พฤษภาคม 20, 2024

    การเลือกตั้งภายใต้ “สถาบันปฏิปักษ์ประชาธิปไตย”

    Share

    เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ได้มีการจัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ “การเลือกตั้งภายใต้สถาบันปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 13.00 – 15.00น. โดยมี รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์, รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ดร.กิตติศักดิ์ สุจินตารมย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ‘พลเมืองกระตือรือร้น’ สำนึกใหม่ของประชาชนความรู้สึกรู้สาของปัญหาเชิงโครงสร้าง

    อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ชี้ว่าผลการเลือกตั้งที่ผิดการคาดการณ์ป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความสับสนกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายที่ถูกเรียกว่า ‘สถาบันปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’ โดย อรรถจักรมองว่าคนที่ลงคะแนนเสียงให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ล้วนเป็นกลุ่มคนที่มองเห็นและรับรู้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับทุกคนอยู่ 


    รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์

    “ถ้าเราดูก่อนเลือกตั้งสัก 2-3 อาทิตย์ ก่อนหน้านั้นคะแนนเพื่อไทยมา แต่หลังจากที่ว่าที่นายกฯ คนที่30 ใช้คำว่า “ความเท่าเทียม” มากขึ้นในช่วง 2 อาทิตย์หลัง รวมทั้งการพูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คะแนนมันสวิง ดังนั้นกระแสของคนที่รู้สึกเป็นประชาธิปไตยแต่อาจจะยังไม่รับรู้โครงสร้าง เขารับรู้มากขึ้น รู้สึกถึงโครงสร้างมากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เห็นชัด และเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสิ่งที่เขารับรู้โครงสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทางสังคมที่เชื่อมผู้คนจำนวนมากให้เข้ามาร่วมกับโครงการของรัฐ ร่วมกับการขยายตัวของรัฐ” 

    ในปัจจุบัน คนไทยจำนวนมากผันตัวเองมาเป็น ‘พลเมืองกระตือรือร้น’ เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้สึกนึกถึง และมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘สำนึกใหม่ของผู้คน’ ที่ทนกับอำนาจที่ตีกรอบครอบงำสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา อรรถจักร ชี้ว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงในช่วง 20-30 ปีของสังคมไทย 

    อรรถจักร ชวนมองไปถึงกรอบโครงสร้างที่กดทับประชาชนไว้ ว่าเป็นระบอบแห่งความเหลื่อมล้ำ จรรโลงโครงสร้างแห่งการกดทับผู้คน เป็นกระบวนการสร้างและจัดลำดับชั้นทางอำนาจในสังคมไทย มิหนำซ้ำกรอบแนวคิดชุดนี้ยังฝังแน่นในสังคมในระดับที่น่าเป็นกังวล

    อรรถจักร ชี้ว่าจุดที่สำคัญ คือกระบวนการที่การทำให้ชะตากรรมของประชาชนเป็นเรื่องปัจเจกชน และกระบวนการที่ทำให้ปัญหาของสังคมทั้งหมดถูกลดทอนเป็นแค่เรื่องของปัจเจกชน ซึ่งถูกฝังรากลึกอยู่ในทุกมิติของสังคมไทย 

    “สมมติเรานึกถึงสำนึกเชิงปัจเจกชนที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทยก็คือก่อน 2475 สำนึกเชิงปัจเจกชนเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วก็ผูกตัวเองเข้ากับชาติไทย และขณะเดียวกันก็ปฏิเสธหลักที่มันทำลายสิทธิหรือศักยภาพส่วนตัวคือหลักชาติวุฒิ หลังจากนั้นมา สำนึกเชิงปัจเจกชนถูกผลักให้ไปอยู่ภายใต้ความจงรักภักดี เราจะมีความหมายเชิงปัจเจกชนได้ก็ต่อเมื่อเราถวายความจงรักภักดี ลองจินตนาการย้อนหลังไปสัก 10 ปีก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มพวกคุณเป็นสำนึกเชิงปัจเจกชนที่เชื่อมต่อผู้คนอื่นๆ ในสังคมไทยอย่างเท่าเทียม พร้อมๆกันนั้นเองคือสิ่งที่เกิดขึ้นในความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง 20 – 30 ปีหลัง มันทำให้พวกเรา คนในสังคมไทยจำนวนมากสร้างความเป็นอิสระจากระบอบอุปถัมภ์ได้”

    คำนิยามของ “สถาบันปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” สำหรับอรรถจักร คือเครือข่ายที่ผูกขาดทรัพยากรทางอำนาจที่ดำเนินมาเป็นเวลานาน ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้เกิดผลกระทบขึ้นกับเครือข่ายดังกล่าว ผู้มีอำนาจที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังถูกเปิดเผยมากขึ้น ขนบวัฒนธรรมเดิมๆ ถูกฉีกออกไป

    “สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้มันน่าสนใจที่กำลังเปลี่ยนทุกอย่าง เปลี่ยนได้ไม่ได้เดี๋ยวคุยกันอีกที ก็คือมันเป็นการเคลื่อนขยับของความหวัง”

    เป็นที่ทราบกันดีว่าเหล่าผู้ผูกขาดทางอำนาจต้องการจะขัดขวางรัฐบาลของพรรคก้าวไกล เพื่อที่จะได้หล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำให้มีอยู่ ความพยายามนี้มีมาตั้งแต่สมัยของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อรรถจักร มองว่าความพยายามนี้เป็นจุดที่ทำให้ประชาชนรวมตัวกันเหนียวแน่นยิ่งขึ้น เพราะเริ่มมองเห็นแล้วว่าความพยายามของเหล่าผู้ผูกขาดทางอำนาจคือการรังแกผู้อื่น และนั่นเป็นสิ่งที่สังคมไทยยอมรับไม่ได้ และในขณะเดียวกันก็ยังส่งผลให้การระดมผู้คนของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเป็นไปได้ยากขึ้นด้วย

    “อะไรที่มันนอกเหนือความคาดหมายคนก็จับตามอง ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือผลการเลือกตั้งที่เขย่าเครือข่ายผู้ผูกขาดทรัพยากรทางอำนาจ และการเขย่านี้มันจะแรงขึ้นๆ มันจะนำไปสู่อะไร? ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยใจเย็นก็อาจจะมองหาลู่ทางเดินไปข้างหน้าได้อย่างงดงามมากขึ้น”

    การปกครองแบบกึ่งสมบูรณ์อาญาสิทธิราชย์ สู่วัฒนธรรมในระดับการทำงานขององค์กรอิสระ

    ประภาส ปิ่นตบแต่ง พาเราย้อนกลับไปสู่การพัฒนาการเมืองในอดีต สมัยปี พ.ศ.2549 มาจนถึงช่วงรัฐประหารปีพ.ศ.2557 ทบทวนการเกิดขึ้นของความสัมพันธ์ใหม่ทางอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ รวมถึงความสัมพัธ์ระหว่างผู้ปกครองและประชาชน ในตอนนั้นมีหลากหลายชื่อถูกใช้เรียกความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตยแบบประเพณี หรือประชาธิปไตยค่อนใบ ประภาส มองว่าระบอบจากความสัมพันธ์นี้มีลักษณะที่กระทบกับผู้คนในหลากหลายมิติ


    รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    “จะเห็นว่ามันก็จะเชื่อมโยงมาสู่สิ่งซึ่งพรรคใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่สามารถวางตัวเองบนภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองที่มันเปลี่ยนไป ไม่ใช่คล้ายๆ กับช่วงหนึ่งพรรคไทยรักไทยวางตัวเองอยู่บนความต้องการของผู้คนในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนในชนบทเข้ามาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ” 

    ระบอบการปกครองแบบใหม่นี้ส่งผลกระทบกับชีวิตผู้คนอย่างมาก แม้แต่รัฐในระบอบก็ยังพยายามกล่าวถึงการปฏิรูปการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ หรือแม้แต่เรื่องการเมือง แต่ในแง่ของการปกครองท้องถิ่น การกระจายอำนาจหลังพ.ศ.2557 และรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 นับว่าเป็นยุคมืดของการกระจายอำนาจตามความเห็นของ ประภาส อย่างในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ที่เกิด “จังหวัดบูรณาการ” ขึ้น เป็นหลักฐานของการนำอำนาจกลับสู่ส่วนกลาง

    กลับมาสู่ปัจจุบัน สภาพปัญหาสังคมการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย ส่งผลกระทบกับผู้คนอย่างกว้างขวาง กลายเป็นแรงผลักดันให้สังคมเรียกร้องการเปลี่ยนเปลี่ยน การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ประจวบเหมาะกับการมาของพรรคก้าวไกล ผลพวงของระบอบใหม่ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ คนชายขอบต่างๆ ได้ร่วมเครือข่ายการทำงานของพรรค อีกทั้งชัยชนะของพรรคก้าวไกลยังกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการเมืองทางการและการเมืองบนท้องถนนไปโดยปริยาย

    “ผมคิดว่าชัยชนะของก้าวไกลคือการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่การเมืองที่เป็นทางการกับการเมืองที่ครั้งหนึ่งอยู่บนท้องถนน ในทางรัฐศาสตร์คงไม่สามารถแยกระหว่างการเมืองนอกสถาบันกับการเมืองในสถาบันหรือการเมืองในรัฐสภาแล้ว เราคงจะเห็นสิ่งนี้มันเคลื่อนไปเคลื่อนมาอยู่ตลอดเวลา ปรากฏการณ์ด้อมส้มหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าการโหวตนายก บทบาทของสว.จะไปโหวตให้นายกที่มาจากเสียงข้างมาก มันจะเกิดปรากฏการณ์กลับไปกลับมาก็คงเข้าใจได้ไม่ยากในยุคสมัยปัจจุบัน”

    ประภาส คาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้จากผลของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาชนผันตัวเองมาสู่การต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง จากโครงสร้างระบอบที่เคยถูกสถาปนา ฝังรากลึกในสังคมมาอย่างยาวนาน องค์กรอิสระที่ในปัจจุบันเหมือนจะปฏิบัติงานอยู่ในฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตย ถูกปลูกฝังด้วยฐานความคิดที่ว่าสังคมไทยควรจะมีรูปแบบการปกครองแบบกึ่งสมบูรณ์อาญาสิทธิราชย์ กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรในระดับการทำงาน ประภาส มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้แน่นอนถ้ากลุ่มองค์กรอิสระยังยึดอยู่กับชุดฐานความคิดดังกล่าว การเลือกตั้งจึงจำเป็นต้องสะท้อนอำนาจอธิปไตยของประชาชน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจุดยืนขององค์กรเหล่านี้ว่ายึดอยู่ในฐานความคิดแบบใด

    Royal Liberalism ระบอบที่อยู่เหนือสิ่งที่ประชาชนมองเห็น

    สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้ว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษในการเลือกตั้ง ที่ไม่รู้ผลก่อนเลือกตั้งเสร็จก็รู้ผลหลังเลือกตั้งเสร็จแบบประเทศอื่นๆ แต่ในตอนนี้ที่ล่วงเลยผ่านการเลือกตั้งมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาลต่อไป สมชาย มองว่านี่เป็นการเลือกตั้งใน “ระบอบที่ใหญ่กว่า” ถูกเรียกในทางวิชาการว่า “Royal Liberalism” (Michael K. Connors) ซึ่งเป็นระบอบที่อยู่เหนือไปจากสิ่งที่ประชาชนมองเห็นได้ เป็นระบอบที่จะมีอำนาจพิเศษบางอย่างเข้ามาจำกัดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งเป็นระบอบที่แนบเนียนอยู่ในสังคมไทยมาก่อนยุคปีพ.ศ.2540 เสียอีก


    สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    สมชาย อธิบายถึงโครงสร้างและการทำงานของระบบ Royal Liberalism นี้ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคน 4 กลุ่ม ได้แก่ นายทุน, ขุนศึก, ศักดินา และตุลาการ เป็นความพยายามของชนชั้นนำเหล่านี้ในประเทศที่ต้องการจะถือครองอำนาจต่อหลังจากมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เพื่อที่จะได้ยึดครองสถาบันทางการเมืองต่างๆ ได้ต่อไป โดยสิ่งที่คนในระบอบนี้จะทำคือการใช้อำนาจผ่านสถาบันที่ไม่ได้สัมพันธ์กับเสียงข้างมาก และอาจจะต่อต้านประชาชนด้วยในบริบทของสังคมไทย

    “เราจะเห็นบทบาทของชนชั้นนำมากขึ้นผ่านสถาบันทางการเมืองที่ไม่สัมพันธ์กับประชาชน ไม่สัมพันธ์กับการเลือกตั้ง อันนี้ผมคิดว่าเราเห็นชัดในสังคมไทย”

    กลุ่มคนทั้ง 4 กลุ่มในระบอบ Royal Liberalism ต่างมีหน้าที่ที่ตนต้องทำ สมชาย เสนอ 4 ประเด็นที่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างแรกคือประเด็นการเมืองวัฒนธรรม และการเมืองบนท้องถนน กลายเป็นพื้นที่ที่ใช้แสดงอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนได้ ประเด็นถัดมาคือการเมืองในรัฐสภา ที่ในอดีต สมชาย มองว่าเป็นรูปแบบการเมืองที่ประชาชนอาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ไม่มาก แต่การมาถึงของพรรคอนาคตใหม่ ทำให้การเมืองในสภาตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 เชื่อมต่อกับการเมืองบนท้องถนนมากขึ้น ประเด็นที่ถูกพูดถึงในการเมืองท้องถนนถูกส่งต่อไปพูดในการเมืองสภา ทำให้กลุ่มคนในระบอบ Royal Liberalism พยายามขัดขวางอำนาจของการเมืองในสภา เพราะระเบียบรัฐธรรมนูญ กติกาของสถาบันต่างๆ ล้วนเอื้อต่อระบอบนี้ทั้งสิ้น

    อย่างไรก็ตาม การมาของพรรคก้าวไกลและ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลายเป็นรากฐานของความเชื่อมโยงระหว่างการเมืองสภาและท้องถนน กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่แม้พรรคก้าวไกลจะถูกยุบไป หรือ พิธา จะถูกตัดสิทธิ์จากตำแหน่ง ก็จะมีพรรคใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต 

    “ผมหวังว่าจะมีฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นเป็นการโต้แย้งในแง่ของสติปัญญามากขึ้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยหลักการไม่ได้ปฏิเสธประชาธิปไตย หวังว่าชนชั้นนำไทยปรับตัวอย่างน้อยๆ อยู่บนฐานประชาธิปไตยด้วยกันแล้วมาเถียงกัน”

    สมชาย ชวนมองความเปลี่ยนแปลงนี้ทั้งสองด้าน ในแง่ดี นี่อาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองเชิงโครงสร้าง ผู้คนจากทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและอนุรักษ์นิยมอยู่ร่วมกันและถกเถียงกันได้ ในแง่ลบ นี่อาจจะเป็นการล้ำเส้นที่กลุ่ม Royal Liberalism ไม่สามารถยอมรับได้ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ สมชาย เองก็ยังคาดเดาไม่ออก

    Related

    60 กว่าปีที่รอคอย ขบวนความหวัง รถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คุ้มไหมกับที่หวัง?

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน “เชียงรายจะมีรถไฟแล้ว” ประโยคขายฝันที่ฉันได้ยินตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่เคยเห็นรถไฟที่ว่านั้นสักที ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยากลำบากต่อการก่อสร้างและความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้เส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยสิ้นสุดอยู่เพียงที่ชานชาลาเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน  จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริง...

    ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน...

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...