19 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ตัวแทนผู้ฟ้องคดี ประกอบด้วย นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และภาคประชาชน เดินทางมารับฟังคำพิพากษาในคดีฟ้องฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ หลังฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 เหตุละเลยและปฎิบัติหน้าที่ล่าช้า ส่งผลกระทบต่อประชาชน จากรัฐบาล สมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยเครือข่ายประชาชนภาคเหนือมีข้อเรียกของทางคดีดังนี้
1.ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์
2.ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ
โดย ศาลปกครองเชียงใหม่ได้พิพากษาสั่ง นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทำแผนแก้ปัญหาฝุ่นภายใน 90 วัน นับแต่คำพิพากษา
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น CPCR ผู้รับมอบหมายของผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 คน กล่าวว่า คำพิพากษาในครั้งนี้ชัดเจนขึ้นกว่าครั้งก่อน ในครั้งก่อนที่มีการประกาศให้มีพื้นที่ควบคุมมลพิษและให้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งไม่มีการเจาะจงว่ารัฐบาลจะต้องทำอย่างไร แต่ในครั้งนี้คำพิพากษามีการเจาะจงว่าให้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนว่าให้ดำเนินการทำแผนฉุกเฉินภายใน 90 วัน ซึ่งการตัดสินคดีในครั้งนี้เป็นสิ่งที่คาดหวังไว้ตั้งแต่ต้นว่าอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในการปฎิบัติการที่เป็นรูปธรรมและมีหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการ และมีอำนาจในการตัดสินใจที่ชัดเจนเร่งด่วน
“ศาลพิจารณาว่า นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลย ล่าช้าในการปฎิบัติหน้าที่ ข้อวินิจฉัยของศาลชี้ให้เห็นว่าการมอนิเตอร์เรื่องฝุ่นควันของรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ”
ด้าน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์ด้านโรคหัวใจ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี เล่าว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ชัดเจนที่สุด หลังศาลออกมายอมรับว่าฝุ่นควัน PM2.5 มีผลกระทบของต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว และเป็นครั้งแรกที่เราเริ่มมองเห็นว่าเรามีโอกาสที่จะหายใจได้มากขึ้น
นพ.รังสฤษฎ์ ย้ำว่ากลไกของการแก้ไขปัญหาฝุ่นต้องไปถึงบริษัททุนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมามีการพยายามชี้แจ้งแต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลไม่ได้รับฟ้อง ผู้ถูกฟ้องที่ 3 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และผู้ถูกฟ้องที่ 4 คณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ชนกนันทน์ นันตะวัน สมดุล-เชียงใหม่ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี เล่าว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วในฐานะภาคประชาชนก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบ และมีหน้าที่ในการชี้แจง แจ้งข้อเท็จจริงในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐว่าจะเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่
“อยากให้ทุกคนออกมาปกป้องสิทธิในการมีอากาศหายใจของเรา ไม่อยากให้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 หมุนเวียนกลับมาทุกปีและเราก็แก้ไม่ได้ อยากเห็นแผนการแก้ไขปัญหาที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ที่มีการบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่น ข้อเท็จจริงและเสียงของประชาชนในพื้นที่ และก็อยากเห็นงบประมาณและการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้จริงๆ และจะต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา ให้ปัญหา PM2.5 หายไปในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย”
ชนกนันทน์ ย้ำว่า ปัญหาฝุ่นควันไม่ได้มีแค่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่เป็นส่วนสำคัญ ผู้ปล่อยมลพิษหลักๆ มีหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมที่เราจะต้องดำเนินการเรียกร้องให้ผู้ปล่อยมลพิษหลักเหล่านี้เห็นความสำคัญและร่วมกันแก้ไขปัญหากันอย่างเร่งด่วน
จากคำพิพากษาของศาล สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี ได้แบ่งเรื่องที่สำคัญออกเป็น 3 เรื่อง คือ 1.ฝุ่นเป็นปัญหาวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน 2.รัฐบาลประยุทธ์และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยและปฎิบัติหน้าที่ล่าช้า ในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาที่รัฐบาลยกให้เป็นวาระแห่งชาติรวมไปการมาตรการต่างๆ ในหลายปีที่ผ่านมาเป็นมาตรการที่ล่าช้าและไม่ทันการ เพราะฉะนั้นในการรับมือกับเรื่องฝุ่นต้องมีการจัดการแบบใหม่ไม่ใช่การสั่งการแบบระบบราชการแบบเดิม และ 3.คำพิพากษาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น พวกเราทั้งหมดยังต้องทำงานในเรื่องนี้อยู่ นี่เป็นคำสั่งของศาลให้มีการทำแผนรับมือภายใน 90 วัน หมายความว่าเราไม่อาจรอแค่คำพิพากษาเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการติดตามหรือแม้กระทั้งมีหนังสือถึงอัยการว่าอย่าอุทธรณ์คำสั่งนี้
สมชาย ชี้ว่า คำพิพากษานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่า การทำงานที่ผ่านมาล้มเหลวไม่ทันการ ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาเรื่องฝุ่น ความใส่ใจและแรงผลักดันทั้งหมดของประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญที่ต้องทำกันต่อ ทั้งประโยชน์ของคนที่มีชีวิตอยู่รวมถึง Generation ถัดไป และหวังว่าครั้งนี้จะเป็นบทเรียนในรัฐบาลเศรษฐาจะต้องจัดการเรื่องนี้อย่างรอบด้านมากขึ้น และบูรณาการงานต่าง ๆ มากขึ้น
นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี ได้กล่าวอีกว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคำพิพากษาคือการบังคับตามคำพิพากษา นัทมน คาดหวังว่าจะได้เห็นผลการดำเนินการที่มีแผนการบูรณาการออกมาเป็นรูปธรรม นัทมน ยังกล่าวอีกว่าตัวชี้วัดที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาคือค่าฝุ่นในปีนี้ คาดหวังว่าค่าฝุ่นจะลดลง
“ถึงแม้ว่าเราจะฟ้องที่เชียงใหม่แต่เราคาดหวังว่าจะส่งผลให้เกิดการดำเนินการทั่วภูมิภาคเหนือ รวมไปถึงฝุ่นข้ามแดน”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...