เมษายน 26, 2024

    “จะต้องไม่มีลูกหลานของชาวบ้านคนไหนต้องถูกวิสามัญฯ แบบนี้อีก” ครอบครัวจัดรำลึก 6 ปี “ยกเตาเล่าเรื่องชัยภูมิ” ชวนจับตาศาลฎีกาพิพากษาทบ.จ่ายค่าเยียวยาตามที่ฟ้องอีก 6 เดือนข้างหน้า

    Share

    ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

    เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66  ณ ลานโบสถ์ หมู่บ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีการจัดงาน “ยกเตาเล่าเรื่องชัยภูมิ รำลึกครบรอบ 6 ปี วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส” เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ โดยมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก 

    ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันเดินทางไปที่หลุมศพของชัยภูมิเพื่อวางดอกอ่อเวะ ซึ่งเป็นดอกไม้แห่งความคิดถึงของชาวลาหู่ เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของชัยภูมิ และลูกศิษย์ของชัยภูมิได้แสดงเต้นจะโก่ ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะวัฒนธรรมของชาวลาหู่  มีการแสดงดนตรีจากครอบครัวของชัยภูมิ นอกจากนี้ยังมีการฉายหนังสั้นเรื่อง See You Again โดยมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนและกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์เด่นภายในงาน คือ กิจกรรมยกเตาเล่าเรื่องชัยภูมิ ที่ผู้เข้าร่วมงานนำเตาหมูกระทะมาจากบ้านและมาล้อมวงกินหมูกระทะเพื่อมาพูดคุยรำลึกถึงชัยภูมิ


    ‘ยุพิน ซาจ๊ะ’ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษชนจากกลุ่มด้วยใจรักและผู้ดูแลของชัยภูมิ กล่าวเปิดงานรำลึกถึงชัยภูมิว่า “การต่อสู้ของเราตลอด 6 ปีที่ผ่านมาก็เพื่อไม่ให้หทารหรือเจ้าหน้าที่ราชการคนไหนมาทำอะไรกับกลุ่มชาติพันธุ์ของเราโดยไม่มีเหตุผล ไม่ใช่มากระทำเหมือนเช่นเดียวกับชัยภูมิที่วิสามัญฆาตรกรรมก่อนแล้วค่อยไล่ให้พวกเราไปหาความยุติธรรม ซึ่งการที่พวกเราลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมไม่ใช่ให้กับชัยภูมิเพียงเท่านั้น แต่เราเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพวกเราชาติพันธุ์ทุกคน วันนี้อยากให้ทุกคนมาร่วมรำลึกถึงชัยภูมิร่วมกัน และมาร่วมกันลุ้นคำตัดสินของศาลฎีกาว่าจะพิจารณาให้กองทัพบกชดใช้และเยียวยาค่าเสียหายให้กับครอบครัวของชัยภูมิหรือไม่ ซึ่งศาลน่าจะมีคำพิพากษาในเร็ว ๆ นี้”

    ‘ไมตรี จำเริญสุขสกุล’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจรักและผู้ดูแลของชัยภูมิ กล่าวถึงการจัดงานรำลึกถึงชัยภูมิในครั้งนี้ว่า “ชัยภูมิคือลูกหลานของเราที่อยู่ในชุมชน ถ้าเราไม่เข้าใจไม่ใส่ใจเรื่องที่เกิดขึ้นกับน้องชัยภูมิสักวันหนึ่งก็อาจจะเกิดกับลูกหลานเราก็ได้ ตนอยากให้คดีของชัยภูมิเป็นคดีสุดท้ายที่เกิดขึ้น  เข้าใจว่าทุกคนในหมู่บ้านเกิดความกลัว แต่ก็อยากให้ทุกคนสู้เพราะเราคือลาหู่ เราคือพี่น้องชาติพันธุ์ถ้าเราไม่ช่วยกันแล้วใครจะมาช่วยเรา”


    ด้าน ‘ชานนท์ ป่าแส’ น้องชายของชัยภูมิ กล่าวรำลึกถึงชัยภูมิด้วยเช่นกันว่า “ตั้งแต่ที่ตนเสียพี่ไปนั้นชีวิตคอรบครัวของเราก็อยู่อย่างยากลำบากมาก  พอพี่จากไปตนก็ต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาดูแลพ่อแม่  จนพ่อเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว  หลังพ่อเสียตนก็ต้องออกไปหางานทำที่ต่างจังหวัดเพื่อมาดูแลแม่ให้ได้ ซึ่งตนพร้อมที่จะทำหน้าที่นี้แทนพี่ชายแต่สิ่งที่ตนอยากเห็นมากที่สุดคือภาพของพี่ชัยภูมิได้รับความยุติธรรมและตนอยากเห็นในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ศาลฎีกาจะพิพากษาคดีอย่างไร”

    ด้าน ‘ปริตอนงค์ ถวัลย์วิวัฒนกุล’ จากกลุ่มดินสอสีกล่าวว่า  “ชัยภูมิเป็นคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนเมืองอย่างเรา  และถ้าเรานึกถึงชัยภูมิ เราจะนึกถึงกลองจะโก่ที่น้องได้บุกเบิกรื้อฟื้นวัฒนธรรมของชุมชนขึ้นมาใหม่ และชัยภูมิได้นำกลองแจโก่ไปแสดงที่พื้นที่จะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านที่พื้นที่จะนะตื่นเต้นกับกองจะโก่กันมาก และหากให้นึกถึงชัยภูมิอีกหนึ่งบทบาทเรานึกถึงเรานึกถึงความเป็นศิลปินของน้องชัยภูมิถ้าทุกวันนี้น้องยังอยู่น้องคงจะได้สร้างผลงานทางด้านศิลปะที่มีประโยชน์กับสังคมอีกมากมาย” 

    ขณะที่ ‘สุธีรา เปงอิน’ ตัวแทนจาก Protection International (PI) กล่าวถึงชัยภูมิและแนวทางในการต่อสู้คดีของชัยภูมิว่า “ภาพทรงจำที่เห็นชัยภูมิ เห็นถึงความรักและมุ่งมั่นของแม่นาปอยและครอบครัว แม้เธอจะผ่านความสูญเสียลูกชายอันเป็นที่รักจากคมกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เธอกลับเปลี่ยนความสูญเสียเป็นพลังในการที่จะเดินหน้าตามหา เรียกร้อง และยังส่งพลังให้ครอบครัวของของนายอะเบ แซ่หมู่ ลุกขึ้นสู้ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ของชัยภูมิประมาณ 1 เดือน ซึ่งขณะนี้ครอบครัวของอะเบก็ได้รับการชดเชยและเยียวซึ่งอย่างน้อยๆเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำ” 


    ​ส่วนทางด้านคดีของชัยภูมิ ตั้งแต่ปี 2562 ครอบครัวและทีมทนายความของชัยภูมิ ยื่นฟ้องคดีต่อกองทัพบกในฐานะผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่วิสามัญฯชัยภูมิในคดีละเมิด ตาม พรบ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการรอให้ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา ซึ่งที่ผ่านมาครอบครัวและทีมทนายเคารพในคำตัดสินของศาล  แม้จะมีความเห็นแย้งต่อคำพิพากษาในบางประเด็น เช่น ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารเป็นการกระทำโดยป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย  จึงไม่เป็นการการกระทำละเมิดต่อชัยภูมิ และกองทัพจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย  แต่ในความเป็นจริง บาดแผลที่ชัยภูมิได้รับการอาวุธสงครามจากเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นอาวุธที่ร้ายแรงเป็นอย่างมากและถูกจุดสำคัญจนเป็นเหตุให้ชัยภูมิถึงแก่ความตายหรือทีมทนายตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นเรื่องเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดเหตุจากการตามผิดธรรมชาติ นั้นไม่เป็นตามกระบวนกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 150  ต้องมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น  ตำรวจ แพทย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นต้น ในการตรวจตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุในทำการชันสูตรและต้องมีบันทึกรายละเอียดที่เกิดขึ้น แต่ในกรณีนี้กลับเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกลับเป็นผู้ที่เข้ามาในจุดที่เกิดเหตุโดยทันที ก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะมา หรือประเด็นที่เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าชัยภูมิกล่าวหาว่าพบยาเสพติดในรถของชัยภูมิ ซึ่งผลการตรวจ DNA ทั้งในของกลาง และฝาหม้อกรองในรถยนต์ก็ไม่พบลายนิ้วของชัยภูมิแต่อย่างไร เป็นต้น

    ครอบครัว เพื่อน และทีมทนายก็ยังตามหาและเรียกร้องให้ กองทัพบกเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ น่าเชื่อถือ และที่มีคุณค่าเพื่อพิสูจน์ความจริงและความยุติธรรมที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ทั้งๆที่มีรายงานระบุว่ามีการทำสำเนากล้องวงจรปิดไว้แล้วก่อนที่จะส่งให้พนักงานสอบสวน แต่จนถึงปัจจุบันภาพเหตุการณ์ในกล้องวงจรปิดก็ยังไม่ปรากฎในคดีหรือในสาธารณะแต่อย่างใด

    ทั้งนี้วันที่ 17 มี.ค. นี้จะครบ 6 ปี ที่ชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตรกรรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาครอบครัว เพื่อน ๆ และทีมทนาย ได้ต่อสู้เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับชัยภูมิมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้กองทัพบกเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์วันเกิดเหตุไว้ได้ รวมถึงการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากกองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จะยกฟ้องให้กองทัพบกไม่ต้องชดใช้ให้กับครอบครัวชัยภูมิ แต่ล่าสุดศาลฎีกาได้รับคดีนี้เข้าสู่การพิจราณาและจะมีคำพิพากษาประมาณ 6 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งเป็นการพิสูจน์และคืนความยุติธรรมให้ครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส อีกครั้ง

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...