คนเหนือต้องทำงานกี่วันถึงจะได้ iPhone 15? สำรวจค่าแรงขั้นต่ำภาคเหนือ ความเหลื่อมล้ำคู่ชีวิตประจำวัน

จากกระแสร้อนแรงที่ Apple เปิดตัว iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max ที่มาพร้อมดีไซน์จากไทเทเนียมที่ทั้งแข็งแกร่งและเบา พร้อมปุ่มแอ็คชั่นใหม่ และกล้องที่ทรงพลัง กับชิป A17 Pro ที่ให้ประสิทธิภาพและรองรับการเล่นเกมแบบพกพาที่เหนือชั้นไปอีกขั้น แน่นอนว่าการเปิดตัวในครั้งนี้ก็เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก และในประเทศไทยเองก็ต่างตั้งตารอเหมือนกัน โดยจะเปิดให้มีการสั่งซื้อล่วงหน้าในวันที่ 15 กันยายนนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป และเริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 กันยายน 2566 นี้ ในราคาขั้นต่ำสุดของ iPhone รุ่นดังกล่าวในช่วงเปิดตัวอยู่ที่ 32,900 บาท

ราคาจำนวนนี้คงไม่กระทบกระเทือนชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงที่มีฐานรายได้มั่นคงพอจะจับจองมาใช้กันได้ แต่ถ้าเรากลับมาขบคิดกันสนุกๆ จำนวนเงิน 32,900 บาทนี้ แรงงานที่มีรายได้เป็นค่าแรงขั้นต่ำในในภาคเหนือจะต้องทำงานเป็นจำนวนกี่วันกันนะถึงจะได้ iPhone รุ่นล่าสุดมาครอบครอง? 



ข้อมูลอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ปี พ.ศ. 2566 ตาม ประกาศของราชกิจจานุเบกษาด้วยเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ระบุว่าค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่วันละ 340 บาท เท่ากับว่าคนเชียงใหม่จะต้องทำงานเป็นเวลากว่า 97 วันเต็ม โดยไม่ใช้จ่ายอะไรเลยจึงจะสามารถซื้อ iPhone 15 ในราคาขั้นต่ำได้ ส่วนในจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือไม่ว่าจะเป็นจังหวัดพะเยา, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์อยู่ที่วันละ 335 บาท ก็จะเท่ากับว่าต้องทำงานเป็นเวลา 98 วันโดยไม่ใช้จ่ายอะไรเลย จังหวัดเชียงราย, แม่ฮ่องสอน, แพร่, ลำปาง, ลำพูน, ตาก, สุโขไทย, พิจิตร, กำแพงเพชร และอุทัยธานี มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 332 บาท เท่ากับต้องทำงานโดยไม่ใช้จ่ายใดๆ เลยเป็นเวลา 99 วัน และที่หนักที่สุดอย่างจังหวัดน่าน ที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 328 บาท จะต้องทำงานอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลา 100 วันเต็มๆ 

และในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานครฯ ที่อยู่ที่ 353 บาทต่อวัน จะต้องใช้เวลาทั้งสิ้น 93 วันในการเก็บหอมรอมริดเพื่อซื้อ iPhone รุ่นใหม่ล่าสุดนี้

จะเห็นได้ว่าจำนวนวันเวลาที่ต้องรวบรวมเงินจากค่าแรงขั้นต่ำเพื่อซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่ล่าสุดสักเครื่องของแต่ละจังหวัดในภาคเหนือจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานครฯ แล้ว คนในเมืองหลวงสามารถจับจองมือถือสุดหรูหราไปอวดเพื่อนฝูงก่อนคนภาคเหนือได้ถึง 1 สัปดาห์เต็มๆ และนี่คือการคำนวนแบบเบื้องต้น เท่านั้น หมายความว่าในชั่วโมงการทำงานจริง การมีเงินเก็บจากค่าแรงขั้นต่ำให้มากพอจะซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่ล่าสุดสักเครื่องได้นั้นจะต้องใช้เวลานานกว่านี้มาก ความห่างกันของช่วงเวลาอาจจะกลายเป็น 1 เดือน หลายเดือน หรือแม้แต่เป็นปี ซึ่งนั่นไม่ได้กระทบกับแค่การใช้จ่ายไปกับสินค้าทางเทคโนโลยีที่อาจจะมีตัวเลือกมากมายในตลาดเท่านั้น แต่ยังกระทบกับการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันอีกด้วย

แม้ค่าแรงขั้นต่ำนั้นถูกกำหนดขึ้นโดยภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาการกดขี่แรงงาน โดยพิจารณาผ่านหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ, ค่าครองชีพในพื้นที่, ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม, ปัจจัยทางการเมือง รวมไปถึงความเห็นของลูกจ้างและประชาชน ผนวกรวมกันจนกลายเป็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ แต่ถึงอย่างนั้นการเห็นค่าแรงขั้นต่ำในบางจังหวัด อย่างเช่นเชียงใหม่เองที่ค่าครองชีพก็ไม่น้อย แถมยังเป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอยู่ตลอด แต่คุณภาพชีวิตของแรงงานกลับไม่ได้พัฒนาตาม ยังคงเห็นความเหลื่อมล้ำเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในเมืองหลวงอย่างชัดเจน ก็พาให้เกิดคำถามขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่นว่าเหตุใดค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่จึงไม่เท่ากันสักที หรือถ้าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจอย่างจริงจังจะพาให้การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไปในทิศทางใดได้บ้าง?


อ้างอิง

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง