พฤษภาคม 15, 2024

    3 เดือน ไร้ชดเชย-ขอโทษ กองทัพบกยังไม่ชดเชย คดี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’​

    Share

    15 กุมภาพันธ์ 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation รายงานว่า นับตั้งแต่ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ในคดีที่ มารดาของ นายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายให้แก่มารดาของนายชัยภูมิ ป่าแส เป็นจำนวนเงิน 2,072,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ทว่าจวบจนถึงปัจจุบัน จากการติดตามเป็นเวลาเกือบ 3 เดือนที่กองทัพยังคงไม่ดำเนินการนำเงินมาวางที่ศาลชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวของ นายชัยภูมิ ป่าแส ผู้ซึ่งได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมนับเป็นเวลานานกว่า 6 ปี โดยไม่ทราบเหตุผลความจำเป็นที่ยังไม่ชำระเงินตามคำพิพากษา

    คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนชาติพันธุ์จากกลุ่ม ‘รักษ์ลาหู่’ ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนชาติพันธุ์และคนไร้สัญชาติในประเทศไทย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตรวจค้นรถยนต์นายชัยภูมิ ป่าแส ที่ขับมาพร้อมเพื่อนอีกหนึ่งคน เมื่อผ่านด่านตรวจดังกล่าว นายชัยภูมิ ป่าแสได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจค้นแล้วใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่านายชัยภูมิขัดขืนและพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง

    โดยต่อมา มารดา นางนาปอย ป่าแส (ชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่) ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ใช้อาวุธปืนยิงสังหารนายชัยภูมิ ป่าแส ลูกชายของตน ซึ่งผลการพิจารณาของศาลชั้นต้นกลับมองว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่ยิงผู้ตายกระทำเพื่อป้องกันตัว สมควรแก่เหตุ ไม่ถือว่าละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้ยกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงเป็นเหตุให้ทางครอบครัวของชัยภูมิและทนายความขอยื่นฎีกาต่อ เพื่อตามหาความจริงและทวงคืนความยุติธรรมให้ชัยภูมิและครอบครัว

    อย่างไรก็ตาม แม้ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายแล้วก็ตาม แต่กองทัพบกยังคงเพิกเฉย ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ที่กองทัพบกยังไม่นำเงินมาชำระให้กับครอบครัวชัยภูมิป่าแส ความล่าช้าที่ไม่มีเหตุผลความจำเป็นนี้อาจทำให้ครอบครัวและสังคมเข้าใจไปว่ากองทัพบกยังไม่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อการกระทำละเมิดต่อครอบครัวของนายชัยภูมิ ป่าแสแต่อย่างใด กว่า 6 ปีที่ครอบครัวของชัยภูมิเดินทางออกมาต่อสู้เพื่อเรียกกร้องความยุติธรรม จนกระทั่งศาลสูงสุดตัดสินคดีเสร็จสิ้นแล้ว แต่ครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส ยังคงต้องรอให้กองทัพบกแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อชัยภูมิ ปัจจุบันก็ยังไม่มีคำขอโทษหรือแสดงความเสียใจของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวและสังคม

    มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวชัยภูมิ ป่าแสผู้ซึ่งยังคงต้องอดทนรอคอยความยุติธรรม และขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจในคดีดังกล่าวร่วมส่งกำลังใจให้กับครอบครัวของนายชัยภูมิ ป่าแส รวมถึงกรณีอื่นๆที่อาจเผชิญเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันและยังคงต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ให้ได้รับความเป็นธรรมรวมถึงการชดใช้เยียวยาตามกฎหมายต่อไป

    โดยคดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตรวจค้นรถยนต์ของ ชัยภูมิ ป่าแส ที่ขับรถยนต์เดินทางพร้อมเพื่อนอีกหนึ่งคนผ่านด่านตรวจดังกล่าว ก่อนที่ชัยภูมิจะถูกเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าชัยภูมิพยายามขัดขืนและทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธมีดและระเบิดขว้างสังหาร จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้จนชัยภูมิเพื่อป้องกันตนเอง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังกล่าวหาว่าพบยาบ้าเป็นจำนวน 2,800 เม็ด ซ่อนอยู่ในหม้อกรองน้ำของรถยนต์ของชัยภูมิอีกด้ว

    ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้น นาปอย ป่าแส มารดาของ ชัยภูมิ ป่าแส เป็นโจทย์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 ต่อกองทัพบก เป็นจำเลย เมื่อปี 2562

    แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องคดี ทำให้กองทัพไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวของชัยภูมิป่าแส เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารกระทำไปโดยชอบด้วยกฏหมายแล้ว

    ซึ่งต่อมาครอบครัวของ ชัยภูมิ ป่าแส จึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา และศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกา ระบุว่ากาฎีกาของโจทย์เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จึงมีคำสั่งรับพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566

    Related

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...

    มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอนจบ) ของกิ๋นพะเยา ไประดับโลกได้ไหม

    เรื่อง: กมลชนก เรือนคำ ชุดบทความนี้อยู่ภายใต้โครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมด้วยพันธกิจที่ 4 ของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นของชุมชนวัฒนธรรมระเบียงกว๊านพะเยา อ่าน เมดอินพะเยา: มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอน...