ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน:  บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น

มองศิลปะจัดวางและอ่านอย่างเข้าใจ “ไทยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ”

มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 เป็นกิจกรรมเพิ่มพูนความร่วมมือจากเหล่าบรรดาเครือข่ายศิลปินและนักปฏิบัติการด้านศิลปะตั้งแต่ระดับท้องถิ่นเรื่อยไปจนถึงระดับนานาชาติที่มุ่งสร้างการตระหนักรู้ต่อประเด็นศิลปะวัฒนธรรมในสังคมร่วมสมัยที่นำไปสู่การขยายความรับรู้ให้กระจายไปสู่สาธารณชน มหกรรมด้านศิลปะนานาชาติที่ว่านี้จึงได้ทำหน้าที่เสริมสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มต่อศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงรายอันนับว่าเป็นการประกาศให้สังคมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติทราบว่า “เชียงรายเป็นเมืองแห่งศิลปะ” (The City of Arts)

งานดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีการจัดงานขึ้นในรอบ 2 ปี 1 ครั้ง ซึ่งมีการใช้คำศัพท์ภาษาอิตาลีว่า ‘Biennale’ หรือ ‘เบียนนาเล่’ ประเทศอันเป็นต้นธารของการศึกษาและปฏิบัติการด้านศิลปะนานาชาติหรือศิลปะในโลกสากลช่วงยุคต่อ ๆ มา การจัดงานศิลปะร่วมสมัยนานาชาตินี้มีลักษณะจัดเวียนไปตามจังหวัดนำร่องที่มีศักยภาพในการเป็น “เมืองศิลปะ” ของกระทรวงวัฒนธรรม คือ จังหวัดกระบี่ (พ.ศ. 2561) จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช (พ.ศ. 2564) และครั้งล่าสุดคือที่จังหวัดเชียงราย (ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2566 ถึงต้นปีพ.ศ. 2567) โดยงานดังกล่าวนี้มีความมุ่งหมายให้การจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทย เสริมสร้างแรงบันดาลใจ และความสามารถในการสร้างสรรค์ให้กับศิลปินรุ่นใหม่ รวมถึงให้ความรู้และพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการภัณฑารักษ์อีกด้วย

ภาพ: Thailand Biennale,Chiang Rai 2023

แนวคิด “เปิดโลก” (The Open World) โดยได้แนวคิดนี้มาจากพระพุทธรูปประทับยืนปางเปิดโลกที่ประทับอยู่ในซุ้มจระนำของเจดีย์องค์ประธานของวัดป่าสักแห่งเมืองเชียงแสน ซึ่งวัดแห่งนี้ตามตำนานกล่าว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนภู (ซึ่งเป็นพระนัดดาของพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา) โดยพระองค์ได้ทรงสร้างเวียงเชียงแสนพร้อมทั้งวัดดังกล่าวขึ้นซึ่งมีเจดีย์ที่ถือได้ว่าเป็นภาพตัวแทน (Represent) ศิลปะเชียงแสนหรือศิลปะล้านนาที่มีความโดดเด่นของลวดลายปูนปั้นที่สวยที่สุดในยุคต้นล้านนา ขณะเดียวกันพระพุทธรูปปางเปิดโลกยังมีนัยยะที่สะท้อนถึงคำว่า “ปัญญา” และ “ตื่นรู้” ทั้งในทางโลกุตระและโลกียะวิสัย งานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เมืองโบราณเชียงแสนก็ยังมีความเชื่อมโยงกับ Open World ที่นำเสนอโครงสร้างนิทรรศการด้วยการเล่าเรื่องแบบเส้นตรง ทว่ากลับมีมิติของการสร้างข้อท้าทายและการตั้งคำถามที่แหลมคมและหลากหลายผ่านประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จนถึงธรรมชาติและนิเวศวิทยา ซึ่งกระจายตามพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภออื่น ๆ โดยมีฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ร่วมกับกฤติยา กาวีวงศ์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วยภัณฑารักษ์ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ และมนุพร เหลืองอร่าม  จะร่วมกันจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินไทยและไทยและนานาชาติ 60 คน จาก 21 ประเทศ ทั้งยังมีนิทรรศการย่อยมากกว่า 10 แห่งเกิดขึ้นพร้อมกับกิจกรรมคู่ขนานและสตูดิโอของศิลปินในพื้นที่อีกมากมาย ทั่วจังหวัดเชียงราย เช่น หอศิลป์ ศูนย์ประชุม พิพิธภัณฑ์ วัด ตลอดจนพื้นที่โบราณสถานเวียงเก่าเชียงแสน เป็นต้น ซึ่งหลาย ๆ ผลงานเป็นการผลงานของพวกเขาเกิดจากการเชื่อมร้อยประเด็นต่าง ๆ ทั้งประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ ชุมชน ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ การพลัดถิ่น เข้าด้วยกันได้อย่างมีความน่าสนใจ

ปฏิบัติการทางด้านศิลปะที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองโบราณเชียงแสนในช่วงปลายปี 2566 มาจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้นจึงเป็นความสงสัยใคร่รู้ของผู้เขียนในฐานะผู้ซึ่งก็มิได้มีความประสีประสาต่อประเด็นการทำงานด้านศิลปะ รวมทั้งการออกแบบและการจัดวางศิลปะวัตถุแต่อย่างใด คำถามในใจจึงเกิดขึ้นมาด้วยข้อสงสัยต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่าง หน้าที่ของ “ศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” กล่าวขยายความเพิ่มเติมต่อไปอีกนิด คือ ศิลปะอาจมีความสำคัญต่อการเรียงร้อยและบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้มีความสนุกสนาน น่าชวนคิดและติดตาม ตลอดจนสามารถขยายจินตนาการให้เกิดขึ้นกับสำนึกทางประวัติศาสตร์ได้อย่างหลากหลายทว่าภายใต้บริบทของโลกสมัยใหม่อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายทับซ้อนกัน ฉะนั้น การเรียงร้อยและบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นจึงถือเป็นการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองกับผู้อื่น ในบริบทอื่นๆหรือสังคมอื่นๆก็ล้วนนำมาสู่การสร้างนิยามตัวตนใหม่ให้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของโลกสมัยใหม่ที่เปิดให้คนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนแบ่งของการสร้างนิยาม ทั้งที่บางนิยามกลายเป็นอัตลักษณ์หลัก อัตลักษณ์รอง อัตลักษณ์ชายขอบ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์บางเรื่องที่ปูทางมาสู่การสร้างผลงานด้านศิลปะหรือปฏิบัติการทางศิลปะจึงผ่านทั้งมิติของการต่อสู้ต่อรองเรื่อยมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

งานของศิลปินกลุ่ม “บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม” (Baan Noorg Collaborative Arts and Culture) ซึ่งมีฐานการทำงานอยู่ในตำบลหนองโพ จังหวัดราชบุรี ที่ได้นำเสนอผลงานศิลปะการจัดวางอันมีชื่อว่า Tai Yuan Return : on Transmission and Inheritance A collaborative and participatory art project 2023 (ไท-ยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อโครงการศิลปะความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทางสังคม 2023) โดยเนื้อหาและสาระสำคัญของงานศิลปะดังกล่าวนี้เป็นความพยายามพูดถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนยวนพลัดถิ่นในหนองโพที่มีอันต้องอพยพมาจากเมืองเชียงแสนเมื่อ 200 ปีก่อน หลังทัพสยามและเชียงใหม่ได้ปลดแอกเชียงแสนจากกองทัพพม่า ทำให้บรรพบุรุษของชาวยวนก็ถูกกวาดต้อนมาตั้งรกรากใหม่ในพื้นที่หนองโพ ณ ปัจจุบัน

เรื่องเล่าและความทรงจำทางสังคมที่มีต่ออดีตอันเป็นเบื้องหลังผลงานศิลปะที่ว่านี้จึงซุกซ่อนเนื้อหาสาระที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของชุมชนยวนพลัดถิ่นที่ถูกทำให้อพยพมาจากเมืองเชียงแสน หลังปี 2347 ซึ่งบรรพบุรุษของชาวไทยวนพลัดถิ่นเหล่านี้ได้ถูกกวาดต้อนลงมาสู่บริเวณตอนกลางของประเทศไทยในปัจจุบันและมีการตั้งชุมชนชาวยวนในเมืองราชบุรีและเมืองสระบุรีซึ่งต่อมาก็ได้มีการขยายชุมชนไปสู่นอกขอบเขตที่กำหนดไว้เนื่องจากขณะนั้นรัฐมีนโยบายที่เข้มงวดในการควบคุมประชากรตามระบบไพร่ที่ต้องมีสังกัดมูลนายและต้องส่งส่วยให้กับแต่ละหัวเมืองที่ตนสังกัดและทางการมิได้อนุญาตให้คนไทยวนย้ายไปอยู่เมืองต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ ขณะที่ยุคสมัยต่อมาก็มีคนไทยวนส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายออกไปบุกเบิกที่ทำกินในพื้นที่ใหม่ตามเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่ถูกพัฒนาขึ้นนำไปสู่การขยายชุมชนและเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวยวนเชียงแสนพลัดถิ่นในช่วงภายหลังซึ่งพวกเขามักมีการเคลื่อนย้ายและตั้งถิ่นฐานใหม่รวมกันเป็นกลุ่มตามเครือญาติและกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้กลุ่มชาวยวนที่เคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองราชบุรี แรกเริ่มได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านไร่นที ห่างจากตัวเมืองราชบุรีทางทิศตะวันออกบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองรวมทั้งมีคนไทยวนบางส่วนจึงได้อพยพออกไปบุกเบิกที่ทำกินพื้นที่บริเวณบ้านคูบัว (บริเวณคูเมืองโบราณคูบัว) เรื่องเล่าและความทรงจำร่วมทางสังคมของพวกเขาจึงมีฐานะเป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ (นิพนธ์) ได้ว่าการอพยพของบรรพชนพวกเขานั้นไม่ได้เป็นไปหรือเกิดขึ้นอย่างเต็มอกเต็มใจที่จะออกจากเมือง อดีตของพวกเขาถูกทำให้เชื่อว่ามีแค่สองทางเลือกคือ จะไปหรือจะตายเท่านั้น  โดยที่ชุมชนไทยวนที่อพยพมาอยู่ใน ต.หนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี อันถือว่าเป็นบรรพชนของกลุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงานเองถือได้ว่าเป็นชุมชนขนาดเล็กมากที่กระจายหลุดออกมาจากวงโคจรของเขตแดนทางวัฒนธรรมหรือชุมชนของคนไทยวนที่ความเป็นไทยวนนั้นช่างเจือจางและบางเบา

ในขณะที่ชุมชนคนไทยวนแหล่งอื่นๆในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางกับเลือกที่จะรักษาเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตัวเองไว้ผ่านวัฒนธรรมการทอผ้าและการทอถุงย่าม อย่างเช่นวัฒนธรรมการทอผ้าซิ่นไทยวนในพื้นที่ตำบลคูบัวอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมรวมไปถึงประเพณีประดิษฐ์ (Invented Traditions) ความเป็นไทยอยู่มันขึ้นมาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ด้วยการนำของปราชญ์ท้องถิ่นชาวไทยยวนอย่าง ดร.อุดม สมพร ซึ่งได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนซึ่งมีชื่อจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี พื้นที่ดังกล่าวด้วยการทำมาเป็นชุมทางของผู้คนและวัฒนธรรมในการรื้อฟื้น อัตลักษณ์ความเป็นคนไทยวนขึ้นมาในพื้นที่จังหวัดราชบุรีในขณะเดียวกันที่อำเภอเสาไห้จังหวัดสระบุรีก็มีอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ซึ่งได้ก่อตั้งหอวัฒนธรรมพื้นบ้าน ไทยวน สระบุรี ขึ้นมาเฉกเช่นเดียวกัน

ในขณะที่พื้นที่ของอำเภอหนองโพ จะเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบเชิงนโยบายจากภาครัฐในการเปลี่ยนผ่านสังคมเกษตรกรซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่กับการทำนามาสู่การเลี้ยงโคนม รูปแบบการผลิตที่ใช้ปศุสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ตัดขาดความเป็นชุมชนของคนไทยอยู่ในพื้นที่หนองโพ ให้หลุดไปจากการเกาะเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทยวนที่มีวัฒนธรรมการปลูกข้าว การทำนา และการทอผ้าให้ลดน้อยถอยลงไป หนองโพจึงแทบไม่เหลือรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทยวน ทว่าคนทั่วไปรับรู้การมีอยู่ของอำเภอหนองโพจังหวัดราชบุรีว่าเป็นพื้นที่สหกรณ์โคนมขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งผลิตนมกล่องรสหวานยี่ห้อหนองโพซึ่งทั้งผู้เขียนหรือใครหลายคนที่ได้อ่านนั้นแค่นี้ก็คงทันได้รู้จักเช่นเดียวกัน

การขับเคลื่อนปฏิบัติการด้านศิลปะของกลุ่ม “บ้านนอก” มีเอกลักษณ์เน้นการการร่วมมือกับชุมชนศิลปินท้องถิ่น เพื่อตีความ สำรวจ และนำประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ุ และการพลัดถิ่นมาเล่าใหม่ในภาษาของศิลปะ ในทัศนะของผู้เขียนจึงเห็นว่าปฏิบัติการของพวกเขาเหล่านี้วางอยู่บนฐานของการสืบค้นเรื่องราวของอดีตเพื่อนำมาเรียงร้อยและบอกเล่าผ่านงานศิลปะ พวกเขาได้พยายามสืบค้นร่องรอยของคน “ไทยวน” ผ่านจินตนาการที่มีต่ออดีตจากความรับรู้ที่ก่อร่างสร้างประสบการณ์ที่รายล้อมรอบตัว จากการได้ยินได้ฟังเรื่องราวของชาวไทยวนจากความทรงจำร่วมทางสังคมที่ “นิพนธ์ประวัติศาสตร์” จากเบื้องล่าง (History From Below) ความรับรู้ที่มีต่ออดีตของชาวไทยวนพลัดถิ่นที่ผู้เขียนก็เคยได้ยินได้ฟังในพื้นที่ทางวัฒนธรรมชาวไทยวนพลัดถิ่นทั้งในอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และอำเภอคูบัว จังหวัดราชบุรีเองก็ล้วนเป็นเรื่องราวปรากฏในทิศทางซึ่งสอดคล้องกับการสร้างตำแหน่งแห่งที่และอัตลักษณ์ความเป็นคนกลุ่มน้อยของพวกเขาในฐานะคนไทยวนพลัดถิ่น เรื่องเล่าอันหลากหลายของพวกเขายังปรากฏในงานวิชาการหลายชิ้นอย่างเช่น “ยวนสีคิ้ว” ในชุมทางชาติพันธุ์: เรื่องเล่า ความทรงจำและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนในจังหวัดนครราชสีมาผลงานของ สุริยา สมุทคุปติ์และพัฒนากิติอาษา ปี 2544 หรืองานเรื่องชาวเชียงแสนย้ายแผ่นดินผลงานของภูเดช แสนสา ปี 2561 ตลอดจนงานเรื่องประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างผ่านเรื่องเล่าของคนยวนพลัดถิ่น ผลงานของของชัยพงษ์ สำเนียง ปี 2566 เป็นต้น งานเหล่านี้ทำหน้าที่ตั้งคำถามต่อเรื่องเล่าและความทรงจำร่วมที่มีต่อความเป็นคนไทยวนพลัดถิ่นโดยชี้ให้เห็นว่าหลาย ๆ เรื่องเล่านั้นมีจะเน้นย้ำอยู่กับการต่อสู้ดิ้นรนของคนไทยวนในฐานะคนกลุ่มน้อยซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางและบางส่วนของพื้นที่แอ่งโคราชทว่ารูปแบบของเรื่องเล่าและความทรงจำของที่ดำรงอยู่อย่างหลากหลายของลูกหลานชาวไทยวนพลัดถิ่นเหล่านี้ก็มักเป็นความคิดประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนสามัญโลดแล่นในในเรื่องราวของพวกเขาได้มากทีเดียว

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอหนองโพ จังหวัดราชบุรีจึงเป็นเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้กลุ่มคนผู้ปฏิบัติการด้านศิลปะในพื้นที่มองเห็นถึงความจำเป็นในการใช้ศิลปะให้ทำหน้าที่เป็นกระจกส่องอดีต ภายใต้ความท้าทายที่ว่าพื้นที่หนองโพคงจะเป็นจุดสุดท้ายของวัฒนธรรมชุมชนชาวไทยวนก่อนที่จะกระจัดกระจายหายไป จินตนาการทางประวัติศาสตร์ซึ่งถูกกำหนดจากพลังของเรื่องเล่าที่มีต่ออดีตของพวกเขาจึงสะท้อนให้เห็นถึงแรงปรารถนาและความพยายามในการอยากที่จะย้อนกลับไปยังเชียงแสน อย่างน้อยที่สุดก็กลับไปในเชิงสัญลักษณ์ เพราะในความเป็นจริง ช่วงเวลา 200 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวไท-ยวนไม่อาจกลับบ้านได้ เพราะเราไม่เหลือบ้านที่เคยอยู่อีกต่อไปแล้ว นี่เป็นมุมมองของพวกเขาในฐานะศิลปินหรือผู้ที่ใช้ศิลปะในการเล่าอดีต ซึ่งสามารถเกิดขึ้นผ่านรูปแบบของศิลปะการจัดวางกลางแจ้งขนาดใหญ่ในพื้นที่ของวัดร้าง ซึ่งมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมเป่าลมแบบไร้รากฐานสองชิ้นมีรูปทรงสถูปเจดีย์ (Stupa) และรูปทรงฐานวิหาร เปรียบเหมือนการสร้างเติมชีวิตให้กับวัตถุที่มีสภาวะชั่วขณะ เกิดขึ้นและจางหาย วนเวียนต่อเนื่องไป โดยศิลปะวัตถุที่ว่านี้กลุ่มบ้านนอกฯ ได้นำเสนอออกมาในรูปเจดีย์เป่าลม สีดำ ที่ชวนผู้ชมขึ้นมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับชิ้นงานผ่านการกระโดดและปีนป่าย ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ยวนพลัดถิ่นจากเมืองเชียงแสนสู่ราชบุรี จัดแสดงที่โบราณสถานหมายเลข 16 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พวกเขาได้เล่าถึงผลงานเหล่านี้ว่าได้มีการอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาของชั้นดิน และโบราณวัตถุที่ขุดพบต่างๆ เอาไปเทียบเคียงช่วงเวลา และอนุมานว่า ตัวสถูปเจดีย์หรือวิหารในพื้นที่โบราณสถานแห่งนี้น่าจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับในวัดใดมากที่สุด แล้วก็สร้างเป็นเจดีย์จำลองสามมิติขึ้นมาใหม่ สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ ถูกนำเสนอเป็นรูปธรรมให้จับต้องได้จริง ๆ ผ่านผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-specific art)) และฐานวิหารวัด สีดำสนิท ราวกับจะเป็นการจำลองภาพเงาแห่งอดีตกาลอันไกลโพ้นขึ้นมาใหม่ในรูปของผลงานศิลปะร่วมสมัยอันแปลกตาน่าพิศวง ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเรายืนชมผลงานนี้ในระยะหนึ่ง สถูปเจดีย์เป่าลมที่ว่านี้ก็จะถูกปล่อยลมให้ฟีบจนยอดเจดีย์ย้วยย้อยลงมาและถูกอัดลมจนกลับไปเต่งตึงตั้งตรงในเวลาไม่นาน ราวกับเป็นรยางค์ของสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ก็ไม่ปาน อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการออกแบบเพื่อจัดวางศิลปะวัตถุสะท้อนถึงความคมคายในการตีความและกลั่นกรองความคิดตลอดจนความทรงจำต้องอดีตที่พวกเขาเชื่อถือออกมาเล่าเป็นเรื่องราวให้ผู้เสพงานศิลปะให้เกิดความเข้าใจได้เป็นอย่างดี  ชิ้นงานศิลปะการจัดวางที่ว่านี้ได้มีผลทำให้ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ติดต่อกลุ่มศิลปินดังกล่าวขึ้นมาจัดแสดงงานชิ้นนี้ภายใต้การสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านการศึกษาเรื่องพื้นที่และการสร้างเวทีที่จะทำให้ชาวไท-ยวน ชาติพันธุ์ที่อพยพไปที่อื่นกลับคืนสู่เชียงแสน รวมไปถึงการจัดให้มีพิธีทางศาสนาให้กับบรรพบุรุษของชาวไท-ยวน ในเชียงแสนที่เสียชีวิตในอดีตอีกด้วย

ศิลปะแด่ผู้พลัดถิ่นเพื่อการคืนถิ่น (เชิงสัญลักษณ์): บทวิพากษ์เพื่อเข้าใจและไปต่อ

แม้ผู้เขียนจะทราบถึงแนวความคิด เจตจำนงค์ และแรงปรารถนาที่ถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำร่วมทางสังคมที่มีต่ออดีตผ่านประวัติศาสตร์บอกเล่าด้วยงานศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะที่เป็นเรื่องราวของสามัญชนคนธรรมดาที่ถูกจำได้และหมายรู้เอาไว้ว่าถูกบังคับให้มีการโยกย้ายถิ่นฐาน พวกเขามีฐานะเป็นผู้ถูกกระทำในประวัติศาสตร์จากผู้มีอำนาจ ทว่าเรื่องราวที่ถูกเล่าเหล่านี้กลับกลายมาเป็นข้อสงสัยของผู้เขียนในฐานะผู้ที่มีความสนใจใคร่รู้ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงแสนที่ผู้คนมีการไหลลื่นเคลื่อนไหวเป็นพลวัตอยู่ตลอดเรื่อยมา

ถ้าหากจะถาม “คนเชียงแสน ที่แท้จริงคือใคร” ก็อาจเป็นประเด็นที่ยากจะฟันธงคำตอบไม่ได้อย่างตายตัวแน่นอน หรือ “ใครคือผู้คนที่พลัดพรากไปจากเมืองเชียงแสนเมื่อปี 2347” คำถามนี้อาจจะพอกระชับคำตอบมาได้ว่า “ไม่ได้มีแค่คนไทยวน” หากแต่ผู้คนและพลเมืองเชียงแสนในห้วงเวลาที่กล่าวมานั้นได้ถูกสลับสับเปลี่ยนเคลื่อนเข้า ๆ ออก ๆ มาก่อนหน้านั้นแล้ว นี่จึงอาจเป็นความจริงที่ผู้เขียนต้องการยืนยันเพื่อตอบคำถามในใจที่มีต่อเรื่องเล่าบางอย่าง ความทรงจำทางสังคมบางชุด หรืออดีตบางอดีตซึ่งล้วนแล้วมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องถูกตั้งคำถามเพื่อความงอกงามในข้อถกเถียง แม้ศิลปะที่ตีความอดีตได้อย่างแยบยลและคมคายจะทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว แต่ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ที่ควรถูกสานต่อยาคงเลือกทำหน้าที่ผ่านบทความนี้

เรื่องเล่าและความทรงจำทางสังคมที่มีสถานะเป็นประวัติศาสตร์สามัญชนว่าด้วยคนพลัดถิ่นอาจมิได้เบ่งบานอย่างงอกงามด้วยแนวทางเดียว บางครั้งประวัติศาสตร์สามัญชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือประวัตศาสตร์ชายขอบนี่แหละก็สามารถทำหน้าที่ซุกซ่อน “ความเป็นชาติพันธุ์ (ไทยวน) นิยม” ไว้เบื้องลึกเบื้องหลังได้ด้วยเช่นเดียวกัน แม้ผู้เขียนจะตีความต่องานศิลปะของศิลปินชิ้นนี้ว่ามุ่งเรียกร้องให้ผู้เสพงานศิลปะเกิดความเข้าอกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อเรื่องราวในประวัติศาสตร์บาดแผลว่าด้วยการพลัดที่นาคาที่อยู่ที่บรรพบุรุษของพวกคุณในอดีตอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ ทว่าผู้เขียนกลับมองผ่านแง่มุมอีกด้านที่เห็นถึงภาพตัวแทนความเป็นชาติพันธุ์ในชั้นประวัติศาสตร์ของพวกคุณว่าเป็นการมุ่งสร้างและผลิตซ้ำความรับรู้เฉพาะแต่เพียง “ความเป็นไทยวน” เพื่อตอกย้ำความเป็นชาติพันธ์นี้เท่านั้น โดยผู้เขียนเองก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า “บรรพบุรุษของท่านไม่ได้ไปจากเชียงแสน” แต่รายละเอียดการไปจากเชียงแสนในปีพุทธศักราช 2347 นั้นไม่ได้มีแค่เพียงพวกท่านเท่านั้น เพราะผู้เขียนยังเชื่อเสมอว่าคนเชียงแสนไม่ได้มีแค่คนไทยวน หากแต่เชียงแสนเป็นเมืองท่าริมแม่น้ำโขงที่อุดมไปด้วยความหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ ลมหายใจอันเป็นอุปลักษณ์ที่มีในเจดีย์ลมยางขนาดใหญ่นั้นจึงเป็นลมหายใจแห่งการหลอมรวมผู้คนที่รุ่มรวยไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธ์ที่เดินทางเข้ามาค้าขาย ถูกพบโยกย้ายด้วยมูลเหตุแห่งไฟสงครามก่อนหน้าของการกวาดต้อนครั้งใหญ่ ในปี 2347 นั่นเอง

ขณะเดียวกัน เอกสารสำคัญอย่างพื้นเมืองเชียงแสนได้ระบุถึงเชื้อสายเจ้านายเมืองเชียงแสนในยุคภายใต้การปกครองของพม่าว่าได้มีการสถาปนาสกุลวงศ์เชื้อสายไทลื้อทั้งที่อาศัยอยู่ในเชียงแสนที่ปกครองสืบเนื่องกันมากว่า 10 องค์และเป็นเชื้อสายไทลื้อเมืองพง 2 องค์ซึ่งปกครองเมืองเชียงแสนรวมระยะเวลา 176 ปี (พ.ศ.2171-2347) แม้กระทั่งช่วงสุดท้ายก่อนที่เมืองเชียงแสนแตก คนที่อาศัยในเมืองเชียงแสน จึงมีทั้งคนไทลื้อจากเมืองยอง ชาวไทยวนและไทลื้อเชียงแสนดั้งเดิม ตลอดจนผู้คนในชาติพันธุ์อื่นๆที่อาศัยเส้นทางกันต่อค้าขายผ่านแม่น้ำโขงเป็นจุดเชื่อมโยงหรือสถานีการค้าและการเดินทาง

กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ภาพ: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีชาวไทยวน ชาวไทลื้อ และชาวอื่น ๆ จากเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาสู่พื้นที่ของเมืองสระบุรีโดยได้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในหลายอำเภอและมีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในอำเภอเมืองและอำเภอเสาไห้ ซึ่งชาวเชียงแสนที่มาตั้งหมู่บ้านต่าง ๆ ก็จะมีผู้นำพามาตั้งและดูแล เช่น ปู่เจ้าฟ้า นำมาตั้งหมู่บ้านเจ้าฟ้า เมื่อสิ้นชีวิตชาวบ้านได้นับถือปู่เจ้าฟ้าเหล่านี้ในฐานะผีบรรพชนซึ่งมักจะมีการประทับทรงเจ้าปู่ในช่วงปีใหม่สงกรานต์อีกด้วยเช่นเดียวกันกับช่วงภายหลังศึกเจ้าอนุวงศ์ที่ได้มีการกวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์เข้ามาสู่เขตแดนสยามก็อาจสันนิษฐานได้ด้วยการขอลงหลักปักฐานของเชลยอพยพที่เมืองสระบุรีในปี พ.ศ. 2370 นี้ คงไม่ได้เพียงชาวเชียงแสนที่ขอตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกับชาวเชียงแสนด้วยกันเพียงเท่านั้น หากยังอาจจะมีชาวลาวเวียงจันทน์ในครั้งนี้ก็ตั้งถิ่นฐานในเมืองสระบุรีด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ชาวเชียงแสนที่เมืองสระบุรีที่เรียกตนเองติดปากว่า “คนยวน” หรือ “ชาวยวน” คำนี้สันนิษฐานว่าไม่ได้บ่งบอกถึงชาติพันธุ์ว่าเป็น “ไทยวน”เพียงอย่างเดียว แต่มีนัยยะบ่งบอกว่ามาจากเมืองยวน โดยที่มีชาติพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาอยู่ร่วมกันหลากหลายกลุ่มทั้งไทยวน ไทลื้อ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในเมืองเชียงแสนหรือเมืองยวน เมื่อมาอยู่เสาไห้ เมืองสระบุรี จึงบ่งบอกว่าเป็น “คนเชียงแสน” “ชาวเชียงแสน” หรือ “คนยวน” “ชาวยวน” ตามที่รับรู้มาจากบรรพบุรุษ เพราะในตำนานพื้นเมืองเชียงแสนก็ปรากฏเรียกเมืองเชียงแสนว่าเป็น “เมืองยวน” หรือ “เมืองไทยวน” กรณีนี้ก็เหมือนกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่โยกย้ายถิ่นฐาน เช่น ไทลื้อเมืองยอง (ปัจจุบันเมืองยองมีสถานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง ประเทศเมียนมา) กองทัพจากล้านนาไปตีกวาดต้อนมาปีเดียวกันกับตีเมืองเชียงแสนใน พ.ศ. 2347 เมื่อถูกนำมาอยู่เมืองนครลำพูน ก็เรียกตนเองว่าเป็น “คนยอง” หรือ “ชาวยอง” ตามชื่อเมืองที่จากมา ส่วนทางด้านชาติพันธุ์กลุ่มหลักในเมืองยองนั้นเป็นคนไทลื้อ

“เมืองเชียงแสน” จึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะเขตพื้นที่อำเภอเชียงแสนในยุคปัจจุบันเพียงเท่านั้น หากยังมีความหมายรวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงทั้งในเขตอำเภอแม่จันและอำเภอแม่สายในปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นการไล่เรียงเรื่องราวของชาวเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนให้พลัดที่นาคาที่อยู่ก็ยังคงมีเรื่องระหว่างบรรทัดให้ผู้ศึกษาเอกสารหรือค้นคว้าหาข้อมูลเฉพาะถิ่นพอที่จะทราบได้ว่า พื้นที่ของเมืองเชียงแสนนั้นครอบคลุมอาณาบริเวณที่มีขนาดใหญ่โตทั้งกองทัพล้านนาและกองทัพสยามจะต้องใช้ปริมาณกองกำลังขนาดเท่าใดกันที่จะ “กวาดต้อนผู้คนให้หมดไปจากเมืองเชียงแสน” อันเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ ซึ่งปรากฏว่ามีเรื่องเล่าของผู้คนในพื้นที่อำเภอแม่จันบางส่วนที่อยู่ตามหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง (เวียงเชียงแสน) ได้กล่าวถึงการ “หนีเศิก” (หนีข้าศึก) ขนเอาพระพุทธรูปและของมีค่าไปซ้อนไว้ตามป่าเขาเป็นจำนวนมากซึ่งภายหลักหมดสิ้นกลิ่นไอของสงครามและมีการฟื้นฟูเมืองเชียงแสน (อ.เชียงแสน อ.แม่จัน จ.เชียงราย) อีกครั้งใน พ.ศ.2423 นำโดยมีพระยาราชเดชดำรง (เจ้าน้อยอินทวิไชย ต้นสกุล “เชื้อเจ็ดตน”) ราชบุตรพระเจ้าบุญมาเมือง (เจ้าศรีบุญมา) พระเจ้านครลำพูน องค์ที่ 2 ซึ่งได้เข้ามาเป็นเจ้าเมืองเชียงแสนองค์แรกขึ้นกับเมืองนครเชียงใหม่ซึ่งในการฟื้นฟูบ้านเมืองครั้งดังกล่าวก็ได้มีผู้คนเชื้อสายชาวไทลื้อจากเมืองยอง ชาวไทยวนและไทลื้อเชียงแสนดั้งเดิมบางส่วนที่อยู่ในเมืองนครลำพูน ได้กลับขึ้นไปฟื้นฟูเมืองเชียงแสนอีกครั้ง ตลอดจนพบว่ามีเชื้อสายของเจ้าฟ้าเชียงแสนที่ยังคงเหลือตกค้างได้เสกสมรสกับเจ้านายเชื้อสาย “เชื้อเจ็ดตน” เช่น เจ้าคำตั๋น ซึ่งสืบเชื้อสายเจ้าฟ้าเชียงแสน สมรสกับเจ้าหญิงสุคำ ธิดาพระยา ราชวงศ์ (เจ้าน้อยสุขะ) เมืองเชียงแสน พระนัดดาพระยาราชเดชดำรง (เจ้าน้อยอินทวิไชย ต้นสกุล “เชื้อเจ็ดตน”) ราชปนัดดาพระเจ้าบุญมาเมือง (เจ้าศรีบุญมา) พระเจ้านครลำพูนองค์ที่ 2 เจ้าคำตั๋นกับเจ้าหญิงสุคำ ได้มีบุตรธิดามีสืบมาอยู่เมืองเชียงแสน 4 คน คือ เจ้าดวงดี เจ้าบัวหลวง เจ้าคำจี๋น และเจ้าคำจันทร์ นอกจากนี้ยังมีเจ้านายเชียงแสนที่บ้านปงสนุก เมืองนครลำปางบางส่วนก็กลับคืนขึ้นไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงแสน เช่น เจ้าเขื่อนแก้ว บุตรชายองค์โตของพญาปราบทวีปเยาวธานี (เจ้าปราบทวีป) เชื้อสายเจ้าฟ้าเชียงแสน บ้านปงสนุก ก็ได้กลับคืนไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงแสนอีกครั้ง

ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างคนเชียงแสนย้ายถิ่นไปอยู่เมืองลำปางและโยกย้ายกลับมาฟื้นฟูเมืองเชียงแสนนั้นสามารถสอบสวนฟื้นฟูได้ไม่ยากซึ่งทำได้ผ่านการใช้มุมมองทางคติชนวิทยาในการศึกษาสาแหรกและลำดับผีเจ้านายหรือเจ้าทรงตลอดจนผีมดผีเม็งในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในแวดวงเจ้าทรงหรือคนฟ้อนผีแถวเชียงแสนว่าผีเชียงแสนในเขตพื้นที่ของเวียงเก่าส่วนใหญ่ล้วนอพยพมาจากเมืองลำปางแทบทั้งสิ้นโดยเฉพาะจากบ้านปงสนุก เขตอำเภอเมืองลำปาง พื้นที่ความรู้ทางคติชนวิทยาจึงเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจในการทำความเข้าใจสาแหรกและสายผีอย่างเช่นร่างทรงเจ้าฟ้าเชียงแสนร่างทรงเจ้าฟ้าเชียงรายหรือผีเจ้านายบรรพชนในพื้นที่ตลอดจนความเชื่อที่แฝงไว้ในพิธีปฏิบัติของคนไม่กี่ร้อยปีที่สืบทอดรักษาและส่งต่อกันมาได้อย่างหนาแน่น

สิ่งที่นำเรียนและเขียนขึ้นมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนต้องการเขียนว่าผู้คนหรือกลุ่มคนซึ่งคนที่อาศัยในเมืองเชียงแสน จึงมีทั้งคนไทลื้อจากเมืองยอง ชาวไทยวนและไทลื้อเชียงแสนดั้งเดิม ตลอดจนผู้คนในชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยเส้นทางกันต่อค้าขายผ่านแม่น้ำโขงเป็นจุดเชื่อมโยงหรือสถานีการค้าและการเดินทาง เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และผู้คนต่างถิ่นฐานซึ่งได้เดินทางมาปะทะประสานพบเจอกัน ตลอดจนผู้คนที่ถูกกว่ากวาดต้อนเทครัวให้อพยพโยกย้ายอันมีสาเหตุมาจากไฟแห่งสงครามให้ผู้คนเหล่านี้ได้ไกลมาเป็นพลเมืองเชียงแสนในรอบหลายๆทศวรรษก่อนหน้านั้น ด้วยเหตุนี้ลมหายใจอันเป็นอุปลักษณ์ของเจดีย์ยางสีดำเป่าลม ณ โบราณสถานหมายเลข 16 อำเภอเชียงแสนนั้นก็คงไม่ได้มีแค่ลมหายใจของคนชาติพันธ์ไทยวนชาติพันธุ์เดียวอย่างแน่นอน พูดเขียนไม่ใช่ปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้เดินทางไปจากเมืองเชียงแสน (แต่ข้อมูลจากปัญหาประวัติศาสตร์ก็ยังอุตส่าห์ระบุให้เห็นช่องโหว่ของข้อสรุปที่ว่านี้ว่าซึ่งก็มีผู้คนชาติพันธุ์อื่นซึ่งมาจากทิศทางอื่น ๆ อพยพเข้าไปผสมโรงอาศัยอยู่ร่วมกับคนพลัดถิ่นจากเชียงแสนด้วยเช่นกัน) มากไปกว่านั้น ผู้เขียนกลับไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่า “คนไทยวนพลัดถิ่น” ทั้งหลายจะมีการส่งต่อจิตสำนึกทั้งชาติพันธุ์ (ที่ก็เพิ่งประกอบสร้างขึ้นมา) ในแบบเดียวกันกับ “คนเมือง” ซึ่งอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินล้านนาในปัจจุบันอย่างอย่างแน่นอน 

เรื่องเล่าและความทรงจำทางสังคมของคนไทยวนพลัดถิ่นมีผลนำไปสู่ “การนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง (History From Below) เพื่อมุ่งสร้างคำอธิบายทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ ๆ เพื่อให้ที่ทางแก่สามัญชน แต่ผู้เขียนอยากใคร่ขอเสนอเพิ่มเติมอีกด้วยว่า เราก็ควรรัดกุมต่อการนำเสนอให้เห็นพลวัตของการเปลี่ยนแปรสำนึกทางประวัติศาสตร์ของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายด้วยเช่นเดียวกัน ความแตกต่างหลากหลายอันมีลักษณะเป็นพหุนิยมทางวัฒนธรรมในหมู่ผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ภายใต้บริบทหรือมิติของเวลาที่เปลี่ยนแปลงในสถานที่แห่งใหม่นั้น คือหนทางที่จะนำไปสู่การไกล่เกลี่ยความไม่ลงตัวของประวัติศาสตร์ ความบาดหมางแห่งอดีต และการไม่หลงตัวหลงตนหรือยึดติดความเป็นชาติพันธ์นิยม ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างจึงควรถูกสร้างผ่านเรื่องเล่าอย่างหลากหลาย ส่งผลให้ความหมายของประวัติศาสตร์ไม่มี หมุดหมายที่แน่ชัด มีความเลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา พร้อมที่จะเปลี่ยนแปรภายใต้เงื่อนไขใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ต่อไป ไม่มีใครครอบงำผู้คนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยหลักการที่ว่ามานี้เป็นกรอบคิดสำคัญอันจะนำมาซึ่งความสนใจที่มีต่อ “ประดิษฐกรรมไทยวนคืนถิ่น” ซึ่งมุมมองทางวิชาการสำหรับผู้เขียนแล้ว กลับกลายเป็นประเด็นที่ว่าสภาวะความโหยหาอดีต (Nostalgia) ของความเป็นไทยวนเกิดขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขและปัจจัยอะไร อดีตของประวัติศาสตร์การบังคับย้ายถิ่นอย่างรุนแรงนั้นมันสร้างความน่าโหยหาได้อย่างไร ความอิเหลืออิเหลื่อของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในการอยากจะกลับไปเป็นไทยวนที่ว่านี้อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่สมบูรณ์ หรือถูกมองข้ามเรื่องบางเรื่อง ประเด็นต่างประเด็นไปอย่างน่าเสียดาย กลับกลายเป็นว่ากระบวนการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยวนในหลายๆพื้นที่ตามประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสไปพบเจอมานั้นคือการหยิบจับเอา “ประดิษฐกรรมความเป็นล้านนา” (ที่ก็เพิ่งได้รับการประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลาไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมานี้) อย่างเช่น การจัดงานเลี้ยงขันโตก ศิลปะการฟ้อนรำ หรือดนตรีพื้นเมืองล้านนา การแต่งหน้าแต่งตัวและเสื้อผ้าหน้าผม เป็นต้น

ความจริงงานเขียนชิ้นนี้มีประเด็นที่น่าสนใจและควรสร้างบทสนทนากันต่อไป หากได้ข้อมูลที่เพียงพอจากก็คือ เรื่องราวการกลับมาฟื้นฟูบ้านเมืองใน “เชียงแสนหลวง” ตลอดจนการสานสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานของผู้คนเชื้อสายตระกูลเจ้าฟ้าเชียงแสนที่เคยถูกกว่าต้อนไปอยู่ลำปางก่อนหน้าแล้วกลับมาแต่งงานกับผู้คนเชื้อสายตระกูลเชื้อเจ็ดตน แล้วมีลูกมีหลานแพร่กระจายในพื้นที่แถบตำบลจันจว้า จนกลายเป็นเรื่องเล่าส่วนขยายถึงที่มาของต้นนามสกุลของผู้คนในพื้นที่โหล่งแม่จัน บ้านด้าย เชียงแสนและผู้คนในละแวกใกล้เคียง ขณะเดียวกัน ความน่าสนใจที่มีต่อเครือข่ายความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่ได้มุ่งที่จัดวางการศึกษาเรื่องราวของพวกเขาในฐานะประวัติศาสตร์เชื้อสายเจ้านายโบราณเท่านั้น หากแต่สถานะทางสังคมและอำนาจของพวกเขาเข้าใจถูกเกลี่ยมาผสมปนเปกับคนยองอพยพจากจังหวัดลำพูนซึ่งเข้ามาอาศัยในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่สมัยเจ้าอินทวิไชย (เจ้าน้อยอินต๊ะ) บุตรของพระเจ้าบุญมาเมือง เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2ที่ได้ขึ้นมาฟื้นฟูเชียงแสนตั้งแต่ช่วงก่อนพุทธทศวรรษ 2370 แล้วด้วยซ้ำไป บทความนี้จึงทำหน้าที่เพียงเน้นย้ำให้เห็นถึงอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งน่าจะมีการหยิบเอาประเด็นเหล่านี้มาพูดถึงต่างหาก นั่นจึงจะเป็นการเพิ่มเติมเสริมบทบาทสำหรับการต่อลมหายใจให้กับประวัติศาสตร์เชียงแสนให้เกิดขึ้นในฐานะประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาสามัญชน เป็นประวัติศาสตร์ที่รุ่มรวยไปด้วยความหลากหลายของผู้คนหลากชาติพันธ์ ไม่ใช่เรื่องราวเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือชาติพันธ์ใดหรือชาติพันธุ์หนึ่ง เป็นแกนกลางในถ่ายทอดหรือผูกขาดการบอกเล่าเรื่องราวแห่งอดีต

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง