พฤษภาคม 19, 2024

    “เซ็งพื้นที่ว่างไม่ให้เช่า” พลังนุ่มส่งต่อพื้นที่สร้างสรรค์ ปิดท้าย ส่งลาน จาก ละ[_]ลาน สู่ ลา[____]ลาน

    Share

    เมื่อวันที่ 10 มกราคม เวลา 18.00น. กลุ่มพลังนุ่ม หรือ Fluffy Force จัดกิจกรรม “ปิดท้าย ส่งลาน” จาก ละ[_]ลาน สู่ ลา[____]ลาน ณ บริเวณ Parallel Art space ลานอาคารร้างหน้าตึก Media Arts and Design หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อส่งต่อพื้นที่แห่งนี้ให้กับทุกคนที่ต้องการพื้นที่รับรองการทำงาน รวมทั้งจัดแสดงงานและกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป 

    ก่อนหน้านี้ กลุ่มพลังนุ่ม หรือ Fluffy Force เล็งเห็นว่าพื้นที่ห้องน้ำรกร้างในบริเวณหอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถหมุนเวียนมาสร้างนิยามความสร้างสรรค์ แต่พื้นที่แห่งนั้นกลับถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลานาน จึงได้เข้าไปใช้พื้นที่ในนามกิจกรรม “ละ[_]ลาน Exhibition” โดยรวบรวมงานสร้างสรรค์มากกว่า 30 ชิ้น นำเสนอในรูปแบบกล่องรุงลัง (24 x 40 x 17 ซม.) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจาก รุงลัง Gallery พื้นที่สร้างสรรค์ทดลองที่เชิญชวนนักสร้างสรรค์หน้าใหม่ได้ออกแบบและจัดแสดงผลงานในพื้นที่จำกัด 

    ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตลาดเฉพาะกิจ “หมด passion market” ที่เหล่าคนทำงานสร้างสรรค์ขนของมาแลกเปลี่ยนเวียนขายกันแบบเต็มข้อ เพื่อให้นักสร้างสรรค์ได้มีทุนทำงานต่อ และส่งต่อพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยในรูปแบบอื่น ๆ ในรูปแบบสาธารณะประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ได้ รวมทั้งปิดลาน ปูเสื่อผิงไฟ พูดคุย ส่งต่อกำลังใจเหล่าวัยรุ่นนักสร้างสรรค์ที่เข้ามาร่วมงาน

    นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม เดี่ยวไมโครโฟนกึ่งวิชาการครั้งแรกของเชียงใหม่ โดย สิงห์ สุวรรณกิจ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็น “ที่ทางของวัฒนธรรมและการเมืองในความคิดของหลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) เฟรดดริค เจมสัน (Fredric Jameson) และคนอื่น ๆ” โดยอ้างอิงความเข้าใจแบบมาร์กซิสต์ขนบที่โครงสร้างส่วนล่าง (เศรษฐกิจหรือวิถีการผลิต) กำหนดโครงสร้างส่วนบน (วัฒนธรรม อุดมการณ์ กฎหมาย รัฐ) และโครงสร้างแบบอัลธูแซร์ตามการตีความของเจมสัน ซึ่งสังเกตได้ว่าวิถีการผลิตหรือโครงสร้างนั้นกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถอยร่นไปอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุด ขณะที่ปริมณฑลเศรษฐกิจเป็นเพียงแขนงหนึ่งท่ามกลางแขนงอื่น ๆ ของวิถีการผลิตเท่านั้น

    “เรื่องบางเรื่องเป็นสิ่งพื้นฐานที่กำหนดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Production หรือวิถีการผลิต ถ้าไม่มีการผลิต ไม่มีการจัดการสังคมที่เกี่ยวกับ Production ถ้าไม่มีสิ่งนั้นเราก็ไม่มานั่งคุยกันทุกวันนี้ โดยมาร์กซิสต์ยกเรื่องนี้ให้เป็นสิ่งที่กำหนดทุกอย่าง และอธิบายประวัติศาสตร์ผ่าน Production ซึ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นหลัก”

    “เซ็ง พื้นที่ว่างไม่ให้เช่า” พลังนุ่มขอส่งต่อพื้นที่รับใช้ความคิดสร้างสรรค์สาธารณะ

    ช่วงท้ายของกิจกรรม ตัวแทนจากกลุ่มพลังนุ่ม ได้กล่าวปิดกิจกรรมโดยมีใจความสำคัญว่าจะขอส่งต่อพื้นที่ให้เกิดการใช้พื้นที่ต่อไป เพื่อให้คนทำงานสร้างสรรค์สามารถหมุนเวียนใช้ต่อได้โดยไม่ถูกทิ้งร้างอย่างในอดีต รายละเอียดดังนี้

    “พวกเราพลังนุ่มเชื่อว่าเชียงใหม่มีชุมชนนักสร้างสรรค์จำนวนมาก แต่ส่วนหนึ่งยังมีคนที่ไม่มีทุนในการเข้าใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาฝีมือ แสดงงาน หรือทดลองทำงานสร้างสรรค์ได้ เชียงใหม่ยังมีพื้นที่รกร้างจากหน่วยงานรัฐอีกมากที่มีศักยภาพ สามารถปรับปรุง ฟื้นฟูเป็นพื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ของคนไม่มีต้นทุนได้

    พื้นที่ห้องน้ำร้างในบริเวณหอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แห่งนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่พวกเราพลังนุ่มเห็นว่ามีประโยชน์ที่ทุกคนสามารถหมุนเวียนมาสร้างนิยามความสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับผู้คนในบริเวณนั้นได้ ด้วยคุณสมบัติของที่ตั้ง นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้ง่าย อยู่บนถนนนิมมานเหมินทร์ที่ผู้คนผ่านไปมาสะดวก และอยู่ในบริบทของพื้นที่ทางการเรียนรู้ทางศิลปะ แต่กลับถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลานาน

    พวกเราพลังนุ่มจึงได้เข้าไปใช้พื้นที่แห่งนี้ในนามกิจกรรม “ละ[_]ลาน Parallel Art space” ด้วยการทดลองตีความ ออกแบบ และจัดแสดงผลงานจากการเปิดรับสมัครผลงาน, เชิญชวนเครือข่ายเพื่อน ๆ ทั้งที่เป็นศิลปินและไม่ใช่  ที่ไม่มีพื้นที่แสดงงานมาร่วมแสดงงานศิลปะในกล่องลังขนาดเล็ก จำนวนกว่า 30 ผลงาน และรวบรวมหนังสั้นที่น่าสนใจจากคนทำหนังที่ผลงานของพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ถูกพูดถึง หรือไม่ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดใด จำนวน 11 เรื่อง รวมทั้งผู้คนที่เข้ามาให้กำลังใจแลกเปลี่ยนปัญหาการเข้าไม่ถึงทรัพยากรองค์ความรู้สร้างสรรค์อีกจำนวนหนึ่งที่เราได้รู้จักผ่านกิจกรรมเหล่านี้

    พลังนุ่มขอปิดลานกิจกรรม  “ละ[_]ลาน” Parallel Art space และ ”ส่งต่อ” พื้นที่แห่งนี้ให้กับทุกคนที่ต้องการพื้นที่รองรับการทำงาน จัดแสดงงาน และกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ต่อไป

    เราขอยืนยันว่า การเคลียร์พื้นที่แห่งนี้ เพื่อจุดประสงค์ “ส่งต่อ” ให้กับคนอื่น ๆ ที่ต้องการใช้เพื่อรับใช้ผู้คนในรูปแบบสาธารณะประโยชน์ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ได้”

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...