ซอพื้นบ้านล้านนาในฐานะทุนความรู้ทางวัฒนธรรม: เครื่องมือสื่อสารเพื่อการทำงานเชิงพื้นที่

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

ศิลปินพื้นบ้านเป็นทรัพยากรบุคคลผู้สั่งสมทุนทางวัฒนธรรมประจำถิ่นให้แฝงฝังไว้ในตนเอง ทุนวัฒนธรรมดังกล่าวนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถทางด้านสติปัญญาและความชำนิชำนาญที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีแล้วในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันศิลปินพื้นบ้านด้านการขับร้องท่องลำนำเพลงปฏิพาทย์ ที่มีลักษณะคล้ายหมอลำในภาคอีสานเพลงอีแซวในภาคกลางหรือเพลงบอกในภาคใต้ คนภาคเหนือหรือคนล้านนา (ที่ไม่เพียงแค่เขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน หากแต่เป็นทุกๆ อาณาบริเวณทางวัฒนธรรมที่ “อู้กำเมือง กิ๋นลาบและฟังซอ” ที่เลยเข้าไปในบางพื้นที่ของภาคกลางตอนบน และข้ามพรมแดนไปยังบางพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน) ต่างได้เรียกขานพวกเขาเหล่านี้ว่าเป็น “ช่างซอ” กล่าวความหมายในทำนองที่ว่าเป็นช่างผู้ชำนาญซึ่งสามารถจะถ่ายทอดเนื้อหาสาระต่างๆ ผ่านโครงสร้างของท่วงทำนองดนตรีที่มีความตายตัวซึ่งต่างกันออกไปในแต่ละรูปแบบของทำนองเพลงพื้นบ้านอย่าง “ซอ” นั่นเอง    แน่นอนว่า “ซอ” นั้น ก็มิใช่เครื่องดนตรีประเภท “สี” ที่มีอยู่ในความรับรู้ของผู้คนทั่วไปในภูมิภาคอื่นๆหรือในภาษิตที่รู้จักกันดีอย่าง “สีซอให้ควายฟัง”แบบคนภาคกลาง

“ซอ” หรือ “เพลงซอ” จึงเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม หรือหากจะกล่าวให้กว้างใหญ่ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ “เพลง” หรือ “ดนตรี” ก็เป็นวัฒนธรรมที่ล้วนอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมด้วยเฉกเช่นเดียวกัน ตลอดจนมีหน้าที่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมในฐานะศิลปะการแสดง การขับร้องเพื่อความบันเทิง การร้องร่ำพรรณนาเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ไปจนถึงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ทางพิธีกรรม ในงานหรือในเทศกาลของชาวบ้าน เช่น งานปอยหลวง หรือฉลองการก่อสร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุแล้วเสร็จ  งานขึ้นบ้านใหม่ งานปอยบวชลูกแก้ว (อุปสมบท) งานปอยข้าวสังข์ ฯลฯ  งานเหล่านี้มักจะมีช่างซอเข้ามาสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้มาร่วมงานเสมอ

การว่าจ้างช่างซอในงานพิธีจึงมีนัยยะบ่งชี้ถึงสถานะทางสังคมและเศรษฐฐานะที่ดีหรือแสดงออกถึงความร่ำรวย ความมีเกียรติยศและภาพพจน์ของเจ้าภาพ เจ้าปอย หรือเจ้าของงาน นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เพลงซอจึงมีรากฐานจากการเป็น “วัฒนธรรมชาวบ้าน” ที่มีวิวัฒนาการสืบสายยายยาวเรื่อยมาสู่สิ่งที่ผู้เขียนพยายามบัญญัติศัพท์เรียกว่า “วัฒนธรรมประชาล้านนานิยม” เพื่อดึงขยี้ความหมายให้ต่างออกไปจากวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ของล้านนา แต่คราใดที่นึกถึง “ชาวบ้านสามัญชั้นธรรมดา” ในสังคมล้านนาขึ้นมา เพลงซอก็คงจะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งซึ่งยังคงมีความสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางวัฒนธรรมนั้นๆ

กล่าวเกริ่นเสียเนิ่นนานผ่านสองย่อหน้า…คงถึงคราเข้าสู่ประเด็นที่สืบเนื่องจากทางโครงการวิจัย “ภูมิทัศน์ของตำนาน : การขับเคลื่อนระบบนิเวศวัฒนธรรมในพื้นที่แอ่งเชียงแสน จังหวัดเชียงราย” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.พลวัต ประพัฒน์ทอง แห่งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ การทำงานเชิงพื้นที่ดังกล่าวนี้จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อในการสานสร้างพันธกิจของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงาน

โครงการวิจัยให้อยู่ภายใต้กรอบการจัดการทุกทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นที่เน้นการทำงานเชิงพื้นที่ให้มีขึ้นอย่างสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ตอบโจทย์ต่อการรักษา การฟื้นฟูและการสร้างสรรค์คุณค่าจากทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสังคมท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านประเด็น “ภูมิทัศน์ของตำนาน” ซึ่ง “ช่างซอ” นั้นถือได้ว่าเป็นศิลปินพื้นบ้านที่มีความสามารถที่จะบอกเล่าเรื่องราวหรือตำนานพื้นถิ่นต่างๆในพื้นที่แอ่งเชียงแสน นักคติชนวิทยาบางสำนักยังระบุด้วยซ้ำไปว่าทั้งเรื่องราวหรือตำนานพื้นถิ่น เป็นสิ่งที่มักถูกผูกร้อยให้สัมพันธ์สอดคล้องกับภูมิทัศน์ทางกายภาพ เช่น ต้นกำเนิดแม่น้ำลำธาร ขุนเขาลำเนาไพร ป่าไม้ดงแดนดอย ฯลฯ ความสัมพันธ์เหล่านี้ที่กล่าวมาจึงมีฐานะเป็น “ระบบนิเวศวัฒนธรรม” และ “ภูมิทัศน์ของตำนาน” ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศวัฒนธรรมที่ปรากฏในพื้นที่แอ่งเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

การอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ “ระบบนิเวศวัฒนธรรม” และ “ภูมิทัศน์ของตำนาน” จึงเป็นสาเหตุให้โครงการวิจัยได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายศิลปินช่างซอ-ช่างปี่ในพื้นที่แอ่งเชียงแสน อันประกอบด้วยพื้นที่อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สายและอำเภอเชียงแสนเพื่อมาร่วมประชุมสัมมนาพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เกี่ยวกับศิลปินช่างปี่ช่างซอที่เคยมี ยังคงค้างและยังคงมีในพื้นที่แอ่งเชียงแสน กิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นในวันจันทร์ ที่ 14 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 9:00-15:00 น. ณ ห้องสตูดิโอ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยโครงการวิจัยได้จัดกิจกรรมให้มีการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นการขับเคลื่อนของกลุ่มศิลปินช่างปี่ช่างซอพื้นที่แอ่งเชียงแสนเพื่อจัดทำข้อมูลเครือข่ายศิลปินพื้นบ้านเหล่านี้ไว้ในฐานะผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม โดยทางหัวหน้าโครงการได้เล็งเห็นว่าช่างซอ คือ ผู้ที่มีความสามารถและชำนิชำนาญในการขับขานเรื่องราววิถีชีวิต ในมิติประวัติศาสตร์สังคมล้านนาก็ยังพบว่าช่างซอ คือ ผู้ส่งสารจากผู้ไร้เสียงให้มีพลัง ตลอดจนการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่หรือบทบาทของชาวบ้านให้มีฐานะเป็นผู้กระทำทางการเมืองได้ เพลงซอในฐานะสื่อพื้นบ้านยังสามารถสวมใส่ “จิตวิญญาณขบถ” เพื่อการลุกขึ้นมาตั้งคำถามทางการเมืองหรือการทวงถามศักดิ์ศรีและตัวตนของผู้คนเรื่อยมาอย่างเสมอ

ย้อนกลับไปราวทศวรรษ 2500 “แก้วตาไหล กันทะจันทร์” ศิลปินซอ ผู้เลื่องชื่อของจังหวัดลำพูน ได้สะท้อนความคิดของเขาเองผ่านเพลงซอ โดยได้บันทึกเสียงในเทปคาสเซทเป็นเพลงซอเรื่อ  ตำนานเขื่อนยันฮี หรือ ซอน้ำท่วมวังลุง บอกเล่าถึงความทุกข์ยากของชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของภาครัฐ นี่จึงน่าจะเป็นครั้งแรกที่ศิลปินเพลงพื้นบ้านล้านนาอย่าง “ช่างซอ” ลุกขึ้นมาสร้างบทสนทนาต่อกระแสธารการพัฒนาที่มาพร้อมกับ “เขื่อนยันฮี”  (หรือภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เขื่อนภูมิพล) ถูกสร้างขึ้นกั้นแม่น้ำปิง บริเวณช่องเขายันฮี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก  ขณะที่ “ซอเก็บนก” กลับสร้างบทสื่อสารการแสดงที่มีนัยยะเหน็บแนบและเย้ยหยันความสัมพันธ์ระหว่าง “ชาวบ้าน” กับ“นายอ่าย”หรือนายด่านรักษาป่าไม้ที่มีนัยยะเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ (คลิปแสดงซอเก็บนก https://www.youtube.com/watch?v=9YH7qKSQNJM)

เพลงซอยังสามารถชอนไชเข้าไปในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้ามทางอุดมการณ์ของรัฐไทยสำหรับใช้เพื่อต่อสู้กับขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยที่กระจายอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ นั่นเป็นเพราะ “เพลงซอ” สามารถสื่อความหมายได้ง่ายต่อการทำความเข้าใจกับชาวบ้านทั่วไปตัวอย่างเพลง ซอเรื่องสงครามโนนหมากมุ่นของนายศรีทวน สอนน้อย ช่างซอชาวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย    ที่ได้เล่าย้อนร้อยเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 ที่ได้การปะทะกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพคอมมิวนิสต์เวียดนาม ผ่านมุมมองของรัฐไทยในสมัยนั้น เพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 914 จังหวัดเชียงราย

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2530 การดำเนินนโยบาย 66/2523 ได้ส่งผลทำให้แนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกลับออกจากป่าเพื่อร่วมกันเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ประเด็น “ป่าชุมชน” จึงได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการทรัพยากรของรัฐที่ภาคประชาสังคมต่างร่วมกันขับเคลื่อน   “ซอเก็บนก” จึงเข้ามาเป็นตัวดำเนินเรื่องเพื่อการสันทนาการและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่ร่วมกับป่าได้ดี ช่างซอคณะสายธารา (ของแม่จันทร์สม สายธารา ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2539) และอีกหลายคณะก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในอีกหนึ่งบทบาทดังกล่าวด้วย ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ในการต่อต้านการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ ในปี พ.ศ. 2539 ด้วย

ภาพกลุ่มศิลปินซอจากจังหวัดเชียงใหม่ร่วมแสดงละครซอเก็บนก ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อน พรบ. ป่าชุมชนฉบับประชาชนใน พ.ศ 2540 (ขอบคุณภาพจาก คุณวีระยุทธ เนตรสุวรรณ)

เรื่อยมาจนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวค้านโครงการจัดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนยมบน-ยมล่าง ของเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ตำบลสะเอียบ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ก็ยังได้มีการใช้ซอเป็นส่วนในการรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับผู้คนในพื้นที่โดยคณะฉัตรชัย เจริญศิลป์ (ปัจจุบันนี้เสียชีวิตแล้ว) ซึ่งเขาเป็นช่างซอที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่แต่ได้มาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้มีมุมมองเห็นรูปแบบวิธีการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมและนำไปใช้ในพื้นที่จึงสร้างความแปลกใหม่ในรูปแบบการเคลื่อนไหวของขบวนการได้ดีในระดับหนึ่ง

เพลงซอและช่างซอจึงมีฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารเพื่อการพัฒนา ทั้งในมุมมองของรัฐหรือในมุมมองภาคประชาชนเองก็ตาม ต่างก็เป็นสิ่งที่ช่วยขยับขยาย เพลงซอ ให้ก้าวออกจากพื้นที่ของ “ผาม” หรือประรำพิธีในการแสดงตามแบบฉบับของเดิมหรือเรื่องเล่าแบบเดิม ๆ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ดีก็ถูกนำมาปรับใช้และสร้างประเด็นรณรงค์ทางสังคม อื่นๆของหน่วยงานและองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ  เช่น ซอต่อต้านยาเสพติด  ซอให้ความรู้ถึงพิษภัยโรคเอดส์  ซอต่อต้านการค้ามนุษย์ ซออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้  ซอรณรงค์ให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซอให้ความรู้และแนวทางการป้องกันเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เป็นต้น นอกจากบทบาททางสังคมในด้านการเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่เน้นย้ำการรณรงค์ด้วยท่วงท่าทำนองของภาษาคำเมืองได้ดี ภาครัฐยังมีส่วนการใช้เพลงซอรณรงค์เกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอมา เช่น การซอรณรงค์ให้ผู้คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทั้ง สส. สว. หรือรณรงค์ต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  ทั้งระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ทั้งนี้อาจอยู่ในรูปแบบทั้งการว่างจ้างหรือขอความร่วมมือช่วยทำสปอตโฆษณา แล้วเปิดออกอากาศหรือเผยแพร่ตามสถานีวิทยุ

อย่างไรก็ตาม ช่วงรอยต่อของทศวรรษ 2530 – 2540 จึงมีแนวโน้มในทิศทางที่มักกล่าวกันว่าเพลงซอหาฟังได้ยากยิ่งในยุคสมัยนั้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งส่งผลให้ทั้งรายได้การแสดงที่ลดจำนวนลง บางคนเลิกอาชีพช่างซอไปประกอบอาชีพอื่นที่ค่อนข้างมีรายได้ที่แน่นอนมั่นคงกว่า เรื่อยมาจนถึงปลายทศวรรษ 2540 การฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจและสังคมกลับมีมาอีกครั้ง ประกอบกับกระแสการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านวัฒนธรรมได้อธิบายกระแสของเพลงซอว่ามีลดน้อยถอยลง สภาวะที่ผู้คนโหยหาการมีอยู่ของวัฒนธรรมที่ขยายตัวส่งผลให้ การกลับมาของธุรกิจการใช้เพลงซอเพื่อสร้างการโฆษณาได้เกิดขึ้นและเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ทั้งอยู่ในวัยฟังซอและมีกำลังซื้อหรืออุปสงค์ ได้ดีมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม หากแต่ผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาต่างไปจากการขายยาในอดีต ทว่าคล้ายกับรายงานโทรทัศน์เคเบิลทีวีที่มีการขายตรงสินค้ามากกว่า เช่น ช่างซอโฆษณาขายปุ๋ยหรือผลิตภัณฑ์การทำการเกษตร   ช่างซอโฆษณาขายยา อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องสำอาง  เป็นต้น    

เรื่องเล่าทั้งหมดที่กล่าวมา ชี้ให้เห็นว่าการขับร้องเพลงพื้นบ้านผ่านการแสดงซอนั้นก็ยังเป็นกลไกทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญ โดยมิใช่เป็นเพียงแค่การบอกเล่าเท่านั้น หากแต่การร้องขับลำนำซอก็ยังประกอบด้วยสุนทรียะ สัญญะและรหัสแห่งความหมายที่มีความซับซ้อน ดังนั้น การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมผ่านการดำเนินงานของโครงการวิจัยนี้ จึงต้องสร้างความร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายศิลปินพื้นบ้านช่างปี่-ช่างซอ ในพื้นที่แอ่งเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ให้สามารถเกิดการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการทำงานผ่านการนำเอาเรื่องเล่าและตำนานพื้นถิ่นที่ที่เคยหลบลึก หลับใหล ไร้เสียงมาผลิตเป็นผลงานด้านเพลงซอที่มีพลังทางสังคมในสังคมยุคใหม่หรือสมัยนิยมอีกครั้ง

เนื้อหาของบทความชิ้นนี้อ้างอิงมาจาก โครงการวิจัยภูมิทัศน์ของตำนาน : การขับเคลื่อนระบบนิเวศวัฒนธรรมในพื้นที่แอ่งเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


คอลัมน์ เลาะเล่าข่าวชายแดน โดย นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง ที่จะพาลัดเลาะค้นหาชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของผู้คนตลอดฟากฝั่งชายแดนที่การเปลี่ยนแปลงกำลังคืบคลานเข้ามาอย่างแยบยล

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง