พฤษภาคม 8, 2024

    ‘เชียงใหม่ฮอม’ ส่ง ส.ส.เชียงใหม่เข้าสภาพร้อมดันวาระใหญ่ 4 เรื่อง

    Share

    เรื่องและภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

    10 มิถุนายน 2566 กลุ่มเชียงใหม่ฮอม จัดกิจกรรม “ส่ง สส. เชียงใหม่เข้าสภาฯ” ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เวลา 09.00 – 12.30 น. โดยมี ส.ส.เชียงใหม่จาก พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ทั้งหมด 5 คน เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยน ได้แก่ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู พรรคก้าวไกล เขต 1, ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล พรรคก้าวไกล เขต 3, พุธิตา ชัยอนันต์ พรรคก้าวไกล เขต 4, ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ พรรคก้าวไกล เขต 8 และศรีโสภา โกฎคำลือ พรรคเพื่อไทย เขต 10

    “ฮอม” ความคิด ความฝัน ผลักดันข้อเสนอของคนเชียงใหม่ เป็นการร่วมมือกันของภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่และประชาชนชาวเชียงใหม่ในนาม “เชียงใหม่ฮอม” ผ่านตัวแทนประชาชน ว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ ใน 4 ประเด็น ดังนี้ ฝุ่นควัน PM2.5 และสิ่งแวดล้อม, การกระจายอำนาจ, เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว, ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง

    ฝุ่นควัน PM2.5 และสิ่งแวดล้อม

    เพื่อไทยแก้ปัญหาฝุ่น 3 ระยะ

    ศรีโสภา โกฏคำลือ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาประเด็นฝุ่นควัน PM2.5 พรรคเพื่อไทย ได้แบ่งนโยบายในการแก้ไขปัญหานี้ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

    ในระยะสั้น มีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มบอบบาง เช่นผู้สูงอายุและเด็ก

    ส่วนในระยะกลาง เปลี่ยนวิธีการเผาของเกษตรจากการเผาแบบพืชเชิงเดี่ยวเป็นการย่อยสลาย หรือเรียกว่า วนเกษตร

    และระยะยาว มีผลักดันอัพเกรดนวัตกรรมเกษตรในการลดต้นทุนในการผลิต อาทิ การทำความสะอาด การเก็บเกี่ยวหน้าดิน เป็นต้น

    นอกจากนี้ ศรีโสภา กล่าวว่าพรรคเพื่อไทย การออกโฉนดที่ดินในเขตทับซ้อน 50 ล้านไร่ จากรายหมู่ เป็นรายบุคคล จะเป็นการช่วยควบคุมพื้นที่สีเขียวได้มากกว่า และพื้นที่เกษตรกรรม รวมไปถึงการร่วมผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องที่ทุกคนได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยจะต้องผลักดัน

    ก้าวไกลพร้อมสับ เชื่อถ้ากระจายอำนาจปัญหาฝุ่นจบ

    ประเด็น PM2.5 ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก มลพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน และในส่วนที่สอง คือ มลพิษภายในประเทศ

    ภัทรพงษ์ ระบุว่าในส่วนแรกนั้นจะเป็นการพุ่งชนไปที่ต้นตอของปัญหา พ.ร.บ.อากาศสะอาด ในขั้นตอนแรกจะระบุที่ชัดเจนว่าผู้ประกอบการที่ไปประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านและส่งมลพิษกลับมาในไทยถือว่ามีความผิด 

    ส่วนในขั้นที่สองเป็นการสร้างมาตรฐาน GAP การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices) ขึ้นมาเป็นมาตรฐานในการคัดกรองพืชต้องดีตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการนำเข้า ถ้าหากพืชผักที่เผาไหม้ เช่นข้าวโพด สร้าง PM2.5 จะไม่สามารถนำเข้าได้ซึ่งจะต้องผ่านมาตรฐาน GAP ก่อน

    นอกจากนี้ ภัทรพงษ์ เล่าว่าหลังจากการลงพื้นที่ของพรรคก้าวไกลพบว่า ท้องถิ่นไม่มีงบประมาณในการจัดการ พรรคก้าวไกลจึงมีนโยบายในการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้มีงบประมาณในการบริหารจัดการไฟป่าด้วยตนเอง รวมไปถึงการสร้างสวัสดิการที่เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อ PM2.5

    ด้าน ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เล่าว่าหลังจากที่ตนได้ไปลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนก็พบปัญหาในด้านงบประมาณในการจัดการเช่นเดียวกัน งบประมาณที่มาจากภาครัฐไม่เอื้ออำนวยในการจัดการรวมไปถึงโครงการที่สอดคล้องกับพื้นที่ 

    ณัฐพล ปิดท้ายในประเด็นนี้ว่า ถ้าเราไม่แก้จากข้างบน ก็จะไม่ตกมาถึงข้างล่าง 

    ปิดท้ายด้วย เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู กล่าวว่าปัญหา PM2.5 ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐ ด้วยการกระจายอำนาจ ผ่านการที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจริงๆ คือประชาชน และมีนโยบายของพรรคก้าวไกลสำหรับ ผู้ประกอบการที่ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 คือการลดหย่อนภาษี

    ทั้งนี้ภาคประชาชนที่มาร่วมได้มีการเสนอให้มีการประกาศโฉนดในพื้นที่ทับซ้อน การประกาศเป็นโฉนดชุมชน รวมไปถึงเสนอให้รัฐเป็นตัวกลางในการสร้างกองทุนกระจายงบและอำนาจ ให้หน่วยงานที่มีความสามารถเชี่ยวชาญในประเด็นฝุ่นในการจัดการ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงการทำงาน รัฐ กับท้องถิ่น คณะทำงานการทำแผนร่วมกับชาวบ้าน(หมู่บ้าน) / การประชุมระดับจังหวัด และมีการเสนอนโยบายที่สนับสนุนผู้ประกอบการ  ที่เป็น ผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าเกษตรที่ดี ที่ช่วยสนับสนุนเกษตรกรที่ดี ครบวงจร

    การกระจายอำนาจ

    ก้าวไกลดันสุดทางกระจายอำนาจอย่างเป็นระบบ

    ณัฐพล เสนอว่า พรรคก้าวไกลจะมีการกระจายเร็วขึ้น เงินไปให้มากขึ้น มีการบริหารจัดการงบประมาณให้กับท้องถิ่น และต้องมีการแก้ไขด้านกระบวนการในการจัดการที่ผ่านหลากหลายหน่วยงาน อาทิ นายอำเภอรวมไปถึงกระทรวงมหาดไทย

    ภัทรพงษ์ ได้เล่าถึงปัญหาอำนาจทับซ้อนจึงเสนอให้มีการยกเลิก คำสั่ง คสช. คำสั่งมหาดไทย ที่จำกัดอำนาจท้องถิ่น ซึ่งมีในพื้นที่เขต 8 มีปัญหาร้องเรียน อาทิ ไฟกิ่ง อำนาจดูแลเป็นของเทศบาล กรมชลประทาน กรมทางหลวง รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเส้นเลียบคลองชลประทาน ที่หลายๆ ปัญหาจะต้องผ่านผู้ว่าฯในการรับรอง

    รวมไปถึงการแก้ไขสัดส่วนรายได้ของ อปท.ที่ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการส่งผลให้เกิดปัญหาสมองไหล คนเก่งไปทำงานต่างประเทศหมดเนื่องจากในพื้นที่ไม่มีที่ทางให้กับคนเหล่านี้ รวมไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องมีการพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

    นอกจากนี้มีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมจากประชาชนและท้องถิ่น ภัทรพงษ์ เสริมว่า ผังเมืองเป็นพื้นที่ฐานสำคัญที่จะทำให้เมืองดี หากผังเมืองแย่ก็จะสร้างปัญหา มากมาย อาทิ น้ำท่วม รถติด

    ภัทรพงษ์ ปิดท้ายว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ได้เป็นเป้าหมายสุดท้ายในการกระจายอำนาจ ภัทรพงษ์ เสนอว่าการแก้ไขปัญหาการกระจายอำนาจ เป้าหมายสุดท้ายคือการกระจายอำนาจและงบประมาณให้กับท้องถิ่นได้อย่างเท่าเทียม รายได้ให้กับ อปท.70% และให้กับภาครัฐ 30% ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯต้องมาจากการทำประชามติจากประชาชนว่าประชาชนต้องการอะไร

    เพชรรัตน์ เสนอว่าต้องมีการทำข้อตกลงชุมชน ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน รวมไปถึงการผลักดันการใช้ที่ดินของรัฐที่ปลดล็อกให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ เพชรรัตน์ กล่าวว่า ทางด้านขนส่งมวลชน พรรคก้าวไกลมีงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในการสร้างขนส่งมวลชนของแต่ละจังหวัดที่เชื่อมต่อจากชุมชนสู่ชุมชน อาทิ ตลาด-ชุมชน หรือ โรงพยาบาล-ชุมชน ที่ไม่ได้ตอบโจทย์แค่เพียงนักท่องเที่ยวอย่างเดียว

    เพื่อไทยเชื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจต้องกระจาย

    ศรีโสภา เชื่อว่าปัจจุบัน รพ.สต ที่โอนอำนาจให้กับ อบจ. ในการจัดการเป็นการให้อำนาจกับชุมชนโดยตรง เป็นการสร้าง Culture และ Norm ให้กับประชาชนในการเชื่อว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อในเรื่องของการกระจายอำนาจมากยิ่งขึ้น

    โดยข้อเสนอของภาคประชาชนระบุว่าต้องมีการผลักดันให้คนในพื้นที่ได้กำหนดในเรื่อง การจัดผังเมืองจากคนที่อาศัยอยู่จริงๆ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดการผังเมืองแบบ Top-Down อยู่ ซึ่งต้องมีนโยบายที่ผลักดันการจัดการผังเมืองจากล่างขึ้นบน รวมไปถึงการผลักดันผังเมืองที่มีกฎกติกาในระดับย่านให้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันขาดการควบคุม สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ในย่านท่องเที่ยว

    นอกจากนี้ยังมีการเสนอเรื่องที่ดิน เนื่องจากปัญหาที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ หลายหน่วยงานรัฐมีที่ดินเป็นจำนวนมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์ อาทิ กรมศิลป์ กรมธนารักษ์ ต้องมีการปลดล็อคการใช้ที่ดินที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง นอกจากนี้มีการเสนอว่าต้องมีการกำกับสัดส่วนถือครองที่ดินให้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของการถือครองคนท้องถิ่นน้อยลงทุกปี เนื่องจากนายทุนเข้ามาถือครองที่ดินในเชียงใหม่มากขึ้นทำให้เมืองเชียงใหม่ ค่าครองชีพสูง ส่งผลกระทบให้คนท้องถิ่นไม่มีที่ดินในการอยู่อาศัย 

    มีการเสนอในเรื่องขนส่งมวลชนที่เกิดจากประชาชนจริงๆ ที่ต้องเพิ่มงบประมาณให้กับขนส่งมวลชน ซึ่งเชื่อมโยงกับการกระจายอำนาจ 

    รวมไปถึงการเสนอเรื่องความหลากหลายในด้านการศึกษา ที่แต่ละพื้นที่สามารถจัดการการศึกษาให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ได้ มีข้อเสนอว่าต้องมีการแก้กฎระเบียบในการกระจายอำนาจด้านการศึกษา และต้องมีการรับรองสถานะของการศึกษามาตรา 12 ให้สามารถทำได้จริงผลักดันฐาน ฐานข้อมูล DMC ให้ใช้ได้จริง

    เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

    โดยณัฐพล อธิบายว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลนั้นให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเสนอว่าจะมีการลดข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ กฎหมายที่ตอบโจทย์กับประเภทที่พัก เพื่อสร้างความสะดวกสบายต่อผู้ประกอบการรายย่อยและคนที่กำลังจะทำธุรกิจ

    รวมไปถึงการลดใบอนุญาตที่ไม่จำเป็นลง รวมไปถึงลดขั้นกระบวนการในการขอใบอนุญาต กระบวนการขออนุญาต พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกของรัฐ ต้องจบภายใน 15 วัน (ตามความเข้มข้น)

    ในด้านของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ Digital Nomad ที่เข้ามาในประเทศ จะต้องมีการปรับรายละเอียดของ Visa ในประเภทต่างๆ อาทิ Study Visa ก็จะขยายกรอบและเวลามากขึ้น 

    นอกจาก Digital Nomad ที่เข้ามาอาศัยในเชียงใหม่แล้ว พุธิตา ชัยอนันต์ เพิ่มเติมว่าเชียงใหม่เป็นเมืองเป้าหมายของกลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณไม่ว่าจะเป็น ชาวญี่ปุ่น ชาวจีน และประเทศแถบยุโรป ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM2.5 ที่สร้างผลกระทบต่อผู้สูงวัย รวมไปถึงเรื่องการกระจายอำนาจ 


    ศรีโสภา กล่าวว่าเนื่องจากเขต 10 พื้นที่การทำงานของตนนั้นประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร เธอจึงเสนอให้มีการพักหนี้ 3 ปีให้เกษตรกร ผ่านการเจรจากับธนาคารที่ทำงานกับเกษตรกร เช่น ธนาคาร ธ.ก.ส.และธนาคารออมสินรวมไปถึงการประกันราคาสินค้าล่วงหน้าและมีการตั้งมาตรฐานสินค้าก่อน และมีการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

    การสร้าง New Business Zone เขตธุรกิจใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ขอนแก่น และหาดใหญ่ จะมีการกำหนดกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ที่จะปลดล็อคส่งเสริมการทำธุรกิจของ Start Up และ SMEs ศรีโสภา ยังเสนอการยกเว้นภาษีต่างๆ อาทิ ภาษีที่ดิน ภาษีรายได้ ภาษีนำเข้า ที่ต้องตอบสนองต่อประชาชน และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ ผ่านการสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาเพื่อผลักดันให้ประชาชนสามารถขับเคลื่อนได้

    นอกจากนี้ ศรีโสภา ได้เสนอการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณีของล้านนาให้มีความสดใหม่และสร้างความอินเตอร์มากขึ้นเช่นการสร้าง Music Festival ผ่านวันสำคัญต่างๆ อาทิ ประเพณีแห่ไม้ค้ำ ปอยหลวง เป็นต้น

    ด้านภาคประชาชนเสนอว่าภาคเหนือมีหลายหน่วยงานที่ส่งเสริมการทำงานด้านการท่องเที่ยวเยอะมาก รวมไปถึงการสร้างเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมแผนที่ทำมาจากชุมชนจะต้องนำสิ่งที่มีอยู่เหล่านี้ไปขับเคลื่อนต่อ

    กลุ่มงานหัตถกรรม ที่ปัจจุบันยังขาดการสร้างค่านิยม ช่างฝีมือ ขาดการสร้างคนสำหรับกลุ่มเหล่านี้ ทำให้เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ ที่สนับสนุน Craft and Folk Art อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีเสนอช่องว่างระหว่างฤดูกาลท่องเที่ยวหรือที่เรียกว่า Low Season อาทิการท่องเที่ยวในหน้าฝนปรับให้มาเป็นจุดแข็งในการท่องเที่ยว

    และยังมีการเสนอว่าการสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนจะช่วยให้คุณภาพของการท่องเที่ยวดีขึ้นตาม อาทิ ความปลอดภัยในทางเดิน ที่จะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเดินที่สามารถเชื่อมร้อยกับสถานที่ต่างๆ ในเชียงใหม่ได้

    ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง 

    ศรีโสภา เสนอว่าจะมีการพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่จะเพิ่มสิทธิในการรักษาและสามารถรักษาที่ไหนก็ได้ และ การพัฒนาการแพทย์แบบใหม่ อย่าง Telemedicine ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่สามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์

    นอกจากนี้ยังมีการดูแลครอบคลุมสำหรับกลุ่มคนไร้สัญชาติ ที่ต้องสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่บางคนยังไร้สัญชาติอยู่ก็จะมีการให้สัญชาติเพื่อที่จะสามารถเข้าระบบสาธารณูปโภคได้ 

    พุธิตา เสนอว่าพรรคก้าวไกลมีสวัสดิการถ้วนหน้าทุกช่วงวัย การเปลี่ยนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีการดูแลจัดการที่เป็นระบบกันในหมู่บ้านอยู่แล้วให้กลายเป็นอาชีพ รวมไปถึงการสวัสดิการเดือนละ 3,000 บาทให้แก่ผู้สูงอายุ

    ในส่วนของประเด็นนี้ภาคประชาชนมีข้อเสนอว่าต้องมีการเปิดข้อมูลที่ภาคประชนชนจัดทำขึ้นมาเข้าไปสู่ในสภาให้ได้ รวมไปถึงการที่มีตัวกฎหมายที่เป็นหลักประกันสุขภาพของประชาชน

    “ยกระดับที่ไม่ใช่แค่เรื่องของเบี้ยยังชีพแต่ต้องพัฒนาให้เป็นระบบบำนาญให้กับประชาชนที่ไม่ได้เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน โดยไม่ต้องเป็นข้าราชการก็สามารถมีบำนาญตัวนี้ได้”

    นอกจากนี้ยังมีการเสนอว่า โรงพยาบาลจาก อบจ.จะต้องมีศักยภาพในการจ้างหมอของตัวเองได้ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการกระจายอำนาจ

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...