น่าตื่นเต้นมากที่ มานุช: Ma La La หนึ่งในละครจาก Wherever Project โดยสมาชิกจากชมรมการแสดงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่บัตร sold out ก่อนวันแสดงเพียงหนึ่งวัน ทั้งนี้ DREAMLAND ร่องรอย ละครที่เป็นส่วนหนึ่งใน Wherever Project ก็ได้กระทำความสำแดงไปก่อนหน้านี้ ในแบบที่บ้าพลังเป็นอย่างมากเช่นกัน
โดย มานุช: Ma La La เป็นผลงานการกำกับของ น้ำ-สุวรรณา อ่อนน้อม หนึ่งในสมาชิกชมรมการแสดงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อ้างอิงมากจากเรื่องส่วนตัวผสานไปกับการทำให้โรงละครเป็น Exhibition ที่ไม่ใช่แค่เพียงการมาชมละครและจบไป เส้นเรื่องว่าด้วยเด็กสาวช่างฝันและนิทานของนักเดินทางผู้เป็นนิรันดร์ ในสถานที่ที่เราจะได้พบกันอีกครั้ง… ที่เมืองมาลา เมืองที่เต็มไปด้วยดอกไม้ และงานเต้นรำ ดินแดนที่สวยงามราวกับฝัน จนมิอาจตื่น ก็ทำให้องค์ประกอบอื่นๆ สามารถผสานเทคนิคและงานศิลปะเข้ากันได้อย่างน่าสนใจ
การขนเพื่อนศิลปินที่เข้ามาร่วมงานใน มานุช: Ma La La เองก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยทั้ง ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ที่มาร่วมออกแบบสุ่มเสียงที่อึดอัดปนความอ่อนนุ่ม ไกร ศรีดี ที่หยิบงาน Collage Art ในชื่อ Neverland (2023) ที่แม้จะพูดเรื่องของเมืองในความฝันแบบที่ Ma La La กำลังเนรมิต แต่กลับใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด พร้อมทั้งการสร้างภาพ Visual Art โดย ปณิชา พัชรมนตรี ที่เพิ่มลูกเล่นให้ละครเรื่องนี้น่าค้นหา และพาเราเดินทางร่วมไปกับตัวละครที่ดำเนินเรื่องอยู่หน้า
การต้อนรับเข้าสู่เมืองมาลาเริ่มตั้งแต่การเปิดเข้าไปในโรงละคร ที่ทำให้เราได้พบกับโลกแห่งความฝันที่ฟุ้งเฟ้อและไม่จริง หรืออาจจะจริง โดย Installation Art ที่เนรมิตโลกความฝันของ ศิวะ วิธญ ก็เป็นความระทึกในช่วงของการเริ่มต้นว่า มานุช: Ma La La จะพาเราเดินสู่หนทางใด
เส้นเรื่องที่ค่อยๆ เผยให้เห็นเปลือกนอกของความสวยงามของความไร้เดียงสาของเด็กสาว ที่โลกทั้งใบล้วนสดใส ก่อนที่จะค่อยๆ ละลายพานพบกับนิทานฝันร้ายที่ตื่นมาอาจไม่เหมือนเดิม การเดินทางตามหานักเดินทางผู้เป็นนิรันดร์ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดต่อได้อีกเยอะ รวมไปรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายก่ายกอง ทั้งบ้านขนมปัง ฟองบัลเบิ้ล หรือแม้แต่คุณยาย คุณพ่อ ที่ถูกกลบทับด้วยเส้นเรื่องหลักไป การที่ต้องคอยหวาดระแวงฝันร้ายที่คอยๆ กลบทับเป็นเงายักษ์และพายุฝน ก็เป็นภาพติดตาที่ตรึงใจ เพลงเด็กหญิง ดอกไม้ ของ Behind The Smile ก็เข้ามาแทรกอยู่ในทุกท่วงทำนองได้อย่างน่าจดจำ การแสดงของโมบาย-วิรัชฎาพร สุบินมารัตนชัย และแบงค์-วัชรพล ปาระมีธง ก็ช่วยสร้างภาพเสมือนว่าเราเองก็ติดอยู่ในความฝัน ในเมืองที่มีแมลงเวลาที่มีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่ 24 ชั่วโมง ก่อนจะร่วงโรยสู่พื้นดิน ละวนซ้ำอยู่แบบนั้น
มานุช: Ma La La จึงเต็มด้วยเรื่องส่วนตัวของผู้ตัวผู้กำกับ ที่เราเองไม่จำเป็นต้องรู้จักผู้กำกับ แต่เรื่องราวที่อยู่ตรงหน้ากลับเหมือนว่านี่คือบันทึกของผู้คนที่ผ่านเวลาและยุคสมัยเดียวกันมาอย่างน่าตกใจ นี่จึงเป็นมากกว่าแค่ละคร แต่คือ Object Arts ที่ออกแบบมาจากความอัดอั้น เพื่อเดินทางไปสู่การผ่านพ้นวัยที่คงต้องตื่นเสียที
พิเศษสุดสำหรับคนที่ได้ดูคือบัตรละครที่เป็นงานภาพพิมพ์ แบบแกะมือ ที่น่าเก็บสุดๆ และขอแสดงความเสียใจด้วยที่หลายคนไม่ได้รับชม แต่คิดว่าหลังจากนี้น่าจะได้เห็นลูกบ้าที่น่าสนใจในแวดวงละครโรงเล็กอีกมากแน่นอน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...