ทีมฟ้องฝุ่นภาคเหนือ แถลง ‘ไม่’ คืบหน้าคดีฝุ่นเชียงใหม่ 

15 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 น. ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนผู้ฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือและทนายความ แถลงความ “ไม่” คืบหน้าคดีฝุ่นเชียงใหม่ เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรณี “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ หลังโซเชียลมีเดียมีการแชร์ว่าการยื่นอุทธรณ์คดีของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นข่าวปลอม

โดยทีมทนายผู้ฟ้อง ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสถานะคดีล่าสุด ในคดีที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเร่งจัดทำแผนฉุกเฉินแก้ไขวิกฤตมลพิษฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองเชียงใหม่ว่า คดีนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ศาลปกครองเชียงใหม่ส่งคำอุทธรณ์และเอกสารสำนวนคดีไปให้ศาลปกครองสูงสุดตรวจรับเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

โดยแถลงการณ์ กรณีวิกฤติฝุ่นภาคเหนือ มีเนื้อหาดังนี้

สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือที่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น ณ ข้อมูลวันที่ 15 มีนาคม 2567 เวลา 07.00 น. ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.อุทัยธานี โดยเฉพาะค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 เช้านี้ของเชียงใหม่พุ่งขึ้นไปที่ 210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลายเป็นเมืองมลพิษอันดับ 1 ของโลก ควบคู่ไปกับสถานการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่จังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ รวมถึงไฟป่าข้ามพรมแดนที่อยู่ใกล้กับจังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ซ้ำเติมปัญหาฝุ่น PM2.5 และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในภาคเหนือทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการเลือดกำเดาไหล ระคายเคืองตา มะเร็งปอด หลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นต้น

สถานการณ์ฝุ่นพิษ ไม่เพียงประทุขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้ หากแต่เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ภายหลังการฟ้องคดี PM2.5 ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้พิพากษาให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ กำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทาหรือระงับภัยอันตรายจาก PM2.5 ตามหลักป้องกันล่วงหน้า โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามคดีของกลุ่มผู้ฟ้องคดี ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองเชียงใหม่ว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ศาลปกครองเชียงใหม่ส่งคำอุทธรณ์และเอกสารสำนวนคดีไปให้ศาลปกครองสูงสุดตรวจรับเพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป

ด้วยสถานการณ์ฝุ่นภาคเหนือที่วิกฤตอยู่ ณ ขณะนี้ เครือข่ายผู้ฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือ จึงเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ให้มีการยกระดับการแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นในระดับวิกฤตหรือใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ตาม มาตรา 9 และบังคับใช้มาตราการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562 ที่ได้กำหนดระดับการสั่งการในระดับที่ 4 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม บังคับใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในสถานการณ์ที่ฝุ่นเหนือวิกฤต ซึ่งเป็นอำนาจฉุกเฉินในทางสิ่งแวดล้อมที่สามารถสั่งการ ประกาศใช้แผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการกระจายมลพิษ

โดยเห็นว่าต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมลพิษทางอากาศในพื้นที่เชียงใหม่และภาคเหนือ โดยจะต้องประกอบไปด้วยมาตรการอย่างน้อย 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

1.มาตรการด้านสาธารณสุข ต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น หน้ากาก ห้องปลอดฝุ่น โรงพยาบาล เป็นต้น ให้สามารถรองรับต่อความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น

2.มาตรการการจัดการไฟป่า ต้องมีการระดมทรัพยากรที่มีอยู่และการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ทำงานอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ

3.มาตรการด้านการสื่อสารกับสาธารณะ ต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และประกาศแจ้งเตือนถึงอันตรายอย่างทันท่วงที ไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องขวนขวายด้วยตนเอง

4.มาตรการด้านสังคม ในกรณีที่สถานการณ์ทวีความรุนแรงต้องมีมาตรการด้านอื่น ๆ รองรับ เช่น การทำงานที่บ้าน การหยุดเรียน เป็นต้น

การสั่งการดังกล่าวจะส่งผลให้หน่วยงานของรัฐมีระบบการทำงานที่สอดคล้องและบูรณาการร่วมกัน เป็นการยกระดับการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนมีมาตรการป้องกันและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องมือในการป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม อันรวมถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ปัญหาเรื่องฝุ่น มิใช่กรณีที่สามารถจัดการได้แบบฉับพลันด้วยอำนาจของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การริเริ่มและการผลักดันอย่างจริงจังจากรัฐบาลจะเป็นส่วนที่สำคัญต่อการทำให้การแก้ไขปัญหาสามารถเกิดขึ้นและดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะที่ได้แสดงท่าทีต่อการแก้ไขเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จึงจำเป็นจะต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนด้วยการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อให้เกิดการผลักดันปัญหาเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ทางผู้ฟ้องคดีจะได้มีการเสนอคำร้องเพื่อให้มีการปฏิบัติตามตามบังคับของของศาลปกครองชั้นต้นที่ ส 1/2567 เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแม้ว่าทางหน่วยงานรัฐจะได้อุทธรณ์ต่อคำตัดสินดังกล่าวก็ตาม โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง