พฤษภาคม 9, 2024

    แด่ “จรัลล้านนา” ว่าด้วยการประกอบสร้างและผลิตซ้ำอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาของศิลปินอย่าง จรัล มโนเพ็ชร

    Share

    เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

    บทความนี้ไม่ได้จัดวางบทบาทและสถานะของ “จรัล มโนเพ็ชร” ว่าเป็นผู้สร้างอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาที่ดำรงอยู่อย่างแน่นิ่งตายตัวแต่อย่างใด การนำเสนอของบทความนี้ต้องการที่จะสร้างและสานต่อบทสนทนากับบทความที่ถูกเขียนขึ้นก่อนหน้า ซึ่งได้มีความพยายามในการวิเคราะห์และตรวจตราการสร้างอัตลักษณ์ผ่านบทเพลงของจรัล ผ่าน “มโนทัศน์ล้านนาไทยที่อีหลักอีเหลื่อ” โดยที่ผู้เขียนเองก็ไม่ได้วางอยู่บนการมีเจตจำนงที่จะนำเสนอข้อโต้แย้งต่องานเขียนก่อนหน้า หากแต่ปรารถนานำพาผู้อ่านบทความให้ขยับขยายแง่มุมเพื่อมองให้เห็นฉากหลัง   ของเรื่องราวและเรื่องเล่าที่มีต่อศิลปินล้านนาท่านนี้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริบทของยุคสมัย ท่ามกลางสภาพเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการเมืองที่ห้อมล้อมกล่อมเกลาให้เขาได้ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นจิ๊กซอว์ในทางประวัติศาสตร์ดนตรีล้านนาให้เป็นส่วนหนึ่งของ“การประกอบสร้างอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา” มิใช่เพียง “การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา” ในฐานะองค์ประธานทางประวัติศาสตร์ (Historical subjects) ผู้ยิ่งใหญ่อย่างตรงไปตรงมาแบบนั้นเลยเสียทีเดียว

    ผู้เขียนขอเริ่มต้นชี้ชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิดและพิจารณาต่อคำว่า “อัตลักษณ์ความเป็นล้านนา” ในฐานะแนวคิดที่สะท้อนถึงการประกอบสร้างทางวัฒนธรรมที่สามารถอธิบายเชื่อมโยงควบคู่กับการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม นั่นเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมล้วนเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา โดยมีการสืบทอดและส่งต่อทั้งระบบคุณค่าหรือ วัตรปฏิบัติเกี่ยวกับวัฒนธรรมนั้นๆ ทั้งนี้ การผลิตซ้ำที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยคนท้องถิ่นหรือลำพังเพียงถิ่นหนึ่งถิ่นใด แต่หากยังเกี่ยวข้องกับผู้คนหรือกลุ่มคนหลายหลากฝ่ายของเครือข่ายอำนาจที่มีอยู่ทั้งภายนอกและภายในของแต่ละถิ่นที่ ขณะเดียวกันการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมก็จะมีการหยิบยืมความหมายเพื่อมาใช้ในการประกอบสร้างระหว่างกันไปมา ยกตัวอย่างเช่นเวลามีการค้นหารากเหง้าหรือประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นที่หนึ่งถิ่นที่ใด ก็มักจะอาศัยกรอบวิธีการศึกษาหรือการแบ่งช่วงเวลาด้วยความรู้อันมีที่มาจากระบบการศึกษาของศูนย์กลางรัฐให้เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างจิตสำนึกและความภูมิใจในถิ่นที่หนึ่ง ๆ ซึ่งพยายามธำรงรักษาอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่หนึ่ง ๆ (ที่ผลิตซ้ำมาแล้ว)  ให้คงอยู่ต่อไป เป็นต้น ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ก็ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ถิ่นที่หรือท้องถิ่นต่างๆนั้นล้วนมีการ “หยิบ-ยืม–(ถูก)ยัด” ความหมายที่รัฐสร้างขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความหมายใหม่ให้กับท้องถิ่นใหม่และหลาย ๆ ครั้งเราก็พบเห็นการหยิบยืมวาทกรรมที่เป็นประโยชน์จากหลายแหล่งมาร่วมในการผลิตซ้ำในแต่ละครั้งอีกด้วย

    นอกจากอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาจะอยู่ในฐานะของสิ่งประกอบสร้างท่ามกลางบริบทของยุคสมัยและทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการเมืองแล้ว ความเป็นล้านนายังมีสถานะเป็นอัตลักษณ์ที่ธำรงอยู่ได้ในจินตนาการหรือจินตกรรมของผู้คนได้ อีกด้วย งานเขียนของอรดี อินทร์คง (2552) เลือกใช้คำว่า “จินตกรรมอัตลักษณ์” ซึ่งแปลความมาจากภาษาฝรั่งที่ว่า Imagined Identity [1] เพื่อที่จะชี้ชวนให้มองเห็นว่า “อัตลักษณ์ความเป็นล้านนา” นั้นมีนัยยะถูกประกอบสร้างไว้บนพื้นฐานของการผูกโยงตัวตนของผู้คนในปัจจุบันเข้ากับ รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ถูก “นิพนธ์” ขึ้นมาท่ามกลางกระแสธารการเชิดชูความเป็นท้องถิ่นผ่านกระบวนการทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การขุดค้นร่องรอยทางประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง (และเชื่อว่ารุ่งเรือง) ของอาณาจักรอย่างเช่น กรณีอันเป็นที่ฮือฮามากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาอย่าง “คุ้มหลวงเวียงแก้ว” เป็นต้น กระแสภาพยนตร์หรือละครอิงประวัติศาสตร์แนวจินตนิยายโรแมนติกหลายเรื่องที่อาศัยฉาก บริบททางสังคม ชื่อตัวละคร ลำดับเหตุการณ์ ฉาก  หรือช่วงเวลาเพื่อนำเสนอประเด็นความรักโรแมนติก ความรักในชาติบ้านเมือง ตลอดจนความไม่ลงรอยของสุขนาฏกรรมทางการเมืองและโศกนาฏกรรมทางการเมือง ซึ่งจินตกรรมหรือจินตนาการของผู้คนที่ยึดโยงกับอดีตได้เป็นอย่างดีนั้นล้วนผ่านการสั่งสมทุนทางสังคมและวัฒนธรรมบนฐานความรู้ท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างมั่งคั่งมากขึ้น วัฒนธรรมประชานิยมที่ถูกสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะ การละคร และภาพยนตร์ได้ส่งผลต่อโครงสร้างของความรู้สึก (Structure of feeling)  เป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้การถอยหลังกลับไปสู่อดีตได้ง่ายมากขึ้น สมจริงเหลือเชื่อและสร้างการจำลองของอดีตได้เทียบเคียงเข้าใกล้กับความจริงผ่านการแสดงภาพให้เห็นเป็นบรรยากาศรวมของยุคสมัยนั้นๆซึ่งล้วนมีผลต่อการกำกับความคิด ระบบคุณค่า โลกทัศน์จักรวาลคติและความรู้สึกของผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรมดังกล่าว ได้เป็นอย่างดี จากคำและแนวความคิดที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปนี้ อาจทำหน้าที่เป็นบันไดไต่ระดับความเป็นนามธรรม (Level of Abstraction) เพื่อใช้พาดผ่านมาสู่การอธิบายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมดนตรีล้านนาร่วมสมัยที่ถูกนำเสนอผ่านรูปแบบ“เพลงโฟล์คซองคำเมือง” อันเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของศิลปินถิ่นเมืองเหนือผู้ซึ่งมีนามว่า “จรัล มโนเพ็ชร” โดยที่เขาถูกมองและได้รับการยกย่องว่ามีบทบาทและความสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานดนตรีแนวนี้จนเป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วประเทศ ไม่เพียงแค่นั้น “จรัล มโนเพ็ชร” ยังถือว่าเป็นผู้ที่แบกอัตลักษณ์ของการเป็นคนถิ่นบ้านล้านนาผ่านทั้งสำเนียงและท่วงทำนองของภาษาที่ใช้ในการพูด การร้อง และการเล่นดนตรีจนได้กลายเป็นที่จดจำสำหรับผู้คนในภูมิภาคอื่น ๆ จนประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน ผ่านการโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงผ่านหน้าจอเงินและจอแก้ว  ตลอดจนงานออกาไนซ์ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่เป็นสำคัญ จรัลจึงมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบสร้างภาพตัวแทนความเป็นล้านนา ผ่านการเป็นคนในวัฒนธรรมดนตรีที่อยู่ท่ามกลางสายธารการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย งานเพลงของเขาจึงมีทั้งการหยิบยืมวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก ทั้งส่วนที่เป็นเครื่องดนตรีและท่วงทำนองดนตรีตะวันตกมาผสมผสานกับเนื้อร้องภาษาคำเมือง จนผลงานของจรัลกลายมาเป็นภาพลักษณ์ “ความเป็นล้านนา” ที่ปรากฏต่อสายตาและการรับรู้ของผู้คนทั่วไปในปัจจุบัน ทั้งนี้ขณะที่ผู้เขียนบทความจงใจและเลือกที่จะ “อ่านจรัล” ในฐานะผู้ประกอบสร้างอัตลักษณ์ความเป็นล้านนามากกว่าผู้สร้างอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา นั่นมิใช่เป็นการตอดเล็กตอดน้อยกับถ้อยความและภาษาเพื่อเล่นลิ้นปลิ้นคำเท่านั้น หากแต่เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของมุมมองแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodern) ที่มีต่อมโนทัศน์ “อัตลักษณ์” (Identities) ว่ามิได้มีเพียงแต่ความหมายหรือนัยยะที่แน่นิ่งตายตัว หากแต่มโนทัศน์ “อัตลักษณ์” กลับมีการขยาย ขยับ ปรับปรน แปรเปลี่ยน ลูกผสมและทับถมกันอยู่อย่างซับซ้อน  

    ภาพ : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง

    “จรัล มโนเพ็ชร” : ชีวิตและผลงานในสายธารประวัติศาสตร์

    ผู้เขียนของกล่าวถึง “จรัล มโนเพ็ชร” ในฐานะศิลปินผู้ที่มีรูปแบบการนำเสนองานศิลปะของเขาได้หลายหลากชนิด ทั้งการร้องเพลง การเล่นดนตรี การแต่งเพลงและการแสดง เรื่องราวและการนำเสนอตัวตนของเขาเกิดขึ้นโดยตัวของเขาเอง เมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตและโลดแล่นอยู่ในแวดวงด้านศิลปะ ตลอดจนอยู่บนถนนที่เรียกกันว่า “เส้นทางบันเทิง” ชีวิตของจรัลเริ่มต้นถือกำเนิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่ทำอาชีพเป็นข้าราชการแขวงการทางจังหวัดเชียงใหม่ (ฝ่ายบิดา) ที่ผสมผสานความเป็นผู้รากมากดีเก่าอันสืบเชื้อเครือสายสกุลเจ้า ณ เชียงใหม่ (ฝ่ายมารดา) ซึ่งมีถิ่นฐานอาศัยอยู่แถววัดฟ่อนสร้อย ย่านกาดหรือตลาดประตูเชียงใหม่ ภายในเขตสี่เหลี่ยมกำแพงล้อมรอบคูเมือง ครอบครัวมโนเพ็ชรเป็นครอบครัวใหญ่ที่ใช้ชีวิตด้วยวิถีที่เรียบง่ายและสมถะตามแบบวิถีชาวบ้านย่านเวียงเชียงใหม่แบบทั่วไป 

    พ่อน้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร บิดาของจรัลที่มีชีวิตสืบต่อมาเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในหลายแขนงทั้งงานวาด งานปั้น และงานแกะสลักไม้ ซึ่งผู้คนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมล้านนายุคหลังทศวรรษ 2540 ต่างก็รู้จักกันดีในฐานะครูภูมิปัญญาด้านตุงและโคมของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ร่วมกับแม่ครูบัวไหล คณะปัญญา ผู้ริเริ่มการทำธุรกิจโคมล้านนาในย่านเมืองสาตรหลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จนกระทั้งพ่อน้อยสิงห์แก้วหรือพ่อครูสิงห์แก้ว มโนเพ็ชรมีลูกศิษย์ลูกหาทั่วเชียงใหม่ จนกระทั่งได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ด้านศิลปกรรม ศิลปะพื้นบ้านประเภทโคม-ตุง ซึ่งความสามารถด้านศิลปกรรมที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ ย่อมมีส่วนถูกถ่ายทอดไปยังจรัลในช่วงวัยเด็กอย่างเข้มข้นในฐานะผู้ช่วยหรือลูกมือของพ่อน้อยสิงห์แก้วที่ใช้ความสามารถหรือภูมิปัญญาแขนงดังกล่าวหารายได้พิเศษมาเลี้ยงดูครอบครัว

    ขณะเดียวกันความสนใจด้านดนตรีของจรัลกลับเริ่มต้นจาก “ดนตรีฝรั่ง” กล่าวคือ จรัลรู้จักและสัมผัสกับเครื่องดนตรีอย่างเปียโนเมื่อครั้งตอนเขาเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 การไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่โบสถ์ในวันอาทิตย์กับมารดาของเขาซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ สิ่งดังกล่าวนี้มีผลทำให้จรัลได้มีโอกาสสัมผัส/เรียนรู้/ซึมซับท่วงทำนองเพลงสวด ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้จรัลสามารถแต่งเพลงๆ หนึ่งขึ้นมา นั่นคือ เพลงอุ๊ยคำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบทเพลงอันดับต้นๆ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ฟังอย่างสูงสุด โดยต่อมาจรัลก็ได้เริ่มรู้จักและเล่นดนตรีพื้นบ้านล้านนาอย่างซึงเมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 เล่นกีตาร์เมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 5-7 และตีขิมได้เมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ลำดับพัฒนาการการเล่นและฝึกหัดดนตรีของเขาเริ่มขยับขยายประเภทและชนิดมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็เพราะความรักและความสนใจที่มีต่อดนตรีจึงทำให้เขาฝึกเล่นดนตรีได้ตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็กภายใต้การหนุนเสริมและสนับสนุนจากครอบครัวจนกระทั่งจรัลกลายเป็นเด็กที่มีความสามารถด้านดนตรีจนเป็นที่โดดเด่นขึ้นมาในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นโดยที่จรัลได้รับโอกาสให้แสดงความสามารถทางด้านดนตรีอย่างเต็มที่และฝึกฝนดนตรีอย่างจริงจังก็เมื่อเขาอายุประมาณ 14 ปี ในช่วงเข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพชั้นปีที่ 2 (จรัลเรียนก่อนเกณฑ์ 2 ปี) ซึ่งเป็นช่วงที่เขาสนใจดนตรีคันทรีจากตะวันตก เช่น ปีเตอร์ พอล แอนด์ แมรี่, ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล, เลียวนาร์ด โคเฮน, บ๊อบ ดีแลน และโจน บาเอซ เป็นต้น

    จากนั้นเมื่อจรัลเรียนในชั้นปีที่ 3 จรัลจึงเริ่มร้องเพลงเป็นอาชีพและได้ค่าจ้างจากการไปเล่นดนตรีตามงานต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เขาจะเลือกเล่นเพลงคันทรีจากตะวันตกเป็นหลัก เนื่องจากจรัลมีพื้นฐานทางด้านดนตรีโดยการฝึกเล่นกีต้าร์มาตั้งแต่เด็กประกอบกับการที่เขาได้ฟังเพลงทางสถานีวิทยุในจังหวัดเชียงใหม่และจากมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภาคเหนือ อีกทั้ง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีของจรัลไม่ว่าจะเป็น การแต่งเพลง การเล่นดนตรี รวมทั้งการขับร้องระหว่างที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จรัลจึงได้ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยการทำงานเพื่อหารายได้พิเศษโดยเริ่มด้วยการรับจ้างร้องเพลงเล่นกีตาร์ที่ร้านอาหารและสถานบันเทิงประเภทคลับบาร์ในเมืองเชียงใหม่แนวดนตรีที่จรัลชอบเป็นพิเศษ คือ ดนตรี โฟล์ค คันทรี และบลูส์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแต่งเพลงของเขา ซึ่งในบริบทของช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงการต่อต้านการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามของเหล่าบรรดาปัญญาชนในสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา การต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลจักรวรรดินิยม ตลอดจนการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยซึ่งทั้งวิถีชีวิตของพลเมืองกองทัพ GI และกระแสธารการต่อต้านในมิติการเมืองวัฒนธรรมที่มีขึ้นนี้ ล้วนถั่งโถมโหมกระแสกลายเป็นพายุหมุนทางวัฒนธรรมดนตรีแบบอเมริกันหรือวัฒนธรรมแบบประชานิยมที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าลักษณะเพลงโฟล์คซองคำเมืองของจรัล มโนเพ็ชรในระยะแรก ๆ เองก็มีกลิ่นอายแบบอเมริกันดำรงอยู่แบบ “หึ่งๆ”ด้วยไม่น้อยเลยทีเดียว

    ภาพ: เพลินวาน ตำนานเพลง

    เมื่อจรัลสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาบัญชี จากวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ เมื่อปี พ.ศ.2516 แล้ว เป็นบริบทเดียวกันกับช่วงเวลาแห่งการผลิบานของประชาธิปไตยในใจชน มีผู้คนที่เป็นนักวิชาการหรือคนเดือนตุลาฯ หลายๆได้พยายามบอกเล่าประวัติศาสตร์และความทรงจำของช่วงเวลาที่ว่างนี้ พร้อมทั้งหาที่ทางให้จรัลมีตัวตนอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้เขียนเองก็ได้ฉุกคิดขึ้นมาในใจหลายกรรมหลายวาระแล้วว่าตกลงแกเข้าเขตงานในป่าหรือว่าอยู่เขตงานในเมืองวะ?” คำถามแบบตรงไปตรงมาของผู้เขียนแบบนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้ถามไถ่อย่างตรงไปตรงมากับคนที่เคยรู้จักกับ “จรัล” ในมิติที่ว่ามานี้ได้ดีพอมากนัก แต่คิดว่าคงมิใช่สาระสำคัญของข้อเขียนนี้แต่อย่างใด (อ้างไว้ในฐานะ “เกร็ด” ของประวัติศาสตร์และความทรงจำในวงเล่าจากพวกสหายเก่าเฉยๆ) เพราะต่อให้เป็นคนที่เข้าป่าหรือเข้าร่วม ก็หาได้คงสถานการณ์เป็นนักรบทางวัฒนธรรมของประชาชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเสนอไป 

    เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพแล้ว จรัลได้เข้าทำงานที่แขวงการทางอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงรายแล้วต่อมาจึงย้ายไปทำงานที่บริษัทไทยฟาร์มมิ่งและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งจรัลเองก็ยังคงทำงานประจำควบคู่ไปกับการร้องเพลงที่ร้านอาหาร โรงแรมและคลับบาร์ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยต่อมาจรัลก็ได้รับจากการสนับสนุนของมานิด อัชวงศ์ ผู้ซึ่งชักชวนให้จรัลทำงานเพลงอย่างเป็นจริงเป็นจังและออกเทปเป็นครั้งแรกในชื่อชุด “โฟล์คซองคำเมืองชุดอมตะ 1”ในปี พ.ศ.2520 แนวเพลงของจรัลที่ผลิตออกสู่ท้องตลาดจึงเป็นการเลือกหยิบและคัดสรรบทเพลงท้องถิ่นที่มีอยู่ก่อนแล้วมาใช้และยังมีการเขียนเนื้อร้องคำเมืองขึ้นมาอีกหลายเพลงโดยใช้แนวทาง (ทำนองดนตรี) จากเพลงฝรั่งที่จรัลฟังและเล่นมาก่อนหน้าซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วทั้งประเทศทั้งบทเพลงอุ๊ยคำ สาวมอเตอร์ไซค์ น้อยไจยา และเพลงพี่สาวครับจรัลใช้กีต้าร์และแมนโดลินมาแทนเสียงซึง นอกจากนั้นยังใช้ขลุ่ยฝรั่งมาแทนเสียงขลุ่ยไทย อีกทั้งยังใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่อีกหลายชิ้นมาบรรเลงบทเพลงเก่าแก่ของล้านนาในแบบฉบับวงดนตรีของจรัล มโนเพ็ชรนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยอาจมิใช่หัวหอกหรือแนวรบทางวัฒนธรรมแนวหน้าในฐานะผู้เริ่มร้อง “โฟล์คซองคำเมือง” แต่อย่างใด อิทธิพลสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ผลงานเพลงของเขาและการจัดวางตำแหน่งการเล่นดนตรีของสมาชิกในวงที่มีเขาเป็นนักร้องนำและเล่นกีตาร์ตัวหลัก โดยมีน้องชายของเขา (เกษม ครรชิตและกิจจา) ทำหน้าที่เล่นแบ็คอัพให้ รวมทั้งมีนักร้องฝ่ายหญิงที่ร้องคู่ร่วมเป็นสมาชิกวงนั้น ก็ล้วนได้รับอิทธิพลทางดนตรีวงทรีโอแนวโฟล์กร็อกสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงที่สุดวงหนึ่งในช่วงทศวรรษ1960s – 1970s อย่าง Peter Paul & Mary โดยว่ากันว่าเพลง “อุ๊ยคำ” ของจรัลก็มีส่วนดัดแปลงมาจากเพลง “Man Come into Egypt”  รวมทั้งท่อนอินโทรของหลาย ๆ เพลงที่ผู้เขียนพอจะรู้มาบ้างอย่างท่อนอินโทรเพลงสาวเชียงใหม่ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของข้อมูลที่ว่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจรัล มโนเพ็ชรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยที่แนบแน่นอยู่กับสายธารประวัติศาสตร์ดนตรีโลก ซึ่งยุคสมัยเดียวกันกับเขานั้นลักษณะของวงดนตรีแนวโฟล์กซองวงในเชียงใหม่และในเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงก็มีรูปลักษณ์และการจัดวางตำแหน่งการเล่นดนตรี รวมถึงการมีสมาชิกเป็นนักร้องในวงเช่นเดียวกันกับวงดนตรีโฟล์กซองของ สมบูรณ์ บุญโรจน์ และเพื่อน (เจ้าของงานเพลงดัง ต๋ำรายา) วงแม่คำและวงคิงแอนด์ฮา ซึ่งเป็นวงดนตรีโฟล์คซองในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

    โฟล์คซองคำเมืองของเขา ผู้คนหรืองานวิชาการที่ให้ความสนใจต่อประเด็นเพลงคำเมืองและผลงานของจรัลในชั้นหลังมักจะมองว่าบทเพลงโฟล์คซองคำเมืองของจรัลแพร่กระจายไปทั่วประเทศคือการสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการดนตรีล้านนา ทว่าผู้เขียนกลับมองต่างออกไป กล่าวคือ ความแปลกใหม่ในวัฒนธรรมดนตรีหรือวัฒนธรรมบันเทิงสมัยใหม่ในภาคเหนือนั้นกลับมีปรากฏและก่อตัวขึ้นมาก่อนหน้าหลายทศวรรษแล้ว

    ประวัติศาสตร์ดนตรีล้านนางานเขียนของสงกรานต์ สมจันทร์ นักวิชาการด้านดนตรีล้านนารุ่นใหม่ [2] ได้นำเสนอถึงดนตรีสากลซึ่งมีฐานะเป็นวัฒนธรรมบันเทิงสมัยใหม่ในสังคมล้านนาว่าปรากฏในรูปแบบของวงแตรวงราวช่วงการมีพระชนม์ชีพของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีจวบจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ได้มีการจัดตั้งวงดนตรีสากลขึ้นในเชียงใหม่เป็นวงแรกคือวงดนตรีออมสินสาขาเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายสำนักงานคลังออมสินสาขามายังจังหวัดต่าง ๆ (ปัจจุบันคือธนาคารออมสิน) เกิดสำนักงานคลังออมสินขึ้นในต้นปี 2484 โดยมี นายชาย บุนนาค เป็นคนริเริ่มจัดตั้งขึ้น วงดนตรีดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากดนตรีแจ๊ส (Jazz) ที่มีแซ็กโซโฟน ทรัมเป็ต และทรอมโบนเป็นเครื่องดำเนินทำนองและยังมีกีตาร์ เบส กลองชุด ตลอดจนเปียโน เป็นเครื่องให้จังหวะและบรรเลงลีลา ถัดมายังได้มีวงดนตรีสากลเกิดขึ้นทั้งที่โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่และโรงเรียนการเรือนคำเที่ยงอนุสรณ์ในเวลาต่อมาซึ่งมีผลต่อกระแสความนิยมดนตรีสากลที่เล่นเพลงลูกทุ่งก่อกำเนิดขึ้นวงลูกระมิงค์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแต่งเพลง “ลูกทุ่งคำเมือง” ซึ่งมีสุริยา ยศถาวร ผู้ซึ่งเป็นนักประพันธ์เพลงคนสำคัญของยุคนั้นโดยมีเพลงเพลงลูกทุ่งคำเมืองในยุคแรก ได้แก่ เพลงลืมอ้ายแล้วกา เพลงปี๊นเก๊าบ่าตัน (ใต้ต้นพุทรา) เป็นต้น (หาอ่านเพิ่มเติมได้จากวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาการศึกษาวิเคราะห์เพลงตลกคำเมืองของพรพรรณ วรรณา ปี 2544) ขณะที่หลังทศวรรษ2500 อันถือว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมล้านนา ทั้งการสิ้นสุดยุคเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี่ ความเจริญที่เข้ามาสู่ภาคเหนือ วัฒนธรรมบันเทิงที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์ล้านนาในอุดมคติ ได้ส่งผลต่อการรับฟังวิทยุของผู้คนในสังคมล้านนาให้ขยายตัวมากขึ้นในฐานะวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ที่เชียงใหม่ก็มีการนำเอาดนตรีล้านนาและการขับขานแบบล้านนามาออกอากาศผ่านสถานี วปถ.2 นำโดยนักจัดรายการนามอุโฆษในตำนานท่านหนึ่งอย่างคุณอำนวย กลำพัด ซึ่งส่งผลให้เพลงลูกทุ่งเป็นที่นิยมในสังคมล้านนาอย่างรวดเร็ว เกิดวงดนตรีลูกทุ่งเป็นจำนวนมาก มีการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านบรรเลงกับวงดนตรีลูกทุ่ง และในขณะเดียวกันวงดนตรีพื้นบ้านเองก็นำเอาเพลงลูกทุ่งมาบรรเลงในวงซึ่งเกิดการขยายตัวของความนิยมดนตรีสากลนั้น มีการก่อตั้งวงดนตรีต่าง ๆ ตามมา เช่น วง ซี. เอ็ม. (พ.ศ. 2499) และวงศรีสมเพชร (พ.ศ. 2507) เป็นต้น สอดคล้องกับความเห็นของจรัลเองที่มีต่องานดนตรีหรืองานเพลงเก่าๆในยุคก่อนหน้าเขาในลักษณะที่ว่า “บทเพลงเก่าๆ นั้นมีคนทำอยู่มากแล้วและมันก็ไม่สนุกสำหรับผมที่จะไปเลียนแบบของเก่าเสียทุกอย่าง” แม้ในแง่มุมของวัฒนธรรมดนตรีที่นำเสนอโดยจรัลมิได้ใหม่ในทัศนะของผู้เขียนเสียเลยทีเดียว (เพราะยุคสมัยดังกล่าวตัวผู้เขียนยังรู้จักนักร้องแนวเพลงโฟล์คซองคำเมืองท่านอื่นๆ อีกหลายท่านและคิดว่าชื่อหรือผลงานการสร้างสรรค์ของท่านเหล่านี้อาจไม่ได้เป็นที่รุ้จักแพร่หลายมากพอ ยกตัวอย่างเช่น สมบูรณ์ บุญโรจน์ เจ้าของงานเพลงอย่าง ต๋ำฮายา  หรือขจร วงค์ชัยพาณิชย์ แห่งวงแม่คำ เจ้าของงานเพลงโฟล์คซองอย่าง ดอยตุง หรือเป็นผู้ประพันธ์ผลงานเพลง “สาวมอเตอร์ไซต์” ให้แก่จรัล ) แต่ในแง่เนื้อหาของงานเพลงจรัลนั้น กลับนำเสนอได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างโดดเด่น กล่าวคือความเป็นล้านนาและการใช้ภาษาคำเมืองเล่าถึงประสบการณ์ที่เขาได้พบพานมาเล่าเป็นเรื่องราวที่มีเนื้อหาน่าติดตาม โดยเป็นการเผยแพร่ออกมาในรูปของบทเพลงที่เรียบง่ายไพเราะน่าฟัง การเป็นคนคิดต่างและกล้าที่จะสร้างสรรค์งานดนตรีซึ่งแตกต่างจากงานเก่าๆ ทำให้บทเพลงเก่าแก่ของล้านนาที่จรัลนำกลับมา “ทำเพลงใหม่”  (ส่วนจะทำภายใต้ความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนด้วยหรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่ผู้เขียนไม่ขออภิปรายในที่นี้)  กลับมาได้รับความสนใจจากวัยรุ่นในยุคนั้น กระทั่งจรัลได้รับยกย่องและเป็นที่ยอมรับทั้งจากบุคคลทั่วไปหรือแม้แต่ในบรรดาศิลปินด้วยกันเองว่า เป็นนักแต่งเพลงที่มีฝีมือยอดเยี่ยมโดยเฉพาะเพลงแนวบัลลาดที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนและท้องถิ่นล้านนาอันเป็นบ้านเกิดของเขา  โดยช่วงเวลาต่อมาในปี พ.ศ. 2530 จรัลได้จัดคอนเสิร์ตครั้งสำคัญ คือ “ม่านไหมไยหมอก” เป็นการตอกย้ำกระแสท้องถิ่นนิยมได้เป็นอย่างดี นอกจากจรัลจะนำเสนอผลงานเพลงของเขาซึ่งกลายเป็นภาพตัวแทนของความเป็นล้านนาในขณะนั้นแล้ว เขายังนำเสนอดนตรีล้านนาและการแสดงล้านนา ที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์ล้านนาได้อย่างน่าสนใจ

    การมีชื่อเสียงและการประสบความสำเร็จขั้นต้นในการเป็นศิลปินของจรัล ได้ทำให้เขาย้ายจากเชียงใหม่เพื่อไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่กรุงเทพฯ ราวช่วงทศวรรษ 2530 ทั้งทำธุรกิจร้านอาหารและผลงานเพลง ตลอดจนเขายังรับงานแสดงภาพยนตร์และละคร ตลอดจนการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์หรือละครเหล่านั้นอีกด้วย ผลงานที่ขยับขยายมากไปกว่าการเป็นนักร้องเพลงโฟล์คซองคำเมืองของเขาได้สร้างและเปิดโอกาสให้ตัวเขาเองได้รับรางวัลทั้งจากด้านการแสดงและจากการแต่งเพลงประกอบละครและภาพยนตร์อีกหลายรางวัล [3] และมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานศิลปะเพื่อสังคมท้องถิ่นในอีกหลากหลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานด้าน “ละครชุมชน” ซึ่งผลงานทางดนตรีที่สำคัญของจรัล มโนเพ็ชรในด้านดนตรีล้านนาคือ ในปี พ.ศ. 2539 ธนาคารกรุงเทพได้จัดโครงการประพันธ์เพลงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในชื่อ “จตุรภาคกาญจนาภิเษกสมโภช” โดยมีครูดนตรีจากภูมิภาคต่าง ๆ ประพันธ์เพลงขึ้นใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในส่วนของจรัล ได้ประพันธ์เพลง “ฮ่มฟ้าปารมี” ขึ้นนับว่าเป็นงานที่ทันสมัยมากในขณะนั้น ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์ท่าฟ้อนขึ้นประกอบกับเพลง โดยเพลงนี้เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เป็นที่นิยมบรรเลงในดนตรีล้านนาอย่างมาก 

    ช่วงปี 2539 จรัลเริ่มมีแนวความคิดที่จะกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองเหนืออย่างจริงจังโดยการสร้าง “บ้านดวงดอกไม้” ขึ้นที่บ้านทุ่งหลวง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นอกจากนั้นเขายังเริ่มเขียนบท เล่าเรื่อง ขับร้องและแต่งเพลงประกอบในงาน 700 ปีนพบุรีศรีนครพิงค์ซึ่งจัดที่วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้หลังจากที่ได้รวบรวมเครื่องดนตรีล้านนาไว้จำนวนมากหลังจากงานเชียงใหม่ 700 ปี โดยจรัลได้ซื้อที่ดิน 1 ไร่ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างหอศิลป์ฯ เชิดชูผลงานและเก็บรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ของศิลปินล้านนา โดยให้ชื่อว่า“หอศิลปสล่าเลาเลือง”และในปีเดียวกันนี้ก็ได้สร้างบ้านหม้อคำตวงซึ่งมีห้องสตูดิโอส่วนตัวที่กรุงเทพฯ จากนั้นในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2541 ได้เปิดร้าน “สายหมอกกับดอกไม้” ที่เชียงใหม่ ต่อจากนั้นในปี พ.ศ.2543 ซึ่งกลายเป็นช่วงท้ายของชีวิต จรัลได้กลับมาอยู่ทางเหนืออย่างถาวรเพื่อทำงานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างเป็นจริงเป็นจัง จนกระทั่งกลางปี 2544 เป็นช่วงที่เขากำลังตั้งใจที่จะทำงานเพลงเนื่องในโอกาสที่โฟล์คซองคำเมืองของเขายืนยาวมาถึงปีที่ 25 โดยเขาตั้งใจใช้ชื่อว่า “25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร” ซึ่งมีกำหมดการจัดแสดงงาน ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 ตุลาคมพ.ศ.2544 แต่ในระหว่างของการเตรียมงานนี้เอง เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2544 จรัลได้เสียชีวิตลงแบบกระทันหัน อันเนื่องมาจากภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างฉับพลัน ที่บ้านดวงดอกไม้จังหวัดลำพูน 

    ศิลปินคนเมืองอย่าง “จรัล” ในฐานะผู้ประกอบสร้างและผลิตซ้ำอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา

    จุดเด่นของโฟล์คซองคำเมืองแบบจรัลอยู่ที่การนำเครื่องดนตรีตะวันตกคือ การใช้เครื่องดนตรีประเภทกีต้าร์มาดัดแปลงท่วงทำนองเพลงแบบตะวันตกและแต่งคำร้องภาษา “คำเมือง” ร้อยเรียงลงไป ภายในเนื้อหาของบทเพลงจึงมีการนำเสนอสิ่งที่นักวิชาการหรือผู้สนใจศึกษาผลงานของจรัลเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “อัตลักษณ์ทางสังคมของล้านนา” ทว่าผู้เขียนกลับเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือชุดประสบการณ์และความทรงจำทางสังคมแห่งยุคสมัยที่หล่อหลอมกล่อมเกลาตัวตนและความเป็นคนอย่าง “จรัล” ขึ้นมาผ่านภาษาท้องถิ่นนห้วงเวลาของวิกฤติการณ์ทางวัฒนธรรมที่ผู้คนในถิ่นฐานล้านนาลาจากบ้านเพื่อไปหางานทำในถิ่นที่ไกลห่างและการเข้ามาใหม่ของวัฒนธรรมต่างถิ่นในพื้นที่ทางสังคมเชียงใหม่ มอเตอร์ไซต์ยามาฮ่า ฮอนด้า หรือซูซูกิ ในช่วงการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตก็กำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมการปั่นรถถีบของป้อจายล้านนาที่น่าจะมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นก็คงเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนผ่านการบอกเล่าเรื่องราวในผลงานเพลงของจรัลได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเพลงพื้นบ้านอย่างเพลงซอในทำนองที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน (ไม่ใช่ช่างซอหรือศิลปินซอมือมาอาชีพ ก็สามารถจดจำและนำไปร้อง ตลอดจนอาศัยแนวทำนองไปสร้างสรรค์เป็นผลงานที่บรรเลงผ่านกีตาร์ได้)รวมไปถึงอาหารการกิน การแต่งกาย ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาซึ่งเรียกรวมๆว่า “คนเมือง”

    จรัลยังอาศัยงานเพลง “โฟล์คซองคำเมือง” ควบคู่กับภาพลักษณ์ “ศิลปินคนเมือง” ในการปรากฏแก่สายตาผู้ชมผู้ฟังเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเพื่อฉายภาพสังคมล้านนาออกสู่การรับรู้ของผู้คนในสังคม เขาได้มีการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองของตนเองผ่านการแต่งกาย การสื่อสารกับผู้ชมการแสดงคอนเสิร์ตด้วยภาษาถิ่นภาคเหนือ (คำเมือง) ผลงานการแสดงซึ่งจรัลมักจะได้รับบทเด่นเป็นคนเมือง (เช่นในเรื่องด้วยเกล้า) และในด้านการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่จรัลได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ “ศิลปินคนเมือง” ของจรัล มโนเพ็ชรเด่นชัดและกลายมาเป็นภาพแทนคนเมืองล้านนา “โฟล์คซองคำเมือง”และเรื่องราวของจรัลได้กลายมาเป็นตำนานที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนในสังคมในฐานะภาพตัวแทนของ “คนเมือง”  ขณะเดียวกันลักษณะที่น่าสนใจในบทเพลงของจรัลถูกมองว่าเป็นชัยชนะ (ที่แม้จะดูว่าไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว) ของวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนาได้ถูกกักกันจนพ่ายแพ้ต่อกระแสแห่งวัฒนธรรมแห่งชาติจากส่วนกลาง ดังนั้นการร้องเพลงด้วยภาษาคำเมืองของจรัล (รวมถึงศิลปินล้านนาที่มีชื่อหลายๆคนในปัจจุบันด้วยมั้ง) คงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะแสดงความเป็นอิสระและความเสมอภาคทางวัฒนธรรม ภาษาและความคิดของท้องถิ่น [4] (ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล, 2531: 33) ขณะเดียวกันบทเพลงจรัล มโนเพ็ชรอันมีเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวของเมืองเหนือล้านนาและขับร้องเป็นภาษา “คำเมือง” โดยนักร้องซึ่งเป็น “คนเมือง” แล้ว เขายังมีความพยายาม “สำแดง” ถึงความพยายามใช้อักษรที่เลียนแบบ “ตั๋วเมือง” มาแสดงบนปกเทปอย่างจงใจ ไม่ว่าสิ่งนี้จะเป็นความตั้งใจในการเป็นต้นธารของการผลิต “ฟร้อนท์ล้านนา” (Lanna Front) หรือไม่ ผู้เขียนมิอาจทราบได้ แต่นั่นคือ การประกอบสร้างกันอย่างลงตัวของ “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม” ลงไปใน “สินค้า” จากล้านนาอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ 

    ภาพ : classy records

    เรื่องราวที่ปรากฏผ่านผลงานและงานเพลงของจรัล มโนเพ็ชรยังคงเป็นสิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องผ่านการประกอบสร้างและการผลิตซ้ำด้วยชุดความรู้จากสถาบัน เครือข่ายและกลุ่มศิลปินที่มาจากหลากหลายกลุ่ม โดยผลผลิตที่ว่านี้คือ “เรื่องเล่า” ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและงานของจรัลผ่านกิจกรรมต่างๆซึ่งเกิดขึ้นมาในฐานะกระบวนการทางสังคมซึ่งทำหน้าที่ประกอบสร้างความทรงจำเพื่อให้เกิดการ “จารึกและจดจำ”จรัล มโนเพ็ชรให้อยู่ในความทรงจำทางสังคมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาซึ่งเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” 

    แม้จรัลถูกประกอบสร้างจากบริบททางสังคมที่หล่อหลอมกล่อมเกลาให้จรัลเป็น “อย่างจรัล”และใช้วิถีแห่งความเป็นศิลปินเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและแต่งแต้มความเป็นตัวตนของเขาใส่ลงไปในผลงาน ทว่าหลังความตายของเขาเอง เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและงานของจรัลได้ถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่ใหม่ท่ามบริบทของการปะทะประสานท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น รวมทั้งกระแสธารการเมืองเรื่องเสื้อสีที่พัดพาให้คนที่เสพผลงานของจรัลต้องแยกเป็นสองฝ่ายสองฝั่ง แต่โฟล์คซองคำเมืองของจรัล มโนเพ็ชรยังคงมีฐานะเป็นสินค้าวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ยังคงขายได้ในฐานะภาพตัวแทนบางส่วนของอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา เสียงเพลงของเขายังทำหน้าที่สร้าง “โสตทัศน์ล้านนา” (Lanna Soundscape) สำหรับชนชั้นกลางได้เป็นอย่างดี ทว่าโสตลักษณ์ล้านนาสำหรับผู้คนทั่วไปอาจมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบโดยขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ต่างๆ  ตลอดจนขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเทศกาลทางวัฒนธรรม เช่น โสตทัศน์ล้านนาที่นำเสนอผ่านสุ้มเสียงของอบเชยเวียงพิงค์ที่เปิดในวัดวาอารามช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง [5] หรือสุ้มเสียงและจังหวะของอ๊อด ไพศาล ปัญโญในวงเหล้าช่วงเทศกาลปีใหม่ [6] ตลอดจนโสตทัศน์ล้านนาแบบคนเมืองเร็คคอร์ดหรือเอ็ดดี้ ตลาดแตก แม้กระทั่งโสตทัศน์แบบล้านนาข้ามพรมแดนอย่างเพลงรำวงไต [7] สิ่งเหล่านี้ ต่างก็สะท้อนให้เห็นว่าบทเพลงต่างๆที่นำเสนออัตลักษณ์ความเป็นล้านนาในมุมมองของผู้เขียนนั้นมีลักษณะเป็น “พหุโสตทัศน์” (Multi Soundscape) มากกว่าจะมองเห็นว่าเพลงแบบใดในสังคมล้านนามีฐานะเป็นสิ่งสะท้อนภาพความโดดเด่นหรือเป็นสิ่งแทนอัตลักษณ์ของความเป็นล้านนาที่แน่นอนตายตัว

    เขียน “จรัล” ใหม่ในฐานะศิลปินธรรมดาผู้ยิ่งใหญ่ในดวงใจสามัญชน

    “…..สามกันยาเหล่าสาลิกาทั่วถิ่น
    ต่างโบกโบยบินฮ่วมฮ้องเพลงสืบสาน
    นับร้อยนับสิบดังกึกก้องกังวาน
    แด่เธอผู้ช่างฝันแด่จรัลล้านนา…..”

    นกถิ่น โดย ประเสริฐ ศรีกิจรัตน์ วงไม้เมือง

    แม้จรัล มโนเพ็ชรจะจากลาโลกนี้ไปกว่าสองทศวรรษโดยที่เขาถูกจดจำและจารึกไว้ในฐานะของศิลปินโฟล์คซองคำเมืองผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นล้านนา ขณะเดียวกันความตายของเขาซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลได้ถูกทำให้กลายไปเป็นเรื่องของสังคมสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่กลุ่มแฟนเพลงและมิตรสหายที่ร่วมกับ “ผลิตซ้ำ” ตัวตนของคนอย่างจรัล ว่าเป็นตัวแทนคนท้องถิ่นหรือนักรบทางวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวทางสังคมผู้รักและห่วงแหนอารยธรรมในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนซึ่งตายก่อนเวลาอันควร ชีวิตและเรื่องราวของเขาจึงได้กลายมาเป็นกระบวนการสำคัญที่ได้เปิด “พื้นที่” ทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ สำหรับผู้คนแสวงหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมล้านนาได้เข้ามาเกาะเกี่ยวและยึดกุมตัวเขาไว้ในรูปแบบของสินค้า งานเพลงหรือตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของความเป็นล้านนาที่สื่อองค์กร รวมทั้งกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาช่วงชิงสร้างการนิยามความหมายให้กับ “จรัล มโนเพ็ชร”ผ่านกิจกรรมรำลึกต่างๆ โดยกิจกรรมเหล่านี้มีส่วนอย่างสำคัญที่ได้ผลิตซ้ำ/สร้าง “เรื่องเล่า” ต่างๆ ตลอดจนการเคลื่อนไหวเพื่อจัดสร้างอนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชรโดยกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่นร่วมกับประชาชนคนเมืองเชียงใหม่ไว้ที่สวนสาธารณะสวนบวกหาดซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามจดจำและสืบต่อเรื่องราวของจรัล (ตำนานจรัล) ไว้บนประวัติศาสตร์สังคมล้านนาในฐานะนักรบ/นักเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม 

    อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังมีข้อสงสัยและอดที่จะคิดจินตนาการไม่ได้ว่าศิลปินอย่าง “จรัล” มีความปรารถนาที่จะได้รับการจดจำและถูกจารึกแบบใดไว้ในโลกนี้บ้าง แต่โดยมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนนั้นเห็นว่าการจดจำและจารึกคนอย่าง “จรัล”ที่ดีไว้ในหน้าประวัติศาสตร์นิพนธ์ดนตรีล้านนาสมัยใหม่ ก็ควรที่จะจดจำเขาไว้ในฐานะจิ๊กซอว์หรือข้อต่อที่สำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสธารประวัติศาสตร์ดนตรีโลกและความเป็นไปของยุคสมัย นั่นคือประวัติศาสตร์ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและบทบาทของจรัล มโนเพ็ชรผ่านมิติด้านดนตรีหรือศิลปวัฒนธรรมที่เป็นไปในรูปแบบของ “จุลประวัติศาสตร์”(Microhistory) เรื่องราวของจรัลจึงควรถูกนำเสนอให้เห็นชีวิตเกาะเกี่ยวอยู่กับผู้คนกลุ่มต่างๆหรือศิลปินอื่นๆ ซึ่งอาจจะถูกหลงลืมไปแล้วในปัจจุบัน ทั้งนี้ การเล่าเรื่องราวของจรัลในฐานะสามัญชนคนธรรมดาจึงเป็นการวิเคราะห์ที่เล็ก (small scale) ต่อประเด็นเล็กๆน้อยๆหลักฐานอันเกี่ยวข้องกับจรัล ในฐานะตัวบุคคล อัตชีวประวัติ เรื่องเล่าจากคนรู้จัก ข้อเขียน ความทรงจำที่สัมพันธ์กับชีวิตการทำงานการเดินทาง ประวัติศาสตร์สามัญชนคนธรรมดาอย่าง “จรัล” จึงควรน่าจะเล่าอย่างเข้าใจบริบทและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทางสังคมวัฒนธรรมด้วยเศรษฐกิจการเมืองที่มีผลต่อมุมมองความคิดและชีวิตของผู้ถูกเล่าอย่างเข้าใจบริบทของชีวประวัติที่ศึกษา (a biography in context) แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ดนตรีล้านนาสมัยใหม่อาจไม่ใช่การเล่าผ่านทฤษฎีมหาบุรุษ ผู้เสกสรรค์ปั้นแต่งอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาที่มีลักษณะแน่นิ่งและตายตัว

    แม้ไม่ได้ตอบคำถามที่ว่าอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาที่อิหลักอิเหลื่อในงานเพลงของจรัลนั้นมีความอิหลักอิเหลื่อจริงแท้แค่ไหนหรือมากมายเพียงใด เท่าที่ผู้เขียนพอจะรู้ก็คือทั้ง  “อัตลักษณ์ล้านนา” ,”อัตลักษณ์ความเป็นล้านนา” , “ล้านนาในจินตนาการ” หรือ “จินตกรรมอัตลักษณ์ล้านนา” มโนทัศน์เหล่านี้ล้วนไม่ได้ถูกสร้าง (Builded) หรือ สรรค์สร้าง (Created) ขึ้นมา  หากแต่เป็นการประกอบสร้าง (Construction) จากผู้คนที่หลากหลายและมีลักษณะที่ประกอบสร้างแล้ว กำลังประกอบสร้างอยู่ และคงจะประกอบสร้างกันต่อๆไปเพราะสำหรับผู้เขียนแล้ว  “ล้านนาไม่เคยตาย”  ในขณะเดียวกันเรื่องเล่าที่มีต่อ “จรัล มโนเพ็ชร” ก็คงมิอาจตายจากไปได้โดยง่ายจากสังคมล้านนาเฉกเช่นเดียวกัน หากแต่มันจะมี “ผี” ที่ถูกประกอบสร้างใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ส่วนจะอิหลักอิเหลื่อ, เกิ้ม, เคิบ หรือมีความไม่จริงแท้ ก็สุดแล้วแต่มุมที่จะมองก็แล้วกัน

    บทความนี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวผ่านการอ่านชีวิตของจรัลอย่างที่จรัลเป็นเพื่อนำเสนอวิธีการเขียนชีวิตของจรัลใหม่เพื่อให้ความทรงจำและการนิพนธ์เรื่องราวของเขาเป็นเยี่ยงอย่างอนุสาวรีย์ที่ตั้งไว้ใน “สวนบวกหาด” อนุสาวรีย์ที่ผู้คนน้อยใหญ่ที่เป็นทั้งลูกศิษย์ลูกหา เป็นทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ เป็นทั้งมิตรแก้วสหายคำ เป็นทั้งแฟนเพลง ตลอดจนผู้ที่ให้ความเคารพนับถือสามารถที่จะไปนั่งเคียงข้างถ่ายรูปร่วมกับ “จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในใจของพวกเขาได้ มากไปกว่านั้นอนุสาวรีย์ที่จัดวางจำลองของเขาไว้กลางสวนบวกหาดยังสะท้อนและเตือนใจให้เราเห็นว่า จรัลเป็นไอดอลสำหรับเราและศิลปินล้านนาได้ในทุกขณะ พวกเรามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสรรค์ผลงานและเป็นศิลปินได้เฉกเช่นเดียวกันกับจรัลหรือยิ่งใหญ่ไปมากกว่านั้น

    แด่….จรัลล้านนา


    เชิงอรรถรส

    [1] งานของอรดี อินทร์คง (2552) เรื่อง กลองสะบัดชัย: จินตกรรมอัตลักษณ์ล้านนาของคนเมืองเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดัดแปลงคำว่าจินตกรรมอัตลักษณ์มาจากแนวคิดของเกษียร เตชะพีระในบทความเรื่อง “จินตนากรรมชาติ ที่ไม่เป็นชุมชน:คนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดยรัฐของไทย” (2537) ซึ่งเสนอความหมายของจินตนากรรมอย่างสัมพันธ์กับการเมืองวัฒนธรรมที่ว่าด้วยปฏิบัติการชาตินิยมของชนชั้นกลางชาวจีนในสังคมไทย

    [2] สงกรานต์ สมจันทร์. (2563). ประวัติดนตรีล้านนา. เชียงใหม่: ส.อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีจำกัด

    [3] จรัลได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องด้วยเกล้า เมื่อปี พ.ศ.2530, รางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเรื่องบุญชูผู้น่ารัก ปี 2530 และจากเรื่องบุญชู 2 น้องใหม่ ในปี พ.ศ.2532จากนั้นในช่วงปลายปี พ.ศ.2533 จรัลมีโอกาสร่วมเดินทางไปกับกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง“วิถีคนกล้า” ซึ่งหน้าที่จริงๆ ของเขาคือการทำดนตรีประกอบและเป็นที่ปรึกษาของกองถ่าย แต่ในที่สุดเขาก็ได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ในปี พ.ศ.2536 จรัลได้รับแสดงภาพยนตร์เรื่อง“กาเหว่าที่บางเพลง” และทำดนตรีให้ ซึ่งเขาต้องทุ่มเททำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างหนักด้วยสาเหตุที่มีเวลาจำกัดและจำเป็นต้องให้ผลงานนั้นออกมาดีเยี่ยมช่วง พ.ศ.2537-2544

    [4] ทรงศักดิ์ ปรางวัฒนากุล. (2531). เพลงและการละเล่นพื้นบ้านล้านนา: ความสัมพันธ์กับความเชื่อและ พิธีกรรม. การประชุมวิชาการ เรื่อง “เพลงและการละเล่นพื้นบ้านล้านนา”. เชียงใหม่: วิทยาลัยครูเชียงใหม่

    [5] เพลงปี๋ใหม่เมือง – อบเชย เวียงพิงค์  https://www.youtube.com/watch?v=Jg1fWg6LaDY&t=2129s

    [6] ออด ไพศาล เมดเล่ย์ร็อคกำเมือง  https://www.youtube.com/watch?v=GC2PjbA7mnk&t=25s

    [7] รำวงไต – บุษบา ล้านนา https://www.youtube.com/watch?v=RyHLigsPMV8

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...