พฤษภาคม 18, 2024

    “ปล่อยแม่น้ำไหลเป็นอิสระ” ประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จัด #วันหยุดเขื่อนโลก

    Share

    เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จัดกิจกรรม #วันหยุดเขื่อนโลก บริเวณหาดทรายริมแม่น้ำสาละวิน บริเวณบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีตัวแทนชุมชนและเยาวชนชาติพันธุ์ทั้งกะเหรี่ยงฝั่งไทยและรัฐกะเหรี่ยงกว่า 200 คน รวมถึงตัวแทนเครือข่ายชุมชนจากลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำยม และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมเข้าร่วม

    กิจกรรมเริ่มต้นโดยกลุ่มเยาวชนพร้อมถือป้ายผ้าที่มีข้อความคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน และคัดค้านโครงการผันน้ำยวม รวมถึงคัดค้านโครงการเหมืองแร่ที่กระทบต่อวิถีชุมชนและสิ่งแวดล้อม เดินขบวนไปสู่หาดทรายริมน้ำสาละวิน โดยร่วมร้องเพลง Salween in the world บทเพลงสะท้อนเรื่องราวของแม่น้ำสาละวิน ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งร่วมกันปกป้องแม่น้ำและเรียกร้องให้เกิดสันติภาพ

    นายสะท้าน ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวว่า ​ กิจกรรมวันนี้เกิดจากความร่วมมือของชุมชนต่าง ๆ บนแม่น้ำสาละวินร่วมกับเครือข่ายลุ่มน้ำ คือ เมย เงา ยวม ที่กำลังจะมีโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ที่บ้านแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน โครงการเหมืองแร่ถ่านหิน โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีโครงการผันน้ำยวม และผลกระทบจากเขื่อนภูมิพล ที่บ้านแม่งูด จ.เชียงใหม่ รวมถึงผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา และการสร้างเขื่อนเพื่อผันน้ำยวม ดังนั้นชาวบ้านจึงมาร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อปกป้องให้สาละวินไหลอย่างอิสระ และเกิดสันติภาพแก่พี่น้องสองฝั่งสาละวิน

    นายสะท้าน กล่าวอีกว่า สาละวินเป็นเขตแดนไทย-รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะเหรี่ยงยังไม่มีความสงบตั้งแต่รัฐประหารในเมียนมา ทำให้ชาวบ้านต้องหลบซ่อน หนีความตาย หลังจากนี้พวกเราจะทำอย่างไรให้เกิดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวบ้านเหล่านั้น

    ด้านตัวแทนเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวว่า เยาวชนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแสดงพลัง การพัฒนาต่าง ๆ ควรมีเยาวชนเป็นคนสำคัญในการร่วมตัดสินใจ หรือออกมาเรียกร้องความยุติธรรม เพราะเยาวชนต้องอยู่อีกนาน พ่อแม่สอนเราอยู่ป่า ให้รักษาป่า เราจึงต้องออกมายืนหยัดว่าไม่ต้องการโครงการเหล่านี้ที่จะทำลายอนาคตของพวกเรา

    “แม้ตอนนี้โครงการยังไม่เกิดขึ้น แต่ชุมชนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การไร่หมุนเวียน หรือวิถีความเป็นอยู่ได้รับผลกระทบแล้ว ถ้ามีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้น ปัญหาเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้น การทำลายแม่น้ำสาละวินจะส่งผลกระทบต่อทุกชุมชนสองฝั่งน้ำแต่พี่น้องฝั่งกะเหรี่ยงไม่ได้มีสิทธิออกมาเรียกร้องเหมือนพวกเรา”ตัวแทนเยาวชนเครือข่ายลุ่มน้ำฯ กล่าว

    ตัวแทนชาวบ้านจากบ้านอิตุท่า ในฝั่งกะเหรี่ยง กล่าวว่า หากมีเขื่อนเกิดขึ้นบนแม่น้ำสาละวิน วิถีชีวิตของชาวบ้าน สภาพแวดล้อม และทรัพยากรจะล่มสลายอย่างแน่นอน ชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำจะได้รับความหายนะจากเขื่อน แต่คนที่ได้ประโยชน์ คือบริษัทและผู้มีอำนาจ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาปกป้องแม่น้ำร่วมกัน เพื่อให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ และในอนาคตให้มีสันติภาพเกิดขึ้น

    จากนั้นตัวแทนเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำฯ ได้อ่านแถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ดังนี้ 1.ยุติโครงการสร้างเขื่อนเพื่อให้แม่น้ำไหลอิสระ 2.ยุติโครงการพัฒนาของรัฐที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากร เช่นโครงการสร้างเขื่อนผันน้ำยวม เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย เหมืองแร่ฟลูออไรต์แม่ลาน้อย 3.ยกเลิกรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการสร้างเขื่อนผันน้ำยวม เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

    แถลงการณ์ ระบุต่อว่า 4.เผด็จการทหารพม่าที่ก่อรัฐประหาร ต้องยุติการทำร้ายประชาชน และคืนอำนาจให้ประชาชน 5.ขอให้รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนจากรัฐกะเหรี่ยง ที่หนีภัยความตายมายังแผ่นดินไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน

    แถลงการณ์ ระบุต่อว่า 6.พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การศึกษาที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณสุขที่ดี เพื่อประชาชนในลุ่มน้ำสาละวินมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

    หลังจากนั้นจึงมีพิธีการปล่อยแพไม้ไผ่ติดป้ายผ้ามีข้อความ No Dam หรือ ไม่เอาเขื่อนล่องไปตามแม่น้ำสาละวิน

    วันเดียวกันองค์กรภาคประชาชนอีสาน 47 องค์กรได้แถลงการณ์หยุดยัดเยียดเขื่อนให้แม่น้ำทุกสายและปล่อยแม่น้ำไหลเป็นอิสระในวันหยุดเขื่อนโลกโดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกนโยบาย #ผันน้ำโขง เลย ชี มูล และเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ที่จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จะก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน แนะให้แก้ไขปัญหาเขื่อนเก่าที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม

    “ปัจจุบัน รัฐ นักการเมือง กลุ่มทุน ยังเดินหน้าผลักดันโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ​ โครงการผันน้ำยวม-สาละวิน โครงการเขื่อนปากแบง ​ เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนภูงอย เป็นต้น บทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมาของรัฐโดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล ในพื้นที่ภาคอีสานสะท้อนให้เห็นถึงการกำหนดนโยบายแบบรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากรน้ำที่ให้อำนาจรัฐจัดการและกำหนดนโยบายฝ่ายเดียว และไม่คำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ ไม่เคารพสิทธิของชุมชนที่มีรูปแบบในการจัดการทรัพยากรที่หลากหลายตามนิเวศนั้น ๆ” แถลงการณ์ระบุ

    แถลงการณ์ระบุว่า เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคอีสาน จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลหยุดยัดเยียดเขื่อนให้แม่น้ำทุกสาย ปล่อยแม่น้ำไหลเป็นอิสระ 2.ให้รัฐบาลยกเลิกโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ​ โครงการผันน้ำยวม-สาละวิน โครงการเขื่อนปากแบง ​ เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนภูงอย เป็นต้น 3.ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเขื่อนเก่าที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม 4.ให้รัฐบาลสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กที่เหมาะสมกับระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...