มีนาคม 19, 2024

    ล่ามช้างซาวด์ The 𝑺𝒐𝒖𝒏𝒅 𝒐𝒇 𝑳𝒂𝒎𝒄𝒉𝒂𝒏𝒈 โปรเจ็คพื้นที่สาธารณะที่ข้องเกี่ยว “เสียงตามสาย” ของคนในชุมชน ที่เสียงอาจดังไกลกว่าล่ามช้าง

    Share

    น่ายินดีไม่น้อยที่เราได้เห็นการโคจรมาพบกันระหว่างคนทำงานสร้างสรรค์กับชุมชนที่มาชนกันจนเกิดโปรเจ็คพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะสนุก ๆ ในชื่อ ล่ามช้างซีเล็คชั่น นิทรรศการโดยชุมชน 𝗟𝗔𝗠𝗖𝗛𝗔𝗡𝗚 𝗦𝗘𝗟𝗘𝗖𝗧𝗜𝗢𝗡 𝗔𝗡𝗗 𝗘𝗫𝗛𝗜𝗕𝗜𝗧𝗜𝗢𝗡 พ่วงมากับการพัฒนางานสร้างสรรค์ที่ตั้งต้นมาจากการเดินเข้าไปทำงานกับชุมชน และพบความน่าสนใจของ ”เสียงตามสาย”

    ก่อนที่ทุกกระบวนการจะพัฒนาออกเป็นงานสร้างสรรค์ 2 ชิ้นได้แก่ บทเพลงคัดสรรจากชาวล่ามช้างที่มาจากการคัดสรรบทเพลงที่ผู้คนในชุมชนเป็นคนคัดเลือกมา และ Arrange ใหม่ โดย DJ K9 & DJ Palmwolfalone พ่วงไปด้วยนิทรรศการศิลปะ Lamchang Sound(film)scape: บันทึกความสัมพันธ์ระหว่างคนและพื้นที่ศิลปะภาพถ่ายโดยชุมชนล่ามช้าง โดยอนุสรณ์ ธัญญปาลิต  จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่กาดกองเก่า วัดล่ามช้าง

    แต่กว่าที่จะเกิดเป็นงานเท่ ๆ แบบนี้ ต้องแลกกับการทำงานที่ไม่คุ้นชินมากนัก ไอซ์-อนันตญา ชาญเลิศไพศาล จาก SYNC SPACE ที่รับหน้าที่ Project Manager ของงานนี้มาเล่าให้ฟังถึงความน่าสนใจของการหยิบเอา “เสียง” ในความหมายของพื้นที่ส่วนกลางและในฐานะของการสะท้อนออกไปถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนล่ามช้างและพื้นที่สาธารณะมาพัฒนาเป็นงานสร้างสรรค์ที่มุ่งไปถึงการพูดถึงว่ารัฐต้องสนับสนุนพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนคือจริง ๆ โปรเจ็คนี้ SYNC SPACE ไม่ใช่ตัวตั้งต้นหลัก เป็นความร่วมมือของ Spark U Lanna แล้วก็ Chiang Mai Learning City ที่ชวน SYNC SPACE มาทำด้วย พวกเราเองก็มีเป้าคือการผลักดันให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะที่คนเข้าถึงอยู่แล้ว



    เสียงคือพื้นที่ เพราะทุกคนได้ยิน
    โจทย์คือจะทำยังไงให้งานสร้างสรรค์มันเข้าถึงคนได้ อันนี้คือแก่นหลักของ SYNC SPACE อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มันยากขึ้นไปอีกระดับ จะทำยังไงให้ชุมชนมีส่วนร่วม ไอ้คำว่า “มีส่วนร่วม” มันคืออะไร? เราเลยเข้ามาสำรวจในพื้นที่ชุมชนวัดล่ามช้าง ก็เห็นถนนเส้นเล็ก ๆ เราก็รู้สึกว่าตรงนี้มันไม่มีเอกลักษณ์อะไรเลยเว้ย แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือ “ลำโพง” เนี่ยแหละเยอะมาก ประมาณ 37 อันรอบชุมชนล่ามช้างแล้วเวลาเขาประกาศเสียงตามสาย Noise มันต่างกัน เราก็เลยคิดว่าเอ้อ นี่มันคือเอกลักษณ์ เราเลยไปตามหาว่าใครเป็นคนพูดเสียงตามสาย จนไปเจอแม่น้ำฝน เขาเป็นคนพูดเสียงตามสาย เราเลยรู้สึกว่าของพวกเนี้ยเป็นของรัฐ แต่คนที่พูดอะเป็นประชาชน แล้วความน่าสนใจคือเราตีความพื้นที่สาธารณะว่าเป็นของรัฐ ของที่รัฐเป็นคนให้ ประชาชนมีสิทธิใช้ อันนี้คือพื้นที่สาธารณะ แล้วป้าน้ำฝนเขาเป็นคนประกาศเองทุกวัน เปิดเพลงเองด้วย เราก็เลยเข้าไปทำงานกับป้า ทำงานด้วยกันเลย เราก็รู้สึกว่าเรื่องเสียงแม่งสำคัญว่ะ ทุกคนแม่งได้ยินเสียง เราเลยตีความเรื่องเสียงคือพื้นที่ เพราะทุกคนได้ยิน แล้วทุกคนได้ใช้พื้นที่นี้ไหม?



    “ฮัลโหล….และนี่คือเสียงจากล่ามช้าง”

    Radio Lamchang Project เสียงเพลงตามสายเพลย์ลิสต์คัดสรรโดยคนในชุมชน เราลองไปเก็บแบบสอบถาม ให้คนในชุมชนมาเขียนว่าอยากฟังอะไร แล้วเราก็เก็บรวบรวมเอามาเปิดเสียงตามสายในกาดกองเก่า มันก็ไม่ค่อยมีคนได้ยินอะไรมาก แต่ก็มีฟีดแบ็คมาว่า เพลงป้าได้เปิดไหม เป็นไงบ้าง จากนั้นก็ค่อย ๆ สร้างส่วนผสมระหว่างการทำงานของคนรุ่นใหม่กับชุมชน เราเลยชวน ล้วน-ไกร ศรีดี และ ซู่ – อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต มาร่วมพัฒนางานไปด้วยกันเลย

    งานของล้วนเป็น Entertainment เน้นความบันเทิง พัฒนาออกมาเป็น Lamchang selection Vol.1 จรัญมโน LO-FI mixed by K9 และ Lamchang selection Vol.2 สุนทราภรณ์ ON AIR mixed by Palmwolfalone และก็มี live session DJ ที่ต่อยอดจากเพลงที่คนในชุมชนขอ ส่วนของซู่เขาเป็นคนสนใจเรื่องเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การตีความเสียงของซู่คือบรรยากาศ การรับรู้ เป็นการการตีความอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่เพลง ใช้วิธีการเก็บเสียงโดยภาพ ก็คือเอากล้องไปให้คนในชุมชนไปถ่าย พอถ่ายเสร็จก็เอาภาพมาล้างฟิล์มแล้วแปลงเป็นซาวด์สเคป แปลงข้อมูลจากภาพถ่ายไปสู่เสียง

    การตีความในรูปแบบศิลปะมันจะเป็นสิ่งที่เรารู้สึกเองได้ เราคิดว่า Sync Space คือการเข้าไปทำงานกับบริบทของวัฒนธรรม แล้วเราก็อยากให้คนรุ่นใหม่ตีความงานศิลปะอีกแบบหนึ่ง



    ซาวด์ที่ต้องไปไกลกว่าล่ามช้าง

    ที่ล่ามช้างเนี่ยมีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องคือ ตอนเข้าไปทำงานในชุมชนก็เห็นปัญหาว่าลำโพงบางตัวเสียงเบามาก แถมไมค์ในห้องส่งก็ไฟดูดอีก เรากับทีมก็คุยกันว่าจะทำยังไงดีให้ลำโพงมันใช้ดีหรือไมค์ไฟไม่ดูด เราไปลิสต์รายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กันมา มีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท ที่จะทำให้เสียงตามสายดีขึ้นมีประสิทธิภาพขึ้น แล้วก็คุยกับแม่น้ำฝน ต่อสายตรงคุยกับเทศบาล ประโยคที่แม่น้ำฝนพูดโคตรมีพลังกับเราเลยคือ “เราไม่ต้องพัฒนา เราไม่ต้องเปลี่ยน คนที่เปลี่ยนอะ ต้องเป็นเทศบาล” มันใช่มาก รัฐต้องจัดการ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นะ เขาบอกว่ามันต้องทำตามระบบ ซึ่งช้ามาก เราเองก็ไม่เข้าใจอ่ะก็ไฟมันจะดูด แล้วถ้าเกิดฝนตก พายุเข้า แล้วถ้าแม่น้ำฝนต้องพูดเสียงตามสายเป็นไรขึ้นมาทำไง มันชัดขึ้นว่ารัฐควรต้องทำ และทำมันอย่างจริงจัง

    โปรเจ็คนี้มันนำร่องได้ เราอยากให้ชุมชนเห็นสิทธิของตัวเอง สิ่งที่ Sync ทำมันไม่ได้เป็นพระเอกนะ ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เราอยากให้ Sync เป็นตัวเชื่อม ก็เหมือนคำว่าซิงค์อะ คือการเชื่อม งานของ Sync มันมีอยู่ 2 อย่างที่ต้องไปให้ไกล คือ หนึ่งเราเรียกร้องพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ สองคือเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อภาครัฐกับประชาชน

    แต่จริง ๆ ตอนนี้งานหลักของ Sync คือตำบลสุเทพ(อ.เมือง จ.เชียงใหม่)นะ เรากำลังทำวิจัยเรื่องพื้นที่ศิลปะในตำบลสุเทพ แล้วจะส่งเรื่องนี้ให้เทศบาลตำบลสุเทพพิจารณาว่าทำไมคนในตำบลสุเทพทำงานอาร์ตกันเยอะ แล้วจะทำยังไงให้มันมีพื้นที่ที่ใช้ได้จริง ๆ ไม่ใช่พื้นที่เอกชนนะ มันเป็นพื้นที่ของรัฐ เราต้องสามารถ Negotiate กับรัฐได้ เพราะมันคือพื้นที่ของประชาชน

    Related

    7 ปี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ยุติธรรมไม่คืบหน้า

    ภาพ: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมจัดงานเสวนา...

    ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ แจงงบแก้ฝุ่นยังไม่ออก ชี้ “ประกาศภัยพิบัติ” ไม่ใช่ทางออกตอนนี้

    เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานการชี้แจงของ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่...

    ครบ 7 ปี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม ความยุติธรรมยังไม่คืบ

    เช้าวันที่ 17 มี.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ทำการตรวจค้นรถยนต์ของ...