พฤษภาคม 3, 2024

    น้ำแม่ข่า คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข สุขของใคร? หรือสุขที่ฝันไว้ไม่เคยตรงปก? 

    Share

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ

    “คลองแม่ข่า” หรือ “น้ำแม่ข่า” คลองที่มีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ไล่ไปตั้งแต่เป็นหนึ่งในชัยภูมิ 7 ประการในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงการก้าวกระโดดเติบโตของเมืองเชียงใหม่ในช่วง 50 ปีให้หลังที่สร้างให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง แต่ภายใต้การพัฒนาเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่กลับไม่ได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรองรับกับการขยายตัวของเมืองส่งผลให้คลองแม่ข่าที่เป็นดังระบบระบายน้ำของเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียซึ่งส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน

    ในวันนี้การพัฒนาคลองแม่ข่าระลอกใหม่ได้เดินหน้าตามแผนแม่บท (พ.ศ. 2561 – 2565) ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นดังร่มใหญ่ที่ก่อให้เกิดการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ที่หลายคนรู้จักในชื่อ โอตารุเมืองเชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวระยะทาง 750 เมตรส่วนหนึ่งของคลองแม่ข่าที่มีความยาวถึง 11 กิโลเมตรที่พาดผ่านอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่เป็นดั่งอีกหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่คลองแม่ข่าจะกลับมาใสสะอาดอีกครั้ง?

    ที่นี่แม่ข่า ลำน้ำชัยมงคล 

    คลองแม่ข่า หรือที่คนเชียงใหม่เรียกคลองสายนี้ว่า ‘น้ำแม่ข่า’ เป็นคลองโบราณของจังหวัดเชียงใหม่ มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ที่เป็นหนึ่งในชัยมงคล 7 ประการที่พญามังรายทรงเลือกในการสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ 700 ปีก่อนมีต้นกำเนิดมาจากดอยสุเทพ-ดอยปุย มีความยาวราว 31 กิโลเมตร ในอดีตมีหน้าที่เป็นเส้นทางในการสัญจร และเป็นเส้นทางระบายน้ำจากเขตตัวเมืองเชียงใหม่ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิง และใช้ในการทำเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภค

    มนวัธน์ พรหมรัตน์ อาจารย์จากสำนักวิชาพหุภาคและการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เผยข้อมูลผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Manawat Promrat เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ว่า ชุมชนของราษฎรอยู่ในเขตริมกำแพงดิน ติดพื้นที่น้ำข่ามานานกว่า 130 ปีแล้ว (แผนที่ปี 2466 ของมิชชันนารียืนยันความคึกคักของแถบนี้ได้จากวัดวาอารามและสิ่งปลูกสร้างสาธารณะ) มนวัธน์ยังเผยอีกว่า การกวาดต้อนผู้คนสมัยเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมืองของพระเจ้ากาวิละ ราว พ.ศ. 2339-2370 จะเห็นว่าเขตรอบกำแพงเมืองชั้นนอกหรือกำแพงดินริมน้ำข่านี้คือที่อยู่ของข้า (ไพร่พล) ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองต่าง ๆ เช่น เชียงแสน ไทเขิน หรือกลุ่มไทใหญ่ ปะโอที่เข้ามาพร้อมการค้าอาณานิคม และกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเป็นกำลังของบ้านเมืองและเศรษฐกิจ

    มนวัธน์ กล่าวอีกว่า สามัญชนเหล่านี้ไม่ถูกนับเป็นสิ่งสำคัญในสายตาของรัฐ ที่ดินจึงถูกบันทึกเพียงว่า “..มีบ้านเรือนราษฎรมาก ..” ไม่เหมือนที่ดินของชนชั้นนำ เจ้าขุนมูลนายต่าง ๆ ที่ถูกจดจารด้วยชื่อนามอันแท้จริง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปักปันโฉนดในยุคแรก ๆ เมื่อสามัญชนไม่มีชื่อให้จดจารและจดจำ การขยับขยายเคลื่อนย้ายถิ่นที่ทำกินในยุคที่บ้านเมืองพัฒนาก็ไม่เคยถูกจดจำและบันทึกไว้เช่นกัน เมื่อยุคพัฒนาคลานคืบมาผู้คนจำนวนมากเข้ามาปักหลักทั้งถาวรและเวียนผ่าน รอบ ๆ เขตกำแพงเมืองชั้นนอกและริมแม่ข่า

    จากข้อคิดเห็นของ มนวัธน์ ชี้ให้เห็นว่าประชาชนริมน้ำแม่ข่านั้นอาศัยอยู่มานานและเป็นแรงงานที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่อดีต ผนวกกับการเติบโตของเมืองผ่านแผนการพัฒนาเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บรรดาเหล่าห้างร้านต่าง ๆ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจรถทัวร์ ร้านอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวผุดเป็นดอกเห็ดในช่วงแผนการพัฒนาในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา กลับไม่มีระบบและแผนรองรับในการพัฒนาดังกล่าว ส่งผลให้คลองแม่ข่าที่เป็นสายน้ำที่้เคยหล่อเลี้ยงคนในเมืองและพื้นที่ตอนใต้ กลายเป็นระบบรองรับน้ำเสียจาก อาคารบ้านเรือน ชุมชน โรงแรม ตลาด ห้างร้านต่าง ๆ ส่งกลิ่นเน่าเหม็น และลำคลองที่แคบลง

    โดยปัจจุบันพื้นที่รอบคลองแม่ข่าเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากเอกสารประกอบการเสวนาการพัฒนาพื้นที่ริมคลองแม่ข่า ในหัวข้อ “ความจริงสถานการณ์ที่อยู่อาศัยริมคลองแม่ข่าและอนาคตของการร่วมพัฒนา” โดย สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 จากการสำรวจข้อมูล 1,865 ครัวเรือน เผยตัวเลข ชุมชนที่อยู่บริเวณคลองแม่ข่าทั้งหมด 21 ชุมชน มีบ้าน 2,169 หลังคาเรือน และมีประชากรรอบคลองแม่ข่า 4,361 คน เท่ากับ 3% ของประชากรในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีประชากรกลุ่มเปราะบางทั้งหมด 1,221 คน (ผู้สูงอายุ, ผู้พิการ, ผู้ป่วยเรื้อรัง และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) 

    ในเอกสารฯยังเผยข้อมูลประชาชนที่อาศัยบริเวณอยู่ในคลองแม่ข่ามีสิทธิในที่ดินแบ่งเป็น 2 กรณีคือ สัญญาเช่ากับหน่วยงานเจ้าของที่ดินระยะเวลาสัญญา 1-3 ปี ทั้งหมด 72% และไม่มีกรรมสิทธิ์ 28% ซึ่งมีหน่วยงานเจ้าของสัญญาเช่าที่ดิน แบ่งออกเป็น 2 เจ้าใหญ่ๆ ได้แก่ ราชพัสดุ 61% เทศบาลนครเชียงใหม่ 21% และที่ดินอื่นๆ อีก 18% โดยมีการใช้ประโยชน์อาคารส่วนใหญ่

    โอตารุเชียงใหม่ หรือสายน้ำแห่งนี้ไม่ใช่ของเราทุกคน?  

    ด้วยปัญหาน้ำเน่าเสียคลองอุดตันของคลองแม่ข่าที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน เหล่าผู้คนต่างถิ่นที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นแรงงานที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองแม่ข่า รวมไปถึงชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มากว่า 100 ปี ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่ทำให้คลองแม่ข่าเน่าเสียทั้ง ๆ เป็นจำเลยที่ต้องรับกรรมจากปัญหาน้ำเน่าเสีย มีชุมชนหลายร้อยหลังคาเรือนที่ถูกให้ออกจากพื้นที่อยู่อาศัย อาทิ ถูกให้ออกจากพื้นที่ของชุมชนคลองเงิน 57 หลัง เพื่อปรับภูมิทัศน์และแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561

    การถูกให้ออกจากพื้นที่ พื้นที่นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผนึกของหลายภาคส่วนกำลังที่ต้องการจะพัฒนาและฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้ ใสสะอาด สว่างตา สงบเรียบร้อย ไร้สีดำบนน้ำสีใส จึงเกิดเป็น โครงการพัฒนาฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองแม่ข่า โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ นักวิชาการ ได้ร่วมกันเปิดโครงการพัฒนาฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองแม่ข่า มี พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ฯ เป็นประธาน ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาฟื้นฟูคลองแม่ข่า มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 

    โครงการพัฒนาฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองแม่ข่า เป็น 1 ใน 10 โครงการที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงงานมอบให้หน่วยราชการในพระองค์บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตั้งแต่ปี 2561 เพจ สืบสาน รักษา ต่อยอด ได้เผยคลองที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงงานมอบให้หน่วยราชการในพระองค์ฯ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ประกอบด้วย คลองแม่ข่า, คลองบางลำพู, คลองเปรมประชากร, คลองผดุงกรุงเกษม, คลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด), คลองวัดสังเวช, คลองแสนแสบ, คลองวัดตรีทศเทพ, คลองหลอดวัดราชบพิธ และ คลองหลอดวัดราชนัดดา

    ภาพ: เพจ สืบสาน รักษา ต่อยอด 

    เพจ สืบสาน รักษา ต่อยอด ยังเผยว่าการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีการนำสายไฟฟ้า สายสื่อสารลงใต้ดิน และย้ายคนเร่ร่อนอาศัยในพื้นที่ไปอยู่สถานสงเคราะห์ของภาครัฐ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ริม 2 ฝั่ง ให้เหมาะสมเป็นแหล่งท่องเที่ยวสันทนาการ เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่

    จากโครงการฯ ดังกล่าวจังหวัดเชียงใหม่จึงได้จัดทำ ‘แผนแม่บทคลองแม่ข่า ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2561-2565)’ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘คลองสวย น้ำใส  ไหลดี  ชุมชนมีสุข’ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีแผนแม่บทคลองแม่ข่าฉบับที่ 1 (พ.ศ 2555-2560) จากการผลักดันของจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชน โดยแผนแม่บทคลองแม่ข่า ฉบับที่ 2 มีเป้าหมายเพื่อ 1.ฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้มีคุณภาพดีขึ้น 2.มีน้ำไหลเวียนตลอดทั้งปี 3.ปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมให้สวยงามเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน และ 4.ชุมชนมีส่วนร่วมและบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข็งขัน, ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    โดยแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ.2561-2565) มีประเด็นยุทธศาสตร์ทั้งหมด 4 ประเด็น ดังนี้

    ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1: ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

    มีกลยุทธ์ พัฒนาแหล่งน้ำและปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคลองแม่ข่า, ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมตามฤดูกาล, พัฒนาและปรับปรุงลำน้ำคลองแม่ข่า และลำน้ำสาขา, ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมและการบังคับใช้กฎหมายในการกำหนดขอบเขตลำน้ำแม่ข่า

    ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาคุณภาพน้ำ

    มีกลยุทธ์ ส่งเสริมมาตรการการป้องกันการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา, ส่งเสริมระบบการบริหารจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือนและสถานประกอบการ, ส่งเสริมและให้ความรู้การจัดการน้ำเสียแก่แหล่งกำเนิดมลพิษ/ครัวเรือนให้รักษาน้ำไม่เกินค่ามาตรฐานและการปฏิบัติตามกฏหมาย

    ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3: ส่งเสริมการปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม

    มีกลยุทธ์ ปรับปรุงภูมิทัศน์ และสภาพแวดล้อมตลอดสองฝั่งคลอง, พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง

    ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 : เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน

    มีกลยุทธ์ พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อพัฒนา แก้ไขปัญหา และใช้ประโยชน์จากคลองแม่ข่า, เสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ คลองแม่ข่าแบบมีส่วนร่วมของชุมชน, ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สังคม มุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

    จากแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ.2561-2565) นี้ในปี 2564 เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการดำเนินโครงก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่า พร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ตั้งแต่บริเวณสะพานแม่ข่า (ระแกง) ถึงประตูก้อม ระยะทางประมาณ 750 เมตร ใช้งบประมาณ 22 ล้านบ้านเศษ แล้วเสร็จในปี 2565 ในสมัยของ อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่คนปัจจุบัน การปรับปรุงภูมิทัศน์นี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่เรารู้จักกัน ‘โอตารุเชียงใหม่’ เป็นก้าวแรกในการดำเนินงานตามแผนแม่บทเพื่อให้คลองแม่ข่ากลับมาใสสะอาด และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน?

    ทุนในน้ำ การท่องเที่ยวแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

    โอตารุเชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในปี 2565 ร้านรวงเล็ก ๆ จากชุมชนรายรอบเรียงรายขายสินค้าของที่ระลึก อาหารหลากชนิดและหลากหลายเชื้อชาติ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มดับกระหายคลายร้อนจากเดินบนคูน้ำตลอด 750 เมตร ถูกวางเรียงรายตามข้างทางเดินเลียบคลองขาวสะอาดตา ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้าถ่ายภาพเก็บบรรยากาศอันสวยงามคล้ายกับญี่ปุ่นอยู่แค่เอื้อม สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนในระยะ 750 เมตร จากการขายอาหาร ของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวบริเวณดังกล่าว

    “หากพบว่ามีนายทุนหรือบุคคลภายนอกเข้ามาซื้อสิทธิ เพื่อหาประโยชน์จากคลองแม่ข่าที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว จะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ จะดำเนินคดีฐานบุกรุกพื้นที่สาธารณะและโบราณสถาน” นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ 

    ภาพ: เชียงใหม่นิวส์

    ประกาศจากผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร จากการประชุมติดตามการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า สร้างความเชื่อมั่นว่าคลอง 750 เมตรดังกล่าวที่ต้องการพัฒนาเพื่อปรับภูมิทัศน์ พัฒนาคุณภาพน้ำ และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน จริง ๆ แต่หากมาดูในปี 2567 จะพบว่าร้านรวงเล็ก ๆ จากชุมชนนั้นถูกแทรกด้วยร้านผับบาร์ ร้านขายของชำขนาดใหญ่ จาก 1 ร้าน เป็น 2 ร้าน 3 ร้าน จนปัจจุบันพบร้านสะดวกซื้อชื่อดังเข้ามาเปิดบริเวณทางเข้าฝั่งขวาขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้ว่าฯ ประกาศเมื่อ 2 ปีก่อน

    กอปรกับสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ที่เป็นสัญญาฯ กับชุมชนในระยะ 750 เมตร รวมถึงบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ริมคลองแม่ข่า พบว่า สัญญาเช่าดังกล่าวระบุว่าผู้เช่า ไม่สามารถนำที่ดินไปเช่าช่วง หรือให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์นอกจากเพื่ออยู่อาศัย 

    ยกตัวอย่างพื้นที่ที่เกิดจากกรณีดังที่กล่าวไปข้างต้น 

    ภาพถ่ายจากดาวเทียม

    ข้อมูลจากราชพัสดุปี 2564 สัญญาเช่าจากราชพัสดุ พบว่าผู้เช่าพื้นที่ดังกล่าวใช้พื้นที่เพื่ออยู่อาศัย และจากการลงพื้นที่สำรวจในปี 2565 พบว่าพื้นที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยบ้าน 2 หลัง จนกระทั่งในปี 2566 พื้นที่ดังกล่าวปรับเปลี่ยนเป็นบาร์

    จากข้อมูลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความงุนงงเป็นอย่างยิ่งจากการเกิดขึ้นของเหล่าร้านค้าขนาดใหญ่ที่ตั้งตระง่านอยู่ที่คลองแม่ข่าระยะ 750 เมตรดังกล่าว และตั้งข้อสังเกตไปว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการอยู่อาศัย แต่มีการสร้างเพื่อบาร์ขนาดใหญ่ ซึ่งขัดแย้งกับสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ รวมไปถึงมีการเปลี่ยนสิทธิ์ในที่ดินซึ่งขัดแย้งกับประกาศของผู้ว่าฯเชียงใหม่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 นอกจากนี้พบอีกหลายกรณีที่มีการเช่าช่วง และเปลี่ยนสิทธิ์ ในที่ดิน-สัญญาเช่า ประเภทเดียวกัน โดยไร้การตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

    โดยที่เสียงกระซิบจากชาวบ้านตั้งคำถามว่า การที่นายทุนเข้ามาหาประโยชน์ โดยขัดแย้งกับประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด และมีสิทธิพิเศษจากกรมธนารักษ์ ที่เหนือกว่าชาวบ้านแบบนี้ (ชาวบ้านได้สัญญาที่ระบุว่าเช่าเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น แต่นายทุนเปิดบาร์และร้านสะดวกซื้อได้) หรือจะเป็นการหาประโยชน์แอบแฝงของใครบางคนในหน่วยราชการเอง และถ้าหน่วยงานยังหลับตาข้างเดียวแบบนี้ต่อไป 

    “คลองสวย น้ำใส ไหลดี … ชุมชน หรือ นายทุน กันแน่ที่จะมีความสุข” หนึ่งในชาวบ้านบริเวณคลองแม่ข่ากล่าวด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ

    จากอดีตถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ายังคงปรากฏคำถาม และข้อสังเกตถึงหลักการ และรูปธรรมหลักฐานของ “การพัฒนาคลองแม่ข่าเพื่อความยั่งยืน หรือการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ชัดเจนตามแผนพัฒนาของรัฐ” รวมไปถึงแผนแม่บทคลองแม่ข่า ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2566-2570) ที่ยังไม่เผยให้เห็นแนวทางการทำงาน การส่งเสริมการมีส่วนร่วม หรือทิศทางการพัฒนาในอนาคตว่าสายน้ำอันทรงคุณค่า ซึ่งไหล่ผ่านกลางเมืองเชียงใหม่สายนี้จะถูกพลิกโฉมเปลี่ยนฉากไปสู่การพัฒนาที่ยืนหยัดอยู่บนหลักการสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริงได้อย่างไร 

    รวมไปถึงการพัฒนาที่ยึดหลักกฏหมายการบังคับใช้ ที่ความเท่าเทียมเสมอภาค โปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นธรรมและมีมนุษยธรรม ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยความรู้ และวิเคราะห์วิจัยอย่างรอบด้าน สู่ลำน้ำที่ใสสะอาด เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ให้กับเมือง  และคิดถึงการอยู่อาศัยริมคลองที่ดีกว่า รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของผู้คนทุกกลุ่ม เพื่อให้การพัฒนาคลองแม่ข่าเป็นทั้งสิ่งใหม่ และมรดกการพัฒนาที่เราทุกคนภาคภูมิใจ การพัฒนาคลองแม่ข่าในวันนี้และอนาคต จะอยู่ในสมการและคำตอบของการพัฒนาเช่นนี้หรือไม่ ขอเชิญชวนทุกท่านที่ห่วงใยคลองแม่ข่า และรักเมืองเชียงใหม่ ร่วมตั้งคำถาม จับตา และหาคำตอบร่วมกันต่อไป…

    อ้างอิง

    Related

    ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai...

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...

    We Watch ชวนลงชื่อคัดค้านระเบียบ กกต. ในการเลือก สว.  หยุดปิดปากประชาชน-สื่อ

    สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 วางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก...