กรีนพีชเปิดแคมเปญ ‘ฮักภาคเหนือบ่เอาถ่านหิน’ ถึงเวลา ‘SCG’ ต้องปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: วิศรุต แสนคำ

18 กันยายน 2567 เวลา 16.30 – 20.00 น. กรีนพีซ ประเทศไทย จัดกิจกรรม ‘ฮักภาคเหนือ บ่เอาถ่านหิน’ ณ ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรณรงค์และสื่อสารถึงผลกระทบของโครงการเหมืองถ่านหินที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรียกร้องให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG หยุดแผนการรับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และยุติโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง พร้อมสื่อสารต่อสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการที่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชนในประเทศไทยต้องเริ่มปลดระวางการใช้ถ่านหิน  ซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานที่ล้าสมัยและส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม การคงเดินหน้ากับการใช้ถ่านหินและการขยายโครงการเหมืองถ่านหินในภาคเหนือจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อชุมชนในพื้นที่  

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่เน้นสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้พลังงานถ่านหิน อาทิ Performance Arts และกิจกรรมฮ้องขวัญ (สู่ขวัญ) โดยมีมาสคอต ‘น้องฟาดฝุ่น’ ช้างเผือกที่เคยสวยงาม แต่กำลังปนเปื้อนถูกทำลายจากโครงการเหมืองถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีเสวนาในหัวข้อ ‘ถ้าฮักบ้านเฮา : ต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน’ ที่มุ่งเน้นการรับรู้ถึงผลกระทบจากถ่านหินและการดำเนินงานของธุรกิจที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) เพื่อปกป้อง เคารพ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในหลายมิติ ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ จากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)

ถ้าฮักบ้านเฮา : ต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน

ซ้ายไปขวา พชร คำชำนาญ สนอง อุ่นเรือง ธนกฤต โต้งฟ้า มะลิวรรณ นาควิโรจน์ สุมิตรชัย หัตถสาร ชนกนันทน์ นันตะวัน พีรณัฐ วัฒนเสน เจษฎา กล่อมลีลา

เสวนาเริ่มต้นที่ มะลิวรรณ นาควิโรจน์ นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และตัวแทนจากพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจาก ‘โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง หนึ่งในพื้นที่ที่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

มะลิวรรณ เล่าถึงประสบการณ์การอาศัยอยู่ห่างจากเหมืองถ่านหินเพียง 300 เมตร ด้วยการขยายตัวของเหมือง ทำให้มะลิวรรณและชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง ฝุ่นจากการขุดเหมืองเข้ามาปกคลุมภายในหมู่บ้าน ซึมลึกเข้าไปถึงห้องครัว ห้องนอน หรือแม้กระทั่งจานอาหาร การเปิดหน้าดินเพื่อหาถ่านหินไม่เพียงสร้างฝุ่น แต่ยังปล่อยกลิ่นเหม็นจากการสันดาปของถ่านหิน และเสียงดังจากเครื่องจักรที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนสั่นสะเทือนและแตกร้าว นี่คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม

ด้านสุขภาพ มะลิวรรณระบุว่า ชาวบ้านในแม่เมาะต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งในบางช่วงทำให้ชาวบ้านทั้งอำเภอเจ็บป่วย มลภาวะจากการเผาไหม้ถ่านหินทำให้เกิดภาวะอากาศกด ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ แต่กลับต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่า การเจ็บป่วยนั้นมาจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจริง ๆ

ด้านความล้มเหลวในการเยียวยาและปัญหาสิทธิในที่ดิน แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่และจัดหาที่ดินใหม่ให้ แต่จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านยังไม่ได้รับโฉนดที่ดินตามสัญญา ทั้ง ๆ ที่ต้องละทิ้งบ้านเกิดและวิถีชีวิตดั้งเดิม สิ่งนี้สะท้อนถึงการขาดความรับผิดชอบและการละเลยปัญหาของรัฐ ทั้งในด้านการเยียวยาผลกระทบทางสุขภาพและการจัดหาที่ดินอย่างเป็นธรรม

มะลิวรรณเน้นย้ำว่า การใช้พลังงานถ่านหินทำให้ผู้ประกอบการและกลุ่มทุนได้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านรอบเหมืองและโรงไฟฟ้ากลับต้องเสียสละชีวิตและสุขภาพไปโดยไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่า ชาวบ้านเป็น ‘คนกลุ่มน้อย’ ที่ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่คำถามสำคัญคือ “ในเมื่อมองว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อย ในเมื่อมองว่าเราจะต้องเป็นผู้เสียสละให้คนส่วนใหญ่ แล้วเหตุไฉนถึงรังแกคนกลุ่มน้อยอย่างเรา แล้วเหตุไฉนถึงปล่อยให้คนกลุ่มน้อยอย่างเราต้องออกมาเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะจริงใจแก้ปัญหาให้กลุ่มน้อยอย่างเรา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นนโยบายของรัฐบาล มันเป็นธรรมอย่างไรที่ให้เรามาเป็นเหยื่อ เป็นเหยื่อด้วยการใช้คำว่า ‘ชนกลุ่มน้อย’ ถ้าถ่านหินต้นทุนถูก ทำไมชนกลุ่มน้อยอย่างเราถึงไม่ได้ถูกละเว้นเรื่องการเก็บค่าไฟ ทำไมคนกลุ่มน้อยอย่างเราต้องเสียค่าไฟเทียบเท่ากับคนกลุ่มใหญ่ที่ได้รับประโยชน์เล่า” มลิวรรณกล่าว

มะลิวรรณปิดท้ายด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจยุติการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน เนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน โดยชี้ให้เห็นว่า คนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบควรได้รับการดูแลและเยียวยา ไม่ใช่ถูกละเลยในนามของ ‘การเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่’

ถัดมาที่ สนอง อุ่นเรือง นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนจากพื้นที่แม่ทะ ซึ่งได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยอาศัยอยู่ที่แม่เมาะ ก่อนย้ายมาที่อำเภอแม่ทะเนื่องจากผลกระทบจากเหมืองถ่านหินที่แม่เมาะ แต่กลับพบว่าที่แม่ทะกำลังเผชิญกับสถานการณ์คล้ายกัน สนองเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่แม่ทะ ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ดอยพระฌาน และดอยม่อนธาตุ ที่เป็นพื้นที่ ‘unseen’ ของประเทศไทย

ที่ผ่านมา ชุมชนบ้านกิ่วและบ้านบอม ในอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางได้รับงบประมาณเพื่อมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน หากอำเภอแม่ทะมีโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ ชุมชนมีความกังวลเป็นอย่างมากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

สนองอธิบายถึงผลกระทบจากเหมืองถ่านหิน ทั้งการทำลายแหล่งน้ำที่ชุมชนใช้ทำการเกษตร และการสร้างมลภาวะ เช่น ฝุ่นและคลื่นสั่นสะเทือนจากการระเบิดหน้าดิน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้างและแหล่งท่องเที่ยว สนองยังกล่าวถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่ถูกคุกคามจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน โดยวิถีการเก็บเห็ด ผักหวาน และไข่มดแดง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ที่อาจต้องสูญหายไป

สนองทิ้งท้ายว่า ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การค้า และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธนกฤต โต้งฟ้า ตัวแทนจากกลุ่ม R2S ซึ่งสื่อสารกี่ยวกับประเด็นสิทธิชนเผ่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่เกิดในหมู่บ้านคลิตี้ (ล่าง) จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถูกละเมิดสิทธิจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว ได้รับผลกระทบจากการที่สารตะกั่วได้ปนเปื้อนลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นประหนึ่ง ‘ลำห้วยแห่งชีวิตเพียงสายเดียวที่หล่อเลี้ยงชุมชน’ ทำให้ธนกฤตและชุมชนเผชิญกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เกิด 

ธนกฤตเล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งชุมชนฟ้องร้องและชนะคดีในศาล แต่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูและเยียวยาอย่างเต็มที่และจริงจัง สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงเป็นปัญหาสำหรับชุมชน นอกจากนี้ การฟื้นฟูที่ดำเนินการอยู่กลับใช้เงินภาษีของประชาชนแทนที่จะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้ก่อมลพิษ

ธนกฤต ได้นำเสนอกรณีนี้เพื่อสะท้อนถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง โดยย้ำว่าปัญหาดังกล่าวมีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ในภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบาง และมีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการต่อสู้กับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า การละเมิดสิทธิชนเผ่า และการกล่าวโทษชนเผ่าว่าทำลายป่า โดยเน้นประเด็นที่รัฐและกลุ่มทุนละเลยสิทธิและส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพยากรและอนาคตของพวกเขา

ทั้งนี้ ธนกฤตยังได้กล่าวถึงหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ที่รัฐไทยรับรองว่าจะนำไปปฏิบัติ ซึ่งเน้นให้รัฐมีหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคธุรกิจต้องเคารพสิทธิ และประชาชนมีสิทธิเข้าถึงกลไกเยียวยา แต่ยังมีข้อท้าทายในการบังคับใช้และความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ อาทิ แผน NAP ที่ออกมานั้นยังไม่ได้รับการบังคับใช้อย่างจริงจัง ทำให้ธุรกิจเอกชนยังคงละเมิดสิทธิประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ในประเด็นของ สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายผู้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สุมิตรชัยได้พบกับปัญหามากมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)  ในประเทศไทย

สุมิตรชัยระบุว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ภาระในการพิสูจน์ผลกระทบตกอยู่ที่ประชาชน ซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากมาย ในกรณีของอมก๋อย สุมิตรชัยพบว่า รายงาน EIA มีปัญหาหลายประการ ทั้งในเรื่องของ กระบวนการมีส่วนร่วมที่ไม่โปร่งใส รายชื่อชาวบ้านที่ปรากฏในรายงาน EIA ไม่ถูกต้อง มีการปลอมแปลงลายมือชื่อและลายนิ้วมือ ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการเหมือง และบางครั้งถูกเรียกมาเพื่อแจกของโดยไม่ได้อธิบายถึงผลกระทบของเหมือง หรือ ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยรายงาน EIA ระบุว่าพื้นที่ที่จะทำเหมืองเป็นป่าเสื่อมโทรม ทั้งที่จริงเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้าน

สุมิตรชัยและทีมงานใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อนำมาโต้แย้งรายงาน EIA ที่มีข้อบกพร่อง นำไปสู่การฟ้องคดีในปี 2565 โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องและการละเมิดสิทธิของชุมชน สุมิตรชัยชี้ให้เห็นว่ากระบวนการทำ EIA ในประเทศไทยมีปัญหา เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นผู้จ้างที่ปรึกษามาทำรายงานเอง โดยสถิติล่าสุดจากบทความของ 101world ระบุว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงาน EIA ฉบับใดที่ไม่ผ่านการอนุมัติ เวลาในการพิจารณารายงานก็จำกัดเพียง 45 วันเท่านั้น ทำให้การตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นไปได้ยาก

การทำ EIA ควรเป็นเครื่องมือในการประเมินความเหมาะสมของโครงการ โดยพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน หากผลกระทบมีมากเกินไป โครงการควรถูกยับยั้ง อย่างไรก็ตาม กระบวนการในปัจจุบันกลับไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลที่อาจขาดความเข้าใจในภาษาและข้อมูลที่ซับซ้อน ทั้งนี้ ในรายงาน EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ระบุว่า ถ่านหินที่ขุดขึ้นมาจะถูกส่งไปยังโรงงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ที่จังหวัดลำปาง สุมิตรชัยและชุมชนจึงได้ตั้งคำถามต่อ SCG ว่าจะรับซื้อถ่านหินจากโครงการที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิชุมชนหรือไม่

สุมิตรชัยเน้นย้ำว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ การมีโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่เหล่านี้ขัดแย้งกับหลักการรักษาสิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งภูมิภาค จึงเรียกร้องให้รัฐและประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าต้นน้ำและสิทธิของชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

เจษฎา กล่อมลีลา เยาวชนจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงสะกออำเภออมก๋อย ศิลปินที่ทำเพลงเกี่ยวกับการคัดค้านเหมืองแร่ เล่าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่พึ่งพาป่าเพื่อการดำรงชีพ ทำเกษตรและใช้น้ำจากธรรมชาติ หากมีเหมืองแร่เกิดขึ้น มันจะกระทบต่อสิ่งเหล่านี้อย่างรุนแรง เจษฎาจึงลุกขึ้นมาต่อสู้และใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำเหมือง

ใช่ ฉันอยู่กับป่า กินกับป่า ฉันทำมาหากิน ใช่ ฉันเป็นคนป่า คนดอย ป่าคือชีวิน ใช่ ฉันมีหัวใจ แต่คนบางกลุ่มมองฉันแค่เศษดิน ฉันจึงลุกขึ้นสู้ให้คนได้รู้ แต่เหมือนเขาไม่ได้ยิน ฉันถูกเผาบ้าน ถูกทำลายแหล่งทำมาหากิน ไล่ให้ฉันห่าง ข่มเหง น้ำตาไหลริน โลกมันโหดร้าย หรือว่าหัวใจคนที่มืดทมิฬ ฉันตะโกนเท่าไหร่ ทำไมพวกเขาทำเหมือนว่าไม่ได้ยิน

ในบทเพลงของเจษฎาได้สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดของชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่าและถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม เขาตั้งคำถามถึงความโหดร้ายของสังคมที่ไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของชนเผ่า ในขณะที่รัฐและกลุ่มทุนกลับใช้อำนาจทำลายทรัพยากรป่าที่เป็นชีวิตของพวกเขา

เจษฎาทิ้งท้ายว่า จริง ๆ แล้วชนเผ่าพื้นเมืองรักษาป่ายิ่งกว่าคนอื่น เพราะป่าเป็นแหล่งทำมาหากินและดำรงชีพตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เจษฎาไม่อยากให้คนในสังคมมองว่าชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้ทำลาย แต่กลับเป็นผู้ที่รักษาและพึ่งพิงป่ามาโดยตลอด

ชนกนันทน์ นันตะวัน กลุ่มสมดุลเชียงใหม่ ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อจัดการปัญหานี้ ชนกนันทน์กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงการทำเหมืองแร่ โดยแสดงความกังวลว่า ชาติพันธุ์บนดอยมักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อมลพิษ ขณะที่ผู้ก่อมลพิษจริงๆ มักไม่ต้องรับผิดชอบ

ชนกนันทน์ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยสิ่งที่ห่วงคือ การที่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมักจะมาถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทีหลัง ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสในการปกป้องสิทธิของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในประเด็นฝุ่น PM2.5 และการทำเหมืองถ่านหิน ชนกนันทน์อธิบายว่า แม้จะมีการพูดถึงปัญหานี้มาเป็นเวลานาน แต่การปล่อยมลพิษจากการทำเหมืองถ่านหินและอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ชนกนันทน์ได้เน้นถึงความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างการจัดการสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและนโยบายของรัฐ โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบมักไม่มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและปกป้องสิทธิของตน

สุดท้าย ชนกนันทน์เรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น รวมถึงการทำให้กฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดมีความสำคัญต่อสิทธิของชุมชนและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

พีรณัฐ วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาที่ภาคเอกชนหลายแห่งที่ยังคงใช้ถ่านหิน แม้ว่าจะมีพลังงานทดแทนที่สะอาดกว่าให้เลือกใช้แล้ว

พีรณัฐยกตัวอย่างบริษัท SCG ที่ยังคงมีการใช้ถ่านหิน โดยเล่าถึงการรณรงค์ของกรีนพีซที่ส่งจดหมายถึง SCG ให้หยุดทำเหมืองถ่านหินในพื้นที่แม่ทะและไม่รับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินในอำเภออมก๋อย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น พื้นที่เหมืองเหล่านี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้าน และบริษัท SCG มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหินในพื้นที่สำคัญหลายแห่ง

การที่ SCG ได้รับรางวัลบริษัทต้นแบบด้านความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกให้บริษัทฯ ต้องมีความรับผิดรับชอบต่อสังคม SCG ต้องประกาศแผนปลดระวางถ่านหินต่อสาธารณะชนโดยทันที และจะต้องไม่ดำเนินการโครงการเหมืองถ่านหินที่อาจจะละเมิดต่อสิทธิที่ดิน ชุมชน สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอีก หาก SCG ยังคงเดินหน้าในโครงการเหมืองถ่านหิน รางวัลทั้งหมดที่ได้รับมาถือเป็นเพียงการฟอกเขียวเท่านั้น” พีรณัฐ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้สามารถร่วมลงชื่อเพื่อหยุดโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จังหวัดลำปาง และโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกกับ #น้องฟาดฝุ่น ที่จะเป็นผู้พิทักษ์ไม่ให้เกิดโครงการเหมืองถ่านหินทั้งสองแห่งในภาคเหนือ เพื่อนำข้อเรียกร้องไปมอบให้ต่อ SCG ได้ที่ https://act.gp/coal-scg

อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂

ข่าวที่เกี่ยวข้อง