พฤษภาคม 2, 2024

    ฝุ่นพิษข้ามแดนในห้วงยามที่ “ทุน” สยายปีก

    Share

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ

    การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมในนามของเสรีนิยมใหม่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เอกชนเกิดแรงจูงใจเพื่อจะสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างเสรีโดยปราศจากการผูกขาดโดยรัฐ จนเมื่อมีการเปิดให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี จึงนำไปสู่ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล หนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ปัญหาหมอกควัน” หรือ “ฝุ่นพิษ” ในภาคเหนือของไทย วงจรอุบาทว์ของฤดูฝุ่นพิษวนเวียนกลับมาฉายซ้ำความทุกข์ทรมานให้กับประชาชนทุกปี แนวทางการแก้ไขที่ผ่านมาอาจไม่เพียงพอหากยังละเลยที่จะพูดถึงต้นตอที่แท้จริงของปัญหา ซึ่งฝังรากลึกจาก “การขยายตัวของทุน” ที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งและผลกำไรสูงสุดอย่างไม่มีขีดจำกัดด้านพรมแดน โดยไม่ได้คำนึงถึงความอยู่ดีกินอิ่มของแรงงานหรือคุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์

    รัฐเอื้อทุนข้ามพรมแดน: ตัวละครหลักเสี่ยงสร้างวิกฤตฝุ่น-ละเมิดสิทธิมนุษยชน

    แนวคิดเสรีนิยมใหม่ผลักดันให้กลุ่มธุรกิจมุ่งเน้นผลิตสินค้าราคาถูกเพื่อตอบสนองต่อกลไกตลาดโลก และยังผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยเลือกย้ายฐานการผลิตมายังประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่หย่อนยาน บางครั้งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างมหาศาล แม้ว่าในทางทฤษฎีจะมีการพยายามลดบทบาทการควบคุมตลาดของรัฐ แต่ทว่าในทางปฏิบัติรัฐกลับทำหน้าที่เอื้ออำนวยความสะดวกในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการควบคุมมลพิษข้ามพรมแดนที่โบ้ยว่าอยู่นอกเหนืออำนาจการกำกับควบคุมและยากจะจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

    รายงานเปิดปมทุนข้ามชาติกับควันพิษข้ามพรมแดน โดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ชี้ให้เห็นว่าหนึ่งในนโยบายของรัฐที่ขนาดไปกับการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จะพบจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การปลูกข้าวโพดแพร่ขยายอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นผลมาจาก “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง” (Ayeyawaddy-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ร่วมกับประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย ซึ่งเริ่มต้นในปี 2546 โดยทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุทธศาสตร์ ACMECS นี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางการเกษตรและอุตสาหกรรม อีกทั้งในกรอบความร่วมมือนี้มีข้อตกลงด้านเกษตรพันธสัญญาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เควิน วู้ดส์ (Kevin Woods) นักศึกษาปริญญาเอก University of California, Berkeley ทำการวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรัฐฉานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์จะผู้ผลักดันให้เกิดข้อตกลงนี้ด้วยตนเอง เนื่องจากหนึ่งในคณะผู้บริหารระดับสูงของเครือเจริญโภคภัณฑ์คือ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ นั่งในตำแหน่งประธานสภาธุรกิจ ACMECS ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผลักดันอย่างแข็งขันในการเสนอให้รวมเอาเกษตรพันธสัญญา เข้าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ ACMECS รวมทั้งผลักดันให้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดระหว่างกัน และนับจากนั้นเป็นต้นมา การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญาก็ได้เริ่มขึ้น และขยายตัวอย่างกว้างขวางใน ประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ ACMECS รัฐบาลไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลเผด็จการทหารของพม่าในขณะนั้น ที่จะพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าและไม่ได้ทำประโยชน์ให้เป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกข้าวโพดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ 4.325 ล้านไร่ (อรรคณัฐ, 2560)

    ข้อมูลจากรายงานประจำปี Grain and Feed Annual (2016) เกี่ยวกับธัญพืชและพืชอาหารสัตว์ของเมียนมา โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) เน้นย้ำความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการจากไทยในประเทศเพื่อนบ้านนั้นปรากฎชัดเจนในพม่า ระบุว่า ร้อยละ 60-70  ของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในเมียนมานั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ภายใต้บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ Myanmar CP Livestock Company โดยเป็นเมล็ดพันธุ์ไฮบริดภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่รัฐฉานเป็นหลัก (USDA, 2016) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับเขตชายแดนทางภาคเหนือของไทย นอกจากนี้ในรายงาน Grain and Feed Annual ฉบับปี 2020 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2018 (2561) เป็นต้นมา ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาที่ส่งออกมายังไทยนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกินร้อยละ 50 ของปริมาณส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดของเมียนมา (USDA, 2020 อ้างใน Greenpeace Thailand, 2023)

    นอกจากนี้งานวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรัฐฉานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยควิน วู้ดส์ (Kevin Woods) พบว่ามีจุดเริ่มต้นจากการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เสนอให้การปลูกข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ และรณรงค์ให้ปลูกข้าวโพดทดแทนการปลูกฝิ่นในพื้นที่รัฐฉานตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2540 รัฐบาลเผด็จการทหารของพม่าในขณะนั้น ได้นำที่ดินมาจัดสรรใหม่ให้เกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในรัฐฉาน ทำสัญญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในบางพื้นที่ก็เป็นหน่วยงานกองกำลังของทหารเองที่เป็นผู้ปลูกข้าวโพด ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาการแย่งยึดที่ดินของชาวบ้าน (อรรคณัฐ, 2560)

    ภัยร้ายเงียบที่กำลังกัดกินปอดและสุขภาพของผู้คนที่อาศัยในภาคเหนือประเทศไทย นั่นคือวิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ข้อมูลจากกรีนพีซประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือผู้ร้ายที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตนี้ ข้อมูลจากรายงาน “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์: การลงทุนข้ามพรมแดนและมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน” ในเดือนมีนาคม 2566 เผยว่าการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือตัวการสำคัญในการขยายการลงทุนข้ามแดนและพื้นที่เพาะปลูกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ท้ายที่สุดก็ก่อฝุ่นพิษข้ามแดนกลับมายังไทย ในช่วงราวสองทศวรรษที่ผ่านมาพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได่แก่ ภาคเหนือตอนบนของไทย รัฐฉานของพม่า และภาคเหนือของลาว ได้กลายเป็นศูนย์กลางของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน อันเป็นผลพวงจากการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อขยายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งบ่อยครั้งมีการใช้วิธีการเผาเพื่อกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรหลังจากการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป  

    ข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยกรีนพีซศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในรายงาน “ผืนป่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2563 ระบุว่าในช่วงห้าปีดังกล่าว พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือของลาว รองลงมาคือพื้นที่รัฐฉานในพม่า

    ที่มาภาพ: รายงานผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี พ.ศ.2558-2563

    ผลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมยังชี้ให้เห็นชัดเจนว่าจุดความร้อน (hot spot) ที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจุดความร้อนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแถบภาคเหนือของลาวและรัฐฉาน (พม่า) มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น PM2.5 (กรีนพีซประเทศไทย, 2566)

    ที่มาภาพ: รายงานผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี พ.ศ.2558-2563

    สารพัดปัจจัยเอื้อ “ทุน” พ้นผิดต่อการก่อมลพิษ

    ผลจากการผลักดันและสนับสนุนการขยายตัวการปลูกขาวโพดเลี้ยงสัตวของรัฐบาลมาอยางยาวนาน นอกจากสร้างฝุ่นพิษแล้วยังทำให้สูญเสียป่าที่กลายมาเป็นฃนพื้นที่ปลูกขาวโพดเลี้ยงสัตว อยางไรก็ตามสิ่งที่ยังขาดหายไปในกลไกทางกฎหมายและการกําหนดนโยบายคือภาระรับผิดของภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงกับผลกระทบทางสิ่งแวดลอมที่เกิดขึ้น ปัจจัยที่เอื้อให้ทุนสามารถลอยตัวจากการรับผิดมีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

    1)เกษตรพันธสัญญาแบบปากเปล่า ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าทุนเชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกแหลงใดและภาครัฐไมมีมาตรการเอาผิดทุนที่เปนผูกอผลกระทบทางสิ่งแวดลอม รายงานของกรีนพีซเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในเขตภาคเหนือของไทยระบุว่าการที่เกษตรกรไทยสวนมากอยูภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาแบบปากเปลา ทําใหยังขาดขอมูลที่เชื่อมโยงวาบริษัท อุตสาหกรรมเกษตรใดที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกแหล่งใด ขอมูลที่ไม่สมบูรณ์กอปรกับการที่ภาครัฐไมมีมาตรการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เปนผูกอผลกระทบทางสิ่งแวดลอมและสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการเผาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า รวมถึงความไม่ชอบธรรมอื่นๆ รัฐบาลและประชาชนจึงไม่สามารถเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ในฐานะผู้ก่อมลพิษได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางสังคมต่อวิถีชีวิตของชุมชนภาคเหนือตอนบนของไทยทําใหเกษตรและชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ที่มักตกเป็นจําเลยเรื่องการเผา ดังนั้นประชาชนยังต้องแบกรับภาระทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสังคม โดยที่ผู้ได้ผลประโยชน์จากภาระเหล่านี้คืออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ (Greenpeace Thailand, 2022)  

    2)ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ยังใช้งานไม่ได้จริง กลุ่มธุรกิจมักอ้างว่าข้อมูลในบางจุดเป็นความลับทางการค้า บ้างก็อ้างว่ามีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ดีเพียงพอแล้ว ทำให้สาธารณะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างครบถ้วนในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ หรือปกป้องสิทธิของตนเองและคนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามภาคประชาชนยังเรียกร้องให้บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จะต้องสามารถระบุและเปิดเผยแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(corn traceability) และการรับซื้อที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมาใช้สร้างหลักประกันการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปราศจากการบุกรุกป่าและไม่เผาทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะต้องระบุรายละเอียดชัดเจนอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ รวมถึงต้องปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีกลไกการแจ้งเบาะแสและการตรวจสอบจากภายนอกที่เป็นกลาง พร้อมกับเปิดเผยสรุปผลการตรวจสอบและแนวทางยกระดับต่อสาธารณะด้วย

    3)ทุนเลือกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมอ่อนแอ เมื่อทุนเผชิญกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดหรือแรงกดดันจากประชาชน ก็มักเลือกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมอ่อนแอหรือแรงงานที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าตามกลไกที่เปิดให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี แม้กระทั่งธุรกิจที่ก่อมลพิษไปแล้วรัฐก็ไม่สามารถใช้กลไกทั้งในหรือระหว่างประเทศมาบังคับให้ทุนรับผิดชอบต่อการก่อมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่การฟ้องร้องคดีสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มธุรกิจต้องจ่ายเงินเยียวยา พวกเขาใช้วิธีอ้างว่าล้มละลายไม่มีศักยภาพในการจ่ายเงินหรือในบางกรณียังสามารถยืดเวลาการจ่ายค่าชดเชยออกไปได้อีกหลายสิบปีดังที่เกิดเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วหลายกรณี 

    สำหรับหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายนั้นจะเป็นมาตรการที่นำมาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เป็นเครื่องมือในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการกำจัดมลพิษหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กลายเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปลายเหตุภายหลังจากที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว และในบางครั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นั้นมีความรุนแรงมากจนยากแก่การแก้ไขเยียวยาให้ดีดังเดิมได้ รัฐจึงจำเป็นต้องหามาตรการอื่นมาใช้ในการป้องกันการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะไม่สามารถแก้ไขได้

    4)ทุนใช้วิธีการฟ้องปิดปาก (SLAPP) การฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic Lawsuit against Public Participation) เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อกดดัน จำกัดการแสดงออก และยุติข้อเรียกร้องจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิต่อเอกชน หลักการทำงานของ SLAPP ก็คือการฟ้องร้องดังกล่าวจะทำให้ขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนต้องเสียเวลานานและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการต่อสู้คดีความในฐานะจำเลยในศาล ทำให้ลดทอนทรัพยากรของการขับเคลื่อนผลประโยชน์ของสาธารณะจนเสียงของการเรียกร้องอ่อนแรงลงไปเอง ยิ่งในประเทศที่ภาระการพิสูจน์ในคดีหมิ่นประมาทเป็นของจำเลย ต้นทุนที่ตกกับขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิจะยิ่งทวีคูณ

    รางวัลที่ภาคธุรกิจ “ซื้อ” เพื่อแสดงภาพลักษณ์การมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

    ในยุคที่ทุนให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในสิ่งที่สามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจนั่นคือ ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance ปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล โดย Environment เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงในด้านความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม Social เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสาร กับ ลูกจ้าง suppliers ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อย่างไร และ Governance เป็นหลักการที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการบริการความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้แนวคิด ESG ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

    ต่อจากนั้นเกิดสถาบันที่ชื่อว่า “Ethisphere” ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2549 ได้กำหนด “มาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่มีจริยธรรม” เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจบริหารกิจการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเติบโตอย่างยั่งยืน มีแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมที่ดี โดยจัดทำมาตรฐานจริยธรรมสำหรับให้องค์กรต่างๆ นำไปใช้ รวมถึงภารกิจที่สำคัญของสถาบัน Ethisphere คือการประกาศและเผยแพร่รายชื่อบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลก (World’s Most Ethical Companies) เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการการันตีความสำเร็จด้านจริยธรรมในเชิงสัญลักษณ์ โดยเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2550 การคัดเลือกบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกจะพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้ระบบ Ethics Quotient (EQ) มีคำถามกว่า 200 ข้อในการวัดสมรรถนะการดำเนินกิจการขององค์กร 5 ด้าน ได้แก่ จริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎหมาย (35%) การปกครององค์กร (20%) ความรับผิดชอบต่อสังคม (20%) การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย (15%) การริเริ่มสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้นำ (10%)

    อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้ถูกแฉในสื่ออเมริกันหลายครั้งนานนับ 10 ปีว่า เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะบริษัทที่เข้าร่วมสามารถจ่ายเงินซื้อรางวัลผ่านการจ่ายเงินซื้อโฆษณา ค่าสมาชิกแนวร่วมเอกชนที่บริษัทจัดตั้งและค่าลิขสิทธิ์ในการใช้โลโก้รางวัล บริษัทส่วนใหญ่เสนอชื่อเข้าชิงเองมุ่งเน้นไปที่บริษัทขนาดใหญ่ Ethisphere มุ่งเน้นไปที่บริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางอาจไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะเข้าร่วมกระบวนการประเมิน ขาดการติดตามผลอย่างจริงจังว่าบริษัทที่ได้รับรางวัลมีการนำมาตรฐานจริยธรรมไปใช้ต่อเนื่องหรือไม่

    ประเด็นที่ทำให้คนกังขาในรางวัลนี้ที่สุดก็คือ รางวัลจริยธรรมสูงสุดถูกมอบให้กับบริษัทหลายแห่งที่เกิดเรื่องราวฉาวโฉ่ว่า ‘ผิดจริยธรรม’ ในเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่ได้รางวัล อย่าง บริษัท Eastman Chemical ซึ่งถูกฟ้องขึ้นศาลว่าไม่แจ้งประชาชนล่วงหน้าถึงอันตรายของสารเคมีจากโรงงานบริษัทที่รั่วไหลปนเปื้อนในแม่น้ำ หรือ Blue Shield of California ก็ถูกหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันวิพากษ์ออกสื่อว่าขึ้นราคาแพงและเร็วเกินไป จนทำให้ผู้ถือกรมธรรม์หลายหมื่นคนเดือดร้อน (สฤณี, 2567)

    ดังนั้นเกณฑ์การพิจารณา “บริษัทที่ยึดมั่นในหลักจริยธรรมมากที่สุดในโลก” นั้นไม่ได้การันตรีถึงความโปร่งใส รางวัลอาจเป็นเพียงเครื่องมือทางการตลาด ใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และอาจเป็นเพียง “การฟอกเขียว” (greenwashing) หรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจโดยไม่ได้ตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง แต่กระนั้น “เครือซีพี” ของประเทศไทยได้ติดอันดับบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกมา 4 ปีซ้อนจากการประกาศรางวัลนี้ด้วยเช่นกัน

     นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในสถานการณ์ฝุ่นข้ามพรมแดนในห้วงยามที่ทุนสยายปีก การแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ควรละเลยการพูดถึงกลุ่มทุนหรือธุรกิจที่มีส่วนในวงจรการเกิดฝุ่นพิษ ซึ่งไม่ได้ระบุเพียงธุรกิจเพียงธุรกิจเดียว นายทุนคนเดียว โครงการเดียว หรือนโยบายใดนโยบายหนึ่ง หากแต่เป็นการย้ำให้เห็นถึง “กลไก” ที่เอื้ออำนวยและให้อภิสิทธิ์กับทุนอุตสาหกรรมในการเข้ายึดฉวยทรัพยากร ละเลยผลกระทบสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาจไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนได้เลย


    อ้างอิง


    ผลงานชุดนี้อยู่ในโครงการ แผนงานภาคเหนือฮ๋วมใจ๋แก้ปัญหาฝุ่นควันที่มีผลต่อสุขภาวะนำไปสู่อากาศสะอาดที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือจากสภาลมหายใจเชียงใหม่และ Lanner สนับสนุนโดย สํานักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

    Related

    เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ยื่นหนังสือถึง นายก-ผู้ว่าฯ แนะค่าจ้างขั้นต่ำ 700 บาท/วัน

    1 พฤษภาคม 2567 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จัดขบวนแห่ผ้าป่าเสนอข้อเรียกร้องและยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในเนื่องโอกาสวันแรงงานสากล ปี 2567 ณ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่...

    เศรษฐกิจพัง ค่าแรงยังขึ้นไหม? สำรวจการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลกในปี 2024 นี้ ประเทศไหนขึ้นบ้าง

    1 พ.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานสากล หลายประเทศทั่วโลกมักจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงในวันนี้ แต่ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ทั่วโลกเจอวิกฤติการณ์โควิด-19...

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ...