เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา Chiang Mai Touch ร่วมกับ Mahoree City of Music ได้จัดวงเสวนา Climate Talk ในหัวข้อ “ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ขึ้น ณ Mahoree City of Music จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี เกน สิรภพ Climate risk analyst, PwC USA และ บอส สิทธิชาติ Climate researcher The Creagy ร่วมวงเสวนา โดยทั้งสองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันนำเสนอข้อมูลในประเด็นความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมไปถึงผลกระทบและการปรับตัวที่โลก รวมถึงเมืองเชียงใหม่ต้องเผชิญ
เกน สิรภพ เปิดวงสนทนาด้วยการชี้ให้เห็นว่าความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างไร โดยตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา ต้นเหตุของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น รวมถึงมูลค่าความเสียหายที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน หนึ่งในเหตุการณ์ตัวอย่างคือเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2554 โดยความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานการผลิตในวงการอุตสาหกรรมก็ก่อให้เกิดผลกระทบไปในหลายพื้นที่ทั่วโลกด้วย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังสามารถส่งผลกระทบต่อ GDP ในประเทศไทยได้เป็นอย่างมากอีกด้วย
สิรภพ ได้อธิบายถึงการคำนวน “ความเสี่ยง” ในการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยการคาดการณ์จากสมการสามอย่าง ได้แก่ ภัย (Hazard), ผู้เปราะบาง (Vulnerability) และ ความเสี่ยงในการเผชิญกับภัยพิบัติ (Exposure) อีกทั้งยังได้ยกคำพูดจากบทความของ Brigitte M. Balthasar ที่กล่าวว่าเราควรเลิกใช้คำว่า “ภัยธรรมชาติ” เพราะจริงๆ แล้วภัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่คำนวนและคาดการณ์ได้
“ถ้าเกิดเรารู้สามอย่างนี้ เราก็จะคำนวนความเสี่ยงได้ เราก็จะรู้ว่าภัยอะไรจะเกิดขึ้น จะกระทบกับใครบ้าง และจะมีผลกระทบมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นภัยที่เราตั้งใจปล่อยให้มันเกิดขึ้นเอง” สิรภพกล่าว
การคำนวนภัย (Hazard) สิรภพ อธิบายไว้ว่าภัยทางธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แต่มีวงจรและเวลาของมัน หมายความว่าเราสามารถสังเกตุและคำนวนวัฎจักรของภัยเหล่านี้ได้ รวมไปถึงความน่าจะเป็นของภัยต่างๆ ด้วย โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปโดยอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น คือความถี่ของการเกิดภัยพิบัติ
สิรภพ พูดคุยต่อถึงส่วนของความเปราะบาง (Vulnerability) โดยอธิบายว่าเรื่องของพื้นที่และผู้คนที่อาศัยอยู่ภายใน เช่นชุมชนที่มีรายได้น้อย คนที่มีความทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุ โดยพื้นที่หรือผู้คนกลุ่มเปราะบางจะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงเมื่อต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ
สุดท้ายในส่วนของความเสี่ยงในการเผชิญกับภัยพิบัติ (Exposure) คือปัจจัยที่ทำให้พื้นทีหรือผู้คนอาจจะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ อย่างเช่นบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะพังทลายเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เป็นต้น
แม้ว่าอุณหภูมิโลกที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน และจำนวนของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกผลิตโดยมนุษย์จะมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับสาเหตุทางธรรมชาติอย่างเช่นการระเบิดของภูเขาไฟ แต่ บอส สิทธิชาติ มองว่าประเด็นดังกล่าวก็ยังมีความสำคัญ โดยมีความเป็นไปได้ราว 30 % ที่อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1.5 ตามอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก่อนที่จำนวนคาร์บอนเครดิตจะหมดไปในปี 2026
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นความพยายามในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ ผ่านการประชุมนานาชาติ และนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจ แต่ สิทธิชาติ และ สิรภพ มองว่านโยบายของหลายบริษัทยังเป็นไปได้ยากและดูเลื่อนลอย ปราศจากการอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์
สิทธิชาติ จึงได้พูดคุยถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ (Science-based target) ซึ่งเป็นหลักการที่จะช่วยระบุว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นไปในทิศทางใด โดยใช้ GDP และอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนเป็นเกณฑ์ เพื่อให้เวลาสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาและเพิ่งพัฒนาได้มีเวลาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศตัวเอง และประเทศที่พัฒนาแล้วหรือมี GDP ที่สูง และอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวต่ำเป็นประเทศแรกๆ ที่ค่อยๆ ลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อน โดยจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Production-based หรือก๊าซเรือนกระจกที่ถูกผลิตจากกิจกรรมของผู้คนในพื้นที่เอง อย่างเช่นการขนส่งทางถนน การใช้พลังงานภายในสิ่งปลูกสร้าง หรือการกำจัดของเสียเป็นต้น และ Consumption-based หรือการผลิตก๊าซเรือนกระจกจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากพื้นที่อื่นเข้ามา และกลายเป็นแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ของตัวเอง
สิทธิชาติ กล่าวต่อถึงก๊าซเรือนกระจก ในฐานะของการเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ไม่มักถูกนับรวมเป็นต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ แต่จากนโยบาย “ภาษีคาร์บอน” ในปัจจุบัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะกลายเป็นหนึ่งในแรงจูงใจเพื่อช่วยให้ก๊าซเรือนกระจกถูกผลิตออกมาน้อยลง
แต่ในปัจจุบัน ประเด็นการเก็บภาษีคาร์บอนก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าแท้จริงแล้ว ภาษีดังกล่าวควรจะต้องถูกเก็บที่ไหน กับใคร เพราะเมื่อภาษีคาร์บอนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สินค้ามีต้นทุนและราคาที่สูงขึ้น ผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นจึงกลายเป็นผู้ที่ถูกบังคับให้เป็นผู้เสียภาษีในส่วนนี้ และสินค้าบางประเภทอย่างเช่นน้ำมัน ที่เป็นหนึ่งในสินค้าก่อก๊าซเรือนกระจกที่ถูกซื้อขายมากที่สุด ภายในประเทศที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ดีหรือไม่มีเลยก็ทำให้ประชาชนไม่มีตัวเลือกนอกจากจะซื้อน้ำมันในราคาแพงขึ้น และกลายเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เรื่องภาษีคาร์บอนมัน sensitive ตรงที่ว่าใครจะรับผลกระทบ จะต้องเก็บที่ต้นทางหรือปลายทาง การเก็บภาษีต้นทางไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกส่งผ่านมาที่ปลายทาง ส่วนตัวรู้สึกว่ามันดูไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคเลย อย่างน้ำมันในประเทศไทยที่รถไฟฟ้าก็ยังใช้ไม่ได้ ขนส่งสาธารณะก็ไม่ค่อยมี แล้วคนต้องมาจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้น ผมว่ามันก็ไม่ค่อยโอเค” สิทธิชาติกล่าว
อีกหนึ่งวิธีที่ สิทธิชาติ มองว่าจะช่วยให้การผลิตก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ คือการปรับตัวผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดย สิทธิชาติ มองว่า “การปรับตัว” มักจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ในเชิงกายภาพ รวมถึงการเลือกลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยังเป็นการตัดสินใจด้วยว่าสังคมจะพัฒนาไปในทิศทางใด
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งอย่าง จะส่งผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว สิทธิชาติ พูดเสริมต่อว่าการตัดสินใจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวเป็นเหมือนเส้นทางที่จะค่อยๆ แตกแขนงออกไป และการตัดสินใจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ผิดพลาดจะยิ่งปิดเส้นทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบอื่นๆ ลง อย่างเช่นการสร้างทางด่วน ก็จะส่งผลให้มีรถยนต์ถูกใช้มากขึ้น กลายเป็นการเพิ่มแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจก และการจะกลับไปแก้ไข หรือเปลี่ยนเส้นทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็จะทำได้ยาก เพราะผลลัพธ์ของมันเกิดขึ้นและกลายเป็นโจทย์ปัญหาโจทย์ใหม่ไปแล้ว รวมถึงยังเป็นการเสียโอกาสและเวลาในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
“ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา ตัวเลือกมันถูกบังคับกับโครงสร้างพื้นฐานหมดเลย นอกจากจะมีกำลังทรัพย์หรือแรงใจมากพอจะสู้กับโครงสร้างพื้นฐานที่มันไม่เอื้ออำนวย” สิทธิชาติกล่าว
สุดท้าย สิทธิชาติ พูดคุยถึงประเด็นการปรับตัวในพื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาความร้อนที่สูงขึ้น โดย สิทธิชาติ เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อภาคการเกษตร และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสองอุตหกรรมหลักในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอากาศที่ร้อนขึ้นจะบีบให้ช่วงเวลาที่สามารถท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ได้มีน้อยลง และแม้ว่าในปัจจุบัน ปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่งสูงขึ้นจะสังเกตุในชัดในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น แต่ สิทธิชาติ ก็มองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องคอยระวัง เพราะปัญหานี้อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตได้
ปัญหาอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ สิทธิชาติ มองว่าทำให้ต้องเกิดการผลักดันการพัฒนาเพื่อสร้างการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบให้ได้ เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักของเมืองเชียงใหม่แล้ว ปัญหาความร้อนยังเป็นผลกระทบที่รุนแรงที่สุดด้วย จากการเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่นๆ ที่สามารถเกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวได้
“หน้าร้อนเชียงใหม่ตอนนี้ก็กระทบเยอะแล้ว ทั้งเรื่องฝุ่น เรื่องความร้อน ทำให้คนไม่มาเที่ยวในช่วงนั้น แต่ช่วงนี้จะเป็นช่วงสำคัญที่ต้องเริ่มผลักดันทิศทางการพัฒนาให้ไปในทิศทางที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบ เพราะความร้อนนี่เป็นภัยที่โดนกันหมดแน่ๆ และรุนแรงที่สุดด้วย” สิทธิชาติกล่าว
สามารถรับชมไลฟ์เสวนา Climate Talk “ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/100083242571578/videos/670417475170479
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...