19 มีนาคม 2566 คณะก่อการล้านนาใหม่และสำนักข่าว LANNER ได้จัดเวที ‘ประชาชนภาคเหนือจับตาเลือกตั้ง’66′ ณ ลานกิจกรรมท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างบรรยากาศและความคึกคักในการจับตาการเลือกตั้ง รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้
ภายในงานมีกิจกรรมทั้งบนเวทีและบริเวณลานกิจกรรม อาทิ การแสดง Rap for Vote โดย ‘NawinP.’ & ‘เจ๋งกิสข่าน’ ศิลปิน Rapper ที่บอกเล่าเรื่องราวของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจากปัจเจกถึงประเทศ, Talk ในหัวข้อ ‘การจับตาการเลือกตั้ง ในฐานะประชาธิปไตยทางตรง บนวิถีของตัวแทน’ โดยดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กิจกรรมจำลองการเลือกตั้งปี 2562 ให้ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ลงคะแนนเสียง แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อสงสัยในการเลือกตั้งปี 2562 เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง, เสวนาในหัวข้อ “ทำไมประชาชนต้องจับตาการเลือกตั้ง ‘ 66” การอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ภาคเหนือ และการแสดงดนตรีโดย ‘Tae simong’ ศิลปินภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีบูธกิจกรรมจากหลายเครือข่ายที่เข้าร่วม ได้แก่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), Crew bar Multitude, ตี่ตาง สื่อเพื่อการขอสัญชาติ, กลุ่ม Multitude และเครือข่ายศิลปิน
การจับตาการเลือกตั้ง ในฐานะประชาธิปไตยทางตรง บนวิถีของตัวแทน
ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ประเทศไทยเองก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดจนกระทั่งการรัฐประหารเข้ายึดอำนาจของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ในปี 2557 จนมีการก่อตั้งรัฐบาลใหม่ และจากนั้นมีการเลือกตั้งในปี 2562 แต่มันมีข้อน่าสงสัยเต็มไปหมด
“โดยปกติแล้วพื้นฐานของประชาธิปไตยคือ ต้องมีความเสมอภาค จึงมีการแสวงหาเสียงข้างมาก ซึ่งไม่อาจได้มาโดยง่าย ปัญหาคือเราไม่สามารถหาเสียงข้างมากที่แท้จริงได้ จึงต้องมีวิธีการและระบบการในการสะท้อนเสียงข้างมากที่สุด เพราะการนับจำนวนอย่างเดียวไม่นำไปสู่เสียงข้างมากอย่างแท้จริง ดังนั้นระบบเลือกตั้งจึงถูกออกแบบให้มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การเลือกตั้งไม่อาจถูกยืนยันตอนนับคะแนนได้”
กฤษณ์พชร ยังย้ำอีกว่า หน้าที่ในการจับตาการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะระบบการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะเมื่อไหร่ที่ประชาชนปล่อยการเมืองให้เป็นไปตามยถากรรม มันจะเกิดการคอรัปชั่น อีกด้านหนึ่งคือเราไม่สามารถไว้ใจสถาบันทางการเมืองได้ ดังนั้นต้องมีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ปัญหาคือสิทธิที่เป็นพื้นฐานของประชาชนยังไม่สมบูรณ์ และช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองมีน้อย หากเราปล่อยให้เป็นเช่นนี้เราจะกลับไปสู่สถานการณ์วังวนรัฐประหารอีก ทำให้เราสูญเสียอนาคตไปมากมาย
“ดังนั้นการจับตาการเลือกตั้ง คือปฏิบัติการพื้นฐานทางการเมืองของประชาชนทุกคน เราต้องจับตาทุกพรรค ทุกกระบวนการ ประชาธิปไตยต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่งั้นระบบการปกครองที่เราใฝ่ฝันจะไม่มาถึง” กฤษณ์พชร กล่าวปิดท้าย
เสวนา ‘ทำไมประชาชนถึงต้องจับตาการเลือกตั้ง’
4 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่ภาคเหนือ
อภิบาล สมหวัง คณะก่อการล้านนาใหม่กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมีความชัดเจนทางการเมืองระดับหนึ่ง มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่อย่างต่อเนื่องในหลายประเด็น ซึ่งทำให้เกิดการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐตลอดเวลา
“การเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่างที่เราควรจะคาดหวัง แต่เราสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจเพื่อไปสู่สังคมในอุดมคติได้ในอนาคต” อภิบาล กล่าว
ทางด้าน กัญญารัตน์ ตุ้มปามา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) เสริมต่อว่าเครือข่ายประชาชนที่ทางสกน. ทำงานด้วยส่วนมากจะเป็นประชาชนในพื้นที่ราบสูง เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งนโยบายของรัฐในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่า เปลี่ยนให้ประชาชนในพื้นที่กลายเป็นผู้บุกรุกในสายตาของรัฐ และรัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
กัญญารัตน์กล่าวต่อว่า บทเรียนในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2562 ในพื้นที่ราบสูงมีหน่วยเลือกตั้งน้อย การเดินทางไปใช้สิทธิมีความยากลำบาก และไกลจากชุมชน
“1 หน่วยเลือกตั้งต้องใช้กันหลายหมู่บ้าน แทนที่จะ 1 หน่วย 1 หมู่บ้าน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้มีข้อมูลที่เพียงพอ เพราะ กกต. ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลกับชาวบ้าน ทำให้ในหลายพื้นที่ ชาวบ้านก็เสียสิทธิไปโดยปริยาย” กัญญารัตน์ กล่าว
บทเรียนปี 62 ทำไมเราต้องจับตาเลือกตั้ง’66
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตัวแทนจากทะลุฟ้า กล่าวว่า การเลือกตั้งปี 2562 มีปัญหา สังเกตจากผลการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนสูงที่สุด แต่ประยุทธ์ จันทร์โอชากลับได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ประชาชนจำเป็นต้องจับตาการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำเช่นเดียวกับปี 2562
“เราจะปล่อยให้การเลือกตั้งแบบปี 62 เกิดขึ้นอีกไม่ได้” จตุภัทร์ กล่าว
จตุภัทร์ กล่าวต่ออีกว่า “เราจะเห็นว่าปี 63 และปี 64 เป็นการต่อสู้บนท้องถนน รัฐบาลนี้ที่บอกว่าเลือกตั้งตามกฎหมายก็ใช้กำลังเข้าข่มขู่ จนตอนนี้ผู้คนก็หวังถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ เขาก็พยายามจะขัดกั้นความหวังของประชาชนอีกครั้ง ทำไมบ้านเราถึงมีการเลือกตั้งแบบปกติไม่ได้สักที ไม่มีอะไรเหมือนเดิมไม่เคยมีอะไรเป็นบรรทัดฐานที่ปกติ เราพยายามจะทำให้สังคมปกติแต่การเลือกตั้งไม่ปกติมันก็ไม่สามารถนำสังคมให้เป็นปกติได้ กกต.ก็ไม่มีความพยายามที่จะรายงานผล สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 66 อีกถ้าเราไม่ทำอะไร การรอเลือกตั้งอย่างเดียวมันไม่พอจริง ๆ เราจึงต้องช่วยกันจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้” จตุภัทร์ กล่าว
จตุภัทร์ได้เล่าถึงกิจกรรม Workshop ‘สามชั่วโมงก็จับโกงได้’ คือ การถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 62 โดยเป็นการทดลองที่ผ่านการตกผลึกแล้วว่า นี่คือกระบวนการที่จำลองให้เห็นถึงปัญหาของการเลือกตั้งปี 62 และสิ่งที่เราสามารถทำได้ การ Workshop นี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ศึกษาและทดลองการเลือกตั้งก่อนที่จะเข้าสู่สนามจริง โดยถ้าสนใจก็สามารถติดต่อมาที่เพจทะลุฟ้าได้ทันที
อาทิตย์ พิลาบุตร We Watch ภาคเหนือ ได้นำเสนอถึงปัญหาใหญ่จากการที่ได้ลงไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในปี 62 ทำให้พบปัญหาหลักอยู่ 8 ข้อได้แก่
1.บรรยากาศทางการเมืองไม่มีความเป็นอิสระ
2.ที่มาของ กกต. ถูกแต่งตั้งโดย คสช.
3. การยุบพรรคของไทยรักษาชาติที่ผิดปกติเกินไป
4.บัตรเลือกตั้งจากนอกประเทศมาไม่ทันปิดหีบเลือกตั้ง
5.บางหน่วยเลือกตั้งไม่แสดงหีบบัตร ซึ่งควรที่จะแสดง
6.พบชื่อคนเสียชีวิตไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
7.การประกาศผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมีถึงสองวัน กกต. แถลงจำนวนรวมของผู้มาใช้สิทธิ 2 ครั้ง มีจำนวนต่างกันมากกว่า 4 ล้านคน
วันที่ 24 มี.ค.2562 ระบุว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 33,775,230 คน
วันที่ 28 มี.ค.2562 กลับระบุว่ามีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ 38,268,375 คน
8.การประกาศผลที่ไม่โปร่งใส
ปฏิพัทธ์ สุสำเภา จาก ‘Vote62’ เผยว่า จากประสบการณ์อันน่าเจ็บปวดที่ตนได้ทวงคืนคะแนนการเลือกตั้ง จากที่มีการนับคะแนนจากการเลือกตั้งผิด ส่งผลให้มีคะแนนที่หายไป ความผิดพลาดครั้งนี้คือ ผู้จัดการเลือกตั้งไม่มีความตั้งใจที่จะให้กระบวนการเลือกตั้ง กระบวนการนับคะแนน และกระบวนการตรวจสอบ มีความชัดเจนและโปร่งใส ทำให้เราไม่สามารถติดตามสถานการณ์ได้ โดย ‘Vote62’ จะเป็นแพลตฟอร์มรายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ และต้องเป้าว่าอยากหาอาสาสมัครจับตาและรายงานผลการเลือกตั้ง 100,000+ คนทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเหมือนปี 62
“แต่ก็ยังมีสิ่งที่พวกเราสามารถทำได้คือ การเฝ้าดูการเลือกตั้งทั้งกระบวนการและนำข้อมูลที่ได้จากแต่ละเขตมารวมกัน เพื่อที่จะเป็นการตรวจสอบถึงความโปร่งใสในการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยไม่ลอยลงมาจากฟ้า มาร่วมเป็นอาสาสมัครด้วยกัน” ปฏิพัทธ์ กล่าว
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ภาคเหนือ
ช่วงท้ายของกิจกรรมกลุ่มเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคเหนือปี 2566 ได้อ่านแถลงการณ์ ‘เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ภาคเหนือ’ โดยมีเนื้อหาดังนี้
แม้คณะรัฐประหารจะเปิดให้มีการเลือกตั้งในครั้งปี 2562 ที่ผ่านมา แต่การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกองทัพและระบอบอำนาจนิยมในการสืบทอดอำนาจ และสร้างความชอบธรรมให้การให้กลับเข้ามาใช้อำนาจรัฐต่อไป ผลดังกล่าวเกิดขึ้นจากความซับซ้อน ในการใช้กลไกการเลือกตั้งเอื้อประโยชน์ให้ฝักฝ่ายของตนเองดังที่กล่าวถึงข้างต้น
ทั้งองค์กรอย่างคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ควรมีบทบาททำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส ก็เกิดคำถามความน่าเชื่อถือจากประชาชน ขณะที่กลไกการติดตามจับตาของภาคประชาชนยังเป็นไปอย่างจำกัด การเท่าทันสถานการณ์และความเป็นไม่ธรรมที่เกิดขึ้นยังเป็นไปอย่างจำกัด การรณรงค์ให้เห็นประเด็นปัญหายังเป็นไปอย่างยากลำบาก การร่วมกันสร้างเครือข่ายการติดตามจับตาการเลือกตั้ง และสภาวะทางการเมืองหลังการเลือกตั้งให้กว้างขวางและเข้มแข็งขึ้นจึงมีความสำคัญต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าในช่วงปี 2566
จากบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาในปี 2562 ที่กลายเป็นกระบวนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ตรวจพบความผิดปกติหลายประการที่ทำให้ข้อสงสัยจากสังคม อาทิ ปรากฏการณ์ “บัตรเขย่ง” คือ จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปไม่ตรงกับยอดผู้มาแสดงตนของใช้สิทธิ, ระบบรายงานคะแนนที่ล่มและช้าผิดปกติ ระหว่างที่มีการนับคะแนน ข้อฉงนถึงบัตรเสียกว่าสองล้านใบ, รูปแบบการนับคะแนนของ กกต. ที่ให้พรรคเล็กพรรคน้อยได้ที่นั่งในสภา เพื่อเข้ามาเอื้อต่อผู้มีอำนาจ, การแจกใบแดง-ใบเหลือง, การใช้อำนาจรัฐเข้ามาหนุนเสริมให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง หรือกระทั่งการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อย่างการยุบพรรคการเมืองที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ดังนั้นการทำให้กระบวนการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมที่สุดมีความสำคัญต่อกระบวนการนี้
จากการประเมินของ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ภาคเหนือ” คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และความไม่โปร่งใสจะยังคงเกิดขึ้นอีก การให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งคณะรัฐประหารสามารถเลือกรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ได้ จะคงสร้างความ ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันของพรรคการเมืองอีกเช่นเคย อีกทั้ง การมี กกต. ชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ อาจมีความ ผิดปกติเช่นเดิมหรือความผิดปกติใหม่เกิดขึ้นอีก
ถึงเวลาแล้วที่การสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยประชาชนต้องขยายตัวอย่างกว้างขวาง เพื่อรับรองว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามหลักสากลและเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นอิสระของประชาชน “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคเหนือปี 2566″ จึงขอเป็นจุดตั้งต้นในการชวนประชาชนทั้งประเทศ เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นการประสานความร่วมมือกันของเครือข่ายภาคประชาชนที่มีความหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นกลางโดยเฉพาะ และกลุ่มที่มีความตื่นตัวทางการเมืองต่างๆ โดยมีวิสัยทัศน์แห่งความสำเร็จ คือ หนึ่ง ป้องกัน การโกงการเลือกตั้งและทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามหลักสากล สอง เพิ่มความไว้วางใจในกระบวนการการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการเลือกผู้แทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้ง ปฏิเสธเครื่องมืออื่นที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และสาม ส่งเสริมการพัฒนาการเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความคิดเเละความรุนแรง ที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล
ทั้งนี้ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคเหนือปี 2566” มีข้อเรียกร้องต่อประชาชนและฝ่าย ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1.ขอให้ กกต. ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส เป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง การเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยผ่านระบบออนไลน์ สนับสนุน ให้ความสำคัญ และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการมีส่วนร่วมในการรณรงค์เลือกตั้ง ประชาธิปไตยและเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
2.กกต. จะต้องจัดทำคู่มือแสดงข้อมูลและรายละเอียดการเลือกตั้งเป็นภาษาถิ่นให้ครอบคลุมกับทุกกลุ่มชาติพันธ์ ชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยที่มี 23 ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นอย่างน้อยในประเทศไทย โดยใช้ภาษาที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการเลือกตั้งของผู้คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติภายในประเทศ
3.ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยในช่วงก่อนวันเลือกตั้งนับต่อจากนี้ไป เช่น คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคาม ให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลของรัฐเพื่อรณรงค์การเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมและควบคุมมิให้หน้ารัฐให้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณ หรือ โทษ แก่ผู้สมัครพรรคการเมือง
4.ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนในทุกเขตการเลือกตั้งเข้าร่วมการสังเกตการณ์เลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงโดยลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครฯ หรือส่งข้อมูลความผิดปกติหรือสถานการณ์การเลือกตั้งในเขตของตนเองทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวันเลือกตั้ง แก่เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้งปี 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ vote62.com
การเลือกตั้งต้องเป็นของประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองที่ไร้ความหมายต่อ
ประชาชนอีกต่อไป!
19 มีนาคม 2566
เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคเหนือปี 2566
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...