จะได้รับประโยชน์คือ การท่องเที่ยวของเมืองรองอย่างจังหวัดพะเยาครับ ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีและทั่วถึง จะเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงพะเยาได้ง่ายขึ้น จูงใจการท่องเที่ยวพะเยาเช่นกัน

    คมนาคมขนส่งพะเยา … เราขอเลือกเอง

    จากการสัมภาษณ์คนพะเยาบางส่วนก็ให้ความเห็นว่าถ้าขนส่งสาธารณะมีความปลอดภัย สะดวกสบาย ประชาชนและนักท่องเที่ยว จะหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ทั้งนี้ขนส่งสาธารณะทำให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจมีการเติบโต และจูงใจการท่องเที่ยว 

    แต่กระนั้นการใช้เงินภาษีลงทุนในจังหวัดก็ยังต้องคำนึงถึงลำดับความจำเป็น ซึ่งในจังหวัดพะเยาเราก็ยังอาจมีปัญหาอื่น ๆ ที่เร่งด่วนกว่าเรื่องคมนาคมขนส่ง และความต้องการของคนพะเยาส่วนใหญ่จริง ๆ นั้นคือขนส่งมวลชนรูปแบบไหน? จะลอกแบบกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่น ๆ มาไหม? ซึ่งผู้เขียนก็หวังว่าเราคนพะเยาน่าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังมากขึ้น มีเวทีพูดคุย มีการสำรวจความคิดเห็น จนไปถึงมีการนำเสนอความเป็นไปได้สำหรับการคมนาคมขนส่งมวลชนรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ (อย่าลืมว่าพะเยาก็มีความหลากหลายทางพื้นที่เช่นเดียวกัน) และในท้ายที่สุดก็นำไปสู่การลงประชามติ

    คมนาคมขนส่งพะเยา … เรา (คนพะเยา) ขอเลือกกันเอง

    Related

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...