‘CAN DO BAR’ บาร์ที่ขับเคลื่อนด้วย Sex Worker เพื่อ Sex Worker

เรื่องและภาพ: ปาณิสรา วุฒินันท์

เรานัดพบ ‘ไหม จันตา’ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) ที่ทำงานร่วมกับ Sex Worker ในเวลาบ่ายแก่ๆ แน่นอนว่างานของเอ็มพาวเวอร์คือการพยายามที่จะผลักดันให้อาชีพพนักงานบริการหรือ Sex Worker ได้รับการคุ้มครองแรงงานเหมือนอาชีพอื่นๆ เนื่องจากเป็นแรงงานเหมือนกัน แต่รัฐไทยพยายามทำให้กลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่ตรงกับศีลธรรมอันดีของประเทศ แม้ลึกๆ แล้ว รัฐไม่เคยมองว่า Sex Worker เป็นส่วนหนึ่งของภาคการท่องเที่ยวที่ทำเงินให้กับประเทศอย่างมหาศาล

แม้ในช่วงสายของวันจนถึงเย็นย่ำมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ที่จะเป็นจุดศูนย์กลางของเหล่า Sex Worker ไม่ว่าจะเป็นแหล่งของการเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะ ความรู้ในอาชีพ แหล่งของการใช้ชีวิตร่วมกัน หรือจะเป็นที่นัดประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาหรือขับเคลื่อนปัญหาที่เกี่ยวกับอาชีพ Sex Worker ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ทุกคนได้ศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับอาชีพนี้อีกด้วย ก่อนที่เย็นย่ำค่ำจะค่อยๆ แปลงสภาพเป็นบาร์ที่เต็มไปด้วยแสงไฟ มีมุมโต๊ะพูลไว้ให้เล่น มีมุมบาร์มีโต๊ะนั่งตามสะดวก

‘Can Do Bar’ เป็นบาร์ที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เปิดมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นการเปิดบาร์ที่ไม่ใช่แค่เปิดเพื่อสร้างแค่เพียงรายได้ แต่นี่คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เพราะการเปิด Can Do Bar มีเป้าชัดเจนว่านี่คือแบบอย่างของสภาพการทำงานในแวดวงพนักงานบริการ ที่นี่มีข้อตกลงเรื่องวันเวลาทำงาน และรวมไปถึงสิทธิสวัสดิการและประกันสังคมที่เป็นหลักยึดสำคัญที่จะทำให้คนหนึ่งคนมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้

ไหม รับบทเป็นไกด์ที่จะอาสาพาทัวร์พิพิธภัณฑ์ ไปพร้อมๆ กับบทสนทนาที่เต็มไปด้วยน้ำเสียงและท่วงทำนองของการต่อสู้เพื่อสิทธิของเพื่อนพนักงานบริการ

ฮันนี่ บี ตัวจริง?

จุดแรกคือโซนหน้าร้าน และด้านนอกร้าน ภาพสะดุดตาคือภาพวาดผู้หญิงคนหนึ่งอยู่บนกำแพง และชื่อของภาพนั้นคือ “ฮันนี่ บี”

ตัวการ์ตูนฮันนี่ บี หรือ ผึ้ง สาวน้อยอะโกโก้คนเก่ง ปรากฏตัวขึ้นในหนังสือพิมพ์ของพนักงานบริการฉบับแรกของประเทศไทย คือ “พัฒน์พงษ์” ใน พ.ศ. 2529 เพราะมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “ชายไทยติดเชื้อเอดส์จากชาวต่างชาติ” การเผยแพร่ข่าวนี้สร้างความตื่นตระหนกและก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจบริการ ด้วยเหตุนี้ทำให้มูลนิธิ Empower ผลิตใบปิดการ์ตูนและสร้างการแสดงตลกแบบการ์ตูนชื่อ ฮันนี่ บี สเปเชียล ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้คนคิดอย่างมีเหตุมีผลและมีข้อมูลที่ถูกต้องจากข่าวที่สื่อนำเสนอข้อมูลไป

จากการ์ตูนในหนังสือพิมพ์เพื่อสอนภาษาอังกฤษพัฒนาไปเป็นละครที่เล่นในบาร์เพื่อรณรงค์ เรื่อง การร่วมเพศที่ปลอดภัยในย่านสถานบริการ โดยแสดงบนถนนหน้าบาร์และแจกถุงยางอนามัยต่อมาได้พัฒนาเป็นละครตลกสั้นๆ ละครฮันนี่ บี ตระเวนแสดงตั้งแต่ พ.ศ. 2532 – 2549

“ฮันนี่บีมีตัวตนอยู่จริงๆ เป็นรุ่นบุกเบิกที่เป็นไอดอลของเรา เป็นพนักงานบริการที่ต่อสู้กับ Empower เป็นรุ่นแรกๆ ที่ทำงานอะโกโก้แล้วก็เป็นนักเต้น แล้วก็เป็นนักต่อสู้ที่สู้เรื่องสิทธิ พยายามเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายปรามการค้าประเวณี แล้วก็สู้ให้กับเพื่อนด้วยที่เป็นเพื่อนร่วมงานกัน แล้วก็เป็นเพื่อนที่ดีในกลุ่มเพื่อนที่ต่อสู้ แต่จุดๆ หนึ่งเขาก็อยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง แล้วก็รุ่นหลังที่เกิดขึ้นตามอุดมการณ์ของพนักงานบริการที่ต่อสู้เรื่องสิทธิด้วยกันเอง ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ เราก็เลยใช้ชื่อฮันนี่บีมาโดยตลอด ตลอด 37 ปี”

ส่วนที่อยู่ถัดมาจากกำแพงฮันนี่บี จะพบกับรูปปั้นผู้ชาย ชื่อ “จอห์น” จอห์นเป็นลูกค้าที่ Can Do Bar ที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานบริการช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาโดยการหยิบยื่นเงินให้กับพนักงานบริการเพื่อให้มีเงินพอประทังในการใช้ชีวิตได้ เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลสั่งปิดสถานบริการทำให้พนักงานบริการไม่มีรายได้เลี้ยงชีพ ตอกย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้เหลียวแลและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ทำอาชีพนี้แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติหรือคนที่เป็นชาติพันธุ์ที่เป็นพนักงานบริการก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล และทุกวันนี้จอร์นก็ยังมาเที่ยวที่แคนดูบาร์อยู่

Can Do Bar เราทำได้!

“เริ่มต้นพนักงานบริการเองมาเรียนที่ Empower ทำให้รู้จักกัน แต่ละคนที่มาเรียนมาจากหลายพื้นที่ หลายร้าน บางคนทำงานร้านนวด บางคนทำงานอะโกโก้ บางคนทำงานบาร์และบางคนก็ทำงานบ้านสาว พอมาเรียนที่ Empower ก็ทำให้ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวในที่ทำงานด้วยกัน ที่ทำงานของเธอเป็นยังไง ที่ทำงานของฉันเป็นแบบนี้ มีกฎบาร์ มีหักเงิน เวลาไม่สบายก็ไม่มีสวัสดิการที่เป็นหลักประกันสังคม ทุกคนมีสิทธิไม่สบายและต้องการหลักประกันสังคมที่สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ ซึ่งเมื่อก่อนทุกร้านไม่สามารถเข้าสู่ประกันสังคมได้ ก็เลยมีไอเดียที่อยากจะทำเป็นบาร์ตัวอย่างที่มีประกันสังคม มีค่าแรงขั้นต่ำ แล้วก็เป็นร้านที่มีความปลอดภัย”

“ในระหว่างที่สังสรรค์กันเราก็ได้ไอเดียแล้วก็ร่างใส่เศษกระดาษเอาไว้ เราอยากจะเก็บเศษกระดาษแผ่นนั้นเอาไว้เพื่อเป็นความทรงจำสำหรับพวกเราในการเริ่มก่อตั้ง Can Do Bar พอมีไอเดียแล้วก็เริ่มมีโครงการที่จะสร้างบาร์ให้เกิดขึ้นจริงจึงตระเวนหาทำเลแล้วก็พบกับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่เชียงใหม่แลนด์จึงคิดว่าที่นี่เป็นสถานที่ที่ดีในการเปิดบาร์และยังเปิดมาจนถึงปัจจุบัน”

“Can Do Bar เป็นบาร์ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของพนักงานบริการแล้วก็ร่วมเงินกันด้วย ใครมีเยอะใส่เยอะ มีน้อยใส่น้อย ไม่มีก็ลงแรงอาสาทำอาหารให้กิน”

“ย้อนกลับไปพ.ศ. 2550 ยุคนั้นพี่เล็ก (ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Empower รุ่นแรก) ได้เงินจากรัฐบาลเพราะเขามีโครงการปันเงินให้กับผู้ที่มีประกันตนในประกันสังคม เขาก็คืนเงินให้ 2,000 บาท เป็นเช็คมา พี่เล็กดีใจ อย่างน้อยเราก็ได้เงินจากรัฐบาลที่เราทำงานอาชีพนี้นะ ก็เลยเอามาโชว์ไว้”

ส่วนข้อความในจดหมายในบอร์ดสีเขียวเข้มทางด้านซ้ายล่างในตู้กระจกสีเขียวนั้นคือ จดหมายของคุณอำพร ซึ่งเป็นกรรมการสิทธิรุ่นแรกที่ Empower ได้รับใบประกาศนียบัตรสำหรับนักต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน คุณอำพรก็เลยมายินดีกับ Empower แล้วก็ได้เขียนข้อความให้กับ Can Do Bar ว่า ถ้ามีเจ้าหน้ารัฐเข้ามาจับพนักงานบริการให้เอาข้อความในจดหมายของเขาให้เจ้าหน้ารัฐอ่านเพราะว่าบาร์ของเราเปิด-ปิดตรงเวลา ไม่ได้ผิดกฎหมาย และเรื่อง Sex เป็นเรื่องส่วนตัว

ส่วนที่มาของ Concept กระจกบานเล็กๆ ที่ติดอยู่ในตู้กระจกคือ การบอกเล่าว่า Can Do Bar เปิดมา 17 ปี ในพ.ศ. 2549 ลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นักวิจัย ไม่ว่าประเทศไหนก็มาเที่ยวที่นี่ เพื่อนเครือข่ายหรือรัฐบาลหรือนักการเมือง แต่ลูกค้าที่ดีที่สุดก็คือ “คนที่อยู่ในกระจก”

โซนต่อมาคือโซนล้านนา เป็นภาพวาดที่วาดบนฝาผนังภายในร้าน ภาพนี้เป็นภาพจำลองของภาพวาดที่มีอยู่จริงในวัดพระสิงห์ที่ลูกค้าไปซื้อบริการที่หลังวัดพระสิงห์ในเชียงใหม่ เมื่อ 700 ปีที่แล้ว

ภาพข้างๆ กันเป็นภาพของผู้คนที่ทำอิริยาบถแตกต่างกัน ซึ่งภาพนี้ต้องการอธิบายว่า “อาชีพขายบริการไม่ใช่แค่เริ่มเกิด เริ่มมี แต่มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคโบราณล้านนา เราไม่รู้หรอกว่าคนที่เริ่มอาชีพนี้คือใคร แล้วก็คนที่ทำอาหารคนแรกให้กับสามีให้กับคนในครอบครัวเป็นใครเราไม่มีวันรู้ คนที่ซักผ้าหรือทำความสะอาดบ้านคนแรกเป็นใคร ลูกค้าคนที่เริ่มซื้อบริการคนแรกเป็นใครเราไม่รู้ แต่เรารู้ว่ามันมีมานาน นานมาก แล้วก็อาชีพของเราก็ยังไม่ถูกยอมรับ แต่อาชีพที่เป็นแม่บ้าน ทำความสะอาดบ้าน ทำกับข้าว ซักผ้า ตอนนี้มันเป็นงานที่ออกไปข้างนอกแล้วทุกคนยอมรับ แต่งานของเรายังไม่ถูกยอมรับ เราทำงานในบ้าน เรามี Sex กับสามีทุกคนยอมได้ แต่พอเรามี Sex ข้างนอกโดยการรับเงิน สังคมยังไม่ยอมรับ ทำให้งานของเรายังไม่ถูกเป็นที่ยอมรับของสังคมจนปัจจุบัน”

ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ Sex Worker ไทยโดยสังเขป

ประวัติศาสตร์ของ Sex Worker ในประเทศไทยนั้นทอดยาวมาตั้งแต่อดีต แม้จะไม่ถูกกล่าวถึงมากเท่าประวัติศาสตร์อื่นๆ ก็ตาม ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงในสมัยรัตนโกสินทร์ ‘พระไอยการลักษณผัวเมีย’ มีคำว่า ‘หญิงนครโสเภนี’ ปรากฎอยู่ ซึ่งว่ากันว่าเป็นที่มาของคำว่า ‘หญิงงามเมือง’ เพราะโดยรากศัพท์แล้ว ‘โสเภณี’ แปลว่า ‘หญิงงาม’ และ ‘นคร’ แปลว่า ‘เมือง’ รวมความเป็นหญิงงามเมือง โดยอ้างกันว่ามีที่มาจาก อินเดีย มีฐานะเป็นหน้าเป็นตาของเมืองไว้ปรนนิบัติแขกบ้านแขกเมืองมาก่อน

พ.ศ.2348 – เป็นครั้งแรกที่อาชีพโสเภณีถูกกล่าวถึงในกฎหมายตราสามดวง โดยเป็นข้อบังคับว่าไม่สามารถนำโสเภณีมาเป็นพยานในคดีความต่างๆ ได้ และยังมีการเตือนไม่ให้ชายใดแต่งงานกับโสเภณี และถ้าเมียใดเคยเป็นโสเภณีและประพฤตินอกใจสามี จะให้มีการลงโทษประจานต่อสาธารณะโดยให้เทียมแอกไถนาเยี่ยงควาย

พ.ศ.2451 – พ.ร.บ.ป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 ได้มีการอนุญาตให้ค้าประเวณีได้ แต่สำนักโสเภณีและโสเภณีต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย นำมาสู่การจ่าย ‘ภาษีบำรุงถนน’ ที่เป็นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโสเภณีตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งโสเภณีในยุคนั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเงินถึง 50,000 บาท โดยภาษีนี้จะมี ‘เจ้าภาษีนายอากร’ ซึ่งเป็นกลุ่มเอกชนที่เข้าประมูลเพื่อให้ได้ตำแหน่งนี้มาเป็นผู้เก็บภาษี

พ.ศ.2503 – มีการออก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นครั้งแรกที่การค้าประเวณีกลายเป็นสิ่งผิดกฏหมายอย่างชัดเจน ด้วยการกำหนดบทลงโทษกับทั้งผู้ให้บริการ ผู้จัดหา และเจ้าของสถานประกอบการ กรณีที่ผู้ให้บริการเข้าไปชักชวนหรือเตร็ดเตร่อยู่ตามท้องถนนในลักษณะที่เห็นได้ว่ามีเจตนาจะค้าประเวณีจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งผู้ให้บริการที่พ้นโทษจำคุกแล้ว ยังต้องเข้ารับการรักษาหรือฝึกอาชีพ โดยอธิบดีมีอำนาจกำหนดระยะเวลาการรักษาหรืออบรมแต่ต้องไม่เกิน 1 ปีนับจากพ้นโทษ ในกรณีที่ผู้รับการสงเคราะห์หลบหนีไปจากสถานสงเคราะห์ที่อธิบดีกำหนดให้ไปทำงาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้ผู้ประกอบอาชีพบริการทางเพศมีสถานะเป็นทั้งอาชญากรที่ต้องถูกลงโทษทางอาญาและเป็นผู้ด้อยโอกาสที่ต้องเข้ารับการอบรมเพื่อให้เป็น ‘พลเมืองดี’

พ.ศ.2539 – มีการออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีพ.ศ.2539 มาแทน พ.ร.บ.เก่า โดยมีจุดที่เปลี่ยนไปคือการเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ให้บริการทางเพศเป็น ‘เหยื่อ’ มากกว่า ‘ผู้กระทำผิด’ ด้วยการปรับลดโทษสำหรับผู้ให้บริการทางเพศ โดยแบ่งไว้สามกรณี หนึ่ง คือกรณีที่ผู้ให้บริการเตร็ดเตร่ชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อบริการในที่สาธารณะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท สอง คือกรณีที่ผู้ให้บริการเข้าไปมั่วสุมในสถานที่บริการค้าประเวณี เพื่อประโยชน์ทางการค้าของตนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยยังมีข้อยกเว้นว่า หากถูกบังคับหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้กระทำไม่มีความผิด สาม คือหากผู้ให้บริการโฆษณาหรือชักชวนด้วยสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นให้แพร่หลายในสาธารณะเพื่อให้บุคคลอื่นมาติดต่อซื้อบริการมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 10,000 ถึง 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งเพิ่มโทษนายหน้าและเจ้าของสถานประกอบการมากกว่าผู้ให้บริการ

จะเห็นได้ว่ามีการตีตราต่ออาชีพขายบริการมาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์กฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้เป็นการตีตราอาชีพนี้ด้วยกฎหมายที่เห็นได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน และในปัจจุบันก็ยังบังคับใช้กฎหมายที่ลดคุณค่าความเป็นคนในอาชีพนี้อยู่อย่างเรื่อยมา

กลับมาที่ Can do bar ทางด้านซ้ายมือของบาร์เครื่องดื่มที่เป็นฝาผนังฝั่งติดกับโต๊ะพูล บนฝาผนังจะมีรูปถ่ายทหารและรูปถ่ายเกี่ยวกับเหตุการณ์สงครามติดอยู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการมีอยู่ของอาชีพขายบริการอย่างเปิดเผย โซนนี้จะเป็นโซนทหารในสงคราม เริ่มจากเรื่องราวของทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย

เมื่อราว 81 ปีที่แล้ว (1 ธันวาคม ปี 2484) ไทยได้ลงนามพันธมิตรกับญี่ปุ่น และได้อนุญาตใช้ไทยเป็นฐานทัพแล้วก็จำนวนทหาร 350,000 คนที่เข้ามาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ยศใหญ่จะพักอยู่มหาวิทยาลัยพายัพ และทหารยศอื่นๆ ก็จะพักอยู่ที่ค่ายกาวิละ และตามค่ายทหารอื่นๆใกล้วัดเช่น วัดพระสิงห์ ส่วนคนที่ทำงานบริการก็ถูกเอาไปทำงานบ้านสาวในค่ายกาวิละ มีเจ้าของบ้านสาวเล่าว่า เขาสามารถเรียกเก็บค่าบริการจากทหารญี่ปุ่นมากกว่าคนไทยท้องถิ่นที่ไปใช้บริการ ทหารญี่ปุ่นจะต้องจ่ายตามยศ ยศใหญ่ก็จะจ่ายแพงกว่า ราคาเอกชน 1 บาท นายทหารชั้นประทวนจ่ายชั่วโมงละ 2.50 บาท ค้างคืน 4.50 บาท นายทหารยศสูงกว่าจ่ายถึง 7.50 บาท ซึ่งเป็นราคาที่มากกว่าราคาท้องถิ่นถึง 40 เท่า แต่พนักงานบริการก็ไม่รู้ว่าตนเองจะได้เงินเท่าไหร่ รู้เพียงเงินที่ได้จากร้านที่ร้านหักไปแล้ว

ต่อมาเป็นยุคของทหาร GI โดยคำว่า GI ย่อมาจากคำว่า Government Issue หมายถึงการเรียกไปเกณฑ์ทหาร (อเมริกัน) เพื่อส่งไปรบตามดินแดนต่างๆ รัฐบาลไทยตกลงทำสัญญากับสหรัฐยอมให้ประเทศไทยเป็นที่พักรบของทหาร GI ในพ.ศ. 2507 และในปี 2509 เกิด พ.ร.บ. สถานบริการฉบับแรกเมื่อทหาร GI เริ่มเข้ามา R&R (Rest and Recreation) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับทหาร GI จึงบังคับให้พนักงานบริการทุกคนต้องติดเบอร์ เพื่อลูกค้าจะสามารถจำได้

ตั้งแต่ พ.ศ. 2507-2519 ตลอดระยะเวลา 12 ปี ทหาร GI เข้ามาในประเทศไทยประมาณ 700,000 นาย พอทำสงครามในเวียดนาม 6 เดือนก็ใช้เวลาพักผ่อน 7 วัน

ปี 2523 นายโรเบิร์ต แม็คนามาราก็ไปเป็นประธานของธนาคารของโลก (World Bank) และเป็นผู้แนะนำให้ประเทศไทยทำเป็นปีการท่องเที่ยว ใช้ชื่อว่า “เยี่ยมเยือนประเทศไทย” (Visit of Thailand) รัฐบาลไทยยอมรับว่าธุรกิจบริการทางเพศสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

การเกิดขึ้นของวัฒนธรรม Ring a Bell

เกิดจากยุคทหาร GI เหมือนกัน ยุคนั้นทำให้เกิดบาร์ขึ้นแล้วผู้หญิงที่ทำงานบริการก็มีการปรับตัวในการแต่งตัวให้ทันในยุคสมัยนั้น ต่างชาติแต่งตัวยังไงก็จะแต่งตามเพื่อดึงดูดลูกค้า ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดบาร์และเกิดโต๊ะพูลด้วย พอทหารที่กลับมาจากสู้รบได้ชัยชนะกลับมาที่ประเทศไทย เขาก็จะมาเฉลิมฉลองแล้วก็ไปเที่ยวในบาร์ เขาก็จะมา Ring a Bell ในการเลี้ยงทุกคนในร้านว่า เขาได้ชัยชนะกลับมานะ 

บ้านสาวคืออะไร?

เหตุผลที่เรียกว่าบ้านสาวเพราะว่าในบ้านมีแต่ผู้หญิงสาวๆ พอเรียกว่าซ่องแล้วมันไม่ลื่นหูเหมือนซ่องโจรเลยเรียกว่า “บ้านสาว” เราจึงเคารพผู้หญิงด้วยการเรียกตามไม่เรียก “ซ่อง” อย่างที่สังคมเรียก มันจะเป็นบ้านที่นั่งรอลูกค้าในบ้านแล้วก็จะมีห้องไว้รับรองด้านหลัง ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นพ่อค้าที่มาเที่ยว ซึ่งสมัยก่อนกำแพงดินที่เชียงใหม่เป็นที่นิยมในการเที่ยวกลางคืนมากจนมีวลีว่า “ใครที่มาเชียงใหม่ถ้าไม่ได้ไปเที่ยวที่กำแพงดินก็คือ ยังมาไม่ถึงเชียงใหม่” แต่ก่อนที่จะเป็นสถานบริการที่นิยมที่กำแพงดินก็มักจะทำงานที่ท่าเรือใกล้กับสะพานนวรัฐ โซนกาดหลวงและขัวเหล็ก ยุคนั้นใช้เรือในการขนส่งทำการบริการเมื่อมีลูกค้า ก็จะพายเรือออกไปบริการกลางน้ำเสร็จแล้วก็พายกลับมา ส่วนมากคนที่มาใช้บริการคือคนที่เป็นพ่อค้าที่เอาของมาส่ง เป็นช่วงพักระหว่างรอของหรือส่งของก็จะมาใช้บริการ

หลังจากนั้นประมาณพ.ศ. 2489 ก็ย้ายมาทำงานอยู่ในย่านกำแพงดิน ใน พ.ศ.2510 มีการสำรวจพบว่ามีบ้านสาวถึง 200 แห่งและมีผู้หญิงบริการประมาณ 2,000 คน ในบ้านสาวก็จะมีกฎว่า 

1.ห้ามลูกค้าเมา

2.ห้ามลูกค้าใช้ความรุนแรง 

3.ต้องใช้ถุงยาง 

4.ผู้ใช้บริการก็ต้องได้รับการตรวจโรคก่อนที่จะรับบริการทุก 2 อาทิตย์ ส่วนผู้หญิงที่ให้บริการก็จะต้องตรวจทุกเดือน 

5.ถ้าพบว่าทหารตรวจเจอโรค เขาก็จะถูกลดยศหรือถูกเฆี่ยนตี แต่ถ้าหากผู้หญิงพบว่าติดเชื้อหรือว่ามีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็จะให้พักจนกว่าจะหายแล้วก็กลับมาทำงานได้ 

ในบ้านสาวจะมีพนักงานดูแลเป็นเพศชาย เวลาไปกับลูกค้าเขาก็จะมาเฝ้าประตู สังคมเรียกเขาว่าแมงดาเพราะว่าการที่พนักงานขายบริการเพศหญิงไปกับลูกค้าคนที่ทำหน้าที่เฝ้าก็จะได้ค่าบริการแล้วครึ่งนึง “เขาแสวงหาผลประโยน์จากการค้าประเวณี เขาก็เลยถูกเรียกว่าแมงดาที่หากินกับผู้หญิง” แต่ในปัจจุบันแมงดาหรือที่เรียกว่าพนักงานดูแลเพศชายได้สูญพันธ์ไปตั้งแต่พ.ศ. 2542 แล้วและเปลี่ยนจากแมงดาเป็นคนคอยเชียร์ลูกค้าหรือคอยรับส่งลูกค้าแทนเพราะบ้านสาวในปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นคาราโอเกะ 

การตกเขียวหรือการค้ามนุษย์ด้วยน้ำมือของรัฐบาล ?

เป็นยุคที่ทหารได้งบมาสร้างถนนเพื่อตามหาคอมมิวนิสต์ในพื้นที่อื่น แต่การที่ได้ถนนก็เป็นการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ง่ายขึ้น ในที่นี้คือการได้เข้าไปในพื้นที่ชนบท ไปถามชาวบ้านที่ยากจนว่าอยากจะได้เงินหรือเปล่า เพื่อที่จะเอาลูกของเขามาทำงานในตัวเมือง “ก็คือขายลูกนั่นแหละ”พี่ไหมบอก บ้านไหนที่มีนาเขียวๆ เขาก็จะไม่ถาม เขาจะไปทาบทามคนยากจนที่มีลูกสาวให้มาทำงานในบ้านสาวโดยเสนอราคา 500 บาทแต่ก็จะเอามาขายต่อในบ้านสาวในราคาเป็นหมื่น ซึ่งมันได้มากกว่าที่เขาให้พ่อแม่ไปอีก ทำให้ลูกต้องมาขัดหนี้ เจ้าของร้านจ่ายเงินให้กับคนที่พามาและนั้นคือหนี้กับดอกเบี้ยที่ผู้หญิงต้องทำงานชดใช้คืนประมาณ 3 ปี ก็เลยเกิดคำว่า “ยุคตกเขียว”

การตกเขียวถูกตีแผ่ผ่านเพลงหลายเพลงและภาพยนต์หลายเรื่อง เช่น ภาพยนต์เรื่องเปรมมิกาป่าราบ หรือเพลงดังชื่อ ไถ่เธอคืนมา โดย พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ที่มีท่อนว่า “ผ่านไปสองปีที่เธอลาหายจาก ข่าวคราวว่าพ่อแม่เธอนั้นพาไปขาย” และท่อน “ผ่านมือชายเป็นร้อยเป็นพัน ต้องกล้ำกลืนและอดทน เพื่อเก็บเงิน ส่งบ้าน ไถ่ถอนตัวเอง”

ที่เห็นอยู่นี้คืออ่างอาบน้ำที่ให้บริการแบบ อาบ อบ นวด เป็นการอาบน้ำแบบ Turkish bath ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสงครามเวียดนาม ที่แรกของเชียงใหม่คือ ซายูริ อาบ อบ นวด แต่สมัยก่อนถูกเรียกว่า “หมอนวด” การที่พนักงานบริการจะให้บริการกับลูกค้ามักจะสวมเสื้อกราวน์ให้ดูเหมือนหมอจริงๆ พร้อมกับกางเกงขาสั้นแล้วก็เสื้อกล้าม เป็นเหตุผลให้เรียกว่าหมอนวด 

และที่เห็นเป็นเสาตั้งอยู่สองเสาบริเวณหน้าบาร์ คือ การให้บริการที่เรียกว่าการเต้น อะโกโก้ บาร์กรังปรีย์เป็นบาร์แรกที่นำเสาอะโกโก้เข้ามาจากเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ในปี 2526 เริ่มมาที่เชียงใหม่บาร์อะโกโก้ยุคแรกคือ ร้านลาสเวกัส คนดูแลชื่อลุงตุ๋ย เมื่อลุงตุ๋ยเสียชีวิตลง ร้านก็ปิดลงในปี 2550 และต่อมาในปี 2547 ที่เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ได้ทำการรื้อเสาอะโกโก้ออกจากบาร์ ด้วยเหตุผลว่า เสาอะโกโก้ทำให้ดูไม่สุภาพและไม่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของดินแดนล้านนา บาร์ Can Do Bar เลยอยากอนุรักษ์การเต้นอะโกโก้ไว้เพราะเป็นการแสดงที่ต้องใช้ทักษะและต้องใช้การฝึกฝนมาเป็นอย่างดี โดยนำเสาอะโกโก้มาตั้งในบาร์เพื่อคอยดูอยู่ว่า 

“ใครจะมาถอดเสาของเรา?”

ที่เห็นเป็นกระเป๋าขายของหาบเร่คล้ายแผงขายล็อตเตอรี่ที่ข้างในเต็มไปด้วยของเล่นและอุปกรณ์ในการร่วมรักกันอยู่นี้ เป็นโซนที่อยากให้ทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับอุดมคติทางเพศและอาชีพขายของเล่น(ทางเพศ)หาบเร่ เมื่อก่อนที่ถนนพัฒน์พงษ์มีอาชีพขายของเล่น(ทางเพศ)หาบเร่ แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีแล้วเพราะพอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นก็ลำบากที่จะขาย กิจการก็เลยมีให้เห็นน้อย บ้างก็เลิกทำอาชีพนี้ไปแล้ว แล้วการทำอาชีพขายของเล่น(ทางเพศ)หาบเร่แบบนี้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เวลาตำรวจลงตรวจพื้นที่ พวกเขาก็จะปิดกระเป๋าแล้วเดินหนีไป 

ภายในกระเป๋าหาบเร่ใบนี้มีอุปกรณ์ทางเพศหลายอย่าง และมันก็เชื่อมโยงไปกับอุดมคติทางเพศของผู้ชายในยุคสมัยนั้น ว่าการที่เขามี “ขอบตาแพะ” เอาไว้ครอบอวัยวะเพศของตัวเองหรือการใส่ถุงยางที่เป็นหนามๆ จะไปกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของผู้หญิงเยอะขึ้น ทำให้มีความสุขมากขึ้น ผู้ชายมักมีความเชื่อว่าผู้ชายต้องมีขนาดใหญ่ ยาว เอานาน และลีลาดี แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เจ็บมากขึ้น ทำให้ถุงยางแตกและทำให้มีปัญหามากขึ้น
คนที่ทำอาชีพขายของเล่น(ทางเพศ) หาบเร่รู้จับกับสมาชิกในมูลนิธิ Empower ก็ได้มอบกระเป๋าใบนี้ให้กับมูลนิธิ Empower เพื่อให้เก็บไว้เป็นที่ระลึก มูลนิธิ Empower ก็เลยเอามาโชว์ในพิพิธภัณฑ์ให้เห็นเป็นประวัติในยุคสมัยนั้น

โซนสุดท้ายของชั้นหนึ่งก่อนที่จะไปพาทัวร์กันต่อที่ชั้นสองคือ โซนโต๊ะจดหมาย โซนนี้เป็นพัฒนาการการสื่อสารระหว่างพนักงานบริการและลูกค้า ทุกคนเคยได้ยินเพลง “จดหมายจากเมียเช่า” ของคุณมานี มณีวรรณหรือเปล่า?

เป็นเพลงที่เล่าว่า พนักงานบริการคิดถึงลูกค้าของเธอเองที่ชื่อ จอร์น ซึ่งเธอเองเป็นเมียเช่า เธอเองได้กลับบ้านไปแล้วก็เขียนจดหมายเพราะในยุคนั้น วิธีการสื่อสารมีวิธีเดียวก็คือ การส่งจดหมายโดยการส่งจดหมายผ่านเรือไปต่างประเทศ ยุคสมัยเปลี่ยนไปก็มีการพัฒนาการส่งสารมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น เพจเจอร์ โทรเลข แฟกซ์หรืออีเมล

การเป็นเมียเช่าคือ การทำหน้าที่เมียคนหนึ่งหรือเรียกอีกอย่างว่า “เป็นเมียที่ถูกจ้าง” ลูกค้าจะให้พวกเราไปอยู่ที่บ้านของเขาและอยู่ดูแล เช่น ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ไปเที่ยว ใช้ชีวิตด้วยกัน ทานข้าว ทำทุกอย่างเหมือนคู่รักทั่วไปรวมไปถึงเรื่องบนเตียงด้วย

พี่ไหม พาไปชมชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ แต่ระหว่างบันไดทางขึ้นนั้น ก็จะมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษง่ายๆ ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันของพนักงานบริการติดตามขั้นบันไดอยู่ และผนังก็จะมีรูปภาพและเรื่องราวต่างๆของมูลนิธิ Empower อีกด้วย

โซนแรกที่สะดุดตาของชั้นนี้ก็คือสังเวียนมวยที่มีเสื้อผ้าสำหรับชกมวยเรียงและติดไว้ที่ผนังอย่างมากมาย บนเสื้อผ้ามีถ้อยคำต่างๆอยู่บนนั้นมากมาย เช่น คำว่าต่างด้าว, สงสาร, ทำให้ครอบครัวแตกแยก ซึ่งมีแต่คำดูถูกเหยียดหยามและเหตุผลที่มูลนิธิต้องการติดคำพวกนั้นไว้ก็เพื่อจะสื่อว่า พนักงานบริการต้องเผชิญหน้ากับคำเหล่านี้เสมอ พนักงานบริการต้องมีความกล้าในการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ และยังต้องทำงานอยู่ในสังคมที่ไม่มีความยุติธรรม ต้องสู้และต้องเรียนรู้การป้องกันตัวเอง เช่น เมื่อไหร่เราจะรุก เมื่อไหร่เราจะถอย ก็เหมือนกับการชกมวย

โซนตรงกันข้ามเราจะเห็นเครื่องจักรเย็บผ้า จักรเย็บผ้าได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือฝึกสอนผู้กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ถูกจับมารับโทษในสถานสงเคราะห์ เป็นเสมือนการตีตราต่อพนักงานบริการว่า เปลี่ยนอาชีพมาเป็นอาชีพที่มีความเป็นแม่ศรีบ้านศรีเรือนเถอะ ที่เห็นตู้นี้เป็นตู้ที่รวบรวมผลงานและเรื่องราวของ SW-ASEAN สวาเซี่ยนหรือพนักงานบริการประชาคมคาเซียน มีจุดประสงค์ที่จะให้พนักงานบริการในอาเซียน มาทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยน และเตรียมรับมือกับการเกิดประชาคมอาเซียนจริงๆ มีสองประเด็นหลักที่เห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกันคือ เรื่องตราบาปและตำรวจ

สวาเซี่ยนได้ทำโครงการเวิร์คชอปกับพนักงานบริการอาเซียนประมาณ 100 คนเพื่อค้นหาภาพที่แสดงถึงตราบาปที่มีต่อพวกเขาและการต่อสู้ของพวกเขาเอง ผลงานภาพได้ถูกจัดแสดงขึ้นในนิทรรศการว่า “Yet, still we dance” ที่หอศิลป์หลายประเทศในแต่ละช่วงเวลาและที่เห็นตุ๊กตาความสูงประมาณครึ่งเอวจำนวนมากขนาดนี้คือคำจิ่ง

ประวัติศาสตร์ของคำจิ่งเกิดจากผู้หญิงที่เป็นแรงงานต่างพรมแดนที่เดินเท้า ข้ามดอย ข้ามน้ำมาทำงานในประเทศไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาก็มาทำงานเป็นพนักงานบริการที่อยากจะให้ครอบครัวหรือว่าทางบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น 

ตุ๊กตาคำจิ๋ง

“เพราะว่าฝั่งนู้นมันไม่มีงานมีแต่ทำไร่ทำสวน บางปีก็ไม่มีรายได้ เกิดจากความยากจนนั่นแหละถ้าเรามอง รัฐบาลมันไม่ได้ดูแลประชากรให้ดีกว่านี้ ตั้งแต่ยุคสมัยไหน ปัจจุบันก็ยังไม่ดีขึ้น มันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้เขาอยากแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า” พี่ไหมกล่าว

พนักงานบริการต่างพรมแดนเหล่านี้ช่วยกันสร้างตุ๊กตากระดาษเพื่อแทนตัวเอง ในการเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ที่เป็นความใฝ่ฝันตามเรื่องราวของคนปั้นตุ๊กตา

พี่ไหมเล่าว่า “คำจิ่งเองก็มี passport ที่เหมือนเป็นคนจริงๆ มีที่นั่ง เสียค่าตั๋วเครื่องบินจริงๆ มีแสตมป์ คำจิ่งทุกคนมีแสตมป์เป็นของตัวเอง ตอนนี้เหลือ 50-60 คนที่เราขอเก็บไว้เป็นที่ระลึกจาก 108 คน” ส่วนคำจิ่งตัวอื่นๆได้รับการอุปถัมภ์ ในครอบครัว กลุ่มบุคคลหรือสถาบันต่างๆกว่า 18 ประเทศ โซนตรงกันข้ามจะมีเสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่มูลนิธิ Empower หรือพนักงานบริการใช้ในการแสดงเพื่อลดการตีตรา เช่น ละครชุดความปลอดภัยในที่ทำงาน นั่นก็คือการแสดง “แอร์โฮสเตรส”

บนเครื่องบินจะมีสาธิตการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พนักงานบริการเองก็มีวิธีในการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินเหมือนกัน ละครเรื่องนี้มาเพื่อบอกว่า อยากให้มีความปลอดภัยในงานบริการภายในร้านเราเหมือนกัน เช่น ถ้าถุงยางของคุณไม่เพียงพอ ก็หยิบได้ที่ใต้เก้าอี้ของท่าน

ละครเรื่องแรกของมูลนิธิ Empower มีชื่อว่า “ฟ้าหลังฝน” เป็นละครเวทีที่แสดงสดที่กรุงเทพ แล้วก็แสดงโดยพนักงานบริการของมูลนิธิ Empower นี่แหละเป็นนักแสดงทั้งหมด

มูลนิธิ Empower มีข้อมูล มีหนังสือ มีงานวิจัยหลายอย่างจากหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริการเอง หรือคนที่เข้ามาทำวิจัยหรือว่าคนที่มาหาข้อมูลกับมูลนิธิ Empower ทุกคนก็จบวิทยาลัย Empower ด้วย

“เป็นตำรา เป็นประวัติศาสตร์ เปิดอ่านได้เลยนะ หมอก็มีเครื่องมือใช่มั้ย ช่างก็มีเครื่องมือในการทำงานใช่มั้ย เราก็เหมือนกัน พนักงานก็ต้องมีเครื่องมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ปากกา ชุดในการทำงาน ถุงยาง ครีมทาผิว ยาสระผม สบู่ ก็ต้องพกไปด้วย”

ท้ายที่สุดแม้ว่าอาชีพค้าบริการทางเพศหรือ Sex Worker จะเป็นอาชีพที่ช่วยมอบความสุขทางกายหรือทางใจในบางครั้งให้กับผู้ใช้บริการ แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้กลับไม่ได้รับความสุขในฐานะผู้ประกอบอาชีพเท่าที่ควรนัก ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการกดขี่และการมองคนไม่เท่ากันที่  Sex Worker ต้องเผชิญอย่างไร้การปกป้องคุ้มครองใดๆ ในวันนี้ Can Do Bar อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะส่งคืนความสุข และศักดิ์ศรีกลับไปสู่ผู้ค้าบริการอย่างที่พวกเขาควรจะได้รับ แต่การเปลี่ยนแปลงในสังคมองค์รวมก็จำเป็นต้องพึ่งพาผู้คนทั่วไปอย่างเราๆ ที่ต้องปฏิบัติ เคารพ และมองเห็นผู้ให้บริการเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับอาชีพอื่นๆ ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Can Do Bar ได้ที่ https://www.facebook.com/sweetsmartstrongsexy/?locale=th_TH

ข่าวที่เกี่ยวข้อง