12 พฤษภาคม 2566 นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย เผย พบปัญหาในการส่งบัตรเลือกตั้ง เนื่องจากลายมือจ่าหน้าซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ใช้สิทธิ์ลงคะแนนกว่า 3 แสนซองอ่านไม่ออกต้องส่งกลับให้ กกต.วินิจฉัยอีกครั้ง ส่งผลให้การส่งบัตรและคัดแยกบัตรเลือกตั้งล่าช้า
ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส โพสต์คลิปวิดีโอสัมภาษณ์ นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทยผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว พร้อมทั้งรายงานว่า
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด พบปัญหาลายมือจ่าหน้าซองบัตรเลือกตั้ง ที่ใช้สิทธิแล้ว อ่านไม่ออกกว่า 3 แสนซอง ซึ่งเป็นลายมือที่กรรมการประจำหน่วยต้องเขียนรายละเอียด จังหวัด / เขต และ รหัสเลือกตั้ง 5 หลัก ไม่ชัดเจนลายมืออ่านไม่ออก (Human Error)
ซองบัตรที่มีปัญหาทั้งหมด.ต้องส่งกกต.วินิจฉัย วินิจฉัยเสร็จถึงส่งกลับมาให้ไปรษณีย์ไทยคัดแยกใหม่อีกรอบ ส่วนการวินิจฉัย ไปรษณีย์ไทย ไม่เกี่ยวข้องกับการ วินิจฉัย บัตรที่มีปัญหา เป็นหน้าที่ กกต.เท่านั้น
แต่ไปรษณีย์ไทยมีหน้าที่เร่งขนส่งและคัดแยกบัตรกว่า 2 ล้านใบ ที่ใช้สิทธิแล้ว ส่งไปปลายทางให้ทัน 400 เขตทั่วประเทศ และต้องส่งออกจาก ไปรษณีย์ไทย ให้เสร็จทันภายในวันนี้ เท่านั้น
หนึ่งเหตุผลที่ขนส่งบัตร – คัดแยกบัตรเลือกตั้งล่าช้า ซึ่งไปรษณีย์ไทยเร่งคัดแยกกันมาตั้งแต่วันแรก หลังปิดหีบเลือดตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค./ คัดแยก ตลอด 24 ชั่วโมง ระดม พนักงานกว่า 1,000 คน ช่วยกันเร่งให้เร็วที่สุดจนถึงขณะนี้
ดูคลิปวิดีโอได้ที่ https://www.facebook.com/phattraporn.tpbs/videos/288720266816712
ด้านเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 แถลงการณ์สภาพปัญหาของการเลือกตั้ง
วานนี้ (11 พฤษภาคม 2566)เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 ได้จัดเวทีแถลงการณ์สภาพปัญหาของการเลือกตั้งที่พบเห็น พร้อมประกาศข้อเรียกร้องต่อสามบุคคลคนสำคัญของการเลือกตั้ง 2566 พร้อมทั้งเดินทางไปยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ กกต.ในวันเดียวกัน
iLaw รายงานว่า 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 12.30 น. เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 จัดเวทีแถลงการณ์สภาพปัญหาของการเลือกตั้งที่พบเห็น รวมถึงประกาศข้อเรียกร้องต่อสามบุคคลคนสำคัญของการเลือกตั้ง 2566 ขณะที่สมาชิกเครือข่ายแถลงข่าวเตรียมเดินทางไปยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เวลา 14.30 น. วันนี้
การแถลงการณ์วันนี้มี กฤต แสงสุรินท์ (We Watch) ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จากเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากกลุ่มทะลุฟ้า วศินี บุญที จากสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นผู้ร่วมแถลงการณ์
เลือกตั้งล่วงหน้า ปัญหาเพียบ ห่วงส่งผลกระทบยาวถึงเลือกตั้ง 14 พ.ค.
ช่วงแรกของการแถลงการณ์ระบุถึงความพร้อมในการจับตาการเลือกตั้ง 2566 โดยยิ่งชีพและกฤต ทั้งสองระบุถึงปัญหาจากการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม ที่กำลังจะส่งผลไปสู่การนับคะแนนในวันเลือกตั้งจริง โดยกฤตพบว่า จากพื้นที่เฝ้าระวัง 447 แห่ง มีรายงานความผิดปกติมากกว่า 200 แห่งที่ถูกรายงานเข้ามาจากอาสาสมัครและภาคประชาชน ความผิดปกตินี้ทำให้กฤตชี้แจงความกังวลเจ็ดข้อในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ดังนี้
1) การจ่าหน้าซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผิดพลาดของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เพราะ กปน. มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน กฤติระบุว่าความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเป็นวงกว้างนี้ทำให้ความผิดไม่ควรตกอยู่ที่ กปน. เพียงฝ่ายเดียว แต่คือความผิดในการจัดการอบรมที่ล้มเหลวของ กกต.
2) มีจำนวนผู้ไม่มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าสองแสนคน สิ่งนี้ทำให้กฤตมองว่าปัญหาสำคัญ คือ การสื่อสารของ กกต. ในรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทะเบียนและการมาใช้สิทธิ โดยกฤตยกตัวอย่างการไม่ได้มาใช้สิทธิของประชาชนในวันเลือกตั้งล่วงหน้าปี 2566 เปรียบเทียบกับระเบียบ กกต. ในปี 2554 ข้อ 159 ว่า หากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไม่สามารถมาใช้สิทธิในวันเลือกล่วงหน้าได้ ยังสามารถมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งจริงได้อยู่ ความไม่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารของ กกต.ส่งผลให้ผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนคิดว่ายังมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 14 ได้
3) ระบบการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าบนเว็บไซต์ล่มในช่วงไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายก่อนการหมดระยะเวลาลงทะเบียน ทำให้มีผู้ไม่สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าได้จำนวนมาก
4) ประชาชนยังสับสนต่อการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ โดยเฉพาะการระบุให้หมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตกับหมายเลขของพรรคในบัตรลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อไม่ตรงกัน รวมทั้งการไม่ระบุชื่อผู้สมัครลงไปในบัตรลงคะแนนแบบแบ่งเขต ยิ่งทำให้ประชาชนสับสนมากขึ้น
5) ปัญหาด้านการจัดเตรียมสถานที่ในการจัดการเลือกตั้งไม่มีความพร้อมรองรับผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงไม่มีการจัดการสถานที่ให้พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด
6) ข้อกังวลเรื่องการปิดประกาศเอกสารสำคัญหน้าคูหา พบว่า เอกสารรายชื่อแบบแบ่งเขตที่มีรายชื่อของพรรคการเมืองบางพรรคหายไปจากบางหน่วยเลือกตั้ง และเอกสารแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งดูยาก เช่น ตัวอย่างบัตรลงคะแนนถูกใช้เป็นสีขาวดำ ทั้งที่บัตรทั้งสองใบมีสีแตกต่างกัน และพบว่าแบบ ส.ส. 5/15 ที่ต้องระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งที่มีกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดของหน่วยเลือกตั้งไม่ถูกปิดประกาศอย่างชัดเจน
7) การสังเกตการณ์การเลือกตั้งยังถูกห้ามจาก กปน. ที่ไม่มีความเข้าใจ แม้ว่าส่วนใหญ่จะให้ความร่วมมือก็ตาม
ต่อมา ยิ่งชีพระบุถึงความพร้อมของระบบสังเกตการณ์ภาคประชาชนว่า ความตื่นตัวของภาคประชาชนมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระบบของภาคประชาชนนี้ถูกวางแผนมานานแล้วกว่าหกเดือน ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายนักกิจกรรมการเมือง เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไปจำนวนมาก นำมาสู่การอบรมที่หลากหลายและได้รับการตอบรับที่ดีจากสื่อมวลชนทั่วไป
เรียกร้องกกต. – กปน. ให้ความร่วมมืออาสาสังเกตการณ์เลือกตั้ง วอนประชาชนช่วยเก็บหลักฐาน 14 พ.ค.
ยิ่งชีพพูดถึงอุปสรรคสำคัญตอนนี้ว่า ยอดอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งในปัจจุบันมีประมาณ 24,000 คน อย่างไรก็ตามยิ่งชีพไม่เชื่อว่าตัวเลขนี้คือจำนวนอาสาสมัครที่สนใจมาร่วมสังเกตการณ์ทั้งหมด เนื่องจาก กกต. ไม่ยอมเผยแพร่สถานที่ของหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนจำนวนมากยังไม่สามารถสมัครร่วมสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้งที่สะดวกได้ และจำเป็นต้องโทรหาหรือค้นหาหน่วยเลือกตั้งเหล่านี้ด้วยเอง
อย่างไรก็ตาม ยิ่งชีพเชื่อว่ากระแสความไม่พอใจของการทำงานของ กกต. ผ่านตัวเลขผู้ลงทะเบียนในแคมเปญบน Change.org ‘ร่วมกันลงชื่อถอดถอน กกต.’ กว่า 1,200,000 คน อาจจะผลักดันให้มีผู้ร่วมเป็นอาสาสมัครได้มากกว่าหนึ่งแสนคนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
สุดท้ายยิ่งชีพระบุถึงข้อเรียกร้องสามข้อ ถึงสามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับการเลือกตั้ง 2566 ดังนี้
1) กกต. ต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมตามเคยที่เคยกล่าวไว้กับภาคประชาสังคม เนื่องจากยังไม่เห็นความพยายามดังกล่าวตลอดการทำงานที่ผ่านมา และคาดหวังจะเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
2) กปน. ต้องให้ความร่วมมือกับอาสาสมัครฯ และประชาชนโดยทั่วไป เนื่องจากหาก กปน. เชื่อว่าตนทำงานถูกต้องแล้วในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก็ขอให้เชื่อว่าอาสาสมัครฯ และเครือข่ายภาคประชาชนทั้งหมดจะเป็นสักขีพยานการทำงานนี้ หากเกิดความไม่โปร่งใสหรือความผิดพลาดจากผู้มีอำนาจและการทำงานของ กกต. ความร่วมมือนี้จะช่วยเป็นเกราะป้องกันที่ดีให้แก่ กปน. เอง
3) สำหรับพี่น้องประชาชน ยิ่งชีพขอเรียกร้องต่อประชาชนทุกคนให้ร่วมกันถ่ายรูปเก็บหลักฐานทุกอย่างในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากการเข้าคูหา ‘จับปากกาฆ่าเผด็จการ’ เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอดังเช่นที่เคยกล่าวกันมาอีกแล้ว
ตรวจสอบด้วยกฎหมาย ร่วมยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ กกต.
จตุภัทร์และวศินีระบุต่อไปว่า เครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. วันนี้เวลา 14.30 น. เนื่องจาก กกต. อาจจะกระทำผิดตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญระบุว่า กกต. จะต้องจัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม ทว่าการจัดการเลือกตั้งนับตั้งแต่เกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎรจนถึงการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 กลับเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด ละเมิดสิทธิในการออกเสียงของประชาชน ส่งผลร้ายแรงต่อการแสดงเจตจำนงในการออกเสียงของการเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิทั้งประเทศ ประชาชนจึงควรใช้กลไกการตรวจสอบตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อเรียกร้องความโปร่งใสและเป็นธรรมได้ โดย ป.ป.ช. จะต้องสืบหาข้อเท็จจริงด้วยกระบวนการที่เปิดเผย และหากพบว่ามีการกระทำผิดจริงก็จะต้องลงโทษเอาผิด กกต. ตามความเป็นจริง
เครือข่ายฯ จึงอยากจะขอให้ประชาชนช่วยกันออกไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เพื่อมองหาความผิดปกติของการจัดการเลือกตั้ง และหากพบเห็นความผิดปกติก็ขอให้พยายามเก็บหลักฐานสำคัญสำหรับการเอาผิดกลับมา เพื่อให้สามารถใช้ยืนยันในกระบวนการทางกฎหมายหลังเลือกตั้งต่อไป
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...