ชาวปกาเกอะญอแม่ลาน้อย ค้านโครงการจัดที่ดิน คทช. ห่วงผลกระทบวิถีชาติพันธุ์

12 ก.ค. 2566 ชาวปกาเกอะญอบ้านหนองม่วน ม.4 ต.แม่นาจาง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายอำเภอแม่ลาน้อย ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งสุรศักดิ์ ริยะนา ปลัดอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมดำเภอแม่ลาน้อย เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียน และหัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ แม่ลาน้อย ณ หน่วยป้องกันฯ โดยมี สมเพชร วงค์ษา หัวหน้าชุดพนักงานตรวจป่าไม้แม่ลาน้อย มส.4 เป็นตัวแทน โดยเรียกร้องให้ยุติการดำเนินโครงการภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หลังพบความพยายามของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปดำเนินการชี้แจงโครงการดังกล่าวและสำรวจพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งพบว่ามีหลักเกณฑ์หลายประการของ คทช. ที่กระทบกับวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

หนังสือร้องเรียนระบุว่า ชุมชนบ้านหนองม่วน เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนาน มีวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียน ไร่ข้าวโพด นา ปลูกกาแฟ และการเก็บหาของป่า ภายหลังได้ถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ทับซ้อนพื้นที่ทั้งชุมชน โดยกรมป่าไม้มีแนวนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ย. 2561 ว่าด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาป่าไม้ (ทุกประเภท) ซึ่งเป็นแนวนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นั้น

ที่ผ่านมา เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาในชุมชนเพื่อเร่งรัดการปลูกป่าในพื้นที่ทำทำกินของชาวบ้าน ซึ่งไม่ผ่านการประชาคมหรือการพูดคุยกับชุมชนมาก่อน รวมถึงเมื่อเดือน เม.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้กลับเข้ามาอีกครั้งเพื่อตรวจสอบแผนที่ชุมชนและเร่งรัดดำเนินการตาม คทช. ซึ่งชุมชนเห็นว่าข้อมูลยังไม่ตรงกันระหว่างข้อมูลของหน่วยงานกับชาวบ้าน และชุมชนยืนยันไม่เข้าร่วมกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบหลายประการ อาทิ การอนุญาตตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ที่ดินแทนชุมชน ขัดกับหลักการรับรองสิทธิชุมชน, การกำหนดเงื่อนไขชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ซึ่งชุมชนบ้านหนองม่วนทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1,2 จะต้องเข้าสู่มาตรการการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดจากหน่วยงานรัฐ และการฟื้นฟู ปลูกป่า กระทบกับวิถีทำกิน รวมถึงการกำหนดเงื่อนเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 ม.ย. 2541 ใช้ภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 และเงื่อนเวลาตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียนที่ต้องมีการพักฟื้นพื้นที่ จะไม่ปรากฏร่องรอยตามภาพถ่ายทางอากาศ อาจนำไปสู่การถูกยึดคืนพื้นที่ในอนาคต

โดยชุมชนบ้านหนองม่วน มีข้อเรียกร้องมายังนายอำเภอแม่ลาน้อย ในฐานะประธาน คทช. อำเภอ และหัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ แม่ลาน้อย

1. ให้ยุติการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 รวมถึงโครงการปลูกป่า ในพื้นที่บ้านหนองม่วน ม. 4 ต.แม่นาจาง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

2. การดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ต้องคำนึงถึงมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เป็นสำคัญ

พัชรพร โชคนที คณะกรรมการหมู่บ้าน บ้านหนองม่วน กล่าวว่า อยากให้หน่อยงานที่รับเรื่องร้องเรียนดำเนินการยุติการเข้าร่วม คทช. ในพื้นที่ชุมชน อยากให้หน่วยงานใส่ใจผลกระทบที่ชาวบ้านต้องเจอ เพราะชุมชนได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากพื้นที่ชุมชนอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1 และ 2 นอกจากนั้นที่ผ่านมาชุมชนไม่ค่อยรับรู้ข่าวสาร ทำให้การตัดสินใจอาจจะผิดพลาดได้ในหลายพื้นที่ที่พี่น้องไม่รู้ถึงผลกระทบ แต่พอได้รับรู้เงื่อนไขของ คทช. ชุมชนก็กังวลใจถึงที่ดิน ที่อยู่อาศัย ผลกระทบถึงลูกหลานในอนาคต จึงยืนยันปฏิเสธ คทช.

“พี่น้องที่อยู่ในหมู่บ้านหนองม่วน ในพื้นที่ป่าสงวนฯ จะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องการทำไร่หมุนเวียน ที่มีรอบการหมุนเวียน 7 ปี การใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตามเงื่อนไขของกรมป่าไม้จะทำให้เห็นว่าพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่พักฟื้นไว้จะกลายเป็นพื้นที่ป่าสีเขียว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะเหมารวมเป็นป่า และชุมชนนี้ตั้งมาแล้ว 300 ปี เราอยู่มาก่อนประกาศเขตป่า เรามีวิถีชีวิตที่ใช้ประโยชน์จากป่าและดูแลป่าอยู่แล้ว เราไม่ควรต้องเข้าสู่นโยบายที่มาจำกัดสิทธิเราทีหลัง” พัชรพรกล่าว

ด้าน สุรศักดิ์ ริยะนา ปลัดอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมดำเภอแม่ลาน้อย กล่าวกับชาวบ้านว่าเข้าใจถึงความกังวลของชาวบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายชุมชนยืนยันปฏิเสธแนวทางของ คทช. แล้วเช่นกัน

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa
Wanita Karawang Jackpot 800 Juta dari Mahjong Ways 2