เมษายน 26, 2024

    พรรคสู้ฝุ่น ฝ่าวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือ

    Share

    20 เมษายน 2566

    เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ร้าน Goodcery จ.เชียงใหม่ The Goodcery TH, Surin Pitsuwan Foundation  และ School of Public Policy Chiang Mai University  ร่วมกันจัดกิจกรรม Alliance Against the Haze เพื่อน/สู้/ควัน เพื่อร่วมฟัง ทำความเข้าใจ จากผู้คนในทุกบทบาทที่กำลังพยายามผลักดัน ฟื้นฟู ต่อสู้ ปรับเปลี่ยน ต่อสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ภายในงานมีทั้งวงคุยนโยบายของประชาชนเพื่อประชาชน,“อาหารการกิน และห่วงโซ่อุปทาน สายป่านแข็งแรงเพื่อประชาชน” จากจานข้าว จากคำทุกคำที่รับประทาน มันคือวิตามินป้อนให้ฝุ่นควันได้เติบโตขึ้นทุกปีๆ อย่างไร? และพรรคการเมืองที่มาส่งต่อไม้ความหวังของการจัดการฝุ่นที่ “จริงจัง” ให้กับบ้านของเรา รวมถึงการแสดง Performance Art 

    จากเวทีดีเบตพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนในการแก้ไขฝุ่นควัน กับตัวแทนพรรคการเมือง ได้แก่ จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย, เดชรัต สุขกำเนิด ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล, ศิธา ทิวารี ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย, จารุพล เรืองสุวรรณ ตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติ และจักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์

    อนาคตของอากาศบริสุทธิ์จะมาอีกเมื่อไหร่?

    พรรคก้าวไกล ย้ำว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหาในทุกแหล่งกำเนิดของฝุ่นควัน โดนเน้นย้ำแหล่งกำเนิดนอกประเทศ โดยการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่สุดคือการห้ามนำเข้าข้าวโพดที่มาจากพื้นที่การเผา

    “การแก้ไขปัญหาระยะสั้นคือ มาตรฐาน GAP ห้ามเผา ต้องมีการตรวจสอบ ส่วนในระยะยาว ต้องพัฒนากฎหมายแบบสิงคโปร์ทำ กฎหมายเอาผิดการลงทุนข้ามพรมแดน” เดชรัตกล่าว 

    เปลี่ยนเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นผสมผสานมากขึ้น ประกันรายได้ส่วนที่เกษตรกรปรับเปลี่ยน แต่ปัจจุบันไฟป่าเยอะกว่าพื้นที่เกษตร พรรคก้าวไกลเสนอให้ตำบลละ 3 ล้านในการจัดการไฟป่า โดยลงไปยังเครือข่ายและภาคประชาชนในชุมชนด้วย 

    พรรคก้าวไกลเสนอ ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในอีก 14 ปีข้างหน้า เพื่อลดภาวะโลกร้อนไปด้วย และการปรับเปลี่ยนยางยนต์ที่เป็นขนส่งสาธารณะแบบไฟฟ้ามากขึ้น ต้องทำภายใน 7 ปี พร้อมตรวจสภาพฟรีในระยะเวลาสามเดือน ก่อนเข้าฤดูกาลฝุ่น พร้อมติดสติ๊กเกอร์ว่าตรวจสภาพแล้ว และสุดท้ายคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ในทุกจุดเพื่อลดฝุ่นควันลงไปครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลา 2 ปี

    ด้านพรรคไทยสร้างไทย นำโดยนาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี กล่าวว่า ปริมาณการเป็นพิษของฝุ่นมันเพิ่มมากขึ้น 9 จังหวัดภาคเหนือ อันตรายกว่า 3 จังหวัดภาคใต้แล้ว คนภาคเหนือที่เป็นโรคทางเดินหายใจ โรคปอดเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านคน ส่วนฝุ่นควันที่มีการเผากว่า 2 ล้านไร่ มูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์ประมาณ 14,000 ล้านบาท ทำลายด้วยการเผาอย่างเดียว เพราะมันทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทต่ำลง ถ้าไม่เผาก็อาจจะได้กำไรน้อยลง พอมองไปที่บริษัทที่ไปลงทุนเกินกว่าครึ่งหนึ่งคือบริษัทสัญชาติไทย 

    ขณะที่พรรคไทยสร้างไทยได้ดำเนินการติดต่อพูดคุยกับฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งทาง สปป.ลาวพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ พร้อมกันนี้ต้องมีการจัดการกับภาคเอกชนเหมือนกับทางสิงคโปร์

    “เราผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาด ทางรัฐสภาก็ตีตก เพราะติดเงื่อนไขที่เกี่ยวเนื่องกับการเงิน เรามองว่าปัญหามันสามารถแก้ไขได้ อยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น” ศิธากล่าวทิ้งท้าย

    ด้าน ร.อ.ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ ตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติ มองว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องต้นเหตุก่อน ต้องเริ่มจากการไม่โทษประชาชนก่อน และมองดูว่าต้นเหตุของฝุ่นควันมาจากอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น อย่างการคมนาคมปัจจุบันเรามีรถยนต์ EV เราต้องผลักดันให้มันเกิดขึ้นให้ได้ โมเดลจากต่างประเทศมีการใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของคน 

    “เลือกเพื่อชาติ เพื่อกำจัดนายทุนและขุนศึกที่กินรวบประเทศ อันนี้คือสโลแกนของพรรคเรา” จารุพลกล่าว

    ด้านจักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงศ์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าปัญหามลพิษเป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ใช่แค่เพียงภูมิภาค โดยเสนอ 3 ยุทธศาสตร์คือ กฎหมายอากาศสะอาดที่เกิดการร่วมมือจากฝ่ายวิชาการ ภาคประชาสังคม และชุมชน ซึ่งการแก้ไขจำเป็นต้องกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

    วิธีที่สองคือ การใช้เทคโนโลยีและความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ โดยการใช้เทคโนโลยีจะเกิดจากการใช้ดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งจะโฟกัสหาพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีปัญหา และถัดมาคือการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อปลูกต้นไม้ 

    วิธีที่สาม ต้องไม่ผลักภาระให้ประชาชน โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ หรือหลักผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ โดยการชดเชยรายได้ประชาชนที่เข้าไปหาของป่า อีกทั้งต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมปัญหา โดยการแก้ไขปัญหากลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 

    พรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวทางให้เงินสนับสนุน SMEs และให้เงินสนับสนุนชุมชน นอกจากนี้ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างจิตสำนึก เสนอให้ประชาชนสามารถตรวจสุขภาพฟรี

    ด้านจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย เสนอยืนยันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ถูกตีตกไปในสมัยสภาครั้งล่าสุด เนื่องจากมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเงิน สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้นได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาแต่แรก สิ่งที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การออก พ.ร.บ.อากาศสะอาดในประเทศก่อนไปเจรจากับในอาเซียน

    ส่วนปัญหากลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิด PM2.5 นั้น พรรคเพื่อไทยเสนอการแก้ไขปัญหา ย้ำว่าต้องมีการใช้หลัก PPP (Public-Private Partnership) เพื่อออกแบบกฎหมาย แก้ไขปัญหาด้วยการออกบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น 

    รับชม Live เพิ่มเติมได้ที่ 

    https://www.facebook.com/surinpitsuwanfoundation/videos/3435191556699794

    Related

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...