พฤษภาคม 8, 2024

    แม่แจ่มที่เพิ่งสร้าง: การเผยตัวของชุมชนแม่แจ่มในฐานะชุมชนทางวัฒนธรรม

    Share

    เรื่อง: ทศพล กรรณิกา

    บทนำ

    มรดกทางการเมืองหลังสงครามเย็น นอกจากแม่แจ่มจะเป็นพื้นที่สีชมพูในการจัดการของรัฐไทยต่อขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่รัฐไทยเข้ามามีอำนาจในการจัดการทรัพยากรในแม่แจ่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่แจ่ม การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจโดยโครงการของรัฐ การขยายระบบสาธารณูปโภคและเปิดโอกาสให้ระบอบทุนเข้ามามีบทบาทในการจัดการทรัพยากรด้วย ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันคือราวปลายทศวรรษ 2530 ภายใต้บริบทวาระครบรอบเชียงใหม่ 700 ปี ภาคประชาสังคมในเชียงใหม่จึงหยิบยืมชุดความคิดเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสานกับกระแสโลกาภิวัตน์หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 หรือเป็นที่รู้จักกันในเครือข่ายสืบสานล้านนา จนกระทั่งก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาขึ้น ภายใต้กิจกรรมภูมิปัญญาล้านนาของเครือข่ายโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา กลุ่มนักพัฒนาเอกชนที่สนใจด้านภูมิปัญญาจัดกิจกรรม ผ่านการนำเอาชุดข้อมูล ความรู้ และพ่อครูแม่ครู จากแม่แจ่มเข้าไปเป็นวิทยากร แม้จะกิจกรรมทั้งหมดจะไม่ได้มีพ่อครูแม่ครูจากแม่แจ่มเพียงพื้นที่เดียว แต่ปฏิบัติการนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการเผยตัวของแม่แจ่มในฐานะพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการทำให้เห็นภาพแม่แจ่มในทางสุนทรียะล้านนาตะวันตก มีตัวอย่างวิถีชีวิตของกลุ่มชุมชนพื้นที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่มเพียงไม่กี่ชุมชนเป็นภาพแทน

    อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัยฝั่งตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอกัลยานิวัฒนา  จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอสะเมิง อำเภอแม่วาง และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอฮอดและอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ทั้งหมดราว 2,687 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 57,667 คน ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล ได้แก่ ตำบลช่างเคิ่ง ตำบลท่าผา ตำบลกองแขก ตำบลบ้านทับ ตำบลปางหินฝน ตำบลแม่ศึก และตำบลแม่นาจร แม่น้ำสายสำคัญคือลำน้ำแม่แจ่มไหลลงมาจากขุนน้ำแม่แจ่ม ตำบลวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา พาดผ่านลงมาในแนวหุบเขาทางด้านทิศตะวันตกของตีนเทือกเขาถนนธงชัย และไหลลงไปบรรจบกับลำน้ำปิงบริเวรสบแจ่ม อำเภอจอมทอง  มีพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำในพื้นที่ตำบลช่างเคิ่งและตำบลท่าผา  

    ช่วงต้นถึงปลายทศวรรษ 2530 เป็นห้วงเวลาสำคัญของการขยายตัวของกิจกรรมเกษตรกรรมทางเลือก กิจกรรมทางด้านทรัพยากร การปรับองค์กรและเริ่มสร้างเครือข่าย เนื่องจากช่วงนี้รัฐและทุนมีการขยายตัวเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรอย่างรุนแรงและโดยตรงมากขึ้น กระแสสังคมจึงหันมามองหาทางเลือกใหม่ให้แก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักวิชาการและชนชั้นกลางในเขตเมือง ขณะเดียวกันนักพัฒนาเอกชนเริ่มตระหนักว่าการทำงานของตนจะประสบความสำเร็จมากขึ้นหากมีพันธมิตรคอยกระจายข่าวสารในเขตเมือง ผนวกกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและพัฒนาเครือข่ายทรัพยากรพยายามประสานและเรียนรู้โดยจัดตั้ง “ชมรมนักพัฒนาภาคเหนือ” เพื่อเป็นองค์กรกลางในการกระจายข่าวสารลงไปยังเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2541: 65)

    เครือข่ายนักพัฒนาเอกชนก็มีบทบาทสำคัญในการประสานข้อมูลข่าวสาร ทิศทางการเคลื่อนไหว และการสนับสนุนด้านงานวิชาการ ขณะที่ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงสิทธิตามธรรมชาติที่ตนมีฐานะพลเมืองไทยที่เท่าเทียมกัน ด้านเกษตรทางเลือกชาวบ้านเริ่มตั้งคำถามกับความเชื่อในการผลิตเพื่อขายที่รัฐครอบงำมานาน และเริ่มหวนกลับไปคิดถึงวิถีการผลิตแบบเดิมที่สืบทอดมาแต่อดีต การเคลื่อนไหวหรือการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ของชาวบ้านในช่วงนี้ได้รับความสนใจจากพันธมิตร (เช่น นักวิชาการ) ทำให้ชาวบ้านเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ตนคิดตนทำไม่ใช่เรื่องเหลวไหล หากแต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและผูกพันกับอนาคตของสังคมไม่น้อย พลังทางสังคมที่ให้ความสนใจมากขึ้นต่อสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้ผลักดันให้นักวิชาการหันมาให้ความสนใจที่จะหาทางอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากจากข้อมูลความเป็นจริงของท้องถิ่น ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตเมืองโดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถูกแย่งชิงทรัพยากรจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคบริการ ได้ปลุกให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องออกมามีบทบาทในการอธิบายและแก้ปัญหา ทำให้เกิดการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจัง ส่วนนักพัฒนาเอกชนต้องการมีกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างและนโยบายของประเทศ ทำให้ต้องเชื่อมกับบรรดานักวิชาการในมหาวิทยาลัยมากขึ้น (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2541: 66)

    กิจกรรมทางสังคมที่มีความหลากหลายและกินพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น เครือข่ายทรัพยากรและเครือข่ายการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง การรวมพันธมิตรสร้างกิจกรรมที่ทำให้สังคมรับรู้และถือว่าปัญหาในสังคมเป็นภาระที่สังคมต้องเข้ามาช่วยเหลือกัน ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนชุมชนรักป่า (พ.ศ.2535) สามารถขยับกิจกรรมให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น สามารถจัดโครงการบวชป่าชุมชน 50 ล้านต้นขึ้นมา และเครือข่ายระดมทุนกับพันธมิตรยังร่วมคิดร่วมสร้างกิจกรรมที่ตอบสนองสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมของชนชั้นกลางในเมือง เช่น โครงการบ้านของเก่า โครงการกระดาษเพื่อต้นไม้ เป็นต้น (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2541: 67)

    สอง การสร้างฐานกิจกรรมที่ให้พันธมิตรเข้ามาร่วมงานในฐานะที่เป็นนักพัฒนาหรือกึ่งนักพัฒนา กิจกรรมที่เห็นอย่างเด่นชัดคือ โครงการสืบสานล้านนา เป็นโครงการที่คิดและดำเนินต่อมาจากโครงการกองทุนชุมชนรักป่าและโครงการบวชป่า 50 ล้านต้น โครงการสืบสานล้านนามีการจัดงานในเดือนเมษายนของทุกปี

    สาม การสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านผู้ประสบปัญหาโดยตรงเป็นผู้ดำเนินกิจกรรม องค์กรและนักพัฒนาเอกชนสามารถทำให้การพบปะพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาของชาวบ้านกลายเป็น “ความต้องการ” ของชาวบ้านหลายประเด็นปัญหามีชาวบ้านเป็นผู้ปฏิบัติการหลัก ส่วนองค์กรและนักพัฒนาเอกชนปรับตัวเองไปเป็นที่ปรึกษาและกองเลขานุการ ทำหน้าที่ช่วยเหลือในด้านข้อมูลและช่วยมองหาช่องทางในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเสนอให้ชาวบ้านดำเนินการต่อไป

    การเคลื่อนไหวโดยตัวชาวบ้านเป็นผู้นำสามารถดึงดูดใจชาวบ้านที่ประสบปัญหาเดียวกันง่ายมาก ดังที่พบว่า การขยายตัวของเราเข้าร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมภาคเหนือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2538 การพัฒนาเครือข่ายเริ่มจาก 22 ชุมชน ใน 4 ลุ่มน้ำหลักเพิ่มเป็น 81 ชุมชน และใน 13 ลุ่มน้ำช่วงครึ่งหลังปี 2538 เพิ่มเป็น 107 ชุมชน การประสานเครือข่ายชาวบ้านนอกจากเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือปัญหาโดยตรงที่ชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมที่เห็นได้ชัดคือ เครือข่ายเอดส์และเครือข่ายชาวเขา เช่น การรวมกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่สามารถรวมกันได้อย่างกว้างขวางและถ่ายทอดความรู้ไปสู่กันและกันได้อย่างดี เครือข่ายม้ง เครือข่ายเผ่าลาหู่ เป็นต้น (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2541: 68) การประสานเครือข่ายนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่ทำให้มองเห็นพลังของการรวมกลุ่ม ที่ไม่ใช่เพียงการเรียกร้องสิทธิตามธรรมชาติของพวกเขาเท่านั้น หากแต่การรวมกลุ่มเครือข่ายเช่นนี้ได้สร้างและฟื้นกิจกรรมทางด้านความรู้ของชาวบ้านแต่ละชุมชนได้อย่างมากมาย การรื้อฟื้นความรู้ดั้งเดิมของชาวบ้านซึ่งถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเรียกร้องให้เกิดทางเลือกให้แก่ชีวิตคนในสังคมไทยมากกว่าเดิม ที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดทางเลือกและความรู้ในทุก ๆ ด้าน เช่น การทำงานของเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือที่เริ่มต้นเน้นเรียกร้องสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิตามธรรมชาติของคนกับป่าและการจัดการป่า หรือการรื้อฟื้นพันธุ์พืชพื้นเมืองและการขยายเขตอนุรักษ์ปลาของกลุ่มฮักเมืองน่าน เป็นต้น

    พิธีกรรม ความเชื่อ : การปรับตัวขององค์กรทางความเชื่อในยุคโลกาภิวัตน์

    ความเปลี่ยนแปลงมิได้เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงของการขยายตัวของระบอบทุนและอำนาจรัฐเพียงเท่านั้น หากแต่ช่วงระหว่างทศวรรษ 2520 – 2530 ยังเป็นรอยต่อของการเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมในชุมชนไปด้วย กล่าวคือ ช่วงเวลาดังกล่าวได้เปลี่ยนภาพความเป็นชุมชนแม่แจ่มจากชุมชนในพื้นที่ห่างไกล มาเป็นชุมชนที่ความพิเศษในวิถีชีวิตและมิติทางวัฒนธรรม ความเรียบง่ายธรรมดาของชุมชนกลับกลายมาเป็นจุดสนใจของผู้คน บทความของเกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช เรื่อง วัฒนธรรมการจัดการภายในชุมชนดั้งเดิมและผลกระทบจากชุมชนชาติ: ตัวอย่างกรณีศึกษาจากชุมชนแม่แจ่ม (เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, 2538: 27-40) ชุมชนแม่แจ่มมีลักษณะความเป็นชุมชนซ้อนทับกันอยู่สองลักษณะคือ ชุมชนดั้งเดิม (ความเชื่อแบบผี-พุทธ) และชุมชนแบบรัฐชาติ  เมื่อระบบการจัดการแบบชาติซ้อนทับลงในระบบการจัดการแบบชุมชนดั้งเดิม ปัญหาจึงเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สอดคล้องกันทั้งชุดความรู้ วิธีการ องค์กร และเป้าหมายของการปฏิบัติ ระบบการจัดการที่กระทำโดยกลไกราชการที่สนับสนุนระบบทุนนิยมได้พยายามผูกขาด ครอบงำ และขจัดระบบการจัดการแบบอื่น

    คนภายในชุมชนดั้งเดิมในชุมชนที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่มมีสถานะทับซ้อนกันอยู่สองสถานะ หรือมีชุดทางความคิดสองชุดซ้อนทับกันอยู่นั่นคือความรู้เกี่ยวกับผี และความรู้เกี่ยวกับพุทธ แม้จะมีปรากฏการณ์ที่เอาผีกับพุทธมาสัมพันธ์กัน หรือการที่พระเป็นผู้ทำพิธีกรรมแบบผีต่าง ๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องของการผสมผสานแต่อย่างใด เป็นเพียงการสร้างใหม่ที่ภูมิปัญญาผีได้ผนวกเอาพุทธเข้ามา ขณะที่ การขยายอำนาจรัฐที่มีผลต่อการจัดการชุมชนให้เป็นหน่วยการปกครองในรูปแบบของรัฐสมัยใหม่เพิ่งจะมีผลกระทบต่อชุมชนแม่แจ่มในช่วงปลายสงครามเย็น ก็คือราวต้นทศวรรษ 2520 เป็นช่วงปลายและล่มสลายของขบวนการเคลื่อนไหวพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากเกิดกระบวนการที่อำนาจอธิปไตยส่วนกลางเริ่มส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างจริงจัง และมีการกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และระบบตลาด ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เช่น การตัดถนนลาดยางเข้าสู่แม่แจ่ม การเข้ามาของไฟฟ้า ระบบการสื่อสารต่าง ๆ ล้วนส่งผลให้แม่แจ่มใกล้ชิดกับโลกภายนอกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งยังส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมในแม่แจ่มขึ้นในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะปรากฏการณ์แย่งชิงทรัพยากร

    กระนั้นแล้ว ปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงทศวรรษ 2530-2540 มิอาจจำแนกเป็นสองชั้นแบบที่เกรียงศักดิ์เสนอ หากแต่ว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังผสานอำนาจทางสังคมสองลักษณะเข้ามาอยู่ร่วมกันในลักษณะจิตสำนึกและความเป็นพลเมือง กล่าวคือ ภายใต้ความเชื่อแบบผี-พุทธ ที่มีองค์กรภายในชุมชน เช่น ผีพ่อเจ้าหลวง ผีเหมืองฝาย มีพัฒนาการในเชิงองค์กรสมัยใหม่เกิดขึ้น ตัวอย่าง ผีพ่อเจ้าหลวง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากชุมชน คณะกรรมการฝ่ายศาสนา ตัวแทนฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น มีการเปิดบัญชีเงินส่วนกลาง และประสานงานกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง อบต. เทศบาล

    ในพิธีกรรมบนหอหลวง “ตั้งเข้า” จะถือขันอยู่แถวหน้า “ตั้งเข้ารอง” จะนั่งถัดออกมา นอกนั้นเป็น “ลูกแป้งลูกเหล้า” นั่งบริเวณห้องโถงกลาง ช่างซอช่างปี่นั่งอยู่ข้างนอก ตัวพิธีกรรมไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงยังคงเดิมตามที่สืบทอดกันมา ที่จะมีเปลี่ยนก็รายละเอียดเล็กน้อย อย่างเช่น เมื่อก่อนใช้ก๋วยในครัวฮอมสวย ก็มีการเปลี่ยนมาเป็นถาดแทนก๋วย แต่ความเชื่อของผู้คนรุ่นหลังเริ่มเปลี่ยนไป ช่วง 40-50 ปีก่อน การแต่งกายของม้าขี่นุ่งซิ่นตีนจก ยุคนั้นถือเป็นเรื่องปกติสำหรับนุ่งซิ่นตีนจกในงานบุญหรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ พอเป็นสมัยนี้อาจจะดูแปลกตา ซิ่นตีนจกกลายเป็นภาพแทนวัฒนธรรมคนแม่แจ่มไป คนรุ่นก่อนเขาเชื่อจะไปไหนจะทำสิ่งใดก็จะไปไหว้บอกกล่าว แต่ยุคหลังนี้ผู้คนออกไปเรียนหนังสือ ออกไปทำงานต่างถิ่นมันเลยทำให้ความเชื่อในเรื่องนี้ลดน้อยลงไปทุกวัน ตอนที่เป็นตั้งเข้าใหม่ ๆ ก็คิดว่าหากปล่อยเป็นแบบนี้ในอนาคตพิธีกรรมและความเชื่อเรื่องพ่อเจ้าหลวงจะเลือนหายไป เวลาเก็บเงินส่วนกลางที่นำมาจัดพิธีกรรมคนที่ไม่เชื่อก็ไม่ยอมออกเงิน ส่วนเงินที่เก็บมาได้จะเอามาเป็นค่าใช้จ่ายในพิธีกรรมใหญ่สามปีมีหนึ่งครั้ง ตอนนั้นนายวิเชียร บ้านเหล่า เป็นนายก อบต. ก็มอบเงินส่วนกลางไปให้เขาบริหาร เก็บเงินตามประเพณีแต่ละครั้งก็ได้หลายหมื่น ได้เจียดเงินส่วนนี้มาสร้างเรือนหลังใหม่ที่หอหลวง แล้วออกหนังสือขอสนับสนุนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ จนยอดเงินที่มีอยู่ราวสองแสนบาทก็นำมาสร้างวิหาร สร้างพระเจ้าหอหลวง พ่อแก้วยังเล่าว่า ส่วนตัวคิดว่าเงินเป็นของหอหลวงก็เอามาสร้างปรับปรุงหอหลวงมันเป็นการดีเสียอีกช่วยทำนุบำรุงสถานที่ มีเหตุการณ์หนึ่งชาวบ้าน ผู้นำชุมชน กำนัน เห็นแย้งว่าไม่ควรสร้างวิหารและองค์พระไว้ที่หอหลวง พ่อเฒ่าท้าวอิน ท้าวพรม มาลงที่หอผีม่อนคุ่มได้เอ่ยท้วงติงว่ามันจะไม่ดีอย่างไรหากคิดจะสร้างเราก็คนพุทธสร้างไว้ก็ยิ่งเป็นการดี อีกเหตุการณ์หนึ่งพ่อเจ้าหลวงได้สื่อสารมาทางตั้งเข้าว่าอยากให้สร้างเสาหลักเมือง (เสาอินทขิล) ตอนนั้นได้สล่าติ๊บกับสล่าอีกสามสี่คนมาเคี่ยนขึ้นรูปเสา ปรากฏว่าเราตั้งเพียงแค่ตัวเสาตากแดดตากฝนชำรุดพุพัง อยากจะได้เจ้าภาพมาช่วยสร้างเสาหลักเมืองใหม่ก็คิดไม่ตก เพราะตอนนั้นเงินกองกลางมีไม่มาก ประจวบเหมาะกับช่วงเวลานั้นมีเจ้าภาพจากเอกชนมาช่วยสร้าง มีการทำบุญ เชิญรองผู้ว่าฯ มาเปิดพิธี เสาหลักเมืองอันเดิมพ่อแก้วไปปรึกษาพ่อหนานสุวรรณว่าอยากจะสร้างพระให้ชาวบ้านได้บูชานำเงินเข้าหอหลวง ติดต่อสล่าจากอำเภอจอมทอง โดยใช้เศษเสาหลักเมืองอันเดิมทำเป็นพระรอดอัดดิน ไม้ส่วนหนึ่งจากเสาหลักเมืองอันเดิมนำมาสร้างวิหาร แกะสลักเป็นพ่อเฒ่า 2 พญาเจ้าเมือง คือ พ่อเฒ่าพญาเขื่อนแก้ว และพ่อเฒ่าพญาไจย นอกจากนี้ยังได้สร้างพระเหรียญทองเหลืองซึ่งมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองและอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพ่อเจ้าหลวงสามพระองค์

    ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตที่ต้องปรับไปพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อำนาจเชิงความเชื่อกำลังถูกท้าทายด้วยกิจกรรมใหม่ทางสังคม ผู้คนให้ความสนใจกับพิธีกรรมแบบดั้งเดิมน้อยลง องค์กรด้านความเชื่อจึงปรับรูปแบบกิจกรรมให้สอดรับกับยุคสมัยทางสังคม เช่น การปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในพิธีกรรม พ่อเจ้าหลวงพูดผ่านไมค์ที่กระจายเสียงด้วยลำโพง หรือกิจกรรมสร้างเสาอินทขิล เปิดบูชาเหรียญพ่อเจ้าหลวง เพื่อรวบรวมเงินมาสบทบมาทำนุบำรุงหอหลวง กิจกรรมเหล่านี้ยังสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล อำเภอ โรงเรียน เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนด้านงบประมาณ กำลังคน การประชาสัมพันธ์ จะเห็นได้ว่าองค์กรด้านความเชื่อและองค์กรของรัฐในท้องถิ่นมิได้แยกออกจากกันหากแต่ว่าสามารถประสานและปรับตัวเข้าหากัน เพื่อธำรงซึ่งจิตสำนึกในระบอบความเชื่อ และความตระหนักในฐานะพลเมืองในพื้นที่ อันจะส่งผลมายังการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ ควบคุมพฤติกรรมของผู้คนผ่านหลักแห่งความเชื่อ 

    ฉากทัศน์ใหม่ของชุมชนในพื้นที่ห่างไกลสู่ชุมชนวัฒนธรรมล้านนา

    เมื่อมองมายังการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างแม่แจ่มและกระแสล้านนานิยมได้ จำเป็นต้องพิจารณาเค้าโครงของชุดความรู้โดยเฉพาะการตั้งคำถามว่า อะไรคือความเป็นแม่แจ่ม? คนแม่แจ่มเป็นใคร? ดังกรณีบทความของ ทินกฤต สิรีรัตน์ เรื่อง สมมุติว่ามีล้านนา”: พื้นที่ อำนาจความรู้ และมรดกของอาณานิคมสยาม (ทินกฤต สิรีรัตน์, 2564: 169-202) โดยเฉพาะประเด็นการโต้กลับมรดกอาณานิคมสยามและล้านนาที่กลายเป็นจริง ช่วงหลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ล้านนาเป็นสิ่งสมมุติ หรือชุดความรู้ในการกำหนดชุดความรู้พื้นที่ชุดหนึ่ง ซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษ 2500 เพื่อประโยชน์ในการปกครองโดยชนชั้นนำสยาม พื้นที่สมมุติดังกล่าวถูกเชื่อมโยงเช้ากับชื่อ ล้านนาไทย ในพงศาวดารโยนก และถูกผลิตซ้ำเรื่องมาในงานเขียนกลุ่มล้านนาไทยคดี กระทั่งในวงการล้านนาคดีศึกษาในปัจจุบัน คำว่าล้านนาจึงมิได้เป็นเพียงชื่อเรียกของอาณาจักรโบราณเท่านั้นแต่ถือเป็นกรอบความคิดที่มาพร้อมกับชุดความรู้สำเร็จรูปที่การมองล้านนาเป็นหนึ่งหน่วยการปกครองและมีศูนย์กลางอำนาจเดียวอยู่ที่เชียงใหม่ การกรอบแนวคิดของล้านนาในลักษณะนี้บดบังพลวัตหรือตัวตนทางประวัติศาสตร์ของผู้คนชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่นอกเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะการทำให้เห็นภาพล้านนาแบบราชาชาตินิยม บทบาทของชนชั้นสูง หรือความหมายของล้านนาที่กระจุกตัวอยู่เพียงแอ่งลุ่มน้ำปิงเชิงดอยสุเทพ ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่ทินกฤตเสนอเป็นปรากฏการณ์สร้างภาพสมมุติครอบพื้นที่หนึ่ง ๆ เอาไว้ อย่างกรณี เชียงใหม่เป็นภาพแทนของล้านนา เมื่อมองในทัศนะที่แม่แจ่มถูกสถาปนาให้เป็นชุมชนวัฒนธรรมล้านนา ภาพของชุมชนที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่มก็เป็นภาพแทนของพื้นที่อำเภอแม่แจ่มเช่นเดียวกัน

    ช่วงทศวรรษ 2530-2540 ยังเป็นการเผยตัวของกระแสล้านนานิยม การเชื่อมร้อยข้อมูลทางประวัติศาสตร์แม่แจ่มโดยเฉพาะกระบวนการรื้อฟื้นบทบาทของพญาเจ้าเมืองก่อนการสถาปนาระบบมณฑลเทศาภิบาลโดยรัฐสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังกรณี งานศึกษาของ สันติพงษ์ ช้างเผือก ชุดโครงการวิจัยประวัติศาสตร์แม่แจ่ม 100 ปี และหนังสือเล่าขานตำนานเมืองแจ๋ม ของฝอยทอง สมบัติ ด้านหนึ่งแล้ว ความเฟื่องฟูของสกุลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้รับความสนใจอย่างจริงจังภายหลังการมีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ที่มีหลายมาตราเอื้อต่อการสร้างสำนึกท้องถิ่นนิยม เช่น มาตรา 46 และมาตรา 56 เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร (ชัยพงษ์ สำเนียง, 2561: 57) การกะเทาะชั้นความคิดในชุดข้อมูลดังกล่าวจะสามารถถอดความสำคัญในการรื้อสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแม่แจ่มขึ้นมาใหม่ได้  โดยเฉพาะการพยายามสถาปนาแม่แจ่มให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนครเชียงใหม่ พร้อมกับการให้ภาพแทนว่าเป็นหนึ่งในชุมชนที่ยังหลงเหลือวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ ตัวละครหลักในเรื่องงราวประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย ระดับพญาเจ้าเมือง (พญาเขื่อนแก้ว พญาไจย) โดยเฉพาะพญาเขื่อนแก้วที่มีการเชื่อมโยงกับการสถาปนาพ่อเจ้าหลวง (พ่อเฒ่าม่วงก๋อน พ่อเฒ่าดอนแท่น พ่อเฒ่าแถนเมือง) ให้สัมพันธ์กับระบบผีเจ้านาย คือ ขึ้นตรงกับเจ้าหลวงคำแดง ระดับผู้นำชุมชน (ท้าวอิน ท้าวพรม) เป็นผู้นำชุมชนที่ค้านอำนาจรัฐส่วนกลางช่วงปราบกบฏเงี้ยวโดยรัฐสยาม และมีบทบาทสูงในเครือสายผีปู่ย่าของชุมชนที่ราบลุ่มแม่แจ่ม อีกทั้งโครงเรื่องดังกล่าวยังสัมพันธ์กับกระแสล้านนาแบบราชาชาตินิยม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างซิ่นตีนจกแม่แจ่มและนครเชียงใหม่ในฐานะส่วย เน้นย้ำบทบาทของผ้าซิ่น บทบาทของสตรี และความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนแม่แจ่มกับเจ้านายนครเชียงใหม่ ดัง กรณีบทบาทและความสนใจด้านผ้าซิ่นของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

    โครงเรื่องประวัติศาสตร์นี้ยังสัมพันธ์กับการนำเสนอภาพให้แม่แจ่มเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนครเชียงใหม่ ซึ่งตรงกับกระแสฉลองวาระครอบรอบเชียงใหม่ 700 ปี ในปลายทศวรรษ 2530 อย่างไรก็ดี ยังขาดการอธิบายความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างชุมชนแม่แจ่มกับหัวเมืองไทใหญ่ที่มีภูมิรัฐศาสตร์ติดต่อกัน ดังกรณี ชายแก้ว เฉลยศึกไทยวนชาวเมืองแจ๋มที่ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าหัวเมืองไทใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมแม่แจ่มในทศวรรษ 2530-2540 อันมีส่วนในการประกอบสร้างให้แม่แจ่มเป็นภาพแทนของชุมชนวัฒนธรรมล้านนาตะวันตก ผู้เขียนมองว่ามีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพลวัตชุมชนและการปรับตัวทางเศรษฐกิจ ด้านปฏิบัติการทางสังคมต่อการสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ และด้านจิตสำนึกถึงความเป็นตัวตน

    ด้านพลวัตชุมชนและการปรับตัวทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของระบบทุนและการสถาปนาอำนาจของรัฐภายใต้โครงการพัฒนาได้เปลี่ยนระบอบวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านด้วยการพึ่งทุนทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากประสบปัญหาด้านการแย่งชิงทรัพยากรแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและภาคเกษตรกรรมที่สูงขึ้น เป็นผลให้ชาวบ้านต่างต้องปรับวิธีการแสวงหารายได้ ผู้คนวัยหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยต่างออกไปแสวงหางานภายนอกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นงานภาคบริการในตัวเมืองเชียงใหม่ งานภาคอุตสาหกรรมที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน อีกทั้งบางส่วนก็เข้าสู่ระบบการศึกษาไปจนถึงปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย ดังนั้น กิจกรรมทางสังคมในชุมชนมิอาจกลับมาเหนียวแน่นเช่นเดิมได้ ความเชื่อ ยุคสมัย และวิถีชีวิตได้เปลี่ยนไปแล้ว จึงทำให้กิจกรรมทางสังคมหรือพิธีกรรมบางอย่างถูกลดทอนบทบาทไปในที่สุด

    ด้านปฏิบัติการทางสังคมต่อการสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ กลุ่มพลังทางสังคมหรือผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ขึ้นมา ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เป็นความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายที่มิอาจบ่งบอกได้ว่าเป็นการผลักดันโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากแต่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการให้กลุ่มคนที่หลากหลายได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการปรับใช้ภูมิปัญญาอันเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดทั้งในเชิงเศรษฐกิจชุมชนและจิตสำนึกชุมชน ยกตัวอย่างสองกรณีคือ การบุกเบิกทำโครงการผ้าทอของคุณนุสราที่ทำร่วมกับชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน และบทบาทของพ่อกอนแก้วกับเครือข่ายที่พยายามเคลื่อนไหวในตัวพิธีกรรมด้านความเชื่อพ่อเจ้าหลวง กิจกรรมเหล่านี้ด้านหนึ่งแล้วได้ช่วยผสานรอยต่อแห่งกาลเวลา ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชนในช่วงเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมสู่วิถีใหม่ที่ต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

    ด้านจิตสำนึกถึงความเป็นตัวตน เมื่อกลับมาตั้งคำถามว่าคนแม่แจ่มเป็นใคร อะไรที่เป็นตัวตนของคนแม่แจ่ม คงมิอาจด่วนสรุปได้จากคำบอกเล่า วัตถุที่กำลังถือครอง หรือความสัมพันธ์ทางสายเลือด ภูมิหลังทางวัฒนธรรมย่อมปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและยุคสมัย การหล่อหลอมจิตสำนึกจึงอิงอยู่กับระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมทางสังคมที่ปรากฏขึ้นมาในแต่ละตำแหน่งแห่งที่เป็นตัวเชื่อมร้อยความสัมพันธ์และจิตสำนึกให้ผู้คนได้เกิดสำนึกร่วมกัน

    อย่างไรแล้วแต่ การเปิดเวทีวิจารณ์งานวิจัยของสันติพงษ์ ช้างเผือก โดยเชิญตัวแทนสถานศึกษา เครือข่ายสงฆ์ และตัวแทนชาวบ้านมาร่วมถกเถียงประเด็นการวิจัย เอาเข้าจริงแล้วเสียงสะท้อนที่ได้จากงานวิจัยของสันติพงษ์ได้ปฏิเสธการให้ภาพประวัติศาสตร์แบบศูนย์กลาง ที่เสนอแม่แจ่มแต่เพียงชุมชนเพียงไม่กี่ชุมชน กล่าวคือ คณะวิจัยของสันติพงษ์ ลงพื้นที่เพียงหมู่บ้านที่ราบลุ่มสายใต้ (บ้านป่าแดด-ยางหลวง บ้านฝาย-ทัพ-ไร่) ข้อมูลที่ได้มิได้มีชุดข้อมูลที่เป็นของบ้านที่ราบลุ่มสายเหนือ (ประเสริฐ ปันศิริ. 3 กันยายน 2564 : สัมภาษณ์) เช่น ความแตกต่างเรื่องการนับถือผี ความแตกต่างด้านสำเนียงภาษา ความแตกต่างด้านระบบการจัดการทรัพยากร ที่จะชัดที่สุดคือ หมู่บ้านสายเหนือไม่มีการทอผ้าซิ่นตีนจกแบบหมู่บ้านสายใต้ รูปแบบการประกอบพิธีกรรมก็มีลักษณะที่ต่างกัน ข้อถกเถียงดังกล่าวนำมาสู่การแยกประเด็นศึกษาในชุดวิจัยประวัติศาสตร์แม่แจ่ม 100 ปี แม้จะนิยามว่าเป็นชาวไทยวนอาศัยอยู่ที่ราบลุ่มแม่แจ่มเหมือนกันก็ตาม สภาพภูมิศาสตร์และระลอกการอพยพของผู้คนรวมถึงการผสมผสานของวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนไปจึงมิอาจระบุได้อย่างตรงไปตรงมาว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นแม่แจ่มอย่างแท้จริง หากแต่แม่แจ่มก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการผสมผสานของพหุวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเวลา การปรับตัวของผู้คนที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมร่วมสมัยอันจะสรรค์สร้างให้แม่แจ่มขยับไปข้างหน้า การคงคุณค่าสิ่งเดิมเป็นสิ่งที่ดีงามแต่การต่อยอดสิ่งเดิมก็สามารถเพิ่มคุณค่าของสิ่งเดิมได้ไม่แพ้กว่าการรักษาไว้เพื่อรอวันเวลาสูญหาย การให้ภาพแบบล้านนานิยมได้แช่แข็งสังคมแม่แจ่มไว้ และลดทอนมิติต่าง ๆ ทางวัฒนธรรมให้เหลือเพียงไม่กี่อย่าง

    ประเพณีประดิษฐ์ในแม่แจ่มยุคหลังทศวรรษ 2530

    การเคลื่อนไหวในเชียงใหม่หรือกระทั้งพื้นทีอื่น ๆ ในภาคเหนือการใช้วัฒนธรรมมาเป็นตัวประสานกิจกรรมคงจะเป็นจุดแข็งไม่น้อย คนภาคเหนือยังร่ำรวยวัฒนธรรมและส่วนใหญ่จะสนใจงานด้านวัฒนธรรม ดังนั้นนักเคลื่อนไหวจึงเริ่มจับเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมมาประสานกับวัฒนธรรมร่วมสมัย และสองสิ่งนี้สามารถทำให้กลมกลืนกันไปได้แล้วยกระดับการต่อสู้ทางวัฒนธรรมสู่การต่อสู้ทางการเมือง (นันทา เบญจศิลารักษ์, 2538: 35) ปัจจัยทางการเมืองและปรากฏการณ์ทางสังคมมีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายและการรับรู้ถึงสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ หรือการเติบโตของรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่พยายามแสดงออกถึงความเป็นท้องถิ่นขึ้น และเริ่มเห็นกระบวนการต่อสู้ ต่อรองชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมและเรื่องสิทธิชุมชน ที่สืบเนื่องมาจากการที่รัฐประกาศขยายเขตพื้นที่อุทยาน เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2530 – 2535 ทำให้ท้องถิ่นมีแนวคิดในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นคว้าสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิชุมชน” หรือ “หน้าหมู่” นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำวัฒนธรรมและพิธีกรรมมาใช้ในกระบวนการต่อรอง เช่น พิธีปลูกป่า พิธีสืบชะตาแม่น้ำ เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาและความเชื่อให้เข้ากับการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมชนคุ้นเคยและร่วมกันปฏิบัติมาอย่างยาวนาน ดังปรากฏในงานศึกษาของ ภาวิณี หงส์เผือก ศึกษา เรื่อง ชุมชนปฏิบัติในการฟื้นฟูวัฒนธรรมล้านนา: กรณีศึกษา โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา (ภาวิณี หงส์เผือก, 2561) ขยายให้เห็นพลวัตของการเคลื่อนไหวทางด้านล้านนานิยม โดยยกกรณีตัวอย่าง กรณีศึกษาคือ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และกลุ่มสลีปิงจัยแก้วกว้าง พลวัตของทั้งสองกลุ่มก่อตัวขึ้นหลังจากกระแสฉลองวาระครบรอบเชียงใหม่ 700 ปี ประกอบกับหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 กระแสวัฒนธรรมชุมชนได้รับความสนใจโดยกลุ่มนักวิชาการและคนในชุมชน กล่าวคือ เริ่มกลับมาค้นหาศักยภาพที่ชุมชนของตนมี เมื่อคนในชุมชนได้แนวคิดเรื่องระบบความคิดและภูมิปัญญาของตน ทำให้ชุมชนเริ่มมองเห็นว่าท้องถิ่นของตนมีของดี และมีความพยายามจะนำสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมระดับปฏิบัติการที่ดึงเอาครูภูมิปัญญาจากพื้นที่ต่างๆ มาให้ความรู้ในกิจกรรม เช่น กาดหมั่วครัวฮอม กิจกรรมการสอนทักษะผ่านครูภูมิปัญญา ข่วงการแสดง ศิลปะพื้นบ้านร่วมสมัย ผลพวงหลังจากการจัดงานสืบสานล้านนามีส่วนส่งแรงกระตุ้นไปยังบุคคลที่สนใจในเรื่องต่างๆ แต่ละด้าน ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มที่สนใจใฝ่รู้เรื่องเดียวกันหรือเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ที่มีอาชีพด้านภูมิปัญญาที่ใกล้เคียงกัน จนเกิดการรวมกลุ่มก่อตั้งกลุ่มขึ้นหลายต่อหลายกลุ่มในห้วงเวลานั้น

    คุณนุสรา เตียงเกตุ รู้จักกับอาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ตั้งแต่มาอยู่เชียงใหม่และมีโอกาสได้รู้จักเครือข่ายเอ็นจีโอ ช่วงแรกที่จัดงานสืบสานลล้านนา คำว่า “ศิลปะและวัฒนธรรม” ถูกนำมาใช้ในยุคนี้ หลังวิกฤติฟองสบู่แตก ผู้คนเริ่มกลับมาหาอาชีพกลับมาทำงานที่บ้าน พยายามหาทางออกโดยที่กลับมาพูดถึงเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น ประจวบกับเป็นช่วงฉลองครบรอบเชียงใหม่ 700 ปีพอดี เลยมีประเด็นเรื่องการกลับมามองประวัติศาสตร์ มีคุณนุสรา คุณเดชา อาจารย์ชัชวาลย์ เครือข่ายที่ทำด้านชนเผ่า และเครือข่ายเอ็นจีโอที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาทำร่วมกันโดยใช้ชื่อว่าสืบสานล้านนา หลังจากจัดกิจกรรมปีแรกก็มีเสียงสะท้อนมาว่าอยากจัดอีกครั้งที่ 2 ความต่อเนื่องของกิจกรรมนำมาสู่การคิดรูปแบบกิจกรรมให้ดูน่าสนใจไม่ซ้ำกับครั้งก่อนหน้า มีประเด็นการเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรม คนที่ส่งต่อศิลปะวัฒนธรรมเป็นประเด็นหลักที่น่าสนใจเลยนำมาเชื่อมโยงกับพ่อครูแม่ครูที่มีภูมิความรู้ในด้านต่าง ๆ จึงเกิดกระบวนการการเรียนรู้สืบทอดโดยดูว่าแต่ละด้านมีใครบ้างนอกจากทำงานแล้วสามารถสื่อสารสอนต่อได้ หนึ่งในนั้นเรื่องผ้าเป็นเรื่องใหญ่มากสามารถแตกแขนงไปได้อีกหลากหลาย เช่น ความรู้เรื่องซิ่น ความรู้เรื่องเครื่องนุ่งห่ม ความรู้เรื่องฝ้าย พ่อครูแม่ครูจากแม่แจ่มเป็นเครือข่ายหลักเรื่องผ้า มีการเทียบเชิญชาวบ้านยางหลวงไปให้ความรู้ในกิจกรรม ทำให้คิดต่อยอดได้อีกว่าภายในกิจกรรมทำให้พบเจอคุณค่าหลายอย่างมากที่มองเห็นได้จากศิลปะวัฒนธรรม กิจกรรมปีต่อมาเริ่มคิดจากความเรียบง่ายของชาวบ้านในการนำเสนอ ตัวอย่างเช่น ไข่ป่าม เหล้าตอง ที่เห็นตามกิจกรรมกาดหมั่ว ก็ได้โมเดลจากชาวบ้านที่แม่แจ่มมานำเสนอ องค์ประกอบการจัดวางมันช่วยส่งกันเครือข่ายของกลุ่มคนที่มาทำงานด้วยกัน ทำให้บรรยากาศมันเอื้อเลยทำให้สิ่งเรียบง่ายเหล่านี้มันสัมผัสใจผู้คนได้ (นุสรา เตียงเกตุ. 22 พฤศจิกายน 2564 : สัมภาษณ์)

    อาจารย์วิถี พานิชพันธุ์ และ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และด้านศิลปะวัฒนธรรม อาจารย์วิถีแม้จะอยู่ในเมืองเชียงใหม่แต่ก็เข้าไปแม่แจ่มบ่อยโดยเฉพาะการพานักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ แล้วก็ช่วยหาเจ้าภาพไปบำรุงวัดวาในแม่แจ่ม เช่น วัดกองแขก วัดป่าแดด ทั้งยังมีบทบาททำให้คนรุ่นใหม่สายศิลปะเข้าไปเรียนรู้ ซึมซับในแม่แจ่มหลายรุ่น ส่วนอาจารย์เผ่าทองเข้ามาช่วยเหลือวัดวาอย่างเช่นงานจุลกฐิน และช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องผ้าแม่แจ่ม โดยลำพังเพียงคุณนุสราเองมีโอกาสฟื้นเรื่องผ้าแม่แจ่มไม่เฉพาะซิ่นตีนจก แต่ว่าทั้งเรื่องฝ้าย กระบวนการทอ อาจารย์เผ่าทองก็มีส่วนช่วยเหลือ พออาจารย์รู้ว่าถ้ามีงานที่ไหนก็ให้คุณนุสราเอาชาวบ้านไปจัดกิจกรรมร่วมด้วย ยุคนั้นก็เหมือนกับว่าอาจารย์จะพาไปเปิดหูเปิดตาแล้วก็ทำให้คนรู้จักแม่แจ่มประกอบกับอาจารย์มีเครือข่ายทางด้านสื่อมวลชนด้วย ซึ่งมีสองรูปแบบทั้งรูปแบบที่เข้ามาที่แม่แจ่มซึ่งสายนี้ก็จะพอรู้จักมักคุ้นกันบ้าง เช่น หนังสือรักลูก มาดูว่าคุณนุสรามาอยู่แม่แจ่มแล้วเลี้ยงลูกยังไง กินอยู่ยังไง และก็สายศิลปะวัฒนธรรมอันที่จริงการสื่อสารช่วงแรก ๆ ก็ไม่ได้เป็นสายศิลปวัฒนธรรม ออกจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตมากกว่า แล้วก็มีสื่อหลายรายการจนมาถึงรายการทุ่งแสงตะวัน ของคุณนก นิรมล เมธีสุวกุล มีส่วนที่เชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรมกับเด็กเยาวชน ยุคหลัง ๆ มาจะเริ่มมาเป็นการสื่อสารศิลปวัฒนธรรมเยอะขึ้น (นุสรา เตียงเกตุ. 22 พฤศจิกายน 2564 : สัมภาษณ์)

    “เราไม่ได้มองเป็นเรื่องความเก่าแก่ แต่คิดว่ามันเอามาปรับใช้ผสมผสานกันได้ สำหรับเราไม่ได้ใช้คำว่าศิลปวัฒนธรรม จะใช้คำว่าพึ่งตัวเองมากกว่า ทีนี้กระแสศิลปวัฒนธรรมมันมาถูกทำให้สำคัญเพราะว่าอะไร เพราะว่ามันเป็นภาพจำที่คนส่วนใหญ่ชอบเอามาใช้เป็นภาพแทนของท้องถิ่น แล้วกระแสกิจกรรมในเชียงใหม่เป็นกระแสที่เข้มข้นมาก พอภาพเหล่านี้มันทำให้เกิดการยอมรับก็เลยเป็นภาพที่ทุกคนเอาไปใช้มันง่าย ทั้ง ๆ ที่จริงมันมีรายละเอียดหลายอย่างให้คิดสร้างสรรค์ต่อไปได้” (นุสรา เตียงเกตุ. 22 พฤศจิกายน 2564 : สัมภาษณ์)

    ประเพณีจุลกฐินมีจุดเริ่มต้นจากอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ พาคนมาทำบุญ ด้านหนึ่งแล้วอยากเห็นการมีส่วนร่วมของผู้คน จึงนึกถึงจุลกฐินที่เป็นพิธีกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนได้ เป็นกิจกรรมทางสังคมที่เคยมีมาในอดีตแต่ด้วยบริบทอาจจะเปลี่ยนไปซึ่งแบบเบ้ามาจากแนวคิดเรื่อง ตานผ้าทันใจ๋ มีลักษณะที่แม่อุ้ยทอผ้าให้ลูกหลานที่เป็นพระเณร หรือว่าตานผ้าทันใจ๋มันก็อาจจะมีในท้องถิ่นล้านนาแต่อาจจะไม่ได้เกิดในแม่แจ่มในลักษณะพิธีกรรม จึงทำให้คุณค่าของกระบวนการทอผ้าสามารถเอามาปรับใช้ได้ ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องยาวนานเพียงแค่คิดว่าคนที่เข้ามาร่วมเขาน่าจะมีกลิ่นอายของความเป็นแม่แจ่มให้คนจดจำ พอทำแล้วคนชอบคนประทับใจ ในกระบวนการก็ประชุมชาวบ้านให้ชาวบ้านเขามีส่วนร่วม รูปแบบกิจกรรมไม่ได้มีการออกแบบตายตัว มีเพียงเรื่องทอผ้าอย่างเดียว เรื่องการแสดงหรืออื่น ๆ เครือข่ายกลุ่มอื่นเขามาฮอมกัน อย่างวิจิตรศิลป์เอามาฮอม เลยเป็นภาพจำเวลาจำก็แล้วแต่ว่าเขาจะจำภาพไหน คนเชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ เขาก็จะจำภาพการปั่นฝ้ายทอผ้าอีกแบบหนึ่ง ส่วนคนแม่แจ่มก็จะจำภาพอีกแบบหนึ่ง ตอนแห่ขบวนจุลกฐินพอคนมารวมกันมันก็กลายเป็นบรรยากาศที่คล้อยตามกันเป็นภาพที่เห็นความเหนียวแน่นของชุมชน ทางเหนือมีความผสมผสานมากที่รับเอาวัฒนธรรมอื่นเข้ามาเป็นของตัวเอง ความมีอารยธรรมบางทีก็ไม่ใช่ว่าอยู่เฉพาะตัวมันเอง กล่าวคือ การรับเอาสิ่งที่ดีกว่าหรือดีขึ้นมาปรับใช้ให้ชีวิตดีขึ้น แม่แจ่มก็มีความสร้างสรรค์ในตัววัฒนธรรม เหตุใดลายตีนจกถึงมีชื่อเชียงแสน ละกอน แสดงว่ามันมีอะไรที่เขาเห็นดีเห็นงามเขาก็รับมาแล้วเอามาปรุงเป็นแม่แจ่ม ถามว่าเชียงแสนมีแบบที่แม่แจ่มมีไหมก็ไม่มี แต่มันถูกปรุงมาแล้วหลายอย่างมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพียงแต่มันกินเวลานานเท่านั้นเอง (นุสรา เตียงเกตุ. 22 พฤศจิกายน 2564 : สัมภาษณ์)

    “ยายฮู้จักกับเครือข่ายโฮงเฮียนสืบสานล้านนาผ่านอาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ มีโอกาสได้ปรึกษาเกี่ยวกับการเรียบเรียงข้อมูลหนังสือเล่าขานตำนานเมืองแจ๋ม อาจารย์ชัชวาลตกลงเป็นบรรณาธิการหื้อ ทัศนะของยายก็คิดว่าเขียนไว้เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รับรู้ว่าวิถีชีวิตเดิมในชุมชนแม่แจ่มเมื่อหลายสิบปี๋ก่อนหน้าจะเป๋นจะใดจนกระทั่งหลาย ๆ อย่างก็ฟื้นขึ้นมาหลังจากเขียนหนังสือเล่มนี้” (ฝอยทอง สมบัติ. 27 สิงหาคม 2564 : สัมภาษณ์)

    ภูมิหลังยายฝอยทอง สมบัติ เป็นชาวแม่แจ่มโดยกำเนิด ทว่าออกไปเรียนหนังสือในตัวจังหวัดและทำงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 กระทั้งย้ายกลับมาแม่แจ่มจนเกษียณอายุราชการช่วงกลางทศวรรษ 2530 การกลับเข้ามาอยู่แม่แจ่มในช่วงเวลาดังกล่าวสภาพสังคมแม่แจ่มเปลี่ยนไปจากสองทศวรรษก่อนหน้า กล่าวคือ ความเป็นชุมชนมีความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น การดำรงชีวิตประจำวันสัมพันธ์กับเทคโนโลยี เช่น รถยนต์ รถไถ โทรทัศน์ ฯลฯ จากสภาพสังคมที่เคยสัมผัสแปลกไปจากเดิม เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการหาข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยโดยเฉพาะความรู้ด้านการประกอบพิธีกรรมอย่างการไหว้ผีปู่ย่า ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า เริ่มจากถือสมุดจดข้อมูลตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ เข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมภายในชุมชน จนมีข้อมูลค่อนข้างครบถ้วนและมากพอที่จะรวบรวมเป็นหนังสือ ด้วยความที่รู้จักกับเครือข่ายโฮงเฮียนสืบสานล้านนา มีโอกาสได้ปรึกษาเกี่ยวกับการเรียบเรียงข้อมูลหนังสือเล่าขานตำนานเมืองแจ๋ม อาจารย์ชัชวาลตกลงเป็นบรรณาธิการให้ นอกจากนี้หนังสือเล่าขานตำนานเมืองแจ๋มยังมีบทบาทเสมือนเป็นคู่มือในการค้นคว้าและต่อยอดเกร็ดความรู้ทั้งในโครงการของหน่วยงานในท้องถิ่นและกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน การปราฏตัวของหนังสือเล่มนี้ยังส่งผลไปถึงกระบวนการรื้อฟื้นกิจกรรมบางอย่างให้กลับมาในรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ตัวอย่าง กิจกรรมตานก๋วยสลากของนักเรียนโรงเรียนเมืองเด็กวิทยา ก่อรูปเป็นกิจกรรมสืบสานผะหญาเมืองแจ๋ม จัดข่วงเรียนรู้ผ้าทอ ข่วงจักรสาน ข่วงขนมพื้นถิ่น กาดหมั้ว ฯลฯ เชิญพ่ออุ้ยแม่อุ้ยมาสอนกิจกรรมให้แก่เยาวชน (ฝอยทอง สมบัติ. 27 สิงหาคม 2564 : สัมภาษณ์)

    อย่างไรก็ดี การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปี พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 พ.ศ. 2545 ได้เป็นแม่บทให้สถานศึกษาสร้างหลักสูตรท้องถิ่นศึกษาขึ้น เป็นผลให้โรงเรียนสามารถสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมา ด้านหนึ่งแล้วปฏิบัติการแม่แจ่มศึกษาเป็นปฏิบัติการทางสังคมหนึ่งที่มีส่วนต่อการรื้อฟื้นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมผ่านการสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างเครือข่ายชุมชนและเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนต่าง ๆ ในแม่แจ่ม เช่น โรงเรียนเมืองเด็กวิทยา (เอกชน) เปิดหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วย ประวัติศาสตร์ชุมชน กิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้จากพ่อครูแม่ครูในชุมชน กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น การฟ้อนเล็บ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฯลฯ โรงเรียนบ้านทัพ โรงเรียนป่าแดด เปิดหลักสูตรการทอผ้าให้กับนักเรียนหญิงในทุกวันศุกร์

    จุดร่วมและจุดต่างในห้วงเวลาเดียวกัน เมื่อเทียบเคียงความเห็นของคุณนุสราเตียงเกตุ และยายฝอยทอง สมบัติ ซึ่งทั้งสองท่านต่างก็มีบทบาทสำคัญในการศึกษาเรื่องผ้าทอ คุณนุสราเข้ามาอยู่แม่แจ่มช่วงต้นทศวรรษ 2530 สภาพสังคมแม่แจ่มที่พบเห็นเป็นสิ่งแปลกใหม่ต้องอาศัยการเรียนรู้ และศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาระยะสั้นของชาวบ้าน ทัศนะของคุณนุสรามองว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมสามารถนำมาผสมผสานต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์ได้ โดยแกนหลักของวิธีคิดคือสื่อถึงการพึ่งตนเองเป็นหลัก เช่น การเรียนรู้กรรมวิธีการทำ การคัดสรรวัตถุดิบ มาประยุกต์เข้ากับจินตนาการและความเรียบง่าย ฉะนั้น จึงไม่ได้มองเรื่องความเก่าแก่หรือความดั้งเดิมจนเกินไป ทว่าการผสมผสานเช่นนี้สามารถสร้างคุณค่าให้กับภูมิปัญญาในท้องถิ่นได้ ความหมายและการนิยามสิ่ง ๆ นั้นอาจมิได้มีความซับซ้อนมากไปกว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากสิ่งเดิมที่มีอยู่ ส่วนกระแสศิลปวัฒนธรรมมาถูกทำให้สำคัญเพราะว่าเป็นภาพจำที่คนส่วนใหญ่ชอบเอามาใช้เป็นภาพแทนของท้องถิ่น กระแสกิจกรรมในเชียงใหม่เป็นกระแสที่เข้มข้นมาก ภาพเหล่านี้มันทำให้เกิดการยอมรับจึงเป็นภาพที่ถูกหยิบเอาไปใช้มันง่าย ทั้ง ๆ ที่จริงมันมีรายละเอียดหลายอย่างให้คิดสร้างสรรค์ต่อไปได้

    ขณะที่ยายฝอยทองเป็นชาวบ้านช่างเคิ่งโดยกำเนิด มีโอกาสไปเรียนหนังสือและทำงานในตัวจังหวัด กระทั่งกลับเข้ามาอยู่แม่แจ่มในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ภาพจำวิถีชีวิตในแม่แจ่มเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้ามีความแตกต่างไปจากการกลับเข้ามาอยู่แม่แจ่มในช่วงก่อนเกษียณอายุราชการ กล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับการปรับตัวในสังคมสมัยใหม่ ในยุคที่เทคโนโลยีและความสะดวกสบายเข้ามาแทนที่การดำรงชีพแบบพึ่งตนเอง จึงทำให้กิจกรรมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป พิธีกรรมและกิจกรรมทางสังคมไม่มีความเข้มข้นเหมือนหลายทศวรรษก่อนหน้า จึงมองว่าบางสิ่งบางอย่างกำลังจะสูญหายไปตามวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน สิ่งหนึ่งที่จะทำให้กิจกรรมทางสังคมแบบเดิมกลับมาคือการย้อนกลับไปศึกษาร่องรอยภูมิปัญญาเดิมเพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลังได้รับรู้

    ทัศนะของผู้ให้ข้อมูลทั้งสองท่านสะท้อนการให้ภาพสังคมแม่แจ่มในช่วงทศวรรษ 2530 ที่คล้ายคลึงกันคือปัญหาด้านรายได้และหนี้สินของชาวบ้าน แม้ทั้งสองท่านจะเริ่มเคลื่อนไหวด้านภูมิปัญญาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทว่าต่างมีแนวทางในการส่งเสริมกิจกรรมทางที่ต่างกัน การเคลื่อนไหวทางสังคมมิได้ก่อรูปขึ้นจากปัจเจกบุคคลเป็นตัวนำ หากแต่ว่าบุคคลที่เป็นแกนนำแต่ละด้านสามารถเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย การเคลื่อนไหวแต่ละตำแหน่งแห่งที่ภายในพื้นที่แม่แจ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดนีโอล้านนา และกลุ่มที่มีแนวคิดท้องถิ่นนิยม ได้ประสานกันเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงหลายสิ่งเข้าประกอบสร้างชุมชนแห่งล้านนาในจินตนาการขึ้นมา ดังกรณี ประเพณีจุลกฐิน มีบทบาทเชื่อมโยงกับระบอบความสัมพันธ์ในชุมชนพื้นที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่ม ทั้งด้านจิตวิญญาณและด้านเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกัน

    ผลพวงของนโยบายการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดที่ได้สร้างพื้นที่สำหรับการเก็บข้อมูลด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ ประกอบกับกระแสการส่งเสริมการท่องเที่ยวนับแต่ต้นทศวรรษ 2520 รวมถึงบรรยากาศการจัดงานสัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจึงทำให้ช่วงทศวรรษ 2520 เป็นช่วงที่กระแสท้องถิ่นนิยมเองเริ่มก่อตัวขึ้นมาผ่านการสร้างกิจกรรมทางสังคมใหม่เพื่อสร้างพื้นที่แข่งขันด้านการท่องเที่ยว อย่างเช่น กรณี งานแห่สลุงหลวงที่จังหวัดลำปางชิงจัดงานก่อนประเพณีสรงน้ำพุทธสิหิงค์ที่เชียงใหม่เพียงหนึ่งวันเพื่อเป็นยุทธศาสตร์การดึงมวลชนนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม กระนั้นแล้วสิ่งที่น่าสนใจก็คือ การประดิษฐ์สร้างภาพความเป็นล้านนาแบบประยุกต์ได้ก่อตัวขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วย โดยเฉพาะหลังการเปิดหลักสูตรภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือแนวคิดนีโอล้านนา (Neo-Lanna) ภาควิชาดังกล่าวได้ผลิตสร้างศิลปกรรมล้านนาร่วมสมัยจนกลายเป็นภาพแทนของความเป็นล้านนาสอดรับกับกระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

    คณะวิจิตรศิลป์ก่อตั้งราวปี พ.ศ. 2524 ได้รวบรวมคณาจารย์ผู้มีความสามารถทางด้านศิลปะมาช่วยร่างหลักสูตร ทั้งนี้ในระยะก่อตั้งคณะได้เปิดหลักสูตร 2 สาย ได้แก่ สายวิจิตรศิลป์โดยตรงว่าด้วยจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์  ส่วนอีกสายหนึ่งเป็นสายค่อนข้างจะรับใช้ท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็รับใช้สังคมร่วมสมัย เรียกว่า หลักสูตรศิลปะไทยหรือศิลปะท้องถิ่นของเรา อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ให้ความสำคัญทางด้านความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับงานศิลปกรรมในท้อนถิ่น ตลอดจนการดนตรี การแสดง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่างหลักสูตรศิลปะไทยขึ้นมา ทว่า ศิลปะไทยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มิได้เน้นการสอนด้านจิตรกรรมไทยโดยตรงแบบมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เน้นการเรียนรู้ที่มาที่ไปของศิลปะในท้องถิ่นและทัศนศิลป์กว้าง ๆ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบ งานช่างฝีมือ รวมถึงเรื่องของวัฒนธรรม ที่เป็นฐานสำคัญในการผลิคงานศิลปะเหล่านี้ออกมา รวมถึงการแสดง การดนตรี ที่นำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ภาควิชาศิลปะไทยที่มุ่งศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้เกิดหลาย ๆ กระบวนวิชาต่างออกไป เช่น การศึกษาสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ลวดลายพื้นเมือง แบบแผนพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกับงานช่าง งานฝีมือ และนำข้อมูลที่กระจัดกระจายในท้องถิ่นมาศึกษา เช่น วิชาผ้าไทย วิชาปูนไม้แกะสลักล้านนา วิชาเครื่องเขินล้านนาและพื้นที่ใกล้เคียง กลายเป็นว่าผู้คนให้ความสนใจก่อให้เกิดกระแสต่าง ๆ ตามมา แม้กระทั่งการออกแบบเครื่องแต่งกายแบบพื้นเมืองเป็นอย่างไร ผ้าพื้นเมืองจริง ๆ เป็นอย่างไร ทำให้ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามาสอนร่วมกับคณาจารย์ในหลักสูตร แม้กระทั่งกิจกรรมทั้งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และภายนอก เช่น การรับน้องขึ้นดอย การแห่นางแก้ว เป็นต้น การประดิษฐ์สร้างพิธีกรรมให้มีความเป็นเชียงใหม่มากขึ้น จนในที่สุดสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เข้าไปจัดการบุคลิก อัตลักษณ์ ของงานศิลปะที่เป็นล้านนา หรือจะเห็นได้จากนอกพื้นที่เชียงใหม่ได้แก่ งานหลวงเวียงละกอน งานแห่สลุงหลวง ที่จังหวัดลำปาง พิธีอัญเชิญและสมโภชพระพุทธรตนากร นวุตติวัสสานุสรณ์มงคล ที่จังหวัดเชียงราย

    นอกเหนือจากรายวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอนแล้วอาจารย์วิถี และเครือข่ายลูกศิษย์ได้ลงพื้นที่ไปแสวงหาข้อมูลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายตามชุมชนต่าง ๆ เช่น ชุมชนไทลื้อสิบสองปันนา ชุมชนไทเขินเชียงตุง รวมถึงชุมชนในแถบจังหวัดภาคเหนือตอนบน แม้กระทั่งแม่แจ่มเอง ในปี 2529 อาจารย์วิถี และเครือข่ายได้มาสำรวจจิตรกรรมผนังวิหารวัดกองแขก จิตรกรรมวิหารวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นับว่าเป็นกลุ่มผู้สนใจงานด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมท้องถิ่นชุดแรก ๆ ที่เข้ามาลงพื้นที่ในแม่แจ่ม เครือข่ายอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาศิลปะไทยมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาศึกษาศิลปกรรมในแม่แจ่มช่วงปลายทศวรรษ 2520 ถึงทศวรรษ 2530 ด้วยการเข้ามาศึกษาศิลปะเกี่ยวกับลวดลายบนผ้าซิ่นตีนจก ลายจกหน้าหมอน ผ้าซิ่นลัวะ ผ้าซิ่นปกาเกอะญอ รวมไปถึงการเชื่อมโยงบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านตัววัตถุของแต่ละพื้นที่จนเป็นข้อมูลใหม่ที่สามารถนำมาสร้างองค์ความรู้หรือสร้างสรรค์ผลงานใหม่เกิดขึ้น งานศึกษาหนึ่งที่เครือข่ายภาควิชาศิลปะไทยเข้ามาศึกษาในแม่แจ่มคือ วิจัยของ ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ เรื่อง กิจกูฏวัดยางหลวง บทบาทศิลปะพม่า-ล้านนาในหุบเขาแม่แจ่ม ที่นอกจากจะใช้การวิเคราะห์เชิงสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแล้ว ยังสามารถเชื่อมบริบททางภูมิศาสตร์ การเคลื่อนย้ายของผู้คนและสภาพแวดล้อมทางสังคมในอดีตได้อย่างน่าสนใจ

    แม้ว่าทศวรรษ 2530 ไม่อาจปฏิเสธงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมนอกเชียงใหม่ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ กระนั้นก็เป็นการศึกษาที่ได้รับความสำคัญในลำดับรองลงมา ยุคนี้การเดินหน้าไปสู่การสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ล้านนากลับมีความสัมพันธ์กับวาระครบรอบอายุเมืองเชียงใหม่ 700 ปี กระแสท้องถิ่นนิยมที่เคยเฟื่องฟูในทศวรรษ 2520 ค่อย ๆ ลดบทบาทลงและถูกแทนที่ด้วยกระแสเชียงใหม่นิยม ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่เองก็มีการตั้งงบประมาณและกิจกรรมที่สอดคล้องกับกระแสเชียงใหม่ 700 ปีอย่างต่อเนื่อง เช่น การประชุมปฏิบัติการเรื่องอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม การจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่ (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 2556: 42) การตั้งชื่อสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี หรือแม้แต่กิจกรรมของเครือข่ายโครงการสืบสานล้านนา

    บทสรุป

    ภาพแทนทางวัฒนธรรมของแม่แจ่มกลายเป็นภาพแทนที่เป็นบทบาทของผู้หญิงนำ หากมองผ่านเรื่องซิ่นตีนจก คนชั้นกลางเมืองคือ “กลุ่มผู้บริโภค” และมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้คนในพื้นที่หันมาให้ความสำคัญกับการทอผ้า พลวัตของกลุ่มพลังทางสังคมภายในแม่แจ่มช่วงทศวรรษ 2540 สามารถเกาะเกี่ยวประสานกับเครือข่ายกลุ่มพลังทางสังคมอื่นเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในแม่แจ่มโดยเฉพาะประเด็นการขับเคลื่อนการส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า มีผลงานเชิงวิชาการจำนวนหนึ่งที่ถูกผลิตออกมา โดยเฉพาะโครงการประวัติศาสตร์แม่แจ่ม 100 ปี ด้านหนึ่งแล้วชุดความรู้ที่ถูกผลิตสร้างเหล่านี้ได้สร้างหมุดหมายผ่านร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์สังคมแม่แจ่ม การผลิตสร้างโครงการประวัติศาสตร์แม่แจ่ม 100 ปี มิได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มทางสังคมภายในเพียงลำพังหากแต่สอดรับกับเงื่อนไขทางสังคมไทยในภาพรวม เช่น ปรากฏการณ์ท้องถิ่นนิยมที่อ้างอิงกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 อีกด้านหนึ่งข้อมูลชุดนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นชุดข้อมูลที่ผลิตสร้างและรื้อฟื้นจากกลุ่มพลังทางสังคมภายในมุ่งหมายจะสร้างชุมชนราบลุ่มแม่แจ่มให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปถึงกิจกรรมระดับปฏิบัติการแบบกลุ่มสืบสานล้านนา ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในแม่แจ่มมีลักษณะรูปแบบกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน อนึ่ง ครูภูมิปัญญาที่เข้าไปสอนในกลุ่มสืบสานล้านนาบางส่วนก็มาจากพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดเครือข่ายกลุ่มพลังทางสังคมกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทั้งในแง่ระบบความคิดหรือชุดความคิดทางวัฒนธรรมชุมชนและการสร้างสรรค์กิจกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ขึ้นมา ศูนย์ปฏิบัติการเชิงประจักษ์ที่ทำให้เกิดการก่อรูปการประสานของกลุ่มพลังทางสังคมคือกิจกรรมทางภูมิปัญญาที่โรงเรียนเมืองเด็กวิทยา เช่น การส่งเสริมให้นักเรียนใส่ชุดพื้นเมือง นักเรียนหญิงนุ่งซิ่นตีนจก กิจกรรมทักษะทางด้านภูมิปัญญา (นักเรียนหญิงฟ้อนเล็บ นักเรียนชายฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ) กิจกรรมข่วงผญา ซึ่งจัดขึ้นในทุกวันศุกร์ของช่วงเวลาเปิดภาคเรียน ปฏิบัติการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ฟื้นฟูอัตลักษณ์ท้องถิ่นขึ้นมาอย่างเดียวเท่านั้น ทว่า ยังผลิตสร้างหน่ออ่อนผ่านการถ่ายทอดสู่เยาวชน ตลอดจนประกอบภาพให้เห็นถึงความยังคงดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ท้องถิ่น จนแม่แจ่มถูกขนานนามว่าเป็นพื้นที่ภูมิปัญญาแห่งสุดท้ายของล้านนา

    บทบาทของผ้าซิ่นตีนจกแทรกซึมเข้าไปในปฏิบัติการทางสังคมของพื้นที่ที่ถูกสร้างให้เป็นศูนย์กลางของแม่แจ่ม นั่นคือ ชุมชนพื้นราบหรือชุมชนในตัวอำเภอแม่แจ่ม จนทำให้ภาพแทนของผ้าซิ่นตีนจกบดบังปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายขอบของแม่แจ่ม ช่วงทศวรรษ 2540 ถึงต้น ทศวรรษ 2550 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ลดทอนการรับรู้เกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมในอำเภอแม่แจ่มซึ่งมีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ รวมถึงการละเลยจุดตั้งต้นถึงการดำรงชีพของชาวแม่แจ่มในช่วงเวลานั้น ความสนใจของแทบทุกหน่วยงานให้ความสนใจด้านการท่องเที่ยวแต่กลับมองข้ามปัญหาการดำรงชีพของประชากรส่วนใหญ่ในแม่แจ่มซึ่งต้องพึ่งรายได้จากการผลิตภาคเกษตรกรรม เฉกเช่น การส่งเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านระยะยาว เพราะที่ผ่านมามักเป็นการส่งเสริมเป็นโครงการระยะสั้นเพียงชั่วคราวแล้วล้มเลิกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาหนี้สินสะสมในครัวเรือน ปัญหานี้กลายเป็นต้นตอของปรากฏการณ์ทางสังคมในเชิงลบ เมื่อชาวบ้านไร้ที่วิธีการหาทางออกอย่างจริงจังหนทางการเอาตัวรอดคือการแก้ไขปัญหาสะสมด้านเศรษฐกิจครัวเรือน ดังกรณีการขยายตัวของการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดียวเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่การขยายตัวเฉพาะจำนวนครัวเรือนที่เลือกจะปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว แต่ยังรวมถึงการขยายตัวทางกายภาพเชิงพื้นที่ไปด้วย เหตุนี้จึงทำให้เกิดการขยายตัวของแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวไปพร้อมกับการหายไปของพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติไปจำนวนมาก

    ประเพณีประดิษฐ์อย่างจุลกฐินและงานมหกรรมผ้าซิ่นตีนจก ปรากฏตัวขึ้นด้วยการประดิษฐ์กิจกรรมทางสังคมขึ้นมาใหม่ แก่นแท้ของประเพณีประดิษฐ์มิได้ก่อรูปขึ้นมาจากความเป็นแม่แจ่มบริสุทธิ์ หากแต่เป็นการสร้างชุดความหมายใหม่ บทบาทใหม่ ให้แก่สังคมชุมชนลุ่มน้ำแม่แจ่ม อำนาจนำของประเพณีประดิษฐ์เหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นภาพจำที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในความทรงจำของผู้คน ความหมายใหม่นี้ถูกนำไปครอบความหมายของ “วัฒนธรรมแม่แจ่ม” ซึ่งเป็นขอบเขตที่กว้างและสามารถแยกย่อยไปได้อีกหลายแขนง อย่างไรก็แล้วแต่บทบาทของประเพณีประดิษฐ์ถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มพลังทางสังคมใหม่ ๆ หยิบยืมรูปแบบและความหมายของกิจกรรม เพื่อนำมาผลิตสร้างการปรากฎตัวของประเพณีประดิษฐ์ในตำแหน่งแห่งที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านต่างชุมชน การเคลื่อนไหวของหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นด้านวัฒนธรรม ตลอดจนสื่อสารมวลชนที่มีส่วนผลิตสร้างภาพแทนเพื่อรองรับความเป็นชุมชนแม่แจ่มเอาไว้   


    อ้างอิง

    • เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. วัฒนธรรมการจัดการภายในชุมชนดั้งเดิมและผลกระทบจากชุมชนชาติ: ตัวอย่างกรณีศึกษาจากชุมชนแม่แจ่ม. สังคมศาสตร์ปริทัศน์. 17(2), 27-40, 2538.
    • ชัยพงษ์ สำเนียง. ความย้อนแย้ง ยอกย้อน สับสน ของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา. ใน ชัยพงษ์ สำเนียง (บรรณาธิการ). ข้ามพ้นกับดักคู่ตรงข้าม: ไทศึกษา ล้านนาคดี ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2561.
    • ทินกฤต สิรีรัตน์. สมมุติว่ามี “ล้านนา”: พื้นที่ อำนาจ-ความรู้ และมรดกของอาณานิคมสยาม. วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์. 8(2), 169-202, 2564.
    • นันทา เบญจศิลารักษ์. บทสัมภาษณ์: ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ “คนทำงานเคลื่อนไหว ทำงานเพื่อสังคม ต้องมีศิลปะในการดำเนินชีวิต”. สารล้านนา ปีที่ 11. 29-44, 2538
    • ภาวิณี หงส์เผือก. ชุมชนปฏิบัติการฟื้นฟูวัฒนธรรมล้านนา: กรณีศึกษาโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2561.
    • ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. ไทย-ลานนา ล้านนา-ไทย: ประวัติศาสตร์นิพนธ์สถาปัตยกรรมล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 25-พ.ศ. 2549). วารสารหน้าจั่ว. 10, 27-59, 2556.
    • ภูเดช แสนสา. คร่าว กฎหมาย จารีต ตำนาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ล้านนา. สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2556.
    • อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. ภาพรวมงานพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ทางเดินและทางเลือกขององค์กรประชาชน. ใน ณรงค์ เพ็ชรประเสร็ฐ (บรรณาธิการ). วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ฉบับที่ 7 , 2541.

    สัมภาษณ์

    • นุสรา เตียงเกตุ, 22 พฤศจิกายน 2564
    • ประเสริฐ ปันศิริ, 3 กันยายน 2564
    • ฝอยทอง สมบัติ, 27 สิงหาคม 2564

    บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมสัมมนาวิชาการล้านนาศึกษา Lanna Symposium: Lanna Decolonized “ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” วันที่ 4 มีนาคม 2567

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...