ชุดนักเรียน: อำนาจ และการกดขี่ทางเพศ

เรื่อง: ณัฐมน สะเภาคำ นักวิจัยอิสระสายสตรีนิยม



ชีวิตวัยเรียนมัธยมของผู้คนในแต่ละ Generation กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ช่างมีความแตกต่างกันอย่างเหลือล้นทั้งในด้านเทคโนโลยีในการเข้าถึงความรู้นอกห้องเรียน ความคร่ำครึของตำราและวิชาที่เรียน (ไหนใครเคยเรียนรำกระบี่กระบอง,เต้นลีลาศ,ทำกระทง,เชื่อมเหล็ก,ปลูกผักบุ้ง,เลี้ยงกบ ยกมือขึ้น) รวมทั้ง วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่กดขี่กันไปมาในพื้นที่โรงเรียน ห้องเรียน และนอกห้องเรียนจากครูฝ่ายปกครอง ครูภาษาไทย ฯลฯ ที่อาจร่นถอยลงไปบ้าง ประสบการณ์ของผู้ใหญ่ในวันนี้ช่างแตกต่างกับเด็กนักเรียนไทยในปัจจุบันอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยสักนิดคือ แนวคิดเรื่องเครื่องแบบ ความเหลื่อมล้ำ และการกดขี่ทางเพศ..

เป็นที่น่าตกใจแม้ผู้คนจะข้ามผ่านยุค Y2K จนมาถึงตอนนี้ที่มนุษย์สามารถเพาะน่องไก่จากเซลล์ในห้องแลปขึ้นมาแทะกินได้อย่างสบายๆ แต่แนวคิดเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน ความเหลื่อมล้ำ และการกดขี่ทางเพศกลับไม่แม้แต่จะห่างหายไปจากพื้นที่ที่มีชื่อเรียกว่า”สถาบันการศึกษา”

อ้างอิงจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ที่เคยถูกลงโทษหลายครั้ง หลายรูปแบบจากการใส่ถุงเท้ามีสี ข้อสั้น ทรงผมที่สั้นถึงติ่งหูแต่ไม่สามารถซอยให้ดูมีสไตล์ได้ หรือแม้แต่เรื่องส่วนตัว เช่น การใส่เสื้อชั้นในที่เหมาะกับทรวงอกของตัวเองทั้งๆ ที่สวมเสื้อซับแล้วแต่ยังไม่ถูกระเบียบ เพียงเพราะครูเอามือลูบหลังแล้วพบว่าเป็นชั้นในตะขอเหล็ก! พื้นที่ส่วนตัวทั้งทรงผมและเรือนร่างของเด็กนักเรียนคนหนึ่งถูกสอดส่อง จัดแจง และถูกกดขี่ทาง ‘อำนาจ’ ให้ต้องทำตามกฎจนนำไปสู่การล่วงละเมิดอธิปไตยบนร่างกายอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ตั้งคำถาม จนถูกทำให้เชื่องอยู่ในสถาบันการศึกษาอันทรงเกรียรติ

ที่ผ่านมา เราจะรู้จักกับวิชาโต้วาทีหรือการดีเบต (ที่พอเป็นหลักสูตรแบบไทยๆ ดันต้องท่องกลอนมาแข่งกันเฉย) สังคมไทยเคยถกเถียงเรื่องข้อดี-ข้อเสียของชุดนักเรียนมานับครั้งไม่ถ้วน และเมื่อสำรวจถึงความคิดเห็นจากฝั่งของคนที่สนับสนุนเครื่องแบบก็มักจะอ้างถึง ความปลอดภัยของเยาวชนเพื่อป้องกันอันตรายจากบุคคลภายนอก, เยาวชนจะได้ไม่ต้องกังวลว่า ในแต่ละวันจะแต่งตัวอย่างไรไปโรงเรียน, การสร้างภาพลักษณ์ที่ดูเรียบร้อยสมวัย และเหตุผลคลาสสิกสุดๆ ก็หนีไม่พ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบในเรื่องของฐานะทางครอบครัวภายในโรงเรียน 

อืมม… เพื่อป้องกันอันตรายจากคนภายนอก? แล้วถ้าอันตรายเกิดขึ้นภายในสถานศึกษาหล่ะ ข่าวนักเรียนโดนลูกหลงจากการยกพวกตีกัน ข่าวนักเรียนถูกครูล่วงละเมิด นักเรียนกลั่นแกล้งกันเอง ฯลฯ คุณจะแก้ไขอย่างไร? เพื่อไม่ต้องคิดหาชุดในแต่ละวัน คุณเคยประสบปัญหาเสื้อนักเรียนซักไม่แห้ง สีเลอะ รอปักชื่อหรือไม่? สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้นักเรียนหลายคนเครียดพอๆ กัน แค่ใส่ชุดพละไปผิดวันยังโดนทำโทษเลย การจัดระเบียบภาพลักษณ์ในพื้นที่ๆ ต้องรวมคนหมู่มากมาอยู่ด้วยกันเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยสบายตา สบายใจ (ของใคร ?)  สุดท้ายคือเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำ ซึ่งฟังไม่ขึ้นมากๆ ผู้เขียนเข้าใจว่ามีเด็กในพื้นที่ห่างไกลที่ตื่นเต้นกับการใส่ชุดนักเรียน แต่เด็กเหล่านั้นก็สามารถใส่รองเท้าแตะ หรือใส่กางเกงวอร์มข้างในกระโปรงได้ ซึ่งมันคนละเรื่องกับการถูกบังคับกดขี่ที่เราพบเจอในโรงเรียนชั้นนำในเมือง

จริงหรือที่ชุดนักเรียนช่วยลดความรู้สึกเหลื่อมล้ำในวัยเยาว์จากการเปรียบเทียบฐานะทางบ้านของตัวเองกับเพื่อนๆ  ในขณะที่เราต้องใส่ชุดนักเรียนเหมือนกัน แต่เพื่อนเราดันใช้กระเป๋าเป้ Off White, นาฬิกา G-Shock, พกลิปชาแนล ฯลฯ มันไม่แสดงถึงเหลื่อมล้ำตรงไหน? และจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผู้เขียนไม่ต้องรอให้เพื่อนใช้แบรนด์เนมหรอก แค่ต้องนั่งรถโรงเรียนไปกลับที่บ้านแต่เพื่อนมีพ่อแม่ขับรถเก๋งมารับส่ง แค่นี้ก็รับรู้ได้แล้วว่าบ้านจนจ้า

อรัมภบทสะยืดยาว มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า โดยรวมแล้วชุดนักเรียนที่ว่าดีและทรงคุณค่า โดยตัวของชุดนักเรียนเองมันไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย มันอยู่ที่การบังคับใช้ ซึ่งมันควรจะเป็นเรื่องที่ ‘ใครใคร่ใส่ใส่’ เราสามารถทำให้มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลก็ได้ ถ้าบ้านคุณขายชุดนักเรียน คุณจะมีคอเลคชั่นกระโปรงสีกรมอ่อน กรมเข้ม และจะใส่สัก 7 วันก็ย่อมได้ ปัญหาของการบังคับใส่ชุดนักเรียนไม่ได้มีเพียงเรื่องจุกจิกอย่างที่เราเข้าใจแต่มันนำมาซึ่ง ‘มาตรฐานการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม’ ด้วยนี่สิ

ในงานศึกษาของผู้เขียนเรื่อง Online Representation of Skoy Teens and Sexual Double Standard Issue (Nattamon Saphaokham,2021) ได้เผยให้เห็นว่า พื้นที่ที่วัยรุ่นหญิงพบเจอกับการกดขี่ทางเพศมากที่สุดคือ ‘โรงเรียน’ และชุดนักเรียนได้สร้างปัญหาต่อนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย เนื่องจาก ในอดีตบทบาทของสถาบันทางสังคมคือการมุ่งหวังที่จะสร้างการควบคุมและคาดหวังการดำรงอยู่ของวัยรุ่นผู้หญิงให้เป็นไปตามวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีหลักของไทย หรือ ‘กุลสตรี’ ซึ่งการสวมเครื่องแบบมักจะนำมาสู่การบงการร่างกาย รวมทั้งการเคลื่อนไหว (Movement) ตามขนบ เช่น การนั่งพับเพียบ,คลานเข่า, การลุก ไหว้ ยืน เดิน ไปจนถึงการกำกับความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เพียงครูกับนักเรียนแต่เป็นการขีดเส้นความสัมพัธ์ระหว่างชาย-หญิงด้วย

หลายครั้งที่วัยรุ่นหญิงในสถาบันการศึกษามักถูกลงโทษในประเด็น ‘ชู้สาว’ เพียงเพราะใกล้ชิดเพื่อนนักเรียนชายมากเกินไปทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ รวมทั้งการสอดส่องควบคุมร่างกายนักเรียนหญิงจากครูผู้หญิงที่มีแนวคิดปิตาธิปไตยและใช้อำนาจลงโทษนักเรียนหญิงเข้มงวดกว่าการลงโทษนักเรียนชายก็เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในทุกสถาบัน  สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความกดดันและความรู้สึกแปลกแยกให้แก่นักเรียนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎได้ ในขณะเดียวกันนักเรียนที่ปฏิบัติตามกฎได้ก็จะกลายเป็นลูกรักหรือได้รับการสนับสนุนที่ดีกว่าทั้งในด้านการเรียน และการใช้ชีวิตในโรงเรียน 

งานศึกษาได้เผยให้เห็นว่า ‘วัยรุ่นสก๊อย’เลือกที่จะไม่เรียนต่อมัธยมปลายเนื่องจากความกดดันจากการถูกเลือกปฏิบัติทั้งๆ ที่ใส่ชุดนักเรียนเหมือนกันแต่เมื่อพวกเธอไม่แสดงตัวเป็นกุลสตรีและไม่สยบยอมต่อกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม ทำให้บรรดาวัยรุ่นหญิงเหล่านี้ ถูกผลักออกไปจาก ‘ความเป็นปกติ’ และนำไปสู่การลงโทษ การเหน็บแนมจากผู้มีอำนาจ ทำให้พวกเขาต้องสร้างตัวตนหรือหาพื้นที่ใหม่ ๆ มาเป็นกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านอำนาจในระดับต่างๆ เพื่อบรรเทาความตึงเครียดจากการถูกควบคุมอัตลักษณ์ความเป็นหญิงของวัยรุ่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย และปัจจุบันเราพบว่ามีเยาวชนเพศหลากหลายอีกมากในสถานศึกษาที่ไม่ต้องการแสดงตนแบบสองเพศอีกต่อไป (Heterosexual)  ดังนั้น เครื่องแบบนักเรียนนอกจากจะจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของวัยรุ่นแล้ว ยังไปลดทอนความสามารถในการสื่อสารความต้องการด้วยเหตุผลระหว่างผู้มีอำนาจและผู้อยู่ใต้อำนาจ และขัดขวางไม่ให้เกิดการเจรจาหาข้อสรุปอย่างมีอรายะตามรากฐานของสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย

ในท้ายที่สุด ผู้มีอำนาจควรจะต้องทบทวนว่าชุดนักเรียนยังจำเป็นอยู่หรือไม่ตามหลักการความเป็นจริงของยุคสมัย ? ผู้เขียนไม่ได้สนับสนุนให้ต้องยกเลิกชุดนักเรียน แต่ทำให้เกิดความยืดหยุ่นได้หรือไม่ ?     (อย่างน้อย ๆ นักเรียนหญิงควรมีสิทธิใส่กางเกง และนักเรียนเพศหลากหลายสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ตามสมควร) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจกับนักเรียนสามารถต่อรองกันได้ เราจะสามารถยกเรื่องเสรีภาพการแต่งกายในสถานศึกษาให้เป็นเรื่องสำคัญที่ถูกนำมาปรับใช้ในทุกโรงเรียนได้หรือไม่ ?          (ทั้งโรงเรียนห่างไกลและโรงเรียนระดับภูมิภาค) นี่ต่างหากคือโจทย์ที่สถาบันการศึกษาต้องนำไปคิด เพราะหากยังดึงดันฝืนกระแสต่อไปเช่นนี้

เครื่องแบบนักเรียนก็ยังคงเป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ไม่เข้าท่าของสถานศึกษา ที่มุ่งแต่จะสอดส่อง บังคับ ลงโทษ ให้เยาวชนต้องอยู่ในกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นดังที่กล่าวไป และการทำให้เกิดความเชื่องในการปฏิบัติให้นักเรียนต้องทำตามๆ กัน (หรือทำอย่างไรให้ไม่ถูกลงโทษ) สิ่งหล่านี้แสดงให้เห็นชัดว่า     ‘เครื่องแบบนักเรียนไม่สามารถหยุดยั้งความคิดสร้างสรรค์ของวัยรุ่นที่ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกทางตัวตนและอัตลักษณ์ในวัยกลัดมันได้อย่างแน่นอน’ หากระบบอำนาจนิยมในสถานศึกษายังไม่ถูกปฏิรูปไปสู่การเปลี่ยนแปลง การซุกปัญหาไว้ใต้ชุดนักเรียนจะไม่มีวันขาวสะอาดอีกต่อไป และนานวันไปเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็จะยิ่งตื่นตัวและจะแหกระบบอำนาจผ่านเครื่องแบบที่เป็นดั่งตราบาป เป็นต้นตอของปัญหาการใช้ ‘อำนาจ’ ที่ไม่เป็นธรรม นำเอามาฉายซ้ำๆ วนๆ อย่างที่คุณอั้ม เนโกะเคยทำ และน้องหยกกำลังทำในอยู่ตอนนี้ และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอำนาจการครอบงำจะใช้ไม่ได้กับปีศาจแห่งกาลเวลาอีกต่อไป


อ้างอิง

  • ข้อดีข้อเสียของ “ชุดนักเรียน” VS “ชุดไปรเวท” https://seahorseandgrizzlybear.com/2021/01/27/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E2%9C%85%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E2%9D%8E%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%99/

นักวิชาการอิสระสายสตรีนิยม และผู้ร่วมก่อตั้ง Sapphic Pride(QUEER FEMINIST COMMUNITY) จบปริญญาโทจากศูนย์สตรีศึกษาและเพศภาวะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขา Asian Language and Culture ที่ University of Wisconsin-Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง