เมษายน 20, 2024

    อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ทำลายผืนป่า ก่อ PM 2.5

    Share

    เขียน: ปวีณ์กร สิมมา

    ภาพ: ตี๋ นาหยอด

    จากผลวิเคราะห์ทางดาวเทียมในช่วงเวลา 20 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2545 – 2565 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอิทธิพลของนโยบายรัฐ โดย กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำขึ้นเพื่อสืบค้นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เชื่อมโยงกัน ระหว่างมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า พบว่า “การพัฒนารูปแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา รวมถึงนโยบายสร้างแรงจูงใจอื่น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญ

    จากการศึกษาพบว่า การขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความต้องการผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้น สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมาคือ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และมลพิษทางอากาศทั้งในพรมแดนและข้ามพรมแดนที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดคือ การสูญเสียพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มลพิษทางอากาศที่เป็นวิกฤตคุกคามต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย อีกทั้งยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนที่ปกคลุมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

    สิ่งที่ขาดหายไปทางกฏหมายและการกำหนดนโยบายรัฐ คือ หนึ่ง การรับผิดชอบของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น สอง การได้ผลประโยชน์จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการประกอบธุรกิจ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า การพัฒนารูปแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาและนโยบายสร้างแรงจูงใจอื่น เป็นอิทธิพลสำคัญที่ทำให้สองปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้น ทั้งที่ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา และกฏหมายที่เกี่ยวข้องสามารถสืบหาต้นตอผู้ปลูกและบริษัทรับซื้อที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกลไกเอาผิดและภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบของภาคธุรกิจซึ่งถือว่าเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการทำลายป่าและมลพิษข้ามพรมแดน

    จากการศึกษาพื้นที่ปลูกข้าวโพดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545-2565 โดยนำภาพถ่ายดาวเทียมช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุก 5 ปี สะท้อนการจำแนกการใช้ที่ดินหรือสิ่งปกคลุมดิน  การจำแนกประเภทการใช้ที่ดินหรือสิ่งปกคลุมครั้งนี้ได้กำหนดช่วงชั้น (class) ในการจำแนกทั้งสิ้น 6 ประเภทได้แก่ พื้นที่ป่าไม้, พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, นาข้าว (ข้าวนาปรัง), พื้นที่เกษตรอื่น ๆ (นอกเหนือจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดและนาข้าว), แหล่งน้ำ และ สิ่งปลูกสร้างและพื้นที่อื่น ๆ

    ภาพ: กรีนพีซ ประเทศไทย

    ผลการจำแนกการใช้ที่ดินหรือสิ่งปกคลุมดิน ในปี พ.ศ. 2545 ถึง 2565 พบว่า พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ กล่าวคือ ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าโดยปี 2550 มีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์อย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2545 ขณะที่ปี 2555 มีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุดที่ 2,502,464 ไร่

    ภาพ: กรีนพีซ ประเทศไทย

    สองจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในทุก ๆ ปี คือ น่านและเชียงราย ในขณะที่พะเยาและแพร่ เป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไป

    จังหวัดน่านมีพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนในปี 2550 ซึ่งมีจำนวน 798,567 ไร่ และหลังจากปี 2550 เป็นต้นมา พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงในทุก ๆ 5 ปีโดยในปี 2565 มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 608,923 ไร่

    จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงสุดเป็น 565,471 ไร่ ในปี 2555 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2545 มีอัตราเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าขณะที่หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนของไทยมีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดน้อยลง แต่ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 286,816 ไร่, 276,475 ไร่ และ 101,770 ไร่ ตามลำดับในปี 2565

    การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด

    การวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ของปี 2545 เป็นฐานในการวิเคราะห์ว่าในทุก ๆ 5 ปี นับจากปี 2545 ว่าพื้นที่ป่าไม้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากน้อยเพียงใด

    ภาพ: กรีนพีซ ประเทศไทย

    การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยในช่วงปี 2545 ถึง 2565 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 10 ปีแรก ตลอดช่วง 20 ปีจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ 2545 ถึง 2555 คิดเป็นจำนวนพื้นที่ประมาณ 2,176,664 ไร่

    การเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย(2545-2565)

    ภาพ: กรีนพีซ ประเทศไทย

    การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุด คือ น่าน เชียงราย และแพร่ ตามลำดับ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วงปี 2545-2555 คือ ประมาณ 2,176,780 ไร่

    ภาพ: กรีนพีซ ประเทศไทย

    ช่วงปี 2545 เทียบกับ 2550 จังหวัดน่านและจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุด คือ จังหวัดน่าน ประมาณ 736,391 ไร่ และจังหวัดแพร่ ประมาณ 290,086 ไร่ รองลงมา คือ ช่วงปี 2545 เทียบกับ 2555 จังหวัดน่าน ประมาณ 726,967 ไร่ และจังหวัดแพร่ ประมาณ 216,646 ไร่

    จำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ป่าไม้ใน ปี 2545 เทียบกับปี 2565 รวมกันอยู่ที่ 1,926,229 ไร่ โดยจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุด คือ น่าน (590,883 ไร่) รองลงมา คือ เชียงราย 304,776 ไร่ และเชียงใหม่ 260,549 ไร่

    วิเคราะห์พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ําโขง

    การขยายพื้นที่เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ซึ่งครอบคลุมถึงภาคเหนือตอนบนของไทย, รัฐฉาน (เมียนมาร์), ภาคเหนือของ สปป.ลาว ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาได้กลายเป็นศูนย์กลางของประเด็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ที่เป็นผลพวงจากการทําลายพื้นที่ป่าเพื่อขยายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก (commodity-driven deforestation) รวมถึงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

    ข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยกรีนพีซ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในรายงาน “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุมน้ําโขง ปี 2558-2563” ระบุว่า ในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ําโขงถูกทําลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยครึ่งหนึ่งของพื้นที่อยู่ในเขตภาคเหนือของสปป.ลาว  

    อ้างอิงจากผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม จังหวัดที่มีแนวอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างน่านและแพร่นั้นเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่เริ่มปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สอดคล้องกับการเริ่มดําเนินโครงการลงทุนในเกษตรพันธสัญญากับประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นในปี 2546 เป็นการสืบเนื่องจากการเผยแพร่องค์ความรู้ และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และการเคมี ของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรสามารถทําได้ง่าย และสะดวกกับการเคลื่อนย้ายผลผลิตกลับเขามายังไทย

    การยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเหลือร้อยละ 0 สําหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อรองรับการขยายพื้นที่การเพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน กล่าวได้ว่า การที่ภาครัฐส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญาการปลูกข้าวโพดผ่านการยกเว้นภาษีนําเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นเอื้อประโยชน์ให้ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเติบโตภายใต้กฎหมายและนโยบายที่สนับสนุนโดยภาครัฐอย่างสอดคล้องกันไป

    การลงทุนข้าวโพดข้ามพรมแดน ไม่ใช่เพียงส่งผลกระทบต่อเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดน มากกว่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากทั้งปัญหาหนี้สิน การสูญเสียที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากการทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวเป็นการทำเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา

    ชนกนันทน์ นันตะวัน หัวหน้ากลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ กล่าวในการเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร” ในงานเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 ว่า 

    “การชี้โทษไปยังเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ว่าเป็นผู้เผาและเป็นผู้ก่อมลพิษไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไร เพราะต้นเหตุที่แท้จริงคือการบริโภคของคนในสังคม อุตสาหกรรมอาหาร และนโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของรัฐบาลที่บีบบังคับให้เกษตรกรต้องใช้วิธีการเผาซ้ำ ๆ คือวิกฤตที่สำคัญที่ทุกคนต่างต้องช่วยกันแก้ไขและเร่งสร้างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ผู้ที่เป็นต้นเหตุของการก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ การสร้างความยุติธรรมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่นี้จึงเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนและทุกเครือข่ายมาร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่และระดับภูมิภาค”

    อีกทั้งยังย้ำให้ภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐทั้งในท้องถิ่น และประเทศไทยเพิ่มมาตรการกำกับดูแลการลงทุนไร่ข้าวโพดเกษตรพันธสัญญาข้ามพรมแดน และปรับปรุงระเบียบสัญญาการทำเกษตรให้มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ยกระดับมาตรฐานการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความยั่งยืนของทั้งชุมชนและธรรมชาติ

    รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวในการเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร” ในงานเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 ว่า

    “การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ตามนโยบายสนับสนุนแรงจูงใจของรัฐต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องสร้างกลไกทางกฎหมายและดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

    ภาพ: เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ ประเทศไทย

    ข้อถกเถียงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ระบบเกษตรพันธสัญญา และมาตรการจูงใจอื่นเพื่อสนับสนุนของรัฐ ที่น่าสนใจมีด้วยกัน 3 ข้อถกเถียงคือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (2530-2534) คือ จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของรัฐบาลในการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในฐานะพืชเศรษฐกิจสําคัญของประเทศ โดยสาระสําคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ระบุถึงเหตุผลในการสนับสนุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่าเพื่อขยายตัวทาง เศรษฐกิจและการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อการส่งออกและทดแทนการนําเข้า

    ข้อถกเถียงต่อมา เกษตรพันธสัญญาจัดเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2547) ระบบเกษตรพันธสัญญาทําให้เกษตรกรจํานวนมากเลือกมาอยู่ในระบบทั้งรูปแบบไม่เป็นทางการและอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเกษตรพันธสัญญามีแหล่งรับซื้อผลผลิตแน่นอน ได้ราคาตอบแทนที่ดี รวมถึงปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และอื่นๆ หรือการให้ปัจจัยการผลิตและเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อล่วงหน้า ที่สนับสนุนแก่เกษตรกรที่ไม่มีเงินลงทุนโดยภาครัฐ จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรที่มีรายได้น้อย ต้องการมีอาชีพที่มั่นคง แต่รูปแบบการทําเกษตรพันธสัญญาที่เกิดขึ้นจริงอยู่ระบบแบบวาจาหรือลายลักษณ์อักษรอย่างไม่เป็นธรรม ประกอบกับระบบการกู้ยืมชดใช้ค่าใช้จ่าย และผลผลิตที่น้อยลงจากผืนดินที่ความอุดมสมบูรณ์เสื่อมถอยลงจากการใช้สารเคมีเกษตรและการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นเวลานาน สุดท้ายก็ส่งผลทําให้เกษตรกรติด อยู่ในวังวนหนี้สิ้นของระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม

    ปริศนา พรหมมา หัวหน้าแผนงานเสริมความเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวในการเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร”ในเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 ว่า 

    “พืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวทุกตัวเมื่อปลูกซ้ำ ๆ บนพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน ผลผลิตจะค่อย ๆ ลดลง สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น  การก้าวเข้าสู่วงจรของพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นง่าย แต่การก้าวออกจากวงจรนี้นั้นยากที่สุด เนื่องจากหนี้สินเกษตรกร ประกอบกับปัจจัยทางสภาพภูมิศาสตร์ และนโยบายของรัฐแบบรวมศูนย์”

    ข้อถกเถียงสุดท้ายคือ รัฐบาลได้ออกนโยบายมาสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นในแต่ละปี พร้อมทั้งจัดเตรียมงบประมาณที่เกี่ยวข้องทั้งหมดราว 4,500 ล้านบาทต่อปี ไว้เพื่อประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตอบโจทย์โครงการต่าง ๆ ในแต่ละปี เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร รวมถึงยังมีมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งรวมถึงโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ด้วยมาตรการการจูงใจต่าง ๆ เหล่านี้ ทําให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น และจําเป็นจะต้องขึ้นทะเบียนปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร ระบบนี้ทําให้เกษตรกรตกอยู่ในวงจรพันธสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งกับภาครัฐเพื่อได้รับสิทธิในการประกัน รายได้ หรือการกู้ยืมสินเชื่อ ซึ่งยังหมายความว่ารัฐบาลมีการเก็บบันทึกรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล ตําแหน่งแปลงปลูก และขนาดแปลงของ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไว้

    บี้-ศุภชัย เสมาคีรีกุล กลุ่มเบ๊อะบละตู เยาวชนปกาเกอะญอบ้านปางทอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เล่าถึงประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชาวปกาเกอะญอ ว่า

    “ที่ผมเคยเจอมาคือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันทำลายระบบนิเวศ ทำลายธรรมชาติ และมันไม่ได้ทำลายแค่ธรรมชาติ แต่มันทำลายระบบชุมชนด้วย เมื่อก่อนมีกฎในหมู่บ้านว่าห้ามปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ตอนนี้กฎข้อนี้มันก็สลายหายไปและมันทำลายระบบทั้งธรรมชาติและคนด้วย ถ้ามองในเรื่องเศรษฐกิจ คิดว่า รัฐไม่มีความสามารถในด้านการจัดการเศรษฐกิจ สมมติว่าถ้าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ควรที่จะไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม”

    “ข้อดีคือถ้ามองในเฉพาะผลผลิต ไม่ได้มองโทษของมันก่อนที่จะปลูก จริง ๆ มันก็เป็นผลผลิตของประเทศโดยไม่ต้องไปซื้ออาหารสัตว์จากต่างประเทศ  ข้อเสียคือภาครัฐไม่ได้มองว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สมควรที่จะปลูกที่ไหน และแต่ละพื้นที่เหมาะสมกับพืชชนิดไหน”

    “ผลกระทบที่ส่งผลมาก ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยคือ หมู่บ้านของพี่น้องชาติพันธุ์มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้ามาประมาณ 2 ปี เห็นได้ชัดเลยว่าลำห้วยบางสายไม่สามารถใช้ดื่มได้ ลำห้วยบางสายน้ำไม่ไหล และลักษณะของน้ำมีฟอง มีกลิ่น เพราะก่อนหน้านี้เขาใช้สารเคมีในการปลูกไร่หมุนเวียนแต่ใช้ไม่เยอะ เมื่อเทียบเท่ากับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพื้นที่ป่าก็น้อยลง”

    ศุภชัย มองเรื่องการกลับมาทำไร่หมุนเวียนอีกครั้งว่า “สามารถกลับทำได้ แต่จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ เช่นชาวบ้านส่วนใหญ่มองที่ตัวเงิน ถ้าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดีเขาก็อยากที่จะปลูก แต่เขาไม่ได้คำนวณต้นทุนต่าง ๆ เขาคิดแค่รายได้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันก็ทำให้เขามีสิทธิ์ที่จะทำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าวันหนึ่งที่เขาเห็นว่าไร่หมุนเวียนมันดีกว่า เขาก็อาจจะกลับมาทำได้ แต่การทำไร่หมุนเวียนมันทำแล้วเหนื่อย เพราะต้องทำทั้งปี แต่ถ้าเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เขาทำครั้งเดียวต่อปี เพราะใช้สารเคมีเป็นหลัก เช่น บ้านผมเองระยะเวลาการปลูก 2 – 3 ปีทำให้หน้าดินยังดีอยู่ แต่ถ้าผ่านไป 5 ปี 10 ปี ถ้ายังปลูกในพื้นที่เดิมจำเป็นต้องใช้สารเคมีมากขึ้นเยอะกว่าเดิม การกลับมาทำไร่หมุนเวียนยังมีสิทธิ์อยู่ แต่ในตัวของพี่น้องชาติพันธุ์เองก็หมดกำลังใจในการทำไร่หมุนเวียนอยู่พอสมควร”

    กรีนพีซ ประเทศไทย ได้มีข้อเสนอต่อเรื่องนี้เพื่อนำเสนอให้รัฐข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 

    1. ควรมีการบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์ ข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผน ยุทธศาสตร์และแผนงานการดำเนินการอย่างเป็นระบบและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไปต่อไป
    2. ปัจจุบันเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถ เข้าถึงและรับรู้ข้อกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ทำหน้าที่เป็น สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ควรมีการจัดทำแผนงาน ด้านการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ และสร้างเครือข่าย ความร่วมมือทางวิชาการในการให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกภาคส่วน รวมถึงผู้นำชุมชน และเกษตรกร ประการสำคัญต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจการเกษตร เพื่อพัฒนา ศักยภาพ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของเกษตรกร โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และสร้างอำนาจต่อให้แก่ เกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา
    3. รัฐบาลควรจัดให้มีการทำประกันพืชผลทางการเกษตรร่วมกับการทำเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาทุกราย ด้วยการที่รัฐสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยรับทำประกันภัยพืชผลทาง การเกษตรในอัตราเบี้ยประกันที่เหมาะสม และรัฐบาลต้องออกระเบียบบังคับให้การทำสัญญาใน ระบบเกษตรพันธสัญญาทุกสัญญาต้องมีการทำประกันพืชผลทางการเกษตรร่วมด้วยเสมอหากไม่มี การทำประกันฯ ให้ถือว่าสัญญาไม่สมบูรณ์ โดยค่าเบี้ยประกันน้ันต้องเป็นการแบ่งความรับผิดชอบ ของท้ังสองฝ่าย เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเสียหายจากภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกรและ ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร เมื่อมีความเสียหายเกิดข้ึนเกษตรกรจะรับการเยียวยาแก้ไขอย่างทันท่วงที
    4. รัฐบาลควรจัดทำและกำหนดค่ามาตรฐานกลางของปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช ปุ๋ย ยาในลักษณะเดียวกับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) หรือมาตรฐานอย. เป็นต้น เพื่อเป็นมาตรฐานในการตัดสินกรณีผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรไม่เป็นไปตามสัญญา โดยมี หน่วยงานในการทำหน้าที่ และมีการพัฒนากลไกการตรวจสอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสินค้าทางการเกษตรให้เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด

    รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวเกี่ยวกับข้อเสนอกับทาง Lanner ว่า

    “ต้องทำให้ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญามันเป็นธรรมขึ้นกับเกษตรกรตอนนี้ข้อระบุในข้อกฏหมาย ที่เอื้อให้กับบริษัทสามารถพ้นผิดในหลาย ๆ รูปแบบ หลาย ๆ อย่าง เช่น ถ้าเกษตรกรเลือกแปลงปลูกก็ถือว่าบริษัทไม่ผิดอะไรเกี่ยวกับมลพิษที่เกิดขึ้น การทำลายป่า หรือสุขภาพจากการใช้สารเคมี มันสามารถทำให้สิ่งนี้มันเป็นธรรมได้ และนอกจากนี้คือเชื่อมโยงระหว่างผู้ปลูกกับผู้รับซื้อได้ เพราะตอนนี้ยังไม่มีกฏหมายหรือมาตรการไหนที่เอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญามันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถทำให้มันเป็นธรรมมากขึ้น และเชื่อมโยงคนที่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พอเรารู้ว่าใครเป็นคนที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรก็คนคนที่ได้ผลประโยชน์เป็นหลักเราก็สามารถเอาผิดเขาได้ ในกรณีที่เกิดมลพิษขึ้น”


    อ้างอิง:
    เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรพันธสัญญาในเขตภาคเหนือของไทย – Greenpeace Thailand

    กรีนพีซ – สภาลมหายใจ – สม-ดุล เชียงใหม่ สะท้อน ปัญหา ‘ฝุ่นควัน’ ภาคเหนือ จากระบบอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ | ประชาไท Prachatai.com

    เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 สะท้อนปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือจากระบบอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ – Greenpeace Thailand

    รัฐต้องเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 และการทำลายป่า – Greenpeace Thailand

    Related

    น้ำแม่ข่า คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข สุขของใคร? หรือสุขที่ฝันไว้ไม่เคยตรงปก? 

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ “คลองแม่ข่า” หรือ “น้ำแม่ข่า” คลองที่มีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ไล่ไปตั้งแต่เป็นหนึ่งในชัยภูมิ 7 ประการในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงการก้าวกระโดดเติบโตของเมืองเชียงใหม่ในช่วง...

    คณาจารย์-ประชาชนร้องถึงนายกฯ คุ้มครองนักศึกษาเมียนมาในไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม

    คณาจารย์ ประชาชนและสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมลงชื่อส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ,เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ...

    สงกรานต์เมียนมาในวันที่ดอกประดู่ไม่บาน

    เรื่อง: Lanner Burmaภาพ: วิศรุต แสนคำ /  ฮวาน (ไม่ใช่ชื่อจริง) /...