‘เลาฟั้ง’ ชำแหละนโยบายที่ดินเขตป่ารัฐบาลเศรษฐา หวั่นสืบทอดแผนคสช.

12 สิงหาคม 2566 เวลา 01.20 น. ณ อาคารรัฐสภา เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้อภิปรายนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ในประเด็น สิทธิในที่ดินทำกินและทรัพยากรของเหล่าชาติพันธุ์

เลาฟั้ง กล่าวว่า หลังจากรัฐประหารปี 2557 มีการออกคำสั่ง คสช.ที่เรียกว่า คำสั่งทวงคืนผืนป่า ซึ่ง 5 ปีหลังจากคำสั่งนี้ออกไปมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีกว่า 29,000 คดี ชาวบ้านถูกยึดที่ดินกว่า 750,000 ไร่ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้คำสั่งจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่รัฐบาลในขณะนั้นก็ยังดำเนินงานต่อผ่านนโยบาย คทช. และการจัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

เลาฟั้งได้ตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าของรัฐบาลเศรษฐากับรัฐบาลประยุทธ์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญ 2 ประการได้แก่

1.นโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินของเศรษฐา ทวีสิน กำลังจะไปต่อยอดนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการจัดให้ประชาชนเป็นภัยต่อผืนป่าแต่พร้อมที่จะยกให้แก่นายทุนใช้ได้

2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรัฐบาลปัจจุบัน มาจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเชื่อได้ว่ารัฐมนตรีในสมัยนี้จะเดินหน้ายึดสิทธิในที่ดินชาวบ้านต่อไป เพราะเหนือสิ่งอื่นใด พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นน้องชายแท้ๆ ของประวิตร วงษ์สุวรรณ คนที่มีส่วนยึดที่ดินชาวบ้านตามคำสั่งของ คสช.

“พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายเพื่อหาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่าจะยุติความขัดแย้งเรื่องที่ดินกับราษฎรรายเล็กรายน้อย แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นวันที่อำนาจบริหารประเทศนี้อยู่ในมือของ ครม.เศรษฐา กรมอุทยานฯ เพิ่งได้เร่งรัดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกาศอุมยานแห่งชาติถ้ำผาไท จังหวัดลำปาง ท่าใกลางข้อสงสัยว่าทับสิทธิในที่ดินทำกินของชาวปกาเกอะญอ จนชาวบ้านต้องออกมาเดินขบวนคัดค้าน

แล้วความขัดแย้งจะยุติลงได้อย่างไรครับ ในเมื่อปัญหาเรื่องเดิม ท่านไม่มีนโยบายแก้ แต่เปิดหัวด้วยการเดินหน้าแย่งยึดสิทธิในที่ดินของชาวบ้านต่อ หรือนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นเพียงเทคนิคในการหาเสียง” 

เลาฟั้งได้ฝากคำถามไปยัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อนโยบายการปลูกป่าในที่ดินทำกินในพื้นที่สูง 3 คำถามดังนี้ 

1.ที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ถูกยึดไปตามคำสั่งทวงคืนผืนป่ากว่า 750,000 ไร่ จะถูกยึดโดยถาวรใช่ไหม? 

2.โครงการยึดดินของชาวบ้านมาปลูกป่าเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาบอนฯจะยังเดินหน้าต่อไปใช่ไหม? 

3.นโยบายคทช.ที่แย่งยึดสิทธิในที่ดินของชาวบ้านยังจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่?

“ชาวบางกลอยที่เขาถูกเผาบ้านไล่ที่ ขณะนี้พวกเขากำลังเรียกร้องขอกลับคืนถิ่น ท่านจะทำยังไงบ้างครับ?”

เลาฟั้งได้เสนอ 3 ข้อเสนอ ให้รัฐบาลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

1.การยึดระบบนิเวศน์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา (Eco-centric) มุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรให้มนุษย์และป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน คนในท้องถิ่นใช้ที่ดินหรือทรัพยากรและที่ดินได้แต่ต้องรักษาระบบนิเวศให้สมดุลต่อไป

2.พิสูจน์สิทธิในที่ดินอย่างเป็นธรรมและเปิดโอกาสอย่างถ้วนหน้า ลดข้อจำกัดเรื่องความลาดชัดและชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ เพื่อให้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิได้ และออกเอกสารรับรองสิทธิอย่างเป็นธรรมได้

3.ส่งเสริมบทบาทของชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ุ ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าอยู่แล้วให้มีสิทธิในการจัดการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เลาฟั้งเสนอว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้เลยคือการผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีทั้งฉบับของพรรคก้าวไกลและฉบับของพรรคพลังประชาชน ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

“การใช้ที่ดินของคนในพื้นที่สูงถูกตีตราว่าเป็นการบุกรุกป่ามาโดยตลอด ผมหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะยอมรับสิทธิและความชอบธรรมในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ และทำให้ความฝันที่จะได้รับเอกสารสิทธิเป็นจริงขึ้นมา”

การอภิปรายในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแคมเปญ “รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” ของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการชำแหละนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ยังสืบทอดปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาต่อไป

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง