เรามีโอกาสได้กลับไป Inchala ร้านชากลางป่า ตั้งอยู่ไม่ไกลจากในเมือง ที่มีบรรยากาศรายล้อมไปด้วยต้นไผ่และเสียงนกร้อง ทั้งยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อจิตวิญญาณของผู้คนในเชียงใหม่ที่รักในเสียงดนตรี ศิลปะ และงานคราฟต์ บ่อยคร้ังที่พื้นที่แห่งนี้ทำให้เราได้เจอกับเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ หรือนักเดินทางไกล หากมองเข้าไปในหลังบาร์ก็จะพบกับ ซามี่ย์ (ซามี่ย์ หนุนอนันต์) ที่คอยต้อนรับ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ และเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นท่ีแห่งนี้ นอกจากซามี่ย์ก็ยังมี พี่บิ๊ก (อนุพงษ์ สุริยฉาย) Partner คนปัจจุบัน ที่คอยช่วยดูแลสวน ตกแต่งพื้นที่ให้สมบูรณ์ นอกจากจะเป็นพื้นที่พบปะแล้ว ยังมีอาหารวีแกนที่เรามักจะชอบสั่ง อย่าง โรตีแกง, ข้าวผัดเต้าหู้ทอดและชา Blue Lotus ให้ได้อิ่มท้องกันสบาย ๆ
Lanner Joy อยากชวนทุกท่านเดินทางไปพบ ”ซามี่ย์” เบื้องลึกเบื้องหลัง
หนุ่มฮิปปี้ยิ้มหวานคนนี้ เมื่อครั้งยังอาศัยอยู่ที่จังหวัดสงขลา อำเภอหาดใหญ่ กับการเป็นเด็กแนวที่หลงไหลในวัฒนธรรม Underground / Subculture ไม่ว่าจะดนตรี ฮิปฮอปไปจนถึงศิลปะแบบ Graffiti เมื่อซามี่ย์ตัดสินใจเข้าเมืองหลวง จึงได้ก้าวเข้าสู่โลกช่างถ่ายภาพเบื้องหลังภาพยนตร์ จนไปพบกับจุดหักเหของชีวิตที่คิดจะย้ายมาอยู่เชียงใหม่และแรงบันดาลใจที่หลอมรวมให้เกิด Inchala
ชีวิตและการเติบโตของซามี่ย์
“เราเป็นเด็กสงขลา อําเภอหาดใหญ่ แล้วก็โตในโรงเรียนชายล้วน ชื่อว่าแสงทองวิทยา เรียนมาจนม.6 ที่บ้านก็เจอกับปัญหาเศรษฐกิจ ธุรกิจที่บ้านก็ล้มลง ครอบครัวก็แยกย้าย ตัวเราก็เลยวิ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ คือก็ฝันอยากเข้ามากรุงเทพฯ อยู่แล้วด้วยแหละตั้งแต่อยู่หาดใหญ่ เนื่องจากมันเป็นเมืองต่างจังหวัดเนอะ มันเลยเป็นแบบคัลเจอร์ที่มันตามหลังเมืองหลวงมาตลอด”
“เราอยากรู้อะไรก็คือเพื่อนที่อยู่สยามรู้ก่อน เพลงต่าง ๆ ก็คือเด็กสยามรู้ก่อน อยู่ในอําเภอหาดใหญ่ก็พยายามที่จะอยู่กับ Subculture มาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นมีชื่อแก๊งชื่อ 90110 แทนรหัสไปรษณีย์ของหาดใหญ่ แล้วเราก็อยู่ใน Element เป็นแก๊งฮิปฮอปในยุคนั้น”
ภาพโดย Got.surreal / Facebook Page: Inchala
“ยุค 90s มันก็เป็นอัลเทอร์เนทีฟกับเป็นพวกฮิปฮอปที่ทำคลับบาร์ยุคแรก ๆ ก็เที่ยวไปมากับรุ่นพี่ แล้วก็จะมีรุ่นพี่จากกรุงเทพฯคอยหิ้วนู่นหิ้วนี่มา หิ้วแผ่นเสียง หิ้วหนังสือ วาดกราฟฟิตี้ หิ้วเทป สเก็ตบอร์ดอะไรเงี้ย ตั้งแต่เด็กก็เลยรู้สึกว่าแบบเออเหมือนอยากจะเข้าไปในศูนย์กลางว่ะ อยากจะเข้าไปในกรุงเทพฯ ให้มันแบบเป็นเด็กทันสมัย ไปอยู่สยามอะไรแบบนี้”
นอกจากการเข้าไปกรุงเทพฯ เพื่อเข้าถึงซีนเด็กแนวยุคนั้น ได้วางแผนอะไรไว้บ้างถึงชีวิตในเมืองใหญ่
“อยากจะเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาล ที่อยู่ใน 5 อันดับต้น ก็เลยไปเข้าเรียนเกษตรคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ เลือกคณะที่พยายามประนีประนอมกับตัวเองนะ เพราะว่ามันไม่กล้าคิด แต่จริง ๆ อยากเข้าเรียนศิลปากร อยากเรียน Decorative Arts”
“เราอยู่ในจังหวะที่กังวลเรื่องครอบครัว เลยเรียนอะไรที่มันเซฟดีกว่า ระหว่างที่เรียนก็ทํางานไปด้วย ตอนแรกก็ทํางานพาร์ทไทม์ร้านอาหารทั่วไป เพราะว่าเราโตมาในครอบครัวที่ทําธุรกิจร้านอาหารตอนอยู่หาดใหญ่ แม่ทำร้านอาหารชื่อ ‘ซามี่ย์ คิทเช่นท์’ เป็นภัตตาคารเจ้าใหญ่ เป็นร้านมุสลิมที่สากลนะ ไม่ได้แบบว่าเอ้ย! ร้านแขกอะไรงี้ เหมือนเป็นร้านอาหารครอบครัวที่คนเข้าถึงได้”
ย้ายไปแล้วเป็นไงบ้าง ได้ตามที่หวังไว้มั้ย?
“พอถึงวันนึงมันเป็นการต้องหาเงินเพื่อที่จะจ่ายค่าเทอม จ่ายค่ากิน ในความคิดเด็ก ๆ ตรงนั้นมันก็เลยพยายามเริ่มดิ้นรน เราต้องหางานพาร์ทไทม์ทํา แล้วพอทําทําไปได้ถึงจุดนึง ก็มีโอกาสได้ผ่อนกล้องกล้องถ่ายรูป ยุคสมัยนั้นอินสตาแกรมมันยังกรอบแบบสี่เหลี่ยมจตุรัสอยู่อ่ะนะ ถ่ายรูปใน Instagram ก็ชอบติดแฮชแท็กไปโผล่ใน a day มั่ง ไปโผล่ที่อื่นมั่ง”
“จนรุ่นพี่เห็นก็ชอบ เลยให้กล้องฟิล์มมาตัวนึง ก็ฝึกวัดแสงกับกล้องฟิล์มตัวนั้น ทํางานได้ชั่วโมงละ 35-40 บาท ไปถ่ายงานวันนึง สมัยแรก ๆ นั้นรุ่นพี่ให้คิวนึง 1,500 – 2,000 เราก็รู้สึก เฮ้ย โอเค ๆ ทำพาร์ทไทม์ไปด้วย ฝึกถ่ายรูปไปด้วย พอเริ่มผ่อนกล้องได้ เริ่มมีสกิลจับกล้องปั๊บ ก็เริ่มมีคนมาให้ถ่ายนู่นถ่ายนี่ ก็เริ่มเฟดตัวเองจากงานบริการ มาเป็นงานถ่ายนิตยสาร ถ่ายให้ Bioscope Magazine ถ่ายให้พวกเบื้องหลังหนัง”
พอได้จับกล้องถ่ายรูปจริงจัง ก็ได้เข้าไปอยู่ในสังคมการทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์ ตอนนั้นเป็นยังไง?
“ตอนนั้นเช่าบ้านอยู่กับรุ่นพี่ที่เรียนปรัชญาชื่อพี่เคน เขาเพิ่งกลับมาจากอินเดีย พอเข้ามหาลัยเราก็ชอบไปคบกับรุ่นพี่แก่กว่ารุ่นตัวเอง คบกับคนที่หมกมุ่นในอะไรที่มันเฉพาะทาง ชอบในปรัชญา ชอบหนัง พี่เขาเป็นคนที่ดูหนังเก่งแล้วก็แนะนำเราเข้าสู่หนังแนว French New Wave จากที่เคยดูแต่หนังคลาสสิค เคยดูแต่ Tom Hanks จนวันหนึ่งก็แบบว่า เฮ้ย มีหนังแบบ Jean-Luc Godard เราก็เลยซึมวัฒนธรรมจากอะไรตรงนั้นมา”
“ก็รู้สึกว่า เออ ตัวเองเป็นช่างภาพทํางานอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ ทํางานให้กับนิตยสารภาพยนตร์แล้วก็เริ่มไต่เป็นถ่ายให้โปรโมเตอร์วงอินดี้ต่างประเทศกับ HAVE YOU HEARD? ตอนนั้นก็รันด้วยพี่แป๋ง Yellow Fang กับพี่กิ กิรตรา อดีตนักร้องวง Niece ในค่ายเพลง Dojo City ที่อยู่เครือ Bakery Music เราก็เป็นอย่างนี้ รู้สึกว่าเราโดนดึงดูดด้วยอะไรแบบนี้ หา ๆ เขยิบเข้าไปเรื่อย ๆ”
ทั้งเรียน ทั้งทำงาน ใช้ชีวิตมาตั้ง 9 ปี ในกรุงเทพ
อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ไปต่อไม่ได้?
“พอทํามาจนถึงจุดนึงก็เริ่มเข้าไปอยู่ในซีนอะไรต่าง ๆ มันก็จะเริ่มรู้สึกพบกับความว่างเปล่าภายในนั้น เพราะว่าสังคมกรุงเทพฯถ้าอย่างว่า เออมันแนวก็จริงอ่ะ แต่ว่ามันเป็นสังคมเน้นเอาแต่ภายนอก”
“จากความที่เราพยายามจะทิ้งคราบความเป็นเด็กต่างจังหวัด เพื่อเป็นเด็กกรุงเทพฯอยู่ในซีน แต่ทุกวันที่โหนรถเมล์กลับมาจากที่ทํางาน หรือว่ากลับมาจากการไปแฮงค์เอาท์กับกลุ่มสังคมย่อยพวกนั้น เราเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย มันว่างเปล่าอ่ะ แม่งเป็นที่ที่แบบถ้าพูดง่าย ๆ คือเป็นที่ตอแหล ที่มาเดินแอคใส่กัน แล้วมันยังไงต่อวะ ทำงานทั้งหน้ากล้องหลังกล้อง แล้วยังไงต่อ ตังค์ก็มีใช้ แต่ทำไมความรู้สึกมันหดหู่ลง”
ภาพโดย Got.surreal / Facebook Inchala
“งั้นหาเรื่องย้ายออกจากกรุงเทพฯดีกว่า เพราะเมืองนี้แม่งเริ่มทําให้เราหดหู่เข้าไปเรื่อย ๆ หรือถ้าพูดในอีกทางหนึ่งคือ เมืองอาจจะไม่ได้ทําให้เราหดหู่แต่เราอาจจะอ่อนแอหรือว่ากําลังมองหาสิ่งที่มันใช่กับเรามากกว่านี้ ที่มันตอบไม่ใช่แค่ตอบอีโก้เรา แต่ตอบอะไรที่เป็นความรู้สึกภายในของการที่เราเติบโตมา”
“เรานั่งรถมาเชียงใหม่คนเดียว ชอบเชียงใหม่มากตอนนั้น ยังเป็นยุคที่แบบมาเชียงใหม่ต้องกินไข่เจียวดาว หม่าล่า แบบสตรองมาก เออแต่ตอนนี้เส้นมันเบลอเร็วมากอ่ะถ้าเทียบกับตอนนั้น เรายังรู้สึกว่าเจียวดาวนี้มันน่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์อยู่ได้นาน แต่มันหายไปเร็วมาก ไม่มีใครสนใจจะกินเจียวดาวแล้ว”
“ตอนน้ันพี่ที่พูดคุยกันอยู่ตลอดสมัยทํางาน HAVE YOU HEARD? ก็คือพี่ทราย กรมิษฐ์ วัชรเสถียร ที่เล่นหนังเรื่อง 36 พี่ทรายก็พูดว่าเค้าเห็นเราในซีนเด็กแนว เราดูแปลก ๆ หลุดมาอยู่ในซีนอินดี้แบบนี้ เราว่าซามี่ย์น่าจะชอบเชียงใหม่ เออถ้าซามี่ย์มีโอกาสไปเชียงใหม่ไปงานนี้ดิ Shambhala ก็เลยนั่นแหละ ขึ้นมายื่นพอร์ตตอนนั้นก็คือยังไม่ชัดมากขนาดนั้นว่าเอ้ย ต้องย้ายมาเชียงใหม่”
“จากเหตุการณ์วันนั้นน่ะ ไข่เจียวดาว มช. Shambhala แล้วก็นั่งรถสมบัติทัวร์กลับ เข้าโซนดอนเมืองก็สะดุ้งตื่นรู้สึกได้ประจำเวลาหลับในรถจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ จะไปตื่นแถวรังสิตตลอดเลย ตื่นด้วยคลื่นอะไรก็ไม่รู้ พอรู้สึกตัวปุ๊ป คือใช่คลื่นนี้แหละ ถึงกรุงเทพฯและ ตื่นมาก็แบบร้องไห้กับตัวเองอะ แบบเชี่ย อยู่ไม่ได้แล้วว่ะกรุงเทพฯ ต้องมาเชียงใหม่ นั่นก็เลยเป็นจุดที่ต้องมาเชียงใหม่ ก็เลยปั้นพอร์ตขึ้นมาเอางานที่เคยถ่ายไว้เคยอะไรทํา Personal Project ก็ปั้นรวมเป็นเล่มนึงแล้วก็มายื่น วิจิตรศิลป์ ป.โท.“
อยู่เชียงใหม่แล้วซึมซับวัฒนธรรมจากอะไรบ้าง พาตัวเองไปอยู่ตรงไหน?
“ตอนมาเชียงใหม่ปีแรกก็เรียนมช. ขายชา แล้วก็ออกงาน Festival ไปงาน Jaithep Festival เพราะว่ามันตอบเราทั้งสองอย่างไง คือเราอยากจะเข้าใจซีนอาร์ตด้วย แล้วเราก็อยากเข้าใจซีนฮิปปี้ด้วย ก่อนหน้านั้นก็ไปต่างประเทศบ้าง แต่พอโควิดมาทุกอย่างก็หยุด เรามีเพื่อนฮิปปี้ที่เราแฮงค์เอาท์ เป็นนักเดินทางที่มาติดอยู่ด้วยกันช่วงโควิด ช่วงนั้นก็ได้ฝึกวิชาไปเรื่อย ๆ”
“จากนั้นไม่นานคดีความปัญหาครอบครัวก็วนกลับมา ในตอนนั้นความฝันก็คือการอยากเป็นศิลปิน ชีวิตอยู่ในจุดที่ความเป็นจริงก็คือครอบครัว ตอนนั้นมันเหมือนหมดความใคร่รู้ รู้สึกหลุดจากกระแสโลกปกติ เหมือนเดินทางที่ไม่มีทาง แล้วก็ปรึกษาอาจารย์อารยา ราษฎร์จำเริญสุข อาจารย์ก็บอกว่า ไม่ว่าหนูจะเดินทางยังไง ก็ขอให้หนูเจริญสุข (น้ำเสียงนิ่ง ๆ)”
“ไปฝึกงานอยู่กับอาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี ก็ถามอาจารย์ว่าการก้าวข้ามนี้มันหมายถึงอะไร อาจารย์ชอบใช้คำว่าก้าวข้ามบ่อย อาจารย์ก็บอกว่าง่าย ๆ เลยมันก็คืออะไรที่มันขวางเราอยู่ ขวางจิต ขวางใจ ขวางทิศ ขวางทาง อะไรที่มันขวางเราอยู่ เราก็ทําทุกอย่างที่เป็นกุศโลบายในการก้าวข้ามมันไป เราติดอยู่กับปัญหาเรื่องนี้เราก็ต้องก้าวข้ามเรื่องนี้ไป เหมือนอาจารย์เชื่อเรื่องประชาธิปไตย อาจารย์อยากจะก้าวข้ามสิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างเผด็จการ ก็ต้องทําอะไรที่ “คิดว่า” นึกออกมั้ย ต่อให้มันจะไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาโดยตรง มันก็ต้องทําสิ่งที่ ”คิดว่า” มันจะเป็นการก้าวข้ามไปได้”
ภาพโดย Got.surreal / Facebook Inchala
บทเรียนที่ติดตัวมาจากการทดลองหลาย ๆ สิ่ง ทั้งการเรียนต่อ การเข้าสังคมศิลปะ เทศกาลฮิปปี้ และความอยากรู้อยากเห็น
“อาจารย์ของทั้งสองคนที่เรานับถือเค้าก็ดูจะให้ให้เคล็ดลับว่าทุกคนมันตามหาบางสิ่ง แล้วในทุกเส้นทางที่เดินทางตามหาอยู่ มันมีสิ่งที่ต้องก้าวข้าม ไม่ว่าจะในแง่ Physical หรือว่าในแง่นามธรรม หรือเป็นเชิงความคิด เราเดินทางผ่านสิ่งเหล่านี้ เราเจอสิ่งที่มันขัดขวางกั้น เราก็ต้องก้าวข้ามมัน เราอยากรู้อยากเห็น มาจนถึงจุดที่เราได้รู้ได้เห็นแล้ว แต่เรายังรู้สึกติด เราติดกับอะไร? อ๋อ เราติดกับอัตตาตัวตนเราป่ะวะ เราติดว่ากูอยู่ซีนนี้ กูต้องเป็นคาแรคเตอร์อย่างงี้ กูอยู่ซีนนั้น กูต้องเป็นอย่างงั้น ต้องเล่นบทเป็นแฟนที่ดี มันเป็นที่เขาเรียกกันแบบคลาสสิค ๆ แบบ Existential Crisis”
“ไม่ใช่เพียงแค่ว่าฮิปปี้หรือไม่ใช่เพียงแค่ว่าเป็นศิลปิน Fine Arts น้อยนิ่งงามอยู่ใน White Cube Gallery เราอยากเป็นคนที่มีชีวิต ที่ได้ใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านี้ แต่เราติดกับสิ่งนี้ งั้นก็เลยตัดสินใจลองไปเข้าวัดดู แล้วพอสึกออกมาก็รู้สึกว่า โอเค ไม่ว่าจะเป็นอะไร อิสระคือการมีอิสระในการเลือกรับความรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าวัน ๆ ไม่ทําอะไร พอออกมาจากตรงนั้นก็คือดรอปเรียนป.โท รู้สึกว่าถ้าได้ป.โทมา เราก็ต้องติดกับความว่า กูเรียนจบศิลปะป.โทมา กูต้องเป็นศิลปิน ถ้าไม่เป็นศิลปินกูจะตายให้ได้เลย หรือว่าอะไรเงี้ย มันคงไม่ใช่อย่างงั้นมั้ง”
ชีวิตที่สุกงอม สู่การสร้างพื้นที่ Inchala
“ตั้งแต่เด็กจนโตเราหาพื้นที่อยู่นี่หว่า แล้วตอนนี้โลกมันหยุดหมุนอะ มันเดินทางไม่ได้ มันก็ต้องมีที่อยู่ เพื่อนมาติดอยู่บ้านเราในช่วงโควิด มันก็เลยกลายเป็นว่า เราอยากสร้างสเปซขึ้นมาให้ได้ใช้ชีวิตอย่างตอบกับรูปรสกลิ่นเสียงที่เรายังปรุงแต่งกับมันอยู่ ยังสนุกกับการใช้ชีวิตอยู่”
“แล้วก็ให้มันได้อยู่ในความถี่ที่มันใกล้เคียงกับการอยู่วัด ก็คือสิ่งที่ใกล้เคียงกับวัดก็คือที่ ๆ มันเป็นธรรมชาติแหละ แต่เพียงวัดจริง ๆ มีกฎเกณฑ์แบบพระ แต่สิ่งที่ทําไปเพื่ออะไรแล้วมันตอบสนองยังไง อันนี้เป็นระบบธรรมชาติเราก็เลยรู้สึกว่าโอเคเราไม่ได้เป็นพระเราสึกออกมาแต่เราอยากให้องค์ประกอบเหล่าเนี้ยทั้งหมดมันเกิดขึ้นในที่ที่หนึ่งได้”
หาที่ตรงนี้เจอได้ยังไง?
“ตอนนั้นบ้านอยู่แถวศาลากลาง เราเลยพิมพ์แผนที่ Google Maps ออกมาแล้วก็เอาวงเวียนมาปักที่บ้าน ลากเป็นวงกลมเพื่อดูว่าระยะเดินทางภายใน 10 นาที มันครอบคลุมที่ไหนบ้าง แล้วก็ขับตามซอกตามซอยจนทั่ว เราแค่นึกถึงสถานที่ที่เราจะต้องออกจากบ้านเพื่อไปทุกวัน ก็เลยคํานวณง่าย ๆ เอาแบบนั้นน่ะ”
“มาเจอตรงนี้ ทีแรกมันเป็นที่ร้าง ที่ทิ้งขยะเลย ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการปรับพื้นที่ให้มันเป็นที่ที่มันใช้งานได้จริงอ่ะครับ พูดจริง ๆ ว่าเราไม่ได้คิดอะไรอย่างนี้เลย ไม่ได้คิดเป็นในแง่ Marketing Strategy เลย มันเป็นจุดที่ถ้าพูดในเชิงธุรกิจแล้วเป็นจุดที่พลาดนะ พอร้านดำเนินมา 3 ปีกว่า ที่เราต้องเหนื่อยอยู่เพราะไม่ได้คิดให้มันเป็นธุรกิจมาตั้งแต่แรก”
ภาพจาก Facebook Inchala
ด้วยความที่ Inchala เป็นร้านที่มีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้าง Niche มาก มีวิธีบริหารจัดการร้านยังไง ?
“เชียงใหม่มีธรรมชาติของมันอย่างนึง คือคนเชียงใหม่ทำอะไรด้วยความคุ้นเคย เพราะเราอยู่เชียงใหม่เองก็เป็นแบบเดิม ๆ กินข้าวร้านเดิม แฮงค์เอาท์ร้านเดิม ไม่ค่อยเปิดใจไปร้านใหม่ ๆ ถ้าเพื่อนไม่แนะนำก็จะไม่ค่อยเชื่อรีวิว นั่นก็เป็นเหตุที่ว่าทําไมเวลาอยากจะไปไหนก็เลยต้องถามเพื่อนหรือคนรู้จัก”
“ด้วยความออแกนิคอย่างอย่างนี้ ที่ให้เพื่อนแนะนำปากต่อปาก มันมีองค์ประกอบอะไรมั่ง ราคาไม่แพง นั่งสบาย แล้วก็ที่พบปะ พูดคุย เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าจะเชื้อเชิญให้คนมาที่นี่ ก็เป็นวิธีเดียวกับที่ใครเชื้อเชิญให้เราออกไปนั่นแหละ ถ้าเรารู้สึกสบายใจอยู่กับที่ไหนได้นาน ที่นั่นก็คือมีเจ้าบ้านต้อนรับ ได้รู้จักกับเจ้าบ้าน ได้รู้จักพี่ชวด [สุดสะแนน] ได้รู้จักคนนู้นคนนี้ และเค้าอยู่เฝ้าที่เอง”
ภาพโดย Got.surreal / Facebook Page: Inchala
“คือทำอะไรที่เป็น Sub Culture เป็น Niche เราก็ต้องเรียนรู้ Case Study จากคนที่ทำ Sub Culture หรือ Niche เหมือนกัน ความเข้าใจมันเกิดขึ้นตอนที่โยนหินถามทางไป พอก้อนไหนมันเวิร์ค มันก็ทําให้ อ้ออออ”
คิดว่า Inchala เป็นพื้นที่แบบไหนได้อีก?
นอกจากซามี่ย์เรายังหันไปถามพี่บิ๊ก Partner ที่ช่วยดูแลร้าน ณ ปัจจุบัน
บิ๊ก: “เป็นที่ให้คนได้ปล่อยความรู้สึก ไม่มากก็น้อย ในมุมของธุรกิจก็คือเราค้าขายเนอะ แต่ผมมองเป็นเป็นวิถีชีวิตหนึ่ง ไม่ได้มองในเชิงธุรกิจซะทีเดียวแต่มองเป็นสถานที่ เปิดโอกาสแล้วให้ทุกคนได้มีอิสระ พื้นที่มันตรงนี้เรารู้สึกเราเปิดเผย ที่จะให้ทุกคนได้เป็นภายในของตัวเองจริง กล้าที่จะแสดงออกค้นหาเพื่อนใหม่ หรือสิ่งใหม่ ๆ ที่พอจะแลกเปลี่ยนกันได้”
ซามี่ย์: “ถ้ามันเป็นธุรกิจมันก็จะมีธีมใช่ไหม แต่ของเราไม่ได้มีสิ่งนั้น ใครที่เขามองเห็นอะไรอีกแบบ ชอบความรวดเร็ว หรือกระแสที่มันฉาบฉวย มันก็จะมีที่ที่มันฟังก์ชันกับเขา แต่ในขณะเดียวกัน เราคิดว่ามันต้องมีคนแบบเราอ่ะ เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นจุดเล็ก ๆ ที่ใช้พื้นที่แบบนี้”
ภาพจาก Facebook Inchala
ความเป็นเอกลักษณ์ของ Inchala คือการที่เรารู้สึกว่าเข้ามาแล้วได้พักผ่อน ได้อยู่กับธรรมชาติ
“เราคุยกับพี่บิ๊กว่าถ้าเราไม่เป็นแบบที่เราเป็น เป็นธรรมชาติของเรา เราไม่มีจุดขายแล้วนะ ไม่มีอะไรที่จะต้องให้คนมานั่งทนยุงทนกันตรงนี้ แต่การที่คนเขายังเวียนกลับมา จะเป็นเพศอะไรคือ เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องสร้างโพสต์แฮชแท็ก LGBTQ+ ที่นี่คือมีทุกเพศ มีทุกวัย มีทุกชาติ แล้วนั่งรวมกัน แชร์อาการของมนุษย์ด้วยกันเนี่ยแหละ หรืออยู่ข้างนอกแล้วไม่มีพื้นที่ต้อนรับ แต่ที่นี่มันเป็นพื้นที่เปิด”
ภาพจาก Facebook Inchala
“เหมือนเป็นลานอเนกประสงค์ในการใช้ชีวิต ใครที่อยู่ในกลุ่มสังคมแล้วเหมือนต้องเข้าไป Scene นี้ต้อง Blend in กับที่นั่น ที่นี่คนอาจจะมองว่าดูมันเป็นที่ฮิปปี้ก็จริงแต่ถ้าเข้ามาใช้เวลาคือมันไม่มีแนวเลย”
สิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ
“โครงการล่าสุด อยากสร้างอาคารขึ้นมาข้างนอก อยากจะทําให้มันเป็นเป็นกึ่ง Shop กึ่ง Gallery เพราะผม พี่บิ๊ก น้องกั้ง (เกณิกา พวงเกาะ)
หมี่มี้ (ธนาภาณี วิบูลย์จักร์) หรือว่าทุกคนในทีมงานก็คือมี Personal Project มีความรักส่วนตัวต่อศิลปะ ที่มันไม่สามารถหลอกตัวเองให้ลืมทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปได้ แต่เราเข้าใจข้อจํากัดแล้วในการอยู่มา 3 ปีกว่ากับฟ้ากับฝนกับการเก็บข้าวเก็บของ จะมาแขวนงาน แสดงงาน ในตอนนี้มันไม่ฟังก์ชันในการจะทําอะไรพวกนั้น”
ภาพจาก Facebook Inchala
“เราอยากจะมีที่กันฝน เพราะว่าถ้ามองไปรอบร้าน นอกจากตรงนี้ก็ไม่มีตรงไหนกันฝนแล้ว ต่อให้ตรงนี้กันฝน แต่ก็ไม่กันชื้น ถ้ามี Space มันเกิดขึ้นมา อย่างน้อยคนจะแสดงงานได้ ทำช่องได้ เป็นพื้นที่เล็ก ๆ อยากฉายหนัง มี Listening Session ทำห้อง Exhibition หรือมีห้องสัก ตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างเดินทางไปถึงจุดนั้นอยู่”
“เพราะว่าใจเรามันถวิลหาการทํางานศิลปะ หรือว่าการทําอะไรร่วมกับศิลปะอยู่แล้ว เลยคิดว่าต้องทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่งั้นเราจะวิ่งหนีไปไหนอีกอะ ขณะที่มีอยู่ก็ต้องไปต่อ ให้มันจริงใจที่สุดกับชีวิตที่เราทำอยู่ทุกวัน”
ภาพจาก Facebook Inchala
คิดยังไงกับการมีพื้นที่ Sub Culture ในเชียงใหม่
“พอคนกรุงเทพฯจะเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ แล้วบอกว่าเชียงใหม่แม่งเมือง Sub Culture ว่ะ แต่พอมานั่งมองจากมุมคนทํากันอยู่ด้วยกัน แต่ละคนก็แค่ทำเป็นชีวิต ส่วนคนที่จะตระหนักว่าตัวเองเป็น Sub Culture จริง ๆ มันคือกลุ่มคนศิลปะ ที่มีการพูดคุยกัน ถึงจะตระหนักได้ว่ามันคือ Sub Culture นะเพราะว่ามันเป็นภาษาในการสื่อสาร หรือการ Educate อยู่ในกลุ่มสังคมนั้น เพื่อให้มันเกิดการขับเคลื่อนหมุนเวียน”
“แต่ว่า Sub Culture ที่มันเป็นในเชิงธุรกิจหรือในเชิง Entertainment หรือในการใช้ชีวิตในเชียงใหม่อะ เรารู้สึกว่าเค้าก็แค่พยายามหาที่ปล่อยของของเค้า โดยไม่ได้มานั่งพูดกันด้วยซ้ำว่าพวกเรา Sub Culture ว่ะ เป็นคนที่มองเห็นคุณค่าของมันและพยายามจะช่วยผลักดันมันมากกว่า แต่มันก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เหมือนมี TEMPO.wav ที่บอกว่ามีดนตรีอะไรเกิดขึ้นในเชียงใหม่ หรืออย่าง Lanner เองก็ตาม”
ภาพจาก Facebook Page: Inchala, Deep green Mycelium Festival
“การที่เชียงใหม่มี Sub Culture ก็ยิ่งพิสูจน์ได้ว่า เมืองเชียงใหม่มีค่าครองชีพไม่สูงมาก ในขณะที่กรุงเทพมันอีกแบบนึง มันต้องเล่นกับ Scene เล่นกับกติกา เล่นกับค่านิยม แต่กับเชียงใหม่มันต้องอยู่ด้วยความจริงใจ มันเลยเป็นอะไรที่กรุงเทพไม่กล้าทำ เพราะถ้าจะทำอะไรที่กรุงเทพแล้วมันจะแป๊กไม่ได้ มันต้องปัง การ Contribute และท่าทีของ Connection มันต่างกัน ความต่อเนื่องมันต่างกัน กรุงเทพอยากจะก้าวข้ามรถติด เชียงใหม่ต้องการก้าวข้ามปัญหาฝุ่น ภายใต้การบริหารของรัฐเดียวกัน แต่จะใช้วิธีสำเร็จรูปเหมือนกันไม่ได้“
“เวลาไปดูงานที่กรุงเทพ ฯ ก็รู้สึกเฮ้ยงาน Quality ดีจังแต่ดูงานเสร็จก็อยากจะกลับเชียงใหม่ เพราะว่ารู้สึกว่าจะอยู่อย่างจริงใจแบบนี้ที่กรุงเทพอาจจะทำได้ไม่ง่ายเท่าเชียงใหม่”
ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพในมุมมองของซามี่และพี่บิ๊กเป็นยังไง?
บิ๊ก: “กรุงเทพฯมันเป็นเมืองที่แข่งขันกันหนักกว่า ต่างจังหวัดเหมือนมันต่อสู้อีกแบบหนึ่งอ่ะ ผมว่าวิถีการต่อสู้มันต่างกัน”
ซามี่ย์: “เราต้องตอบว่ากรุงเทพฯเป็นยังไงก่อน เพราะว่ากรุงเทพฯเป็นยังไง ก็จะไม่ใช่ที่ต่างจังหวัดเป็น”
“กรุงเทพฯคือศูนย์กลาง คนเข้าไปกรุงเทพฯก็คือระบบทุนที่รายล้อม เพราะนายทุนส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ การพัฒนาอะไรก็กรุงเทพก่อน แล้วค่อยกระเพื่อมไปข้างนอก ถ้ามันไม่มีคนที่ทํางานแบบไอซ์ ที่เค้าจะเรียกว่าขุดร่องน้ําให้แหล่งน้ำไหลร่องเข้ามาสู่เชียงใหม่ มันก็จะยาก ถ้ามองในเชิงวัฒนธรรมนะ แต่ว่าในเชิงของทรัพยากรและการเลี้ยงดูปากท้อง ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพก็จะได้รับอิทธิพลจากศูนย์กลางตรงนั้นไม่เท่าคนในกรุงเทพฯ”
อยากเห็นเชียงใหม่เป็นแบบไหน ?
“ชอบพูดกับพี่บิ๊กเวลาออกไปหาข้าวกินในเวียงว่า นี่แม่งต้องเป็นภาพจําถ้าใครจะมาถ่ายหนังเชียงใหม่จริง ๆ ต้องเอาซีนทําถนนเข้าไปด้วยอ่ะนึกออกมะ เราคุยกับแฟนแบบดูดิตั้งแต่เราจีบกันจนเป็นแฟนกัน ซีนที่เราเห็นทุกวันคือแม่งทำถนนอะ ถนนคือเป็น Patchwork ไปหมดแล้วอะ”
“นักท่องเที่ยวตอนนั้นมาเชียงใหม่เพราะ Climate Change ยังไม่หนักขนาดนี้อะคนมาเชียงใหม่เพราะอากาศเย็นแต่ทุกวันนี้อากาศเย็นมันน้อยลงมากแล้วอ่ะ เราไม่ได้ไปกระแนะกระแหนที่เขารวยหรอกแต่เรารู้สึกว่า แบบปัญหามันแก้ผิดฝาผิดตัวหมดเลย ตอนนี้อากาศมันอากาศมันแย่แล้ว มันไม่มีอะไรที่ดูสุนทรีย์ให้เดิน รอบคูเมืองก็มีแต่เสียงเจาะถนนอย่างเงี้ย”
ภาพจาก Facebook Inchala
อยากบอกอะไรกับคนที่ยังไม่เคยมา Inchala
นอกจากซามี่ย์กับบิ๊กแล้ว ยังมี กั้ง (เกณิกา พวงเกาะ)
หมี่มี้ (ธนาภาณี วิบูลย์จักร์) ที่คอยอยู่ดูแลช่วยร้านมาโดยตลอด
กั้ง: “ถ้าได้มีโอกาสก็ลองมาสักครั้ง สำหรับกั้งก็อยากให้ลองมาใช้เวลานั่งอ่านหนังสือ ดูคน ดูชีวิต ต้นไม้ อย่างที่เราคุยกันอยู่ก็ยังได้ยินเสียงนกร้อง บางคนก็เค้าหลง บางคนก็เลือกมาที่จะมา ยังไงก็ลองมาได้ค่ะ”
หมี่มี้: “ถ้าพูดในฐานะลูกค้าที่มาก่อนหน้านี้ รู้สึกว่ามันดีมาก ในฐานะที่เป็นคนกรุงเทพ พอได้มาแล้วก็รู้สึกดีใจที่ได้เจอ Community ที่ดี พี่มี่ พี่บิ๊ก และหลาย ๆ คน ต้องได้ลองมาดูก่อนว่าชอบมั้ย บางคนมาก็อาจจะไม่ชอบ หรือมาแล้วชอบมากก็มี อยากให้เปิดใจลองมาที่ร้านดู”
ซามี่ย์: “อย่างนึงที่เราทุกคนด้วยกันในฐานะ Staff คือการที่คนมาโดยที่เหวอ นึกว่ามันคือคาเฟ่คาเฟ่ ทำตัวไม่ถูก แล้วเราไม่ได้สร้างที่นี่มาให้ถ่ายรูป การที่จะมา Inchala เราไม่อยากทำให้คนจะมาผิดหวังเพราะเข้าใจเราผิดตั้งแต่แรก เราอยากจะให้มาที่นี่อย่างน้อยเปิดใจมากกว่า เปิดใจกับคาเฟ่ที่ไม่ใช่ห้องแอร์ ที่ไม่ใช่ที่ถ่ายรูป เปิดใจกับวัตถุดิบของอาหาร เปิดใจกับผู้คน เปิดใจกับเวลา ยุงที่อาจจะเยอะ ถ้าอยากมาเจออะไรที่ตัวเองรู้จักอยู่แล้วในหัว ที่นี่อาจจะไม่ฟังก์ชันแบบนั้น ก็เหมือนชื่อร้าน Inchala ที่อยากให้เป็นพื้นที่ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่จำเป็นต้องฮิปปี้ หรือแบ่งแนวอะไร อย่างน้อยเป็นคนที่มามองหาสิ่งที่มีชีวิตอยู่จริง ๆ”
หมี่มี้: “อาหารที่อาจจะรอนาน แต่เราก็ตั้งใจทำให้มากที่สุด อยากให้เข้าใจ เราด้วยเพราะเราพยายามเข้าใจคนที่มามากเหมือนกัน อยากให้เปิดมุมมอง
ที่นี่อาจจะไม่เหมือนทุกที่ที่เค้าเคยไปมา แต่อยากให้ที่นี่ทำให้เค้าอุ่นใจ และรู้สึกปลอดภัย”
ซามี่ย์: “หลาย ๆ ที่เค้าอาจจะจัดตู้ปลาเป็น Aquarium ได้สวย แต่ Inchala มันเป็นปลาแบบ ปลาลำธาร ปลาหนองน้ำ อาจจะเห็นปลาใหญ่บ้าง ปลาเล็กบ้าง มันควบคุมไม่ได้ เพราะว่าเลือกอยู่ที่นี่ เราเลือกที่จะอยู่ที่ที่ปรับตัวตามธรรมชาติ”
Inchala จึงเป็นเหมือนพื้นที่และภาชนะที่โอบรับเรื่องราวการเดินทาง และความทรงจำของซามี่ย์และผู้คนที่พานพบ ทุกครั้งที่เราได้ไป Inchala ก็มักจะได้รับพลังงานและบทสนทนาดี ๆ กลับไปเสมอ เมื่อสัมภาษณ์เสร็จแล้วซามี่ย์ได้เดินเข้าไปในบาร์เพื่อชงชา Blue Lotus และนำมาเสิร์ฟให้กับเราด้วยความรู้สึกยินดีที่เราได้กลับมาเยือนที่นี่อีกครั้ง
(ไอซ์) เกิดและโตที่เชียงใหม่ ก่อตั้งกลุ่ม SYNC SPACE ผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะโดยชุมชนและคนรุ่นใหม่