พฤษภาคม 15, 2024

    “คบเด็กสร้างเมือง” ​เครือข่ายละอ่อนเชียงใหม่ติดอาวุธพัฒนาชุมชน

    Share

    เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ

    “ผมอยากกลับบ้านครับ อยากเอาความรู้ เอาศักยภาพ​ กลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง อยากให้วิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมที่เคยเห็นตอนเด็กยังคงอยู่ ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา”

    ความในใจของ นิพนธ์​ ยิ้มพิมพ์ใจ หนึ่งในเครือข่ายละอ่อนเชียงใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัย​แม่โจ้-แพร่ (เฉลิมพระเกียรติ)​ สาขาการจัดการชุมชน ที่เป็นหนึ่งในเยาวชนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้านไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง

    นิพนธ์​ ยิ้มพิมพ์ใจ

    จากคำพูดของนิพนธ์ ก็นับว่าเป็นผลสะ​ท้อนสถานการณ์ปัจจุบันที่เราคงหลับหูหลับตาปฏิเสธ​ไม่ได้ว่า สภาพสังคมกำลังบีบบังคับให้ผู้คนต้องออกจากบ้านและชุมชนไปหาหนทางเพื่อมีชีวิตที่มีคุณภาพ ที่ ‘โอกาส’​ การเข้าถึงคุณภาพชีวิตดี ๆ ต่างไปกระจุกอยู่ในเมือง ปัญหาที่ตามมาจึงไม่ใช่แค่คนทำงานต้องออกจากบ้าน เนื่องมาจากการกระจายรายได้และอาชีพมันมาไม่ถึงพื้นที่ชุมชน แต่เด็กและเยาวชนในวัยเรียนจำนวนไม่น้อยก็ต้องออกไปฝ่าฟันเพื่อโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพในเมือง เพราะพื้นที่ทางการศึกษาเองก็อาจไม่ได้ขยายมาถึงชุมชนของพวกเขาเช่นกัน

    อีกมุมหนึ่งจึงหมายความว่า บ้านที่จากมา ชุมชนที่จากมา คือสถานที่ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และหนึ่งความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นคือค่อย ๆ ขาดการพัฒนา เพราะทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการช่วยพัฒนาอย่าง ‘มนุษย์’​ ได้ทยอยออกไปเรื่อย ๆ

    ภาพ: The Active

    ในระยะยาวต่อไปจากนี้ จะมีผลกระทบเพิ่มมาอีกคือ เมื่อสภาพแวดล้อมชุมชนที่ไม่เอื้ออำนวยให้อยู่ สัมพันธภาพระหว่างผู้คนในชุมชนน้อยลง การสร้างครอบครัวที่ไม่มีพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมรองรับนั้น ย่อมทำให้ผู้คนไม่อยากจะสร้างครอบครัวรวมไปถึงการมีบุตร ซึ่งมันได้สะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 ที่ระบุว่ามีจำนวนเด็กแรกเกิดเพียง 502,107 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตแล้วยิ่งพบว่า อัตราการเกิดนั้นมีเพียง 1.2% ที่ในทางสถิตินับว่าต่ำกว่าระดับทดแทนจำนวนประชากร ซึ่งจะเป็นปัญหาในระดับจำนวนประชากร ที่อาจจะดูไม่น่าเกี่ยวโยงกันได้ แต่หากพิจารณาให้รอบคอบจะพบว่ามันเป็นผลต่อเนื่องกันที่ไม่ใช่เพียงกระทบกันเป็นลูกโซ่ แต่กระทบเป็นวงกว้างและสะท้อนกันไปมาทุกมิติ

    การแก้ปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอีกวิธีการที่สร้างความยั่งยืนในระยะยาวได้ คือการหันมาพัฒนา ส่งเสริม และผลักดันศักยภาพ​ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นทรัพยากร​ที่สำคัญในการพัฒนาชุมชน ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการณ์​กิจกรรม ‘เวทีเติมเครื่องมือ เสริมพลัง ร่วมสื่อสารแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน และปฏิบัติ​การเครือข่ายพลังละอ่อนเชียงใหม่ ร่วมสร้างสรรค์เมือง จังหวัดเชียงใหม่’​ ที่จัดโดย กลุ่มยุวธิปัตย์เพื่อสังคม (DYP)​ พร้อมความร่วมมือจาก มูลนิธิ​เพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา​ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุข​ภาพ​ (สสส.) ซึ่งเป็นกิจกรรมการลงพื้นที่ศึกษาชุมชน พร้อมด้วยการสร้างองค์ความรู้และทักษะในการศึกษาชุมชนให้กับเครือข่ายเยาวชน

    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเชื่อมร้อยเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดเป็นเครือข่ายเยาวชน มาเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการมีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาวะให้กับชุมชนและสังคม และเสริมพลังสร้างสรรค์​ในบทบาทความเป็นพลเมือง​ของตนเอง

    ด้วยเหตุุนี้ จึงอยากพาทุกคนมาเห็นมุมมองผ่านการพูดคุยกับเยาวชนในเครือข่ายละอ่อนเมืองเชียงใหม่​ ผู้ที่จะมาเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลง​ พัฒนา และสร้างสรรค์ชุมชน สังคม ประเทศชาติ

    ทำไมเยาวชนถึงมีความสำคัญในบทบาทการพัฒนาชุมชน?

    “เพราะว่าเด็กและเยาวชน จะเป็นอนาคตของชาติ”

    “เด็กเป็นพื้นฐานของคนในชุมชนอยู่แล้วเดี๋ยวเด็กก็จะต้องโตเป็นผู้ใหญ่”

    บุหงา พุทธชู

    คำตอบจากนิพนธ์​ และ บุหงา พุทธชู นักศึกษามหาวิทยาลัย​แม่โจ้-แพร่ (เฉลิมพระเกียรติ)​ สาขาการจัดการชุมชน​ ที่เป็นสมาชิกเครือข่าย​เยาวชนอีกคนหนึ่ง โดยทั้งสองคนได้ขยายความเพิ่มอีกว่า การพัฒนาพื้นที่ในลักษณะ​ชุมชนที่มีการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่มีความหลากหลาย ก็ควรจะนำความคิดเห็นจากผู้คนที่หลากหลายมาพิจารณา​แนวทางการพัฒนาร่วมด้วย การนำกลุ่มเยาวชนมามีส่วนร่วมก็จะทำให้ได้เห็นมุมมอง และความต้องการของเยาวชนที่มีต่อชุมชน เพราะส่วนที่สำคัญที่สุดในการออกแบบแนวทางการพัฒนาคือต้องเหมาะสมกับผู้อาศัย ซึ่งในฐานะเยาวชนที่มีอนาคตอีกยาวไกลในการจะต้องเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมชุมชน สังคม ความคิดเห็นและความร่วมมือจากเราจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สามารถวางแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้

    แต่การจะเป็นผู้มีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ​จำเป็นต้องได้รับการติดอาวุธ หรือที่อธิบายได้ว่าเป็นการติดตั้งองค์ความรู้และทักษะพื้นฐานเพื่อสร้างกระบวนการมองและวิเคราะห์ชุมชนให้กับเยาวชน กิจกรรมในครั้งนี้จึงประกอบไปด้วย Workshop หลายรูปแบบที่ต่างก็เป็นบทเรียนเชิงปฏิบัติการ​ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนได้

    ไม่ว่าเป็นการนำเยาวชนเดินสำรวจเส้นทางในชุมชน พร้อมกับตัวแทนท้องถิ่นที่จะคอยเล่าเรื่องราวของพื้นที่ระหว่างเดินสำรวจ ฝึกให้ผู้เข้าร่วมใช้ทักษะสังเกต​และตั้งคำถามถึงเรื่องราว ที่มาที่ไปและการเปลี่ยนแปลง​ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลชุมชน

    ต่อเนื่องด้วยกิจกรรมวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มีการรวบรวมไว้ หาจุดเด่นและข้อจำกัดชุมชนจากข้อมูล ศึกษานโยบายสาธารณะและสถานการณ์​สังคมปัจจุบันเพื่อมองหาโอกาสและอุปสรรค​มาเป็นข้อมูลพื้นฐาน ก่อนจะให้เยาวชนผู้เข้าร่วมได้วิเคราะห์ฉากทัศน์​ของชุมชมในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อนำปัจจัยและข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาเรียบเรียงเพื่อคืนข้อมูลสู่ชุมชน เตรียมพร้อมสำหรับการนำไปออกแบบแนวทางพัฒนาชุมชนต่อไป

    ในส่วนการพัฒนาคุณภาพสังคมและชุมชนในประเทศไทย บทบาทที่คลอบคลุมที่สุดแน่นอนว่าเป็นในส่วนภาครัฐ โดยได้มีการแบ่งส่วนการทำงานทั้งในภาพรวมอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ จนไปถึงหน่วยงานดูแลที่มีความจำเพาะมากขึ้นเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องโดยวัตถุประสงค์ หน้าที่ พันธกิจของหน่วยงาน เช่น สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว

    แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาชุมชน สังคมอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนจากประชากรด้วยในทุกระดับวัยวุฒิ สำหรับบทบาทดังกล่าวในระดับเยาวชนนั้น เยาวชนในเครือข่ายละอ่อนเชียงใหม่ก็ได้ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจ โดยบุหงาบอกว่า “ตอนนี้ตัวหนูเองเป็นนักศึกษาสาขาการจัดการชุมชน ที่กำลังเรียนรู้กระบวนการศึกษาชุมชน การมีโอกาสได้มาลงพื้นที่จริงแบบนี้พร้อมกับกิจกรรมการเรียนรู้ มันทำให้ได้ได้เห็นโจทย์ปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้นนอกเหนือจากแค่เรียนในห้องเรียน ได้มาเจอกับผู้คนที่หลากหลายด้วยมันก็ช่วยให้เราได้พัฒนาทักษะการสื่อสาร การเข้ากับผู้คน ที่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะการพัฒนาชุมชนเป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย บทบาทที่หนูมีตอนนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนว่าช่วยพัฒนาได้อย่างไรได้บ้าง แต่การมาเริ่มเรียนรู้ชุมชนมันเป็นประโยชน์ต่อตัวหนูเองที่จะได้ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาตนเองให้พร้อม จะได้สามารถไปพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพได้ในอนาคต”

    นอกจากบทบาทในการเรียนรู้ของเยาวชนที่ศึกษาในสาขาเฉพาะด้าน เช่น การจัดการชุมชน ที่เป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักพัฒนาได้แล้ว การเรียนรู้โดยทดลองเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนจริงที่เกิดขึ้นนี้ ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้เลยในระหว่างกระบวนการ

    “ผมคิดว่าเยาวชนเริ่มมีบทบาทได้ตั้งแต่การเข้าร่วมกิจกรรมลงพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้เลยครับ เพราะกิจกรรมที่เราทำกันไปอย่างการสำรวจชุมชน เก็บข้อมูลแล้วคืนข้อมูลให้ชุมชนก็เป็นการสะท้อนความคิดเห็นของเราที่อาจจะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ เราจะมองเห็นปัญหา หรือข้อดีข้อเสียของชุมชนว่ามีอะไรบ้าง ที่พัฒนาต่อไปได้และให้ผลดีกับเยาวชนในชุมชนด้วย ซึ่งมันก็เป็นการให้ประโยชน์จากมุมมองเยาวชนสู่ชุมชน” นิพนธ์ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

    การผลักดันและจัดโครงการที่เป็นเวทีให้เยาวชนได้เริ่มฝึกลงมือปฏิบัตินั้นไม่เพียงแต่เกิดประโยชน์ต่อตัวเยาวชนผู้เข้าร่วมและชุมชนในฐานะเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับมุมมองความคิดของเยาวชนต่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างจินตภาพอนาคตชุมชนของตนเองบนพื้นฐานความเป็นไปได้ และเกิดแรงผลักดันไปสู่การลงมือทำจริง

    “ผมอยากกลับบ้านครับ อยากเอาความรู้ เอาศักยภาพ​ กลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง พอผมมีโอกาสได้ไปดูชุมชนที่หลากก็จะเห็นว่าแต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งชุมชนของผมมีวิถีชีวิตเกี่ยวกับการทำเกษตร ที่ทุกวันนี้เห็นแต่ผู้สูงอายุทำกัน เพราะเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ก็ออกไปเข้าเมืองกัน ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคตว่าไม่มีคนสืบต่อ เยาวชนที่ออกไปทำงานก็จะไม่มีทักษะในการประกอบอาชีพหรือทำเกษตรในลักษณะเดิม ทำให้วิถีชีวิตความเป็นชุมชนเริ่มจางหายไป ทำให้อาจกลายเป็นชุมชนที่ไม่มีความสามัคคี ไม่มีการร่วมมือกันเพราะว่าต่างคนต่างเป็นเด็กรุ่นใหม่ออกไปทำงานที่อื่น หรือต่อให้กลับมา ไม่รู้จะทำอะไร ก็เปิดธุรกิจส่วนตัว ทำให้วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป ความร่วมมือในชุมชนก็เริ่มจากหายไป เป้าหมายผมจึงอยากกลับไปพัฒนาที่บ้าน อยากให้วิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมที่เคยเห็นตอนเด็กยังคงอยู่ ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา”

    คำพูดของนิพนธ์ เน้นย้ำว่าการถูกบีบบังคับให้ออกจากบ้านหรือชุมชนเพื่อเข้าสู่เมืองนั้นจะเป็นไปปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวชุมชน รวมถึงวิถีชีวิตชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ แม้ว่าจากคำตอบในมุมมองของทั้งนิพนธ์และบุหงา อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดว่าเป้าหมายการกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร

    ‘คลองแม่ข่าในอดีต’ (ภาพ: สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน)
    ‘คลองแม่ข่าในปัจจุบัน’

    แต่เพื่อให้เห็นภาพความเป็นไปได้ของการแก้ไขปัญหาจากการพัฒนาชุมชนโดยให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม จนประความสำเร็จนั้น ในเครือข่ายละอ่อนเยาวชนเชียงใหม่เองก็มีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนจาก ‘เอกธันวา มาเยอะ’ เยาวชนชุมชนหัวฝายผู้มีส่วนในการร่วมพัฒนาพื้นที่ชุมชนบริเวณคลองแม่ข่า จากคลองน้ำที่มีปัญหาน้ำเสียมายาวนาน สู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่เศรษฐกิจของชุมชน หนึ่งในแลนมาร์กเมืองเชียงใหม่

    เอกธันวา มาเยอะ

    โดยเอกธันวา ได้ถอดความสำคัญของเยาวชนจากประสบการณ์การร่วมทำงานพัฒนาชุมชนว่า “เยาวชนเป็นเสียงอีกเสียงหนึ่ง เป็นแรงช่วยอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก แม้ว่าการทำงานพัฒนาจะต้องใช้พลังจากหลายส่วน แต่ภาคส่วนที่เขามาช่วย เขาอาจมองในมุมมองที่ถูกจำกัดโดยแผนงานตั้งแต่แรก แต่เด็กและเยาวชนจะมองอีกอย่างหนึ่ง เราจะมองไปในอนาคตเพราะเรารู้ว่าเรายังต้องเติบโตต่อไป แล้วยิ่งถ้าเป็นเด็กในพื้นที่ชุมชนแล้วก็จะยิ่งเห็นถึงความเป็นชุมชนของตัวเองมากกว่าเพราะเราเป็นคนใน เติบโตมาในช่วงเวลานี้ ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ เราจะมองเห็นเงื่อนไขของชุมชนตัวเองได้มากกว่า”

    “รวมไปถึงเรื่องการพยายามเชื่อมโยงการพัฒนาร่วมกับการเข้าใจเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากสำหรับเยาวชนเพราะเราอยู่ในช่วงวัยที่กำลังศึกษาเรียนรู้ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีทำให้เรามีความคุ้นชินและพยายามจะหาหนทางมาประยุกต์กับการพัฒนาชุมชน” เอกธันวาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้กลุ่มเยาวชนในชุมชนตนเองก็กำลังพยายามสร้างโปรเจคที่เรียกว่า Big Book ที่จะเป็นการรวบรวมข้อมูลชุมชน ความเป็นมาของชุมชนในทุกช่วงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้คนในชุมชนรวมถึงเยาวชนที่เติบโตมาใหม่ได้เห็นย้อนไปถึงในอดีต ที่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาชุมชน ต่อยอดในอนาคตได้อีก

    “ความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนบริเวณคลองแม่ข่านี้ ถ้าถามในระยะสั้นก็เห็นได้เลยครับว่าชาวบ้านในพื้นที่ก็มีที่ทำกิน สร้างรายได้สร้างอาชีพที่นี่ได้ เพราะมันถูกพัฒนาแล้ว ส่วนในระยะยาวผมคิดว่าเด็กและเยาวชนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด เพราะตอนนี้หลายครอบครัวก็สามารถอยู่ในพื้นที่ต่อได้ หลายครอบครัวก็กลับมาสร้างอาชีพที่นี่ได้อีก คนในครอบครัวได้กลับมาอยู่ด้วยกันได้ ก็จะทำให้ผู้ปกครองมีเวลาให้กับลูกมากขึ้น เด็กก็จะได้รับการดูแล เติบโตอย่างมีคุณภาพ และชุมชนเองก็จะได้คนที่มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาท้องถิ่นตัวเองต่อไปได้อีกในอนาคตครับ”

    Related

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...

    มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอนจบ) ของกิ๋นพะเยา ไประดับโลกได้ไหม

    เรื่อง: กมลชนก เรือนคำ ชุดบทความนี้อยู่ภายใต้โครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมด้วยพันธกิจที่ 4 ของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นของชุมชนวัฒนธรรมระเบียงกว๊านพะเยา อ่าน เมดอินพะเยา: มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอน...